- ละครจะใช้เพื่อพัฒนาคนได้อย่างไร คุยกันต่อกับครูอุ๋ย – ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง
- Creative drama (วิชาละครสร้างสรรค์) เป็นการเล่นละครที่ออกแบบกิจกรรมให้เด็กได้เล่น เช่น ออกกำลังร่างกาย ร้องเพลง เล่าเรื่อง แสดง เป็นต้น ทั้งหมดนี้เพื่อพัฒนาเด็กให้มีทักษะของการสื่อสารและมีสมาธิในการทำงาน เกิด critical mind (สำนึกในการวิพากษ์) วิพากษ์วิจารณ์เป็น
- ครูอุ๋ยไม่ได้ใช้ละครเพื่อพัฒนาเด็กอย่างเดียว แต่ขยายขอบเขตลงไปพื้นที่ต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน ซึ่งหลักการสำคัญของการทำละครเพื่อพัฒนาคน คือ การออกแบบกระบวนการที่ไม่ใช่แค่เล่นละคร ป้อนข้อมูลให้ผู้ชม แต่ต้องทำละครให้ผู้ชมสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ พร้อมกับทำความเข้าใจบริบท วิถีชีวิตของคนในพื้นที่
อ่านตอนที่ 1 Cultural Ecology(1): เครื่องมือทางศิลปะที่จับมือชุมชน เสนอศิลปะดั้งเดิมในเงื่อนไขใหม่ สร้างคนลูกผสมที่มี critical mind
เราเปิดบทสนทนากันด้วยลักษณะของผู้คนที่ทำงานอารักขาและพัฒนาวัฒนธรรมที่ประกอบไปด้วย guardian ผู้ปกป้อง สองเป็นผู้สร้างพื้นที่ แพลตฟอร์มให้คนมาเล่นละคร หรือเป็นผู้เชื่อมโยงให้คนทำงานวัฒนธรรมหลากหลายแบบเข้ามาเจอกัน ซึ่งคนเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญมหาศาลใดๆ เลย
ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง หรือครูอุ๋ย คือผู้หญิงใส่แว่นยิ้มหวานและโปรดปรานการละครมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ทำงานจิปาถะร้อยแปดพันอย่างข้างหลังเวทีจนไปเรียนต่อปริญญาโทด้านศึกษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยหลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา ก็ยังไปเรียนวิชาการละคร คิดคอร์สเอง ออกแบบแผนการสอนเอง ฝึกละครให้เด็กจิ๋วและม้วนต้วนอยู่ในศิลปะชนิดนี้เป็นเวลา 2 ซัมเมอร์
“ตอนเรียนที่อักษรฯ จุฬาฯ ได้มีโอกาสเรียนวิชาหุ่น ละครสำหรับเยาวชนทุกอย่างกับครูแอ๋ว รศ.อรชุมา ยุทธวงศ์ แล้วครูแอ๋วมีการนำละครให้เด็กกำพร้า เด็กพิการซ้ำซ้อนไปเล่นนู่นนี่ รวมทั้งยังมีรายการหุ่นหรรษาที่ออกทางช่อง 4 บางขุนพรหม ครูเลยได้ทำหลายอย่าง ทั้งเขียนบท ทำหุ่น ออกแบบฉาก
“ตอนไปเรียนการศึกษาที่เมืองนอก เราก็ต้องทำงานในห้องสมุด มีเงินจำกัด ภาควิชาละครของที่นี่จะเป็นภาคที่เล็กมาก มีอาจารย์คนเดียว แล้วเขาก็สอนให้ทำ ไม่ได้สอนทฤษฎีอะไร เขาให้เราอยู่กับ production เลย เราก็พยายามมาก ช่วงนั้นต้องไปดูงานละครเด็กที่ซีแอตเทิล นิวยอร์ก หรืออิลลินอยส์ที่เป็นเมืองใหญ่ๆ ตอนแรกเป็นนโยบายสำคัญของพ่อเลยที่ให้เรียนบริหารการศึกษา แต่ครูเรียนไปร้องไห้ไป พอโทรไปปรึกษาครูแอ๋ว ครูแอ๋วก็บอกว่าเธอควรจะสนใจวิชาละครเพราะเธอมีความสุขทุกครั้งที่อยู่หลังโรงละคร”
ครูอุ๋ยจึงระหกระเหินกับงานละครมาโดยตลอดทั้งในฉากชีวิตและฉากอาชีพ เป็นเบื้องหลังที่ช่วยผลักดันนักสร้างสรรค์การละครหลายรูปแบบ และเป็นนักวิชาการการละครที่ยังไม่หยุดเรียนรู้และพร้อมร่วมสมัยไปด้วยกันกับเด็กๆ จะบนเวทีหรือนอกเวที หรือในทุ่งนาก็สู้หมดใจ
เราพูดกันถึงเรื่องรูปแบบของละครที่คนนอกวงการอาจจะไม่คุ้นเคย เช่น Creative drama (วิชาละครสร้างสรรค์), Theatre for education (ละครเพื่อการศึกษา), Theatre of the oppress (ละครของผู้ถูกกดขี่) ซึ่งอธิบายรวมๆ ได้ว่าเป็นละครเพื่อการพัฒนา เนื้อหาทะลักออกมานอกเวทีเพื่อสร้างความคิดเชิงวิพากษ์ สื่อสารความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพื่อให้คนในชุมชนมองเห็นกันมากขึ้น จนนำไปสู่การศึกษาเรื่องนิเวศวิทยาทางวัฒนธรรม (cultural ecology) อย่างจริงจังในวัยทั้งก่อนและหลังเกษียณ
สิ่งที่ครูอุ๋ยหวังว่าจะเกิดขึ้นต่อจากนี้คือ The avengers เชื้อสาย ศิลปะวัฒนธรรมทั้งหลายที่จะสืบทอดการละครและศิลปะแขนงต่างๆ ไปสู่ชุมชนและโลกพื้นถิ่น จะปั่นการละครเข้ากับชีวิตและยกระดับความเปราะบางทางวัฒนธรรมอย่างไรให้แข็งแรง เล่นละครอย่างไรให้คนในชุมชนพัฒนาอย่างชื่นใจทั้งภายในและภายนอก
Creative drama ในยุคก่อนเป็นอย่างไร
ถ้าเรามองย้อนกลับไป 40 ปีที่แล้ว เมืองไทยยังไม่มี creative drama ชัดเจน ที่เห็นคือมีการเล่านิทานในรายการโทรทัศน์ขาวดำ หรือละครหุ่นมือ ฉะนั้นละครหรือกิจกรรมที่ใช้ในโรงเรียนสำหรับเด็กยังไม่มีใครทำเลย Creative drama เป็นการเล่นละครที่ออกแบบกิจกรรมเพื่อที่จะให้เด็กได้เล่นมากกว่าเพราะการเล่นก็ถือว่าเป็นการเรียน เช่น ออกกำลังร่างกาย ร้องเพลง เล่าเรื่อง แล้วก็แสดง ทั้งหมดนี้เพื่อให้เด็กมีทักษะของการสื่อสารและมีสมาธิในการทำงาน เป็นกระบวนการที่สามารถปรับได้ตามอายุของเด็ก ในเมืองไทยก็มีหลักสูตรนี้ แต่คุณครูอาจจะนำไปใช้ยากเพราะเรามีเส้นของศิลปะที่ไม่ได้เน้นความคิดสร้างสรรค์แต่เน้นศิลปะประเพณี ให้รำตาม ร้องตาม เด็กไทยเราเน้นเชื่อฟัง ถ้าเสียงดังเรามีจุ๊ๆ แต่จริงๆ แล้วมันมีวิธีการทำให้เด็กมีวินัย เป็นข้อตกลงร่วมกันโดยที่ครูไม่ต้องดุ ดังนั้นถึงครูจะเรียน Creative drama ไป แต่เขาจะควบคุมชั้นเรียนยากเพราะเสียงดังกวนคนอื่น
Creative drama มีแกนหรือวิธีการสอนอย่างไร
การเรียน Creative drama จะจบลงด้วยการ dramatization (การแสดงนาฏการ การเล่นเป็นละคร) การ dramatization ในโรงเรียนที่อเมริกา เขาจะหาหนังสือเด็กดีๆ มาอ่านให้เด็กฟัง วันนี้อ่านสองหน้า สามหน้า พออ่านไปแล้วก็ถามเด็กว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างนะ ใครอยากลองเล่นตัวละครตัวไหน ในแต่ละวันเด็กๆ จะสลับกันสวมบทบาท (เล่นตัวละครคนกันตลอด) ทุกคนได้เล่น บทบาทต่างๆ เป็นพระเอกบ้าง ต้นไม้บ้าง เป็นลมบ้าง ดังนั้นเด็กทุกคนก็จะมีความเข้าใจว่าจะเล่าเรื่องนี้ให้จบได้อย่างไร แล้วสุดท้ายก็มาถกเถียงกันว่าบทไหนที่เราเชื่อมากที่สุด แต่จะไม่พูดว่าคนไหนเล่นดีที่สุด
เราต้องทำให้เด็กมี critical mind (สำนึกในการวิพากษ์) วิพากษ์วิจารณ์เป็น ส่วนมากเด็กๆ ก็จะโหวตว่าชอบใครมากที่สุดในบทนี้ เพราะอะไร ทำไม เพื่อนบางคนมาเล่นเป็นตัวละครนี้แล้วเล่นดี ทำให้เกิด ecology ที่ทุกคนแบ่งปันกัน ถกเถียง แสดงทัศนะ ดังนั้นกิจกรรมละครเด็กที่มีลักษณะแบบนี้จะทำให้ทุกคนมีส่วนได้พูด–ได้ฟัง แล้วมองเห็นคนอื่น ขณะที่เขาอาจจะไม่ได้แสดงอะไรเลย แต่เขาก็อิน มีวินัยกับบทที่เป็นก้อนหินมากจนทุกคนอาจจะบอกว่าชอบก้อนหินก้อนนี้มากก็ได้ ซึ่ง Creative drama ของโรงเรียนในสหรัฐอเมริกาเขาใช้เพื่อพัฒนาคน
ละครเพื่อการพัฒนาคนที่ว่ามีการออกแบบมาเพื่อกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ หรือไปไกลจากความเป็นละครเด็กบ้างไหม
มี Theatre for Education ที่เป็น Political theatre (ละครทางการเมือง เราเรียกว่า การละครสะท้อนสังคม) เราสามารถพบเจอได้ที่ประเทศอินเดีย หรือแอฟริกา ที่เขาใช้ละครและ art form (รูปแบบทางศิลปะ) พื้นถิ่นเป็นสื่อสำหรับสื่อสารเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่น การทำละครในประเด็นยาเสพติดกับชุมชนเพื่อบำบัดหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเยาวชนในพื้นที่ อย่างคณะละครมะขามป้อมในไทยก็ใช้ละครเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และถกเถียงประเด็นที่สำคัญๆ
หรือที่ชัดเจนเลยจะมี Theatre of The Oppressed ซึ่งใน 30 ปีนี้ฮิตกันมาก เป็นการทำละครเพื่อสื่อสาร รับฟังผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดขี่ทำร้ายจิตใจ กิจกรรมส่วนใหญ่ เป็นการแบ่งปันเรื่องราว ด้วยการสร้างภาพนิ่ง เพื่อสื่อสารความทุกข์ ทดลองสลับบทบาทเพื่อนำเสนอความทุกข์ ให้เกิดการรับรู้ ผู้ที่มีอำนาจกดขี่ทดลองอยู่ในบทบาท และเงื่อนไขของผู้ถูกกระทำบ้างเพื่อเป็นการเรียนรู้ เข้าใจ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น เอาไปใช้กับผู้บริหารในองค์กรที่ทำงานกับบุคคลากรจำนวนมาก ให้เขาอยู่ในวิถีของผู้ถูกกระทำบ้าง ฝึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือความขัดแย้งภายในครอบครัว ระหว่างแม่ – ลูก ลองสวมบทเป็นแม่ ที่เกรี้ยวกราดกับลูก แล้วดูซิว่า ลูก หรือคนที่สวมบทบาทเป็นลูกจะโต้ตอบอย่างไร แล้วหยุดการแสดง ขอให้ผู้ชมลองคิด ลองแบ่งปันความคิดมาเล่นมาสวมบทบาท มาใช้ชีวิตตัวละคร เป็นการมีส่วนร่วมที่มากกว่าการตบมือ ตะโกน แต่เป็น ผู้แสดง เพราะว่าฉันเคยมีประสบการณ์และความทรงจำในเหตุการณ์ลักษณะนี้ อยากให้ทุกคนเห็นว่ามันมีทางอื่นที่จะแก้ไข ละครเหล่านี้จึงถูกนำไปใช้ในหลายมิติ ในการพัฒนา เปลี่ยนแปลงชุมชน ให้เกิดความเข้าใจ รับฟัง และร่วมมือกันมากขึ้น และเป็นละครที่ทะลักออกมานอกโรงละครจนได้
ครูก็เลยเรียนรู้ศาสตร์ละครในหลายแบบ ทั้งละครเด็ก และนำละครมาทำเพื่อการศึกษา พัฒนาชุมชน
มีละครแบบหลังสุด ที่เรียกว่า Applied theatre ละครประยุกต์ซึ่งเกิดประมาณปี 1990 คือการรวบรวมการละครที่อยู่นอกโรงละคร เป็นการสร้างงานเพื่อให้เกิด การเรียนรู้ การสื่อสารข้อมูล การรับฟังปัญหา และหาหนทางแก้ไข ละครประยุกต์ เป็นแพลตฟอร์มที่จะนำเสนอเรื่องราวที่แตกต่าง กิจกรรมละครมีเป้าหมายเพื่อการสื่อสาร และสร้างงานในแนวการพัฒนา เปลี่ยนแปลงสังคม มีการใช้ละคร หลายรูปแบบมาเล่า มาแบ่งปันเพื่อให้ชุมชนมองเห็น ข้อขัดแย้งและหาหนทางแก้ไข เวลาที่ออกไปทำละครในพื้นที่ที่ชุมชน เราจะไม่ค่อยมีผู้กำกับเท่าไหร่ แต่ใช้คำว่า facilitator แทน บ้านเราเรียก กระบวนกร ซึ่งจะต้องเป็นผู้วางแผน ค้นคว้าเรื่องราวให้สัมพันธ์กับวิถีชุมชน พยายามปรับ ตั้งคำถาม มีตัวละครที่เป็นแบบ Joker เป็นโต้โผที่จุ้นจ้านในขณะที่คนอื่นกำลังเล่นละครกันอยู่ สิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นองค์ความรู้ที่มองเห็นได้ จับต้องได้ แล้วมันเป็นละครที่ไม่ได้เข้าสู่สาย entertainment หรือสายอาร์ต แต่เข้าสู่สังคม มีลักษณะเป็นละครเพื่อการศึกษากับการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต แล้วมันก็จะเปิดพื้นที่ใหม่ซึ่งรวมศิลปะ สังคม และมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน
ครูเตรียมละครแบบไหนไปเล่นกับชุมชน
เวลาไปลงพื้นที่ชุมชน ถ้าเราจะเล่นละครที่มีเนื้อหาเรื่องสุขภาพฟัน แต่เด็กมีสุขภาพฟันดีมาก เด็กไม่กินลูกอม อาบน้ำในลำธารก็ไม่มีสบู่ ดังนั้นถ้าครูเตรียมเรื่องรักษาสุขภาพฟันไปในแบบของครู มันจะใช้ไม่ได้เลย ตายแล้ว เสร็จกัน ทำไงล่ะ? เลยคิดว่าเราคงต้องทำเรื่องทางวัฒนธรรม เราต้องทำเรื่องที่เป็นคุณค่าที่ไม่ว่าจะเป็นเด็กกรุงเทพฯ หรือเด็กที่เป็นผู้ชมเราจะนำไปใช้ได้ ดังนั้นถ้าเราลงพื้นที่ที่อีสานคราวต่อไป เราจึงลองทำเรื่องพญาคันคากรบพญาแถน ซึ่งเป็นเบสจากเรื่องเล่านิทานพื้นบ้านของภาคอีสาน หรือภาคเหนือ
งานวิจัยชิ้นแรกของครูก็เบสมาจาก เรื่องที่เป็นความเดือดร้อนของชุมชน การใช้ดนตรีอีสานที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คนเล่นเป็นเด็กภาคกลาง เด็กอีสานเป็นนักดนตรี มาแจมกัน ด้วยความที่เราไม่รู้จักอีสาน เราเลยไปทัวร์ตั้งแต่อุดรฯ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด จึงเป็นก้าวแรกที่ทำให้มาสนใจวัฒนธรรมว่า เราจะเล่าเรื่องวัฒนธรรมยังไงให้คนที่เป็นผู้ชมของเราสนุกไปกับเราด้วย
เราก็โฟกัสไปที่ความทรงจำของเขาที่อยู่ในชุมชนคืออะไร มีอะไรบ้าง
แล้วเราในฐานะที่เป็นคนนอก เราก็เอาเรื่องอีสานมาดูเลย เรื่องไหนบ้างที่กินใจ เช่น เรื่องทำให้คนอีสานสะเทือนที่สุด ก็คือเรื่องน้ำ เรื่องความแห้งแล้ง ความขาดแคลน การต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ละครเรื่องพญาคันคากกับพญาแถนเป็นคอนเซ็บของเรื่องนี้ทั้งหมด ชุมชนอินกับเรา ไม่ใช่แค่เฉพาะเด็กอย่างเดียว เพราะถึงแม้เราจะโฟกัสที่เด็ก แต่เวลาที่เราไปเล่นในหมู่บ้าน มันไม่ใช่เด็กเท่านั้น มีทั้งพ่อแม่ ปู่ย่าตายายมาดูด้วย
กระแสตอบรับจากชุมชนเป็นอย่างไรบ้าง
เราเป็นคนกรุงฯ เนอะ เราเล่นแค่ชั่วโมงน้อยๆ ซึ่งปู่ย่าตายายจะท้วงเลย ว่าเฮ้ย จบแล้วเหรอ เขาอยากดูสักสามชั่วโมง ซึ่งในศาสตร์ทางสากลของเราบอกว่าเล่นละครแค่ 45 นาทีก็พอแล้ว แต่ลุงกับป้าไม่ยอมกลับ เขาก็จะพูดคุย เล่นสนุก ซึ่งเป็นประสบการณ์ทางวัฒนธรรมของเขา ในฐานะคนเล่นเราก็ต้องรู้ว่าอย่างน้อยเตรียมสักสองชั่วโมงกว่าไปเลยถ้าเราจะเล่นกับชุมชน จัดกิจกรรมนู่นนี่ก่อนจะเริ่มเรื่อง เพราะนั่นเป็นวัฒนธรรมของเขา เป็นความทรงจำของเขา
แล้วเราเล่นกับความทรงจำของเขาอย่างไรบ้าง
เราต้องรู้จักว่าในความทรงจำของผู้ชมเราคุ้นกับอะไร มีระเบียบวิธีคิดแบบไหน หรือถ้าเป็นสมัยก่อน คือ ต้องไม่เล่นในเวลาที่มีละครเรื่องดาวพระศุกร์ ขึ้นอยู่กับว่าเราไปที่ไหน โทรทัศน์เข้าหรือยัง ถ้าเข้าแล้วเราต้องหลีกเลี่ยงที่จะเล่นละครในช่วงเวลาที่มีละครดาวพระศุกร์ (หัวเราะ)
ละครที่เราให้เขาเล่น บางทีก็ไม่จำเป็นต้องเป็นละครพื้นบ้าน?
เป็นละครพื้นบ้านที่มีรากมาจากเขาแต่ตีความใหม่ หรือแม้กระทั่งมีผสม critical mind ที่จะวิพากษ์วิจารณ์อะไรบางอย่าง เช่น เรื่องละครเรื่องพญาคันคากกับพญาแถน พญาแถนผู้ถืออำนาจใหญ่แกล้งโลกมนุษย์โดยไม่ส่งฝนให้ตกตามกาลเวลายาวนาน แต่คนที่เอาชนะพญาแถนได้คือ พญาคันคากที่ตัวเป็นปุ่มป่ำ และ สัตว์เล็กๆ พวกผึ้ง แมลง ขึ้นไปต่อยตาพญาแถนทำให้พญาแถนพ่ายแพ้ เพราะฉะนั้นนี่คือการ deconstruct (รื้อสร้าง) นิทานเก่า แต่เน้นที่การรวมพลังของสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย เป็นการวิพากษ์ผู้มีอำนาจด้วยละครพื้นบ้าน ถ้าเรามีอำนาจแล้วจะไม่ใส่ใจคนตัวเล็กตัวน้อยไม่ได้ ในฐานะที่เราเข้าใจระบบความคิดแบบตะวันตก เราสามารถที่จะนำประเด็นนี้มาใช้เพื่อเล่าเรื่องโบราณได้ แม้จะเป็นการตีความที่แตกต่างกันจากที่เคยมีมาก็ตาม นี่เป็นวิธีของคนสมัยใหม่ซึ่งเป็นคนที่อยู่ข้างนอกวัฒนธรรม เราจะใส่การวิพากษ์เข้าไปได้อย่างไรเพื่อให้สิ่งนี้ชัด แล้วให้คนดูรับรู้ได้ สิ่งเหล่านี้มันเป็นหน้าที่ของละคร
ซึ่งคนในชุมชนไม่จำเป็นจะต้องเข้าใจว่านี่คือการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจก็ได้?
เขารู้อยู่แล้ว เพราะนั่นคือสิ่งที่เขาถูกเก็บกดไว้ เขารู้อยู่แก่ใจ เพราะนี่คือความทรงจำหรือประสบการณ์ชีวิตของผู้ชม ป้าๆ คนอีสานเหล่านี้เขาเห็นเลยว่าผู้มีอำนาจทำอะไรไว้บ้าง แต่เรื่องเล่าเราผ่านศิลปะ มันเป็นละคร เราใช้หุ่นเงา เช่น หุ่นเงาที่เป็นพญาแถนเราใช้หุ่นเงาที่เป็นดวงตาใหญ่ๆ มองลงมา ผู้ชมเงียบเลยนะ เพราะนั่นคือความนามธรรมที่เป็นอำนาจที่จ้องลงมาที่ตัวเขา ฉะนั้น critical mind ที่อยู่ในละครมันทะลุจิตใจของผู้คนได้
ถึงแม้เราจะมีธงบางอย่างที่จะสื่อสารจากละครเรื่องนี้ แต่ทำอย่างไรให้มันไม่เป็นการสืบทอดวาทกรรมคนดี หรือสร้างการคิดแบบปลายเปิด
นี่เป็นเทคนิค ถ้าเราเล่าไปเรื่อยๆ แล้วสรุปแบบที่ละครส่วนใหญ่สรุปว่าอย่าทำแบบนี้เลยนะ นี่คือสิ่งที่เด็กๆ ต้องทำนะเพราะนี่คือคนที่คิดดี ทำดี อย่าทำตัวแบบนี้นะเพราะมันเลว เด็กก็มีแนวโน้มที่จะทำเลว
อย่างครูนี่ก็เป็นคนที่ครูหลายท่านก็จะเกลียดนะ เพราะครูบอกว่าถ้าประโยคแบบนี้ในตอนจบของการเล่นละครมันเวิร์ค มันจะไม่มีเด็กร้ายๆ หรอก ถ้าสิ่งนี้เวิร์ค ประเทศนี้ดีกว่านี้อีกประมาณห้าพันเท่า ดังนั้นเราไม่ควรสรุป อย่างละครตะวันตกจะมีวิธีคิดว่าละครเรื่องนี้มีสาระอะไร ในวิถีของศิลปะการละคร ต้องมองว่าเรื่องนี้ใครเป็นตัวหลัก ตัวหลักนี้ทำอะไรบ้าง มีอุปสรรคอะไรบ้าง และเมื่อตอนจบ ตัวละครหลักตัวนี้เปลี่ยนแปลงหรือค้นพบอะไรบ้าง
ในเมืองไทยเองก็รู้คอนเซ็ปต์นี้ แต่พอมาทำละครเอง เช่น ถ้าจะทำละครเรื่องสมเด็จพระนเรศวร ทุกคนจะเล่าตามเหตุการณ์ไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่าจะตั้งคำถามอะไรกับท่าน ทุกคนจะต้องมีความจงรักภักดีต่อท่าน ซึ่งโอเค เป็นละครรูปแบบหนึ่ง แต่มันจะต้องมีละครอีกหลายรูปแบบที่ไม่ใช่ละครเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน แต่เป็นละครที่เข้าใจเด็ก เข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ควบคู่กันกับในโรงเรียนที่จะบอกว่าเราควรจะมาดูแลกันนะ ไม่ควรจะมาบูลลี่ใส่กัน เราควรจะมีละครที่พูดว่าถ้าเด็กคนนี้จะมีเพศวิถีที่แตกต่าง มีวิธีการที่จะเอาเด็กที่มีความคิดต่างมาเล่าเรื่องและเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองไหม มีละครอีกหลายอย่างที่ไม่ใช่ละครประวัติศาสตร์หรือมุ่งสู่ความดีงาม เรายังมีละครที่เด็กๆ เขียนเองซึ่งมีคุณค่าเพราะเป็นการแสดงความรู้สึกของเขา
แต่พออยู่ในบริบทไทยที่มีกรอบของศาสนา เพศ วาทกรรมทางวัฒนธรรมที่มีเพดานของการวิพากษ์บางอย่างอยู่ แต่เราก็ไม่พูดเรื่องนี้ไม่ได้เพราะเด็กก็ต้องอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เราต้องสอนอย่างไร
ก็หาหัวใจของตัวละครให้ได้ ด้วยจินตนาการล้วนๆ เช่นละครประวัติศาสตร์ ลองคิดว่าถ้าเป็นเราอยู่ในสถานการณ์นั้น เราต้องเป็นอย่างท่าน เราจะเจออะไรบ้าง การเล่าก็จะเปลี่ยนไปเลยนะ แล้วเราจะเริ่มเข้าใจว่าเราจะต้องแก้ปัญหายังไงแทนที่จะบอกเล่าไปเรื่อยๆ เพราะบ้านเราคุ้นกับภาพสวยงาม สวยเป๊ะ ท่ารำเป๊ะ เสื้อผ้าเป๊ะ ผมเป๊ะ น้อยมากที่พูดเรื่องจิตใจมนุษย์หรือความทุกข์ใจและปัญหาที่ต้องเผชิญ เหมือนกับว่าเราไม่มี
การเชื่อมต่อทุกคนเข้าด้วยกันมันไม่น่าจะยากเพราะมันเป็นประสบการณ์ร่วม หาตัวนี้ให้เจอแล้วลองคิดว่าถ้าเราอยู่ในสถานการณ์นั้น เราจะจัดการกับมันอย่างไร มันคือวิธีการทำความเข้าใจตัวละครที่ทำให้ผู้คนแชร์ความรู้สึกนึกคิดได้ เพราะในความเป๊ะ เว่อร์วังอลังการ สวยเบ็ดเสร็จ มันมีความไม่สวย มีความทุกข์ มีความถูกกดทับและมีความพร่องอยู่ ดังนั้นถ้าเราได้แชร์สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้คนรู้สึกว่ามันมีสิ่งอื่นในชีวิตนอกจากความสวยงาม ความดี
แล้วจะส่งผ่านคุณค่าเหล่านี้ไปสู่ผู้คนอย่างไร
เช่น เรื่องรามเกียรติ์ในเวอร์ชันของคนไทลื้อ ซึ่งในเมืองไทย ตัวเอกจะเป็นทศกัณฐ์ คือตัวละครที่เกิดมาแล้วมี 10 หัว ถูกขับออกไปจากชุมชนแล้วก็กลับมาแก้แค้น ตัวละครทศกัณฐ์ก็จะเลวขึ้นเรื่อยๆ ละโมบมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นคนที่มีอำนาจมากที่สุด แต่เรื่องเหล่านี้ไม่จับใจเด็กเลย วิธีการเล่าก็คือถ้ามีเด็กไทลื้อในปัจจุบันถูกบูลลี่และถูกดูดเข้าไปในละครเรื่องนี้ ตัวละครตัวนี้ก็มาช่วยให้มีโอกาสทุกอย่าง ขอให้ทำตัวเลว และสนุกสนานกับสิ่งที่เลว และเด็กคนนี้ต้องตัดสินใจสู้กับผู้ร้ายด้วยตัวเอง เอาชนะมัน แล้วก็มีสติ นั่นคือวิธีการเล่าแบบละคร คือมีคอนเซ็ปต์ มีการเผชิญหน้า มีการหลงไป และคิดได้ เราเอาหัวใจของเรื่องเดิมมา ดังนั้นเด็กเล็กมาดูจะรู้สึกว่าภูมิใจในความเป็นไทลื้อจัง เราจะต้องไม่ยอมแพ้ต่อการถูกบูลลี่นะ แต่เราไม่ได้สอนแค่เรื่องบูลลี่เท่านั้น เราเน้นให้ทุกคนเอาชนะใจตน เหมือนกับที่บรรพชนของไทลื้อเล่าไว้ในตำนาน
จะทำเป็นละครที่เล่นกันเองก็ได้ หรือทำซีนหนึ่งเพื่อให้เกิดการพูดคุยปัญหาเรื่องนี้ เช่น ถ้ามีเด็กหญิง เด็กชายติดอยู่ในห้องๆ หนึ่งออกไม่ได้แล้วฝนมันตก เธอจะทำอย่างไรกับเด็กผู้หญิงคนนี้ แล้วก็ไม่ต้องเล่นต่อ จบ มาคุยกันหน่อย เราจะได้พบเจอความคิดเห็นหลากหลายจากเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย สิ่งที่สำคัญคือการฟังกัน ดังนั้นในวันที่มีโควิด – 19 กิจกรรมเหล่านี้สามารถพูดกันได้ในโรงเรียน เราจะเห็นว่าเด็กมีความคิดแตกต่างกัน เขาอาจจะไม่ได้เรียนจากคุณครูว่าเราต้องให้เกียรติคนนั้นคนนี้ เพราะในชีวิตจริงที่มีถุงยางอนามัยขายในเซเว่น สังคมมัน beyond กฎระเบียบของโรงเรียนจำนวนหนึ่ง เราก็ต้องยอมรับตรงนั้น ครูเองก็ต้องมองเห็นว่าเขาอาจจะไม่ได้อยากฟังครูหรอก เขาอาจจะอยากฟังเพื่อนเขาก็ได้
แนวความคิดที่จะนำไปสู่การพัฒนาละครและการศึกษาร่วมกันในชุมชนต้องเป็นแบบไหน
ครูมีคุณครูหมอลำที่แต่งเรื่อง แต่ลูกศิษย์ไม่อยากเล่าเรื่องโบราณ อยากเล่าแต่เรื่องการตีความสังคมที่เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเด็กเท่านั้น แต่ครูหมอลำท่านไม่ยอม บอกว่าหัวใจของมันคือส่วนนี้ เราก็ต้องเติมลงไป เพราะอย่าลืมว่าถ้าเราไปเล่นละครให้ชุมชนดู เราจะมาเล่าบางเรื่องไม่ได้เพราะนั่นคือความทรงจำร่วมกันของชุมชน ดังนั้นการทำกิจกรรมมันต้องมีแพลตฟอร์มให้ฟากเก่าและใหม่ได้พูดคุยและแสดงความเห็น สร้างงานมาแล้วลองเทสต์ดู ผู้ชมก็จะตอบเรา ซึ่งนี่เป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่จะสร้างระบบนิเวศน์ที่ดี เพราะทุกคนก็จะบอกว่าขอแสดงความเห็น ขอแจมนิดหนึ่ง แต่ถ้ามันกระทบกันอย่างแรงเราก็ไม่ต้องกลัวมัน ครูเห็นคนไทยชอบปกป้องว่าอันนี้ไม่ได้ขยับไม่ได้ ถ้าเราเปิดเป็นวิถีธรรมชาติ มันก็จะเป็นการฝึกฝนการถกเถียงโดยธรรมชาติด้วยเช่นกัน
ถ้าเราต่างคนสามารถนับถือกัน สร้างผลงานให้แข็งแรง มีตัวตนชัดเจนได้เมื่อไหร่ ก็จะไม่ใช้อำนาจเพื่อที่จะบอกว่าฉันมีความรู้บางอย่างของฉัน ฉันไปเมืองนอกมา ฉันรู้มากกว่าเธอ เราจะถ่อมตน ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องภูมิใจในการเป็นตัวของเราเองด้วย