- ‘ศิลปะ’ นอกจากจะทำให้เกิดสุนทรียะและความอิ่มเอมใจแล้ว ยังช่วยเรื่องการเติบโตของมนุษย์ ทั้งในแง่ความคิด ความรู้สึก ทักษะ และเป็นเครื่องมือที่ใช้เรียนรู้โลกและสังคมอีกด้วย
- Head Hand Heart คือทักษะสำคัญของการเติบโตของมนุษย์ที่จะเปลี่ยนทั้งภายในและภายนอก และศิลปะช่วยเรื่องการเติบโตนี้ได้
- ทุกคนล้วนมีความเป็นศิลปินในตัว และมีเรื่องราวที่อยากเล่าอยู่แล้ว เพราะศิลปะเป็นน้ำมันหล่อลื่นในชีวิตที่คอยเลี้ยงหัวใจไว้
ภาพ: ศุภจิต สิงหพงษ์
‘เจ้าหญิงคาราเต้’ เป็นละครที่สร้างขึ้นโดยใช้วิธีอ่านบทนิทาน และชวนผู้ชมมาอ่านร่วมกับนักแสดงด้วย … ภายใต้หลักคิดที่ว่า ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกับละครได้ ไม่เกี่ยงเพศ วัย และอายุ เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมีความเป็นศิลปินอยู่ในตัว มีเรื่องที่อยากเล่าและแบ่งปันประสบการณ์
บ่ายวันหนึ่ง ณ ลานโล่งหน้าห้องออดิทอเรียมที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ที่ถูกเนรมิตเป็นเวทีละครไปชั่วขณะ เมื่อนักแสดงจากกลุ่ม ‘คิดแจ่ม’ พร้อมกับเครื่องดนตรีคู่ใจนั่งประจำตำแหน่ง พร้อมๆ กับที่ผู้ชมล้อมวงกันเข้ามา พ่อแม่หลายคนยืนดูแล้วส่งเด็กๆ ไปนั่งข้างหน้า แววตาจับจ้องรอดูละครที่ไม่ใช่ละคร
งานนี้ไม่มีฉาก ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีชุดเจ้าหญิงอลังการ ไม่มีหน้ากากปีศาจร้าย มีแต่เรื่องราวและเสียงดนตรีประกอบ แต่นักแสดงและผู้ชมต่างก็ผลัดกัน ‘อ่าน’ นิทานเรื่อง ‘เจ้าหญิงคาราเต้’ อย่างสนุกสนาน
เจ้าหญิงคาราเต้ ว่าด้วยเรื่องราวของเจ้าหญิงเบลินด้า พระธิดาของพระราชาผู้เกิดมาไม่ได้มีหน้าตาสะสวยจนเสด็จพ่อถึงกับร้องยี้ แถมมีวิชาคาราเต้เป็นอาวุธอีกต่างหาก แต่การผจญภัยของเธอนั้นน่าตื่นตาตื่นใจจนผู้ชม (โดยเฉพาะเด็กๆ) ไม่อาจละสายตาได้เลย
การอ่านนิทานบนเวทีละครมีความพิเศษอย่างไร ศิลปะทำงานอย่างไรกับผู้คนโดยเฉพาะเด็กๆ เบิร์ด-นีลชา เฟื่องฟูเกียรติ แห่งกลุ่มคิดแจ่ม จะมาอธิบายให้ฟังอย่างแจ่มใส
ตอนนี้เบิร์ดเป็นทั้งนักแสดงอิสระ เป็นคุณครูสอนโยคะ และทำงานอบรมด้านละครสร้างสรรค์ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยส่วนตัวเบิร์ดสนใจละครที่เกี่ยวกับ ‘ครอบครัว’ ที่ไม่ได้หมายถึงแค่พ่อแม่ลูกเท่านั้น แต่หมายถึงทุกๆ คนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา นอกจากนี้ยังเป็นความฝันส่วนตัวที่เก็บไว้มากกว่า 25 ปี จากแรงบันดาลใจที่เคยไปทัวร์ละครกับกลุ่มละครมะขามป้อมที่ออสเตรเลียแล้วเห็นว่าประเทศอื่นๆ ทำกลุ่มละครเยาวชนกันเป็นล่ำเป็นสัน และเมื่อมีโอกาสได้มาทำละครเฉพาะกิจชื่อกลุ่ม ‘คิดแจ่ม’ ที่ ครูอุ๋ย-พรรัตน์ ดำรุง (อาจารย์ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ) ก่อตั้งขึ้นเพื่อไปเล่านิทานให้เด็กๆ ตามโรงพยาบาลฟัง ต่อมาเบิร์ดก็ได้ใช้ชื่อนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนปัจจุบัน โดยเน้นทำละครและเล่านิทานที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบตัว นิทานภาพ และใช้ละครหุ่น
“เรื่องเล่ามีพลังและไม่ใช่มีแค่สำหรับเด็กเท่านั้น” เบิร์ดกล่าว
สำหรับเบิร์ด เจ้าหญิงคาราเต้เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่น่าสนใจ เพราะเป็นลูกผู้หญิงที่เกิดมาไม่สวย พร้อมเสียงของผู้เป็นพ่อที่ร้องยี้ใส่หน้า เป็นการทำลายภาพจำหรือ stereotype ของเจ้าหญิงที่ต้องสวย รอเจ้าชายมาแต่งงานด้วยโดยสิ้นเชิง
เบิร์ดมองว่าป็นเรื่องที่ดี เพราะ…
“ถ้าหลีกเลี่ยงการ type ชีวิตก็จะเป็นอิสระขึ้น เราจะทำร้ายกันน้อยลง จะทำให้ความแตกต่างของลูกเรา คนข้างๆ เรางอกเงย ไม่ใช่แค่เพศหญิง เรื่องเฟมินิสต์อย่างเดียว ใครก็เป็นเจ้าหญิงได้ ผู้ชายก็เป็นเจ้าหญิงได้”
เหมือนกับที่ ‘หลิน’ หนึ่งในทีมคิดแจ่มเดินเข้าไปหาเด็กชายคนหนึ่งในหมู่ผู้ชม ถือหน้ากากเจ้าหญิงคาราเต้และส่งบทให้ ขอให้น้องช่วยอ่าน
การอ่านนิทานไปพร้อมกันแบบนี้มีอะไรน่าสนใจ ทำไมจึงเลือกวิธีนี้?
“นี่เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสื่อสาร ที่สำคัญเราใช้เทคนิคเชื่อมไปกับตัวหนังสือด้วย คือ play reading บทมาจากหนังสือสองเล่ม ถ้าเป็นไปได้เป็นหนังสือเลยก็ได้ ให้ทุกคนนั่งอ่าน มีอะไรมาประกอบ มีบล็อกกิ้งนิดหน่อยเดินหน้าเดินหลัง คนดูช่วยอ่านบ้าง พวกเราแต่ละคนไม่ต้องจำบท แต่ให้สวมบทบาทนั้นโดยใช้การอ่าน มันจะลิงค์เด็ก เรา ตัวหนังสือเข้ากับหนังสือ เป็นเครื่องมือให้รักการอ่านด้วย”
เบิร์ดแย้มให้ฟังถึงการทำงานเบื้องหลังกับทีมคิดแจ่มว่า ละครของคิดแจ่มเน้นการมีส่วนร่วมของนักแสดงและคนดู โดยเริ่มจากชักชวนเพื่อนๆ ที่ชอบเล่าเรื่อง ศิลปะ ดนตรี เล่นละครหุ่น หรือแม้แต่การแสดงละครใบ้ แล้วมาดูว่ามีเรื่องไหนที่อยากเล่าด้วยกันบ้าง และจะเล่ากันอย่างไรดี โดยไม่ลืมให้คนดูเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
ที่พิเศษคือยังคงแก่นของเรื่องเจ้าหญิงคาราเต้ด้วยการแสดงให้เห็นว่าศิลปะเป็นของทุกคน ไม่ใช่วัยใดวัยหนึ่ง โดยคัดเลือกนักแสดงที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนหน้าใสวัยรุ่น แต่เป็นคนธรรมดาหลากหลายช่วงวัย
“ไม่ใช่แค่วัยรุ่น เพราะเรื่องดนตรีไม่ใช่เรื่องวัยรุ่นอย่างเดียว การเล่นดนตรี การอยู่กับศิลปะไม่ใช่อยู่กับใครวัยใดวัยหนึ่ง อันนี้คือสิ่งที่เราเลือก ไปกับแก่นของเรื่องคือ stereotype
พ่อแม่บางคนเมื่อก่อนเป็นนักกีตาร์แล้วเลิกเล่นกีตาร์มาเลี้ยงลูก พอเราไปเล่นเจ้าหญิงคาราเต้ที่โรงเรียน พ่อแม่ถามก่อนเลยว่าทำงานอะไรกัน ทำไมทำอย่างนี้อยู่ได้ (หัวเราะ) ก็ได้แต่บอกว่าเราตั้งใจ เหมือนเวลาเราเห็นคนแก่ๆ เล่นละครทำไมรู้สึกแก่จัง ไม่หรอก ฟังก์ชั่นเหล่านี้มันอยู่ในเราทุกคน การอ่านนิทานก็เช่นกัน”
ผิดเอาใหม่ บทใช้ความเข้าใจและให้โอกาสกัน
ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของเจ้าหญิงคาราเต้คือการให้โอกาสทั้งนักแสดงและผู้ชมด้วยวิธีการ ‘ผิดเอาใหม่’ เบิร์ดบอกว่ากระบวนการทำงานของละครเรื่องนี้จะเรียกซ้อมเพียง 3 ครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องซ้อมจนแม่นยำ ให้โอกาสนักแสดงได้แสดงสดๆ กับตัวเองและให้โอกาสในการ “ขอโทษค่ะ เอาใหม่ค่ะ” บนเวทีละครอย่างจริงใจ เป็นการให้โอกาสกันและกันเพื่อให้บรรยากาศในการเล่าเรื่องผ่อนคลายมากขึ้น
นอกจากความสนุกสนานที่ผู้ชมจะได้รับจากละครแล้ว ยังเป็นโอกาสทองในการใช้เวลาคุณภาพร่วมกันของครอบครัวอีกด้วย พ่อแม่จะได้เห็นลูกในมุมอื่นๆ โดยเฉพาะในมุมที่ลูกได้อยู่ร่วมกับผู้คนในสังคม เพราะบางครั้งเมื่อโลกหมุนไวเกินไป จนชีวิตเร่งรีบทำให้พ่อกับแม่อาจไม่มีโอกาสได้เห็นลูกๆ ในมุมอื่นมากนัก
“ละครเวทีจะทำให้คุณเห็นลูกเวลาอยู่กับคนอื่น สร้างคอมมูนิตี้ สิ่งที่เห็นคือพ่อแม่ไม่เคยเห็นลูกเป็นแบบนี้ แล้วบางทีพ่อแม่ไม่รู้ว่าลูกตัวเองเกเรมาก ลูกแกล้งคนอื่นมันมาจากเขา เราไม่ได้ตัดสินเขานะ แต่เราเห็นว่าลูกมาจากพ่อแม่ เด็กจะสะท้อนกิริยาของพ่อแม่ พ่อแม่บางคนเห็นแล้วเขินๆ บางคนให้ท้าย เราก็ได้แต่ทำใจนิ่งๆ เอาไว้ เพราะเราต้องช่วยกันเลี้ยง” เบิร์ดสะท้อน
ศิลปะอยู่รอบตัว ไม่ต้องเรียนอาร์ตก็ทำได้
“ศิลปะเป็นอิสระด้วยตัวของมันเอง อะไรเป็นศิลปะได้ถ้ามันจรรโลงใจคุณ ยกเว้นผิดศีลธรรมคุณไปฆ่าใครเป็นงานศิลปะอันนั้นไม่นับ อย่างนั่งนับเม็ดข้าว ใช่อาร์ตหรือเปล่า เป็น mediation มั้ย อันนี้มีศิลปินทำแล้วนะ ในแง่อาร์ตมันใหญ่และกว้างขวางมาก
“บางครั้งเราต้องกลับมาถามตัวเองว่าเรามุ่งทำงานมุ่งมีชีวิตโดยขาดสุนทรียะบางอย่างในชีวิตหรือเปล่า ก็จะมีรายละเอียดถกเถียงกันอีก ศิลปะชั้นสูง ชั้นกลาง ร้องคาราโอเกะเป็นศิลปะมั้ย ก็เถียงกันไป แต่เรามีความรู้สึกว่าศิลปะเกิดขึ้นตรงไหนกับใครก็ได้”
พี่เบิร์ดยืนยันเพิ่มเติมว่าทุกคนมีความเป็นศิลปินในตัว และล้วนมีเรื่องราวที่อยากเล่าอยู่แล้ว เพราะศิลปะเป็นน้ำมันหล่อลื่นในชีวิตที่คอยเลี้ยงหัวใจไว้
“สำหรับตัวเอง เรารู้จักโลกใบนี้ผ่านศิลปะ อาจเป็นเด็กไทป์ศิลปะรึเปล่าไม่แน่ใจ เป็นเด็กที่โตมาแล้วเข้าใจโลกผ่านเสียง ตอนวัยรุ่นเข้าใจอีโมชั่นต่างๆ ผ่านการเล่นบทบาทสมมุติในละครเล็กๆ ของโรงเรียน โตมาก็เข้าใจโลกผ่านกระบวนการการละครด้วยการไปอบรมกระบวนการละครทำให้เจอผู้คน”
Head Hand Heart ทักษะสำคัญของการเติบโต
เบิร์ดเสริมว่าการพัฒนาของคนเรานั้นมี 3 ทักษะ ได้แก่ Head (ความคิดต่างๆ ความฉลาด ความรู้) Hand (ความรู้ด้านการลงมือปฏิบัติ ทักษะต่างๆ) Heart (ด้านความรู้สึก) ทักษะสำคัญของการเติบโตของมนุษย์ที่จะเปลี่ยนทั้งภายในและภายนอก และศิลปะช่วยเรื่องการเติบโตนี้ได้
“ถ้าสามอันนี้สมดุลกันจะทำให้คนคนหนึ่งตระหนักรู้ว่าทำอะไรลงไป คิดอะไร รู้สึกอย่างไร ถ้าสมดุลเสมอกันจะเป็นการเรียนรู้ที่พอดีและมีชีวิตอยู่อย่างอิสระ”
สำหรับพ่อแม่ที่ยังนึกไม่ออกว่าจะเอาศิลปะอะไรไปเล่นกับลูกดี เบิร์ดแถมเคล็ดลับให้ว่า เมื่อพาเด็กๆ มาทำกิจกรรมต่างๆ ก็ลองสังเกตนิดหนึ่ง ไปนั่งเป็นเพื่อนเขา และหากอยากจะมีอะไรเล่นกับลูกเพิ่มเติมอีกสักหน่อยที่บ้าน การนำหนังสือนิทานหรือการใช้สิ่งของรอบตัวมาเล่นกับลูกก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เป็นศิลปะง่ายๆ ที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์และช่วยเรื่องการเรียนรู้ของเด็กๆ
“ให้ศิลปะเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์กับคน อยู่เป็นเพื่อนเขา ใช้ของง่ายๆ ไม่เกินความสามารถ อย่างรอบแสดงเจ้าหญิงคาราเต้ที่จัดให้พ่อแม่โดยเฉพาะ ถามว่ามีหนังสือโปรดมั้ย มีคนยกมือ แลกกัน ลองเอามาอ่านกันดูนะ ตอบโต้กัน เราก็ชวนเขาแบบนั้น สามารถทำได้ ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่เอามาเสริมให้พ่อแม่
“เล่าให้ง่าย ไม่ทำอะไรเป็นเรื่องยาก ได้ประโยชน์กันและกัน ไม่ทำร้ายกัน มีส่วนร่วมโดยใช้ศิลปะเป็นแกน อยากจะให้ทุกคนเล่า เล่าด้วยกันเถอะ ไม่ต้องฟังอย่างเดียวก็ได้ เราอยากฟังคุณเล่า เพจเบิร์ดคิดแจ่ม ก็ยังส่งข่าว มีเวิร์คช็อป ไปที่นั่นที่นี่มา คิดถึงกันก็ส่งหากัน แฟนคลับน้อยแต่เหนียวแน่น”
‘เจ้าหญิงคาราเต้’ ช่วยพิสูจน์แล้วว่าแท้จริงแล้วศิลปะเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้โลก เป็นความอิ่มเอมหัวใจ และเป็นอะไรได้อีกหลายๆ อย่าง ทุกคนมีความเป็นศิลปินอยู่ในตัวอยู่แล้ว เด็กๆ สามารถลุกขึ้นอ่านบทเจ้าหญิงได้ หรือพ่อแม่ก็สามารถนำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ไปสร้างเป็นงานศิลปะเล่นกับลูกได้ ไม่จำเป็นต้องยุ่งยากซับซ้อน
เพราะศิลปะเป็นเรื่องของเราทุกคน