- ครูแนน – ปาริชาต ชัยวงษ์ สอนวิชาพระพุทธศาสนา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และวิชาประวัติศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ นนทบุรี
- การสอนคือความฝัน และเธอจินตนาการถึงมันอยู่ตลอดเวลา จนเลือกบรรจุเข้าสอนในโรงเรียนรัฐ เธอบอกว่านั่นเพราะจะทำให้เข้าถึง “เด็กส่วนใหญ่” ได้มากกว่า
- ถ้าอยากเห็นโลกเปลี่ยนแปลง ต้องเปลี่ยนห้องเรียนให้ได้เสียก่อน ห้องเรียนพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ที่ครูแนนสอนจึงออกแบบให้การวิเคราะห์วิพากษ์ต้องเกิดขึ้น นี่คือวิธีการที่เธอเลือก
“อย่าเพิ่งเชื่ออะไรง่ายๆ!!” ครูแนน-ปาริชาต ชัยวงษ์ สอนวิชาพระพุทธศาสนา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และวิชาประวัติศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ นนทบุรี เอ่ยถึงบทเรียนเรื่องกาลามสูตร 10 ในวิชาพระพุทธศาสนา ขณะที่เด็กๆ กำลังมีอารมณ์ร่วมไปกับคลิปวิดีโอสั้น 5 เรื่อง ที่ครูเพิ่งเปิดให้ดูผ่านไป แต่ละคลิปมีความยาวไม่เกิน 5 นาที
นักเรียนทุกคนนั่งนิ่งจดจ่อกับภาพเคลื่อนไหวบนจอ หลายคนน้ำตาซึมเมื่อเรื่องถึงจุดพีคพลิกผัน บางคนนิ่งอึ้งแทบไม่อยากเชื่อในสิ่งที่เพิ่งผ่านสายตาไป
“กาลามสูตรเป็นเรื่องร่วมสมัย เราชวนเด็กมาวิเคราะห์สื่อที่เผยแพร่ให้เห็นในชีวิตประจำวัน ขยับต่อไปที่เฟคนิวส์ เล่นเกม ‘ใช่หรือมั่ว ชัวร์หรือไม่’ ชวนกันมาดูว่าข่าวนี้เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า ทำไมถึงคิดว่าใช่ ทำไมถึงคิดว่าไม่ใช่ แล้วให้เขาคิดต่อว่าเฟคนิวส์เป็นเรื่องของยุคนี้หรือมีมานานแล้ว”
ครูแนน อธิบายวิธีการสอนบทเรียนเรื่องกาลามสูตรให้เราฟัง
“เราต้องการชวนให้เด็กคิด ว่าอันที่จริงเฟคนิวส์มีมานานแล้ว ในสมัยก่อนอาจอยู่ในรูปแบบอื่น ส่วนในยุคนี้เราจะไม่ตกเป็นเหยื่อเฟคนิวส์ถ้าเท่าทันสื่อ หลังจากนั้นก็นำเข้าสู่บทเรียนกาลามสูตรว่าในสมัยพุทธกาลมีพูดถึงเรื่องนี้ไว้ด้วยนะ กาลามสูตร 10 ข้อ อธิบายไว้ว่า อย่าเพิ่งเชื่ออะไรง่ายๆ”
ครูแนนจบการศึกษาคณะครุศาสตร์ มัธยมศึกษา เอกเทคโนโลยีการศึกษา คู่สังคมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรจุเข้าเป็นครูประจำการได้ราวปีกว่า นอกจากสอนแล้ว ปัจจุบันยังเป็นครูประจำชั้นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 อีกด้วย
“ถ้าเราอยากเห็นโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากนี้ เราต้องเปลี่ยนห้องเรียนให้ได้ก่อน รอให้ระบบเปลี่ยนอย่างเดียวมันไม่ทัน ขณะเดียวกันก็คิดว่ามันใจร้ายเกินไปหากเราผลักหรือไปคาดหวังคนอื่นในโรงเรียนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่เราเชื่อทั้งหมด ทางที่ดีที่สุดจึงเริ่มจากห้องเรียนของเราก่อน ถ้าสิ่งที่ทำไปคอนเนคกับใคร ก็มาคุยมาทำงานด้วยกัน”
เลือกเข้าสู่เส้นทางครูในโรงเรียนรัฐ
ก่อนบรรจุเข้าเป็นครูประจำการ ครูแนนเคยเป็นครูพิเศษให้กับโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดเลย ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เธอเลือกเดินเข้ามาสอบบรรจุเพื่อให้มีโอกาสได้สอนในโรงเรียนรัฐ
“ครูพิเศษ เวลาสอนคือเราเข้าไปในโรงเรียนแล้วออกมา เราไม่ได้เป็นเจ้าของร่วมกับงานที่เราทำ การสอนจบไปเป็นครั้งๆ ซึ่งเราไม่ได้อิน ตอนนั้นออกมาไม่ทำอะไรเลยอยู่ 10 เดือน แล้วรู้สึกเหมือนจะตาย อยู่ไม่ได้ แต่ก็ได้ใช้เวลาช่วงนั้นอ่านหนังสือที่ตอนเราทำแต่งาน เราไม่มีเวลาอ่าน ทุกครั้งที่อ่าน เรามีจินตนาการตลอดเวลาว่า ถ้าสอนเด็กเรื่องนี้เราจะทำยังไง อยากรู้ว่า ถ้าเราชวนเด็กคุยเรื่องนี้แบบนี้ เด็กจะเข้าใจคอนเซปท์ออกมาแบบไหน ถ้าอยากแก้พฤติกรรมนี้ออกมาแล้วจะเป็นยังไง ก็เลยเห็นตัวเองชัดว่าจริงๆ เราแสวงหาสิ่งนี้ แล้วบอกกับตัวเองว่าสงสัยต้องเข้าระบบแล้วล่ะ อย่างน้อยก็ได้ทำงานที่อยากทำ โรงเรียนรัฐเป็นที่ที่เด็กส่วนใหญ่เข้าถึงได้ง่าย เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากเดินข้างๆ เขา เพื่อให้เขาค้นพบความหมายของชีวิตด้วยอะไรบางอย่าง เส้นทางนี้ จะทำให้เข้าถึงเด็กส่วนใหญ่ได้มากกว่า”
เส้นทางของครูแนนเป็นการเดินเข้าหาระบบการทำงานที่มีระเบียบแบบแผน ซึ่งทำให้ใครหลายคนอึดอัด ท้อใจมานักต่อนัก แต่กลับไม่ทำให้เธอรู้สึกว่าได้เดินเข้ามาติดกรอบ
“เราเชื่อว่าทุกคนเหมือนกันตรงที่พยายามแสวงหาความหมายของตัวเอง เพียงแค่ว่าความหมายของเราอยู่ตรงนี้ เราเตรียมใจไว้อยู่แล้ว รู้อยู่แล้วว่าลงสนามนี้จะต้องกับเจออะไร แต่ยังคงเลือกงานที่ตัวเองรัก เรายังคงเลือกวิธีการทำงานของตัวเอง เลือกสิ่งที่จะทำด้วยตัวเอง เรามีโลกในแบบที่อยากเห็น แล้วก็กำลังพยายามสร้างมันผ่านวิธีการที่เราเลือก”
“บางทีคนก็มองในเชิงอคติว่าครูโรงเรียนรัฐขี้เกียจ พึ่งสวัสดิการ เช้าชามเย็นชาม แต่ถ้าได้มาสัมผัสด้วยตัวเองคุณจะเห็นเลยว่าวัฒนธรรมเชิงอำนาจภายในระบบแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทุกอย่างมันมีที่มาที่ไป อะไรที่ทำให้ครูเลือกใช้อำนาจกับเด็ก แทนที่จะใช้ความเป็นมนุษย์คุยกัน ไม่ใช่อยู่ๆ เขาอยากจะบ้าอำนาจ ไม่จริง…มันมีหลายปัญหาซ้อนกันอยู่ ทั้งเชิงโครงสร้าง ทั้งวัฒนธรรม”
ให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง เพราะเราไม่อาจเป็นใครได้เลยนอกจากตัวเอง
“ตัวเราเป็นการประกอบสร้างของผู้คนที่เจออย่างละนิดอย่างละหน่อย” ครูแนนเล่าถึงเส้นทางการเป็นครูของตัวเอง
“ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่เราอ่าน ครู อาจารย์หรือคนอื่นๆ แต่ท้ายที่สุดแล้วเราจะเจอทางของตัวเอง เราไม่อาจเป็นใครได้เลยนอกจากตัวเอง แค่เราเป็นตัวเองจากการที่ได้เรียนรู้จากคนอื่นๆ มา แล้วมาเจอความพอดีในตัวเรา”
นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ห้องเรียนของครูแนน เป็นห้องเรียนที่ให้อิสระกับนักเรียนอย่างเต็มที่ในการแสดงความคิดเห็น ไม่พุ่งเป้าไปที่การสั่งสอนให้เด็กต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้
“โตไปในแบบของตัวเองนั่นแหละ ไม่เป็นไร ไม่มีอะไรเสียหาย แต่ถ้า ณ จุดหนึ่งเจอปัญหา ไม่รู้จะแก้หรือจัดการอย่างไร หรือแค่อยากให้เราร่วมรับรู้ถึงการเดินทางของเขา เด็กก็เดินมาคุยกับเราได้ อย่างน้อยประสบการณ์ที่เรามี เรื่องที่เราได้เรียนรู้มา อาจทำให้เราตั้งคำถามให้เด็กได้คิด ส่วนจะเชื่อหรือไม่ก็ไม่เป็นไร เพราะชีวิตผิดพลาดได้ การทำไม่ดี กับ การเป็นคนไม่ดี เป็นคนละเรื่อง ถ้าเราอนุญาตให้ตัวเองพลาดได้ เราจะได้ไม่รู้สึกเจ็บปวดเกินไป เวลาที่ทำผิดพลาดไปแล้วถูกคนอื่นตัดสินอีกแบบหนึ่ง เรียนรู้ที่จะยอมรับและอยู่กับตัวเองให้ได้ แก้ไขแล้วไปต่อ”
เรียนประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจมนุษย์ ฝึกตั้งคำถามกับปัจจุบันและอนาคต
ครูแนน บอกว่า วิชาสังคมไม่ใช่วิชาท่องจำและน่าเบื่อ แต่ทำให้เข้าใจมนุษย์และโลกมากขึ้น ยกตัวอย่างวิชาประวัติศาสตร์ สำหรับครูแนนแก่นแท้ของวิชานี้ คือ การศึกษาเพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์ เข้าใจว่ามนุษย์เป็นมาอย่างไร ทำให้ตั้งคำถามกับปัจจุบันว่า “ทำไมวันนี้ถึงเป็นแบบนี้?” ส่องสะท้อนให้เห็นเค้าลางของอนาคตที่เรากำลังจะเดินไป
“เราคิดว่าตัวเองเติบโตมาทางสายมนุษยศาสตร์ เลือกเรียนครุศาสตร์สายสังคม เพราะต้องการเข้าใจความเป็นมนุษย์ เราอยากทำงานกับเด็ก คิดอยู่เสมอว่าทำอย่างไรจึงจะเข้าใจมนุษย์ได้มากขึ้น ทำให้หลายครั้งที่เราตกอยู่ในสถานการณ์อึดอัด การพยายามทำความเข้าใจคนอื่นทำให้เราผ่านมาได้”
วิชาพุทธศาสนากับการวิเคราะห์สังคม
ห้องเรียนพุทธศาสนาไม่ได้มีแค่นักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธเข้าชั้นเรียน แต่เป็นวิชาบังคับที่นักเรียนทุกคนต้องเรียน ครูแนนจึงออกแบบห้องเรียนพุทธศาสนาที่ไม่สร้างบรรยากาศให้นักเรียนรู้สึกว่าศาสนาใดดีกว่าศาสนาใด และตั้งคำถามกับเรื่องราวที่กำลังเรียนรู้
ยกตัวอย่างเช่น การให้นักเรียนอภิปรายพุทธศาสนสุภาษิต ไม่ใช่แค่เพื่อทำความเข้าใจความหมาย แต่เพื่อขยายความเข้าใจ เปรียบเทียบให้เข้ากับสถานการณ์โลก แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าพุทธศาสนสุภาษิตนี้ใช้ได้จริงหรือไม่ แล้วใช้ได้ในบริบททางสังคมแบบไหน
“การอภิปรายไม่ใช่เพื่อตัดสินว่าดีหรือไม่ดี แต่จะดีกว่ามั้ยถ้าเรายังไม่ยึดหรือเชื่ออะไรไปก่อน จนกว่าจะได้วิพากษ์ว่ามันทำงานอย่างไร การเชื่อไปเลยโดยไม่ตั้งคำถาม จะทำให้เด็กไม่สามารถมองโลกด้วยความเข้าใจจากมุมอื่น ยกตัวอย่าง สุภาษิต อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ บอกว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน นักเรียนตีความว่าอย่างไร คิดว่าจริงเสมอไปไหม หรือในบางสังคม ความพยายามของเราไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้สำเร็จ ยังมีเรื่องของอำนาจ วัฒนธรรม และการเมืองด้วย
“การอภิปรายเป็นการชวนให้เด็กคิด มองความเป็นไปได้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะไปไม่พ้นเรื่องในระดับปัจเจกว่าต้องพยายามนะ แต่ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้เพราะไม่ได้มองรอบด้าน ทั้งที่ปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ให้คำอธิบายได้หลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังมองผ่านชุดคุณค่าไหน การวิพากษ์ร่วมกันทำให้เด็กเห็นความคิดที่หลากหลาย ที่ไม่ได้มาจากชุดคุณค่าเดียว
“ตัวอย่างเรื่องการทำแท้ง ชุดคุณค่าเรื่องศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม เห็นคล้ายๆ กัน คือ ไม่ให้ฆ่าชีวิต แต่ถ้ามองผ่านชุดคุณค่าเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังท้องและกำลังตัดสินใจว่าจะเอาลูกไว้หรือไม่เอาลูกไว้ มีสิทธิในร่างกายของตัวไหม ความเท่าเทียมระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายในกรณีนี้เป็นแบบไหน หรือความเชื่อเรื่องการเป็นบัณเฑาะก์ในพระพุทธศาสนาที่หมายถึงกะเทยหรือการรักร่วมเพศกับสภาพสังคมปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ควรนำมาถกเถียงอย่างเปิดเผยได้บนฐานคิดที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่เป็นบาปหรือไม่บาป”
ค่าเริ่มต้น by default
เด็กรุ่นใหม่มักถูกตั้งคำถามถึงการแสดงออกที่หลายครั้งไม่เข้าตาผู้ใหญ่ – เปิดเผย มั่นใจ รุนแรง หรือต่อต้าน (จนเกินไป) เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ให้ใส่ไว้ในวงเล็บ
อย่างไรก็ตาม ครูแนนบอกว่า หากมองให้เป็นเรื่องปกติ พฤติกรรมที่แตกต่างกันของผู้คนแต่ละยุคเป็นเรื่องธรรมดาที่เป็นธรรมชาติ เพราะมนุษย์ต่างก็มีค่าเริ่มต้นหรือค่ามาตรฐานในการเป็นเสรีชน ไม่ว่าจะเกิดอยู่ในยุคใดสมัยใด หรือจะถูกนิยามว่าเป็นคนเจเนอเรชันไหน
“ผู้ใหญ่เขารู้สึกว่ามันเกินไป เพราะความเป็นจารีตนิยมที่เขาคุ้นเคยกำลังถูกท้าทาย ความเชื่อที่ว่าโลกมีศีลธรรม ความดีงามที่เป็นความจริง เป็นกฎธรรมชาติ ถูกกำหนดมาแล้วและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ กำลังถูกตั้งคำถามโดยเด็กรุ่นใหม่ๆ เขาเลยรู้สึกไม่มั่นคง และลึกๆ แล้วมันคือความกลัว
“จริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ในยุคไหนของโลก มนุษย์ย่อมแสวงหาอิสรภาพเสมอ เพียงแค่ว่าโลกในตอนนั้นอนุญาตให้คุณแค่ไหน ถ้าคุณเกิดในยุคโรมัน ค่า by default ในความเป็นเสรีชนของคุณถูกกดไว้มากน้อยตามสถานภาพ ถ้าคุณโตในยุคนั้นคุณก็เป็นวัยรุ่นที่ได้รับอนุญาตโดยระเบียบโลกให้เป็นเสรีชนได้ในความหมายของยุคนั้น แต่คุณก็จะไม่หยุดหรอก คุณจะแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่าที่เป็นอยู่เสมอ ประวัติศาสตร์ก็มีให้เห็น มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการหลุดพ้นจากการถูกกดขี่ครอบงำ
“ส่วนในยุคนี้ที่เรามีเวลากันมากขึ้น แต่ละครอบครัวมีกันไม่กี่คน ไม่เหมือนยุคพ่อแม่ที่ต้องทำงานหนักเพราะตายายมีลูก 8 คน ถ้าเกิดในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี มีรัฐสวัสดิการ คุณก็จะมีเวลา มีทรัพยากร มีพื้นที่ให้สร้างสรรค์
“ค่าเริ่มต้นในความต้องการอิสระของเราทำงานได้มากขึ้น ตอนเราเป็นเด็กยังไม่มีอินเทอร์เน็ตแพร่หลายเหมือนเด็กยุคนี้ เรามีแค่หนังสือ มีโรงเรียน มีพ่อแม่ ปู่ย่าตายายข้างบ้าน เราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน พื้นที่และวิธีการแสดงออกทางความคิดของเราเกี่ยวข้องโดยตรงกับความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนอื่น การแสดงออกของเราในตอนนั้นก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง มีความประนีประนอมมากกว่า ความกลัวก็มากกว่าด้วย
“แต่พอมาเป็นเด็กยุคนี้ค่า by default ทำงานได้มากขึ้นไปอีก เขาเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น สร้างหรือเลือกชุมชนของเขาเองได้ พื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดไร้พรมแดน หลายครั้งเขาเป็นคนสร้าง content เองเลยด้วยซ้ำ ดังนั้น เราก็จะเห็นเขาแสดงออกในสิ่งที่คิด ที่เชื่อ และตั้งคำถามมากกว่าแต่ก่อน”
นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมวิชาพุทธศาสนาจึงควรเป็นมากกว่าแค่การท่องจำประวัติของพระพุทธเจ้า หรือยกเอาศีลธรรมชุดไหนให้เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ นักเรียนควรได้ศึกษาพระพุทธศาสนาในฐานะหนึ่งในศาสนาแห่งการพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถคิด วิเคราะห์ มีเหตุผล มีสติ โดยเฉพาะในสังคมที่ผู้คน มีโอกาสกำหนดถูกผิดด้วยด้วยเองได้น้อยลงเรื่อยๆ
“ธรรมชาติของมนุษย์เมื่อมีอะไรเข้ามาทำให้สะเทือนใจ ความรู้สึกจะทำงานก่อน ไม่เป็นไรที่ความรู้สึกจะทำงานก่อน โกรธก็คือโกรธ เศร้าก็คือเศร้า เพราะโดยธรรมชาติสมองจะส่งการให้ส่วนความรู้สึกทำงานก่อนอยู่แล้ว ก็ปล่อยให้ทำงานไป เมื่อเบาลงเราค่อยมาขยับเชิงเหตุผลก็ได้ มาดูว่าพอเรามีสติขึ้นเราเห็นมันในมุมไหนบ้าง อย่าเพิ่งตัดสินใจตอนที่เรากำลังรู้สึก แต่ให้ตัดสินใจตอนที่เราใช้เหตุผลอย่างเท่าทันกับมันแล้วดีกว่ามั้ย”
จริงแท้ (Authenticity)
เราให้ครูแนนเลือกบัตรคำที่อธิบายถึงความเป็นตัวเองขึ้นมา 1 ใบ จากบัตรคำทั้งหมด 24 ใบ “จริงแท้” เป็นคำที่ครูแนนเลือก
“ถ้าเด็กทำอย่างนี้ต้องเป็นอย่างนั้นแน่เลย อย่าให้เด็กทำอย่างนั้นเพราะเด็กจะเป็นอย่างนี้ ที่ห้ามไม่ได้อะไรนะแต่เพราะไม่อยากให้เป็นแบบนี้”
อย่างนั้น อย่างนี้ ไม่ทำแบบนี้ แล้วจะเป็นแบบนั้น เป็นอุปทานและจิตนาการในความคิดของผู้ใหญ่ที่มักกระทบเส้นทางการเติบโตของเด็ก แต่ก็เข้าใจได้ว่าหลายครั้งคำพูดที่พรั่งพรูออกมาเหล่านี้เกิดขึ้นจากความห่วงใย (เกินเหตุ)
“เราไม่ชอบคนที่ตัดสินเก่ง รู้ดีเก่ง หรือใช้ความเป็นห่วงในฐานะผู้ใหญ่มาขโมยประสบการณ์ของเด็ก เรารู้สึกว่าทุกครั้งที่ห้ามเด็กไม่ให้ทำอะไรสักอย่าง ด้วยเหตุผลของความเป็นห่วงเป็นหลัก มันขโมยประสบการณ์การเป็นมนุษย์ของเขา
“การหลงรักหัวปักหัวปำ การอกหักร้องไห้ แว้นมอเตอไซค์ท่อดัง สอบตกติดศูนย์ เด็กควรได้เรียนรู้แล้วผ่านไปให้ได้เพื่อทำให้เขาโตขึ้น ความเป็นห่วงมากเกินไป ทำให้การแสดงออกของเราเหมือนรู้ดีเกินแล้วกลายเป็นเราไปตัดสินเขา”
‘การรู้สึกตัว’ ‘การรู้ตัวเอง’ ในแบบที่ตนเองเป็น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่กระบวนการเรียนรู้ควรพาเด็กไปให้ถึง เพื่อให้เข้าใจ ‘ความจริงแท้’ ของตนเอง รู้เป้าหมาย ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ จะไปไหน แล้วหาวิธีการว่าจะไปได้อย่างไร
“เราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วการสอนที่ถูกคืออะไร การสอนที่ดีที่สุดคืออะไร แต่เรารู้ว่าเราเชื่อในอะไร รู้ว่าตัวเองกำลังคิดและทำอะไร มันจะทำให้โลกดีขึ้นอย่างที่คิดได้จริงหรือเปล่า เราไม่มีทางรู้อนาคต เลยไม่แน่ใจกับมัน แต่เรารู้ว่าความเป็นตัวเองในตอนนี้มาจากความจริงแท้ข้างในของเรา เท่าที่เราเห็น เท่าที่เราเป็น และเท่าที่เราเรียนรู้อยู่
“เราเชื่อว่าถ้าเด็กได้เห็นตัวเองชัดๆ เห็นโลกชัดๆ มีความจริงแท้ของตัวเองจริงๆ เด็กจะสามารถออกแบบโลกในแบบที่พวกเขาอยากเห็นได้ โดยไม่จำเป็นต้องเหมือนเรา แค่เขาต้องเห็นให้ชัดก่อน ต้องมีโอกาสได้ตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบ ต้องขยับออกจากกรงที่ขังอยู่ให้ได้ก่อน หรืออย่างน้อยได้รู้ตัวว่ามีกรงหรือข้อจำกัดบางอย่างขังพวกเขาอยู่ ถ้าเรายอมรับตัวเองได้เราก็จะยอมรับคนอื่นได้ง่ายขึ้น เห็นโลกชัดขึ้น เราก็จะรู้ว่าจะไปต่ออย่างไร”
เมื่อถามครูแนนว่า หากไม่เป็นครู มองไปที่ความจริงแท้ของตัวเอง ครูแนนมองเห็นตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ครูแนน บอกว่า
“อยากเปิดห้องสมุดที่เป็นบาร์ตอนกลางคืนและเป็นร้านนมตอนกลางวัน เพราะชอบคอมมูนิตี้ที่คนได้เข้ามาเป็นตัวของตัวเองตรงนั้น เป็นพื้นที่ทางปัญญา ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ของปัจเจกด้วย ธรรมชาติของร้านนมก็เป็นพื้นที่แบบหนึ่ง ร้านเหล้าก็เป็นพื้นที่อีกแบบหนึ่ง เราชอบบทสนทนาทั้งจากในร้านนมและจากในร้านเหล้า แล้วเราก็ชอบอยู่นิ่งๆ เงียบๆ คนเดียวในห้องหนังสือ
“แต่สำหรับหน้าที่ครูตอนนี้ เราอยากทำงานให้คมขึ้น อยากชวนให้เด็กวิพากษ์ให้หนักขึ้น ทำงานกับข้อมูลให้เป็น เรารู้ว่าการสอนเป็นเรื่องของประสบการณ์และชั่วโมงบินด้วย กับการที่เราจะค่อยๆ พาตัวเองไปคุ้นเคยกับการออกแบบการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ให้มากกว่านี้ ตอนนี้เรายังมีชั่วโมงบินต่ำ ต้องค่อยๆ ลองค่อยๆ หมุนกันไป”
ล้อมกรอบ คำสอนของพระพุทธเจ้า หลักกาลามสูตร 10 พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเหตุ 10 ประการนี้ 1.มา อนุสฺสวเนน : อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา 2.มา ปรมฺปราย : อย่าเพิ่งเชื่อโดยถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบๆ กันมา 3.มา อิติกิราย : อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ 4.มา ปิฏกสมฺปทาเนน : อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา 5.มา ตกฺกเหตุ : อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดเดาเอาเอง 6.มา นยเหตุ : อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดคาดคะเนอนุมานเอา 7.มา อาการปริวิตกฺเกน : อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ 8.มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา : อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตน 9.มา ภพฺพรูปตา : อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้ 10.มา สมโณ โน ครูติ : อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา |