- เสรีภาพไม่ใช่เรื่องสำคัญอันดับหนึ่งในทางการศึกษา ข้อจำกัดที่เหมาะสม ประกอบกับโจทย์ปลายเปิด จะปลุกเสรีภาพแห่งการสร้างสรรค์ที่มีอยู่แล้วภายในสมอง จิตใจและร่างกายของมนุษย์ขึ้นมา
- นักการศึกษาต้องสร้าง challenge ให้กับผู้เรียนในระดับที่เขารู้สึกว่ามันสู้ได้ หรืออีกมุมหนึ่งสร้างกำลังใจให้กับผู้เรียนว่า สู้ได้ๆ ดังนั้นสมองก็จะเริ่มตีความว่า “เฮ้ย สู้ได้ๆ” และโจทย์ที่ให้ก็ยากในระดับที่มันเห็นรำไรว่าสู้ได้
- การสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสม เรื่องแรกเลยต้องสร้าง ‘เซลฟ์’ ที่ผูกพันกับสังคมจากครอบครัวไปถึงประเทศ ผูกพันกับสังคมวัฒนธรรมจากอดีตถึงปัจจุบันและอนาคต ซาบซึ้งในการถักทอสังคมจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม
- ก่อนจะมีสมรรถนะของศตวรรษใหม่ เราต้องมีตัวตนของศตวรรษใหม่ก่อน ตัวตนที่ไม่ใช่เซลฟ์แบบ The I alone เราต้องสร้างทฤษฎีตัวตนที่เป็น We, Us ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนไทยเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว
“เด็กคือทุกอย่างของประเทศชาติเลยใช่มั้ยครับ ถ้าเด็กของเราเติบโตมาด้วยเซลฟ์ที่ผิดธรรมชาติ เซลฟ์ที่ไม่เหมาะกับยุคสมัย ไม่เหมาะกับความเป็นจริงของโลก เราก็สูญเสียหมดทุกอย่างทั้งครอบครัวและประเทศชาติ”
ประโยคที่ถ่ายทอดด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ทว่าหนักแน่นของ ‘ครูปาด’ ศีลวัต ศุษิลวรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงเรียนเพลินพัฒนา และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ คือเหตุและผลของบทสัมภาษณ์ยาวเกือบ 2 ชั่วโมง ที่เริ่มจากคำถามถึงวลีที่ครูปาดได้เคยกล่าวไว้… “เสรีภาพอันเวิ้งว้าง”
ขณะที่คนส่วนใหญ่มองเสรีภาพเป็นความหอมหวานของการใช้ชีวิตในสังคม แต่สำหรับนักการศึกษาผู้มีแบ็คกราวด์ด้านมานุษยวิทยาท่านนี้ เสรีภาพเปรียบเสมือนดาบสองคม ถ้าไร้ขอบเขตก็จะกลายเป็นความเวิ้งว้าง แต่หากมีข้อจำกัดอย่างเหมาะสม ย่อมกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากธรรมชาติของสมองที่ชอบความท้าทาย
มากไปกว่านั้น ครูปาดยังชวนมองต่อไปถึง ‘เซลฟ์’ ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งสัมพันธ์กับเสรีภาพของปัจเจกภาพ โจทย์ยากที่คนในแวดวงการศึกษาต้องตีให้แตกและแก้ให้ตก
ก่อนอื่นอยากให้อาจารย์อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างเสรีภาพกับการเรียนรู้ ว่ามีความสำคัญอย่างไร
เสรีภาพสำคัญเมื่อพลังชีวิตของเราง่อยเปลี้ย ห่อเหี่ยว หมดหวัง พูดง่ายๆ ว่าสภาพมันทรุดโทรม ความคิดเกี่ยวกับเสรีภาพมันเป็นกำลังใจ เป็นจินตนาการ แต่ถ้าในสภาพที่พลังชีวิตของเราปกติ บางทีไปยุ่งกับมันมากก็ไม่จำเป็นเพราะเรามีเสรีภาพอยู่แล้ว สมองและจิตใจของมนุษย์มีเสรีภาพอยู่แล้วไม่ว่าโลกภายนอกจะเป็นเช่นไร ทีนี้พอเราไปตั้งให้เป็นประเด็นขึ้นมา ในสภาพที่เราเป็นปกติ ที่เราแข็งแรงดี มันอาจจะเป็นปัญหาได้ อันนี้ประเด็นหนึ่ง เสรีภาพที่เวิ้งว้างก็อีกประเด็นหนึ่ง และอีกประเด็นหนึ่งก็คือ เสรีภาพของปัจเจกทางการศึกษา ผมจะไล่ไปทีละเรื่อง
ขอเท้าความโดยเริ่มจากหลักการทำงานของสมอง ธรรมชาติของสมองชอบสิ่งท้าทายและทำงานได้ดีเมื่อถูกท้าทาย แต่ถ้าสิ่งท้าทายนั้นมันโหดร้ายเกินไป ธรรมชาติของสมองอีกเช่นกัน มันก็จะหาที่ปลอดภัย ฉะนั้นการท้าทายต้องไม่ไปถึงจุดที่สมองตีความว่าเป็นอันตราย ถ้าสมองตีความว่าเป็นอันตรายมันจะหนี แต่ถ้าตีความว่าเป็นจุดท้าทายมันจะสู้ ธรรมชาติของสมองทำงานกับสิ่งท้าทายเสมอ อันนี้เป็นข้อมูลทางวิชาการ
เสรีภาพที่เวิ้งว้างมันจึงไม่มีสิ่งท้าทาย ไม่มีข้อจำกัด เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีสิ่งท้าทาย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สมองจะเอาประสบการณ์เก่ามาทำงานแบบทื่อๆ ซ้ำๆ ซากๆ อันนี้เป็นธรรมชาติของมันเอง เพราะมันจะลดพลังงาน สมองก็เหมือนธรรมชาติทั้งหลายมันต้องประหยัดพลังงาน พอไม่มีอะไรที่ท้าทาย มันก็จะเอาประสบการณ์เดิมมาใช้ง่ายๆ
ยกตัวอย่างว่า ถ้าแจกกระดาษเปล่าให้เด็ก บอกว่าวาดอะไรก็ได้ สิ่งแรกที่เราจะพบคือเด็กจะวาดอะไรที่ชอบอยู่แล้ว อันนี้เป็นเรื่องที่เจอบ่อยมาก แต่ถ้าเริ่มตั้งเงื่อนไข เช่นเรา input ประสบการณ์ให้ สร้างความประทับใจให้ ตั้งเงื่อนไขของงาน สมองจะเกิดภาวะเสียเสถียรหรือ disequilibrium มันจะเกิดการต่อสู้กับเงื่อนไข แล้วก็สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เช่น เราอาจจะบังคับว่าให้ใช้สี 3 สี แต่ให้ได้ภาพที่มีสีมากที่สุด เด็กก็อาจจะเริ่มผสมสีเอง เพราะว่าสมองชอบความท้าทาย
ฉะนั้นเวลาที่นักปัจเจกนิยมเสรีนิยมพูดถึงการศึกษาแล้วมักมองว่าเสรีภาพคือปัจจัยที่ 1 บางทีอาจจะไม่ใช่ เสรีภาพอาจจะเป็นหนึ่งในหลายสิบปัจจัยที่จะต้องทำ แล้วก็ไม่ใช่เสรีภาพแบบลอยๆ ด้วย มันต้องควบคู่ไปกับข้อจำกัดหรือความท้าทายที่เหมาะสม ข้อจำกัดนี้แหละที่ทำให้สมองแสดงเสรีภาพภายในของมันโดยการปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ออกมา
ในการออกแบบการเรียนรู้ เราจะเปลี่ยนเสรีภาพที่เวิ้งว้างให้เป็นความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร
มีตัวอย่างกิจกรรมเล็กๆ ที่ผมได้รับประสบการณ์จากท่านอาจารย์หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา ท่านเป็นผู้วางรากฐานของการปฏิรูปการศึกษาปฐมวัยในเมืองไทย แล้วอาจารย์ท่านเก่งมากในเรื่องการพัฒนา creativity โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ผมเคยไปอบรมกับท่านเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ตอนที่ท่านยังแข็งแรง ตอนนี้ท่านก็ไม่อยู่แล้ว กิจกรรมที่ผมจำได้มิรู้ลืมเลยคือ ท่านเปิดเพลงแล้วให้ผมลองเคลื่อนไหวร่างกายตอบสนองกับเสียงเพลงที่มา ผมก็ทำไปเรื่อย แล้วอาจารย์ก็บอกว่า เอากระดาษหนังสือพิมพ์มานะ วางที่พื้น แล้วให้เคลื่อนไหวร่างกายอย่าออกนอกกระดาษ
ผมถูกจำกัดผมก็ต้องคิดท่วงท่าของผมไปเรื่อย อาจารย์ถามผมว่าเมื่อเทียบกับเมื่อกี้เป็นยังไง ผมบอกว่ารู้สึกว่าถูกจำกัดพื้นที่ แต่ในอีกด้านหนึ่งเราได้ใช้ร่างกายมากกว่าเดิม อาจารย์ก็บอกว่าถ้างั้นพับลงครึ่งหนึ่ง แล้วก็ให้ผมทำต่อ แล้วถามว่ารู้สึกยังไง ผมก็ตอบว่า ผมรู้สึกว่าต้องบังคับร่างกายมากกว่าเดิมอีก ผมต้องค้นหาวิธีใหม่ๆ เพราะการเคลื่อนไหวที่เมื่อสักครู่นี้ทำได้แต่ตอนนี้ผมทำไม่ได้ ผมต้องหาวิธีใหม่ แล้วอาจารย์ก็ให้ผมพับไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายกระดาษเหลือไม่ถึงฝ่ามือ ผมยืนเต็มเท้ายังไม่ได้เลย ผมต้องยืนเขย่งด้วยเท้าข้างเดียว แล้วโจทย์คือเคลื่อนไหวให้มากที่สุดเท่าที่ดนตรีมันพาไป กิจกรรมนี้ขับเคลื่อนด้วยข้อจำกัดที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เสรีภาพเดียวที่ผมได้รับจากอาจารย์ก็คือโจทย์นั้นเป็นโจทย์ปลายเปิด
แล้วผมก็ค้นพบว่า จิตใจ ความรู้สึก อารมณ์ ร่างกายของผมมันถูกบังคับให้ทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่รู้จักมาก่อน มันไม่ใช่จุดที่เราคุ้นเคย การยืนเขย่ง แล้วต้องให้ร่างกายใช้สเปซโดยรอบตัวให้มากที่สุด เราได้ค้นพบเลยว่า เราทำอะไรที่เราไม่เคยคิดว่าต้องทำหรือทำได้ ความคิด จิตใจและร่างกายของผมรวมพลังกันสร้างสรรค์สิ่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน นี่คือพลังสร้างสรรค์ของเสรีภาพภายในที่งอกงามจากข้อจำกัดภายนอก ผมก็เลยถามอาจารย์ว่า อันนี้แปลว่าข้อจำกัดมันเป็นสิ่งที่สนับสนุน creativity ใช่มั้ยครับ อาจารย์บอกว่าแน่นอน ข้อจำกัดคือสิ่งที่สร้าง creativity ถ้าเราให้การเปิดกว้างที่เวิ้งว้าง creativity จะไม่เกิด แล้วตอนหลังผมก็มาศึกษาเรื่องการทำงานของสมอง ถึงเข้าใจว่า ถ้าสมองไม่ถูกท้าทาย หรือไม่ถูกทำให้ disequilibrium สมองมันจะเอาความรู้เดิมมาแก้ปัญหาแล้วก็จบตรงนั้น ไม่มีการเรียนรู้เพิ่ม สมองที่สุขภาพดีและฝึกมาดีจะตระหนักถึงพลังของเสรีภาพที่มีอยู่แล้ว มันจะสนใจกับข้อจำกัดภายในที่ท้าทายมากกว่าเสรีภาพภายนอก
การให้เสรีภาพภายนอกแบบไร้ข้อจำกัด ประโยชน์ด้านการสร้างสรรค์มันจึงน้อย มันมีประโยชน์เพื่อการพักผ่อนหรือฟื้นฟูสภาพอ่อนล้า ทรุดโทรม แต่การหาข้อจำกัดที่เหมาะสมนี่แหละที่จะก่อเกิด creativity ที่งอกงามขึ้นจากเสรีภาพภายใน ทีนี้ในวิชาการทางสมองและการเรียนรู้ เขาก็อธิบายเหมือนกันว่าสมองชอบความท้าทายก็จริง แต่ถ้าความท้าทายนั้น สมองถึงขั้นที่ตีความว่าเป็นอันตราย ธรรมชาติมันหนีนะ เพราะว่ามันมีหน้าที่ปกป้องชีวิตด้วย หากสมองตีความว่าอันตราย มันจะหนีเลย แต่ถ้าสมองตีความว่า “จัดการได้” มันจะสู้
ดังนั้นนักการศึกษาต้องเข้าใจจุดนี้ ต้องสร้าง challenge ให้กับผู้เรียนในระดับที่เขารู้สึกว่ามันสู้ได้ หรืออีกมุมหนึ่งสร้างกำลังใจให้กับผู้เรียนว่า สู้ได้ๆ ดังนั้นสมองก็จะเริ่มตีความว่า “เฮ้ย สู้ได้ๆ” และโจทย์ที่ให้ก็ยากในระดับที่มันเห็นรำไรว่าสู้ได้
ผมใช้คำว่า “เห็นรำไร” นะ เพราะถ้าเห็นชัดจะเรียนรู้น้อย ให้สมองได้เห็นรำไรว่าสู้ได้ แล้วฝึกให้เด็กมีกำลังใจชอบเล่นกับโจทย์ที่เห็นโอกาสรำไรเนี่ย ฝึกเป็นนิสัยเลย เห็นรำไรต้องเอาชนะให้ได้ สุดท้ายสมองจะพัฒนาความสามารถและความกล้าหาญออกไปเรื่อยๆ จนแม้แต่โจทย์ที่เห็นทางตันก็ยังอยากเล่น
ทีนี้ปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดสภาพ “รำไร” ปัจจัยเหล่านั้นก็คือเงื่อนไข ข้อจำกัด อุปสรรค ผมเคยคุยกับอาจารย์เจือจันทร์ (ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่) อาจารย์บอกว่าห้องเรียนที่มีความสุขไม่จำเป็นต้องรื่นเริงกันเสมอไป แต่เวลาเราพูดถึงห้องเรียนแบบมีความสุข ซึ่งมาจากเสรีภาพ เราก็มักจะมองว่าห้องเรียนนี้ต้องสนุก ต้องยิ้ม ต้องหัวเราะกันตลอดนะ ผมก็เลยแซวว่าแบบพี่เลี้ยงค่ายใช่ไหมครับ (หัวเราะ) พวกค่ายซัมเมอร์ที่ต้องไปจ่ายสตางค์ เพราะมันประเมินด้วยความสนุกของเด็ก พ่อแม่จะจ่าย อย่างนี้จริงๆ
คุณค่าแท้ของการเรียนรู้ คือการที่เด็กรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ไม่ใช่คุณค่าเทียมที่เหมือนขนมหวาน
คุณค่าแท้ก็คือว่า บนความยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อย หรือไปจนถึงความทุกข์ มันทำให้เขาดีขึ้นได้ รู้สึกดีกับตัวเองที่สามารถทำได้ เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง เป็นความสุขของจิตใจที่มีสุขภาพสมบูรณ์
อีกเรื่องคือเสรีภาพของปัจเจกทางการศึกษาซึ่งอาจารย์เปิดประเด็นเอาไว้
ผมมองว่าปัญหาอีกเรื่องหนึ่งคือ เสรีภาพของปัจเจก หรือปัจเจกนิยมเสรีนิยม ที่เป็นอุดมคติในศตวรรษที่ 18-20 ซึ่งเป็นช่วงสมัยที่คนยุโรปเรียกตัวเองว่าโมเดิร์นหรือสมัยใหม่* เสรีภาพของความเป็นปัจเจกภาพมากๆ มันทำให้สำนึกทางตัวตนของเรามีแต่ “ตัวฉัน” หรือ The I ถ้าการศึกษาที่เด็กเติบโตมาเน้นความเป็นปัจเจกภาพมากๆ แล้วให้เสรีภาพกับปัจเจกภาพมากๆ นี่ผมกาลังจะเริ่มพูดถ้อยคำที่เริ่มคุ้นๆ กันในปัจจุบันแล้วนะ แล้วก็พูดถึงสิทธิของปัจเจกภาพ อันนี้คือโลกตะวันตกที่นำโดยอเมริกาจะออกทางนี้เยอะ ปัจเจกภาพ สิทธิของปัจเจกภาพ เสรีภาพของปัจเจกภาพ เด็กที่โตมาในมุมนี้มันจะมีแต่ The I (ฉัน) เซลฟ์ของเขาจะไม่เป็น We เป็น Us มันจะเป็น I and Me ฉะนั้นสินค้าไอทีของอเมริกันจะขึ้นด้วย I หมด เพราะสนับสนุนการเป็นปัจเจกภาพไงครับ เหมือนกับว่า เครื่องมือสื่อสารพวกนี้สร้างอิสระให้กับปัจเจก ความจริงเครื่องมือสื่อสารเหล่านี้สามารถสร้างสำนึกของ We และ Us ได้ดีด้วย แต่สังคมแบบตะวันตกมุ่งโฆษณาความเป็น I และ Me มากกว่า
(*คำว่าโมเดิร์นในบทสัมภาษณ์นี้ผู้ให้สัมภาษณ์หมายความรวมสมัย Enlightenment (ศ.18-19) กับสมัย Modern (ศ.19-20) เข้าด้วยกันเพราะเห็นว่ามีความสัมพันธ์สืบเนื่องกันอยู่มาก)
แต่ในความเป็นจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น ในความเป็นจริงชีวิตของมนุษย์อยู่ในสังคม วิชาจิตวิทยาสังคม อธิบายว่าเซลฟ์หรือความรู้สึกว่าเป็นตัวฉันมันเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีคนอื่น ทฤษฎีทางจิตวิทยาสังคมอธิบายว่า ความรู้สึกเป็นเราเป็นฉัน หรือ The I เกิดขึ้นเพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น สมองเริ่มแยกว่าโน่นคนอื่น นี่ฉัน นั่นคนไกล นี่คนใกล้ พอเริ่มตั้งพิกัดพวกนี้ขึ้นมา มันมีปฏิสัมพันธ์กัน มันมีภาพสะท้อนของกันและกัน เกิดภาพสะท้อนขึ้นในสมองแล้วสังเคราะห์ออกมาเป็นความรู้สึกว่าเป็นตัวฉัน ธรรมชาติดั้งเดิมของเซลฟ์มันเป็นสังคมแบบนี้ แต่เซลฟ์ที่ยึดมั่นใน The I จนเป็นปัจเจกแข็งตัวนั้นผิดธรรมชาติ มันเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ถ้าเซลฟ์ของคนถูกสร้างขึ้นอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติโดยมีสำนึกว่าตัวฉันมันถูกสร้างขึ้นจากความผูกพันกับคนอื่น กับสังคม ความรู้สึกเป็นของกันและกัน เชื่อมต่อกันได้ ซ้อนทับกันได้ เซลฟ์ของเรากับเซลฟ์ของคนอื่นซ้อนทับกันได้
เซลฟ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้พร้อมที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น พร้อมที่จะเดือดร้อนร่วมกับคนอื่น พร้อมที่จะแชร์กัน นักมานุษยวิทยารู้ดีว่าเซลฟ์ของคนในสังคมเผ่าดั้งเดิมนั้นเป็นแบบนี้
ยกตัวอย่าง คนที่จะแต่งงานกัน มันต้องยอมสูญเสียความเป็น The I เพื่อไป overlap กับอีกคนหนึ่ง เปลี่ยนจาก I เป็น We ถ้าเปลี่ยนไม่ได้การแต่งงานก็จะอยู่ไม่ได้ ในโลกตะวันตกซึ่งเด็กเติบโตมากับเสรีภาพของปัจเจกภาพ เซลฟ์ที่เกิดขึ้นผิดไปจากธรรมชาติก็จะมีลักษณะโดดเดี่ยวออกจากกันแต่ผูกพันกันด้วยเศรษฐกิจและกฎหมาย เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ของคนในสังคมแบบนี้ ก็มีแต่เรื่องเศรษฐกิจ กฎหมาย เรื่องเงื่อนไขทางสังคมต่างๆ แต่ไม่มีเซลฟ์ที่มีลักษณะเป็น We หรือ เป็น Us เซลฟ์ที่โดดเดี่ยวแบบนี้มันไม่มั่นคง ดังเราจะเห็นความอ่อนแอและความล้มเหลวของการแต่งงานและชีวิตคู่ที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับค่านิยมเรื่องเสรีภาพของปัจเจก
สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาเราจะเห็นเลยว่า ประเทศที่เน้นเสรีภาพของปัจเจกค่อนข้างขอความร่วมมือจากประชาชนยากมาก ประชาชนจะฟ้องรัฐด้วยว่าไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเขา นี่คือเรื่องที่สองของเสรีภาพที่จะต้องเข้าใจมัน และใช้ให้ถูกที่ถูกทาง
ในมุมของนักการศึกษา แน่นอนว่าสังคมปัจจุบันโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของปัจเจกค่อนข้างมาก การศึกษาจะช่วยส่งเสริมให้คนใช้เสรีภาพอย่างสร้างสรรค์โดยคำนึงถึงส่วนรวมหรือสังคมได้อย่างไร
ผมประเมินว่าเรื่องนี้คือปัญหาอันดับหนึ่งในมุมของนักการศึกษาเลย ต้องอธิบายอย่างนี้ก่อนครับว่า ทฤษฎีทางการศึกษาทั้งหลายมันงอกงามออกมาจากตัวรากแก้วคือ ทฤษฎีทางจิตวิทยาพัฒนาการและจิตวิทยาการเรียนรู้ ซึ่งตัวรากแก้วหรือจิตวิทยาพัฒนาการและจิตวิทยาการเรียนรู้นี้งอกออกมาจากเมล็ดพันธุ์คือ สมมติฐานเกี่ยวกับเซลฟ์ สมมติฐานเกี่ยวกับเซลฟ์เป็นเช่นไร ก็จะสร้างจิตวิทยาพัฒนาการและจิตวิทยาการเรียนรู้ขึ้นรองรับในทิศทางนั้น จิตวิทยาพัฒนาการและจิตวิทยาการเรียนรู้ลักษณะใดก็จะก่อให้เกิดทฤษฎีการศึกษาอีกมากมายที่ต่อยอดขึ้นไปในทิศทางเดียวกันเหมือนต้นไม้ที่แตกแขนงออกไปมากมายเลย หลักคิดเรื่องเซลฟ์จึงเป็นจุดกำเนิดที่ควบคุมทฤษฎีทางการศึกษาทั้งหมดที่ติดตามมา
ฉะนั้นถ้าการศึกษามันวางอยู่บนเซลฟ์ที่เป็นปัจเจกภาพ เป็น The I ที่ไม่มี We ทฤษฎีของจิตวิทยาพัฒนาการ ทฤษฎีจิตวิทยาการเรียนรู้ก็จะรองรับเซลฟ์ตัวนี้
ทฤษฎีเรื่องการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนการสอน การสร้างหลักสูตร การประเมินผล การบริหารการศึกษามันจะงอกออกมาจากตรงนี้ทั้งหมด ตั้งแต่ลักษณะของเซลฟ์ ไปจนถึงทฤษฎีและหลักปฏิบัติทางการศึกษาทั้งหลาย มันมาด้วยกันเป็นชุด มันมาทั้ง paradigm แล้วนี่คือสิ่งซึ่งโลกตะวันตกส่งต่อให้ประเทศอื่นดำเนินตาม แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด มีอีกหลายประเทศที่รับวัฒนธรรมนี้มาแต่ก็ไม่ได้นำมาใช้โดยสิ้นเชิง เขายังรักษารากฐานของเขาไว้ได้อีกหลายอย่าง เช่น กรณีของญี่ปุ่น พื้นวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมีเซลฟ์เป็น We เป็น Us ไม่ใช่ I หลักฐานที่ชี้ชัดที่สุดเลย คือเขาเป็นประเทศที่อาบน้ำด้วยกัน ถ้าคนอื่นทำแบบนั้นจะลำบากใจมาก แต่คนญี่ปุ่นเขาเป็น We เป็น Us ฉะนั้นเวลาเขารับทฤษฎีตะวันตกมามันก็ไม่ได้ไปทำลายรากเขา
ยกตัวอย่าง นักการศึกษารัสเซียท่านหนึ่งซึ่งมีความสามารถมาก ชื่อ เลฟ วีก็อทสกี้ (Lev Vygotsky) หลายประเทศก็เคารพนับถือเขา แต่ว่าประเทศที่เอามาใช้อย่างจริงจังคือ ญี่ปุ่น เพราะว่าวีก็อทสกี้สร้างทฤษฎีการเรียนรู้บนความเป็น We เป็น Us ทฤษฎีการเรียนรู้ของวีก็อทสกี้ต้องมีคนอื่น มีสังคม มีวัฒนธรรม แล้วคนอื่นนั้นต้องมีทั้งคนอื่นที่เป็นครู และเป็นคนอื่นที่เป็นผู้เกี่ยวข้องหลากหลายอยู่ในโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรม ทฤษฎีการเรียนรู้ของวีก็อทสกี้ไม่เป็นที่ปลื้มของค่ายทุนนิยมเสรีและปัจเจกนิยมนักแต่ญี่ปุ่นก็เลือกมา ขณะเดียวกันความคิดเสรีนิยมอะไรต่างๆ ที่อเมริกาซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงครามได้บังคับญี่ปุ่นให้ดำเนินตาม ญี่ปุ่นก็รับทฤษฎีเหล่านั้นมาแต่ไม่ได้ทำลายวัฒนธรรมเดิมลงถึงราก รากของเขาก็ยังเป็น We เป็น Us และเขาก็เลือกทฤษฎีการศึกษาตะวันตกเฉพาะที่เหมาะสมลงไปที่รากของเขา ส่วนพื้นผิวข้างบนเขาก็ต่อยอดกับอเมริกันได้ เขาก็จะรับวัฒนธรรมเสรีนิยมตะวันตกโดยที่ไม่กระเทือนลึกลงไปถึงข้างล่าง แต่ในอีกมุมหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องทฤษฎีทางการศึกษา ญี่ปุ่นก็ถูกอเมริกาบังคับไม่ให้มีศาสนา ซึ่งเรื่องนี้เสียหายถึงรากของวัฒนธรรม แต่ยังไม่ขอพูดถึงในที่นี้
ผมจะตอบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับเซลฟ์และการเรียนรู้ของเราขึ้นใหม่ เพราะการศึกษาในเมืองไทยเดินตามทฤษฎีของ The I ที่เป็น The I ล้วนๆ เป็นทฤษฎีแบบอเมริกัน ที่มีดิวอี้ มาสโลว์ อีริคสัน ฯลฯ เป็นบูรพาจารย์ผู้วางรากฐานที่รองรับความคิดเรื่องเสรีนิยมและปัจเจกนิยม อีกทั้งหลายปีมานี้ที่เรามองว่าเราต้องปฏิรูปการศึกษาเพื่อเผชิญกับศตวรรษใหม่ แล้วเราก็พยายามจะร่างสมรรถนะขึ้น ให้เด็กหรือคนรุ่นใหม่ต้องมีสมรรถนะในศตวรรษใหม่ โจทย์เรื่องสมรรถนะในศตวรรษใหม่นี้เป็นโจทย์ที่โลกตะวันตกตั้งขึ้นผ่าน OECD ให้โลกคิดตามเพื่อตีกรอบวิสัยทัศน์ของโลกให้วิ่งแข่งกันไปในทางที่เขากำหนดแล้วเราก็รับโจทย์ของเขามาคิดตามอย่างว่าง่าย
โจทย์นี้ถูกครึ่งเดียวและเป็นครึ่งหลังด้วยไม่ใช่ครึ่งแรก ก่อนจะมีสมรรถนะของศตวรรษใหม่ เราต้องมีตัวตนของศตวรรษใหม่ก่อน ตัวตนที่ไม่ใช่เซลฟ์แบบ The I alone
เราต้องสร้างทฤษฎีตัวตนที่เป็น We เป็น Us ซึ่งจริงๆ แล้ววัฒนธรรมดั้งเดิมของคนไทยก็เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่หลังจากที่เรารับกระแส วัฒนธรรม เศรษฐกิจ แนวทางการศึกษา และปรัชญาแบบอเมริกันเข้ามาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน มันก็ไหลบ่าเข้ามาทำลายตัวตนที่เป็น We เป็น Us พร้อมกับวิถีชีวิตเดิมที่ถูกกวาดลงไป แต่ในชนบทยังพอมีบ้าง
เรื่องนี้ถ้าเทียบแล้วเราสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ ญี่ปุ่นถูกการไหลบ่าของวัฒนธรรมอเมริกันเช่นเดียวกัน แต่ว่าเขามีวิธีที่ไม่ให้กระทบไปที่รากแก้ว แต่ของเรากระทบไปที่รากแก้ว ฉะนั้นผมมองว่าตอนนี้เป็นปัญหาอันดับหนึ่ง ไม่ว่าจะมองในมุมการศึกษา มองในมุมของคุณภาพมนุษย์ หรือมองในมุมความมั่นคงของชาติด้วยครับ
เด็กคือทุกอย่างของประเทศชาติเลยใช่มั้ยครับ ถ้าเด็กของเราเติบโตมาด้วยเซลฟ์ที่ผิดธรรมชาติ เซลฟ์ที่ไม่เหมาะกับยุคสมัย ไม่เหมาะกับความเป็นจริงของโลก เราก็สูญเสียหมดทุกอย่างทั้งครอบครัวและประเทศชาติ
ฟังดูใกล้เคียงกับมุมมองเชิงมานุษยวิทยา ซึ่งอาจารย์ก็เรียนมาทางด้านนี้ด้วย?
อันนี้แหละสำคัญ ผมไม่แน่ใจว่า คำว่า anthropology โดยรากศัพท์แล้วเป็นพหูพจน์หรือเอกพจน์นะ แต่คำว่า “มานุษยวิทยา” ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเป็นบาลีหรือสันสกฤต เป็นภาคพหูพจน์ บังเอิญว่าเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว ผมไปทำบุญที่วัดบวรมงคล แถวฝั่งธน หลวงพ่อท่านเปรียญธรรมสูง วันหนึ่งพอถวายของเสร็จเรียบร้อย ผมก็ช่วยท่านถือย่ามไปส่งที่กุฏิ ท่านเมตตาชวนผมคุยว่าเรียนอะไรมา ผมก็บอกว่าเรียนมานุษยวิทยา ท่านถามผมว่าทำไมคำว่า “มานุษ” มีสระอาด้วยล่ะ ผมบอกว่าไม่ทราบเหมือนกันครับ มันแปลมาจาก anthropology ท่านบอกรู้มั้ยว่าสระอาในคำว่ามานุษเป็นภาคพหูพจน์ ไม่ใช่เป็นเอกพจน์ ดังนั้นวิชามานุษยวิทยา เป็นวิชาที่มองมนุษย์เป็นพหูพจน์เสมอ โอ้โห…หลวงพ่อลึกล้ำมาก เพราะมานุษยวิทยาไม่ได้มองมนุษย์โดดเดี่ยวเป็นปัจเจกที่แตกออกเป็นชิ้นๆ แต่มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันภายในบริบทของสังคมวัฒนธรรมตลอดเวลา
แล้วเราจะเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับมนุษย์ที่เป็นเอกพจน์ให้เป็นพหูพจน์ได้อย่างไร สำคัญคือจะทันต่อความแตกแยกในสังคมนี้หรือไม่
ต้องบอกแบบนี้ งานของนักการศึกษาเป็นงานระยะยาว ถามว่างานระยะกลาง ระยะสั้นต้องทำไหม ต้องทำ แต่ว่ามันไม่ใช่งานโดยตรงของนักการศึกษา งานโดยตรงของนักการศึกษาคืองานระยะยาว คืองานที่ต้องสร้างกระบวนการที่จะปลูกฝังบ่มเพาะจนงอกงาม งานระยะสั้นก็ต้องทำ เช่น ต้องให้การเรียนรู้ต่อสังคมอย่างรวดเร็ว เกี่ยวกับเรื่องปัญหา ณ ขณะนี้ ทำให้สังคมตื่นตัวขึ้นมาให้ได้ว่าจริงๆ แล้วเรามีปัญหาที่ลึกอยู่
ทีนี้ถามว่าเราควรจะสร้างการเรียนรู้แบบไหนที่เหมาะสม เรื่องแรกเลยต้องสร้างเซลฟ์ที่ผูกพันกับสังคมจากครอบครัวไปถึงประเทศ ผูกพันกับสังคมวัฒนธรรมจากอดีตถึงปัจจุบันและอนาคต ซาบซึ้งในการถักทอสังคมจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม
เราต้องทำให้เด็กรักครอบครัว รักพ่อรักแม่ ต้องทำให้เด็กเคารพด้วย ไม่ใช่รักเฉยๆ ทุกวันนี้เวลาไปกินข้าวตามร้านอาหาร ผมเห็นเด็กเล่นหัวพ่อแม่ เด็กเล็กๆ ขึ้นไปยืนบนโต๊ะอาหาร แต่ก่อนทำไม่ได้นะ เด็กต้องเคารพ และเด็กจะต้องถูกเลี้ยงดูมาให้รู้ว่า พื้นที่แบบไหนทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้
ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดี ผมจะไม่พูดถึงเรื่องความเครียดที่ทำให้ญี่ปุ่นมีปัญหาแบบของเขา เราจะไม่ตามแบบนั้นนะ แต่เด็กญี่ปุ่นจะถูกสอนให้เคารพธรรมเนียมปฏิบัติ เช่น พื้นที่แบบไหนทำอะไรได้ ตรงนี้ต้องถอดรองเท้า ตรงนี้ห้ามเหยียบ ซึ่งเรื่องแบบนี้แต่ก่อนในบ้านเราก็มี เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยมีแล้ว ตอนเป็นเด็กผมเคยอยู่บ้านที่มีธรณีประตูซึ่งห้ามเหยียบ แต่เดี๋ยวนี้อยู่บ้านสมัยใหม่ ไม่ต้องระวังแบบนั้นแล้ว แต่ญี่ปุ่นถึงเขาย้ายออกจากบ้านแบบ traditional มาอยู่คอนโด ก็ยังทำ ตรงนี้ต้องถอดรองเท้า ตรงนี้ต้องสำรวม การพูดการจาก็มีภาษาของความเคารพเป็นลำดับ เด็กจะใช้ภาษากับผู้ใหญ่ยังไง ใช้ภาษากับคุณครูยังไง ไม่เหมือนภาษาของโลกตะวันตกที่ค่อนข้างเสมอกัน ซึ่งภาษาไทยเราก็มี ภาษาไทยที่แสดงความเคารพในกาลเทศะแบบต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้เราก็ไม่ได้สอนเด็ก
ถ้าถามว่าการศึกษาต้องเป็นอย่างไร เราก็ต้องเลี้ยงเด็กของเราให้เข้าใจความหมายของวัฒนธรรมที่มีสัดส่วนและลำดับของความสัมพันธ์ที่ละเอียดซับซ้อน ไม่ใช่ว่าแบนราบไปหมด แล้วเกลี้ยงๆ โล้นๆ แบบเสรีนิยมของโมเดิร์น ซึ่งไม่เหลืออะไรเลย เหลือแต่ทุกคนที่แบนราบเท่ากันหมด ตบหัวกันได้ อันนี้ประเด็นหนึ่ง
เรื่องต่อมาเซลฟ์จะต้องมีความผูกพันกับอดีตและอนาคตของสังคมวัฒนธรรมนั้นๆ ให้มากที่สุด ใกล้ตัวที่สุดเลย เด็กรุ่นใหม่รู้จักมั้ยว่าทวดตัวเองชื่ออะไร ปู่ย่าตายายยังไม่รู้เลย ถ้าทวดนี่ผมเชื่อว่าไม่รู้หมดแล้ว ชื่ออะไร เป็นใคร มาจากไหน ไม่รู้ ความกตัญญูก็ไม่รู้ มันหมดหายไป ลึกไปกว่านั้นก็ต้องเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ โอเค…อาจจะบอกว่า ประวัติศาสตร์รัฐแบบแต่ก่อนมันเชย ล้าสมัย ก็ไม่เป็นไร เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ให้เห็นว่า สังคมวัฒนธรรมถักทอความสลับซับซ้อนขึ้นมาอย่างไร มีพลวัตในบริบทของโลกมาอย่างไร ความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างไร ความสมานฉันท์เกิดขึ้นอย่างไร
ต่อมาเรื่องใหญ่คือความกตัญญู เช่น ชีวิตนี้พ่อแม่ให้กำเนิดเลี้ยงดูเรามาฟรีๆ สถานภาพประชาชนของรัฐเราก็ได้มาฟรีๆ จากชีวิตและน้ำพักน้ำแรงของคนในอดีตมากมายหลายชั่วคน สิ่งต่างๆ ที่เราได้มาฟรีๆ อันนี้สำคัญ เราควรทำยังไงต่อไป ไม่ใช่ว่าได้มาฟรีๆ แล้วรู้สึกว่ายังไงคุณก็ต้องให้ผม คุณทำให้ผมเกิดมา อันนี้เขาขาดการเรียนรู้เรื่องของการกตัญญู แล้วก็การให้ ต่อไปผมว่าการศึกษาก็ต้องสร้างตัวนี้ให้กลับขึ้นมา
เมื่อกี้เราพูดถึงเรื่องความเป็น We เป็น Us แล้ว ตอนนี้ก็เรื่องของความต่อเนื่องข้ามห้วงเวลา อดีตจะต้องมีลึกไปกว่าประวัติศาสตร์อีก ถ้าเราเข้าไปถึงศาสนา เราต้องสร้างเซลฟ์ที่มีความระมัดระวังว่าชีวิตไม่ได้มีชาตินี้เพียงชาติเดียว เช่น เซลฟ์แบบนิทานเรื่องปลาบู่ทอง แม่ของเอื้อยตายไปเกิดเป็นปลาบู่ ตายจากปลาบู่ไปเกิดเป็นต้นมะเขือ เป็นนกแขกเต้า ฯลฯ โอ้ ! มหัศจรรย์จริงๆ เซลฟ์แบบนี้ปัจเจกนิยมแบบโมเดิร์นทำลายทิ้งหมด เดี๋ยวนี้เขาไม่เชื่อกันนะ เอาล่ะ…คุณบอกว่าพิสูจน์ไม่ได้ ยืนยันไม่ได้ว่าจะมีชาติหน้า ผมก็จะตั้งคำถามศอกกลับ เพราะฉะนั้นช่วยพิสูจน์ด้านผิดหน่อย พิสูจน์ว่ามันไม่มีชาติหน้าให้ผมฟังหน่อยสิ อย่าบอกว่ามาท้าให้ผมพิสูจน์ด้านถูก ผมถามกลับว่าคุณพิสูจน์ด้านผิดหน่อย เด็กต้อง concern นะว่า เรื่องเหล่านี้พิสูจน์ด้านถูกก็ไม่ได้ พิสูจน์ด้านผิดก็ไม่ได้ วิธีที่ดีที่สุดคืออย่าประมาท ชีวิตเราอาจจะไม่มีแค่นี้ แล้วจะไปไหนต่อ อันนี้คือเซลฟ์แบบโบราณ มันมีลักษณะแบบนี้
ลองจินตนาการถึงเซลฟ์ซึ่งเรามีความผูกพันกับคนอื่น เรามีความสัมพันธ์กับคนอื่น เราแชร์ทุกอย่างกับคนอื่นทั้งปัจจุบัน อดีต อนาคต เราอาจจะมีชีวิตที่มากกว่าชีวิตนี้อีก ทุกอย่างมีความสัมพันธ์กัน perception ของเซลฟ์แบบนี้มันจะคนละอย่างกับเซลฟ์ปัจเจกนิยมของโมเดิร์น ซึ่งโมเดิร์นมันมีแต่ ตัวฉัน วันนี้และชาตินี้ มันมีแค่นั้น มันตีกรอบอยู่แค่นี้ เพราะฉะนั้นมันก็แข็งตัวแน่นเป็นตัวของมัน แล้วมันก็ผิดสำแดงเพราะมันเริ่มป่วย ทีนี้ถ้าถามว่านักการศึกษาควรทำอะไรตอนนี้ ผมสรุปเลยว่าเรื่องนี้สำคัญกว่าเรื่องสมรรถนะในศตวรรษใหม่อีก
เรียกว่าเป็นการรื้อฟื้นระบบคุณค่าที่เคยมีมาได้ไหมคะ
ใช่ แต่คุณค่าเนี่ยมันสัมพันธ์กับ perception ของ The I ของความเป็นเซลฟ์ เพราะฉะนั้นทั้งเรื่องคุณค่าและเซลฟ์ควรถูกฟอร์มใหม่ จะเรียกว่าฟอร์มใหม่ก็ได้ แต่จริงๆ แล้วมันคล้ายของโบราณ ถ้าพูดกันแบบนักมานุษยวิทยาเลย อ่าน ethnographic (ชาติพันธุ์วิทยา) เกี่ยวกับพวกพื้นเมืองในแอฟริกา ในอเมริกา อบอริจินีในออสเตรเลีย ฯลฯ เซลฟ์ของเขานอกจากเป็น We เป็น Us แล้ว มันยังโยงกับสัตว์ ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ ท้องฟ้า ไปจนถึงผีสางนางไม้สิ่งลี้ลับต่างๆ ตัวตนของเขาไม่ใช่แค่ The I แล้วไม่ใช่แค่ We และ Us ด้วย มันโยงอยู่กับธรรมชาติรอบตัวทั้งหมดทั้งที่สัมผัสได้โดยตรงและที่ต้องสัมผัสอย่างลึกลับ อันนี้เป็นเซลฟ์ที่ทรงคุณค่ามหาศาล เป็นเซลฟ์รุ่นโฮโมเซเปียนส์ เซเปียนส์เลย อาจจะเก่าแก่หลายหมื่นปี มองเซลฟ์กลุ่มนี้แล้วมองย้อนกลับมาดูเซลฟ์ปัจเจกนิยมของโมเดิร์นจะเห็นว่าแตกต่างกันลิบลับ เซลฟ์ปัจเจกนิยมช่างดูยากจนข้นแค้นและสิ้นไร้ไม้ตอกเสียนี่กระไร
พูดอย่างนี้จะถูกมองว่าเป็นพวกดึกดำบรรพ์ไหมคะ
ผมมองอย่างนี้นะ ผมมองว่า post modern (ยุคหลังสมัยใหม่) มีหลายอย่างมากที่เป็น pre modern (ยุคก่อนสมัยใหม่) สุดท้ายแล้วเราจะเห็นว่าโมเดิร์นหรือยุคสมัยใหม่คือสิ่งแปลกปลอมของธรรมชาติ ความคิดแบบโมเดิร์นมันเป็น reductionist มันตัดตอนความสลับซับซ้อนและความคลุมเครือลึกลับอื่นๆ ออก เซลฟ์ของโมเดิร์นจึงเหลือแต่ The I ที่โดดเดี่ยวเป็นปัจเจกลอยๆ
โลกของมนุษย์ก่อนหน้าโมเดิร์นมันคือ holistic (องค์รวม) โลกของมนุษย์หลังโมเดิร์นก็คือ holistic แต่โลกของมนุษย์ในช่วงสมัยของโมเดิร์นต่างหากที่ประหลาดแล้วมันก็กำลังหมดอายุลงอยู่ตลอดเวลา
ผมว่าปล่อยให้ปัจเจกนิยม เสรีนิยม แบบอเมริกันกับโลกตะวันตกตายไปพร้อมกับมันได้เลย มันจะหมดอายุภายในศตวรรษนี้ โลกในศตวรรษใหม่มันจะกลับไปสมานฉันท์กับความหลากหลาย ความสลับซับซ้อน การเปลี่ยนแปลง ความลื่นไหล ความคลุมเครือ และความลึกลับ เราอาจจะต้องกลับไปหาเซลฟ์องค์รวมแบบอบอริจินี แบบเนทีฟอเมริกัน ผมว่าเซลฟ์พวกนี้มันทรงพลัง แต่ต้องปรับใหม่ให้เข้ากับโลกที่มีเศรษฐกิจ สังคมและสภาพแวดล้อมของศตวรรษใหม่ด้วย
แล้วจะว่าดึกดำบรรพ์หรือตกรุ่นก็ไม่ใช่ นักมานุษยวิทยากายภาพยืนยันว่าสมองของโฮโมเซเปียนส์เมื่อ 40,000 ปีก่อน ไม่ต่างกันมากกับสมองของโฮโมเซเปียนส์วันนี้ บางคนถึงกับบอกว่า ถ้ามีการสื่อสารที่ดี มีระบบการเรียนรู้ที่ดี เราอาจจะสอนการสร้างคอมพิวเตอร์ให้กับโฮโมเซเปียนส์เมื่อ 30,000-40,000 ปีที่แล้วได้ มันบอกอะไรเรา มันบอกเราว่าการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุมหาศาลที่เปลี่ยนแปลงมาหลายพันปีพร้อมกับสังคมเมือง ไม่ได้กระทบกับสมองของมนุษย์ชาวเมืองเท่าไหร่ แปลว่าเราคิดเอาเองว่าเราเป็น
ชาวเมืองที่มีอารยธรรมที่เจริญขึ้นมามากแล้ว เราคิดเอาเองว่าสังคมเมืองเป็นสิ่งที่ซับซ้อนมากห่างไกลมากกับชีวิตในพงไพร แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะว่าถ้าสังคมเมืองมันซับซ้อนมากกว่าธรรมชาติในพงไพร สมองของคนเมืองต้องเปลี่ยนไปจากสมองของพวกชนเผ่า คนเมืองอาจจะกลายพันธุ์ใหม่ที่ไม่ใช่โฮโมเซเปียนส์แต่ในความเป็นจริงสมองของคนเมืองและสมองของชนเผ่าไม่ต่างกัน นักมานุษยวิทยาอย่างโคล๊ด เลอวี สโตร๊ส (Claude Levi- Strauss) ก็เคยพยายามพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสมองของชนเผ่าที่ยังใช้ชีวิตแบบเดียวกับโฮโมเซเปียนส์เมื่อหลายหมื่นปีก่อนไม่ได้แตกต่างจากสมองของคนเมืองที่อยู่กับความเจริญทางวัตถุและความรู้มาหลายพันปีเลย
มันบอกเราว่าความเจริญทางวัตถุและความรู้แบบคนเมืองหลายพันปีที่ผ่านมาไม่มีผลกระทบเท่าไรต่อสมองของคนเมือง แสดงว่าโลกซับซ้อนของเมืองไม่ได้ซับซ้อนไปกว่าธรรมชาติรอบตัวเลย
ทีนี้มันยืนยันกับเราว่าโฮโมเซเปียนส์เมื่อหลายหมื่นปีที่แล้วกับชนเผ่าที่ยังใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่ แม้จะใช้ชีวิตนุ่งผ้าเตี่ยว นอนในถ้ำ อายุสั้นเพราะติดโรคได้ง่ายก็จริง แต่สมองของเขาพร้อมเผชิญความซับซ้อนได้เท่ากับเราที่เป็นชาวอารยธรรมเมือง เพราะฉะนั้นความซับซ้อนที่มนุษยชาติเผชิญอยู่ ไม่ใช่ความซับซ้อนเชิงวัตถุ เชิงเศรษฐกิจ หรือความรู้แบบชาวเมือง แต่มันคือความซับซ้อนของการเผชิญต่อธรรมชาติที่ซับซ้อน ที่มันเป็น chaos มันเอาแน่เอานอนไม่ได้ ไม่มีตัวตนที่แท้จริง สมองของโฮโมเซเปียนส์ถูกพัฒนาให้เผชิญกับความจริงของธรรมชาติมาอย่างน้อยก็ 40,000 ปีแล้ว แล้ววันนี้ที่เรารู้สึกว่าโลกมันสลับซับซ้อน มันก็ไม่ได้ซับซ้อนมากไปกว่าเมื่อ 40,000 ปีก่อน
เราอยู่ในเมืองใหญ่ที่เราคิดว่าซับซ้อน ก้าวหน้า สูงส่ง มีระบบเศรษฐกิจ การเงิน และเทคโนโลยีพิศดาร แล้วเราไปดูชีวิตของมนุษย์ที่อยู่ในถ้ำเห็นว่ามันไม่ซับซ้อน เพราะเราเอาวัตถุไปเทียบไง แต่ผมถามว่าความซับซ้อนของเมือง แม้กระทั่งระบบการเงินที่เราใช้ในวันนี้ มันมากไปกว่าความซับซ้อนของธรรมชาติที่อยู่หน้าถ้ำหรือเปล่า ไม่เลย ธรรมชาติที่อยู่หน้าถ้ำ หรือธรรมชาติที่อยู่ข้างในชีวิตจิตใจ ซับซ้อนกว่าสิ่งที่เราเห็นในอารยธรรมเมืองนี้มาก สมองของมนุษย์พร้อมเผชิญกับโจทย์ยากที่สุดของธรรมชาติมา 40,000 ปีแล้ว และนี่คือสิ่งที่ยืนยันกับผมว่าการกลับไปเป็นพรีโมเดิร์นไม่ล้าสมัย เพราะอะไร เพราะว่าโมเดิร์นไม่ได้ทำให้ความเป็นมนุษย์ก้าวหน้าไปไหนเลย อาจจะถอยหลังลงด้วยในบางด้าน เราดูดีๆ ในช่วง 200-300 ปีที่ผ่านมาของโมเดิร์น ความรู้ของอารยธรรมเมืองเพิ่มขึ้นมากมายก็จริง ชีวิตอาจจะอายุยืนขึ้นก็จริง แต่มนุษย์อาจจะเสื่อมลงในเรื่องสำคัญๆ หลายเรื่อง โมเดิร์นไม่ได้ทำให้เราฉลาดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไป เราเก่งแบบนี้มาก่อนโมเดิร์น ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าเราจะกลับไปอาศัยเซลฟ์แบบองค์รวมอีกครั้ง เซลฟ์ที่เป็นพหูพจน์และเปิดรับการมีภพชาติอย่างเอนกอนันต์
ถ้าอย่างนั้น นอกจากเรื่องการท้าทายด้วยข้อจำกัดให้สมองขยายความสามารถออกไป และเรื่องเซลฟ์แบบองค์รวมแล้ว การศึกษาน่าจะช่วยสร้างอะไรอีกให้เด็กไทยพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในอนาคตได้
นอกจาก 2 เรื่องใหญ่ที่ว่าไปแล้ว การศึกษาในยุคนี้จะต้องทำให้เด็กรักสิ่งยาก รักการทำงานหนัก ชอบความเหนื่อย แต่ไม่ใช่เป็นคนบ้างาน workaholic ลักษณะนั้นมันเป็นการบ้าความสำเร็จ คนละอย่างกันนะ อันนั้นมันเป็นไดรฟ์ที่เป็นเชิงลบนะ อยากมีตัวตน อยากมีชื่อเสียง ลาภยศสรรเสริญ ทำงานหนัก อย่างนั้นจะทุกข์ แต่อยากทำงานหนักเพราะอยากยืดศักยภาพ อันนี้ผมว่าบวก อยากทำของยาก อยากทำงานหนัก อยากลำบาก เพราะรู้สึกว่าตัวเองดีขึ้นแล้วมีความสุข อันนี้คือลักษณะที่เรียกว่าเป็นการศึกษา แล้วคือธรรมชาติของสมองด้วย สมองมันชอบเรื่องยากๆ เป็นธรรมชาติของมัน
สุดท้ายอาจารย์อยากส่งสารอะไรเกี่ยวกับเสรีภาพที่กำลังเป็นคำขวัญของยุคสมัย
เสรีภาพไม่ใช่เรื่องสำคัญอันดับหนึ่งในทางการศึกษาที่ต้องตั้งเป็นประเด็นโดดเด่นขึ้นมา ข้อจำกัดที่เหมาะสม ประกอบกับโจทย์ปลายเปิด จะปลุกเสรีภาพแห่งการสร้างสรรค์ที่มีอยู่แล้วภายในสมอง จิตใจและร่างกายของมนุษย์ขึ้นมา ส่วนการตั้งประเด็นให้เสรีภาพเป็นคติพจน์ มันเหมาะกับเวลาที่จิตใจเราชำรุด โดยเฉพาะเมื่อเซลฟ์ปัจเจกนิยมของโมเดิร์นที่มันผิดธรรมชาติมันทำให้เราป่วย แล้วความคิดเกี่ยวกับเสรีภาพก็อาจจะเป็นยามาบำบัดเยียวยาได้ มันเป็นคำขวัญที่ทำให้เรารู้สึกฟื้นฟูขึ้นได้ ในกรณีที่รู้สึกเจ็บป่วย หรือในมุมหนึ่งจะบอกว่าสังคมที่หมกมุ่นกับคติพจน์เรื่องเสรีภาพเป็นสังคมที่กำลังป่วยอยู่ก็ได้
คือผมมองว่าเวลามันป่วย มันก็เรียกร้องหาอะไรมาบำบัดความป่วยของมัน แต่อย่าลืมว่ายาบำบัดอาการทุกชนิดเป็นยาเสพติดที่ใช้ไปนานๆ จะดื้อยา ต้องเพิ่มโดสมากขึ้นๆ สุดท้ายป่วยมากกว่าเดิม
ทางที่ดีรีบออกจากเซลฟ์แบบแห้งแล้งขัดสนนี้โดยด่วน