- Creative Drama เป็นกิจกรรมที่ใช้กระบวนการละครและการตั้งคำถาม เป็นเครื่องมือในการชวนเด็กทำความรู้จักและเข้าใจตัวเอง (Self-Awareness)
- ครูกล้วย-หรรษลักษณ์ จันทรประทิน ออกแบบการเรียนรู้บนพื้นฐานของความเข้าใจ สนับสนุนให้เด็กกล้าคิด กล้าทำ และกล้าเป็นตัวเอง สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้โดยไม่ตัดสิน
- ปลายทางของ Creative Drama ไม่ได้หยุดอยู่แค่ ‘การรู้จักตัวเอง’ แต่เป็นประตูที่จะนำไปสู่การฝึกฝนและเก็บเกี่ยวทักษะต่างๆ เช่น การสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์
ครูกล้วย: หนูชอบสิ่งที่ตัวเองเป็นไหม
เด็ก: ไม่ชอบเลยที่ตัวเองขี้เกียจ
ครูกล้วย: แล้วความขี้เกียจให้อะไรเราบ้าง
เด็ก: ได้พักผ่อน
ครูกล้วย: แล้วหนูชอบพักผ่อนไหม
เด็ก: ชอบพักผ่อน
ครูกล้วย: งั้นก็แปลว่าหนูให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
ตัวอย่างบทสนทนาสั้นๆ ในกิจกรรม ‘Creative Drama’ ของ ครูกล้วย-หรรษลักษณ์ จันทรประทิน นักการสื่อสารการแสดงที่เชื่อว่า ‘ละคร’ เป็นมากกว่าแค่ ‘การแสดง’ แต่สามารถนำมาออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กได้รู้จักและเข้าใจตนเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ
“สำหรับเด็กๆ การมี Self-Awareness มันจะดีกับตัวเขาเอง ถ้ารู้จักตัวเองมากขึ้น เขาจะรู้ว่า ไม่ใช่เพราะฉันเป็นคนโกรธง่าย ฉันจึงโกรธง่ายไปเรื่อยๆ แต่จะเรียนรู้ว่าความรู้สึกนี้คืออะไร จริงๆ แล้วเราเป็นคนแบบไหน เขาจะมองเห็นตัวเองมากขึ้นและมีวิธีรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในแบบของตัวเอง”
ครูกล้วยกล่าวถึงหัวใจสำคัญของการใช้ ‘Creative Drama’ เพื่อปลดปล่อยความรู้สึกในใจ ผ่านการเล่นละครสมมติ ในงาน Wonder Life Playground ครั้งที่ 2 จัดโดย “I” Learning Center
ครูกล้วยเล่าว่าตนเองจบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง สาขาวิชาสื่อสารการแสดง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบได้มีโอกาสคลุกคลีในวงการละครเวทีและงานด้านการแสดงอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะจับพลัดจับผลูมาทำงานร่วมกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการทำค่ายภาษาอังกฤษ มาจนถึงการทำ ‘Creative Drama’ โดยหยิบเอาความรู้และเครื่องมือการละครบางส่วนที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เหมาะสมกับการรับรู้ของเด็ก
ครูกล้วยเน้นว่าเด็กแต่ละวัยมีความสามารถในการเรียนรู้แตกต่างกัน เด็กเล็กจะมีช่วงความสนใจสั้นและมีข้อจำกัดในเรื่องความเข้าใจโจทย์ หรือคำพูดระหว่างทำกิจกรรมมากกว่าเด็กที่โตกว่า โดยกลุ่มเป้าหมายในคลาสของครูกล้วย ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กประถม ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีความเข้าใจในเรื่องต่างๆ

Creative Drama เครื่องมือสำคัญในการดึงศักยภาพเด็ก
ย้อนกลับมาที่คำว่า ‘Creative Drama’ หลายคนอาจสงสัยว่ากิจกรรมหรือเครื่องมือนี้คืออะไร
ครูกล้วยอธิบายว่า “Creative Drama คือการใช้เครื่องมือทางกระบวนการละคร แล้วใส่ความ Creative หรือความคิดสร้างสรรค์เข้าไปผ่านการออกแบบเซคชั่นต่างๆ ในการทำกิจกรรมที่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมต่อช่วงวัยและการเรียนรู้ของเด็ก สามารถสร้างสรรค์อย่างไรก็ได้ให้ตรงกับความต้องการของทั้งตัวเราเองและกลุ่มเป้าหมาย จะนำมาสร้างสรรค์ร่วมกับนิทานที่มีอยู่แล้วก็ได้ เพราะนิทานหนึ่งเรื่องมี Message หรือประเด็นที่ต้องการสื่อสารอยู่แล้ว แค่ต้องใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปโดยการเพิ่มเติมหรือลดทอนบางสิ่งบางอย่าง เพื่อให้มีความเป็นละครมากขึ้น ดังนั้นเราไม่ได้ให้เด็กมาเล่นละครอย่างเดียว แต่ให้ฝึกใช้เครื่องมือการแสดง เขาจะซึมซับมันด้วยตัวเอง ในบางครั้งเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งนี้คือเครื่องมือการแสดง
สิ่งที่เขาได้กลับไปมีมากกว่าการฝึกฝน แต่คือ‘การรู้จักตัวเอง’ มากขึ้น แค่จุดนี้จุดเดียวสามารถนำไปสู่ทักษะอื่นๆ อีกมากมายต่อไปในอนาคต”
การรู้จักตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เรียกได้ว่าเป็นหัวใจหลักของการทำ Creative Drama ก็ว่าได้ ครูกล้วยแสดงความคิดเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยไหน บางครั้งเราหาตัวเองไม่เจอหรือแม้กระทั่งบางคนที่เคยเจอแล้วก็อาจทำตัวเองหล่นหายไปในบางคราว ซึ่ง Creative Drama ให้เวลาเราในการตกตะกอนเพื่อทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นแม้สักนิดนึงก็ยังดี และยังช่วยให้คนที่ทำตัวตนหล่นหายระหว่างทางกลับมารู้จักตัวเองอีกครั้ง

‘พื้นที่ปลอดภัย’ คือบันไดขั้นแรกสู่ความกล้าเป็นตัวของตัวเอง
คลาสของครูกล้วยเริ่มด้วยการให้เด็กๆ พยายามทำความรู้จักกันก่อน เพื่อให้ทุกคนรู้สึกกลมกลืนและลดช่องว่างระหว่างกัน หากเด็กทุกคนรู้จักและคุ้นเคยกันอยู่แล้วถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเด็กมาจากคนละที่ ไม่มีใครรู้จักกัน เมื่อต้องมาอยู่ในพื้นที่เดียวกันการ Ice Breaking ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้กิจกรรมไปต่อได้
“ถ้าไม่มีการละลายพฤติกรรมในกลุ่มคนที่ไม่ได้รู้จักกัน มันจะยากมากกับการไปต่อ ถ้าเขามีกำแพง เขาจะไม่เปิดรับอะไรเลยและไม่กล้าที่จะดึงความเป็นตัวเองออกมา สิ่งที่ต้องทำคือให้เขาทะลายกำแพงของตัวเองลงก่อน ไม่ได้หมายความว่าให้มันหายไปหมดนะ เพราะว่าไม่มีใครสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยภายในดีดนิ้วเดียว แต่เราชวนให้เขาพยายามสร้างพื้นที่ตรงนี้ร่วมกัน ทุกคนมีความพยายามของตัวเองเพื่อทำให้มันเป็นพื้นที่ของ ‘พวกเรา’ ให้ได้”
ครูกล้วยชี้ให้เห็นว่าบันไดขั้นแรกคือ ‘การสร้างพื้นที่ปลอดภัย’ เมื่อเด็กรู้สึกว่าตรงนี้คือพื้นที่ของตัวเอง เขาจะ ‘กล้า’ ดึงความเป็นตัวเองออกมา เธอย้ำกับเด็กๆ เสมอว่า นี่คือพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนกล้าคิด กล้าทำ กล้าเป็นตัวเอง โดยครูจะคอย ‘รับฟัง’ และสร้างความเข้าใจว่ามีโอกาสให้เขาได้ลองทำในขอบเขตพื้นที่ตรงนี้เสมอ
ชวนเด็กขยับร่างกายและความคิด ปลดปล่อยพลังแห่งจินตนาการ
ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นพื้นที่เปิด หากให้เด็กเข้าสู่พาร์ทของการทำกิจกรรมในทันที บางคนยังไม่มีความพร้อมขนาดนั้น ยังไม่มีสมาธิมั่นคงพอจะโฟกัสกับการทำกิจกรรม และอาจถูกสภาพแวดล้อมรอบตัวทำให้เสียสมาธิได้ง่าย ท้ายที่สุดเขาจะหลุดโฟกัสกับสิ่งที่ทำตรงหน้า ยิ่งไปกว่านั้นเด็กๆ ยังมีพลังล้นเหลือ เธอจึงเลือกให้เด็กใช้ ‘ฐานกาย’ เคลื่อนไหวร่างกาย ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่กล้ามเนื้อมัดเล็กผ่านการวิ่ง ขยับตัว เพื่อปลดปล่อยพลังในตัวออกมาให้หมด จะทำให้เขาสามารถสร้างสมาธิและโฟกัสได้ดียิ่งขึ้น
หลังจากปลดปล่อยพลังกายก็ถึงเวลาของการปลดปล่อยพลังแห่งจินตนาการ ครูกล้วยเลือกใช้กิจกรรมระบายสี โดยสิ่งที่เด็กได้ระบายจะเชื่อมโยงกับนิทานหรือเรื่องราวที่ดีไซน์ไว้ ยกตัวอย่างเช่น วันนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับดอกไวโอเล็ต เด็กๆ จึงได้ระบายสีดอกไม้ของตัวเองสำหรับใช้ในเซคชั่นต่อๆ ไป ทุกคนมีอิสระในการเลือกสีที่ใช่ บรรยากาศที่ชอบ สามารถเลือกสีและพื้นที่นั่งระบายตามความต้องการด้วยตัวเอง แต่มีโจทย์สำคัญคือ ระบายสียังไงก็ได้ให้ตัวเองชอบ โจทย์นี้ดูเหมือนว่าจะเป็นโจทย์ง่ายๆ แต่แท้จริงแล้วมีกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เด็กเข้าใจตัวเองซ่อนอยู่
ซึ่งเด็กบางคนตั้งคำถามว่า “ไม่รู้ว่าตัวเองจะชอบไหม” ครูกล้วยจึงต้องกระตุ้นให้ค่อยๆ ‘ลอง’ ทำดูก่อน ทดลองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชอบและพอใจในผลงานของตัวเอง บางคนระบายสีเสร็จแล้วแต่ยังลังเลเมื่อถูกถามว่า “หนูชอบแล้วหรือยัง” ดังนั้นต้องให้เวลาแก่เด็กๆ เพื่อค้นหาคำตอบที่ใกล้เคียงกับคำว่า ‘ชอบ’ ในแบบของตัวเองเท่าที่จะทำได้
โจทย์ต่อไปคือ การตั้งชื่อดอกไม้ที่สะท้อนความเป็นตัวเองมากที่สุด พูดง่ายๆ คือต้องมีคุณสมบัติของตัวเด็กอยู่ในชื่อดอกไม้ ครูกล้วยจะค่อยๆ ไล่คำถามง่ายๆ เพื่อกระตุ้นให้เด็กคิดและเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองไปในตัว ตัวอย่างคำถามเช่น “ปกติชอบทำอะไร” “การที่เราชอบสิ่งนี้มันบอกอะไรเราบ้าง” เด็กๆ จะได้ย้อนกลับมามองตัวเองและตั้งคำถามโดยใช้ประสบการณ์เดิมตกตะกอนความคิดออกมาเป็นคำตอบ
ในกรณีที่เด็กเขียนบางคุณสมบัติออกมาแล้วเขาไม่ได้ชอบมัน เช่น บางคนบอกว่าตัวเองเป็นคนขี้เกียจ ครูกล้วยจะเน้นการปรับมุมมองให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับคุณสมบัตินั้นๆ

(บทสนทนาที่ครูกล้วยยกตัวอย่าง)
ครูกล้วย : หนูชอบสิ่งที่ตัวเองเป็นไหม
เด็ก : ไม่ชอบเลยที่ตัวเองขี้เกียจ
ครูกล้วย : แล้วความขี้เกียจให้อะไรเราบ้าง
เด็ก : ได้พักผ่อน
ครูกล้วย : แล้วหนูชอบพักผ่อนไหม
เด็ก : ชอบพักผ่อน
ครูกล้วย : งั้นก็แปลว่าหนูให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
บทสนทนานี้สะท้อนให้เห็นว่า วิธีสร้างการเรียนรู้ที่ครูกล้วยใช้คือ ‘การไม่ตัดสิน’ ว่าคุณสมบัติแบบไหนเรียกว่า ‘ดี’ หรือ ‘ไม่ดี’ แต่เป็นการให้เด็กพยายามตั้งคำถามและตอบคำถามนั้นด้วยตัวเองมากกว่า เพื่อให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองมากขึ้น ไม่สร้างความรู้สึกลบต่อตัวเอง และสร้างความเข้าใจร่วมกันว่าลักษณะนิสัยมนุษย์เปลี่ยนแปลงได้เสมอ
ส่วนถัดมาจะเข้าสู่กระบวนการเล่นละคร เด็กๆ จะได้ลองสวมบทบาทตัวละครในเรื่อง มีการปล่อยโจทย์ด้วยคีย์เวิร์ดง่ายๆ ให้เด็กเข้าใจและลองทำตาม โดยที่เขาไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่คือการเล่นละคร ครูกล้วยเปิดโอกาสให้มีการสลับบทบาทกันหลายครั้ง เพื่อให้เด็กได้ลองเปลี่ยนคาแรกเตอร์หลายๆ แบบ


เติมคลังคำศัพท์ ลองสวมหลายบทบาท เพื่อสะท้อนคิดเข้าใจตัวเอง
กระบวนการ Creative Drama ในคลาสครูกล้วย เริ่มต้นตั้งแต่บันไดขั้นแรกมาจนถึงขั้นสุดท้าย ทุกขั้นตอนสนับสนุนให้เด็กรู้จักตัวเอง มีความเข้าใจในตัวเองมากขึ้นผ่านการใช้ความคิดและลงมือทำ โดยภาพรวมแล้วหากถามว่า กระบวนการละครทำให้เด็กรู้จักตัวเองอย่างไร ครูกล้วยสรุปให้ฟังว่า
“ในการละครจะมีสิ่งที่เลือกว่า ‘คาแรกเตอร์’ การจะมาทำความเข้าใจบทบาทนั้นๆ ได้ดี มันคือการที่เราพยายามยอมรับเพื่อรับรู้ว่ามันมีคำว่า ‘กล้าหาญ’ ‘ใจดี’ ‘มีน้ำใจ’ ‘ขี้แกล้ง’ อยู่นะ เป็นการเติมคลังคำศัพท์และสร้างความเข้าใจคาแรกเตอร์ใหม่ๆ เราอยากให้เขารับรู้ว่า ถึงแม้วันนี้เขาเป็นอย่างนี้แต่นี่ไม่ใช่ตัวเขาตลอดไป วันนี้อาจจะเป็นคนขี้แกล้ง แต่มันไม่ได้แปลว่าเขาต้องเป็นอย่างนี้ไปทุกวัน เพราะจริงๆ แล้วคนเราก็เปลี่ยนแปลงตลอด แต่อยากให้เขารู้จักว่า มันมี Wording นี้อยู่ในพจนานุกรมของฉันนะ”
นอกจากนี้ส่วนสุดท้ายของกิจกรรมเป็นการนั่งล้อมวงสะท้อนคิด เด็กทุกคนจะมาแชร์ความคิดและความรู้สึกหลังเล่นละคร พูดคุยกันว่าใครชอบคาแรกเตอร์ไหนที่สุด เพราะอะไร ครูกล้วยจะค่อยๆ ถามให้เขาได้ย้อนคิดและวิเคราะห์ตัวเอง หลังจากได้ทดลองคิด ทดลองทำและสำรวจความต้องการของตัวเอง ท้ายที่สุดเด็กจะมีความเข้าใจตัวเองมากขึ้น โดยมีครูคอยช่วยเหลืออยู่ข้างๆ
ปลายทางของ Creative Drama คือการเปิดประตูรับทักษะอื่น
‘การรู้จักตัวเอง’ ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการทำ Creative Drama แต่เป็น ‘ประตู’ ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ ฝึกฝนและเก็บเกี่ยวทักษะใหม่ๆ ครูกล้วยแชร์ให้ฟังว่าทักษะที่เธอปรารถนาให้เด็กทุกคนได้รับหลักๆ มี 3 อย่างด้วยกัน ทักษะแรกคือ Critical Thinking ที่เด็กเรียนรู้จากการวิเคราะห์ตัวเองจากบทบาทต่างๆ ที่ได้รับ
“ถ้าถามว่าทำไมถึงชอบคาแรกเตอร์นี้ เด็กบางคนอาจจะค้างไปเลย เราก็จะพยายามถามต่อเพราะอยากให้เขาลองวิเคราะห์ตัวเองดู แต่เราจะไม่ตัดสินว่าสิ่งที่เขาเป็นมันถูกหรือผิดนะ แค่อยากให้เขาหาเหตุผลหรือความเชื่อมโยงกันได้ แค่นั้นเราก็พอใจแล้ว”
ถัดมาคือความคิดสร้างสรรค์หรือ Creativity จินตนาการของเด็กสะท้อนออกมาผ่านคำพูดและการกระทำระหว่างทำกิจกรรม เมื่อปล่อยให้เด็กทำอะไรในจังหวะของตัวเอง เขาจะคิดของเขาเองว่าควรทำสิ่งนี้ในเวลานี้ ครูกล้วยอธิบายว่า “การที่เล่นละครอยู่ดีๆ มีน้องบอกว่าผมอยากเป็นสัตว์ประหลาด อยากจะลองทำอย่างนั้น อย่างนี้ ทำให้เรามองว่าสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นความสำเร็จในเรื่อง Creativity มาก เพราะเราเปิดพื้นที่ให้เขาอย่างเต็มที่”
สุดท้ายคือ Communication การสื่อสารระหว่างกันเป็นอีกทักษะที่จำเป็นในการสร้างความเข้าใจทั้งตัวเองและผู้อื่น คลาสของครูกล้วยกระตุ้นให้เด็กกล้าสื่อสารความคิดและความรู้สึกตัวเองออกมาผ่านการพูดคุยในวงสนทนา ตั้งแต่การแนะนำตัว การแสดงละคร ตลอดจนพาร์ทการสะท้อนคิด

นอกจากเราจะให้อะไรแก่เด็ก เด็กก็ยังให้อะไรแก่เราด้วย
ครูกล้วยเรียนรู้หลายอย่างหลังจากได้ลงมาทำงานกับเด็กโดยตรง เธอให้ความเห็นว่า การสื่อสารกับเด็กเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ สำหรับผู้ใหญ่เราสามารถให้ฟีดแบ็กโดยตรงได้ แต่สำหรับเด็กเขาไม่ได้มีความสามารถมากพอที่จะมานั่งวิเคราะห์ได้เหมือนผู้ใหญ่
“มันไม่ใช่เรื่องการทำลายจินตนาการ แต่มันเป็นเรื่องการทำลายความมั่นใจของเขามากกว่า”
บาง Wording ที่พูดออกไปทำให้เด็กบางคนรู้สึกแย่และสูญเสียความมั่นใจ ครูกล้วยเองเคยเผลอพูดบางคำที่อาจไปกระทบความมั่นใจของเด็กบางคน เธอจึงเน้นย้ำว่า “เราต้องกลับไปรับผิดชอบคำพูดของเรา ต้องพยายามหาวิธีที่ดีที่สุดที่สามารถแก้ไขสถานการณ์ในตอนนั้น”
การมายืนอยู่จุดนี้ทำให้เธอเปิดมุมมองใหม่ เห็นเฉดสีที่หลากหลายของตัวเองมากขึ้น เรียนรู้จากประสบการณ์ในการเลือกใช้คาแรกเตอร์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับเด็กที่มีบุคลิกแตกต่างกัน รู้จักสังเกตและพร้อมปรับเปลี่ยนกระบวนบางอย่างเพื่อให้เด็กสนุกและสบายใจตลอดการเข้าร่วมกิจกรรมมากที่สุด
สำหรับครูกล้วย Creative Drama ทำงานกับความคิดและความรู้สึกของตัวเธอเองและเด็กๆ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ที่สำคัญยังเป็นพื้นที่ชวนให้เด็กทบทวน ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเองอีกด้วย
“Creative Drama ชวนให้เรากลับมารู้จักตัวเอง กล้าจินตนาการ กล้าขยับ กล้าที่จะลองเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ให้เด็กได้กลับมาวิเคราะห์ตัวเอง” ครูกล้วยกล่าวทิ้งท้าย