- ชีวัน วิสาสะ นักวาดภาพประกอบ นักเขียน และนักเล่านิทานผู้ให้กำเนิดอีเล้งเค้งโค้งบอกว่า จะเขียนนิทานหนึ่งเล่ม ไม่ใช่แค่เขียนหนังสือและวาดรูปได้เท่านั้น
- นิทานต้องไม่สอน แต่ต้องให้เด็กเรียนรู้ และมีส่วนร่วม เพราะจะทำให้เด็กได้คิด พอเด็กคิดแล้วตรงกับสิ่งที่เขียนในนิทาน เด็กจะเกิดความภูมิใจ และสนุกสนาน
- นอกจากเนื้อเรื่องที่ต้องคิดอย่างสลับซับซ้อนแล้ว การวาดนิทานและการลงสีก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดหนัก เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหา
- นักเขียนหนังสือเด็กต้องยืมปากพ่อแม่ ยืมปากคุณครูเพื่อที่จะอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ผู้เขียนจึงต้องคัดสรรคำให้พอดี มีจังหวะ มีพลังของถ้อยคำของภาษา เพื่อให้ผู้ใหญ่มีอิสระในการเล่าเรื่อง
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ‘ไม่สอน’
อาจจะเป็นคำนิยามสั้นๆ ของนิทานครูชีวัน วิสาสะ นักวาดภาพประกอบ นักเขียน นักเล่านิทาน และผู้ให้กำเนิดนิทาน ‘อิเล้งเค้งโค้ง’ มาหลายสิบปี
“เวลาเล่านิทานให้เด็กฟัง เด็กต้องไม่รู้สึกว่าถูกสอน เพราะการสอนคือชี้แนะ บอก ให้ทำแบบนั้น แบบนี้ นี่คือผู้สอนเป็นหลัก แต่การเล่านิทานคือการให้เด็กเรียนรู้ ได้มีส่วนร่วม เขาจะเกิดความคิด ตรรกะ และเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลได้ด้วยตัวเอง”
นิทานทุกเล่มของครูชีวัน เน้นให้คนธรรมดาหรือพ่อแม่ที่คิดว่าตัวเองเล่านิทานไม่ได้ “เล่าให้สนุกจนได้” ด้วยภาษา ภาพ สี และวิธีการออกแบบที่ละเอียดแบบเก็บทุกเม็ด ถึงขนาดบางเล่มเขียนและคิดค้างกว่าหลายปีก็ยังไม่จบ
ตลอดการสนทนาครูชีวันเล่าขั้นตอนการทำแต่ละเล่มด้วยน้ำเสียงธรรมดา แต่พอฟังครบจบทุกหน้าแล้ว…
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้สอนให้รู้ว่า ‘คนธรรมดา’ ทำ (นิทานเด็ก) ไม่ได้แน่นอน 🙁
เขียนนิทานสักเล่ม ยากแค่ไหน
หนังสือสำหรับเด็ก รูปลักษณ์มันไม่มีอะไรซับซ้อน คนมองผิวเผินก็จะรู้สึกว่ามันไม่ยาก ไม่ได้มีกลไลอะไร คำก็น้อย แต่จริงๆ รูปแบบที่มันง่าย มันผ่านขั้นตอนกระบวนการคิด วิเคราะห์ของเรา ซึ่งตอนอยู่ในหัวไม่มีใครเห็น แต่ต้องมีเป้าหมาย วิธีคิด ทฤษฎี ประสบการณ์มารองรับ นำไปทดลองใช้ กว่าจะออกมาเป็นหนังสือแต่ละเล่ม นี่คือความยากที่คนจะไม่เห็นในหนังสือภาพ
บางคนอาจจะเข้าใจแค่ว่า หนังสือก็มีแค่นี้ วาดรูปได้ เขียนเรื่องได้ ก็มีคนที่พยายามทำให้รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ทำได้ง่ายๆ มันไม่ผิดนะ แต่ถามว่าอะไรที่ทำได้ง่ายๆ คิดแล้วไม่ซับซ้อน มันต้องการบอกอะไรเด็ก บอกผิวเผิน บอกให้ลึกซึ้ง หรือต้องการให้เด็กเกิดความคิด
เวลาเราทำงาน จะมีถ้อยคำที่เราจะต้องเอามาขบให้แตกว่า งานของเราสื่อไปกับเด็ก เราต้องการให้เด็กเชื่อ หรือต้องการให้เด็กคิด เพราะหนังสือคือสื่อ อะไรที่เราทำเป็นรูปลักษณ์ขึ้นมา จับต้องได้ สัมผัสได้ ก็คือสื่อ แต่สื่อเพื่ออะไร สื่อเพื่อให้เชื่อหรือสื่อเพื่อให้คิด ฉะนั้นกระบวนการคิดก็จะลึกมากกว่าแค่ทำหนังสือที่มีเรื่อง มีภาพ
กว่าจะได้นิทานหนึ่งเล่ม ต้องเริ่มจากอะไรก่อน
นักเขียนต้องผ่านการสั่งสม เราต้องอ่าน เราต้องเปิดประสาทสัมผัสเพื่อรับประสบการณ์ทั้งหลาย ณ ขณะนั้นที่เราเป็นอยู่ เรามีวัยวุฒิ คุณวุฒิแค่ไหน จากนั้นก็คิดถึงวัยเด็ก คิดถึงความเป็นเด็กว่าในวัยเด็กเราสนใจอะไร เด็กในปัจจุบันสนใจอะไร แล้วความสนใจนี้ก็จะกลายเป็นสิ่งที่เราดึงออกมาเพื่อที่สร้างเป็นประเด็น เป็นเนื้อหา แล้วนำมาออกแบบเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็ก
ฉะนั้นมันคือการสั่งสม บางคนอาจบอกว่าที่มาหนังสือเกิดขึ้นแบบฉับพลัน หรือบอกว่าปิ๊งขึ้นมา วาบขึ้นมาเมื่อเราสังเกตหรือเห็นอะไรบางอย่าง ก็เชื่อได้ว่ามันต้องมาจากการสั่งสมด้วย ถ้าเราไม่มีพื้นฐานอะไรเลย แล้วไปเห็นสิ่งที่อยู่แวดล้อมก็ไม่มีทางคิดออก เพราะมันไม่มีตัวเชื่อม ไม่มีตัวสปาร์ค เพราะอะไรที่ผ่านเข้ามา บางทีก็ต้องมาสปาร์คกับทุนเดิมของเรา หรืออาจมาจากประเด็นในปัจจุบัน ข่าว ประเด็นทางสังคม อะไรที่น่าสนใจ ฉะนั้นที่มามาได้ไม่จำกัด
เมื่อที่มาไม่จำกัด แล้วจะจัดการต่ออย่างไร
พอที่มาไม่จำกัด สิ่งที่ทำให้เราสร้างประเด็นขึ้นมาได้คือประสบการณ์ที่เราสั่งสม เราจะต้องอ่าน ดู ฟัง สังเกต ให้หลากหลาย แล้วถ้าเราสนใจเรื่องใดโดยเฉพาะ ก็เจาะลึกเรื่องนั้นไป ยกตัวอย่างนิทานเรื่อง ‘ตัวเลขทำอะไร’
ตัวเลขทำอะไร เกิดจากการอ่านบทความ ประมาณปี 2539 พิมพ์เดือนเมษายน คาดว่าอ่านบทความตอนเดือนมกราคมในหนังสือพิมพ์ พูดถึงเรื่องการเรียนรู้แบบองค์รวม หรือการบูรณาการ
เด็กเมื่อสัมผัสสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันไม่ใช่การรับรู้เชิงเดี่ยว ทั้งในเรื่องภาษา ศิลปะ คณิตศาสตร์ เวลาเราเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันไม่ได้มีแค่มิติเดียว อย่างเวลาเราเห็นแก้ว เราเห็นเครื่องใช้ ถ้าเราบอกว่าเป็น ภาชนะ เราจะนึกเรื่องการกิน ของในครัว ถ้าแบ่งเป็นวิชาก็เป็นเรื่องคหกรรม
แต่ถ้าเราดูจริงๆ แก้วมีรูปทรงกลม มีมิติแบบนี้เรียกว่าแก้ว มีภาษาออกมา ที่เราบอกว่ามีรูปร่างรูปทรงต่างๆ คือคณิตศาสตร์ ถ้าแก้วมันมีลวดลายก็เชื่อมไปถึงศิลปะ อันนี้คือการบูรณาการ แต่บางครั้งเราไม่ได้วิเคราะห์ว่ามันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง มันก็ทำให้เกิดความคิดท้าทาย ถ้าเราสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับเด็ก ให้มีครบทั้งคณิตศาสตร์ ทั้งศิลปะ ทั้งภาษา แล้วก็มีจินตนาการด้วย เราจะทำได้ไหม ก็เลยเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา
ตัวเลข คือสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ ทำตัวเลขให้มันมีชีวิตชีวา พอเหนือจริง เหนือธรรมชาติ เด็กก็ต้องใช้จินตนาการ มีชีวิตชีวา ออกแบบด้วยการใส่ศิลปะเข้าไป ศิลปะก็เริ่มเข้ามาเชื่อมกับสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์
แล้วภาษาล่ะ ครูชีวันก็คิดว่า ถ้าจะให้เด็กจดจำได้ง่าย ก็จะต้องเป็นคำคล้องจอง และครูคิดไปมากกว่านั้นคือหนังสือเล่มนี้ต้องการสื่อไปยังเด็กที่ยังอ่านหนังสือไม่ออกแต่สามารถอ่านภาพได้ เลยท้าทายตัวเองว่า ออกแบบสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ให้มีชีวิตชีวา ทำตัวเลขให้มีชีวิตชีวา แล้วให้เด็กอ่านภาพ แล้วคิดตรงกับตัวหนังสือที่เราคิดเอาไว้
หนึ่ง ขี่มด เด็กอ่านหนังสือไม่ออก แต่ 99 เปอร์เซ็นต์ อ่านภาพออก
สอง รดน้ำต้นไม้ ส่วนใหญ่เด็กจะอ่านถูกเป๊ะๆ เมื่อเฉลยจะถูกต้องมากกว่าผู้ใหญ่อ่าน เพราะคลังคำศัพท์ของเด็กมีจำกัด เราจึงสร้างคำดักเอาไว้กับภาพ โดยธรรมชาติเด็ก เมื่อภาษาในตัวเขาพัฒนาถึงระดับหนึ่งแล้ว เด็กจะพูดประโยคสมบูรณ์ มีประธาน มีกริยา กรรม ชัดเจน ไม่มีคำฟุ่มเฟือย เห็นอะไรก็จะพูดอย่างนั้น เด็กจะไม่พูดว่ารดน้ำ เพราะไม่รู้ว่ารดน้ำอะไร ต้องมีกรรมมารองรับ
สาม หวีผม ถ้าเป็นผู้ใหญ่มากๆ อาจไม่คิดว่าแค่หวีผม แต่กำลังเสริมสวยอยู่หรือเปล่า เพราะว่ามีคำว่าเสริมสวย แต่เด็กก็จะอ่านตรงๆ ว่า สาม หวีผม
สี่ ดมดอกไม้ พอถามถึงเหตุผลว่าทำไมถึงอ่านเป็นดมดอกไม้ บางทีเราก็ไม่รู้สึกตัว มันเป็นคำแรกที่แวบขึ้นมา เพราะสมองเราทำงานเร็ว แต่ถ้าเราลองมองย้อนกลับไป แล้วดูว่าเรามองจากอะไร เราก็จะวิเคราะห์ได้ถึงการออกแบบของคนทำงานว่ามันมีที่มาที่ไป
เรามองรู้ว่าเลขสี่ดมดอกไม้ เพราะมีการขับเน้นตรงจมูก เห็นอากัปกิริยาว่าเวลาดม เวลาหอม คงไม่มีใคร หอมจังเลย แล้วทำตาโต มันต้องทำตาพริ้ม นี่คือท่าทางทางอารมณ์ที่ชัดเจน แต่ถ้าทำตาโตปุ๊บ ตามันจะถูกตีความอีกต่างหาก อาจเป็นการมองก็ได้ ถ้าเลขสี่ไม่หลับตา อาจเป็นเลขสี่ดูดอกไม้ ทุกอย่างต้องไปเสริมที่จมูกอย่างเดียว เพื่อให้มันมาตรงกับคำที่เราออกแบบเอาไว้
ห้า ขับเครื่องบิน แต่เดิม เลขห้าไม่ได้ขับเครื่องบิน เวลาทำหนังสือต้องมีการทดลอง เมื่อทำออกมาเป็นเล่มม็อคอัพก็นำไปทดลอง ตอนที่ครูออกแบบ ครูก็คิดว่าดีที่สุดแล้ว แต่ต้องอย่าเพิ่งฟันธง ต้องผ่านกระบวนการทดสอบ เรียกว่าบรรณาธิการกิจด้วยคนอื่น และบรรณาธิการกิจด้วยตัวเราเอง
เลขห้าของเดิมเป็น ห้า ขุดดิน อยากให้อ่านว่า เลขห้า ขุดดิน พอเด็กอ่าน กลับอ่านเป็น เลขห้าปลูกต้นไม้ เลขห้าเล่นทราย มันอ่านได้ด้วยประสบการณ์ของเด็ก พอเอาไปทดลองกับเด็ก เสียงแตกมาก ไม่ได้ไปในทางเดียวกัน ก็เลยคิดใหม่ แล้วก็ต้องไปสัมผัสกับเสียง เลขหก กินข้าว เลขห้า ต้องไปสัมผัสกับกินที่รอไว้แล้ว ก็ต้องเปลี่ยนเป็นอะไรที่เสียง อิน เลยเปลี่ยนเป็นเครื่องบินไปเลย
ส่วนชื่อหนังสือทำอะไร เดิมหนังสือใช้ชื่อว่า ‘ทำอะไร’ มันห้วนเกินไป มันเป็นคำถาม แล้วพอจะทำจริงแล้วจึงรู้ว่ามันไม่พอ ต้องมีคำว่าตัวเลข ให้รู้ชัดๆ เลยว่านี่คือตัวเลข
อย่างที่บอกตอนแรกว่ามาจากบทความ แล้วมาทำก็ตอบโจทย์การเรียนรู้แบบองค์รวมไหม แบบบูรณาการไหม ก็ได้ แล้วก็ไม่ได้เป็นการสอน เราอาจมองว่าหนังสือนี้สอนก็ได้ แต่สำหรับครูไม่ใช่การสอน หากเป็นการเสริม เป็นการตั้งคำถาม
หนังสือของครูชีวันหลายเล่มเป็นแบบนี้ ไม่ได้บอกให้เชื่อ เราอยากให้เด็กเชื่อก็จริง แต่ถ้าเชื่อโดยที่ไม่คิด เหมือนกับยอมรับโดยดุษณี ความคิดเป็นสิ่งสำคัญ พอเด็กคิดแล้วตอบมาแล้วตรงกับที่เราเขียนไว้ ก็จะเกิดความภูมิใจ สนุกสนาน
ทำไมนิทานครูต้องไม่สอน
มันมีแง่มุมของการสอนอยู่ แต่ไม่ได้สอนแบบให้เชื่อ วิธีการสอนมีหลายอย่าง เราไม่ได้สอนตรงๆ แต่ให้เด็กเรียนรู้ คำว่าเรียนรู้ จริงๆ มันคู่กับคำว่าสอน แต่คนละมิติ เพราะการสอนคือชี้แนะ บอก ให้ทำแบบนั้น แบบนี้ นี่คือผู้สอนเป็นหลัก แต่การเล่านิทานคือการให้เด็กเรียนรู้ ได้มีส่วนร่วม เขาจะเกิดความคิด ตรรกะ และเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลได้ด้วยตัวเอง
ตรรกะในที่นี้คือความคิดเชื่อมโยง เป็นเหตุเป็นผล เพราะตรรกะทางคณิตศาสตร์สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะตัวเลขหรือวิธีการทางคณิตศาสตร์ ตรรกะความคิดพื้นฐานที่เด็กควรมี คือเรื่องศิลปะ หนังสือภาพมันตอบโจทย์ ลำดับต่อไปคือภาษา พอใช้ศิลปะปุ๊บ เริ่มมีพัฒนาการทางภาษาที่พ่อแม่สอน พอมาเห็นหนังสือก็มีการโต้ตอบกับในหนังสือที่เป็นภาพศิลปะ เด็กอ่านหนังสือไม่ออกไม่เป็นไร แต่โต้ตอบจากภาพ เชื่อมโยงประสบการณ์ของเขา แล้วก็มีตรรกะทางคณิตศาสตร์
ตรรกะทางคณิตศาสตร์สำคัญ ที่ไม่ใช่เฉพาะตัวเลขอย่างเดียว เพราะมันทำให้เด็กเข้าใจความเป็นเหตุเป็นผล ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลที่ชัดเจนที่สุดสำหรับเด็กก็คือคณิตศาสตร์ ถามว่าเราละเลยวิทยาศาสตร์หรือเปล่า ไม่ ถ้าเราลองคิดดีๆ ศิลปะมันคือการทดลอง การเล่นสี การสังเกต สิ่งที่มันเปลี่ยนไป แต่ศิลปะมันทดลองแล้วก็เป็นผลขึ้นมา แต่ผลบางอย่างมันอาจไม่แน่นอน คาดเดาไม่ได้ เพราะว่าสาร สี มันมีคุณสมบัติแตกต่างกัน แต่พอเป็นคณิตศาสตร์แล้วตรรกะค่อนข้างแน่นอน อย่างเช่นเด็กสูงขึ้นไปก็จะรู้เรื่องของจำนวน บวก ลบ หนึ่งเพิ่มอีกหนึ่งก็กลายเป็นสอง มันเชิงประจักษ์ เห็นชัดเจน
เมื่อได้เรื่อง ได้ประเด็นแล้ว ขั้นตอนหลังจากนั้น ทำอะไรต่อ
พอได้เรื่องแล้ว เมื่อเริ่มวาดลงสี ก็ต้องกินเวลาอีก ก็ต้องมานึกถึงเทคนิคว่าต้องใช้เทคนิคไหน ใช้สีอะไร ประเภทของสี จะเป็นโมโนโทนหรือจะเป็นอะไรก็ต้องมาคิดต่อ ซึ่งจะต้องเข้ากันกับเรื่อง
สีอะไร บนกระดาษของอะไร จะตอบโจทย์ความรู้สึกของเราได้ไหม สิ่งที่เราออกแบบ ลึกๆ แล้วมันส่งผล มันไม่ได้เป็นแค่สีสันสดใส สีลูกกวาดเท่านั้นที่จะเหมาะกับเด็ก
ขาวดำก็ได้ โมโนโทนก็ได้ สดใสก็ได้ มันต้องตอบโจทย์และสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง เพราะสีคือความรู้สึกอย่างหนึ่ง อย่างเล่ม ‘นิ่ง’ ต้องใช้สีอะคริลิค เพื่อทำให้ภาพหนักแน่น มีมวล ให้มีน้ำหนัก และให้มีบรรยากาศ สร้างความรู้สึกที่นิ่งจริงๆ
ทำอย่างไรให้อ่านนิทานซ้ำๆ ได้โดยไม่เบื่อ
เล่าตามเดิม ถึงแม้ว่าเด็กรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เด็กก็อยากที่จะดูซ้ำๆ เพราะว่าเขารู้แล้ว เขารู้ทัน มันก็คือความประทับใจ ไม่ใช่รู้แล้ว ไม่ฟังแล้ว แต่มันจะเกิดขึ้นแน่นอน แต่เมื่อเด็กโตขึ้น ป.1 ขึ้นไป เขาเริ่มรู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่ รู้ทัน ไม่ฟังแล้ว ส่วนเด็กเล็กก็จะยังมีจินตนาการอยู่
แต่เด็กโต ป.1-3 ไม่ใช่ว่าจินตนาการเขาหายไป ยังมีแต่วิธีการสื่อสารหรือรูปแบบนิทานก็จะซับซ้อนขึ้น
กระบวนการการคิด เวลาทำหนังสือให้เด็กแต่ละช่วงอายุต่างกันอย่างไร
ต่างกันตรงความซับซ้อนของเนื้อหาและภาษา เด็กที่โตขึ้นอาจจะต้องการภาษามากขึ้น
ภาษาน้อย ตัวหนังสือน้อยก็ยากแบบหนึ่ง ภาษามากก็ยากอีกแบบหนึ่ง ตรงที่ทำอย่างไรให้เป็นภาษาวรรณกรรม ในเมื่อขอบข่ายยังเป็นหนังสือเด็กอยู่ ภาษาที่ใช้ ถ้ามันจะมากขึ้นกว่าที่ใช้ในหนังสือเด็กเล็กก็ต้องเป็นภาษาที่ออกแบบมาอย่างดี ออกแบบด้วยการที่มี pattern มีฉันทลักษณ์หรือไม่มีฉันทลักษณ์
การใช้ภาษาที่เราเรียกว่าร้อยแก้วคือที่ไม่มีฉันทลักษณ์ หรือว่าร้อยกรองมีฉันทลักษณ์ ซึ่งแต่ละอย่างก็ยากคนละแบบยาก ไม่มีฉันทลักษณ์แต่ทำอย่างไรให้รู้สึกได้ว่าพิเศษ อย่างเช่นนิทานเรื่อง ‘คุณตาหนวดยาว’ ตัวหนังสือจะมากขึ้น เป็นการเล่าเรื่องด้วยภาษา
‘มีคุณตาคนหนึ่ง อยู่คนเดียว เริ่มแก่ หนวดก็เริ่มยาว
คุณตาแก่ลง ทุกวัน ทุกวัน
หนวดของคุณตาก็ยาวขึ้น ยาวขึ้น ทุกวัน’
อันนี้ก็คือภาษาที่เราออกแบบ มีจังหวะของมัน แต่ไม่ใช่คำคล้องจอง แต่จะออกแบบอย่างไร มีวิธีคิดอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนทำหนังสือยึดถือแนวคิดประเภทไหน
ถ้าอย่างครูชีวัน ยึดหลักทางภาษา ‘อ่านเพื่อฟัง’ ในฐานะที่คนทำหนังสือ คือการใช้คำ เลือกภาษาที่ใช้สำหรับอ่านให้เด็กฟัง มันต่างจากการใช้ภาษาในหนังสือทั่วๆ ไป
นิทานที่ ‘อ่านเพื่อฟัง’ ต้องเขียนอย่างไร
เช่นเรื่องสั้นหรือนวนิยาย เป็นภาษาที่ไม่ได้อ่านเพื่อฟัง ผู้ใหญ่อ่านเอง อ่านในใจ จะเว้นวรรค ออกเสียง อ่านผิดถูกไม่เป็นไร แต่ภาษาที่อ่านเพื่อฟังเราต้องนึกถึงคนที่ยืมปากเขา นักเขียนหนังสือเด็กต้องยืมปากพ่อแม่ ยืมปากคุณครูเพื่อที่จะอ่านหนังสือให้เด็กฟัง
การใช้ภาษาเพื่อฟัง การเลือกใช้ถ้อยคำ คำง่าย คำยาก เพื่อให้เด็กเข้าใจเรื่องราวได้รู้เรื่อง แต่วรรคตอนมีไว้เพื่อให้ผู้ใหญ่อ่าน เพราะเด็กไม่ได้อ่าน เราต้องมีวรรคตอน มีความยาว เพื่อให้ผู้ใหญ่ได้อ่าน
นักเขียนจะวรรคตอนตามใจเราไม่ได้ เพราะจะผิดหลักภาษาเขียน เช่น
‘มีคุณตาคนหนึ่งอยู่คนเดียว’ จริงๆ อยากจะวรรคว่า ‘มีคุณตาคนหนึ่ง อยู่คนเดียว’ ถ้าเวลาเราอ่าน แบบนี้ไม่ผิด รูปประโยคไม่ได้วรรค แต่เราอ่านแล้วหยุดนิดหนึ่งได้ ‘มีคุณตาคนหนึ่ง อยู่คนเดียว’ เน้นที่ ‘อยู่คนเดียว’ แต่เราจะพิมพ์ว่า ‘อยู่ คน เดียว’ แบบนี้ไม่ได้ เพราะจะผิดหลักการเขียน แต่อ่านไม่ผิด เพราะเราต้องการเน้นคำว่า ‘คุณตาอยู่คนเดียว’ มันคืออรรถรสในการอ่าน
คนอ่านคือพ่อแม่ พ่อแม่ต้องเล่าอย่างไร
พอหนังสือไปถึงพ่อแม่ก็อิสระ อ่านอย่างไรก็ได้ แต่ละคนที่ออกแบบ ที่เขียน ควรจะออกแบบเพื่อสำหรับการอ่านที่ปกติที่สุด คืออ่านแบบธรรมดาก็ได้อรรถรส ให้คนที่คิดว่าเล่าไม่เป็นก็สามารถเล่าได้ เราต้องคัดสรรให้พอดี มีจังหวะ มีพลังของถ้อยคำของภาษา
เช่น ‘แม่ไก่ชอบอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ‘แม่ไก่อ่านดัง กุ๊ก กุ๊ก กุ๊ก กุ๊ก’ พ่อแม่ทั่วไปอ่านแบบนี้ เรียบๆ ง่ายๆ
พออ่านต่อไปอีก ‘พ่อเป็ด ชอบอ่านหนังสือให้ลูกฟัง พ่อเป็ดอ่านดัง ก๊าบ ก๊าบ ก๊าบ ก๊าบ’ ไม่ต้องมีลีลาอะไรมาก เด็กก็จะรับสารอะไรบางอย่าง เขาจะรู้สึกว่ามันต้องมีเสียงพวกนี้โผล่มาตอนท้าย โดยประสบการณ์เด็กก็จะเดาได้
‘แม่แมว’ เด็กก็เตรียมแล้ว มันต้องเมี้ยว เมี้ยว เมี้ยว เมี้ยว แน่เลย อันนี้ไม่ใช้เทคนิค ไม่ต้องอ่านดัดเสียง ภาษามันเรียบง่าย และมีพลังด้วยตัวของมันเอง เหมือนเป็นการเอาใจช่วยพ่อแม่แบบพื้นฐานที่สุด ไม่ต้องทำท่าทาง ไม่ต้องรู้สึกว่า อ่านอย่างไร เล่านิทานไม่เป็น เราจึงต้องออกแบบภาษาแบบนี้เอาไว้
เวลาทำหนังสือจึงต้องคิดทุกเม็ด คิดก่อนทำ ระหว่างทำก็ต้องคิด ทำเสร็จก็ต้องมาทบทวนอีก