- เลี้ยงเด็กตามธรรมชาติ คือ แนวการสอนแบบวอลดอร์ฟที่อนุบาลบ้านรักใช้เป็นหลักในการจัดการเรียนรู้ หัวใจสำคัญ คือ การให้เด็กได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติและจังหวะชีวิตของเขา โดยที่ผู้เลี้ยงไม่ไปรบกวนหรือแทรกแซง
- ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อนุบาลบ้านรักยังคงใช้ ‘งานบ้าน งานสวน งานครัว’ เป็นกิจกรรมหลัก แต่เปลี่ยนจากคุณครูพาทำเป็นการเรียนรู้ที่บ้านโดยมีพ่อแม่พาทำ เช่น ระเบียบวินัย อาหารการกิน การจัดโต๊ะอาหาร เป็นต้น
- เรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองต้องรู้ในการเลี้ยงเด็กตามธรรมชาติ คือ การเลียนแบบ (Imitations) และพลังเจตจำนง (Will) เด็กเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเขา และมีพลังมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ ผู้ปกครองต้องเข้าใจและไม่เผลอไปขัดขวางหรือแทรกแซงการเติบโตของลูก
เกือบ 2 ปีที่สังคมไทยต้องใช้ชีวิตอยู่กับโควิด – 19 การปรับตัวเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนรวมถึงระบบการศึกษา ไม่เว้นแม้แต่การเรียนรู้ของเด็กๆ ที่อนุบาลบ้านรักแห่งนี้
สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก ‘อนุบาลบ้านรัก’ คือ บ้านสำหรับดูแลเด็กปฐมวัยตามแนวการศึกษาวอลดอร์ฟ (Waldorf) ที่ยึดหลักดูแลเด็กตามธรรมชาติ ความใกล้ชิดระหว่าง ‘แม่ครู’ และเด็กๆ ถือเป็นแนวทางสำคัญในการประคับประคองเฝ้ามองการเติบโตของพวกเขา ทว่ามาตรการเว้นระยะห่างกลายเป็นอุปสรรคในการเปิดบ้านให้เด็กมาเรียนรู้ร่วมกัน
บทความชิ้นนี้ The Potential ชวน ครูอุ้ย – อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก พูดคุยถึงวิถีการปรับตัวของอนุบาลบ้านรักภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาได้หันไปให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่บ้าน โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้สนับสนุน นับเป็นตัวอย่างหนึ่่งที่น่าสนใจสำหรับการจัดการเรียนรู้ในช่วงเวลานี้
ปรับมายเซ็ตคนทำงาน เทคโนโลยียังทำให้เราส่งความปราถนาดีให้เด็กได้
“หนึ่งเดือนแรกเราเด๋อมากเลยนะ เป็นอะไรที่งง นั่งหันหน้าคุยกันและปฎิเสธลูกเดียวว่าเราทำไม่ได้ๆ”
หลังจากเผชิญโควิด – 19 ระลอกสองที่หนักกว่ารอบแรกถึงขั้นไม่สามารถเปิดบ้านต้อนรับเด็กๆ ได้ ครูอุ้ยเกิดอาการเคว้งคว้างว่า วิถีอนุบาลตามธรรมชาติอย่างพวกเขาจะปรับตัวอย่างไร ผู้ปกครองบางคนเอ่ยปากว่าในเมื่อเจอกันไม่ได้ ก็ขอให้ครูอุ้ยส่งกิจกรรมอะไรก็ได้มาให้ลูกๆ ทำ แต่ในความรู้สึกครูอุ้ยรู้สึกขัดแย้งกับทางเลือกนี้ เพราะทุกกิจกรรมคุณครูต้องเป็นคนนำพาเด็กทำ ถ้าส่งของให้แล้วเด็กจะดูใครเป็นต้นแบบ ใครจะเป็นคนพาเด็กทำ
“ไปปรึกษาพระอาจารย์ ท่านพูดดีมาก ทำให้เราตื่นและฉุกคิดได้ ‘เวลาที่คนโทรศัพท์ส่งพลังคำอวยพรไปให้คนปลายสาย ก็ช่วยให้คนนั้นรับได้นะ ทำไมเราไม่คิดว่าพลังที่ครูส่งให้เด็ก ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ถ้าเป็นพลังที่ดีส่งไปยังไงก็ถึงเด็ก อุปกรณ์สื่อสารเป็นเพียงแค่กายภาพ ความปราถนาดีเป็นจิตใจให้ไกลกว่า ไปให้พ้นเครื่องมือสื่อสาร ส่งไปให้โค้งเหมือนสายรุ้งเลย
“คนทำงานตามแนวธรรมชาติ ต้องหลุดจากแนวคิดเดิมๆ ที่ว่าเทคโนโลยีช่วยไม่ได้ ต้องคิดใหม่ เพราะในสถานการณ์นี้เราไม่รู้ว่าจะได้เจอเด็กเมื่อไร”
‘งานบ้าน งานสวน งานครัว’ กิจกรรมหลักของอนุบาลบ้านรักที่เด็กๆ ยังสามารถทำได้ในช่วงเวลานี้ แต่เปลี่ยนจากคุณครูพาทำเป็นพ่อแม่พาทำแทน โดยทีมงานอนุบาลบ้านรักจะส่งคลิปกิจกรรมต่างๆ วันละหนึ่งคลิป ครูอุ้ยอธิบายว่าตัวคลิปจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกอธิบายฮาวทูทำกิจกรรมที่เด็กและผู้ปกครองสามารถดูและทำตามไปด้วยกัน ครูจัดส่งอุปกรณ์ไปให้ถึงบ้าน ส่วนช่วงหลังครูอุ้ยจะปล่อยให้เด็กๆ ไป free play เล่นอย่างอิสระ และส่งคลิปบรรยายข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้ปกครองในการเลี้ยงดูลูกและตัวอย่างอนุบาลวอลดอร์ฟจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้เห็นตัวอย่างการปรับตัวในหลายๆ ที่
“เราพยายามเลือกกิจกรรมที่เราทำช่วงปกติ เช่น วันจันทร์ – ร้อยดอกไม้ วันอังคาร – ทำขนม วันพฤหัส – ทำสีน้ำสีเทียน กิจกรรมอะไรที่พ่อแม่สามารถทำอยู่บ้านได้เราส่งอุปกรณ์ไปให้หมด อุปกรณ์วาดเขียน อุปกรณ์สำหรับทำขนม ส่งแม้กระทั่งแป้ง ยีสต์ และก็ขอให้ผู้ปกครองช่วยส่งการบ้าน มีถ่ายคลิปวีดีโอส่งมาว่าลูกทำอะไรมาให้ดู เป็นความภูมิใจที่ความปราถนาดีเราส่งให้เป็นผล
“เมื่อก่อนอนุบาลทำหน้าที่ไป ครูทำหน้าที่ดูแลเด็กๆ ให้ความรู้ต่างๆ พ่อแม่อาจทราบบ้างไม่ทราบบ้าง แต่อาจจะไม่ได้ลงลึก เห็นแค่ผลงานของลูก แต่ ณ วันนี้ไม่ใช่ละ เด็กต้องอยู่บ้าน เราต้องคุยกับพ่อแม่ใหม่ เหมือนเราทำอบรมครูใหม่เลย คุณพ่อคุณแม่ตกที่นั่งต้องเลี้ยงเด็กเอง”
เลี้ยงเด็กตามธรรมชาติ : ไม่แทรกแซง ขัดจังหวะชีวิตของเขา
แม้ผู้ปกครองที่อนุบาลบ้านรักจะมีความเข้าใจการเลี้ยงเด็กตามธรรมชาติ แต่ก็ยังต้องมีการเติมความรู้ ปรับมายเซ็ตในการเลี้ยงเด็ก
“เลี้ยงเด็กตามธรรมชาติ” เป็นประโยคที่ครูอุ้ยย้ำกับเราเสมอ ที่อนุบาลบ้านรักใช้แนวการสอนแบบวอลดอร์ฟ (อ่านบทความเพิ่มเติม) หัวใจสำคัญ คือ การให้เด็กได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติและจังหวะชีวิตของเขา โดยที่ผู้เลี้ยงไม่ไปรบกวนหรือแทรกแซง
เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น ครูอุ้ยยกตัวอย่างปลาในธรรมชาติกับปลาในฟาร์มเลี้ยง ถามว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกอะไร แน่นอนว่าเราก็ต้องอยากได้ปลาจากธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะคำว่า ‘ธรรมชาติ’ ให้ความรู้สึกปลอดภัย สะอาด เหมาะจะรับเข้าไปในร่างกายเรา ครูอุ้ยพยักหน้ารับและอธิบายต่อว่า แต่พอพูดถึงเลี้ยงเด็กตามธรรมชาติคนกลับงง ‘เลี้ยงยังไง?’ เพราะเราข้ามช็อตนี้มานานจนไม่รู้ว่าธรรมชาติของเด็กต้องการอะไร เราจะรู้ได้เมื่อคนเลี้ยงไม่เข้าไปแทรกแซง (disturb) ตั้งแต่เด็กเกิดจนเริ่มเดินได้ เด็กมีพัฒนาการตามธรรมชาติ เราควรทำหน้าที่เป็นคนสังเกตและเฝ้ามอง สนับสนุนตามสมควร เขาพลิกตัวอย่างไร คลานแบบไหน ไม่เข้าไปอุ้มจนเด็กไม่ได้เดิน หรือป้อนอาหารไม่ให้เด็กกินเอง
“ทำยังไงเด็กถึงจะสอดคล้องกับการเติบโตตามธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องยากเลยนะ ลองมองดูรอบๆ ตัว มีงานที่พ่อแม่หรือพวกเราทำอยู่แล้ว อยู่รอบๆ ตัวเด็ก งานบ้าน งานสวน งานครัว เราแค่เปิดโอกาสให้เขามีความอยาก (inspire) ที่จะทำได้เหมือนเรา
พอเขาเห็นครูหรือผู้ปกครองจับไม้กวาด หรือเช็ดโต๊ะ เขาจะเลียนแบบทำตาม ทำให้มันสอดคล้องเป็นกิจวัตรประจำวัน เช้า – สาย – บ่าย นี่เป็นโอกาสที่เราจะหยิบยื่นให้เด็ก เป็นการรับข้อมูลตามธรรมชาติ”
‘เลียนแบบ’ วิธีรับข้อมูลและเรียนรู้ของเด็กเล็กโดยใช้ร่างกาย
หลังปรับมายเซ็ตแล้ว ครูอุ้ยยก 2 เรื่องที่สำคัญและจำเป็นที่ผู้ปกครองต้องรู้ในการเลี้ยงเด็กตามธรรมชาติ คือ การเลียนแบบ (Imitations) และพลังเจตจำนง (Will)
เด็กเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ โดยผ่านการเห็น ทั้งจากคนใกล้ชิดอย่างพ่อแม่ ครู หรือคนที่อยู่รอบๆ ตัว เช่น แม่ค้า ยามรักษาความปลอดภัย และเวลาเลียนแบบไม่ใช่เฉพาะเหตุการณ์นั้นๆ เขาเลียนทั้งตัวของสิ่งที่เขาเห็นเป็นแบบ เช่น คุณพ่อคุณแม่พูดด้วยสำเนียงนี้ด้วยอารมณ์ที่เห็นแบบนี้ หน้าตาเป็นลักษณะแบบนี้ “เชื่อไหมว่าเด็กทำตามหมดเลย ถอดแบบมาเลย หน้าแบบนี้เลย อะไรเนี่ย เกิดอะไรขึ้นที่บ้าน ซึ่งพ่อแม่หรือผู้ใหญ่บางคนอาจจะคิดว่าเราไม่ใช่ต้นแบบเด็ก เลยเผลอใช้ชีวิตไม่ระวังทำพฤติกรรมที่อาจส่งผลต่อลูก”
ลักษณะการรับข้อมูลของเด็กเล็กจึงเป็นการเลียนแบบ เป็นเหตุผลที่ต้องดูว่ากิจกรรมอะไรที่เหมาะสมให้เด็กได้เลียนแบบเพื่อใช้ช่วงเวลานี้อย่างคุ้มค่า เพราะก่อน 6 ขวบ การเลียนแบบและการมีจินตนาการร่วมด้วยจะออกมาในรูปแบบของการเล่น เสมือนเป็นการย่อยความรู้ลงสู่ตัวเด็ก กล่าวคือเด็กจะเลียนแบบผสมจินตนาการและย่อยเป็นความรู้ผนึกในเนื้อตัว เมื่อพ้นช่วงเวลานี้ไปแล้วเด็กก็อาจจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ แต่เขาจะมีการคิดวิเคราะห์ ไม่ได้แสดงออกชัดเจนให้เราเห็นว่าเขารับข้อมูลอะไรไป
กิจกรรมที่ครูอุ้ยจัดให้เด็กๆ โดยหลักจะเป็นงานบ้าน งานสวน งานครัวที่สามารถทำได้ง่าย เช่น ระเบียบวินัย อาหารการกิน การจัดโต๊ะอาหาร จังหวะชีวิตเช้าถึงเย็นต้องเป็นไปอย่างเรียบร้อย มีเล่น เรียนรู้ พักผ่อน นอนกลางวันแล้วก็ไม่ได้หนักหรือหย่อนเกินไป รวมถึงมีแบบของอาชีพต่างๆ ให้เขาได้รู้จัก
“อาชีพถ้าเป็นแบบที่น่าสนใจ เราก็เอาเข้ามาให้เขาเรียนรู็ได้ เช่น งานช่างต่างๆ ช่างไม้ มีอีกอาชีพที่เด็กชอบ เด็กชอบกินพิซซ่า ให้คนขายพิซซ่ามาสักวันทำพิซซ่าให้เด็กดู เขาจะได้รู้ว่าที่กินไปจริงๆ ขั้นตอนเยอะนะ ให้มีโอกาสได้ทำเอง แล้วเป็นคนทำพิซซ่าจริงๆ ดูเก๋กว่าดูครูนั่งทำ
“สิ่งที่เราอย่ามองข้ามการเรียนรู้ของเด็ก เด็กเก็บได้รอบตัว เราให้ความสำคัญกับ imitations การเรียนรู้ผ่านการมีแบบและการทำตาม เป็นประเด็นแรกที่ขอให้ผู้ปกครองเข้าใจ หลายคนจะมองข้าม”
แล้วถ้าผู้ใหญ่เผลอหลุดแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีออกมาล่ะ? เราตั้งคำถามกับครูอุ้ย เพราะการต้องเป็นแบบให้ลูกตลอดเวลาคงสร้างความกดดันให้พ่อแม่ไม่น้อยว่าเขาควรหรือไม่ควรทำอะไรต่อหน้าลูก และช่วงเวลานี้ยิ่งยากลำบากขึ้นเพราะสถานการณ์ที่ส่งแต่พลังลบ จนพ่อแม่อาจเผลอแสดงอารมณ์ลบๆ ให้ลูกเห็น
ครูอุ้ยตอบคำถามโดยเริ่มที่ประเด็นการแสดงพฤติกรรมไม่ดี เป็นเรื่องปกติที่เราจะหลุดเพราะนั่นเป็นนิสัยของเรา แต่ถ้าเราอยากเป็นแบบที่ดีให้เด็กๆ อาจต้องออกแรงขัดเกลาซักหน่อย ถ้าผู้ใหญ่คนไหนเผลอแสดงกริยาไม่ดี…ครูอุ้ยยกตัวอย่างครูคนหนึ่งเผลอใช้เท้าปิดพัดลมทำให้เด็กทั้งห้องเห็นก็ทำตาม ครูอุ้ยให้คำแนะนำว่าก็เปลี่ยนมาใช้มือปิดให้เด็กเห็น ทำได้สัก 3 เดือนเด็กๆ ก็เปลี่ยนพฤติกรรมกลับมาใช้มือเหมือนเดิม
ส่วนเรื่องอารมณ์ อย่างที่บอกว่าเด็กไม่ได้เลียนแบบเฉพาะการกระทำตรงหน้า แต่รวมถึงสิ่งที่อยู่ในใจคนเลี้ยงด้วย ถ้าเขาเห็นพ่อแม่จัดการสิ่งนี้ด้วยอารมณ์นี้ ตอนนี้เขาอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่เหมือนเผชิญเหตุการณ์เดียวกันเขาก็อาจเลือกทำแบบที่พ่อแม่ทำ แต่เมื่อโตขึ้นเด็กอาจคิดได้ว่า “ฉันไม่เห็นต้องแสดงอารมณ์แบบนี้เลย” แต่จะดีกว่าไหมถ้าพ่อแม่เริ่มระมัดระวังตั้งแต่ตอนนี้ ดีกว่าไปถึงตอนที่ให้ลูกคิดเอง
“เวลาไปร้านอาหารที่มีเด็กตัวเล็กๆ มาช่วยพ่อแม่ ครูอุ้ยจะชอบสังเกตดู เขาจะเดินยกจานไปเก็บ ทำหน้าตาประมาณหนึ่งที่บ่งบอกว่านี่ไม่ใช่ตัวเขา มีชักสีหน้านิดหนึ่ง เอาผ้าเช็ดๆ ปัดเศษที่อยู่บนโต๊ะลงไปกองที่พื้น เราก็มองอ้าปากค้าง ทำไมเด็กทำแบบนี้ อีกสักพักมีผู้ใหญ่เดินเอาจานไปเก็บทำหน้าแบบเดียวกันเลย เวลาเช็ดโต๊ะก็ทำแบบเดียวกันเด๊ะ นี่แหละพลังการเลียนแบบ ไม่ใช่เลียนแบบเฉพาะการทำงาน เธอเลียนหน้าตาด้วย (หัวเราะ)”
‘อย่าห้าม อย่าโมโห’ หากเด็กๆ กำลังใช้พลังเจตจำนง
“ช่วงที่เขาแบเบาะต้องคว่ำ คลาน ทำไมเขาถึงทำได้โดยไม่มีการสอน ทำไมเขาถึงมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ เพราะนี่เป็นของขวัญจากเบื้องบนที่เด็กทุกคนได้ พลังเจตจำนง หรือ will”
เรื่องจำเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ปกครองควรรู้ ครูอุ้ยหยิบเรื่องพลังเจตจำนง (Will) มาอธิบายให้ฟังว่า เด็กเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเขา และมีพลังมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองต้องเข้าใจเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เผลอไปขัดขวางหรือแทรกแซงการเติบโตของลูก
“ยกตัวอย่างคว่ำถ้วยข้าวของเด็กน้อยที่เพิ่งหัดกินได้เอง เด็กทำได้ก็หัวเราะชอบใจ แต่ผู้ใหญ่จะเป็นลมตายเพราะคว่ำหมดแล้ว (หัวเราะ) เด็กไม่รู้ว่าคว่ำแล้วมันเดือดร้อนอะไร เขารู้ว่าเขาคว่ำถ้วยได้แล้ว นี่คือเจตจำนงที่พยายามทำจนสำเร็จ เป็นเรื่องที่ดีนะ แต่ถ้าเรื่องไหนไม่ดีด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เราก็ค่อยๆ บอก อย่าโมโห ‘ทำอย่างนี้ลูกก็ไม่ได้ทานสิคะ หรือเอาชามสองใบ ให้คว่ำถ้วยเปล่า ต้องหาวิธีการ ไม่ใช่เห็นอะไรก็ขัดไปหมด”
เมื่อเห็นลูกทำอะไร พ่อแม่อย่าเพิ่งทักหรือออกอาการห้ามทันควัน ให้หยุดคิดโดยใช้หลัก 3 ข้อร่วมพิจารณา คือ หนึ่ง – สิ่งที่เขาทำไม่เกิดอันตรายกับตัวเอง สอง – ไม่เกิดอันตรายกับคนอื่น และสาม – ไม่ได้สร้างความเสียหายกับสิ่งของอย่างจริงจัง เพราะถ้าพ่อแม่เลือกที่จะห้ามก่อน “เฮ้ย หยุดๆ” จะทำให้เด็กไม่กล้าหรือกลัวที่จะทำอะไร หรือบางทีถ้าเขาทำอะไรอยู่พ่อแม่สามารถส่งคำแนะนำร่วมด้วย เช่น ลองจับตรงนี้สิ จับสองมือนะลูก
‘อนุบาล’ ไม่เท่ากับโรงเรียน
อนาคตที่ไม่รู้ว่าสถานศึกษาจะเปิดได้เมื่อไร รวมถึงการเรียนขณะนี้ก็มีเสียงเด็กๆ บอกว่าไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร บางครอบครัวเลือกให้ลูกลาออกและมาเรียนโฮมสคูล ซึ่งสไตล์การทำโฮมสคูลก็ตามความชอบความสนใจของพ่อแม่ แต่มีโฮมสคูลประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยม คือ ให้ลูกเรียนโดยเลือกซื้อคอร์สหรือจ้างคนมาสอน หากเป็นเด็กโตที่ถึงวัยอ่านเขียนอาจเป็นเรื่องปกติ แต่ในปฐมวัยอาจยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฝึกทักษะอ่านออกเขียน การเร่งพวกเขาอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโต
“สมัยก่อนที่ครูอุ้ยเริ่มเรียนเรื่องการเลี้ยงเด็ก มีคนบอกว่า เธอรู้ไหมสมัยก่อนเขาต้องเชื่อยาย แม่ต้องเชื่อยาย ลูกเชื่อแม่ ลูกดูแบบแม่ แบบยาย สามเจเนอเรชั่นนะ แต่ตอนนี้เราไม่ได้อยู่กับยาย ยายก็ไม่ได้ทำหน้าที่เลี้ยงหลาน ทุกคนกระจัดกระจาย ไม่ได้เกิดการส่งต่อถ่ายทอด ความรู้ในการเลี้ยงเด็กก็เปลี่ยนไปอีก”
“แม่ในยุคนี้ต้องแสวงหาความเป็นตัวตนให้เจอเลยละ ต้องมีความกล้าที่จะใฝ่หาว่ามนุษย์เราเกิดมาเพื่อที่จะทำอะไร แต่ที่แน่ๆ เราต้องเกิดมาเพื่อเป็นแม่ของเด็กคนนี้แหละ ต้องทำหน้าที่นี้ให้ได้ พาเขาข้ามอุปสรรคและรับรู้ว่าโลกนี้มีความจริงและความงาม”
แล้วเด็กจะอ่านออกเขียนได้เมื่อไร? ต้องรอขึ้นป.1 หรือไม่ ครูอุ้ยอธิบายว่า ที่จริงเด็กเล็กก็สามารถเข้าใจตัวอักษรได้ แต่เขาจะจำเป็นระบบสัญลักษณ์ เช่น ไปซื้อของเห็นป้ายก็รู้ว่าตรงนั้นมีอะไรที่เขาต้องการ เด็กเรียนรู้ด้วยวิธีนี้ เพียงแต่ผู้ใหญ่ไปคิดว่าเขาต้องสะกดคำก่อน ถ้าเราข้ามช็อตนี้ยังไม่ต้องสะกดคำ ให้เด็กรู้เป็นสัญลักษณ์ไปก่อน เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องการรู้อะไรที่ต้องสะกด เดี๋ยวไปทำตอนนั้นก็ได้ เพราะเขาจะมีความพร้อม ความละเอียดในการจำได้มากกว่า
“ช่วง 3 – 4 ขวบเรียนรู้ผ่านอะไร…ก็ผ่านมือไง มือคนเรามีพลังมากเลยนะ เป็นเหมือนประตูเปิดรับการเรียนรู้และผนึกเข้าไปในตัว ยกตัวอย่างการจับไม้กวาด คุณต้องรู้น้ำหนักก่อนถึงจะเลือกไม้ที่เหมาะสมกับตัวเอง แค่นี้เด็กก็ได้เรียนรู้ละ หรือการล้างจาน สถานะสสารบนโลกใบนี้ไม่เหมือนกัน มีดิน น้ำ ลม ไฟ ทำไงให้จานสะอาดก็ต้องผ่านน้ำหลายๆ น้ำ น้ำเย็น น้ำอุ่น แล้วทำอย่างไรให้จานแห้งก็เช็ดหรือตากแดด แป๊บเดียว กระบวนการล้างชามเด็กรู้เรื่องดิน น้ำ ลม ไฟ แต่เราไม่เคยเอาสิ่งเหล่านี้มาคุยว่าล้างชามได้อะไร ตอนโตค่อยทำละกัน
“คำที่ครูอุ้ยเคยพูดบ่อยๆ ว่า อนุบาลไม่ใช่โรงเรียนๆ สงสัย ณ ปีที่ครูอุ้ยแก่เป็นหญิงชราในนิทานคงจะเป็นจริงแล้วละมั้ง (หัวเราะ) ไม่จำเป็นต้องมาที่อนุบาลด้วยซ้ำ ถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถทำที่บ้านด้วยตัวเองได้ ให้เด็กโตตามธรรมชาติเถอะจะมีภูมิคุ้มกันแข็งแรงอะไรก็ว่าไป” ครูอุ้ยทิ้งท้าย