- วิชาแนะแนวของ ‘ครูหยกฟ้า’ ขอเรียกว่า จิตวิทยาเพื่อการดำรงชีวิต
- นักเรียนทั้ง 216 ชีวิต ต้องได้เจอและพูดคุยกับครูอย่างน้อยคนละ 1 ชั่วโมง, ไม่รวมคาบจริงจังอีกสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง, พูดคุยเจาะลึกแบบกลุ่มเล็ก 4-6 คนนอกเวลาเรียน แสดงว่าทุกระดับชั้น เด็กๆ จะได้เจอและคุยกับครูแนะแนวแบบตัวต่อตัว
- ไม่ได้ทำงานแค่เฉพาะกับเด็ก แต่ถ้าเด็กๆ มีปัญหากับผู้ปกครอง ครูแนะแนวหยกฟ้าพร้อมต่อสายตรง
- หน้าที่แนะแนวการศึกษาต่อมหาวิทยาก็สำคัญ นักเรียนต้องเตรียมจัดอันดับคณะไล่ตาม อันดับ 1, อันดับรอง และ อันดับปลอดภัย “เขาจะต้องเลือกสิ่งที่รู้สึกอยากได้มากเป็นความฝัน กับสิ่งที่มันพอดีกับความสามารถศักยภาพของเขา กับสิ่งที่ safe ปลอดภัยจริงๆ”
“ครูคะ หนูไม่รู้จะเรียนอะไรค่ะ” เป็นคำถามที่ คุณครูไพลิน ลิ้มวัฒนชัย หรือ ‘ครูหยกฟ้า’ คุณครูวิชาแนะแนวเพียงคนเดียวในโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ต้องตอบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 นับตั้งแต่ทำงานมา 2 ปีหลังจากจบปริญญาโทด้านจิตวิทยาการปรึกษาโดยตรง
โรงเรียนอื่นอาจเรียกว่าวิชาแนะแนว แต่โดยชื่อวิชาจริงๆ ครูหยกฟ้าเรียกว่า Psychology in Everyday Life หรือ จิตวิทยาเพื่อการดำรงชีวิต
“เราไม่ได้เน้นให้ข้อมูลเรื่องการเรียนต่อหรือความถนัดทางอาชีพอย่างเดียว เราสอน Life Skill เช่น Stress Management, Time Management หรือ Teenager in Love ฯลฯ เพราะเราอยากให้วิชาแนะแนวปรับไปใช้ได้ในชีวิตจริงๆ เลยชื่อวิชานี้ค่ะ”
เด็กนักเรียนกว่า 200 คน ต่อ คุณครูแนะแนวเพียง 1 คน อาจจะดูเป็นไปไม่ได้ในการทำงานจริง แต่สำหรับครูหยกฟ้า ยิ้มน้อยๆ แล้วพูดนิ่มๆ ว่า “ทำได้ค่ะ”
ทำได้ในความหมายของคุณครูคือ นักเรียนทั้ง 216 ชีวิต ต้องได้เจอและพูดคุยกับครูอย่างน้อยคนละ 1 ชั่วโมง ไม่รวมคาบจริงจังอีกสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง และการพูดคุยเจาะลึกแบบกลุ่มเล็ก 4-6 คนนอกเวลาเรียน แสดงว่าทุกระดับชั้นเด็กๆ จะได้เจอและคุยกับครูแนะแนวแบบตัวต่อตัว
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อตอบคำถามเด็กๆ ให้ได้ว่า “หนูจะเรียนอะไร” และจะเอายังไงต่อกับชีวิตดี
ย้อนกลับไปสมัยเด็กๆ วิชาแนะแนวที่ครูหยกฟ้าเคยเรียนมาเป็นอย่างไร
จำได้ว่าเอาการบ้านขึ้นมาทำ เราจะปล่อยเวลาให้สูญเปล่าไม่ได้ (ยิ้ม) เลยรู้สึกว่าคาบนี้เป็นวิชาที่เบาสบายค่ะ รู้สึกว่าไม่ใช่วิชา แต่เป็นหลักสูตรที่โรงเรียนจัดขึ้นมาตามโครงสร้างของกระทรวงศึกษาฯ แต่การลงมือทำจริง ไม่มีการตรวจว่านักเรียนได้อะไรจากวิชานี้จริงๆ และไม่มีการวัดผล
จำได้ว่าครูให้กระดาษมาแล้วเราก็มาติ๊กๆๆ ทำแบบสอบถาม เช่น กินไอศกรีมแบบนี้ อ่านหนังสือแบบนี้ จะเป็นคนยังไง รู้แล้วก็จบ หรือไม่คุณครูก็มาเล่านิทานให้ฟัง จำได้แค่นั้นจริงๆ ถ้ามีเนื้อหาหน่อย ครูก็จะบอกว่าเป็นหมอ เป็นตำรวจ ต้องทำงานแบบไหน ให้ข้อมูลเบื้องต้นของแต่ละอาชีพ
แล้วบางทีคุณครูก็จะชอบเล่าเรื่องผี มีความทรงจำหลายๆ ครั้งที่คุณครูใช้คำพูดที่รุนแรงด้วยซ้ำเวลาที่เราไม่ทำตาม เราเลยมองว่าคุณครูแนะแนว ไม่น่าจะให้คำปรึกษาหรือให้ความรู้สึกอบอุ่นใจกับเราได้ พอตัวเองโตขึ้น ได้เรียนรู้มากขึ้น ก็คิดว่า ถ้าเราทำเอง เราจะไม่ทำแบบนั้น
แล้วตอนนั้นตั้งใจจะเป็นครูแนะแนวแบบไหนคะ
ถ้าเราได้เป็นครูแนะแนว เราก็อยากจะเป็นคนที่ให้นักเรียนรู้สึกว่า เขาได้ประโยชน์จากการมาเจอเรา ให้เขามีความสุขมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ทุกข์ไปมากขึ้นจากการมาเจอเรา
พอได้มาเป็นครูแนะแนวจริงๆ คุณครูหยกฟ้าสอนวิชานี้อย่างไร
เราสอนเป็นวิชาแบบจริงจังเลยนะคะ มีเกรดให้ด้วย (โรงเรียนกำเนิดวิทย์เปิดสอนเฉพาะ ม.4-ม.6)
เริ่มที่ ม.4 ครูจะต้องเข้าหานักเรียน ครูจะพยายามร่วมกิจกรรมก่อนที่เจอนักเรียนให้มากที่สุด มีช่วงหนึ่งที่เรียกว่า presetional นักเรียนจะเริ่มเข้ามาเตรียมพร้อมก่อนจะเรียน ม.4 ช่วงเวลานี้ครูจะเข้าไปปะปนพูดคุยแล้วก็ทำกิจกรรมค่ะ เราจะสร้างกิจกรรมที่ชื่อว่าการอบรมจิตวิทยาเพื่อการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียน ช่วงเวลานั้นประมาณ 2-3 วัน ครูฟ้าก็จะได้อยู่กับนักเรียน สังเกตนักเรียน พอเขาเริ่มเข้ามาปุ๊บ จะมีการคุยกันตัวต่อตัว ครูก็จะมาแบบ เป็นไงบ้าง มีเพื่อนรึยัง อาหารโรงเรียนอร่อยไหม
ม.5 เทอม 1 มีคาบแนะแนว 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นคาบวิชา Psychology in Everyday Life จริงจัง เราสอนให้นักเรียนรู้จักจิตวิทยาที่อยู่รอบตัวในชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องการรู้จักตัวเอง การจัดการความเครียด จัดการเวลา การปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น และการเท่าทันสื่อออนไลน์ นอกจากครูจะสอนแล้ว นักเรียนทุกคนในห้องคือนักจิตวิทยาเหมือนกัน มีการแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียน การเรียนรู้เกิดขึ้น
พอ ม.5 เทอม 2 นักเรียนไม่ได้เรียนกับเราเป็นวิชาแล้วเนี่ย เราก็จะคุยเป็นกรุ๊ปเล็กๆ 4-6 คน นักเรียน ม.5 จะเริ่มคิดเรื่องเรียนต่อ แต่ครูจะยังไม่เข้าหานักเรียนเรื่องเรียนต่อนะคะ เราจะคุยเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของเขาว่าเขาคิดยังไงกับชีวิตในอนาคตมากกว่า ดูว่าบุคลิก ความสนใจ ความถนัดของเขาคืออะไร ซึ่งเราไม่สามารถดูได้แค่การสัมภาษณ์ แต่ต้องคุยไปถึงคุณครูที่สอนวิชาของเขาด้วย เช่น เด็กคนนี้บอกว่าชอบศิลปะ เขาจะไปเรียนต่อด้านศิลปะเลย คุณครูศิลปะคิดยังไง แล้วคุณครูศิลปะก็บอกว่า เด็กคนนี้จะทำงานภายใต้ความกดดันมากๆ ไม่ได้ แต่เขาชอบงานศิลปะลักษณะ hobby เราก็ได้ข้อมูลตรงนี้มาคุยกับนักเรียนอีกทีว่าตอนนี้ตกตะกอนรึยัง แล้วเราก็ค่อยๆ หาความหลากหลายทางอาชีพให้นักเรียนค่ะ
จนมาถึง ม.6 ครูก็ให้คำปรึกษารายบุคคลเหมือนกันโดยเฉพาะเรื่องเรียนต่อ เขาต้องดูข้อดี – ข้อเสียของตัวเองก่อน อะไรคือสิ่งที่เขาอยู่ด้วยแล้วอยู่ได้นาน ตลาดในอนาคตหรือว่ารายได้ที่เขาคิด ชีวิตที่เขาคิดในอนาคตเป็นยังไง ให้เขาเห็นกรอบกว้างๆ ของสิ่งที่เขาต้องการจะไปแล้วดูว่าเส้นทางที่เขาจะไปต้องใช้อะไรบ้าง
เจาะเฉพาะเรื่องเรียน เด็กๆ มาด้วยคำถามอะไรเป็นอันดับ 1 คะ
เด็กส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่า..หนูไม่รู้จะเรียนอะไร จริงๆ แล้วคำถามพวกนี้ ถ้าเราได้ให้เขาสงบแล้วรู้จักกับสิ่งที่เขามีในตัวเอง เขาก็จะกลับมามองมากขึ้นว่าเขาไปตรงไหน หรือทำอะไรได้มากกว่านั้น
อาชีพเดี๋ยวนี้มันไม่ได้มีตำรวจ พยาบาล หมอ ครูเหมือนกับที่เราเคยรู้จัก มันมีอาชีพแปลกๆ เกิดขึ้นมา นักนิติเวชวิทยา นักประดิษฐ์อาหารทางด้านเคมี อาชีพพวกนี้เราจะต้องค้นคว้าอยู่เสมอเพื่อให้นักเรียนรู้ว่ามันมี option อีกเยอะเลยในโลกนี้ ถ้านักเรียนชอบคณิตกับชอบดนตรี มันเอามา merge กัน ได้เป็น sound engineer
ในทางปฏิบัติ ครูหยกฟ้ามีวิธีช่วยนักเรียนอย่างไร
ขั้นแรกนะคะดูก่อนว่า หนูมีวิชาที่ชอบไหม ถ้าเขาบอกว่าเขาก็ไม่ได้ชอบอะไรเป็นพิเศษ ก็ดูต่อว่าสิ่งที่หนูทำได้ดีคืออะไร พอเลือกได้แล้วดูว่าในหัวข้อที่หนูบอกว่าชอบนั่นน่ะ สมมุติว่าเขาชอบเคมี หัวข้อนั้นเกี่ยวกับเรื่องอะไร ถ้าเขาบอกว่าสิ่งที่เขาเรียนแล้วมันสนุกมากน่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องน้ำในวิชาเคมี น้ำเอาไปผสมกับอะไรแล้วมันออกมาเป็นอะไร เราก็ดูต่อว่าเรื่องนั้นมันต่อยอดหรือว่ามันมีอาชีพอะไรได้บ้างที่มันเกี่ยวกับเรื่องน้ำ
ต่อมาคือ ดูความฝันของเขาในอนาคต ว่าสิ่งที่เขาอยากให้เกิดขึ้นในชีวิตคืออะไร เช่น ชอบอยู่กลางแจ้ง ชอบทำงานเป็นทีม ชอบอยู่คนเดียว ชอบอ่านหนังสือ หรือว่าชอบรายได้แบบมั่นคงไม่ต้องท้าทายเกินไป ถามเขาว่าบุคลิกอาชีพนี้มันเป็นยังไง แล้วดูว่าสิ่งที่เขาชอบจริงๆ กับสิ่งที่เป็นอาชีพมันเจอกันได้ไหม
step ต่อไปคือต้องดูว่าหนูเกรดเท่าไหร่ ภาษาเป็นยังไง มหาวิทยาลัยที่หนูชอบเป็นแบบไหน พอเราดูแล้วว่าเขาคุณสมบัติราวๆ นี้ น่าจะไปได้ที่มหาวิทยาลัยประมาณนี้ ให้เขาเลือกก่อนว่า option นี้หนูคิดว่าดีไหม โอเคไหม แล้วเวลาแนะนำ
นักเรียนจะต้องเป็นตัวกำหนดมหา’ลัยเอง เราจะแนะนำว่ามันจะต้องมี อันดับ 1 อันดับรอง กับ อันดับปลอดภัย หมายความว่า เขาจะต้องเลือกสิ่งที่เขารู้สึกอยากได้มากเป็นความฝัน กับสิ่งที่มันพอดีกับความสามารถศักยภาพของเขา กับสิ่งที่ safe ปลอดภัยจริงๆ
หลายๆ ครั้ง เด็กเลือกได้แล้ว แต่พ่อแม่ไม่เห็นด้วย ครูจะเข้าไปช่วยหรือวางตัวอย่างไร
ถ้าเขาบอกว่าหนูไม่โอเคกับสิ่งที่คุยกับพ่อ-แม่ ถึงตรงนี้เราก็จะหาวิธีการที่ซอฟท์ที่สุดเพื่อเข้าไปคุยกับคุณพ่อคุณแม่ เบื้องต้นก็โทรศัพท์ก่อนค่ะ แต่ถ้ายังมี conflict กันยาวต่อเนื่องนะคะ ครูฟ้ากับนักเรียนก็จะคุยกันว่าเราจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจนักเรียนยังไง โดยนักเรียนจะต้องเป็นคนเริ่มต้นก่อน ไม่ใช่ให้พ่อกับแม่มาเข้าใจเราฝั่งเดียวแต่เราจะต้องเข้าใจก่อนว่าตอนนี้พ่อแม่คิดยังไงกับเรา แล้วตัวนักเรียนเองจะสื่อสารกับพ่อ-แม่ยังไงให้เข้าใจ
ยกตัวอย่างนักเรียนคนหนึ่ง เราคุยกันจนรู้ว่าสิ่งที่เขาอยากเป็นคือ นักวิทยาศาสตร์เคมี แล้วไปบอกแม่ว่าอยากเรียนต่อด้านนี้ แม่โกรธมาก เขียนอีเมล โทรศัพท์มาต่อว่าครูว่าทำให้ลูกเขาเขวไป จริงๆ แม่อยากให้เขาเรียนหมอ เด็กก็ร้องให้เป็นเดือนๆ พูดเท่าไหร่แม่ก็ไม่ฟัง ครูฟ้าก็เลยคุยกับคุณแม่เขา น้ำเสียงคุณแม่เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าสิ่งที่ลูกต้องการ มันไม่ใช่การดื้อรั้นแต่ว่ามันเป็นตัวตนของนักเรียนคนนี้ที่คุณครูก็มองเห็นว่าเขาเหมาะกับอาชีพนี้
หลังจากนั้นก็ทราบมาว่าน้องเขาได้คุยกับแม่นะคะ โดยเราคุยกับนักเรียนก่อนว่าจะมีวิธีการคุยกับแม่ยังไงให้เข้าใจ ต้องพูดประมาณไหน ต่อมาแม่เขาก็กลับมาคุยกับเราว่าลูกอยากเลือกอะไร ตามใจลูกเลย ไม่ห้ามอีกแล้ว แล้วก็ความคิดเรื่องที่จะให้ลูกเป็นหมอก็คือ 0 ไปเลยค่ะ แต่สุดท้ายเด็กไม่เรียนวิทย์เพื่อตัวเองเพราะว่ารู้สึกว่าแม่เข้าใจเขาก็เลยไปเลือกเรียนมหาวิทยาลัยที่ตรงกับความต้องการของแม่ด้วย และตัวเองก็คิดว่าไม่ฝืนใจเกินไปด้วย (ยิ้ม)
ถัดจากเรื่องเรียน เรื่องที่เด็กเข้ามาปรึกษาส่วนใหญ่เป็นเรื่องอะไรบ้าง
อันดับ 1 เรื่องเพื่อน เครียดในแง่ที่ว่าเขาอยากจะได้เพื่อนแบบที่เขาต้องการ กับรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าเพื่อนแล้วเกิดการเปรียบเทียบ ทั้งๆ ที่ในวงเพื่อนไม่มีใครเปรียบเทียบหรอก ตัวเขาเองนั่นแหละที่เปรียบเทียบตัวเอง ทั้งหมดเกิดจากเขาไม่มีความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าเพื่อนยอมรับเขาไม่มากพอเท่าที่เขาต้องการ
ครูฟ้าก็จะเป็นผู้รับฟังก่อน แล้วก็ให้เขามองว่าตอนนี้ที่เขายังรู้สึกดีๆ อยู่มีอะไรบ้าง บางครั้งเราต้องดูว่า สิ่งที่เขาต้องการจากเพื่อนมันเป็นความต้องการที่มากเกินไปสำหรับตัวเองและเพื่อนไหม ถ้าเขาอยากให้เข้าใจกับเพื่อน จะมีวิธีมาเจอกันครึ่งทางได้มั้ย อย่างไร
อันดับ 2 คิดต่างจากครอบครัว อย่างที่ได้เล่าไป เรื่องนี้จะทำให้นักเรียน suffer มาก จนไม่มีกำลังใจจะเรียน หรือ อยากพัฒนาผลการเรียนให้ดีขึ้น
เรื่องอาชีพ เป็นเรื่องที่เด็กและพ่อแม่ต้องตัดสินใจร่วมกัน ครูแนะแนวไม่ควรไปบอกนักเรียนว่าอาชีพนี้เหมาะ เพราะอนาคตของเขา เขาจะต้องอยู่กับพ่อแม่ บางครั้งอาชีพมีผลต่อครอบครัวด้วย ถ้านักเรียนได้ตัดสินใจบนข้อมูลที่เขามี ไม่ว่าอนาคตจะถูกผิดยังไง เขาจะยอมรับได้
กับอีกเรื่องอยากให้พ่อแม่เข้าใจ นี่เป็นสาเหตุทำให้วัยรุ่นติดเพื่อน เพราะเขารู้สึกว่าคุยกับพ่อแม่แล้วพ่อแม่ต้องการจะสอน บอกให้ทำอะไรที่คิดว่าดี แต่ไม่ใช่ ‘ดี’ สำหรับตัวเขา
อันดับ 3 ความรัก นักเรียนชอบบอกว่า แฟนไม่เข้าใจ เขารู้สึกอยากผูกพันกับคนที่เขารักมากกว่านี้
มีนักเรียนคนหนึ่งมาถามว่าเขาจะทำยังไงดี เขาก็อยากเป็นแฟนกับคนนี้นะ แต่เขาทำตัวไม่ถูก อย่างแรกเลยครูจะบอกให้เขารู้ก่อนเลยว่าเราดีใจด้วยนะที่มีความรัก เพราะว่าความรักเป็นสิ่งที่ดี ครูชวนคุยต่อว่า ตั้งแต่หนูมีความรักมา มีอะไรดีๆ บ้าง เขาก็จะบอกว่า อ๋อ เขาตั้งใจเรียนมากขึ้น แล้วแฟนเขาก็ช่วยติวให้เขาเวลาที่ไม่เข้าใจ
เนี่ยดีจังเลย แสดงว่าแฟนหนูกับหนูช่วยกันพาไปในทางที่ดีเนอะ ทีนี้ก็เหลือแค่ว่า จะทำยังไงให้ทุกคนรักกัน รักกันแล้วมันดีขึ้น อะไรบ้างที่หนูคิดว่าทำแล้วหนูหรือคุณพ่อคุณแม่จะไม่เสียใจทีหลัง เขาก็จะคิดว่า ถ้าเราทำอะไรที่มันเกินเลยไป พ่อแม่เสียใจ เขาก็จะระวังมากขึ้น
ดูเหมือนเด็กๆ จะต้องการครูแนะแนวให้คำปรึกษาปัญหาที่มากกว่าเรื่องเรียน?
อืม… เวลานักเรียนต้องการปรึกษาใครสักคนเขาต้องการปรึกษาเพื่อน นักเรียนต้องการครูที่เป็นเพื่อนไม่ใช่ครูที่ทำตัวเป็นครู เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้เขาปรึกษาเรา เราต้องรู้สึกว่าเราอยากเป็นเพื่อนกับเขาก่อน มันจะต้องเริ่มจากใจเราที่รู้สึกว่าอยากเป็นเพื่อนกับนักเรียน ทำอย่างไรจะได้เป็นเพื่อนกับนักเรียน
มีนักเรียนอยู่คนหนึ่งที่ทางโรงเรียนเป็นห่วงมาก ม.6 แล้วและมีสิทธิ์จะเรียนไม่จบ เขาติดอะไรหลายอย่าง ครูก็คิดว่าจะแก้ปัญหานี้ยังไงดีให้เขาจบให้ได้ อันดับแรกคือ ครูต้องพังทลายความคิดที่คนอื่นคิดไม่ดีกับเขาออกทั้งหมด อะไรที่ได้ฟังมา เอาออกให้หมดแล้วก็เข้าไปหาเขา
มีอยู่ครั้งหนึ่งพอเราสังเกตเขามากๆ หรือว่าได้ใช้เวลากับเขาเนี่ย ครูเห็นเขาวาดรูปวงกลม แต่เป็นวงกลมที่เป๊ะมาก ซึ่งครูรู้มาว่าคนที่วาดรูปวงกลมได้เป๊ะมากๆ จะมีความสามารถทางศิลปะ ก็เลยทักเขาว่า เฮ้ย หนูชอบวาดรูปรึเปล่า หนูวาดอย่างอื่นด้วยไหม เขาบอกว่าครูรู้ได้ไงอะ เขาเป็นคนที่วาดรูปนกได้ละเอียดมากถึงขั้น anatomy นกเลยนะ แล้วเขาก็เอาสิ่งที่เขาทำมาโชว์ให้ดู
หลังจากนั้นมา เราคุยกันยาว แล้วทำให้ได้รู้เรื่องที่ส่งผลกับเรื่องเรียนของเขา เช่น เรื่องยังค้างคาใจ หรือปัญหาที่บ้าน ทำให้เราได้รู้เรื่องอื่นๆ ด้วย ตรงนี้มันมาจากการที่เราเปิดใจอยากเป็นเพื่อนกับเขามากกว่าเลยทำให้ช่วยพัฒนาศักยภาพเขาได้
แสดงว่า เด็กก็ไม่ได้ต้องการข้อมูลมากเท่ากับคำปรึกษา?
จะพูดอย่างนั้นก็…(นิ่งคิด) ได้ค่ะ เพราะว่านักเรียนมีโอกาสที่จะเข้าถึงข้อมูลได้พอๆ กับเรา ดีไม่ดีนักเรียนเก่งภาษาอังกฤษมากกว่าเรา เขาหาได้เยอะกว่าเราด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เขาต้องการคือรู้ให้ชัดว่าสิ่งที่เขาจะไปเนี่ยเส้นทางเป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง เด็กต้องการคำอธิบายเปรียบเทียบกันระหว่างหมอกับวิศวะว่าเส้นทางต่อจากนั้นเป็นยังไง เช่น ปริญญาโท ปริญญาเอก ขั้นเงินเดือนหรือว่าสังคมที่อยู่ ลักษณะงานที่ทำ สิ่งที่ต้องเจอมีอะไรบ้าง ด้วยความที่เรามีประสบการณ์มากกว่าและเป็นคนที่ชอบคุยกับคนทุกอาชีพเพื่อที่จะมาบอกนักเรียน เลยทำให้เขาได้มองเห็นภาพคร่าวๆ เบื้องต้น อันนี้ต่างหากที่เขาจะเอามาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าเขาจะเลือกอะไรที่เหมาะกับเขามากที่สุด ส่วนข้อมูลว่าจะต้องไปสอบที่ไหน วันที่เท่าไหร่อะไรอย่างนี้จริงๆ ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้หมดเลยค่ะ
ระบบการศึกษาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีส่วนทำให้เด็กค้นหาตัวเองช้ามาก หรือ บางคนก็หาไม่เจอเลย ครูเห็นด้วยหรือเห็นต่างอย่างไรคะ
เราเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ณ ขณะนั้น แต่รูปแบบการศึกษาไทย เนื้อหาจะมีสังคม ภาษาไทย ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เป็นวิชาการทั้งหมด แเต่เนื้อหาทักษะชีวิต (life skill) ที่ช่วยเราหาเป้าหมายในอนาคตมันไม่มี ถ้ามีก็น้อยมาก
จากประสบการณ์ เราไม่เคยเรียนเลยว่าทำยังไงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต อะไรคือเป้าหมายของชีวิต อย่างมากก็ซื้อหนังสือมาอ่าน หรือไม่ก็ไปศึกษาชีวิตของคนอื่น
ระบบการศึกษาไทย ยังเป็นการสอบคัดเลือก เราอาจจะมองความสำเร็จหรือให้คุณค่ากับคนที่ประสบความสำเร็จด้วยชื่อเสียง เงินเดือนสูง หรืออาชีพมีเกียรติ เช่น ต้องเป็นหมอ ถึงจะมีฐานะดีกว่าคนอื่น ซึ่งไม่จริงเลย เราไม่ได้ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเลือกเป็นสิ่งที่ตรงกับศักยภาพของเขา หรือเขาทำแล้วจะมีความสุข วันข้างหน้าเขาอาจจะเปลี่ยนใจจากวิศวกรไปเป็นคนสวน การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงก็มีความสำคัญ เพราะเราเองยังต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่เราไม่เคยถูกสอนให้รับมือกับมันอย่างไร
ถ้าระบบการศึกษาไทยหันมามองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียน เขาก็น่าจะเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราน่าจะให้ความสำคัญกับศักยภาพของเด็กแต่ละคนมากกว่ามองที่ชื่อเสียงหรือเงินเดือน
สิ่งที่ครูแนะแนวจะช่วยเด็กได้คือ ช่วยให้เขามีความละเอียดกับชีวิตมากขึ้น ถ้าเกิดเขาพลาดหรือไม่ติด มันไม่ใช่เส้นชัยสุดท้ายของเขา มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่คะแนนสูงที่สุด เราต้องดูหลายๆ อย่าง นักเรียนอาจจะบอกว่าอยากอยู่ที่ๆ เขียวๆ รถไม่ติด นั่นก็คือสิ่งที่ดีที่สุดของเขา เพราะฉะนั้นคุณครูแนะแนวจะดูแค่คะแนน หรือดูแค่ว่านักเรียนเก่งด้านนี้น่าจะถนัดแล้วก็ทำได้ดี ไม่ได้ สิ่งที่ครูแนะแนวต้องทำคือ ทำให้นักเรียนรู้ว่าสิ่งที่เหมาะ สิ่งที่ดีไม่จำเป็นต้องดีในสายตาคนอื่นหรือสายตาของสังคม สองก็คือดูว่าอะไรที่จะทำให้นักเรียนมีความสุขแล้วก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว คุณภาพชีวิตที่ดีไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่เขารู้ว่า เขาจะอยู่ในสังคมนั้นได้ดี
ที่ผ่านมา วิชาแนะแนวมีก็เหมือนไม่มี?
บางโรงเรียนอาจให้ความสำคัญกับคาบแนะแนวน้อยลง หรือมีครูแนะแนวที่ควบสอนวิชาอื่นไปด้วย ซึ่งการลดทอนวิชาแนะแนวทำให้นักเรียนขาดโอกาสเรียนรู้เรื่อง life skill เพราะครูประจำวิชาต้องเตรียมสอน ต้องทำให้นักเรียนบรรลุวัตถุประสงค์ของวิชานั้นๆ เวลาของการจะมาศึกษา สังเกตพฤติกรรม จึงน้อยลง
อย่างนั้นแล้วครูแนะแนวกับครูประจำชั้นหรือครูวิชาอื่นๆ ควรเป็นครูคนเดียวกันหรือเปล่าคะ
สำหรับครู ครูแนะแนวคือครูที่สามารถให้นักเรียนมีชีวิตที่มีความสุขแล้วก็ราบรื่น ถ้าคุณครูสามารถช่วยให้นักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้คุณครูก็เป็นครูแนะแนวได้ ความสุขที่ราบรื่นแบบในระยะยาว คุณครูจะต้องเรียนรู้ว่าเราจะแนะนำนักเรียนแบบไหน คุณครูคนอื่นก็เป็นครูแนะแนวได้ค่ะในความคิดของครูฟ้า แต่ว่ามันจะมีข้อมูลพื้นฐานวิธีการเบื้องต้นอยู่ว่า เวลาเราคุยกับนักเรียน นักเรียนบอกว่าผมอยากให้ที่บ้านเงียบสงบมากกว่านี้ มันแปลว่าอะไร หรือว่าอยากให้เพื่อนรู้ว่าบางทีเราก็หัวเราะเป็นนะ แบบนี้นักเรียนหมายความว่ายังไง
การอ่านหรือว่าการทำความเข้าใจ stage ของนักเรียน เป็นสิ่งที่คุณครูที่ให้คำปรึกษาเรียนรู้มาแล้วก็ฝึกฝนมาก่อน เก็บชั่วโมงมาก่อนเลยทำให้เรามีประสบการณ์มากกว่า ถ้าคุณครูวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ สนใจที่จะเรียนรู้สิ่งพวกนี้คุณครูก็สามารถเป็นที่ปรึกษาแล้วก็เป็นเพื่อนให้กับนักเรียนในเวลาที่นักเรียนมีความทุกข์ใจได้เหมือนกันค่ะ
รับฟังเรื่องทุกข์หรือปัญหามามากๆ ครูมีวิธีเยียวยาตัวเองอย่างไรคะ
เราต้องถือว่าสิ่งที่นักเรียนเล่าเป็นของมีค่า เพราะฉะนั้นเราต้องเก็บของมีค่าให้มิดชิดและลับมากที่สุด อย่างแรกที่ครูต้องมีคือจรรยาบรรณ ไม่เอาเรื่องนี้ไปพูดในที่สาธารณะ ฉะนั้นใจของครูจะต้องมีพื้นที่เก็บที่ใหญ่และกว้างมาก
เวลานักเรียนเล่ามา ครูจะมองก่อนว่าปัญหาเขาแก้ได้มั้ย ถ้าเรามองปัญหาทางออกร่วมกับนักเรียนแล้วเจอว่าเราจะแก้ได้ด้วยวิธีที่ 1 ถ้า 1 ไม่เวิร์ค เรามีแผน 2 แผน 3 ถ้าเราพบว่าแนวทางประมาณนี้คือที่สุดแล้วที่เราจะคิดออกได้ ครูก็จะวางไว้ตรงนั้นเพราะถือว่าเราได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว
มีเหมือนกันนะคะที่เครียด เอาไปฝันเลยก็มี แต่ครูเองก็ต้องมีเพื่อนที่สามารถเล่าหรือปรึกษาได้ มันเป็นวิธีการจัดการใจของตัวเองว่าทำยังไงให้เราสงบขึ้น จากการเรียนด้านจิตวิทยามา ทำให้เรารู้ว่าจะหาความสุขง่ายๆ รอบตัวได้อย่างไรบ้าง แล้วเราก็ทำเรื่องนั้นมากขึ้นในช่วงที่เราเครียด ใจเราก็จะสงบขึ้น