- จากคนนอกสู่คนใน จากแอร์โฮสเตสสู่นักการศึกษาในฐานะผู้ปกครองอาสาโรงเรียนเพลินพัฒนา เรื่องของแม่บี๋ สิติมา มุรธาทิพย์ ยืนยันกับเราว่า ใครๆ ก็เป็น ‘นักจัดการเรียนรู้’ ได้
- ความฝันของสิติมามีคำว่า ‘การศึกษาปฐมวัย’ ตั้งแต่มีคำนำหน้าว่าเด็กหญิง เพียงแต่คนรอบข้างเห็นศักยภาพของเธอว่าควรไปทิศทางอื่น น่ากลัวว่า… เธอดันทำมันได้ดี เพียงแต่การมีลูกทำให้เธอต้องกลับมาเกี่ยวข้องกับประเด็นการศึกษา และนี่เป็นจุดที่ทำให้เธอพบทางเดินใหม่
- การเปลี่ยนอาชีพที่เคยทำมาเป็นเวลา 25 ปี กระโดดสู่พรมแดนการเรียนรู้ใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นอีกครั้งที่เธอ …ทำได้
แม้แสงแดดยามเช้าวันพฤหัสบดีจะทำให้รู้สึกร้อน แต่สายลมอ่อนๆ ที่พัดผ่านรอบตัว เปลี่ยนอากาศอบอ้าวค่อยให้สบายตัวขึ้น ยังมีสีเขียวและร่มเงาของต้นไม้ที่โอบล้อมโรงเรียนเพลินพัฒนา ทำให้ไอร้อนทำอะไรเราไม่ได้มากนัก ที่นี่สถานที่นัดพบระหว่างเรากับ แม่บี๋ หรือ สิติมา มุรธาทิพย์ ผู้ปกครองอาสาและประธานสภาผู้ปกครองโรงเรียนเพลินพัฒนา จุดเริ่มต้นของบทสนทนาครั้งนี้มาจากการที่เราอยากรู้ว่า ทำไมเธอจึงตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพ จากแอร์โฮสเตสสู่การเป็นผู้ปกครองอาสา ทำงานด้านการศึกษาเต็มตัว
รอยยิ้มหวานเป็นสิ่งแรกที่ได้รับจากการพบหน้ากันครั้งแรกนี้ เธอเชิญชวนเราเข้าไปข้างในโรงเรียนเพื่อหาที่นั่งคุยกัน ระหว่างทางเดิน เราเห็นครูเดินเข้ามาทักทายแม่บี๋อย่างไม่ขาดสายสลับกับการรับโทรศัพท์ที่ดังเข้ามาเรื่อยๆ ให้ความรู้สึกว่า เป็นผู้ปกครองอาสานี่ก็ไม่ได้ง่ายและว่างเลย
แม่บี๋เล่าให้เราฟังว่า นอกจากงานผู้ปกครองอาสาที่ทำ เธอยังได้รับงานตำแหน่งใหม่เป็นประธานสภาผู้ปกครองโรงเรียนเพลินพัฒนา หน้าที่ของเธอเป็นคนคอยประสานสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียน
โต๊ะไม้สีน้ำตาลซึ่งตั้งอยู่หน้าห้องกระจกเล็กๆ เป็นที่ๆ แม่บี๋บอกกับเราว่าเหมาะแก่การพูดคุย ซึ่งเราเห็นด้วยถึงแม้ว่ามันจะตั้งอยู่ข้างนอกท่ามกลางแดดยามเช้า แต่อากาศที่เย็นสบาย พร้อมๆ กับเสียงนกร้องช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการพูดคุย เมื่อนั่งที่เรียบร้อยแล้ว เราจึงไม่รอช้าที่จะเริ่มบทสนทนากับแม่บี๋
เธอเล่าก่อนว่า กว่าจะได้มีโอกาสมาทำตามความฝันในวันนี้ เธอทำตามคำแนะนำของคนอื่นต่อการตัดสินใจเรื่องอาชีพอยู่หลายครั้ง ครั้งเมื่อต้องเลือกสายการเรียนช่วงมัธยมปลาย แม้ใจอยากเรียนสายศิลป์ เพราะติดใจชื่อ ‘คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย’ ตั้งแต่ม.3 ครูแนะแนวนำสมุดที่ระบุว่ามหาวิทยาลัยเปิดสอนคณะไหนบ้างมาดู ครูประเมินจากคะแนนและศักยภาพที่โดดเด่นในการเรียนของเธอและแนะว่า สิติมาควรเรียนสายวิทย์-คณิต ไปก่อน เรียนกว้างๆ ไปก่อนแล้วจะเบนเข็มไปเลือกคณะสายศิลป์ก็ยังไม่สาย
อีกครั้งคือช่วงเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ใจของสิติมาบอกให้เธอเลือกคณะในฝันของตัวเอง คือ คณะครุศาสตร์ แต่ก็เป็นอีกครั้งที่ครูของสิติมาแนะนำว่า ‘คะแนนของเธอเยอะนะ ถ้าอยากเข้าสายศิลป์ เรียนนิติศาสตร์ดีมั้ย’ แม้ไม่แน่ใจว่าตัวเองชอบหรือไม่ แต่สุดท้ายเธอเลือกเชื่อความเห็นของคนที่เธอเคารพ
เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงการทำงาน แม่บี๋ที่รู้สึกสนุกกับสายงานกฎหมาย แต่คนที่ทำงานที่เธอเคยไปฝึกงานด้วยกลับบอกว่า ‘ลุคแบบเธอไม่เหมาะกับงานสายนี้’ เมื่อเพื่อนแม่บี๋ชวนไปสมัครเป็นแอร์โฮสเตส แม่บี๋ก็ตัดสินใจไป พอสอบติดเธอก็เลยเลือกทำงานเป็นแอร์โฮสเตส
แม้สิ่งที่คนอื่นเลือกให้ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี สิติมาบอกว่าประสบการณ์ในช่วงวัยนั้นก็ทำให้มีความสุขเหมือนกัน เพียงแต่ไม่แน่ใจว่ามันเป็นความสุขในแบบที่เธอต้องการรึเปล่า
จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นช่วงที่แม่บี๋มีลูก เป็นตอนที่เธอกำลังหาโรงเรียนให้กับลูกวัยขวบครึ่ง โจทย์ของเธอคือขอโรงเรียนที่ไม่เหมือนกับที่ตัวเองเคยเจอมา แม่บี๋ก็ไปเจอกับโรงเรียนเพลินพัฒนา แค่ประโยคแรกที่ปรากฎบนเว็บไซต์โรงเรียนก็เรียกความสนใจจากแม่บี๋ ‘อยากรับสมัครครูที่มีใจอยากสร้างคนพันธ์ุใหม่ให้ประเทศ’ ทำให้แม่บี๋ตัดสินใจส่งลูกเข้าเรียนที่นี่ทันที
ไม่ว่าจะด้วยความบังเอิญหรือเพราะโชคชะตา โรงเรียนมีนโยบายประกาศรับสมัคร ‘ผู้ปกครองอาสา’ เพื่อมาช่วยงานครูประจำชั้น เมื่อได้เห็นประกาศนี้ความรู้สึกเก่าๆ ของแม่บี๋ก็กลับมาอีกครั้ง โอกาสที่จะได้ทำงานอยู่กับเด็กๆ ตามความฝัน แม่บี๋ตัดสินใจถอดปีกนางฟ้า ลาออกจากอาชีพแอร์โฮสเตสที่ทำมากว่า 25 ปี แล้วเดินเข้าไปโรงเรียนเพื่อเริ่มต้นอาชีพใหม่ในฐานะ ‘ผู้ปกครองอาสา’ อาชีพที่อนุญาตให้เธออยู่กับเด็กๆ ดังความฝันตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงสิติมา
“นี่แหละคือชีวิตเรา นี่แหละคือสิ่งที่เราตามหา สิ่งที่เรารอคอย” เป็นความรู้สึกของแม่บี๋ที่ได้จากการทำตามความฝันของตัวเอง
‘ไม่มีคำว่าสายสำหรับทำตามความฝัน’ คือสิ่งที่ได้จากการฟังเรื่องราวของแม่บี๋ อาจต้องอาศัยสิ่งที่ทำยากอยู่สักหน่อย คือ ‘ความกล้า’ แต่แม่บี๋ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเมื่อไรที่เรามีความกล้า กล้าที่จะฟังและทำตามเสียงใจตัวเอง เราจะพบผลลัพธ์ที่รออยู่ นั่นคือความสุข
ไม่ใช่แค่ได้ทำตามความฝัน แต่การเปลี่ยนอาชีพกลายเป็นคนทำงานด้านการศึกษาในวัย 40 ปี นี่คือจุดที่เราอยากชวนเธอคุย – ใครๆ ก็เป็นนักจัดการเรียนรู้ได้ จากคนนอกสู่คนใน เปลี่ยนอาชีพเป็นนักจัดการศึกษาเต็มตัว
จุดเริ่มต้นอาชีพใหม่ของแม่บี๋มาจากการหาโรงเรียนให้ลูก ทำให้เกิดความสงสัยว่าทำไมแม่บี๋จึงอยากให้ลูกเข้าเรียนที่นี่
ต้องย้อนกลับไปช่วงที่เราหาโรงเรียนให้ลูก เราไม่อยากให้ลูกเจอสภาพแวดล้อมแบบเดิมๆ เหมือนที่เราเคยเจอ แล้วมาเจอโรงเรียนเพลินพัฒนาซึ่งอยู่แถวบ้านเราพอดี ก็สนใจลองเปิดเว็บไซต์โรงเรียนดู เห็นข้อความประกาศรับสมัครครู เขาบอกว่า อยากรับสมัครครูที่มีใจอยากสร้างคนพันธ์ุใหม่ให้ประเทศ เราก็แบบ ‘คนพันธ์ุใหม่เป็นยังไงนะ’ ยิ่งได้ไปดูคลิปสัมภาษณ์ครูปาด ศีลวัต ศุษิลวรณ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนเพลินพัฒนา ยิ่งรู้สึกว่า ‘ที่นี่แหละที่เราอยากให้ลูกอยู่ อยากให้ลูกเรียน’
แต่ต้องเล่าว่า ลูกเราสอบเข้าโรงเรียนครั้งแรกไม่ได้นะ (หัวเราะ) คือ เขาจะมีการทดสอบเด็กด้วยการให้ขวดเล็กๆ ข้างในใส่ลูกเกดไว้ โจทย์คือให้เด็กเอาลูกเกดออกจากขวด ถ้าเด็กทั่วไปเขาจะยกขวดแล้วเท ส่วนลูกดิฉันนะ พยายามเอานิ้วแหย่ในปากขวดแล้วพยายามดึงขึ้นมา (หัวเราะ) ซึ่งมันก็ไม่ได้อยู่แล้วเลยไม่ผ่าน อีกเรื่องที่ทำให้ไม่ผ่านก็คือ พ่อแม่นี่แหละ ตอนนั้นเราเลี้ยงลูกประคบประหงมมาก ไม่ปล่อยให้คลาดสายตาเลย อาจจะเพราะพื้นฐานเราเคยเสียลูกคนแรกมาก่อน แต่เราก็ไม่คิดนะว่ามันจะมีผลขนาดนี้
ตอนท้องลูกคนนี้เคยไปเข้าคอร์สของแม่ชี ศันสนีย์ ท่านชวนเราคุยพร้อมกับจับท้องเราแล้วบอกว่า ‘คนนั้นก็คือคนนั้น เขาจบไปแล้ว เราอย่าทำให้คนนั้นมามีผลกับคนนี้’ แต่ก็จำได้แค่อาทิตย์เดียว (หัวเราะ) จนครั้งนี้ครูมาบอกเรา ทำให้เราคิดว่าต้องเปลี่ยนแล้วนะ ถ้าเราอยากอยู่ที่นี่ ตัดสินพาลูกไปลงเรียนแบบ playground ให้เขาได้มีโอกาสทำกิจกรรมต่างๆ เจอกับเพื่อนคนอื่นๆ พอครูเรียกกลับไปสอนใหม่ก็สอบเข้าได้
พอลูกได้เข้ามาเรียนที่นี่ บรรยากาศการเรียนตอบโจทย์ความต้องการของแม่บี๋ไหม
ที่นี่เขาไม่ได้เน้นสอนให้เด็กรู้วิชาการ แต่สอนให้เด็กอยากที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต แทบทุกบทเรียนจะส่งเสริมให้เด็กอยากเรียนรู้ อยากออกไปค้นคว้า ครูมีหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจ ส่วนพ่อแม่ก็สานต่อแรงบันดาลใจนั้น
ยกตัวอย่างช่วงปิดเทอม คุณครูให้การบ้านเรื่องต้นไม้มหัศจรรย์ เขาจะเอาตัวอย่างต้นไม้ประเทศต่างๆ มาให้ดู หลังจากนั้นให้เด็กไปเลือกต้นไม้มหัศจรรย์ที่ตัวเองชอบมาแล้วหาข้อมูล จากนั้นให้ทำชิ้นงานอะไรก็ได้มาส่งตอนเปิดเทอม ถ้าพ่อแม่ที่เข้าใจว่าโรงเรียนทำเพื่ออะไร โปรแกรมเที่ยวตอนปิดเทอมอาจจะพาไปลูกไปเที่ยวตามธรรมชาติ ดูต้นไม้ เป็นต้น สุดท้ายยังได้เที่ยวกับลูก เพิ่มเติมช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเขา
จุดเริ่มต้นที่ทำให้แม่บี๋เปลี่ยนจาก ‘แม่ที่มีลูกเรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้’ กลายมาเป็น ‘ผู้ปกครองอาสาของโรงเรียน’ เริ่มมาจากอะไร
ช่วงแรกๆ มีเด็กเข้าเรียนเยอะมาก (ลากเสียง) แล้วกำลังครูไม่พอ แม้ตอนนั้นเรายังทำงานเป็นแอร์โฮสเตสอยู่แต่ครูก็ชวนเราเพราะเห็นว่าเราน่าจะทำได้ เราก็เลยไปลอง เงื่อนไขมันดีด้วย คือให้ดูแลแค่ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ แต่ความที่ห้องที่เราไปดูแล ครูประจำชั้นมีความจำเป็นต้องย้ายไปทำหน้าที่อื่น ประกอบกับมีผู้ปกครองที่เป็นเพื่อนกับเราตั้งแต่ ป.1 ลูกของเขาก็เรียนห้องนี้ เขาก็ไว้ใจอยากให้เรามาช่วยอยู่ประจำ พอครูชวนว่ามาอยู่แบบประจำดูแลห้องนี้เลยได้ไหม เราก็ตอบตกลงทันที
การต้องทิ้งงานที่ทำมากว่า 25 ปีอย่างแอร์โฮสเตส เพื่อมาเริ่มต้นทำงานใหม่เป็นผู้ปกครองอาสาแม่บี๋ตัดสินใจยากไหม
ไม่นานเลย เพราะเราเป็นคนอยากอยู่กับลูกและอยากลองทำงานแบบนี้อยู่แล้ว พอดีกับช่วงนั้น ที่ทำงานเรามีนโยบาย leave without pay (การหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน) เป็นเวลา 2 ปีพอดี เราก็ตัดสินใจยื่นขอหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือนด้วยเลย แต่ในระหว่าง 2 ปีนั้นเราก็ไม่ได้หยุดทำงานซะทีเดียวนะ มีสลับกลับไปบินบ้าง
ครั้งหนึ่งเราไปบิน กลับถึงบ้าน 5 ทุ่มแล้วต้องตื่นตีห้าครึ่งเพื่อมาทำงานที่โรงเรียนต่อ วันนั้นทั้งวันเรานั่งเลี้ยงเด็กในห้องโดยไม่มีอารมณ์หงุดหงิด ไม่ง่วง มีแต่ความสุขที่ได้อยู่กับเด็กทั้งวัน มันทำให้เรารู้สึกว่า ‘เออ นี่แหละคือชีวิตเรา คือสิ่งที่เราตามหา สิ่งที่เรารอคอย’ เลยเป็นเหตุผลที่ตัดสินใจลาออกเลย
ต้องมาเริ่มต้นทำอาชีพใหม่ ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่เคยทำมาก่อน แม่บี๋มีการเตรียมตัวยังไงบ้าง
เรารู้สึกว่างานมันไม่ได้ยาก เหมือนกับเราไปเลี้ยงลูกตัวเอง งานของเราคือการเป็นผู้ช่วยครู ซึ่งครูเขาจะดูแลเรื่องการสอนนักเรียนอยู่แล้ว หน้าที่ของเราคือดูแลเด็กๆ อาบน้ำ ป้อนข้าว เล่นกับเขา
ปกติแล้วแม่บี๋เป็นแม่ ดูแลลูกตัวเอง แต่เมื่อมาเป็นผู้ปกครองอาสาที่ต้องดูแลลูกคนอื่น บทบาทนี้จุดประกายอะไรในตัวแม่บี๋รึเปล่า
เราเริ่มสนใจหาความรู้มากขึ้น เริ่มต้นจากการลงคอร์สเรียนเกี่ยวกับเด็กเล็ก ซึ่งโรงเรียนนี้เขาจะคอยเปิดคอร์สสอนตลอดอยู่แล้ว คือสอนทั้งผู้ปกครองและสอนครู คอร์สแรกที่เราเรียนเป็นคอร์ส ‘สกัดจุด…ลูกจอมเฮี้ยว’ ของครูพบ – เกียรติยง ประวีณวรกุล เนื้อหาเกี่ยวกับ เลี้ยงลูกยังไง คนเลี้ยงจึงไม่โวยวาย (หัวเราะ) หมายถึงว่า ทำยังไงไม่ให้คนเลี้ยงโวยวาย ลูกก็จะได้สงบ มีความสุขกันทั้งคนเลี้ยงและคนถูกเลี้ยง คอร์สนี้ให้ประโยชน์กับเรามากๆ มาจนถึงทุกวันนี้ จากนั้นมาเราก็ค่อยๆ ลงเรียน ค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ พอเรียนไปได้ระยะหนึ่ง ครูในโรงเรียนก็ชวนเราไปเรียนคอร์สที่เป็นของครูเลย
ตอนนั้นมีคนถามเหมือนกันนะว่าทำไมไม่ไปเรียนปริญญาโท เรียนครุศาสตร์ปฐมวัยให้เป็นเรื่องเป็นราวไปเลย แต่เรารู้สึกว่าตรงนั้นไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของเรา ไปเรียนทฤษฎีแต่ต้องทิ้งภาคปฎิบัติ เรารู้สึกว่าการได้มาเจอของจริงในห้องมันทำให้เรารู้สึกแบบ… ‘เฮ้ย เราเจอปัญหาแบบนี้ เราจะแก้ยังไง’ จากนั้นค่อยไปหาความรู้จากผู้รู้ ลงเรียนคอร์สอบรม หรือหาความรู้จากอินเทอร์เน็ตเอาได้
พอได้มาศึกษาเรื่องเหล่านี้ คิดว่าตัวเองเปลี่ยนไปมั้ย
เปลี่ยนมาก ทำให้รู้เลยว่าเลี้ยงเด็กคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่มันก็ไม่ได้ยากถ้าเราเข้าใจและยอมรับมัน (เสียงหนักแน่น) อย่างหนึ่งที่เราได้จากการไปเรียนเรื่องพวกนี้คือ เขาจะสอนให้เรามองมนุษย์คนหนึ่งในแบบที่เขาเป็น ให้เรามองลูกของเรา มองเด็กคนนี้เนี่ย (ลากเสียง) แบบที่เขาเป็น อย่าพยายามไปเปลี่ยนเขาให้เป็นคนอื่น อย่าพยายามไปเปรียบเทียบว่าคนนี้ทำได้ ลูกเราก็ต้องทำได้สิ
อย่างลูกเราเองเขาก็ไม่เหมือนเด็กคนอื่น เขาไม่ใช่เด็กช่างเจ๊าะแจ๊ะแต่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ครูก็จะคอยมาปรึกษาเราเรื่องมนุษยสัมพันธ์ social skill ของลูก ถามว่ากลัวไหมที่ครูบอกเราแบบนั้น ก็กลัวนะ แต่พอได้มาศึกษาเรื่องพวกนี้ ทำให้เรารู้ว่าลูกยังไม่รู้สึกปลอดภัยที่จะไปคุยกับครู ยังไม่รู้สึกปลอดภัยที่จะไปคุยกับเพื่อน เราก็ต้องยอมรับ แต่ลูกไม่ได้ไม่มีความสุขอะ ลูกไม่ได้บอกว่า ‘หนูไม่อยากไปโรงเรียน’ ‘หนูไม่อยากอยู่กับเพื่อน’ ลูกมีความสุขที่ได้อยู่แบบนี้ พอเราได้ไปเรียนถึงเข้าใจจุดนั้น เราต้องรอจนกว่าเขาจะพร้อม
อย่างการเรียนรู้แนว Montessori (แนวการศึกษาที่คิดโดย Maria Montessori เชื่อว่า สภาพแวดล้อมที่ดีเหมาะสมกับการเรียนรู้ จะช่วยพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ในตัวเด็ก) หรือ Waldorf (แนวการศึกษาที่คิดโดย รูดอร์ฟ สไตเนอร์ เชื่อเรื่องการเติบโตในทางมนุษยปรัชญา) ที่เราไปเรียนต่างก็บอกว่า ทุกคนมีศักยภาพ ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง ทุกคนมีอะไรอยู่ในใจ อย่าง Montessori จะบอกเลยว่า พ่อแม่มีหน้าที่จัดสิ่งแวดล้อมให้พร้อมกับจุดที่เด็กคนนั้นเป็น พ่อแม่มีหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ (observer) มองให้ออกว่าลูกต้องการอะไร แล้วจัดสิ่งแวดล้อมให้เขา จากนั้นเขาจะเป็นคนเรียนรู้เอง
ปรับใช้กับลูกยังไงบ้าง
เราจะคอยสังเกตว่าตอนนี้ลูกกำลังสนใจเรื่องอะไร ซึ่งได้จากโรงเรียนนี่แหละ เขาจะเป็นคนจุดประกายการเรียนรู้เป็นประเด็นๆ ไป ส่วนเรามีหน้าที่สานต่อ เช่น ช่วงหนึ่งลูกเราสนใจเรื่องมะม่วงหาวมะนาวโห่ เขาเดินมาบอกเราว่าอยากรู้เรื่องนี้ เราก็ ‘ไปลูก เดียวแม่พาไปหา’ ขับรถพาลูกไปคุยกับชาวสวน ซื้อต้นไม้กลับมาปลูกที่บ้าน จนทุกวันนี้เขายังจำเรื่องนี้ได้อยู่เลย เขาภูมิใจกับเรื่องนี้มาก เราเลยรู้ว่าถ้าเราจัดสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับความสนใจของเขาปุ๊บ มันส่งผลกับลูกเราทันที
เรารู้ว่าลูกเราเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง แต่ก็รู้ว่าการสร้างให้พวกเขามี self-esteem มันไม่ได้เกิดจากที่เราไปบอกว่า ‘หนูเก่งนะ หนูได้รางวัลนู่นรางวัลนี่เยอะเลย’ มันไม่ใช่ มันเกิดจากการที่ตัวเด็กเองรู้สึกได้จากข้างในตัวเขาว่า ‘ฉันทำได้’ ความภูมิใจเกิดขึ้นได้ด้วยตัวมัน ฉะนั้น ถ้าเรารู้ว่าลูกชอบอะไร เราจะสนับสนุนเขา ค่อยๆ แหย่เขาเข้าไป แหย่สิ่งต่างๆ ทีละนิดๆ ให้กับเขาจนเขาทำเรื่องนั้นๆได้ดี
ทั้งการทำงานกับเด็ก หรือแม้แต่การเลี้ยงลูกของตัวเอง เคล็ดลับที่แม่บี๋ใช้ในการทำงานทั้งสองอย่างนี้คืออะไร
ศาสตร์เดียวที่แม่บี๋ใช้ คือ การรับฟัง เราต้องฟังเข้าไปให้เห็นถึงสิ่งที่เด็กเขาจะพูดกับเรา เพราะบางครั้งสิ่งที่เขาพูดอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากบอก แต่ถ้าเราตั้งใจฟังจะรู้เลยว่า การที่เด็กสื่อสารแบบนี้เขาต้องการอะไร ไม่ใช่เด็กพูดมาสามคำแล้วเราตอบไปว่า ‘ทำไมทำแบบนี้’ แปลว่าเราไม่ได้ตั้งใจฟังเสียงเด็ก แต่เรากำลังได้ยินแต่สิ่งที่เราอยากบอกเด็ก ลองวางความเป็นตัวตนของผู้ใหญ่ลง แล้วนั่งลงพร้อมกับตั้งใจฟัง เท่านั้นเลย
ทั้งบทบาทแม่และผู้ปกครองอาสาที่แม่บี๋เป็น แม่บี๋คิดว่าสองบทบาทนี่มันมีความเหมือนหรือความแตกต่างอย่างไรบ้าง
เหมือนกัน ตรงที่เป้าหมายเราคือเด็ก เราอยู่ในจุดที่สามารถตอบตัวเองได้ว่า ‘ทำไมทำงานเยอะขนาดนี้ถึงไม่เหนื่อยนะ’ เพราะเรามองเป้าหมายเดียวคือเด็กเท่านั้นเลย จริงๆ เราเป็นคนขี้กลัว กลัวสัมพันธภาพระหว่างคนทั่วไป การที่เรากล้าลุกขึ้นมาบอกคนอื่นว่า ‘อันนี้ทำไม่ถูกนะ’ เพราะเรามองเด็กเป็นตัวตั้ง เป็นสิ่งที่เราได้จากรองผู้อำนวยการโรงเรียนเพลินพัฒนา เขาสอนเราว่า การทำงานให้ยึดเด็ก ยึดสิ่งที่ถูกต้องเป็นที่ตั้ง เด็กได้ประโยชน์สูงสุด คือ สิ่งที่เราจะทำ แม้จะขัดกับใครบ้างก็ตาม
การเปลี่ยนผ่านมาทำงานผู้ปกครองอาสา ทำให้แม่บี๋ลุกขึ้นมาศึกษาเรื่องเด็กอย่างจริงจัง เลยอยากรู้ว่านิยามการเรียนรู้ของแม่บี๋คืออะไร
เรารู้เลยว่าการเรียนรู้มันอยู่ได้ทุกที่ ทุกเวลานาที ทุกสถานการณ์ อย่างเมื่อสองวันก่อนมีแมลงเม่าบินรอบตอนเรากำลังนั่งกินข้าวกับลูก เขาชวนเรานั่งดูแมลงเม่า เราก็ใช้เวลานั่งดูด้วยกันไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน พอวันรุ่งขึ้น เล่น facebook เจอคนโพสต์เรื่องแมลงเม่า เราก็เข้าไปอ่านข้อมูล เอามาเล่าให้ลูกฟัง เขาก็ได้เรียนรู้ว่าแมลงเม่ามันเป็นยังไง ทำให้เห็นเลยว่าการเรียนรู้ของเรามันอยู่ในทุกอณูนาทีแค่เราฟัง ใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่าใช้ชีวิตให้เร่งเรีบเกินไป ใส่ใจทุกอย่างที่เจอ