- ชวนไปคุยกับครูเฟียต – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดังกมล ณ ป้อมเพชร อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร ที่หยิบเอาวิชาการละครมาสร้างทักษะศตวรรษที่ 21 ให้กับนักศึกษา
- “ทักษะที่สำคัญที่เราพยายามพัฒนาผ่านกระบวนการละคร คือ 4Cs ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร (Communication) ทักษะการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) และทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) โดยเริ่มสังเกตจากเทอมก่อนหน้าว่ามีวิชาไหนที่ช่วยพัฒนา 4Cs ได้บ้าง ก็เลยมาลงเอยที่วิชา Drama Everyday ซึ่งเป็นวิชาเลกเชอร์ และ Acting 1 ซึ่งเป็นวิชาปฏิบัติ”
ในวงการละครเวที ‘ดังกมล ณ ป้อมเพชร’ เป็นชื่อที่อยู่ในละครเวทีหลายเรื่อง ในฐานะผู้กำกับ นักแสดง คนเขียนบท เช่น แมคเบธ นางฟ้านิรนาม และ Hedwig and the Angry Inch
ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ‘ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดังกมล ณ ป้อมเพชร’ เป็นรองคณบดีดูแลงานกิจการนิสิตและศิษย์เก่าสัมพันธ์ เขาให้นิยามสั้นๆ ว่านี่คือตำแหน่งที่คอยดูแลสารทุกข์สุขดิบของทุกคนในคณะตั้งแต่อาจารย์ นักเรียน ไปถึงแม่บ้าน
ในห้องเรียนละคร… ‘ครูเฟียต’ คือครูสอนละครที่สอนทั้งวิชาพื้นฐานการละคร วิชาการแสดง และวิชากำกับการแสดง ซึ่งเราเองก็เคยเจอครูเฟียตในห้องเรียนละคร ยังจำฉากหนึ่งของเรากับครูได้ขึ้นใจ วันนั้นครูมอบหมายให้ทุกคนวิเคราะห์บทละคร 1 เรื่อง ซึ่งบทละครที่เราอยากวิเคราะห์ไม่ใช่บทละครคลาสสิกเหมือนที่เพื่อนเลือก แต่เราติดใจเรื่องนี้มากๆ เลยเดินไปขอครูเฟียตและอธิบายเหตุผล ครูเฟียตยืนฟังนิ่งๆ แล้วอนุญาตอย่างง่ายดาย พร้อมตั้งคำถามต่างๆ ให้เรากลับไปขบคิด จนเรารู้สึกเข้าใจตัวเองมากขึ้นจากการทำงานนั้น
เราจำได้ขึ้นใจว่าครูคนนั้นใจดีและใจกว้างกับนักเรียนจังเลย
ในบทสัมภาษณ์นี้ เป็นอีกหนึ่งฉากของชีวิตที่เราได้โอกาสกลับมาพูดคุยกับครูคนหนึ่งที่ติดอยู่ในความทรงจำช่วงมหาวิทยาลัย ครูละครผู้เป็นต้นแบบของเราในตอนนี้ที่โตไปเป็นครูแล้วเช่นกัน
ฉาก ภายใน / โรงละครอักษร เย็น
ตัวละคร ครูเฟียต / มะขวัญ
– ภายในโรงละครทาผนังสีดำทุกด้าน บรรยากาศมืดทึม มีไฟเปิด 1 ดวง กลางเวที ครูเฟียตกับมะขวัญเดินเข้ามาในโรงละครด้วยกันและนั่งลงที่เก้าอี้ของผู้ชม
มะขวัญ ตอนนี้หนูเป็นครูแล้วนะคะ
ครูเฟียต คนบ้าๆ บอๆ โตไปเป็นครู สงสารเด็กจัง
มะขวัญ นี่ไงครู หนูถึงต้องกลับมาสัมภาษณ์ครู ว่าครูมีหลักการในการเป็นครูที่ดีของเด็กๆ ยังไง กับจะเอาวิชาละครไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนยังไง หนูจะได้เท่ๆ แบบครูบ้าง
ครูเฟียต จ้ะ ก็จะตอบเท่าที่จะมีสตินะจ๊ะ
มะขวัญ งั้นเริ่มสัมภาษณ์แล้วนะคะ
– มะขวัญกดบันทึกเสียง ครูเฟียตยิ้มให้และเริ่มการสนทนา
เส้นทางชีวิตครูละคร…เริ่มต้นยังไงคะ?
น่าจะเริ่มจากการที่เราชอบสอนอยู่แล้ว เพราะที่บ้านก็เป็นครูมาตั้งแต่รุ่นไหนๆ การอธิบาย ถ่ายทอด สื่อสารให้เข้าใจ มันเป็นสิ่งที่ทำได้โดยธรรมชาติ และเราก็สนใจด้านละครมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะคุณทวดทำสายละคร เราเคยอ่านบทละครตอนอยู่ประถมปลายแล้วลองเล่น มันรู้สึกว่านี่เป็นศาสตร์และศิลป์ที่มหัศจรรย์พันลึกมาก การได้ลองเล่นเป็นตัวละครต่างๆ ทำให้เรารู้จักคนอื่น และรู้จักตัวเราที่อยู่ในสถานการณ์ มิติ หรือเงื่อนไขอื่น
จำได้ว่าตอนนั้นอ่านเรื่องโพงพาง ของ ร.6 แล้วเล่นเป็นท่านเจ้าคุณ เรารู้สึกว่าเขาไม่เหมือนเราสักอย่าง แต่อ่านไปเจอสิ่งที่เราเชื่อมโยงได้แล้วรู้สึกว่า เห้ย เราก็มีบางส่วนที่มันเป็นแบบนี้ได้นี่หว่า ทั้งเรื่องนิสัย พฤติกรรมบางอย่าง การอ่านบทละครมันเลยทำให้เจอตัวเราอีกคนหนึ่งและเจอมนุษย์คนอื่นๆ อีกเยอะในละคร
เราเลยรู้สึกว่าศาสตร์นี้ใช่เลย จึงมาเรียนที่ภาควิชาศิลปการละคร อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนจบทำงานด้านละครไม่นานก็มาสอนที่นี่ แล้วไปต่อโท Master of Fine Arts (MFA) in Theater Directing, City University of New York City at Brooklyn College แล้วกลับมาสอนจนถึงตอนนี้…ก็เกือบ 30 ปีละนะ
นอกจากการได้ทำความเข้าใจมนุษย์ วิชาละครมันมหัศจรรย์พันลึกยังไงอีกคะ?
วิชาละครคือวิชาที่เรียนรู้มนุษย์ เลียนแบบมนุษย์ แล้วก็ทำให้มนุษย์รู้จักตัวเองและรู้จักคนอื่นผ่านภาพเสมือนเหล่านี้ สิ่งหนึ่งที่นักเรียนจะได้เรียนรู้จากวิชาละครคือการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพราะการทำละคร 1 เรื่องเราต้องทำงานเป็นทีม ต้องผสานทักษะความรู้ของแต่ละคนเข้าด้วยกัน ทำงานแบบ collaboration ดังนั้นทักษะที่สำคัญมากๆ คือการฟังคนอื่นให้เป็น การฟังนั้นมีประโยชน์มากๆ ในการทำงานสร้างสรรค์ ในการมีชีวิตเป็นมนุษย์
ห้องเรียนวิชาละครของครูเฟียตเป็นยังไงคะ?
การสร้างห้องเรียนเริ่มจากความเชื่อ เรามีความเชื่อในฐานะครูคนหนึ่งว่าห้องเรียนคือห้องทดลอง และในห้องนั้นมันไม่ใช่ครูกับนักเรียน เมื่อเข้าไปในห้อง acting ทุกคนคือนักแสดง เราเป็นผู้ฝึกการแสดง เขาได้ทดลอง ได้แชร์ ได้รู้จักตัวเอง ได้ฟังความคิดเห็นจากเพื่อน ได้เอาไปตกตะกอน แล้วเรียนรู้ตัวเอง ดังนั้นครูไม่ได้มีหน้าที่ไปสอน ครูมีหน้าที่สะท้อนสิ่งที่เขาทำได้ดีและสะท้อนสิ่งที่เขาควรจะพัฒนา มันเลยเป็นห้องที่ทุกคนได้เรียนรู้ชีวิตร่วมกัน
ยกตัวอย่างห้องเรียนการแสดง แต่ละวันก็จะมีแบบฝึกหัดที่ทำให้เด็กเข้าใจร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกของตัวเอง และมีบทละครให้เด็กได้ลองเล่น เด็กก็จะส่งซีนคือ ลองเล่นละครให้เราดู บางทีเขาเล่นเป็นฆาตกร โสเภณี โจร เราก็สอนให้เขาเข้าถึงบทบาทด้วยการเทียบเคียงประสบการณ์ ทำความเข้าใจตัวละครว่าเขามีความต้องการหรือเงื่อนไขอะไรที่คิดแบบนี้ ได้ฝึกทำความเข้าใจคนอื่น ฝึกเข้าถึงบทบาท ออกจากบทบาท และดูแลอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง ก่อนจบคาบก็มานั่งสะท้อนบทเรียนกันว่าแต่ละคนได้เรียนรู้อะไร
ทราบมาว่าครูสอนวิชาที่นำกระบวนการละครไปพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
ใช่แล้ว มันเริ่มจากการที่เราเห็นว่าเด็กอักษรหรือเด็กจุฬาที่เราสอนมามีเป้าหมายสูงในการเรียน และหลายคนมักไม่ได้พัฒนาทักษะชีวิตเท่าไหร่ คือเขาคงมีสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้วแต่อาจไม่ได้ถูกนำออกมาใช้ พอต้องออกไปทำงานจริงๆ แล้วอาจปรับตัวไม่ทัน เราเลยคิดว่าทักษะเหล่านี้มันน่าจะอยู่ในการเรียนการสอนได้นะ
ทักษะที่สำคัญที่เราพยายามพัฒนาผ่านกระบวนการละคร คือ 4Cs ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร (Communication) ทักษะการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) และทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) โดยเริ่มสังเกตจากเทอมก่อนหน้าว่ามีวิชาไหนที่ช่วยพัฒนา 4Cs ได้บ้าง ก็เลยมาลงเอยที่วิชา Drama Everyday ซึ่งเป็นวิชาเลกเชอร์ และ Acting 1 ซึ่งเป็นวิชาปฏิบัติ
กระบวนการเรียนการสอนในวิชา Drama Everyday ซึ่งมีนักเรียน 168 คน เราใช้วิธี blended learning คือมีทฤษฎีด้วย ปฏิบัติด้วย และ interactive ด้วย แต่ละวันเด็กก็จะได้เรียนพื้นฐานการละครและสื่อละครแบบต่างๆ แล้วเราจะตั้งประเด็นที่น่าสนใจ ให้เขาจับกลุ่มกันหาข้อมูล วิเคราะห์ ถกเถียง เกี่ยวกับประเด็นนั้นแล้วมานำเสนอ คือเราต้องเชื่อมั่นในตัวเขาว่าเขาจะหาข้อมูล ถกเถียง นำเสนอสิ่งที่ดีที่สุด เด็กก็จะได้ความมั่นใจในการเรียนรู้ งานไฟนอลโปรเจคต์เราให้เด็ก ‘ทำอะไรก็ได้’ อะไรก็ได้ที่ใช้ความรู้ของวิชานี้สื่อสารสิ่งที่กลุ่มของหนูอยากสื่อสารกับโลกใบนี้
โอ้โห มันสนุกมาก บางกลุ่มก็ทำเรื่องการกลั่นแกล้งในโรงเรียน บางกลุ่มทำเรื่องเพศ เรื่องการค้นหาตัวเอง การนำเสนอของเขาบางกลุ่มก็อยู่ในไอจี บางทีก็เป็นหนังหรือละครวิทยุ เราไม่จำกัดรูปแบบ ให้เขาทำสิ่งที่เขาอยากทำ สิ่งที่เขาสนใจ มันจะได้เกิดการเรียนรู้กับเขา เด็กก็สะท้อนว่าวิชานี้เปิดให้เขาได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน
ส่วน ACTING 1 คือการเรียนการแสดง แต่เราเน้นฝึกทักษะต่างๆ ผ่านการเล่นละครและสะท้อนบทเรียน มีแบบฝึกหัดหนึ่งเราให้เด็กสวมบทบาทไปคุยกับตัวเองวันที่เราเสียใจ วันที่ชอบตัวเอง หรือวันที่ไม่เข้าใจตัวเอง ลองไปคุยกับตัวเองอีกครั้งว่าทำไมเราทำอย่างนั้น เขาก็รู้ว่าความขุ่นข้องหมองใจฉันมาจากไหน เมื่อหมดแต่ละแบบฝึกหัดก็ได้แชร์กัน ได้สะท้อนว่าชั้นเจออะไร ได้ฟังคนอื่น ได้แสดงความคิดเห็น ได้ฟังอย่างมีวิจารณญานด้วย
แล้วถ้าวิชาอื่นๆ เช่น ภาษาไทย สังคม คณิตศาสตร์ จะเอาวิชาละครไปประยุกต์ใช้ สามารถทำได้ยังไงบ้างคะ
สมมตินะ ครูวิชาภาษาไทย ม.ปลาย อยากเอาละครไปใช้ หลักการมันง่ายมาก หยิบละครในบทเรียนมาสักเรื่อง แล้วทุกคนช่วยอ่านบท ตีความว่าเรื่องนี้พูดเรื่องอะไร หัวใจสำคัญที่ผู้เขียนอยากบอกคืออะไร โครงเรื่องคืออะไร แบ่งสองข้างตัวละครหลัก ตัวละครปะทะ แล้วลองเล่น เล่นเสร็จชวนเขามาอภิปราย สะท้อนบทเรียนว่าทำไมมันมีปัญหาแบบนี้ เขาเห็นใครหรือประเด็นไหนในชีวิตจริงมั้ย ในที่สุดต้องถอดปัญหาและพฤติกรรมในเรื่องว่าปัจจุบันมันมีรึเปล่า นี่คือวิธีการใช้ละครในการเรียนปกติ เราเรียนเพื่อรู้ว่ามันสะท้อนอะไร เรียนเพื่อเข้าใจตัวเอง เข้าใจปัจจุบัน เพื่อเกิดการพัฒนาชีวิตของแต่ละคน
ครูพูดถึงการเรียนเพื่อเข้าใจตัวเอง-เข้าใจสังคม บ่อยครั้ง นี่คือจุดเน้นของห้องเรียนของครูเฟี้ยตใช่มั้ย ทำไมการเรียนต้องไปถึงตรงนี้ อยากให้ครูทบทวนประสบการณ์การเป็นครูตลอดเกือบ 30 ปีนี้ มีเหตุการณ์ไหนที่เป็นจุดเปลี่ยนในการทำงานมั้ยคะ
เมื่อมาทำงานกิจการนิสิต เราพบว่าเราได้ใช้สิ่งที่เป็นครู เป็นผู้กำกับ เป็นนักการละครมาทำงานนี้หมดเลย เราต้องดูแลความทุกข์สุขทั้งหลายทั้งปวงของนิสิตทุกระดับไปจนศิษย์เก่ามากมาย นิสิตปัจจุบันก็เรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิต การเงิน พฤติกรรม อนาคต การเสริมทักษะให้เขาก่อนจะเรียนจบ มันเป็นงานส่งเสริม แก้ปัญหา พัฒนา ป้องกัน งานนี้ทำให้เราได้เจอตัวเองว่า เออ… เราได้ฝึกจิต เราได้ฝึกทักษะที่จะเป็นโค้ชมากขึ้น รับฟัง เข้าใจ ระดับลึกขึ้น
เมื่อก่อนตอนเป็นผู้กำกับ เราแก้ปัญหานี้กับนักแสดงหรือนิสิตเอกละคร ตอนนี้ก็กว้างขึ้นเป็นนิสิตทั้งคณะ ปัญหามันกว้างขึ้นและปัจจุบันก็ละเอียดซับซ้อนขึ้น เราเลยต้องส่งเสริมให้มีโครงการต่างๆ สร้างเสริมแบบแทรกซึมให้เขาไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ ตอนนี้เด็กอยากทำโครงการอะไรเราจะช่วยส่งเสริมให้ได้ทำ เช่น ประกวดอาหาร เราคิดว่าแต่ละโครงการคนที่ทำก็ได้ฝึกเป็นผู้นำ ผู้ตาม แก้ปัญหา ฝึกเผชิญหน้ากับความผิดหวังหรือฝึกรับคำวิจารณ์จากคนอื่น เราอยากฝึกความเป็นมนุษย์ให้พร้อมซึ่งจำเป็นมาก ไม่งั้นเขาจะไม่มีความยืดหยุ่นทางอารมณ์มากพอ จบแล้วเจอโลกทำงานจริงเขาไม่เสียเวลากับเรานักหนา เขาพูดตรงๆ ซึ่งบางทีถ้าเราทะนุถนอมเด็กเกินไป ไม่ปล่อยให้เขาเจ็บบ้างมันอาจไม่ทัน
เราคิดว่าจุดประสงค์สำคัญในการทำงานกิจการนิสิต คือช่วยให้เด็กได้เป็นตัวของตัวเอง ให้เขาเลือกสิ่งที่เขาอยากเป็น พอใจ ภูมิใจ เราช่วยสนับสนุนให้เขาได้ทำสิ่งที่เขาอยากทำ ให้เขาได้ทดลอง และเปลี่ยนได้ ถ้าทำอันนี้แล้วไม่เวิร์ก ไม่ชอบ ไม่ได้แปลว่าชีวิตแย่ ให้รู้ว่ามันไม่เหมาะกับเขา ให้เขาได้ทดลองทำอย่างอื่นจนเจอตัวเขาเอง
ถ้าเกิดครูทุกคนมีเวทย์มนต์ เวทย์มนต์ของครูเฟียตคืออะไร
เวทย์มนต์ของเรา คือการเป็นกระจก เพราะเราเอาไว้สะท้อน เขาสามารถเป็นอย่างที่เขาเป็น แล้วเราเป็นกระจกสะท้อนกลับไปว่าเขามีความดี ความงาม ความแข็งแกร่ง ความอ่อนโยน อ่อนแอ อะไรตรงไหนบ้าง ทำให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้น ให้มนุษย์ทุกคนได้เรียนรู้