- การเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นฐาน (Child Base Learning) ‘เปลี่ยน Living เป็น Learning – อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน อยู่ที่ไหนก็เรียนได้’ สร้างวิถีใหม่ในระบการศึกษาจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา นำโดยหัวเรือใหญ่ ครูใหญ่ – วิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการโรงเรียน
- “ทุกครั้งที่เราจะปิดเทอมใหญ่ เราก็จะมีการดีไซน์ว่าจะทำให้เด็กยังคงการเรียนรู้อยู่ได้อย่างไร เราก็จะดูว่าจะออกแบบอย่างไรให้ผู้เรียนกับพ่อแม่ยังจดจ่อ แล้วก็เกื้อหนุนให้ลูกยังเรียนอยู่ เพื่อไม่ให้การเรียนรู้ถดถอย ก็เป็นความคิดมาตั้งแต่ต้นว่า แท้จริงแล้วเราต้องยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการที่จะทำให้ผู้เรียนเป็นผู้เรียนรู้ตลอด”
- การบ้านที่เยอะ – ยุ่ง ถูกยกเป็นตัวอย่างอุปสรรคของการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ เพราะโดยทั่วไป เมื่อเด็กเรียนที่บ้าน ครูจะมอบการบ้านวิชาของตัวเอง ผลคือเด็กๆ จะมีการบ้านล้นมือ และหลายชิ้นก็ไม่มีคุณค่าต่อการใช้ความรู้หรือทักษะเพื่อให้ออกมาเป็นสมรรถนะ ครูใหญ่วิเชียรบอกว่ามันเยอะเกินไปจนไม่มีเวลาใคร่ครวญออกมา ทางออกคือเปลี่ยนความเยอะ-ยุ่งให้เป็นความซับซ้อนและท้าทาย
ในสถานการณ์ที่โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ไม่เพียงความกังวลของพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษาต่างก็พยายามหาวิธีที่จะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องและเป็นการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา
ครูใหญ่ – วิเชียร ไชยบัง ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งนี้พูดถึงภาวการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีความหวังว่า ‘โควิด คือ โอกาส’ เขาเห็นว่า ระบบการศึกษาไทยสามารถเปลี่ยนวิกฤตนี้ให้เป็นจุดหักเหในการสร้างวิถีแห่งการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นฐานได้ (Child Base Learning) เพียงแต่ต้องปรับมายเซ็ตในการออกแบบการเรียนรู้ตามแนวคิด ‘เปลี่ยน Living เป็น Learning – อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน อยู่ที่ไหนก็เรียนได้’
อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน
สารตั้งต้นของแนวคิดเรื่อง Child Base Learning เกิดจากการอ่านเรื่องราวของโรงเรียนทดลองแห่งหนึ่งชื่อว่า KEEP Academy ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แร้นแค้นของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทดลองวิธีการด้านการศึกษากับเด็กในพื้นที่นั้น จนกระทั่งไม่กี่ปีผ่านไป เด็กๆ ซึ่งมาจากครอบครัวผู้อพยพและยากจนมีผลสัมฤทธิ์การเรียนสูงมาก โดยเฉพาะคณิตศาสตร์
ปัจจัยสำคัญของผลสัมฤทธิ์ คือ การเปลี่ยนช่วงปิดเทอมฤดูร้อนอันยาวนานที่โดยปกติครอบครัวยากจนจะไม่ส่งเสริมกิจกรรมระหว่างเรียน ทำให้เด็กมีภาวะการเรียนรู้ถดถอย ให้เกิดการส่งเสริมกิจกรรมระหว่างเรียนในช่วงปิดเทอมจากโรงเรียน กระทั่งได้ผลลัพธ์อย่างที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา
“ทุกครั้งที่เราจะปิดเทอมใหญ่ เราก็จะมีการดีไซน์ว่าจะทำให้เด็กยังคงการเรียนรู้อยู่ได้อย่างไร เราก็จะดูว่าจะออกแบบอย่างไรให้ผู้เรียนกับพ่อแม่ยังจดจ่อ แล้วก็เกื้อหนุนให้ลูกยังเรียนอยู่ เพื่อไม่ให้การเรียนรู้ถดถอย ก็เป็นความคิดมาตั้งแต่ต้นว่า แท้จริงแล้วเราต้องยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการที่จะทำให้ผู้เรียนเป็นผู้เรียนรู้ตลอด อีกอันหนึ่งที่เป็นแพสชั่นส่วนตัว คือ ผมรู้สึกว่าในยุคสมัยนี้สิ่งต่างๆ ก้าวกระโดดมาก การที่จะยึดโยง ผูกขาดการเรียนรู้ไว้ที่สถาบันการศึกษาอาจจะไม่ใช่แล้ว”
เขายกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นจริงกับเด็ก ม.6 บางคนที่อยากเรียนหมอ แต่การเรียนรูปแบบเดิมๆ ที่มีวิชาอื่นๆ ราว 13-14 วิชา หลังจากคุณครูระดมให้การบ้านผ่าน Google Classroom เด็กๆ ต้องใช้เวลาทั้งสัปดาห์เพื่อสะสางงาน มิหนำซ้ำยังต้องเอาเวลาส่วนตัวไปลงเรียนพิเศษที่มีค่าเรียนแพงหลายพันบาท
เด็กบางคนฝันอยากเป็นนักเขียนโค้ด ก็ใช้เวลาส่วนตัวไปลงเรียนไพทอน (Python) ซึ่งไม่มีอยู่ในหลักสูตรมัธยมศึกษา เหตุการณ์เหล่านี้กำลังบ่งบอกว่าเด็กๆ กำลังพยายามไปสู่เป้าหมายด้วยตัวเอง ในแง่ดีนี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้าง Self Directed Learner จากผู้เรียนจริงๆ
“เราน่าจะทำอะไรที่เป็นโครงสร้างจริงๆ จังๆ เป็นรูปแบบจริงๆ จังๆ ว่า จะทำอย่างไรให้ เคลื่อน Mindset ที่ว่าจากโรงเรียนเป็นฐานในการเรียนรู้ หรือสถาบันการศึกษาเป็นฐานในการเรียนรู้ ไปสู่ผู้เรียนเป็นฐานในการเรียนรู้”
มีสโลแกนง่ายๆ ว่า ‘อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน’ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงสร้างและมายเซ็ต (Mindset)
ในฐานะเราเป็นผู้ใหญ่อาจจะต้องสนับสนุนเรื่องโครงสร้าง จัดการเรื่องโครงสร้างพอสมควร โครงสร้างก็อาจจะเป็นทั้งรูปแบบที่มองเห็นได้และมองเห็นไม่ได้ ส่วน Mindset ก็เหมือนกัน ต้องเปลี่ยนความเชื่อที่ว่า สถานศึกษาเท่านั้นที่เป็นที่สร้างการเรียนรู้ เปลี่ยนเป็นผู้เรียนก็สร้างการเรียนรู้เองได้”
ในสถานการณ์ที่ภายนอกบ้านไม่น่าไว้วางใจ หรือแม้กระทั่งที่โรงเรียนเองก็ตาม ‘บ้าน’ จึงเป็นสถานที่สร้างการเรียนรู้ที่ดีที่สุด แต่การเรียนรู้แบบเดิมก็อาจจะไม่เหมาะสมแล้ว ครูใหญ่วิเชียรบอกว่านี่เป็นโอกาสทั้งของเด็ก ผู้ปกครอง และครู ที่จะเกิดกระบวนการทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะใช้โอกาสนี้ส่งผลถึงการเคลื่อน Mindset ของทั้ง 3 กลุ่ม รวมไปถึงการจัดการต่างๆ ที่จะยังคงการเรียนรู้ไว้ไม่ให้ถดถอยขณะที่เด็กๆ ต้องอยู่บ้าน
เขาอธิบายว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการเคลื่อน Mindset การเรียนรู้จาก ‘โรงเรียน’ เป็นฐาน สู่ ‘ผู้เรียน’ เป็นเจ้าของการเรียนรู้ ‘อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน’ นำไปสู่แนวคิดที่ว่า กระบวนการเรียนรู้ส่วนมากของมนุษย์ควรจะเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง สอดคล้องกับยุคสมัยที่ทุกอย่างค้นหาได้ง่ายๆ ด้วยเทคโนโลยี
เปลี่ยน Living เป็น Learning
ในช่วงภาวะโควิด – 19 อันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต แต่สำหรับครูและผู้ปกครอง ต้องร่วมกันใช้ช่วงเวลานี้ให้เป็นโอกาสส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ ให้ไม่ชะงัก ไม่ถดถอย และถึงที่สุดแล้วก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโควิด – 19 ได้
ครูใหญ่วิเชียรบอกว่านี่คือโอกาสฝึกฝนความเป็น ‘Self Directed Learner’ ให้แก่เด็กๆ ว่าจะทำอย่างไรในภาวะโควิด – 19 โดยยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ ยังเรียนรู้ปกติ อยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้ โดยที่ไม่ต้องหวาดกลัวมากเกินไป เมื่อมีวัตถุประสงค์แบบนี้แล้ว ก็นำไปสู่การออกแบบการทำงาน
“ครูกับผู้ปกครองทำงานร่วมกันอยู่ 2 – 3 ครั้งเลยถึงลงตัว เรื่องการให้ผู้ปกครองออกแบบวิถีชีวิตที่บ้าน จาก Living เป็น Learning ให้ได้ โดยเราเริ่มต้นจากให้ทำอย่างง่ายก่อน ให้มี 3 ช่วง ที่เด็กจะต้อง ‘ทำท่าเรียน’ คือถึงเวลาก็มานั่งเรียน มานั่งทำกิจกรรม อาจจะมีพ่อแม่ทำด้วยถ้าชั้นเล็ก ชั้นโตเขาก็ต้องทำเอง
สักพักคำว่าทำท่าเรียนจะกลายเป็นพฤติกรรมการเรียน และในที่สุดก็จะเป็นวิถีแห่งการเรียนไปเลย เพราะเวลาเขาอยู่บ้านจะรู้สึกผ่อนสบาย อยากจะทำอะไรก็ได้ ตอนไหนก็ได้ ทีนี้เราคุยกับพ่อแม่บ่อยครั้งมาก ครั้งที่ 2 – 3 ถึงลงตัว แล้วพอเป็นวัยอนุบาลจะไม่ใช่ 3 ช่วงเวลาแล้ว ตอนอยู่บ้านคือกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดเลย”
PLC เคล็ดไม่ลับการออกแบบการเรียนรู้
ครูใหญ่วิเชียรยกให้ Professional Learning Community (PLC) เป็นกระบวนการที่ทำให้ครูเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ ส่วนผู้ปกครองเป็นผู้เกื้อหนุนการเรียนรู้หรือสนับสนุนการเรียนรู้ โดยเปลี่ยนชุดความคิดด้านการสอนแบบเก่าๆ มาเน้นกระบวนการที่ผู้เรียนเป็น ‘Self Directed Learner’
“กระบวนการ PLC ที่มีคุณภาพทำให้ครูและคนที่เกี่ยวข้องได้วิเคราะห์ ได้เห็นปัญหา ได้เห็นแง่มุมต่างๆ อย่างแท้จริง”
“เราคุยกันมากถึงเรื่องสถานการณ์ ความซับซ้อนของปัญหา เด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร ครอบครัวแต่ละครอบครัวเป็นอย่างไร เราเก็บข้อมูลมาเรื่อย เพราะเรามีหลายอย่างที่ทำคู่ขนานกัน เราก็ได้ข้อมูลมา เช่น เรามีบางโครงการที่เข้าไปช่วยผู้ที่มีผลกระทบจากโควิด แล้วก็ช่วยผู้ปกครองบางกลุ่ม เพราะฉะนั้นข้อมูลก็จะกลับมาที่เราเยอะ ตัวเด็กเองด้วยความที่เรา PLC กันบ่อย เราจะเข้าใจเด็ก ความซับซ้อนพวกนี้จึงนำมาสู่การจัดรูปแบบและกระบวนการที่จะเข้าไปสู่เด็กแต่ละคนได้”
สถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ ครูใหญ่วิเชียรอธิบายว่ากระบวนการ PLC ทำกันตั้งแต่ก่อนปฐมนิเทศการเรียน ทำอย่างต่อเนื่อง เพราะความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด และผู้ปกครองก็มีพื้นฐานที่แตกต่างกัน โดยเป้าหมายที่ครูต้องกำหนดไว้มีอยู่ 3 ส่วน คือ
- ทำอย่างไรที่จะพัฒนาผู้เรียนได้และยังคงเลือกที่จะพัฒนาสมรรถนะที่สำคัญได้
- ทำอย่างไรให้ผู้ปกครองแต่ละระดับชั้นเข้าใจลูกจริงๆ เห็นเป้าหมายของช่วงชั้นนั้นจริงๆ และยังเห็นเชื่อมโยงไปยังเป้าหมายไกลๆ ด้วย
- ทำอย่างไรให้ผู้ปกครองรู้วิธีการ คือการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ทั้งออนไซต์และออนไลน์ ทั้งเรียลไทม์และไม่เรียลไทม์
“ทั้งสามข้อนำไปสู่ ‘การออกแบบกระบวนการ’ เป็นวิธีการออกโจทย์ที่ซับซ้อนแต่ได้ผล สร้างกระบวนการที่จะทำงานกับผู้ปกครองและเด็ก โยงใยกันอย่างไร ระดับไหน เราจะกำหนดตัวจัดกระทำอย่างไร จะวัดอย่างไร พวกนี้เราต้องออกแบบการดำเนินการ กระบวนการก็จะเป็นพลวัตมากๆ หมุนเวียนกันไป ลงมือทำ เอามาสะท้อนผล ให้ฟีดแบคกับกลับมาสะท้อนผล
เพราะฉะนั้น PLC จะเกิดขึ้นทุกสัปดาห์ เราจะได้เห็นทุกแง่มุมว่าผู้ปกครองแต่ละกลุ่มที่เราจัดไว้ เวลาเราจะกระทำลงไปท่านได้เข้าใจลูกมากขึ้นไหม เข้าใจวิธีทำไหม ตัวเด็กก็เหมือนกัน เด็กที่เราคิดว่าแบ่งเป็นกลุ่มที่ยากลำบาก พอเข้าไปช่วยเขาเรียนรู้ได้ดีขึ้นไหม ถ้าไม่ดีจะทำอย่างไร”
การบ้านที่เยอะ – ยุ่ง ถูกยกเป็นตัวอย่างอุปสรรคของการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ เพราะโดยทั่วไป เมื่อเด็กเรียนที่บ้าน ครูจะมอบการบ้านวิชาของตัวเอง ผลคือเด็กๆ จะมีการบ้านล้นมือ และหลายชิ้นก็ไม่มีคุณค่าต่อการใช้ความรู้หรือทักษะเพื่อให้ออกมาเป็นสมรรถนะ ครูใหญ่วิเชียรบอกว่ามันเยอะเกินไปจนไม่มีเวลาใคร่ครวญออกมา ทางออกคือเปลี่ยนความเยอะ-ยุ่งให้เป็นความซับซ้อนและท้าทาย
สำหรับครูที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจะคิดโจทย์กันมา แล้วมาทำ PLC กัน ดูแง่มุมว่ามีโจทย์อย่างไร สถานการณ์แบบไหนที่จะสร้างให้เด็กแสวงหาความรู้ด้วยและดึงความรู้มาเป็นสมรรถนะด้วย ทำงานกันสักพักครูก็จะออกแบบโจทย์ที่ซับซ้อนท้าทาย เหมาะกับกลุ่มได้ โดยออกแบบโครงสร้างรูปแบบการเข้าถึงข้อมูลทั้งออนไลน์ – ออนไซต์ ทั้งแบบเรียลไทม์ ไม่เรียลไทม์ ถ้าเรียลไทม์จะต้องสั้นและเน้น Reflection เท่านั้น ไม่มีการบรรยาย
“กระบวนการ Reflection ที่ดี คือการฝึกกันว่าตั้งคำถามอย่างไรให้เด็กรู้ตัวว่าเป้าหมายคืออะไร ตั้งคำถามอย่างไรให้เด็กรู้ตัวว่าเขาอยู่ตรงไหน และตั้งคำถามอย่างไรให้เด็กรู้ว่าเขาต้องทำอย่างไร ตรงนี้เป็นศิลปะมาก”
“ผู้ปกครองที่มาเรียนที่โรงเรียน ก็ทำ 2 – 3 เรื่องนี้ ฝึกฝนผู้ปกครองให้รู้ว่าจะซัพพอร์ตเด็กอย่างไรในแต่ละวัย โดยการฝึกฝนผู้ปกครองมี 3 อย่าง หนึ่ง คือต้องรู้จักลูกจริงๆ เพราะบางคนมีลูกเป็นมัธยมแล้วยังเข้าใจว่าลูกต้องทำตัวเหมือนอนุบาล ซึ่งวิธีการที่จะปฏิบัติกับลูกต้องเปลี่ยนไปถ้าเขาเข้าใจลูกจริงๆ
“อย่างที่สอง เขาต้องเข้าใจเป้าหมายจริงๆ ว่าการศึกษาหรือการเรียนรู้ในสภาวการณ์แบบนี้ อะไรคือสิ่งสำคัญ อะไรคือสิ่งที่จับจ้อง อะไรคือเป้าหมาย และสามเขาต้องรู้วิธี ว่าจะฟีดแบคอย่างไร จะประเมินอย่างไร จะสังเกตอย่างไร จะส่งงานไปให้คุณครูอย่างไร คือสามเรื่องใหญ่ที่ผู้ปกครองต้องรู้”
ส่วนโครงสร้างการทำงานที่ครูใหญ่วิเชียรนำมาเป็นตัวอย่าง จะพบว่าทางโรงเรียนให้การบ้านไม่เยอะ คือ มี Problem-based Learning (PBL), ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ, บันทึกชีวิต, บันทึกการอ่าน และจิตศึกษา (เช่น ฝึกสลับที่ความคิด สลับที่ความรู้สึก ฝึกการให้เหตุผลจากเหตุการณ์ของสังคม ฯลฯ) เขาอธิบายว่า ‘จิตศึกษา’ สำคัญมากที่สุด เพราะตระหนักว่าแม้เด็กจะมีสมรรถนะครบทุกด้าน แต่อาจถูกนำไปใช้อย่างผิดๆ
“บางทีการมีสมรรถนะครบทุกด้านอาจจะไม่เป็นคุณกับใครก็ได้ ถ้าเขารวมกลุ่มกันใช้ความคิดที่ซับซ้อนสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพจนสามารถโจรกรรมได้ เราจึงต้องบอกเรื่องหนึ่งกับผู้ปกครองแล้วให้ผู้ปกครองฝึกฝน คือเรื่องการตัดสินใจอย่างมีจริยธรรม”
“เพราะการฝึกฝนการตัดสินใจอย่างมีจริยธรรมผ่านจิตศึกษาก็จะช่วยให้ผู้เรียนชั่งน้ำหนัก ประเมินผลที่จะทำให้เกิดผลกระทบทางบวกกับคนหมู่ใหญ่ได้เสมอ ก็กลายเป็นว่าเขาใช้สมรรถนะไปทางที่เป็นคุณกับคนอื่นๆ ได้”
สำหรับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้ใช้เครื่องมือคือ ตารางการประมวลความก้าวหน้าของผู้เรียน มาช่วยดีไซน์ให้เห็นว่าเด็กได้รับงานหรือไม่ ส่งงานหรือเปล่า ครูให้ฟีดแบคหรือเปล่า และสุดสัปดาห์ครูมีประเมินหรือไม่
ประโยชน์ของการประเมินในแต่ละสุดสัปดาห์ก็เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนของสัปดาห์ถัดไป ได้ผลหรือไม่กับเด็กแต่ละกลุ่ม ครูใหญ่ย้ำว่าฟีดแบคสำคัญมากต่อผู้เรียน เช่นเวลาครูให้การบ้านเด็กนักเรียนไป เด็กบางคนจับทิศทางไม่ถูก การฟีดแบคอย่างรวดเร็วทำให้เขากลับมาสู่ทิศทางและเป้าหมายที่ต้องทำให้ถูกทางได้เร็ว สุดท้ายก็ไม่ล้มเหลว