- 4 วันกับทริป นักสืบสายน้ำ รุ่นที่ 2 จัดโดย มูลนิธิโลกสีเขียว ณ มะขามป้อมอาร์ตสเปซ ทริปที่เปิดพื้นที่ให้เข้าไปทดลองเป็นนักสืบที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่
- จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ค้นพบว่าแมลงตัวเล็กๆ ที่เคยน่ารำคาญ กลับดูน่ารักขึ้นมาเสียอย่างนั้น
- เครื่องมือหลักๆ ของนักสืบสายน้ำที่เจ๋งมากๆ คือ ‘ร่างกาย’ เดินเข้าไปในป่า ลองฟังว่าได้ยินเสียงอะไร เห็นอะไร ได้กลิ่นอะไร เราจะใช้ ‘สัมผัส’ เพื่อ ‘อ่าน’ สิ่งแวดล้อม
“พอดูไปเรื่อยๆ แล้วจะพบว่ามัน ‘น่ารัก’ นะ เหมือนเราได้ทักทาย พูดคุย สวัสดีกับมันอย่างใกล้ชิดเลย”
ก่อนหน้านี้ใครมาพูดประโยคทำนองนี้ให้ฟังคงทำหน้า ‘ยี้’ ใส่แรงๆ เพราะ ‘มัน’ ในที่นี้หมายถึง แมลง ที่ชอบส่งเสียงหวึ่งๆ ชวนรำคาญ
แต่ความรำคาญ ก็กลายเป็นความน่ารักขึ้นมาได้ภายในระยะเวลาแค่ 4 วันของทริป ‘นักสืบสายน้ำ’
ทริป นักสืบสายน้ำ รุ่นที่ 2 จัดโดย มูลนิธิโลกสีเขียว ณ มะขามป้อมอาร์ตสเปซ เปิดโอกาสให้คนทั่วไป(ที่ไม่เคยเห็นความน่ารักของแมลง) เข้าไปทดลองเป็นนักสืบที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ วันที่ 1-4 มีนาคมที่ผ่านมา
เพียงวันแรกที่ได้เข้าไปลองทฤษฎีและใช้เครื่องมือ ได้ ‘ทักทาย’ กับเจ้าแมลงน้ำเป็นครั้งแรก ส่องไปส่องมา… ก็ต้องหันไปพยักหน้าหงึกๆ ให้กับเจ้าของคำพูดข้างต้น แม่ชีวิ-วิภาพรรณ นาคแพน – นักวิจัยโครงการนักสืบสิ่งแวดล้อม ซึ่งอันที่จริงแม่ชีวิเป็นอิฐก้อนแรกของการสำรวจธรรมชาติ ทั้งนักสืบสายน้ำ, นักสืบสายลม, นักสืบชายหาด และงานวิจัยอื่นๆ แม่ชีอยู่กับเราวันนี้ในฐานะพี่เลี้ยงกลุ่ม
“ฮือ มันน่ารักจริงๆ ค่ะแม่ชี” เราพยักหน้าหงึกๆ แล้วก็ร้องเสียงหลงตอบกลับไป
แต่คำว่า ‘น่ารัก’ ไม่อาจขยายความถึงสิ่งที่กระทำกับ ‘เด็กเมืองที่โตมากับห้างสรรพสินค้าย่านลาดพร้าว’ ได้ทะลุทะลวงนัก ซูมเข้าไปอีกนิด ต้องบอกว่าไม่ใช่แค่เจ้าแมลงที่กระทำกับเรา แต่เป็นการปรากฏตัวของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ต้องใช้แว่นขยายส่อง มันขยับแข้งขากวาดไกวไปมาในน้ำ ตัวมันเล็กเสียจนกลัวว่าการขยับมือเพียงเล็กน้อยจะทำชีวิตมันสูญหาย เสียงน้ำไหลจากลำธารที่ทอดตัวข้างกันเตือนว่าเราพาตัวเองมาอยู่ที่ ‘บ้าน’ ของมันอย่างแท้จริง ไม่นับกลิ่นน้ำ ดิน และน้ำมันหอมระเหยจากกองทัพต้นไม้ข้างๆ ที่โอบล้อมเราอย่างไม่ทิ้งระยะห่าง ทั้งหมดย้ำเตือนอย่างไม่มีเสียงว่า…
“มันมีชีวิตจริงอื่นปรากฏตัวอยู่ตรงหน้า ไม่ใช่แค่เผ่าพันธุ์มนุษย์อย่างเจ้าหรอกนะ”
“เครื่องมือหลักๆ ของนักสืบสายน้ำที่เจ๋งมากๆ คือ ‘ร่างกาย’ เดินเข้าไปในป่า ลองฟังว่าได้ยินเสียงอะไร เห็นอะไร ได้กลิ่นอะไร เราจะใช้ ‘สัมผัส’ เพื่อ ‘อ่าน’ สิ่งแวดล้อม”
คือสิ่งที่ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว ย้ำอยู่เสมอตลอด 4 วันของค่ายนักสืบสายน้ำ
อันที่จริงต้องบอกว่า ดร.สรณรัชฎ์ หรือ ‘พี่อ้อย’ ไม่ได้ย้ำอย่างสอนสั่ง แต่ออกแบบการเรียนรู้ตลอดทริปชนิดที่ ค่อยๆ จิ้มๆ ยื่นๆ ย้ำๆ อยู่เสมอว่า ร่างกายของเรา สัมผัส หรือ sense ของเรานี่แหละ ที่ใช้ ‘อ่าน’ ธรรมชาติ แน่นอนว่าต้องมีอุปกรณ์นิดหน่อย* แต่ก็หาได้ง่ายและมีอยู่แล้วตามบ้านเรือน ซึ่งนี่นับเป็นจุดตั้งต้นหรือปรัชญาของทั้งนักสืบสายน้ำ นักสืบสายลม และนักสืบชายหาดเลยว่า เป็นกระบวนการที่ทุกคนจะอ่านธรรมชาติได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาการ นักวิจัย หรือเป็นดอกเตอร์ใดๆ
แล้วทำไมต้องอ่านธรรมชาติ?
ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าธรรมชาติมีคุณต่อระบบนิเวศ แต่เพราะการใช้ชีวิตของมนุษย์อย่างรุกล้ำรุกรานทำให้ธรรมชาติผันผวนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง นักสืบสายน้ำไม่ใช่แค่ ‘อ่าน’ คุณภาพน้ำ แต่ทำนายหรือวิเคราะห์ต่อไปได้ด้วยว่า การมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของแมลงน้ำชนิดไหน และจำนวนเท่าไร (ทั้งหมดนี้เป็นไปตามกระบวนการที่อธิบายรายละเอียดอย่างชัดเจนในหนังสือคู่มือนักสืบสายน้ำ) แปลว่าน้ำมีคุณภาพดีหรือไม่ แหล่งน้ำ ซึ่งเปรียบเป็น ‘บ้าน’ ของสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ปลอดภัยพอให้พวกมันอาศัยอยู่หรือเปล่า และจะปลอดภัยไปอีกนานแค่ไหน การปรากฏตัวของแมลงบอกได้ทั้งหมด ซึ่งนั่นทำนายต่อไปได้อีกว่า ถ้าปล่อยให้สถานการณ์ยังคงอยู่แบบนี้ น้ำจะเสีย เน่า คุณภาพแย่ลง และมันจะส่งผลต่อกันเป็นวงจรต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่างไรบ้าง
ที่น่าสนใจกว่านั้น การปรากฏตัวของสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ยังอธิบายได้ด้วยว่า พฤติกรรมแบบไหนที่ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตบางพวกหายไปหรือเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น เป็นเพราะการท่องเที่ยว, การทิ้งขยะ, สิ่งปฏิกูลจากการเลี้ยงสัตว์ หรือเพราะการทำฝายอย่างไม่ถูกหลักการ ทำให้น้ำขังนิ่ง ไม่ไหลเวียนจนไม่มีออกซิเจน (นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า หนึ่งในกระบวนการทดสอบคุณภาพน้ำต้องวัดความเร็วของสายน้ำเข้าไปด้วย!)
สิ่งที่ผู้เขียนชอบที่สุดในการเป็นนักสืบสายน้ำ (ผู้เขียนสอบผ่านด้วยคะแนนเกือบเต็มนะเอ้อ! แม้ว่าจะช่วยกันคิดกับเพื่อนก็ตาม) นอกจากจะได้พบโลกใหม่ รู้จักกับแมลงน้ำหน้าตาประหลาด คือความเข้าใจที่ว่า… ธรรมชาติมอบความสงบและพลังงานกับเราได้อย่างไร
ครั้งแรกที่พี่อ้อยเดินขบวนนำทัพนักสืบเข้าป่า พี่อ้อยบอกให้หยุดเป็นระยะๆ และขอให้จดจำเสียงน้ำไหล สูดกลิ่นป่า ขอให้เงียบ ย้ำเสมอว่าให้เคารพร่างกายของตัวเอง ใช้ร่างกายเพื่อรับสัมผัสจากธรรมชาติรอบตัว โดยเฉพาะที่พี่อ้อยอธิบายว่า เสียงน้ำไหลจากลำธารไม่ได้กระทำกับประสาทหูอย่างเดียว แต่ประจุไฟฟ้าลบ (-) ที่เกิดจากการไหลของน้ำลอยฟุ้งในอากาศ เมื่อสูดอากาศบริเวณนั้นเข้าสู่ร่างกาย ประจุไฟฟ้าลบจะไปหักลบกับประจุไฟฟ้าบวกในร่างกายที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงาน ประจุไฟฟ้าลบเหล่านี้จะเร่งนำออกซิเจนซึมเข้าเนื้อเยื่ออย่างรวดเร็วขึ้น ในอากาศที่มีประจุลบมากๆ ทำให้มนุษย์ไม่เครียดและมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคสูงขึ้น
เราจึงเห็นสปาจำนวนมากมีอุปกรณ์ปล่อยละอองน้ำและใช้น้ำมันหอมระเหยทำปฏิกิริยากับร่างกาย มันคือการเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งในป่าอย่างนี้ มีน้ำมันหอมระเหยธรรมชาติลอยอวลให้สูดเก็บเป็นพลังงานกลับไปสู้กับฝุ่นควันและความเครียดสะสมในเมืองใหญ่อย่างไม่จำกัด (แม้ว่าวันที่ผู้เขียนลงไปจะเจอกับฝุ่นควันภาคเหนือก็ตาม ในช่วงเวลานั้นวัดค่า PM2.5 ทะลุ 200 มคก./ลบ.ม. ไปนิดๆ)
สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดก็คือ ไม่รู้ว่าตลอดชีวิต 26 ปีที่ผ่านมาเราไปอยู่ไหน เคยไปเข้าค่ายเดินป่า หรือพ่อแม่ชวนไปเดินป่าตามเส้นทางที่อุทยานการท่องเที่ยวจัดไว้ให้ก็จริง แต่ไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็น ‘บ้านของสิ่งมีชีวิตอื่น’ เท่าๆ กับที่มันเป็นบ้านของเรา ไม่เคยใกล้ชิดและรู้สึกเชื่อมโยง กระทั่งพบว่าเจ้าแมลงพวกนี้มัน ‘น่ารัก’ เท่าวันนั้น
ทั้งหมดนี้เพียงอยากจะวกกลับมาว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นนักสืบสายน้ำ แต่คงจะดีไม่น้อยหากเด็กๆ ตัวเล็ก ประชากรที่เกิดใหม่ในเมืองต่างๆ ได้มีพื้นที่แห่งการเรียนรู้ หรือ outdoor education แบบนี้เยอะๆ เพราะถ้าเราตั้งต้นอยากให้คนมีจิตสำนึกเรื่องธรรมชาติ แต่จะทำได้อย่างไรหากเราไม่เคย ‘สัมผัส’ และรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติจริง
จะสอนให้เรารักธรรมชาติจากเลคเชอร์บนกระดาน เพียงเท่านั้นเองหรือ?
*อุปกรณ์ของนักสืบสายน้ำไม่หรูหราอลังการ แต่หาและใช้ได้จริงในครัวเรือนและร้านขายอุปกรณ์ใกล้บ้านเรา – แว่นขยายขนาด X10 แบบที่ใช้ส่องพระ – กระชอนตาข่ายละเอียด – ถาดลึกหรือกะละมังสีขาว – ถ้วยน้ำจิ้มพลาสติกสีขาว – พู่กันเล็กๆ – ช้อนพลาสติก ส่วนถ้าจะวัดความเร็วการไหลของน้ำ อุปกรณ์ที่เพิ่มเติมมาคือ เชือกยาว 10 เมตร และ ผลส้ม วิธีการคือปล่อยผลส้มให้ลอยไปตามน้ำระยะทาง 10 เมตร (ใช้เชือกที่เตรียมไว้กะระยะทาง) แล้วจับเวลาดูว่าผลส้มนั้นใช้เวลาเท่าไร ทำซ้ำ 3 ครั้งแล้วหาค่าเฉลี่ย วิธีคิดง่ายๆ ก็คือ หากน้ำไหลเร็วมาก ก็แปลว่าน้ำมีการไหลเวียน ยิ่งไหลเวียนมากก็ยิ่งผลิตออกซิเจนมาก **หนังสือ คู่มือนักสืบสายน้ำ ฉบับปรับปรุงประกอบด้วยหนังสือ 2 เล่ม คือ คู่มือสำรวจและดูแล และ คู่มือสัตว์ลำธาร เป็นการจัดทำเนื้อหาขึ้นและจัดพิมพ์ขึ้นใหม่หลังจากตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2542 และครั้งที่สอง ปี 2545 ภายใต้โครงการนักสืบสายน้ำ มูลนิธิโลกสีเขียว ซึ่งหนังสือชุดนี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและเผยแพร่หมดมานานหลายปี ถึงทุกวันนี้ ความต้องการหนังสือคู่มือชุดนี้ยังมีอยู่มาก ในปี 2561 มูลนิธิโลกสีเขียวจึงปรับปรุงหนังสือคู่มือนักสืบสายน้ำ ขึ้นใหม่ด้วยข้อมูลชีววิทยาที่ทันสมัยจากฐานงานวิจัยที่จัดการอย่างละเอียดและยาวนาน ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางทั่วประเทศไทยโดยเฉพาะภาคอีสาน และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจัดพิมพ์โดย มูลนิธิสยามกัมมาจล |