- หนังสือ ‘Finnish Lesson 2.0′ บอกเอาไว้ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่สำเร็จของนักเรียน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นนอกโรงเรียน
- มีเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเกิดขึ้นในห้องเรียน
- ‘สอนน้อย เรียนรู้มาก’ คือคำแนะนำจาก ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก ผู้เขียนหนังสือบทเรียนแนวใหม่จากฟินแลนด์เล่มนี้
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
“ความผันแปรของผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยภายนอกโรงเรียน”
เป็นประโยคสำคัญเพื่อย้ำความสำคัญกว่าของการเรียนรู้นอกห้องเรียนจากหนังสือ ‘ปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ บทเรียนแนวใหม่จากฟินแลนด์: ‘ โดย ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก (Pasi Sahlberg) อดีตครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อารมณ์ดี นักวิชาการด้านการศึกษาฟินแลนด์ระดับเวิลด์คลาส เจ้าของหนังสือ ที่ได้รับการแปลกว่า 20 ภาษา
ปัจจัยภายนอกห้องเรียนได้แก่อะไรบ้าง
ปาสิ ยกตัวอย่าง การศึกษาและอาชีพของพ่อแม่ อิทธิพลจากเพื่อน และคุณลักษณะของนักเรียนแต่ละคน ต่อมาอีกราว 50 ปีให้หลัง งานวิจัยที่ศึกษาสาเหตุที่จะช่วยอธิบายคะแนนสอบของนักเรียนก็ให้ข้อสรุปว่า
“ความผันแปรของผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนมีเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เกิดจากปัจจัยในห้องเรียน”
หมายถึงครูและการสอนของครู ส่วนปัจจัยภายในโรงเรียน ได้แก่ บรรยากาศภายในโรงเรียน สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และภาวะผู้นำก็ส่งผลให้เกิดความผันแปรในตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า สองในสามของตัวแปรที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนอยู่เหนือความควบคุมของโรงเรียน
ผลสัมฤทธิ์อีกสองในสามมาจากกิจกรรมของ ‘ภาคส่วนที่สาม’ สาระส่วนนี้อยู่ในหัวข้อ ‘สอนน้อย เรียนรู้มาก’ (หน้า 194-195) เป็นส่วนขยายความและอธิบายว่าเมื่อโรงเรียนเลิกชั้นเรียนตอนบ่ายสองโมง หลังจากนั้นนักเรียนฟินแลนด์ไปทำอะไร
“นักเรียนฟินแลนด์ใช้เวลาเรียนที่โรงเรียนในแต่ละวันน้อยกว่านักเรียนในอีกหลายประเทศ ถ้าเช่นนั้น หลังเลิกเรียนเด็กๆ ไปทำอะไรกัน? ปาสิชวนตั้งคำถามและเฉลยเองว่า
โดยหลักการนักเรียนสามารถกลับบ้านได้ในตอนบ่าย เว้นแต่โรงเรียนจะจัดกิจกรรมอะไรให้ทำ โรงเรียนประถมศึกษาต้องจัดกิจกรรมหลังเลิกเรียนสำหรับเด็กเล็ก และโรงเรียนก็ควรมีชมรมทางวิชาการหรือสันทนาการให้นักเรียนชั้นที่โตกว่า
ทั้งนี้สมาคมเยาวชน และสมาคมกีฬาหลายแห่งของฟินแลนด์มีส่วนสำคัญมากในการหยิบยื่นโอกาสให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการในองค์รวม
สองในสามของนักเรียนอายุ 10-14 ปี และนักเรียนอายุ 15-19 ปี เกินกว่าครึ่ง สังกัดอยู่กับสมาคมเยาวชนหรือสมาคมกีฬาอย่างน้อยหนึ่งสมาคม เครือข่ายของสมาคมที่ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐเหล่านี้เรียกว่า ภาคส่วนที่สาม (Third Sector)
“พวกเขามีส่วนอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมและพัฒนาการเฉพาะบุคคลของเยาวชนฟินน์ และนับว่ามีคุณูปการอย่างสูงต่องานด้านการศึกษาของโรงเรียนฟินแลนด์ด้วย”