- คุยกับทวิตเตอร์น้องใหม่วัย 71 โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ คุณพ่อลูกสี่ที่ตอนนี้มียอด follower กว่าแสนคน ทวิตครั้งหนึ่งยอดรีทวิตไมเคยต่ำกว่าหลักพันหลักหมื่น เป็นโลกใหม่ที่เจ้าตัวบอกว่า ชวนตกใจ บางอันถึงขั้นขนพองสยองเกล้า
- การเข้ามาเล่นในโลกของนกสีฟ้า ถือเป็นหนึ่งในหลายๆ การเรียนรู้ของ kovitw (ชื่อในทวิตเตอร์) เพราะการเรียนรู้คือ ความสุข
- ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในวัย 52 ‘แด๊ดดี้’ ของลูกๆ ทั้งสี่ยังบินไปคว้าปริญญาโทด้านกฎหมายอีกใบ หลังจากเรียนจบปริญญาเอกเรียบร้อยแล้ว
- “หรือจะเรียกว่าสันดานก็ได้ ถ้าผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ ผมมีความสุข และผมเป็นคนชอบมีความสุขแบบนั้น” อ.โกวิท กล่าวไว้
เรื่อง: ทัศ ปริญญาคณิต
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
วันนี้คือวันที่ยอด follower ของ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ครบ 100,000 คนพอดี หลังจากลูกชายจอห์น-วิญญู สมัครให้เมื่อ 7 เมษายนที่ผ่านมา เริ่มต้นทวิตแรกด้วยการถามว่า “แด๊ดดี้อยากพูดเรื่องอะไรอะ”
ใช่ ครอบครัววงศ์สุรวัฒน์เรียกคุณพ่อคนไทยว่า ‘แด๊ดดี้’ แต่เรียกมารดาชาวอเมริกันว่า ‘แม่’
“เป็นการตกลงร่วมกันว่า ผมจะเลี้ยงลูกเป็นภาษาไทย ส่วนแม่เขาจะเลี้ยงลูกโดยใช้ภาษาอังกฤษ แม่สอนให้เรียกว่า daddy ส่วนผมก็สอนให้เขาเรียก แม่ เราสอนให้ลูกพูดชัดทั้งสองภาษา ดีกว่าชัดครึ่งๆ กลางๆ”
ปัจจุบัน ลูกทั้งสี่ หญิงสอง ชายสอง มีการงาน มีครอบครัว แยกย้ายไปมีที่ทางของตัวเอง บ้านหลังนี้จึงมีแค่ อาจารย์โกวิท และภรรยา อยู่ดูแลกันสองคน
ในบทสัมภาษณ์ต่างๆ อ.โกวิท ขึ้นชื่อว่าเป็นคุณพ่อที่เข้มงวดที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะชื่อเสียงด้านการให้ลูกทุกคนคัดรัฐธรรมนูญขจรขจายไปทุกวงการ พร้อมกับคำถามว่าทำไม
“ผมมองว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดตามหลักสากล เราควรจะรู้จักสิทธิของเราว่าเราทำอะไรหรือทำอะไรไม่ได้บ้าง และสิทธิขั้นพื้นฐานของเรานี่มักจะโดนกดขี่จากกฎหมายต่ำเตี้ยติดดินจากคนบางกลุ่ม หากเรารู้สิทธิตามกฎหมายสูงสุดของประเทศ เราก็ไม่ต้องไปกลัว ถ้าเรารู้จักสิทธิของเรามันก็น่าจะดี หมายรวมถึงลูกศิษย์เราด้วยนะ และวิธีที่จะทำให้รู้ดีรู้ลึกจริงๆ ก็คงจะต้องคัด เพราะมันสำคัญ มันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้ ต้องเข้าใจ ก็เลยต้องให้คัด
ผมมองว่ามันตลกนะ ถ้าคนที่เรียนจบตั้งหลายคนไม่เคยอ่าน ไม่เคยท่องรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อะ”
ตลอดการสนทนากับอาจารย์ ต้องเรียกว่ามาแบบครบรส โกรธ ชม ด่า ประชด สุภาพ อาจจะมีหยาบบ้าง แต่ทั้งหมดถูกห่อและเคลือบไว้ด้วยเสียงหัวเราะ
…อาจารย์ด่าคนได้สนุกที่สุดคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ แบบด่าไปขำไป
“เราก็ดูไปขำๆ ถ้าเกิดทำอะไรไม่ได้ก็หัวเราะใส่มันซะ แล้วเราก็แสวงหาความสุขด้วยการหาอะไรที่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น เท่านั้นเอง”
ย้อนกลับไป ทำไมต้องอาจารย์ต้องเข้มงวดกับลูกๆ
ผมเชื่อว่า โดยธรรมชาติของเขา เขาจะทดสอบว่าตัวเองไปได้ไกลขนาดไหน ถ้าเราไม่ตีกรอบไว้ก่อนก็อาจทำให้เตลิดไปกันใหญ่ แต่ไม่ได้ตีกรอบบังคับให้เขาไปได้ไม่ไกลนะ ผมใช้วิธีการนี้กำหนดกรอบ กำหนดกิจกรรมขึ้นว่าจะต้องทำอะไรบ้าง อย่าให้ผมได้ยินบ่นว่าว่าง หรือบ่นว่าเบื่อนะ เสร็จผมแน่ (หัวเราะ)
แต่ผมก็จะเข้มงวดไปถึงมัธยมต้น พอช่วงมัธยมปลายก็เริ่มปล่อย คิดว่าพอเขามีวินัยแล้ว มันก็คงถึงเวลาต้องเดินออกนอกกรอบ อีกอย่าง ผมก็ตระหนักในความจริงว่าช่วงวัยนี้เราจะไปคุมเขามากไม่ได้ เมื่อคุมไม่ได้ก็ต้องปล่อย ยิ่งขึ้นมหาวิทยาลัย ก็ตามสบายไปเลย หรือวัยทำงาน ผมก็ยิ่งไม่ไปถามอะไรเขาเลย ถามไปเดี๋ยวก็รำคาญ (ยิ้ม)
พอจบมหาวิทยาลัย เขาก็พาเหรดกันออกจากบ้าน คนนำคนแรกคือเจ้าคนสุดท้องนะ จอห์นนี่แหละ ออกไปตั้งแต่ยังเรียนอยู่เลยมั้ง บอกว่าเขาจะไปอยู่เอง แล้วผมจะทำอย่างไรได้ ตอนนั้นเขาหารายได้ได้มากกว่าผมแล้วด้วยซ้ำ (หัวเราะ)
เรื่องอะไรบ้างคะที่อาจารย์เข้มงวด และกรอบคืออะไร
กรอบแรกเลยคือจะต้องมีความสุภาพ สัมมาคารวะ สามารถพูดคุยกันด้วยเหตุและผล และเน้นการอ่านเขียนหนังสือ ผมเน้นมาก เสาร์อาทิตย์วันหยุดก็ต้องเขียน ช่วงหลังๆ ตอนมีรัฐธรรมนูญ 2540 ผมตื่นเต้นมากก็ให้เขาคัดมาเลย คัดมาวันละนิดวันละหน่อย
ลงโทษลูกๆ บ้างไหม
ผมมีแส้ม้าอยู่อันหนึ่งของน้องสาว เขาขี่ม้าก็เอาแส้มาทิ้งไว้ที่บ้าน ผมก็เอามาถือกวัดแกว่งไปอย่างนั้น ไม่เคยได้ตีจริงๆ พูดง่ายๆ ก็เหมือนคนได้แต่เห่า ใช้การดุและเสียงดังมากกว่า
ย้อนไปวัยเด็ก อาจารย์โตมาแบบไหน โดนเลี้ยงมาแบบนี้หรือเปล่า
เหมือนกันนะ พ่อผมค่อนข้างเข้มงวด แต่ไม่ได้มีความสนิทกันมากเท่าไร เน้นการอ่านเขียนเหมือนกัน ต้องเขียน essay ต้องอ่านหนังสือ จะเรื่องอะไรก็ได้ เน้นเขียนและอ่านมาก
ผมค่อนข้างใช้เวลาคุยกับลูกเยอะ คุยกันว่าสิ่งนี้ดีนะ สิ่งนี้ไม่ดี ภรรยาเขาก็เลยไม่ค่อยชอบเพราะใช้เวลาวันหยุด รบกวนการดูทีวีวันเสาร์อาทิตย์ของเขา (หัวเราะ) นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราทะเลาะกันประจำ เลยตัดสินใจว่าพอแล้ว ภรรยาจะเลี้ยงลูกชายคนสุดท้องเอง ลูกสามคนแรกเขาอาจจะไม่ได้ enjoy life เสียเท่าไร
พาลูกๆ ไปเที่ยวบ่อยไหมคะ
ก็มีบ้างคร้บ ส่วนใหญ่ไปใกล้ๆ อยู่ในกรุงเทพฯ พาลูกขึ้นรถเมล์ไปวัดพระแก้วบ้าง วัดโพธิ์บ้าง พาเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง อธิบายสิ่งต่างๆ ให้เขาฟัง วันดีคืนดีก็พากันท่องชื่อประตูต่างๆ ที่สำคัญ หรือบางครั้งที่ผมไปสัมมนา ก็พาเขาไปเหมือนกัน
ดูเป็นการไปเที่ยวเชิงความรู้มากๆ แล้วไปเที่ยวแบบเที่ยวจริงๆ มีไหมคะ
เที่ยวจริงๆ มันเป็นอย่างไรล่ะ (หัวเราะ)
โรซี่ ลูกสาวคนโต เขาเคยเคียดแค้นผมมาก เขาอยากไปกวดวิชาภาษาอังกฤษ แต่จริงๆ คืออยากไปสังสรรค์กับเพื่อนนี่แหละ เขาเลยมาขออนุญาตผม ผมก็รู้ว่าเขาอยากไปกินเล่นสนุกกับเพื่อน ก็เลยตอบไปว่า เออดีเนอะ สนใจภาษาอังกฤษ งั้นเอาเรื่องนี้ไปอ่านไป (ยื่นหนังสือให้) เขาก็เลยอดไป และก็ไม่เคยมาขออีกเลย เพราะจะได้รับคำตอบแบบเกินคาดเสมอๆ พูดไปชีวิตเขาก็น่าสงสารเหมือนกันนะ (หัวเราะ)
ลูกน่าจะมีจังหวะงอแง อาจารย์จัดการอย่างไร
ผมไม่ค่อยเจอนะ เขาคงไปงอแงกับแม่แหละ ผมก็จะบอกได้แค่ว่า เนี่ยสมัยผมเจอมาหนักกว่านี้อีก โทษปู่ตลอด แต่ก็ยอมรับนะ แต่ผมก็คิดแล้ว การเลี้ยงลูกแบบครอบครัวเรามันถูกดีไซน์มาแล้วว่าผมจะรับบทโหด ต้องดุ ส่วนภรรยาผมจะรับบทเป็นเพื่อน เป็นที่ปรึกษา พอหลังๆ ภรรยาเขาก็ยึดอำนาจผมไป แต่ไม่ใช่เผด็จการนะ ต้องอย่าลืมว่าลูกตอนนั้นก็ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่ใช่เผด็จการแต่มันคือการเลี้ยงลูก
ในบทบาทครู มีอะไรแตกต่างกับบทบาทคุณพ่อบ้างไหม
ลูกศิษย์ก็เหมือนลูกผม มีเพียงความใกล้ชิดสนิทสนมเท่านั้นที่ต่างกัน ผมเข้มงวดเหมือนกัน ถ้าสอนอยู่ได้ยินเสียงโทรศัพท์ขึ้นมา ไม่ได้ เด็กคุยกันไม่ได้ แต่คุยกับผมได้ ยกมือได้เลยว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ส่วนใหญ่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นบนข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่คาบแรก ผมจะอ้างเลยว่าผมเป็นโรคประสาทอ่อนๆ ถ้าเกิดเด็กคุยกัน ผมชักจะสนใจ ผมจะอยากรู้ขึ้นมาทันที ดังนั้นผมก็จะลืมในสิ่งที่ผมเตรียมมาสอน ถือว่าเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงในชั้นเรียนอย่างหนึ่ง เพราะมีเพื่อนๆ คนอื่นเสียผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นอย่าเลย
บางครั้งก็มีการลงโทษให้ลุกขึ้นยืนบ้าง สลับที่มานั่งหน้าห้องบ้าง หรือโทษหนักสุดอย่างการไม่อ่านบทเรียนมาก่อนแล้วตอบคำถามไม่ได้ ผมจะให้ออกมาเดินเป็ด กระโดดกบ ทำให้มันสนุกๆ ไป
อาจารย์เปิดโอกาสให้เด็กยกมือถามได้ตลอด?
ใช่ บ่อยไปที่เด็กไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผมสอน หรืออย่างการพูดผิด บางครั้งเด็กก็จะยกมือท้วงขึ้นเลย “อาจารย์สอนผิด เออ จริงด้วย ขอโทษนะ ก็เท่านั้น ไม่เห็นมีอะไร ขอบคุณมาก”
ผมงงนะครับ เวลาอาจารย์หลายๆ ท่านโกรธและรู้สึกเสียหน้าเวลานักเรียนทักท้วง ผมไม่เห็นว่ามันจะเสียหน้าตรงไหน ผิดก็ผิด ตอนหลังๆ เวลาผมพูดผิด ผมก็อ้างเลย ผิดจริงนะ ขอโทษๆ ผมแก่แล้ว (หัวเราะ)
เด็กควรจะเชื่อทุกอย่างที่อาจารย์สอนไหม
ผมพูดอยู่เสมอๆ ว่าไม่ควรเชื่ออย่างยิ่ง เพราะคนที่เป็นอาจารย์เขาก็แค่อ่านมามากกว่าคุณ ถ้าคุณอยากรู้เท่าอาจารย์ก็แค่อ่านให้มากกว่าเท่านั้นเอง การที่ผมได้มาพูดหน้าชั้นเรียน บังเอิญผมแค่รู้เรื่องนี้มากกว่าพวกคุณแค่นั้นเอง
อาจารย์เจอนักศึกษาหลายรุ่น นักศึกษารุ่นก่อนๆ กับนักศึกษารุ่นปัจจุบัน แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ผมสอนหนังสือมา 48 ปีแล้ว นักศึกษาแตกต่างกันเยอะมาก แต่ก่อนมีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยระบบเอนทรานซ์ หรือระบบโชคชะตาชีวิต ถ้าสอบติดเข้ามหาวิทยาลัยได้ก็อนาคตสดใส ถ้าเข้าไม่ได้ก็แย่
เด็กรุ่นก่อนก็จะขยัน ตั้งใจ ไม่มีปัญหา เรียบร้อยดี แต่มันก็มีช่วง ปี 2517-2519 มีแนวคิดเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองเข้ามา จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เราเคยเห็น 14 ตุลาฯ บ้าง เด็กก็เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง บางคนแสดงด้วยวิธีก้าวร้าว ชี้หน้าด่าผมว่า ผมไม่ใช่ประชาชน ผมก็งงว่าผมไม่ใช่ประชาชนอย่างไร เด็กตอบว่าเพราะผมเป็นอาจารย์ ไม่ใช่ชนชั้นกรรมาชีพ อ้าวแล้วผมไม่ได้หาเงินด้วยการสอนเหรอวะ ก็เถียงกันไปมา แต่ผมก็ชอบนะ สนุกดี เพราะเรื่องต่อปากต่อคำ ผมก็ไม่ตกฟากเหมือนกันเรื่องนี้ (หัวเราะ)
ส่วนเด็กๆ รุ่นนี้ ผมเริ่มสังเกต ช่วง 10 กว่าปีหลังที่ผ่านมา ตัดเป็น 2 ช่วงกว้างๆ ง่ายๆ นะ รุ่นก่อนอินเทอร์เน็ต และรุ่นหลังอินเทอร์เน็ต
รุ่นหลังอินเทอร์เน็ต จะดูเงียบแฮะ เรียบร้อย เฉยๆ ไม่ค่อยแสดงความคิด ซึ่งผมมีลูกศิษย์ที่จบไปเป็นอาจารย์สอน บอกเหมือนกันว่าเด็กรุ่นหลังๆ ดูเงียบๆ แต่ถ้ามองไปในแววตาก็แอบมีความสงสัย เหมือนพวกเขารู้แต่ไม่พูด
อยากรู้อะไรก็ไปกูเกิลเอา มันไม่ใช่การผูกขาดความรู้อีกต่อไปแล้ว แต่ก่อนต้องนั่งฟังอาจารย์ จดตาม มันทำให้ผมสงสัยมาตลอด จนมาถึงเหตุการณ์เลือกตั้งครั้งล่าสุด ไม่ต้องพูดมากเลย เด็กที่เงียบๆ ไม่พูด ไม่บอก แต่เขาเลือกทำสิ่งที่เขาคิดเองเลย
เพราะเด็กสมัยนี้มีความเป็นตัวของตัวเอง เลือกพื้นที่ในการแสดงออกวามคิดเห็นได้เองหรือเปล่า
ใช่ๆ ผมว่าเขามีกาลเทศะนะ พูดกับคนไม่รู้เรื่องจะพูดไปทำไม เสียเวลา เขาคิดว่านี่คือพื้นที่ปลอดภัย พูดตรงนี้ได้ เขาก็เลือกพูด
เช่นในโลกทวิตเตอร์หรือเปล่าคะ
มันก็มีเหตุผลนะ ผมก็เพิ่งเข้าไปในโลกทวิตเตอร์เมื่อต้นเดือนเมษายนเอง แม้ผมจะระแคะระคายแต่ก็ไม่เชื่อ จนจอห์นเขามานั่งตรงนี้แหละ มาพูดให้ผมลองเล่นทวิตเตอร์ดูสิ เขากับโรซี่ก็เข้ามาจัดการให้ แล้วก็หันมาถามผมว่า ‘พ่อจะพูดอะไร’
ผมก็พูดเรื่องเดิมๆ แบบที่เคยพูดมานั่นแหละ เช่น ชาติคืออะไร พอทวิตไปแป๊บเดียวรีทวิตขึ้นมาเป็นพัน เล่นเฟซบุ๊คกว่าจะถึงพันเลือดตาแทบกระเด็น พอนั่งดูไปมา แม้จะไม่ได้อ่านทุกรีทวิต ก็ชวนตกใจ ขนพองสยองเกล้าอยู่เหมือนกัน มันเหมือนอยู่อีกโลกหนึ่งเลย เป็นพื้นที่ที่เขาพูดกันอย่างเต็มที่จริงๆ
ในการทวิตแต่ละครั้ง อาจารย์วางแผนก่อนไหม
ไม่ๆ เหมือนกับผมเขียนบทความ เกิดความรู้สึกอยากจะเขียนขึ้นมาก็เขียน เป็นแบบไก่ อย่าง ไก่โต้ง ไก่ตัวผู้ ถึงเวลาอยากขัน มันก็ขันขึ้นมา ผมก็รู้สึกคล้ายๆ อย่างนั้น มันคันๆ แน่นอก ก็เขียน คล้าย มีแรงผลัก อะไรทำนองนั้น
เมื่อก่อนก็เขียนส่งไป ใส่ซองติดแสตมป์ ส่งไปตามหนังสือพิมพ์ต่างๆ ส่งไปเขาก็ลงบ้างไม่ลงบ้าง ฟรีอะนะ แต่มันคัน
ผมส่งไปหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ปี 2515 ล่ะมั้ง จนกระทั่งปี 2537 มติชนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็เลยส่งเงินกลับมาให้ผม เฮ้ย ดีเว้ย
เพิ่งได้ค่าเรื่องปี 37?
ใช่ครับ เขียนไปด้วยความคัน ค่าแสตมป์ก็เยอะเหมือนกัน (หัวเราะ) ผมส่งไปเรื่อยๆ จนมีอีเมลขึ้นมา ปัจจุบันก็ยังเขียนอยู่ เอ้อ หน้าด้านหน้าทนเหมือนกันนะผมเนี่ย (หัวเราะ)
อาจารย์คิดว่าเพราะอะไร เด็กๆ ในทวิตเตอร์จึงกล้าแสดงออกในเรื่องต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ อิสระ หรือเพราะเขาอึดอัดจากสถานการณ์ที่ไม่สามารถพูดอะไรได้เลย
เมื่อก่อน เวลาจะพูดอะไรต้องยาวๆ ซึ่งมันน่าเบื่อ น้ำท่วมทุ่ง แต่ทวิตเตอร์มันจำกัด 140 คำ (ปัจจุบันเป็น 280 คำแล้ว-กองบรรณาธิการ) ยาวกว่านั้นไม่ได้ มันตรงกับจริตคนไทย เขาไม่ค่อยชอบพูดยาวๆ มากๆ แล้วมันมาเร็วไปเร็ว โพล่งออกไปก็สบายใจแล้ว (ยิ้ม)
แล้วมันสั้นเกินไปสำหรับอาจารย์ไหมคะ
ไม่ (ตอบทันที) ความจริงผมก็ไม่ค่อยชอบพูดยาวๆ บทความเหมือนกัน บทความทางวิชาการ 15 หน้าขึ้นไป ผมขี้เกียจเขียนจะแย่อยู่แล้ว ไอ้พิมพ์ ผมก็พิมพ์แบบจิ้ม ไม่ได้พิมพ์สัมผัส
เมื่อก่อนผมส่งบทความลงนิตยสารต่วย’ตูนแบบตลกๆ มีเนื้อหาหน่อย เขาบอกว่าขอสัก 5 หน้า เขียนไปเขียนมาผมเขียนไปสองร้อยกว่าเล่ม แล้วก็ขี้เกียจละ เลยหยุด เฮียต่วย (เจ้าของนิตยสารต่วย’ตูน) ก็โทรมา ผมบอกว่าเขียนไม่ไหวละ ผมเขียนได้หน้าครึ่งนะ พอทวิตเตอร์มา เออ ดีเว้ย 140 ยิ่งสั้นดี
นอกจากตรงกับพฤติกรรมการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ จุดนี้อาจารย์คิดว่ามันจะทำให้เกิดความผิดพลาดมากขึ้นไหม เพราะไม่มีพื้นที่อธิบายมากพอจนนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้
ผมคิดว่า ความเข้าใจขึ้นอยู่กับคำจำกัดความ หรือที่เราเรียกว่าคำนิยาม มันก็ต้องสั้นๆ อยู่แล้ว ยิ่งยาวเท่าไหร่ก็ยิ่งมั่ว เพราะฉะนั้นผมว่ามันก็เหมาะนะ การที่จะบอกว่ามันคืออะไร
ส่วนความผิดพลาดส่วนใหญ่มักจะได้รับข้อมูลอีกที ผมก็เคย ในทวิตเตอร์นี่แหละ ไปแชร์ข้อมูลที่ผิด ผมเลยรีบขอโทษ ผมผิดไปแล้ว ขออภัย ก็กะว่าคงโดนถล่มอะ ก็โดนพอสมควร (ยิ้ม) ผิดมันก็ผิดอะ ก็แค่ขอโทษ ไม่รู้จะทำยังไง จะให้เอาไปฆ่าไปแกงได้ไง
รู้สึกจะไม่ใช่ครั้งเดียวนะ มี 2-3 ครั้ง เวลาผิดก็ขอโทษ แค่นั้น
ในบทบาทครู/อาจารย์รัฐศาสตร์ ตำราต้องเดินไปคู่กับประสบการณ์นอกห้องไหม
ผมจะขีดเส้นจุดนึง เผด็จการ แล้วก็ขีดเส้น ประชาธิปไตย มันก็มีทั้ง 2 แบบ ก็เหมือนกับหยินหยาง มีมืดมีสว่าง ถ้าเผด็จการมันก็สุดโต่งไปด้านหนึ่ง พอมาเจอกันที่ตรงกลาง แล้วเลยเลื่อนไปหน่อยนึงเข้าไปอยู่ในส่วนประชาธิปไตย
ผมว่า100 เปอร์เซ็นต์ สองอย่างมันไม่ดีหรอก มันเป็นเกณฑ์อุดมคติ เผด็จการ 100 เปอร์เซ็นต์มันไม่มีหรอก ประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่มี แต่เราพูดถึงดีกรี ดังนั้นการมีตำรา คือพูดถึงโมเดลอุดมคติ แต่ประสบการณ์เราจะยอมรับได้ขนาดไหน แล้วขนาดไหนก็ต้องมีการตกลงกันว่าอย่างนี้ ขนาดนี้ เราเรียกว่าประชาธิปไตย ขนาดนี้เราเรียกว่าเผด็จการ
เด็กที่เรียนกฎหมาย จะไม่ได้รู้แค่ตำราอย่างเดียว เขาจะต้องรู้สถานการณ์ต่างๆ ด้วย
แน่นอน ต้องมีประสบการณ์จากของจริง
บางมีผมก็เห็นใจพวกหนอนหนังสือเหมือนกันนะ ไม่เคยมีประสบการณ์ข้างนอก ดูอย่างผู้พิพากษา ก็ท่องจำทั้งนั้น จำคำพิพากษาศาลฎีกาได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งโอเค ไม่ค่อยได้เล่นกับชาวบ้าน ได้แต่ดูหนังสือ เสร็จแล้วก็สอบ ไม่เหมือนต่างประเทศ คนที่จะเรียนกฎหมาย หมอ เขาต้องเรียนปริญญาตรีสาขาใดสาขาหนึ่งมาก่อน แต่ของเราพอจบมัธยมก็เรียนเลย เพราะฉะนั้น หมอก็เด็ก นักกฎหมายก็เด็ก ผู้พิพากษาก็เด็ก
ทั้งสองอย่างต้องไปด้วยกัน บังเอิญผมมีประสบการณ์ ผมไปเรียนต่อปริญญาโทด้านกฎหมายที่สหรัฐอเมริกา เมื่อตอนอายุ 52 ไปเจอคนจบดอกเตอร์หลายคนที่เพิ่งมาเรียนกฎหมาย อายุ 60 ก็มี อย่างต่ำ 27-28 ประสบการณ์จึงสำคัญ แต่ของเราจบแล้วทำงานเลย นี่คือปัญหาของบ้านเรา เขาไม่มีวัยเด็ก เขาไม่ได้เล่น เป็นเนิร์ด ได้แต่ดูหนังสืออย่างเดียว พอทำงานจึงขาดการเชื่อมโยง
ตัวอย่างง่ายๆ เรื่องตายายเก็บเห็ด เอาคนอายุ 70 กว่าเข้าคุก บ้าบอคอแตกอะ
พวก professional อย่างนี้ควรอายุมากหน่อยนะ อย่างน้อยจะได้สื่อสารกับชาวบ้านรู้เรื่องบ้าง
ทำไมอาจารย์ถึงไปเรียนกฎหมายตอนอายุ 52 คะ
ผมจบปริญญาเอกตอนอายุ 30 กว่า หลังจากนั้นก็สอนหนังสือ สอนรัฐศาสตร์ ความคิด การเมืองการปกครอง สอนๆ ไป ตอนหลังมีความรู้สึกว่ามันชักจะพายเรือวนอยู่ในอ่าง เอะอะอะไรก็จะต้องตัดสินขั้นสุดท้ายตามกฎหมาย ผมเลยไปเรียนดีกว่า ก่อนหน้านั้นผมก็ไปเรียนรามฯ เรียนไปเรียนมากว่าจะจบ รู้สึกจะล่อไป 13 ปีมั้ง ผมก็รู้สึกว่าผมก็โง่พอสมควรนะ เนื่องจากผมเรียนมาทางรัฐศาสตร์ พอไปเรียนกฎหมายเข้า เวลาตอบข้อสอบก็ไปเถียงเขา มันก็ไม่จบซักทีอะ เพราะมันเป็นกฎหมาย จนกระทั่งเด็กรุ่นน้องที่มาช่วยติว ก็ยกมือไหว้ผม บอกอาจารย์ เลิกเถียงซะที กว่าจะจบก็เลย 52
พอจบก็เขียนจดหมายไปสมัครเรียนที่อเมริกา เขาก็ให้เขียน essay เขาก็รับเข้าเรียนและให้ทุนด้วย ผมก็ตกใจ
ผมเขียน essay ว่าทำไมถึงมาเรียนกฎหมาย บอกว่าเรียนรัฐศาสตร์มาแต่สุดท้ายไปชนเพดานด้านกฎหมายเลยอยากเรียน อยากเปิดโลกใหม่ second spring (ยิ้ม) โม้ไปเรื่อย
เรียนตามตรง ผมมีจุดหมายแฝงคือ ตอนนั้นเริ่มเข้ายุคอินเทอร์เน็ต แล้วผมใช้ไม่เป็น ผมเป็นคนขี้กลัว บางทีพิมพ์ไปแล้วมันหายไปเฉยๆ เจอบ่อยด้วย ผมใช้วิธีอาศัยลูกศิษย์ เปิดประตู เปิดหน้าต่างเรียก ว่าเฮ้ย มาช่วยหน่อยเว้ย ใครก็ได้ เพราะผมมั่นใจว่าทุกคนรู้ดีกว่าผมแหงๆ บางทีเปิดประตูไปยืนเก้ๆ กังๆ ไม่มีเห็นใคร
คิดว่าพอไปอเมริกา มันต้องใช้อะ ปรากฏตอนที่ผมไป เขากำลังมี power point ก็ได้ใช้สมใจ พอไปถึงก็มีคำสั่งให้อ่าน 80 หน้า แล้วมาคุยกัน ตั้งแต่ยังไม่เปิดเทอม
ก็พอกล้อมแกล้มครับ ตอนนี้ผมก็ยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ power point ส่วนใหญ่ก็เรียกเด็กมาช่วย effect ผมไม่ค่อยทันสมัย
ผมว่า ผมติดอยู่กับความเคยชิน ความกลัว เด็กรุ่นใหม่เขาไม่กลัว กดโน่นกดนี่ก็ไปได้ละ ส่วนผมกดโน่นก็หาย นี่ก็หาย ตกใจ panic อะ ตอนนี้ก็แค่พอใช้ได้ ทำไม่ไหวก็โทรศัพท์ตาม เฮ้ย ช่วยหน่อยเว้ย บ่อยไป๊
พอเรียนกฎหมายกลับมา มันช่วยให้อาจารย์เลิกพายเรือวนในอ่างได้อย่างไร
ทำให้ผมตระหนักว่ากฎหมายมีอยู่หลายแบบซึ่งมันไม่เหมือนกัน เวลาอ้างอิงก็แตกต่างกัน ความจริงเนี่ย กฎหมายมหาชน สมัยก่อนเราเรียกกฎหมายสาธารณะ หรือ public law เป็นส่วนหนึ่งของรัฐศาสตร์ แล้วเมื่อก่อนพวกนิติศาสตร์ ไม่สนใจ public law เลย ใช้แต่แพ่ง อาญา วิแพ่ง วิอาญา 4 เล่มเท่านั้น
แต่จริงๆ แล้ว กฎหมายแตกต่างกัน จะอ้างหรือใช้มาตรฐานเดียวกันไม่ได้ บางทีกฎหมายมหาชน ไปอ้างกฎหมายแพ่ง หรือบางทีไปอ้างกฎหมายอาญา เอ้ย มันไม่ใช่นี่หว่า มันก็เลยเปิดโลกให้พอสมควร เพราะเมื่อก่อนบางทีโดนขู่ด้วยกฎหมาย จนเกิดความรู้สึกพายเรือในอ่าง เพราะผมโดนพวกกฎหมายบลัฟมาเยอะ พอไปเรียนมา บลัฟมาก็บลัฟกลับล่ะวะ (ยิ้ม)
ย้อนกลับไปที่บรรยากาศห้องเรียน เวลาที่อาจารย์สอนนิสิตนักศึกษา อาจารย์มีวิธีสอนคนรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง
ส่วนใหญ่ผมจะมีตำราหลักในวิชาที่ผมสอน เพราะฉะนั้นผมเขียนตำราไว้หลายเล่มเพราะถ้าโดน assign ให้สอนวิชาอะไรผมจะนั่งเขียน ก็คือคล้ายเป็นชีทแต่ผมไม่ทำเป็นชีท ผมเขียนให้มันจบในหลักสูตรนั้นเลย เสร็จแล้วก็พิมพ์ออกมาเป็นเล่มเป็นหนังสือแล้วให้ไปอ่านมา ผมก็ยืนยันว่าทุกคนต้องอ่านก่อนเข้าเรียน ไม่ใช่มานั่งฟัง นั่งฟังไปทำไม จนจบไปก็ได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาหรอก เพราะฉะนั้นต้องอ่านมาก่อน
สังเกตไหมครับวิชาประวัติศาสตร์การเมือง บางทีจดไม่ถึง 15 หน้าทั้งเทอม แล้วก็ไปท่องกัน 15 หน้า มันทุเรศ ผมว่ามันต้องไปอ่านมาแล้วถ้ามีปัญหาอะไรก็ถาม แน่นอนถ้าไม่อ่านก็ไม่มีอะไรถาม งั้นผมถาม ผมก็ไล่ถาม ถามในเนื้อหาหรือถามแบบ apply เหตุการณ์ปัจจุบัน ตอบไม่ได้ก็ยืน ยืนเยอะๆ ก็ให้เดินเป็ด โดดกบ มันก็สนุกสนานดีอะ ก็ไม่มีอะ ผมก็มีเหตุผลว่าให้อ่านแล้วแต่ไม่อ่านมาเอง แล้วผมจะสอนยังไงอะ เพราะผมไม่ต้องการให้ได้แค่ 15-20 เปอร์เซ็นต์ จากที่ผมเลคเชอร์แล้วก็จด ผมว่าให้จดเฉพาะแง่มุมที่เรา discuss กันดีกว่าแล้วก็อ่าน ถ้าสงสัยก็มาถามกันดีกว่า ถ้าเกิดไม่สงสัยพูดไปทำไมซ้ำๆ เดี๋ยวก็หลับ
ในยุคที่ความรู้ใครๆ ก็หาได้ ไม่ใช่เฉพาะแค่ในเด็กรุ่นใหม่ แล้วอาจารย์หรือครูจะต้องวางตัวแบบไหนในเมื่อความรู้หรือตำรามันแสวงหาได้หมดแล้ว
ก็เป็นคนคอยแนะ ประโยชน์ที่มีมากที่สุดเลยคือประสบการณ์ อายุที่มีมากกว่า แต่ขอให้ใช้ไปในทางที่ถูกเท่านั้นแหละ มันต้องมีนะครับคนที่คอยแนะ เพียงแต่ว่าไอ้บทบาทมันควรลดจากผู้ที่ผูกขาดความรู้ได้แล้ว เป็นผู้แนะนำ
ในวัย 71 ปีมีอะไรที่อยากลอง อยากเรียนรู้อีกไหมคะ
ความจริงมันเป็นนิสัยของผมมากกว่านะ หรือที่เรียกว่าสันดานก็ได้ ถ้าผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ ผมมีความสุข และผมเป็นคนชอบมีความสุขแบบนั้น บางทีนั่งๆ นอนๆ อยู่ ก็เกิดแวบขึ้นมา ก็มานั่งคิดต่อ
ภรรยาผม เขาจบทางสุนทรียศาสตร์ ปรัชญา ผมก็ชอบ คุยกันอยู่สองคน ไม่มีใครคุยด้วย บางทีก็ได้อะไรดีๆ ขึ้นมาเยอะ ไปอ่านเจออะไรมาก็เล่าให้เขาฟัง บางทีเขาก็มาเล่าให้ผมฟัง มันเป็นความสุขนะ ผมไม่ทราบว่ามีใครบ้าเหมือนผมหรือเปล่า คือ ได้รู้อะไรใหม่ เกิดความเข้าใจอะไรขึ้นมา มันมีความสุข ผมก็พยายามแสวงหาความสุขของผมอยู่เรื่อย
ถ้าเผื่อมันมีความชอบ ความรักที่จะได้ความรู้มา เพราะความรู้ทำให้เรามีความสุข
อาจารย์บอกว่ามีความสุขที่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ทุกวัน จากโลกทวิตเตอร์อาจารย์ได้รู้อะไรใหม่บ้างไหมคะ
มันมีเรื่องแปลกๆ อยู่บ่อย อย่างผมสอนหนังสือ สอนๆ ไปผมเข้าใจนะ เออเว้ย มันแวบขึ้นมา เหตุการณ์มันเกิดขึ้นมาจากสิ่งที่เราเห็นหรือรู้จากทวิตเตอร์ เพราะฉะนั้นไอ้ที่ผมชอบสอน สอนหนังสือมาได้ 47-48 ปีเนี่ยเพราะว่าผมชอบ ผมมีความสุข
เวลาผมสอนหนังสืออยู่ ผมเลยเข้าใจ เข้าใจว่าทำไมเขาเชื่อมโยงได้ ทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ คือพูดๆ ไป แล้วมันคิดได้ว่า ตรงนี้มันปิ๊งนี่หว่า
เช่นอะไร อาจารย์ช่วยยกตัวอย่างได้ไหมคะ
ทางปรัชญาเขาเรียกว่า intuition-ความกระจ่าง เช่น เราเรียนหนังสือมาเราเข้าใจ สอบก็ได้เอ แต่พอมาสอนแล้วรู้สึกว่ามันชักติด ยกตัวอย่างเรื่องรัฐศาสตร์ ภาษาอังกฤษเรียกว่า political science แต่อย่างภาษาไทยเรียกว่ารัฐศาสตร์ มันไม่เกี่ยวกันเลย
ผมก็จบมาทางรัฐศาสตร์ได้เอได้บีก็เยอะแยะ พอถึงเวลาสอนกลับคิดไม่เหมือนกัน อย่างเรื่องชาตินี่ก็เขียนอธิบายมาเป็นหน้าๆ อะแหละ แต่จริงๆ มันคืออะไรวะ มันจับไม่ได้นี่หว่า ศึกษาไปเรื่อยๆ เสร็จแล้วก็ไปสอน ไปพูด ก็ต้องมีอยู่จุดหนึ่งเกิดความเข้าใจขึ้นมา ถูกปลุกให้ตื่นถูกปลุกให้พูด พูดได้แหละมันคืออะไร ชาติคืออะไร รัฐศาสตร์คืออะไร ทำไมมันไม่ใช่ political science
บทบาทพ่อล่าสุดที่อาจารย์วาสนาเปิดตัวว่าเป็น LGBT อาจารย์รับรู้มาก่อนแล้วหรือได้มีการคุยกันในครอบครัวมาก่อนหรือเปล่าคะ
ก็รับรู้ แล้วผมก็ไม่เห็นว่ามันจะแปลกประหลาดอะไร องค์การอนามัยโลกก็ประกาศมาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกมั้ง 80 ปีมาแล้ว ว่ามันไม่ใช่โรค ไม่ได้ผิดแปลกอะไร ทำไมมันถึงได้ล้าสมัยกันขนาดนั้น เขาประกาศมาตั้งนานแล้วว่ามันไม่ใช่ ทำไมถึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดอะไรขนาดนั้น
เป็นเรื่องปกติสำหรับอาจารย์?
เป็นเรื่องปกติ preference ของแต่ละคนมันคนละเรื่องกันและผมว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับยีนด้วย ผมก็พูดมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่าไม่เห็นแปลก แต่ถ้าเป็นเรื่องข่มขู่ ข่มขืนอะไรนั้นผม against แต่ถ้าเป็นเรื่อง preference ไม่เห็นจะเป็นอะไร ไม่ได้แปลกประหลาดมหัศจรรย์อะไรตรงไหนเลย มันเป็นเรื่องปกติ
อะไรบ้างที่ทำให้อาจารย์ในวัย 71 มีชีวิตสดชื่น รู้สึกว่ายังมีแต่ความอยากรู้
ผมก็แสวงหาความสุข ถ้าเกิดได้เรียนรู้อะไรใหม่เพิ่มก็มีความสุข แล้วก็มองโลกด้วยอารมณ์ขัน ถ้าไม่งั้นคุณก็บ้า
ถ้าโกรธมากๆ เส้นโลหิตในสมองแตก เราก็ดูไปขำๆ ถ้าเกิดทำอะไรไม่ได้ก็หัวเราะใส่มันซะ แล้วเราก็แสวงหาความสุขด้วยการหาอะไรที่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง
อาจารย์มีปัญหาสุขภาพไหมคะ
ผมมีครบ เบาหวาน ความดัน ปวดหลัง ปวดเอวอะไรต่างๆ มีหมด
กินยาเยอะไหมคะ
ก็เช้าละกำ ผมพร้อมแล้ว (ยิ้ม)