- หลายมหาวิทยาลัยเริ่มมีวิชาทักษะชีวิตหรือศูนย์ให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพจิต เพราะความเครียดของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป เช่นกันกับหน้างานของมะขวัญ-วิภาดา แหวนเพชร อาจารย์ผู้ใช้กระบวนการละครในการสอน ‘วิชาทักษะแห่งความสุข’ (happiness skills) ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- “คนจะมองว่าความสุขคือความสบายกาย สบายใจ เห็นความสุขเป็นรอยยิ้มอย่างเดียว แต่นิยามความสุขจากทุกศาสตร์ คือความสบายกายสบายใจ การที่เรามีความทุกข์แล้วเยียวยา ก้าวข้ามหรืออยู่กับมัน และการใช้ชีวิตอย่างรู้คุณค่า เพราะฉะนั้นถ้าคนจดจ่อแค่อันแรก มันก็เลยยากไง คนก็เลยไม่เอาความทุกข์เลย ผลักความทุกข์ออก ทั้งที่มันคือนิยามความสุข”
- การแข่งขันในลูปที่ไม่เคยจบสิ้น, การ bully ในโรงเรียน, สภาพโลกและสังคมในปัจจุบัน และการต้องรับอารมณ์ทุกวันจากโซเชียลมีเดีย คือส่วนหนึ่งของภาวะการณ์คนรุ่นใหม่ที่เอามาเล่ากันในคาบเรียนนี้
- วิชาทักษะแห่งความสุขคืออะไร ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ต้องเจอกับความเครียดแบบไหนบ้าง พบกันได้ที่บทความชิ้นนี้
บรรยากาศในวันพุธที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เต็มไปด้วยนักศึกษาหลากหลายคณะสวมชุดนักศึกษาสีขาวสะอาดตา ใกล้ถึงเวลาเข้าเรียนคาบบ่าย เรามีนัดกับพี่มะขวัญ วิภาดา แหวนเพชร นักเขียน นักเขียนบทภาพยนตร์ และล่าสุดกับบทบาทอาจารย์ผู้ใช้กระบวนการละครในการสอนวิชาทักษะแห่งความสุข เพื่อสังเกตการณ์การเรียนการสอน แต่เมื่อก้าวเท้าเดินเข้าไปในห้องเรียน ที่นี่เราเห็นนักศึกษาในชุดที่หลากหลาย เสื้อสีสันสดใสตามโจทย์ที่ตั้งว่าให้นักศึกษาได้ใส่ชุดที่เขาอยากใส่ที่สุด เพื่อเรียนในหัวข้อ “who am I” ในวิชา Happiness Skills ทักษะแห่งความสุข
“โรคเครียด” “โรคซึมเศร้า” “การตัดสินใจปลิดชีวิต” เราเห็นข่าวคราวพวกนี้เกิดขึ้นโดยเกี่ยวพันกับรั้วมหาวิทยาลัยผ่านหน้าฟีดและสื่ออีกมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายมหาวิทยาลัยเริ่มมีวิชาทักษะชีวิต หรือศูนย์ให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ Viva city มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ Chula Student Wellness ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่โอบอุ้มสุขภาพจิตของนักศึกษา และอีกหลายมหาวิทยาลัย
ในยุคที่เทคโนโลยีถึงพร้อม เราเข้าใกล้ความสุขได้ง่ายและราคาถูกลง ทำไมหลายมหาวิทยาลัยกลับเพิ่มรายวิชานี้และมีทีท่าจะเพิ่มในหลายรั้วมหาวิทยาลัย และจากที่พูดคุยกับอาจารย์ประจำวิชาและศูนย์ฯ เหล่านี้ พวกเขาบอกว่ามีนักศึกษาพากันมาพูดคุย ปรับทุกข์ และระบายปัญหาเชิงลึกไม่เว้นแต่ละวัน
สถานการณ์แบบนี้ ยิ่งเชิญชวนให้เรามาคุยกับพี่มะขวัญ ผู้สอนวิชาทักษะแห่งความสุข ทำไมวิชานี้จึงจำเป็น ทักษะแห่งความสุขสร้างได้จริงเหรอ โลกสวยรึเปล่า? ถ้าทำได้ ทำอย่างไรกันนะ
จากนักเรียนนิเทศฯ สู่การเป็นครู: กว่าจะมาเป็นอาจารย์ที่สอนเรื่องความสุขของมะขวัญ
“ตอนเด็กอายุประมาณ 9-10 ขวบ พี่ชอบเห็นตัวเองเขียนหนังสือ แล้วก็ชอบเห็นภาพตัวเองสอนวิชาแปลกๆ ในโรงเรียน เวลานึกภาพตัวเองในอนาคตจะเห็นตัวเองอยู่ท่ามกลางผู้คนแล้วก็หัวเราะมีความสุข แต่รู้ว่าวิชานั้นไม่ใช่ภาษาไทย สังคม แล้วพี่จะมองเห็นสองภาพนี้สลับไปสลับมาตลอดก็เลยเป็นอาชีพในฝัน เหมือนไม่ใช่เด็กที่ค้นตัวเองไม่เจอ ไม่หลงทางเลยชีวิตนี้ เห็นชัดมาก”
คำเกริ่นของพี่มะขวัญ ที่เล่าเรื่องเส้นทางของการทำงานสองอย่าง ทั้งงานเขียน งานเขียนบทภาพยนตร์ และงานสอนควบคู่กันไป ไม่เปลี่ยนจากในปัจจุบันมากนัก ในวัยเด็กของเธอมีทั้งด้านที่ขลุกตัวอยู่ในห้องสมุด ขณะที่อีกด้านเธอเป็นนักกิจกรรมตัวยงที่เป็นตัวตั้งตัวตีจัดค่ายธรรมมะตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นี่เองที่เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนในชีวิตของเธอ
“จุดเปลี่ยนที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้ เราเรียนนิเทศ จุฬาฯ เอกวารสารศาสตร์ แต่ว่าวิชาโทเราเลือกเรียนด้านการแสดง แล้วเวลาเรียนการแสดงต้องทำเวิร์กชอปเพื่อเข้าไปเป็นตัวละคร เข้าบท ทำละครเวที พี่ชอบกระบวนการเวิร์กชอปมากเลย หมายถึงได้แสดงบนเวทีพี่ก็สนุกและ enjoy นะ แต่พี่พบว่าตัวเองจะมีความสุขเวลาเอาคนมารวมกัน แล้วเรียนรู้ร่างกาย เรียนรู้อารมณ์แล้วเข้าถึงบท พี่ชอบตรงนั้นมาก”
นอกจากความชอบเรื่องกระบวนการเวิร์กชอป การทำค่ายทานตะวัน ค่ายวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ออกไปสอนเด็กๆ และทำกิจกรรมตามต่างจังหวัดประมาณหนึ่งเดือนในทุกๆ ปีก็ทำให้พี่มะขวัญค้นพบความเป็นตัวเอง
“พอทำค่ายพี่ก็จะสอนแต่วิชาแนะแนวตลอดเลย พบว่ามันอยู่ในเลือด เรารู้เลยว่าเวลาเราเจอตัวเองหรือทำสิ่งที่มันเป็นตัวเอง นอกจากมันจะไม่มีคำถามกับตัวเองแล้ว ตัวที่วัดคือตอนที่เราเหนื่อย เรายินดีจะเหนื่อย หรือตอนที่เราเจ็บ หรือตอนที่เราแพ้กับมัน ข้างในลึกๆ เรายินดีที่จะทำให้ชนะ ก็เลยรู้ว่าอันนี้คือเรามากๆ เรียนจบปุ๊ปคนอื่นไปสมัครงานนิตยสารนู่นนี่ พี่ถือเรซูเม่เดินเข้าโรงเรียนรุ่งอรุณ ไปห้องผอ. แล้วบอกว่าหนูอยากสมัครเป็นครูที่โรงเรียนนี้ค่ะ”
การค้นพบโรงเรียนรุ่งอรุณผ่านนิตยสารอะเดย์เล่ม ‘โรงเรียนของฉัน’ ทำให้เธอพบว่าหากอยากจะเป็นครู ที่นี่ต้องเป็นที่บ่มเพาะที่ดีแน่ แต่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายของเด็กจบใหม่ โดยเฉพาะเธอจำเป็นต้องเปลี่ยนสายงานจากการเรียนนิเทศมาทำงานด้านการสอน หลังจากผ่านการสอบสอนด้วยความไม่มั่นใจ แต่ทุ่มสิ่งที่มีในตัวเองจนหมดหน้าตัก เธอก็ได้ทำหน้าที่เป็นครูสอนนักเรียนในชั้นป.4 วิชาภาษาไทย และการแสดง ผ่านความไม่รู้ และต้องเรียนรู้ตลอดเวลาในช่วงเวลาเทอมแรกของชีวิตการทำงาน
จนกระทั่งห้องเรียนของคุณครูมะขวัญเป็นเสมือนบ้านอันอบอุ่น จากมายเซ็ทที่ว่าเด็กก็มีความเป็นคนที่เท่ากัน เธอจึงเป็นเหมือนเพื่อนของเด็กในชั้นเรียนอีกคนนึงที่ทำให้นักเรียนหลายคนกล้าเข้ามาปรึกษา และสนิทสนมด้วย คล้ายว่าเป็นตอนจบที่แสนสุข แต่ 3 เดือนต่อมา จากผลงานการสอนที่น่าประทับใจ เธอต้องตัดสินใจทางเลือกชีวิตอีกครั้งว่าจะเดินหน้าเป็นครูไปตลอดไหม เนื่องจากเธอถูกเสนอให้ไปเรียนต่อ และกลับมาเป็นครูระยะยาว ในขณะที่ตัวตนด้านนิเทศศาสตร์ก็เริ่มเรียกร้องให้กลับมาทำงานเขียน
“ก็เลยเดินร้องไห้ไปลาออก”
หลังลาออกเธอกลับมาทำงานด้านนิเทศศาสตร์อย่างเต็มตัว ทั้งเขียนฟรีแลนซ์ให้นิตยสารหนีกรุง เว็บไซต์ read the cloud และนิตยสารสารคดี ทำงานเขียนเชิงท่องเที่ยวให้กับททท. ก่อนจะข้ามฝั่งไปเป็นทีมเขียนบททั้งที่ไม่เคยทำมาก่อนจากการชักชวนของเพื่อนสนิท ขณะที่เขียนบทเรื่อยๆ โดยมีผลงานฉายทางโทรทัศน์ผ่านช่อง Workpoint และช่อง 3 และบทภาพยนตร์อยู่ในสังกัดของค่ายหนังยักษ์ใหญ่อย่างสหมงคลฟิล์ม งานการสอนก็เริ่มเรียกร้องอีกครั้ง เธอจึงไปรวมกลุ่มกับเพื่อนทำงานแนะแนว ชื่อกลุ่มว่า life design
“เราอยากทำสองอย่างนี้ไปด้วยกัน เรารู้สึกว่าเสียงของเรามันชัด เราอยากทำมันคู่กันทั้งเขียนทั้งสอน”
จากภาพในวัยเด็กที่ตัดสลับไปสลับมาระหว่างงานเขียนและงานสอน เป็นดั่งเข็มทิศที่นำทางชีวิต และสะท้อนมายังภาพปัจจุบันของเธออย่างชัดเจน เพราะด้านนึงเธอเป็นคนทำงานสื่อ เป็นนักคิด นักเขียน ขณะที่งานด้านสอน ในช่วงแรกเธอเริ่มต้นจากงานแนะแนว ซึ่งปลุกให้เธอสนใจงานสอนอย่างจริงจังจนทำให้ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระหว่างเรียนนั้นเองที่ทำให้เธอได้ทดลองอะไรหลายอย่าง เธอสะสมประสบการณ์ด้วยการช่วยพี่มะโหนก ศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์ทำสำนักงานส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ (Black Box) และช่วงที่จบเนื้อหาในชั้นเรียนไปแล้ว โอกาสก็แล่นมากระทบเธออย่างจัง เมื่อพี่ที่สนิทที่เคยเห็นเธอสอน เห็นแววและแนะนำให้ยื่นใบสมัครเข้ามาเป็นอาจารย์ในวิชาทักษะแห่งความสุข happiness skills ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
แต่ชีวิตไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น ช่วงที่มหาวิทยาลัยตอบรับเธอเข้าสอน เธอกลับคิดว่าจะปฏิเสธ “เรารู้สึกว่าเราไม่เหมาะสมที่จะสอนวิชาเกี่ยวกับความสุข เพราะว่าเรายังเอาตัวเองไม่รอด พื้นฐานชีวิตเราค่อนข้างเป็นทุกข์ในระดับนึง ครอบครัวเราค่อนข้างจะแตกสลาย ตอนนั้นชีวิตเราค่อนข้างยากมาก แล้วก็ปัญหาชีวิตคู่ที่รักกันมานานเริ่มแตกสลาย เราคิดตลอดเลยว่าฉันไม่เหมาะสมกับวิชานี้เพราะฉันจะตายแล้ว”
ในขณะที่พี่มะขวัญเดินทางมาที่มหาวิทยาลัยเพื่อที่จะปฏิเสธ ระหว่างที่นั่งอยู่เธอเห็นเด็กวิศวะสองคนที่เดินร้องไห้กันมา ภาพนั้นเปลี่ยนความคิดของเธอไปสิ้นเชิง
“เราก็นั่งมองเด็กแล้วก็รู้สึกว่าเราจะสอนวิชานี้ เพื่อให้เด็กไม่ต้องมาร้องไห้แบบเรา แบบนี้ เราจะทำทุกวิธีให้ชีวิตแต่ละวันไม่ต้องเป็นแบบนี้”
นี่คือความตั้งใจของเธอในการสอนวิชานี้
กว่าจะมาเป็นวิชาทักษะแห่งความสุข
“มหา’ ลัยเขาอยากเปิดวิชาเลือกแบบใหม่ๆ”
คือจุดเริ่มต้นของการเปิดวิชา Happiness Skills ทักษะแห่งความสุข วิชาศึกษาทั่วไปในกลุ่มคุณค่าแห่งชีวิตของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยส่วนใหญ่ในช่วงแรกนักศึกษาที่ได้โควต้าจะเป็นนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และอุตสาหกรรมเกษตร
ศึกษาหลักการทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เชิงบวก โดยบูรณาการเพื่อการฝึกปฏิบัติทักษะแห่งความสุขในทุกบริบท เช่น การยอมรับความจริง การรู้จักการให้อภัย การมองโลกในแง่บวก และการรู้คิดเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขทั้งในส่วนตน สังคม การงาน
ข้อความด้านบนคือคำอธิบายรายวิชาที่พี่มะขวัญออกแบบเนื้อหาเองใหม่ทั้งหมด เธอเล่าว่าเธอดีไซน์บนเป้าหมาย และคำถามที่ว่า “ถ้าหากเราย้อนเวลากลับไปได้ตอนอายุ 18-22 ปี เราอยากบอกอะไรตัวเอง มีอะไรที่เด็กในเวลานั้นต้องรู้บ้าง”
ไม่รอช้า เธอเริ่มศึกษาจากสภาพปัญหาเด็ก กระโจนลงไปในงานวิจัยเกี่ยวกับความสุขเพื่อหาแนวทางในการสอน แม้ตอนแรกการออกแบบจะเน้นวิทยาศาสตร์แห่งความสุข (science of happiness) เรียนเกี่ยวกับงานวิจัย แต่ด้วยชื่อที่พูดถึงทักษะแห่งความสุข พี่มะขวัญเลยออกแบบเนื้อหาให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะ ใช้เครื่องมือ กระบวนการละคร และเวิร์กชอปที่เป็นสิ่งถนัดจึงถูกโยนเข้ามาในรายวิชา
Happiness skills เรียนอะไรบ้าง?
“ตอนที่เราสอนเรื่องความสุข เราโดนเพื่อนล้อว่าคนสอนมีความสุขหรือยัง? คนจะมองว่าความสุขคือความสบายกาย สบายใจ คนจะเห็นความสุขเป็นรอยยิ้มอย่างเดียว แต่นิยามความสุขจากทุกศาสตร์จริงๆ นิยามความสุขคือความสบายกาย สบายใจ, การที่เรามีความทุกข์แล้วเยียวยา ก้าวข้ามหรืออยู่กับมัน และการใช้ชีวิตอย่างรู้คุณค่า นี่คือนิยามเต็มๆ ของมัน เพราะฉะนั้นถ้าคนจดจ่อแค่อันแรก มันก็เลยยากไง คนก็เลยไม่เอาความทุกข์เลย ผลักความทุกข์ออก ทั้งที่มันคือนิยามความสุข”
จากนิยามความสุขทั้งสามข้อ พี่มะขวัญเลยตกตะกอนออกมาเป็นบทเรียนความสุขผ่านสามหัวข้อใหญ่ ได้แก่ ความสุขที่เริ่มจากตัวเอง, ความสุขที่เกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ และ ความสุขที่เกี่ยวโยงกับโลก
ความสุขที่เริ่มจากตัวเอง
เนื้อหาจะประกอบไปด้วยเนื้อหาที่เรียนรู้ตัวเอง ซึ่งเป็นคาบที่ผู้เขียนมีโอกาสไปสังเกตการณ์ชื่อ ฉันเป็นใคร (Who am I?) ผ่านการฟัง เข้าใจ รู้จักตัวเอง หัวข้อต่อไปจะเรียนเรื่องเป้าหมายในชีวิต (Life purpose) หาเป้าหมาย ความหมาย หรือสิ่งที่เราอยากทำ และหัวข้อที่สาม คือพลังงานแห่งชีวิต (life battery) หาแหล่งพลังงานจากตัวเรา วิธีเติมพลังให้เรามีชีวิตอยู่คืออะไร
ความสุขที่เกี่ยวพันกับความสัมพันธ์
งานวิจัยที่นานที่สุดในโลกเรื่องความสุขของฮาร์วาร์ด ชื่อ Harvard Study of Adult Development พูดว่าความสัมพันธ์ที่ดีนำมาซึ่งความสุข คาบเรียนจึงเริ่มด้วยการรู้จักคนอื่น คาบต่อมาคือเรื่องความสัมพันธ์ ตอนนี้ความสัมพันธ์ของเรามีใครบ้าง และจะรักษาแต่ละความสัมพันธ์อย่างไร หัวข้อถัดไปคือเรื่องความรักแบบคู่รัก และหัวข้อสุดท้ายในเรื่องความสัมพันธ์คือการกลับมารักตัวเอง (love yourself) พาเด็กมาสู่ด้านที่ไม่ชอบในตัวเอง เพื่อให้เราอยู่ได้กับทุกด้าน แต่เนื่องจากในห้องเรียนอาจมีนักศึกษาที่มีภาวะซึมเศร้า เพราะฉะนั้นการสอนจะพาไปด้านน่าเกลียดที่เบาๆ เช่น ขี้เกียจ ชอบนอน เพื่อโอบรับอีกด้านในตัวเรา
ความสุขที่เกี่ยวโยงกับโลก
งานวิจัยมองว่าทัศนคติ (mind set) หรือวิธีการที่เราจะมองโลกคือตัวที่จะนำมาซึ่งความสุข เรามองโลกยังไงเราใส่แว่นสีไหน ชีวิตเราก็จะเป็นแบบนั้น การเรียนการสอนเริ่มต้นด้วยคาบทัศนคติ (mind set) คาบต่อมาเป็นความทุกข์ ด้วยการชวนนักศึกษาลงไปเจอว่าวันที่เรามีความทุกข์กันมาเราข้ามมายังไง ให้เด็กไปเจอเครื่องมือที่ตัวเองใช้ ได้ไปเจอรากความแข็งแกร่งในตัวเอง
คาบ now เป็นคาบเกี่ยวกับการตระหนักรู้ (awareness) ซึ่งเป็นกุญแจของความสุข การถอยออกมาโดยที่ไม่ตัดสิน และอยู่กับทุกสภาวะอย่างมั่นคงในตัวเองไม่ว่าอะไรจะเข้ามา คาบนี้จะให้ทำกิจกรรมนับข้าวสาร ปักผ้า วาดรูปหรือให้ทำกิจกรรมอะไรที่นักศึกษาคิดว่าจะลงไปอยู่กับโมเมนท์นั้นอย่างเต็มที่ และคาบสุดท้ายเป็นคาบ meaningful life the last lecture จะได้ไปเจอความหมายของการมีชีวิตอยู่ของทุกคน ซึ่งเป็นนิยามสุดท้าย นี่คือสิ่งที่พี่มะขวัญดีไซน์
“เหมือนมาหาพี่สาวที่ร้านกาแฟ”
“เหมือนมาหาพี่สาวที่ร้านกาแฟ”
คือประโยคที่ได้มาจากการสะท้อนของนักศึกษาในคลาส พี่มะขวัญดีไซน์ไม่ใช่แค่เนื้อหาที่เรียน แต่บรรยากาศของห้องเรียนก็ถูกออกแบบให้เด็กผ่อนคลายและสบาย เสียงเพลงและแสงไฟถูกออกแบบไว้อย่างละเอียดว่าจะเปิดตอนไหน เพื่อให้สร้างความรู้สึกแบบใด นอกจากแสงสีเสียงแล้ว มวลในห้องก็แสนอบอุ่น
“สิ่งที่เราพยายามสร้างให้เกิดในห้องเรียนก่อนความรู้ คือความสัมพันธ์”
บรรยากาศความเป็นเพื่อนระหว่างพี่มะขวัญกับเด็ก ระหว่างเด็กกับเด็กก็ถูกวางให้พวกเขาได้ทำกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ เพื่อสร้างพื้นที่ที่โอบรับได้ เพราะงานวิจัยของ Shawn Achor นักวิจัยความสุขบอกว่าความสุขเป็นทีมกีฬา team sport เป็นการจับมือทำด้วยกัน สิ่งที่เป็นเป้าหมายของพี่มะขวัญจึงทำให้เด็กในห้องเรียนทุกคนจับมือและไปด้วยกัน เมื่อความสัมพันธ์แบบเพื่อนเริ่มเกิด หลังจากนั้นการเรียนการสอนก็จะไปได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับการออกแบบกิจกรรมเพื่อประกอบเนื้อหานั้นพี่มะขวัญใช้วิธีหาแก่นของเรื่อง (Key message) ที่อยากนำเสนอ และหาวิธีสื่อสารไปยังผู้ฟังซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับการเขียนบท กิจกรรมที่ใช้มีทั้งจิตปัญญาศึกษา ทั้งกระบวนการละคร เช่น การให้เด็กได้สำรวจร่างกายตัวเอง นอกจากนี้ยังมี free writing การเล่นเกม และอื่นๆ การใช้กิจกรรมพวกนี้จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ติดตัวผู้เรียน พวกเขาสามารถใช้ได้จริงเมื่อเกิดปัญหาในชีวิตที่พ้นจากห้องเรียนไปแล้ว
“เราพยายามจะเปิดรับทุกอย่าง รู้อะไรมาก็อยากเอามาลองใช้ มีกิจกรรมที่เราเคยรู้มาในชีวิตนี้ก่อน แล้วก็จะเริ่มจากการลองดีไซน์อะไรใหม่ๆ ขึ้นมาแล้วคิดว่าเด็กน่าจะเรียนรู้สิ่งนี้จากอันนี้ได้ ทดลองไปมั่วๆ“
พี่มะขวัญยังเสริมอีกว่าการสอนจะถูกปรับเปลี่ยนอีกเสมอผ่านธรรมชาติของเด็กในห้อง ฟีดแบกที่ได้รับ และวิธีการนำเสนอจากคนสอนที่ตกตะกอนมากยิ่งขึ้น
สอนความสุข แต่เห็นความทุกข์ของเด็กยุคนี้
อาจจะเพราะเป็นวิชาความสุข คนที่มาเรียนเลยน่าจะเป็นคนที่ต้องการคำตอบอะไรบางอย่าง กำลังประสบภาวะอะไรบางอย่างอยู่ หรืออาจเพราะธรรมชาติของอาชีพเธอเอง นิสัยส่วนตัวที่เป็นคนชอบฟัง เลยทำให้ผู้คนชอบมีคนมาเล่าเรื่องราว ทำให้พี่มะขวัญเห็นถึงความทุกข์ของเด็กยุคนี้ได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ปัญหาคลาสสิกอย่างปัญหาการเรียน เด็กอยากซิ่ว ไม่แน่ใจกับคณะที่เรียนอยู่ เมื่อพวกเขาต้องเจอช่วงสอบกลางภาค ปลายภาค เขาจะเกิดความไม่แน่ใจว่าเขาทำสิ่งนี้ทำไมจนเกิดเป็นความทุกข์
“เคสแบบนี้เยอะชนิดที่บางวันช่วงสอบกลางภาค/ปลายภาคพี่ต้องให้คำปรึกษาเด็กหกคนต่อวัน ไม่นับหลังเลิกเรียน ปีที่แล้วช่วงสอบปลายภาค พี่สอนเช้ายันเย็นสองทุ่มก็ยังมีเด็กมาร้องไห้จนเสื้อพี่เปียกทุกคาบ คือเวลาเด็กร้องไห้พี่ก็จะแบบรู็สึกว่าไม่เป็นไรเลย เราเป็นเพื่อนกัน ร้องไห้ได้ ทุกคาบก็จะรู้สึกว่าเด็กยุคนี้มันเป็นอะไรกัน นี่มันคือปรากฏการณ์อะไร เราอยากเข้าใจจัง” พี่มะขวัญเสริม
“การแข่งขันในลูปที่ไม่เคยจบสิ้น” คืออีกหนึ่งปัญหาที่พี่มะขวัญพบจากเด็กเมื่อปีที่ผ่านมา เสียงของนักศึกษาพูดถึงการต้องแข่งขันการเรียนผ่านการสอบเกือบทั้งชีวิตวัยรุ่น และต้องแข่งขันเพื่อไปทำงานที่ดีในอนาคต สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาเหนื่อยและท้อกับการใช้ชีวิต
ปัญหาต่อมาที่เจอ คือเด็กต่างมีประสบการณ์ bully ในโรงเรียน และเป็น bully ในแบบเดียวกันคือโดนแบน นอกจากนี้ยังมีปัญหาซึมเศร้าที่มันมีอยู่แล้ว รวมไปถึงปัญหาที่เริ่มเจอมากขึ้นเรื่อยๆ คือปัญหาเรื่องเพศสภาพ – ‘ผมเป็นเกย์แต่ไม่กล้าบอกที่บ้าน’ ‘ผมเป็นเกย์แต่ศาสนาไม่ให้’ ‘ผมเป็นเกย์จะเปิดตัวยังไง’ ‘ผมเป็นตุ๊ด’ ‘หนูเป็นทอม’ ‘หนูชอบผู้หญิง’
จากปัญหาที่เธอเจอมาทั้งจากการปรึกษา และการเขียนงาน reflection ส่งท้ายคาบเรียน เธอคิดว่าสาเหตุที่่เด็กมีภาวะซึมเศร้าเกิดจากสภาพโลกและสังคมในปัจจุบัน
“พี่คิดถึงสภาพโลกตอนนี้ คนมันเยอะขึ้น ทรัพยากรมันลดลง มนุษย์ทุกคนในโลกตอนนี้กำลังเจอสภาวะบีบคั้นเดียวกันคือโลกมันเสื่อม โลกมันร้อน มีไฟไหม้ มีฝุ่น ใช้ชีวิตยากกว่าคนเมื่อร้อยปีที่แล้วที่อากาศดีตื่นมาทุ่งดอกหญ้า แค่นี้มันก็เป็นความทุกข์แล้ว แล้ว
อีกอย่างที่เจอเลย รู้สึกว่าเด็กยุคนี้หรือคนยุคนี้ต้องรับอารมณ์ทุกวัน เห็นจริงๆ ว่าการเล่นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เลื่อนโพสต์นึงรู้สึกแบบนึง อีกโพสต์นึงรู้สึกแบบนึง สิ่งที่เด็กจะรู้สึกเยอะขึ้นคือไม่รู้สึก (numb) จิตใจเราไม่ได้ถูกดีไซน์ให้รับอารมณ์เยอะขนาดนั้น มันรู้สึกเยอะเกินไปในแต่ละวัน แค่สองอย่างนี้ไม่ต้องพูดถึงอะไรเลยมันก็ทำให้ง่ายแล้วที่เราจะซึมเศร้า
มากกว่าแค่สอน แต่รับฟัง และให้พื้นที่
“เด็กต้องการแค่ครูคนนึงที่เป็นเพื่อน รับฟัง และไม่ตัดสิน เด็กแค่ต้องการพื้นที่ในการที่เขาจะเป็นเขาได้ตลอด พี่ว่าอันนี้สำคัญมาก ไบเบิลของพี่คือพี่อยู่เป็นเพื่อนนักเรียนได้ ในวันที่เขาต้องการและเวลาที่พี่ไหว เราไม่เคยรำคาญเวลาเด็กมาแชร์ความเป็นมนุษย์ให้ฟังเลยหรือแชร์ความทุกข์ หรือแชร์เรื่องราว มีความสุขแล้ววิ่งมา บอกเรา เราไม่รำคาญเลย แต่รู้สึก ‘ดีใจจังที่เขาไว้ใจ’ ”
ไม่ใช่การสอนเรื่องความสุขในห้องเรียน แต่หลายครั้งหลังคาบ หรือเวลาอื่นๆ พี่มะขวัญยังต้องรับฟังและเป็นเพื่อนเด็กในช่วงที่พวกเขาเป็นสุข และทุกข์ แต่เธอย้ำว่าจำเป็นต้องรู้ข้อจำกัดว่าไม่ใช่นักจิตวิทยา ไม่ใช่แพทย์ ถ้าหากสังเกตว่าเริ่มมีข่ายอาการที่น่าเป็นห่วงก็จะให้คำแนะนำไปหาผู้เชี่ยวชาญมากกว่า
“คนเป็นครูน่าจะดูแลตัวเองให้ดีที่สุดและทำงานกับโลกภายในของตัวเองให้ดี เพราะไม่งั้นปมเราจะออกมาทำร้ายเด็ก แต่พี่เห็นตัวเองเลยนะ พี่อยากขอบคุณมหา’ ลัยนี้ซ้ำๆ ที่ให้สอนวิชานี้ พี่เรียนรู้ที่จะเป็นครูที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วบางทีพี่ก็เป็นครูที่ไม่ดี บางทีพี่ก็ทำสิ่งที่ไม่ดีกับเด็ก บางทีพี่ก็ไปเรียกร้องเอาจากเด็ก แล้ววันนั้นพี่จะได้กลับมาทบทวนตัวเองว่าเออ วันนี้เกิดเพราะอะไร มันเห็นเลยระหว่างวันที่เราสอนเพื่อตัวเองกับวันที่เราสอนเพื่อเด็ก”
พี่มะขวัญยังย้ำอีกว่าการสอน หรือการทำหน้าที่ของครูจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง และแนะนำว่าการดูแลคนใกล้ตัวที่กำลังทุกข์ใจด้วยการเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน และเข้าใจความเป็นมนุษย์ที่ผิดพลาดได้ของคนตรงหน้าไม่คาดหวังให้เขาเก่งกว่านี้หรือดีกว่านี้ แต่รับฟังแล้วอยู่กับเขาในฐานะคนกับคน ชีวิตจะมีความสุขมากขึ้น
เครื่องมือมีความสุขในทุกวัน
เราถามคำถามก่อนจากกันว่าหากคนทั่วไปที่ไม่ได้มีโอกาสเรียนวิชานี้ พี่มะขวัญพอจะมีวิธีในการหาความสุขไหมในแต่ละวัน เธอคิดเล็กน้อยก่อนตอบว่า
“ให้เรื่องความสุขเป็นเรื่องง่ายเหมือนกับการอาบน้ำในแต่ละวัน เหมือนการกินข้าว”
พี่มะขวัญหยิบคำแนะนำของ Shawn Achor ที่ได้จากงานวิจัยมาเล่าให้เราฟังว่าหากทำ 5 สิ่งนี้วันละ 2 นาที ติดต่อกันเป็นเวลา 21 วัน จะทำให้เรามีความเครียด ความกังวลลดลง และมีแนวโน้มว่าเราจะมีความสุขขึ้น โดยหลักใหญ่ใจความของการมีความสุข คือการดูแลพื้นที่ของชีวิต ร่างกายและจิตใจให้ดี
อย่างแรกเลยคือการแบ่งเวลา 15 นาทีในการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เคลื่อนไหวร่างกายให้มันซู่ซ่า ระบายเหงื่อให้ออกอาจจะใช้วิธีการเล่นกีฬา การเต้น อะไรก็ได้ที่ทำให้เราสนุกและอยากจะทำในทุกวัน
ถัดมาคือการพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีด้วยการพูดขอบคุณสิ่งดีๆ ของผู้อื่น ทั้งพูดต่อหน้า ส่งจดหมาย แชทไปหา ฯลฯ การกระชับความสัมพันธ์แบบนี้เป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง และสร้างความสุขในระยะยาว เพราะความโดดเดี่ยวเป็นความเจ็บปวดที่รุนแรงอย่างหนึ่งของมนุษย์
ข้อสามและข้อสี่นั้นคล้ายคลึงกัน ก่อนจะหลับตานอนในทุกวัน เขียนขอบคุณอะไรก็ได้ 3 สิ่ง โดยห้ามเขียนซ้ำกัน สิ่งนี้จะเป็นแหล่งพลังงานชีวิต ทำให้เรามีความสุขง่ายขึ้นกับสิ่งเล็กน้อย ช่วยให้เราเปลี่ยนมายเซ็ทและวิธีการมองโลกได้ และการคิดถึงสิ่งที่มีความสุข วันละ 3 สิ่ง จะช่วยให้เราแสกนหาความสุข และสิ่งที่มีความหมาย
ข้อสุดท้าย คือ การทำสมาธิ 2 นาทีต่อวัน ด้วยวิธีการสังเกตลมหายใจเข้าออกตามธรรมชาติ พี่มะขวัญเล่าว่าการนั่งสมาธิช่วยสร้างพื้นที่ในใจเราให้มั่นคง “ตอนที่เจอปัญหาหนักๆ พี่ไม่รู้เลยว่าการฝึกสติ สมาธิมันใช้อะไรได้จนเจอปัญหา บางวันตื่นมามันรู้สึกเหมือนเราเป็นเรือแล้วอยู่ท่ามกลางพายุ ปั่นป่วนแล้วเราจะยืนยังไง การอยู่กับลมหายใจมันทำให้เรายืนได้ ทำให้เรามั่นคงในตัวเอง เราเจอสภาวะเดียวกันทั้งโลก โลกมันแย่ลง จิตใจเราต้องรับอารมณ์ทุกวัน”