- การกลั่นแกล้งรังแก (Bully) ในเด็กและเยาวชน นับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก
- นอกเหนือจากครอบครัว โรงเรียน และค่านิยมสังคมแล้ว หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ซ้ำเติมผลกระทบ ด้านสุขภาพจิตของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อคือ ‘ทัศนคติ’ ของผู้ใหญ่ที่ละเลยเพิกเฉย
- การติดตั้งทักษะชีวิตเพื่อรับมือกับการกลั่นแกล้งรังแกกัน ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กๆ มีวิธีที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์และขอความช่วยเหลือ
“เพื่อนล้อเล่นแค่นี้ทำไมต้องโกรธ”
“พ่อ(แม่) บอกแล้วใช่ไหมว่าให้ไปฟ้องครู”
“ทำไมปล่อยให้เพื่อนชกอยู่ฝ่ายเดียวล่ะ”
“ถูกแกล้งแค่นี้ทำเป็นรับไม่ได้ โรงเรียนไหนก็มีกันทั้งนั้น”
สมัยเด็กๆ เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำพูดลักษณะนี้จากครูและผู้ปกครอง ด้วยความเป็นเด็กทำให้ไม่อาจโต้เถียงและจำใจเชื่อว่าการกลั่นแกล้งรังแกกันเป็นเรื่องปกติที่ต้องอดทน แต่ข่าวร้ายคือเด็กที่ตกเป็นเหยื่อส่วนมากยังติดอยู่กับความรู้สึกหวาดกลัวเจ็บปวด จนกลายเป็นบาดแผลที่ฝังลึกในจิตใจ และแม้จะมีการให้ข้อมูลความรู้กับสังคม รวมถึงรณรงค์ยุติการกลั่นแกล้งรังแก แต่ตัวเลขของเด็กๆ ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงนี้กลับไม่ได้ลดลงเลย
ในปี 2566 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพโดยกองสุขศึกษาเปิดเผยผลการสำรวจเด็กและเยาวชนจำนวน 31,271 คน พบว่าร้อยละ 44.2 หรือเกือบครึ่งหนึ่งเคยตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแก (Bully)
สอดคล้องกับข้อมูลของกรมสุขภาพจิตที่ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่าเด็กและเยาวชนไทยมีปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกันสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก อีกทั้งการกลั่นแกล้งรังแกยังมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
The Potential ชวน ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มาพูดคุยถึงสาเหตุและรูปแบบของการกลั่นแกล้งรังแก (Bully) พร้อมแนะนำวิธีป้องกัน หลีกเลี่ยง และพิชิตการรังแกในหลากหลายแง่มุม
“นิยามของคำว่า บูลลี่ หมายถึงการกลั่นแกล้งรังแกกัน ซึ่งมีองค์ประกอบคือ การมีเจตนาทำให้ผู้อื่นเสียใจ ได้รับบาดเจ็บ หรือรู้สึกไม่ดีต่างๆ นาๆ ซึ่งการกระทำนี้มักเกิดขึ้นซ้ำๆ บ่อยๆ รวมถึงความไม่เท่าเทียมกันในเรื่อง Power คือผู้ที่มีอำนาจกว่ากระทำกับผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า หรือเด็กที่แข็งแรงทำกับเด็กที่อ่อนแอไม่เข้มแข็ง
ส่วนเรื่องไซเบอร์บูลลี่จะเป็นการกลั่นแกล้งรังแกกันที่เกิดขึ้นผ่านสื่อต่างๆ ทั้งทางโซเชียล ออนไลน์ และทางโทรศัพท์ โดยเฉพาะปัจจุบันที่ภาพหรือคลิปวีดีโอสามารถส่งต่อและแชร์ถึงกันง่ายขึ้น ดังนั้นพอมันเป็นเรื่องออนไลน์ บางทีผู้กระทำไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน สามารถทำการไซเบอร์บูลลี่ได้โดยที่คนก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร ซึ่งเอื้อให้เขาสามารถกระทำกับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น รวมถึงการปลอมแปลงเป็นผู้อื่นเพื่อไม่ให้ถูกจับได้ อันนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พบบ่อย
เรื่องเหล่านี้ส่งผลกระทบหลายอย่าง เพราะผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งรังแกอาจได้รับผลกระทบทางจิตใจ หรือบางครั้งอาจเลยเถิดไปถึงขั้นถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกคุกคามทางเพศในภายหลัง”
คุณหมอคมสันต์อธิบายต่อว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้การกลั่นแกล้งรังแกไม่เคยหมดไปคือ ‘ทัศนคติ’ ของผู้ใหญ่ที่มักมองว่าการบูลลี่คือการแกล้งหรือหยอกล้อกันตามประสาเด็กๆ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาการบูลลี่ในรั้วโรงเรียน แทนที่ผู้ใหญ่จะออกตัวปกป้อง พวกเขากลับเลือก ‘ตำหนิ’ เด็กว่าอ่อนแอไม่สู้คน หรือบางรายอาจเปรียบเปรยว่าชีวิตนี้ยังมีเรื่องที่ยากและโหดร้ายกว่านี้เยอะ ทำให้เด็กที่ตกเป็นเหยื่อเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวไร้ที่พึ่ง
ทักษะชีวิตพิชิตการรังแก วิชาพื้นฐานสำหรับเด็กทุกคน
จากแนวโน้มการกลั่นแกล้งรังแกกันที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับทัศนคติของคนไทยส่วนหนึ่งที่มองว่าการกลั่นแกล้งรังแกเป็นเรื่องปกติ ทำให้นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรจิตวิทยาเด็กวัยรุ่นและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลเลือกทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ ‘ทักษะชีวิตพิชิตการรังแก’ โดยมีคุณหมอคมสันต์รับหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ก่อนที่ทั้งคู่จะผลักดันและพัฒนาวิทยานิพนธ์นี้สู่หลักสูตรทักษะชีวิตพิชิตการรังแกที่ไม่ว่าใครก็สามารถเรียนวิชานี้ได้
“จุดเริ่มต้นมาจากนักศึกษาชื่อ อรัญญา จิตติถาวร ที่มองเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการกลั่นแกล้งรังแก อีกทั้งการจะให้ความช่วยเหลือแต่ละบุคคลมันยาก ถ้ามีหลักสูตรที่สามารถเผยแพร่ความรู้ของการกลั่นแกล้งรังแกกัน เพื่อส่งเสริมทักษะที่ช่วยผู้ถูกรังแกให้รู้วิธีรับมือ รวมถึงบุคคลสำคัญมากๆ คือผู้ที่อยู่รอบข้างที่เห็นเหตุการณ์การรังแกให้สามารถเข้าใจ ไม่นิ่งดูดายต่อการรังแกกัน และไม่มองว่ามันคือการเล่นกันของเด็ก”
สำหรับเนื้อหาในทักษะชีวิตพิชิตการรังแกจะแบ่งออกเป็นสามส่วนคือการทำความรู้จักการกลั่นแกล้งรังแก การเรียนรู้สาเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และส่วนสุดท้ายคือวิธีการรับมือต่อการกลั่นแกล้งรังแก
“ปัจจัยที่ทำให้เด็กถูกรังแกกับเด็กที่เป็นผู้รังแกมีทั้งส่วนที่เหมือนกันและต่างกัน เพราะเด็กที่เป็นเป้าหมายหรือถูกรังแกบ่อยๆ มักจะมีบุคลิกภาพบางอย่าง เช่น เป็นคนเก็บตัวเงียบๆ ไม่ค่อยพูดคุยบอกเล่าสิ่งต่างๆ กับใคร ซึ่งส่วนมากมีผลมาจากครอบครัวที่เขารู้สึกว่าไม่ได้รับฟังเขาหรือพูดไปก็ทำให้เขาถูกตำหนิ เขาเลยเลือกไม่พูดหรือขอความช่วยเหลือจากใคร
ส่วนผู้ที่ไปรังแกผู้อื่นเองก็เหมือนกัน หลายคนมาจากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ บางครอบครัวมีการใช้ความรุนแรง หรือบางทีอาจเป็นการเล่นกันในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่แหย่แกล้งเด็กให้โกรธหรือหงุดหงิด ทำให้เด็กรู้สึกว่านี่คือการเล่นกันเฉยๆ เด็กจึงนำการเล่นในลักษณะนี้ไปใช้กับเพื่อนๆ ด้วยเหมือนกัน นอกจากปัจจัยเรื่องครอบครัว กลุ่มที่ชอบรังแกผู้อื่นบางทีก็ตกเป็นเหยื่อมาก่อน หรือบางคนอาจพบปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น มีภาวะการจัดการอารมณ์ไม่ดี มีปัญหาสมาธิสั้น และมีการเรียนรู้บกพร่อง”
ส่วนประเด็นเรื่องค่านิยมทางสังคมมีส่วนกับการกลั่นแกล้งรังแกหรือไม่ คุณหมอคมสันต์มองว่าเป็นปัจจัยดังกล่าวมีความเกี่ยวข้อง ทั้งยังส่งผลกระทบต่อเยาวชนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
“อย่างเรื่องภาพลักษณ์ความเป็นผู้ชายที่สอนให้ผู้ชายต้องเข้มแข็ง ก็เป็นค่านิยมสังคมแบบหนึ่งที่ค่อนข้างดั้งเดิม เพราะปัจจุบันเราน่าจะสนับสนุนและเข้าใจเรื่องความหลากหลายมากกว่า ไม่ใช่ว่าผู้ชายทุกคนจะต้องเข้มแข็งหรือต้องต่อสู้เสมอไป เพราะคนที่ถูกรังแกเองอาจมีข้อจำกัดบางส่วน รวมถึงผู้หญิงเองด้วยที่ไม่ได้แปลว่าต้องอ่อนแอหรืออ่อนโยน ผู้หญิงก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่นด้วยเหมือนกัน”
‘ไม่มีใครสมควรถูกรังแก’ ตั้งสติ ยืนยันสิทธิ และขอความช่วยเหลือ
คุณหมอคมสันต์บอกว่าผู้ที่กลั่นแกล้งรังแกผู้อื่นมักมีจุดประสงค์ที่ต้องการให้เหยื่อมีความอับอาย เสียหาย รวมไปถึงการบาดเจ็บทางด้านร่างกายและจิตใจ ดังนั้นทักษะในการรับมือและป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ผู้ตกเป็นเหยื่อและสังคมควรจะเรียนรู้ร่วมกัน
“สำหรับเหยื่อหรือเด็กที่ถูกรังแก อันดับแรกเราก็คงให้ตั้งสติก่อน เพราะเด็กบางคนอาจตอบสนองไปด้วยความโกรธ หงุดหงิดหรือไม่พอใจ ซึ่งทำให้ผู้ที่รังแกเองรู้สึกสนุกหรือชอบใจที่เห็นเหยื่อโกรธ ดังนั้นต้องตั้งสติ และยืนยันสิทธิว่าเรารู้สึกอย่างไร เช่น บอกว่าเราไม่ชอบที่เขามาทำแบบนี้กับเรา และหากเขายังทำอีกก็ไปบอกคุณครู ซึ่งการยืนยันสิทธิและขอความช่วยเหลือจะเป็นปัจจัยที่ช่วยเหลือปัญหานี้ได้
นอกจากนี้ เพื่อนหรือคนรอบข้างก็ถือเป็นส่วนสำคัญมากๆ ถ้าพบเห็นการรังแก การเข้าไปห้ามถือเป็นสิ่งที่ดีในกรณีที่ไม่มีอันตรายใดๆ เกิดขึ้นต่อตัวผู้ห้ามและเหยื่อ แต่ถ้าดูแล้วอาจเกิดอันตรายขึ้นต่อเนื่อง อาจจะลองเปลี่ยนเป็นการเข้าไปพูดคุยกับเหยื่อที่ถูกรังแกว่ารู้สึกอย่างไร มีอะไรให้เราช่วยไหม หรือช่วยพาเหยื่อไปหาคนที่สามารถให้ความช่วยเหลือต่อไปได้ เช่น ครูหรือพ่อแม่ของเขา ก็จะช่วยให้เหยื่อที่ถูกรังแกรู้ว่าอย่างน้อยตัวเขาก็ไม่โดดเดี่ยว มีคนที่เห็นอกเห็นใจ และพร้อมช่วยเหลือเขา”
โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตและไม่นิ่งดูดาย
ผลสำรวจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพโดยกองสุขศึกษาระบุว่า เหตุการณ์การกลั่นแกล้งรังแกในเยาวชนมักเกิดขึ้นในโรงเรียนสูงถึงร้อยละ 86.9 คุณหมอคมสันต์ให้ความเห็นว่า โรงเรียนควรมีมาตรการในการป้องกันการกลั่นแกล้งรังแกอย่างจริงจังเพื่อลดอำนาจของนักเรียนที่ชอบรังแกเพื่อน
“โรงเรียนควรมีนโยบายต่างๆ ทั้งการลงโทษผู้กระทำผิดว่าจะทำอย่างไร เพราะนอกจากการลงโทษแล้ว โรงเรียนควรเข้าไปประเมินสาเหตุที่ทำให้เขาตัดสินใจกลั่นแกล้งรังแกเพื่อน ซึ่งน่าจะดีกว่าการลงโทษเพียงสถานเดียว ส่วนในบริเวณที่อาจเป็นอันตรายในโรงเรียน ก็ควรทำการติดกล้องวงจรปิด รวมถึงอาจมีการจัดตั้งกลุ่มนักเรียนที่พร้อมช่วยเหลือเพื่อนให้คอยดูแลสอดส่องเพื่อให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กมากขึ้น
ส่วนเรื่องนักจิตวิทยาโรงเรียนที่หลายฝ่ายพูดถึงก็เป็นส่วนที่จำเป็นอย่างมาก เพราะหากโรงเรียนมีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนก็จะมีผู้ที่สามารถให้ความรู้กับเด็กและบุคลากรคนอื่นๆ ในโรงเรียนได้ด้วย ทำให้เกิดความเข้าใจใส่ใจในเรื่องจิตใจของเด็กมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นด่านแรกในการจัดการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นก่อนที่เรื่องต่างๆ จะบานปลายออกไป”
ขณะเดียวกัน บุคคลที่สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ควรจะมองปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกให้เป็นเรื่องที่ควรหาทางช่วยเหลือ และไม่ควรนิ่งดูดายและตำหนิเมื่อลูกเข้ามาขอความช่วยเหลือ
“บางครั้งนอกจากการขอความช่วยเหลือ คุณพ่อคุณแม่ หรือแม้แต่คุณครูเองต้องหมั่นสังเกตว่าเด็กคนนี้เงียบลงกว่าเดิมไหม ดูไม่ค่อยสุงสิงกับใคร เก็บตัว มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปไหม ผลการเรียนตกลงหรือเปล่า มีการปฏิเสธที่จะมาโรงเรียนบ่อยๆ ไหม ซึ่งอาจเป็นสัญญาณหนึ่งว่าเขาไม่มีความสุขที่โรงเรียนและอาจเป็นเหยื่อของการรังแก อันนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าไปพูดคุยถามไถ่ มีอะไรให้ช่วยไหม ก็จะช่วยให้เด็กที่ถูกกระทำรู้สึกว่ายังมีคนที่ยังใส่ใจอยากรู้ว่าเขาเป็นยังไง เพราะบางครอบครัวอาจปิดกั้นลูกในเรื่องนี้และมักตำหนิเวลาลูกมาเล่าสิ่งต่างๆ ให้ฟัง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการปิดประตูใส่เขา ดังนั้นพ่อแม่ควรรับฟังก่อนโดยไม่ตัดสิน ตรงนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กที่ถูกกระทำกล้ามาพูดคุย
นอกจากนี้ พ่อแม่ควรช่วยส่งเสริมทักษะอื่นๆ ด้วย เช่น เสริมวิธีการสื่อสารกับคนที่เข้ามารังแก เพื่อยืนยันสิทธิว่าไม่ชอบไม่โอเคที่มีคนมากระทำแบบนี้ พ่อแม่อาจแสดงบทบาทสมมติให้ลูกลองพูดตอบโต้เหมือนการซ้อมไว้ก่อนซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยได้ แต่สิ่งสำคัญคือลูกอาจไม่พร้อมหรือทำไม่ได้ ซึ่งพ่อแม่คงต้องไปขอความช่วยเหลือจากครู ส่วนครูก็ไม่ควรนิ่งดูดายและรีบให้การช่วยเหลือ”
คุณหมอคมสันต์ทิ้งท้ายสั้นๆ ว่าอยากให้สังคมตระหนักถึงปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกันในทุกรูปแบบ ไม่มีใครสมควรถูกรังแก และต่อให้ไม่ใช่ผู้ถูกรังแก ทุกคนก็มีส่วนช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้
“การกลั่นแกล้งรังแกเกิดขึ้นทุกวัน และไม่ใช่แค่เรื่องธรรมดาทั่วไป ไม่มีใครสมควรถูกรังแกและทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ถูกรังแก
เพราะหากเด็กคนหนึ่งถูกกระทำซ้ำๆ แม้จะไม่รุนแรงแต่ถ้าซ้ำๆ บ่อยๆ เด็กก็จะรู้สึกว่าไม่มีใครช่วยเหลือเขาได้ ทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจของเด็กต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูใส่ใจ ไม่มองตรงนี้ว่าเป็นเรื่องเล็กๆ เด็กๆ ก็จะทำให้ตัวเด็กเองมองว่าเขามีคุณค่ามากขึ้นเพราะทุกคนให้ความใส่ใจกับเรื่องนี้”
ผู้สนใจเรียนรู้ ‘ทักษะชีวิตพิชิตการรังแก’ สามารถลงทะเบียนเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมรับ E-Certificate จากมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อผ่านการวัดผลตามเกณฑ์ที่กำหนด เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://mux.mahidol.ac.th |