- ห้องเรียนขอบฟ้ากว้างคือห้องเรียนที่จัดการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนชั้นป.1 ถึง ม.3 ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษของโรงเรียนเทศบาลวัดกลาง จังหวัดขอนแก่น
- จุดเด่นของห้องเรียนขอบฟ้ากว้างคือการจัดการเรียนการสอนโดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพตามความถนัดของนักเรียนเป็นรายบุคคล ควบคู่ไปกับการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมทักษะด้านการปรับตัว อยู่รอด และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความหมาย
- “การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งต้องช่วยกันทั้งหมดค่ะ ยิ่งครู คุณหมอ พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องทำงานหนักด้วยกันพอสมควร ที่ครอบครัวขอบฟ้ากว้าง เราจะเดินไปด้วยกัน มีอะไรเราก็จะจูงมือกันเพื่อไปให้ถึงปลายทางคือการที่เด็กของเราพัฒนาขึ้นและอยู่รอดได้ในสังคม”
ว่ากันว่า ‘การศึกษาคือกุญแจสำคัญในการพัฒนามนุษย์’ แต่ในโลกใบเล็กอย่างโรงเรียน ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะได้รับโอกาสในการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะกับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ พวกเขามักเป็นตัวละคร(ไม่)ลับที่ถูกมองข้าม น่าเศร้าไปกว่านั้นคือครูและเพื่อนยังตีตราว่าเป็นภาระของห้องเรียน ส่งผลให้เด็กๆ เหล่านี้ต้องดิ้นรนกับระบบการศึกษาที่ไม่สนับสนุนและพยายามเข้าใจพวกเขาอย่างแท้จริง
แต่ท่ามกลางข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ยังมีครูจำนวนหนึ่งที่มองเห็นศักยภาพของเด็กเหล่านี้ และเลือกที่จะเป็นผู้สร้างโอกาส แทนการเป็นผู้ปิดกั้นและทำลายโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็นทางเลือกที่ง่ายดายกว่ามาก
The Potential ชวน ‘ครูมล’ สุมลทา หลอดสว่าง หัวหน้าสายชั้นขอบฟ้ากว้าง และ ‘ครูวิช’ ทวิช ตรีสูน ครูชำนาญการ โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง จังหวัดขอนแก่น มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวของ ‘ห้องเรียนขอบฟ้ากว้าง’ พื้นที่การเรียนรู้ที่ออกแบบมาเพื่อโอบรับความแตกต่างหลากหลายและเสริมสร้างศักยภาพของนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ถึงแนวคิดและแนวทางการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กๆ เหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง สามารถรับมือกับโลกภายนอก พร้อมดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างมีศักดิ์ศรี

ก่อนอื่นอยากให้คุณครูเล่าถึงที่มาของห้องเรียนขอบฟ้ากว้าง
ครูมล: เดิมทีก่อนจะมาเป็นห้องเรียนขอบฟ้ากว้าง เรามีห้องม.3/8 ซึ่งเป็นห้องของเด็กปกติที่ติด 0 ติด ร. ซึ่งทาง ผอ.สายชล สิงห์สุวรรณ (ผู้อำนวยการโรงเรียนขณะนั้น และผู้ริเริ่มห้องเรียนขอบฟ้ากว้าง ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการมูลนิธิขอบฟ้ากว้าง) มองว่าจะต้องหาที่ทางให้เด็กกลุ่มนี้มารวมกันเพื่อจัดกิจกรรมหรือช่วยให้เด็กเขาได้จบตามเกณฑ์ เลยจัดเป็นห้อง 3/8
ทีนี้พอนานไปก็มีเด็กที่มีปัญหาการเรียนซึ่งส่วนมากจะเป็นเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ เลยเปลี่ยนเป็นห้องที่จัดการศึกษาให้กับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เช่น เด็กที่มีภาวะ LD (ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ที่มีปัญหาอ่านเขียนหรือคิดคำนวณ) ออทิสติก สมาธิสั้น ฯลฯ ก็เลยมาเป็นโครงการกิจกรรมห้องเรียนขอบฟ้ากว้าง ซึ่งเราจะมีเด็กตั้งแต่ป.1 ไปจนถึงม.3 เพื่อที่จะดูแลเด็กกลุ่มนี้ให้เขาได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกับคนอื่น
การจัดการเรียนการสอนสำหรับห้องเรียนแบบคละชั้นที่มีตั้งแต่ ป.1 ถึงม.3 คุณครูทำอย่างไรครับ
ครูมล: เฉพาะเวลาทำกิจกรรมค่ะ แต่เวลาเรียนวิชาการเราจะจับแยก คือเด็กประถมอยู่ห้องหนึ่ง มัธยมก็จะอยู่อีกห้องหนึ่ง แต่ถ้าผู้ปกครองอยากจะให้ขึ้นไปเรียนกับห้องปกติ เราก็สามารถที่จะนำเด็กขึ้นไปเรียนได้ ซึ่งส่วนมากเด็กที่ลงมาแล้วก็ไม่อยากกลับขึ้นไป เพราะว่าเด็กของห้องเรียนขอบฟ้ากว้างไม่ได้รับจากข้างนอกอย่างเดียว แต่คัดจากห้องเรียนปกติในโรงเรียนด้วย บางคนพอเขาเข้ามาเรียนแล้วเรียนไม่ได้ เขาก็จะมาเรียนที่นี่
ครูวิช: ในการคัดเลือกเด็ก เราจะทำงานเป็นเครือข่าย มีครู หมอ พ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งเด็กที่มาอยู่ห้องเรียนขอบฟ้ากว้างจะต้องผ่านการประเมินและวินิจฉัยจากคุณหมอมาก่อนว่าเป็นเด็กกลุ่มประเภทไหน ออกมาเป็นใบรับรองคนพิการเรียบร้อยจึงจะเข้ามาอยู่ พอเข้ามาอยู่ในห้องเรียนขอบฟ้ากว้างก็จะมีการประเมินคัดแยกอีกครั้งหนึ่ง ว่าเด็กกลุ่มนี้มีพัฒนาการประมาณไหน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาในระบบของโรงเรียนเรา และง่ายต่อการจัดการเรียนการสอน
ห้องเรียนขอบฟ้ากว้างทำมากี่ปีแล้ว ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง
ครูมล: ปีนี้น่าจะ 14 ปีแล้วนะคะ เราเริ่มต้นกิจกรรมโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2553 ผลตอบรับดีมากค่ะ เพราะโรงเรียนอื่นในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่นก็จะส่งเด็กๆ มาที่นี่ด้วย คือเราจะให้สิทธิเด็กที่อยู่เทศบาลก่อนถึงจะรับเด็กที่มาจากนอกเขต อย่างปีนี้เด็กๆ มี 39 คน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วครูเรามีแค่ 5 คน ถามว่าพอไหม มันก็ไม่พอ คือเราอยากจะรับมากกว่านี้ แต่ด้วยจำนวนครูและสถานที่ทำให้เรารับได้แค่นี้

ทางโรงเรียนได้รับการซัปพอร์ตจากหน่วยงานต่างๆ บ้างไหมครับ
ครูมล : ต้นสังกัดคือเทศบาลนครขอนแก่นจะสนับสนุนการจัดกิจกรรมให้กับห้องเรียนขอบฟ้ากว้างปีละ 300,000 บาท เราก็เอามาจัดกิจกรรมให้กับเด็กๆ อย่างเช่น กิจกรรมศิลปะบำบัด ซึ่งเด็กของเราเขาต้องอาศัยเรื่องศิลปะในการบำบัดจิตใจของเขา เขาจะนิ่งถ้าได้อยู่กับงานศิลปะ แล้วก็มีกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการ กิจกรรมอบรมทักษะอาชีพ ตรงนี้เราจะมีวิทยากรมาให้ เช่น ทำอาหาร ทำขนม หรือทำอะไรที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้ในอนาคต หรือจะเป็นกิจกรรมชีวิตในธรรมชาติที่พาเด็กๆ ออกไปเรียนรู้การใช้ชีวิตข้างนอกโรงเรียนค่ะ
ครูที่มาสอนเด็กๆ กลุ่มนี้ต้องมีคุณสมบัติหรือผ่านเกณฑ์การคัดเลือกอย่างไร
ครูมล: อย่างครูกับครูรุ้งที่อยู่มาตั้งแต่ปี 2553 ตอนนั้นเราต้องผ่านการอบรมจากหลายๆ ที่ จิตตปัญญา มอนเตสเซอรี หรือสถานที่อบรมต่างๆ เกี่ยวกับการดูแลเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ก็เลยได้มาอยู่ตรงนี้ แต่หลังจากนั้นส่วนมากต้องเป็นครูที่จบการศึกษาด้านนี้โดยตรง
ครูวิช: ที่สำคัญคือครูจะต้องมีความรักความเอาใจใส่เด็ก เราจะอยู่กับเด็กทั้งวันจนส่งถึงมือผู้ปกครองเลย
อะไรคือความแตกต่างในการออกแบบการเรียนรู้และกิจกรรมสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ
ครูวิช: เพราะเด็กกลุ่มนี้มีความแตกต่างจากเด็กปกติ มีเอกลักษณ์ มีความน่ารัก ถ้ามี 10 คน ก็จะมี 10 แบบ แล้วความสามารถพิเศษของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน พอเป็นแบบนี้ศักยภาพก็ต่างกันครับ ดังนั้นเราจะมีการจัดการแผนการศึกษาเฉพาะบุคคลให้กับเขา เป็นหลักสูตรเฉพาะบุคคลซึ่งเราก็มีการวางแผนก่อนที่เด็กจะเริ่มเรียนในแต่ละปีการศึกษา โดยในการประชุมผู้ปกครองเราจะวางแผนร่วมกันว่าปีนี้จะพัฒนาเขาในเรื่องไหนบ้างตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน ส่วนกิจกรรมก็จะมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ งานประดิษฐ์ งานอาชีพ หรือวิชาการครับ ซึ่งเราจะหาพื้นที่ให้เด็กๆ กลุ่มนี้ได้พัฒนา โดยดึงเครือข่าย เช่น มูลนิธิขอบฟ้ากว้าง ผู้ปกครอง หรือภาคีเครือข่ายในจังหวัดขอนแก่นเข้ามาช่วยจัดกิจกรรม
ครูมล: อย่างครูมลเคยสอนกลุ่มเด็กปกติซึ่งจะไม่เหมือนกัน เด็กปกติสอน 1 ชั่วโมงแล้วก็ไปทำงานอื่นต่อ ไม่ได้คลุกคลีอะไรขนาดนั้น แต่อันนี้เราอยู่กับเด็กทั้งวัน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือความอดทนของครูที่อยู่กับเด็กกลุ่มนี้ก็จะมีมากขึ้น เพราะเรายอมรับว่าเขาเป็นแบบนี้แหละ เรามีหน้าที่คอยเติม จะไม่ไปเร่งหรือคาดหวังอะไรมาก
อย่างผู้ปกครองบางคนอาจมีความคาดหวังว่ามาอยู่ที่นี่แต่ละวันจะต้องได้อย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งไม่ได้ค่ะ เราต้องเข้าใจว่าเขาเป็นแบบนี้ เราต้องค่อยเป็นค่อยไป การยอมรับถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
ครูวิช: แล้วเด็กแต่ละวันก็จะไม่เหมือนกันอีก ทั้งในเรื่องอารมณ์และพฤติกรรม วันนี้อาจจะสงบ แต่พรุ่งนี้ก็อาจจะส่งเสียงทั้งวัน บางคนเล่นกับครูบ้าง ตีครูบ้างในลักษณะเล่นแต่เล่นแรงไปหน่อย ที่สำคัญเนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีหลายประเภท มันเลยเป็นความท้าทายให้กับคุณครูเพราะว่าต้องมีการรับมือตลอด บางทีวางแผนมาแบบนี้ แต่เวลาจัดกิจกรรมอาจต้องยืดหยุ่นเป็นอีกแบบ
ครูมล: แต่มันก็ไม่มีบทเรียนสำเร็จรูปสำหรับเรานะคะ ทุกวันเราต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ หมายถึงว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาก็สอนครู เด็กก็เป็นครูให้กับครูด้วย ให้เราได้ปรับได้เรียนรู้ไปด้วยกัน


เป้าหมายของการจัดกิจกรรมหรือพัฒนาศักยภาพของเด็กกลุ่มนี้คืออะไรครับ
ครูมล: เป้าหมายที่เราวางไว้กับผู้ปกครองคือการที่เขาสามารถดูแลตัวเองได้ค่ะ เพราะบางคนยังไม่สามารถเข้าห้องน้ำเองได้ กินข้าวเองได้ และมีเรื่องอื่นๆ คือ ทักษะชีวิต ทักษะในการอยู่รอด อยู่ร่วมและอยู่อย่างมีความหมาย อันนี้สำคัญ
อยู่รอดก็คือต้องเอาชีวิตรอด ถ้าเกิดว่าไม่มีใครดูแลเขา เขาต้องสามารถดูแลตัวเองได้ อย่างเราจะพาเด็กออกไปเข้าค่ายคือฝึกให้เขาเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น
ครูวิช: ในส่วนของวิชาการนั้น หลักๆ ที่ห้องเรียนขอบฟ้ากว้างจะเน้นคือพื้นฐานทางด้านภาษาไทยและคณิตศาสตร์ครับ เพื่อเป็นทักษะพื้นฐานที่จะต่อยอดในระดับสูงต่อไป ภาษาไทยต้องอ่านออกเขียนได้ คณิตศาสตร์ต้องรู้จักตัวเลขและการบวกลบเลข แล้วพอแต่ละคนมีศักยภาพต่างกัน ถ้าเราเห็นแววว่าคนนี้สามารถเรียนต่อได้ เราก็จะส่งเสริมตรงจุดที่เขามีความพร้อมอยู่แล้ว
ตอนนี้เด็กในห้องเรียนขอบฟ้ากว้างส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษด้านไหน
ครูวิช: จะเป็นกลุ่มสมาธิสั้น เพราะว่าจอสี่เหลี่ยมครับ เหมือนพอเด็กเกิดมาปุ๊บ เขาเจอเลยครับ ผู้ปกครองก็จะเอาแต่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตยื่นให้ มันมีความเข้าใจผิดว่าเด็กจะนิ่งและอยู่ได้นาน ผู้ปกครองเองก็จะได้ไปทำงานอื่น คือให้ดูได้ครับแต่ไม่ดูนาน แต่ผู้ปกครองยุคปัจจุบันนี้ให้ลูกดูนานๆ เลยครับ
พอเด็กมีความหลากหลาย บางคนเรียนรู้เร็ว บางคนเรียนรู้ช้า ครูมีเทคนิคอย่างไรที่จะพาพวกเขาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
ครูวิช: สมมติว่าเราจัดกิจกรรมในห้องเรียน แล้วมีเด็กที่ไม่นิ่ง วิ่งไปวิ่งมา คุณครูจะพยายามหาพื้นที่ให้เขาไม่มารบกวนคนอื่นให้เสียสมาธิ โดยการพาเด็กแยกออกไปปรับพฤติกรรม ผ่านการหากิจกรรมเพื่อดึงดูดให้เขาสนใจและมีสมาธิขึ้น คือละลายพฤติกรรมที่เขามี ลดแรงกระตุ้นภายในเขาก่อน แล้วพอเขานิ่งขึ้นค่อยมาส่งเข้ากิจกรรมในห้องเรียนที่จัดให้คราวนั้น อันนี้สำคัญครับ เขาต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นให้ได้ อนาคตเขาต้องออกสู่สังคมที่กว้างขึ้น ดังนั้นสังคมในระบบที่โรงเรียนจัดให้จะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้และปรับเรื่องอารมณ์และพฤติกรรม ให้เขามีความพร้อม
และสำคัญที่สุดคือเราจะพยายามดึงผู้ปกครองเข้ามาเรียนรู้แลกเปลี่ยนในเรื่องพฤติกรรมของเด็กในแต่ละวัน เพื่อเชื่อมโยงจากโรงเรียนสู่บ้าน การพัฒนาก็จะยั่งยืนและต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อเด็กๆ

คุณครูมีแนวทางในการปรับพฤติกรรมเด็กอย่างไร ในส่วนของการให้รางวัลและการลงโทษมีอะไรที่ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษหรือไม่
ครูมล: เรื่องการให้รางวัลและการลงโทษมีผลนะคะ ถามว่าเราจัดการยังไงเวลาที่เด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม บางคนทำร้ายครู ทำร้ายเพื่อน เราก็จะจับแยกออกมาแล้วบอกเลยว่าทำแบบนี้ไม่ได้ ต่อด้วยการพูดคุยกับผู้ปกครอง เพราะผู้ปกครองจะรับส่งลูกที่ห้องตลอด เราเลยได้คุยแลกเปลี่ยนกันว่าจะปรับพฤติกรรมยังไง บางทีก็ขอให้ไปปรึกษากับคุณหมอหน่อยว่าเราจะหาวิธีการช่วยเหลือเด็กๆ ยังไง เพื่อเป็นแนวทางในการปรับพฤติกรรมของเด็กๆ ได้เร็วค่ะ
ผู้ปกครองแต่ละคนคงมีความคาดหวังต่างกัน คุณครูมีวิธีอย่างไรในการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง
ครูมล: เรามีห้องเรียนพ่อแม่ ซึ่งจะคุยทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในเรื่องการดูแลเด็ก เพราะผู้ปกครองบางคน เอาจริงๆ นะคะ ต้องเยียวยามากกว่าเด็กอีกค่ะ แต่เราก็เข้าใจว่าเขามีความคับข้องใจ ดังนั้นเวลาไปค่ายหรือประชุมผู้ปกครอง เราก็เลยทำงานกับผู้ปกครองหนักมาก เราจะคุยกับผู้ปกครองตลอด ต้องให้เขาเข้าใจยอมรับในตัวลูก อีกเรื่องคือเราจะมีเวลาให้ผู้ปกครองมาเจอกัน พอหัวอกเดียวกันคุยกันเข้าใจ ก็เลยเป็นการเยียวยาไปในตัว เขาจะเห็นว่าลูกคนนั้นเป็นแบบนั้นแต่ยังอยู่ได้เลย
ครูวิช: เรื่องนี้อาจใช้เวลานาน ผู้ปกครองบางคนดื้อรั้น แต่เราจะพยายามเชื่อมโยงให้กับครอบครัวอื่นที่เขาประสบผลสำเร็จแล้ว เพื่อเป็นแนวทางต้นแบบให้กับเขา ที่สำคัญคือ ให้พึ่งคุณหมอด้วยครับ ไม่ใช่มาโรงเรียนอย่างเดียวแล้วจะหาย เพราะเด็กที่นี่ส่วนมากต้องทานยา ต้องไปหาคุณหมอตามนัดถึงจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
ที่โรงเรียนนี้เด็กของห้องเรียนขอบฟ้ากว้างได้รับการปฏิบัติอย่างไรบ้าง เขาอยู่ร่วมกับเด็กอื่นๆ ได้ดีไหมครับ
ครูมล: จุดเด่นของห้องเรียนขอบฟ้ากว้างคือ เราจะพาลูกๆ ของเราไปร่วมกิจกรรมทุกกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้น แม้แต่เวลาไปโรงอาหาร ไปซื้อของ เขาก็จะรู้ว่าการอยู่ร่วมกับผู้อื่นต้องทำยังไง เขาต้องต่อแถวไหม แล้วก็มีบัดดี้ มีพี่ๆ ดูแลน้องไป มันก็เป็นภาพที่น่ารัก
ก่อนหน้านี้ เด็กปกติช่วงแรกเขาจะยังไม่ยอมรับนะ มีบางคนบอกว่าเด็กปัญญาอ่อน ซึ่งพอเราทำตรงนี้ไปเรื่อยๆ หลังๆ มานี้ พี่ๆ เขาเข้ามาช่วยคุณครูด้วยซ้ำ ถ้าเห็นน้องไปทำอะไรที่ไหน จะวิ่งมาบอกว่าคุณครูคะ เด็กห้องขอบฟ้ากว้างอยู่ตรงนั้นตรงนี้ บางคนช่วยตามน้องมาให้ บางคนซื้อขนมมาฝากน้องๆ อันนี้เป็นจุดแข็งที่เราอยู่ร่วมกับคนอื่น เป็นการสร้างสังคมการอยู่ร่วมเลยค่ะ
ระหว่างการให้เด็กกลุ่มนี้เรียนในห้องเรียนร่วมกับเด็กปกติ กับเรียนแยกอย่างนี้แต่ยังอยู่ในโรงเรียนทั่วไป คุณครูว่ารูปแบบไหนจะดีกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากกว่ากัน
ครูมล: สำหรับครูคิดว่าอยู่แบบนี้ค่ะ เพราะเด็กหลายคนเขาบอบช้ำมาจากห้องเรียนปกติ พออยู่ห้องปกติโดนบูลลี่ว่าปัญญาอ่อน โดนล้อเลียนว่าเรียนไม่เก่ง และโดนทำร้ายมา มันเป็นภาพฝังใจที่ทำให้เขาไม่อยากกลับขึ้นไปเรียนห้องปกติแล้ว อยากอยู่ตรงนี้ค่อยเป็นค่อยไป
สำหรับบางคนการเรียนตรงนี้ส่งเสริมให้เขามั่นใจในตัวเองมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนที่เขาอยู่ห้องปกติอาจเป็นเด็กหลังห้องไม่มีบทบาท แต่พอมาอยู่ตรงนี้เขาก็จะมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะเด็ก LD ที่บกพร่องทางการเรียนรู้ แต่อย่างอื่นเขาไม่เป็นอะไร เราก็จะส่งเสริมให้เขาเป็นผู้นำได้ เขาก็จะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองส่งเสริมความมั่นใจให้กับเขามากขึ้น คิดว่าถ้าอยู่แบบนี้พัฒนาการของเด็กๆ น่าจะดี

ผลลัพธ์หลังจากเด็กๆ เข้ามาเรียนที่ห้องเรียนขอบฟ้ากว้างเป็นอย่างไรบ้าง
ครูวิช: บางคนกินข้าวไม่เป็น เข้าห้องน้ำเองไม่ได้ พอมาตรงนี้สักพักเขาก็ทำได้ คุณครูก็ดีใจภูมิใจที่ได้เห็นพัฒนาการของเด็ก ส่วนที่จบไปแล้วบางคนเขามีผู้ปกครองที่มีพื้นฐานอาชีพอยู่ เขาก็สามารถต่อยอดในส่วนนั้นและประกอบอาชีพได้เลย
ครูมล: ส่วนเด็กที่เขาอยากเรียนต่อ ห้องเรียนขอบฟ้ากว้างจะส่งต่อไปที่ปัญญาภิวัฒน์ อาชีวะเทคนิคเกษตร บางคนตอนนี้ทำงานร้านสะดวกซื้อเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ บางคนไปเป็นเชฟ แต่ถ้าคนไหนที่ไม่สามารถเรียนต่อในระดับอื่นๆ ได้ เราก็มีเครือข่ายกศน. แล้วก็มีไปฝึกอาชีพ มีมูลนิธิต่างๆ ที่เขามีอาชีพให้กับเด็กๆ ด้วยค่ะ
พอเห็นเด็กๆ มีชีวิตที่ดีขึ้น ความรู้สึกของครูเป็นอย่างไรครับ
ครูมล: ภูมิใจค่ะ ถ้าเด็กเราประสบความสำเร็จ มันก็เหมือนน้ำหล่อเลี้ยงใจเรา พอเห็นแล้วมันทำให้เรามีพลังที่จะดูแลลูกๆ ต่อไป เพราะบางทีเราอยู่ตรงนี้มันท้อ แต่พอเรามีเด็กๆ ที่น่ารัก มีผู้ปกครองที่คอยซัปพอร์ตทางด้านจิตใจ ก็เลยเป็นพลังให้เราได้สู้ต่อ
ครูวิช: ภูมิใจที่เวลาศิษย์เก่ากลับมาเยี่ยมพร้อมความสำเร็จ แล้วก็มาเป็นแบบอย่างแชร์ประสบการณ์ให้กับน้องๆ น้องๆ พอเห็นเขาก็อยากเป็นเหมือนพี่
จากประสบการณ์ในการทำห้องเรียนขอบฟ้ากว้าง คุณครูมีคำแนะนำอะไรฝากไปถึงครูที่ต้องดูแลนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ
ครูวิช: ขอแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า เราต้องยอมรับในตัวเด็ก ในความแตกต่างของเขา เขามีความสามารถมีศักยภาพอยู่แล้ว ขอแค่เวลาและให้โอกาส แล้วก็มีพื้นที่ที่ช่วยให้เขาเป็นที่ยอมรับและสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้เรื่องการศึกษา อยากขอโอกาสให้กับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแพทย์ เรื่องสังคม หรือเรื่องอาชีพ เพราะว่าเด็กกลุ่มนี้ต้องใช้เวลาในการพัฒนาและเตรียมความพร้อม แต่ถ้าเมื่อใดมีพื้นที่และโอกาสให้กับเขา ผมเชื่อว่าเด็กกลุ่มนี้สามารถสร้างสรรค์ความสดใสน่ารัก สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข และสามารถประกอบอาชีพหรือแสดงศักยภาพที่เขามีให้สังคมได้รับรู้
อยากขอให้ทุกท่านให้ความรักความเข้าใจเห็นอกเห็นใจ แล้วก็ให้กำลังใจกับเด็กกลุ่มนี้ครับ
จากที่ครูมลเคยเป็นครูสอนเด็กปกติมาก่อน พอมาทำงานกับเด็กกลุ่มนี้แล้ว หัวใจความเป็นครูมันบอกอะไรกับเราบ้าง
ครูมล: เมื่อก่อนเราก็จะสอนเด็กปกติ จบคาบไปแล้วก็สบายอยู่นะคะ สอนวันหนึ่งอย่างมากก็ 4 ถึง 5 ชั่วโมง แต่พอมาอยู่ตรงนี้คือเราได้อยู่กับเด็กทั้งวัน แล้วก็ต้องดูแลเขาทุกสิ่งทุกอย่างเลยนะคะ มันมีอะไรหลายอย่างข้างในที่อยากจะบอกเล่าว่าการเป็นครูมันจะต้องมีใจ ต้องมาด้วยใจที่สุดเลยนะคะ เพราะความรู้ทุกอย่างนั้น ทุกคนสามารถที่จะมีได้อยู่แล้ว แต่ความเมตตาในใจของเราเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้เราอยู่กับเขาได้ ต้องมีความเมตตาให้เขา มันจึงเกิดความรักความอบอุ่น เกิดความชุ่มชื่นหัวใจที่จะดูแลเขา เท่านี้ก็จะทำให้เราสามารถดูแลลูกๆ ของเราได้
สำหรับห้องนี้นะคะ เด็ก 39 คน ก็มีความแตกต่าง 39 แบบ ผู้ปกครองก็ไม่ได้เหมือนกัน ในความแตกต่างตรงนี้มันทำให้เราได้เรียนรู้ในส่วนของเราไปด้วย ได้เรียนรู้ได้พยายามที่จะทำให้ทุกๆ วันเป็นวันที่อยู่ร่วมกันของขอบฟ้า
คือเราจะใช้คำว่า ‘ครอบครัวของฟ้ากว้าง’ วิถีของเราคือการดูแลเอาใจใส่กันแบบครอบครัว

ชื่อของห้องเรียนขอบฟ้ากว้างถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสื่อความหมายแบบไหน
ครูวิช: หมายถึงความรักที่ไม่มีที่สิ้นสุด
ครูมล: ไม่มีที่สิ้นสุด ขอบฟ้ากว้างคือขอบฟ้าที่เปิดโอกาสให้ทุกคน ไม่มีกำแพงกีดกันข้อจำกัดด้านความแตกต่าง ทุกคนจะมารวมกันอยู่ตรงนี้ เป็นครอบครัวแห่งความสุข นอกจากครู ผู้ปกครองเขาก็ดูแลกัน เขาจะไม่รักเฉพาะลูกของเขา เขาจะรักลูกๆ ทุกคนเช่นกัน
นึกถึงประโยคที่บอกว่า เลี้ยงเด็กคนหนึ่งต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน คุณครูมีมุมมองอย่างไรครับ
ครูมล: การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งต้องช่วยกันทั้งหมดค่ะ ครู คุณหมอ พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องทำงานหนักด้วยกันพอสมควร ที่ครอบครัวขอบฟ้ากว้าง เราจะเดินไปด้วยกัน มีอะไรเราก็จะจูงมือกันเพื่อไปให้ถึงปลายทางคือการที่ลูกของเราพัฒนาขึ้นและอยู่รอดได้ในสังคม