- ‘ครูไนซ์’ กะวิตา พุฒแดง ผู้ก่อตั้ง ‘บ้านกางใจ’ ชวนมอง ‘นิทาน’มุมใหม่ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้เพียงสิ่งที่อยู่ในโลกจินตนาการเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างได้ผล หากผู้ใหญ่หรือผู้ดูแลเด็กใช้มันได้อย่างเหมาะสม
- คนส่วนใหญ่มักมองว่าการเลือกนิทานที่เหมาะสมกับเด็ก ต้องพิจารณาจากเนื้อหาที่สอดคล้องกับช่วงวัย แต่จริงๆ แล้วนิทานสามารถสื่อสารกับคนได้ทุกช่วงอายุไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่
- เราสามารถสร้าง Self Esteem ให้กับเด็กผ่านการเล่านิทานได้ แต่ก่อนที่เราจะทำให้เด็กคนนึงเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง Self Esteem หรือเกิดความมั่นใจได้ ผู้ใหญ่ก็ต้องมีคาแรกเตอร์แบบนั้นก่อน
‘กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว…’ ไม่ว่าใครก็คงเคยได้ยินประโยคนี้ตั้งแต่สมัยเด็กๆ เพราะเมื่อได้ยินหรือได้อ่านก็จะรู้ได้ทันทีว่าความสนุกในโลกจินตนาการกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว
ทว่าโลกของนิทานไม่ได้หยุดอยู่แค่จินตนาการเท่านั้น เพราะนิทานสามารถเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างได้ผล หากผู้ใหญ่หรือผู้ดูแลเด็กใช้มันได้อย่างเหมาะสม ‘ครูไนซ์’ กะวิตา พุฒแดง ผู้ก่อตั้ง ‘บ้านกางใจ’ พื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว เป็นคนหนึ่งที่เห็นความสำคัญของนิทาน และใช้เครื่องมือนี้ในการเสริมสร้างการเรียนรู้, Self Esteem และส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กๆ อย่างเป็นธรรมชาติ
โดยที่ ‘บ้านกางใจ’ เด็กทุกคนจะได้เรียนรู้ผ่านการเล่นของตนเอง ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกออกเเบบให้มีความเหมาะสมกับเด็กเป็นรายบุคคลตามพัฒนาการ
ประตูสู่โลกนิทานของ ‘ครูไนซ์’ แห่ง ‘บ้านกางใจ’
“เราเคยตั้งคำถามว่า ‘คิดว่านิทานหน้าไหนสำคัญที่สุด’ ก็จะมีคำตอบว่า ‘หน้ากลางของเรื่อง’ หรือ ‘ตอนที่มันมีเฉลยคำตอบของเรื่อง’ แต่สำหรับเราแล้ว ทุกหน้าสำคัญเท่ากันหมดเลย”
ครูไนซ์ เล่าประสบการณ์ของตัวเองให้ฟังว่า เมื่อ 10 ปีก่อน ตอนที่มีโอกาสได้ทำงานเกี่ยวกับนิทานเคยเกิดคำถามว่า ‘ทำไมนิทานบางเล่มถึงทำงานกับตัวเราเยอะขนาดนี้?’ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นตัวครูไนซ์เองก็อายุ 20 ต้นๆ แล้ว
“เพราะเราเซนซิทีฟหรือเปล่า? หรือว่าเราเกิดกระบวนการอะไรบางอย่าง ทำไมเพื่อนๆ ถึงไม่รู้สึกกัน” คำถามในใจนี้ นำไปสู่การทำความเข้าใจนิทานในมุมใหม่ และเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาและใช้ประโยชน์จากนิทานเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม
“สมัยก่อนเราเป็นชนชั้นกลางที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่ได้มีหนังสือนิทานเยอะ ตอนที่อ่านนิทานอีสปเราก็รู้สึกว่ามันไม่เห็นสนุกเลยเพราะมันมีการชี้นำ เลยรู้สึกว่า ทำไมเราต้องเชื่อตามที่เขาบอกด้วย ทำให้เราไม่อินกับกับนิทานเลย จนกระทั่งได้มาทำงานที่ a day เลยเพิ่งมาเข้าใจว่านิทานนั้นมีมิติโดยที่ไม่ต้องมีคำพูดเลยก็ได้”
ทำความรู้จักกับนิทานหลากหลายรูปแบบ
“นิทานของแถบยุโรป อเมริกา สแกนดิเนเวีย จีน รวมถึงของไทย ก็จะมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันอยู่ เพราะทุกเชื้อชาติก็มีนิทานที่สืบต่อกันมา ซึ่งต้นกำเนิดของนิทานจริงๆ คือเรื่องเล่า ถ้าหากว่าต้องการที่จะสร้างสังคมให้เติบโตมายังไง เรื่องเล่าก็จะออกมาเป็นอย่างนั้น อย่างเช่น ซินเดอเรลล่า ก็มีต้นกำเนิดมาจากจีน จากนั้นฝรั่งนำมาดัดแปลงต่อ ถามว่าซินเดอเรลล่ามีการสะท้อนความเชื่อของสังคมจีนยังไง ก็คือมีอยู่ช่วงหนึ่งที่วัฒนธรรมจีนเชื่อว่าผู้หญิงเท้าเล็กจะเป็นผู้หญิงที่ดูดี เรียบร้อย ส่วนชาวตะวันตกส่วนใหญ่จะมีเท้าที่ใหญ่ ก็เหมือนเป็นการส่งต่อวัฒนธรรมข้ามกันไปมา”แล้วนิทานที่เราคุ้นเคยกันมีกี่รูปแบบ แต่ละแบบมีความน่าสนใจอย่างไร ครูไนซ์บอกว่า น่าจะมีหลายร้อยแบบ อย่างในไทยก็จะมีนิทานพื้นบ้าน นิทานภาษาถิ่น นิทานศาสนา นิทานจริยธรรม หรือนิทานการเมือง เป็นต้น แต่โดยทั่วไปเราจะจัดเป็นหมวดใหญ่ก่อน ซึ่งแบ่งเป็น นิทานภาพสำหรับเด็ก และนิทานที่เป็นตัวอักษร
“สิ่งที่เราสนใจเป็นพิเศษคือ ‘นิทานภาพ’ ซึ่งมันก็สามารถแบ่งย่อยออกไปได้อีก ว่านิทานนั้นเป็น Picture Book หรือว่า Visual Literacy ขึ้นอยู่กับว่าภาพของนิทานนั้นสามารถสื่อสารดีพอแล้วหรือยัง”
บางคนอาจจะเกิดคำถามว่า นิทานทุกเล่มไม่ใช่หนังสือภาพเหรอ? เพราะจริงๆ แล้วนิทานมันก็มีภาพเล่าเรื่อง ครูไนซ์ตอบว่า เมื่อเรามาดูรายละเอียดจริงๆ ของนิทานบางเล่มแล้ว ภาพของนิทานนั้นไม่ได้มีความต่อเนื่องกัน กล่าวโดยสรุปเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ ภาพที่ต่อเนื่องกันจะเรียกว่า Visual literacy ส่วนภาพที่ไม่ต่อเนื่องกันจะเรียกว่า Picture book
“โดยหนังสือภาพที่มีความต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบหรือ Visual literacy เนี่ย ไม่จำเป็นต้องมีคนเล่านำ เด็กสามารถดูภาพและรับรู้ได้เองว่าเรื่องเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นหนังสือภาพที่ภาพไม่ต่อเนื่อง สิ่งที่พบคือภาพจะถูกตัดตอนไป ยกตัวอย่างเช่น เนื้อเรื่องคือเจ้าหญิงกำลังจะไปปราสาท ขึ้นรถฟักทอง แต่ภาพมีแค่เจ้าหญิงเปลี่ยนจากชุดแม่บ้านมาเป็นชุดสวย แล้วตัดภาพมาเป็นที่ปราสาทเลย สุดท้ายแล้วพอมันมีรอยต่อตรงนั้นอยู่ เด็กก็จะงงว่าทำไมเราเล่าไปอีกภาษานึง เพราะภาพมันหายไปซีนนึงเลย”
เสริมสร้างการเรียนรู้ด้วยการอ่านนิทานจากภาพ
ครูไนซ์เล่าให้ฟังว่าที่ออสเตรเลียและอเมริกา จะมีวิชาที่สอนให้เด็กอ่านภาพได้ด้วยตัวเอง เพราะถ้าเด็กอ่านภาพออก เขาก็จะอ่านสิ่งแวดล้อมออกด้วย แต่หลายๆ ครั้งที่สังคมไทยจะประเมินเองว่า ‘เด็กยังเล็กไป’ ‘คงอ่านยังไม่ออก’ ยังไม่ต้องให้ถึงหนังสือหรอก ทั้งๆ ที่ตามพัฒนาการแล้ว เด็กตั้งแต่ 1 ขวบครึ่งก็สามารถเริ่มรู้มิติได้แล้ว แต่เด็กจะอ่านได้ไหม หรือเปิดหน้าได้ไหม ก็ขึ้นอยู่กับช่วงวัยของเด็กอีกทีหนึ่ง
ซึ่งครูไนซ์ก็ได้ยกตัวอย่างนิทานเรื่อง ‘The Snowman’ ที่เป็นภาพทั้งหมดขึ้นมา
“เรื่อง ‘The Snowman’ เป็นเรื่องที่ไม่มีตัวอักษรอะไรเลย แต่เรากลับสามารถรับรู้สารตั้งแต่ต้นจนจบด้วยตัวเราเอง
ก็จะมี Symbolic ต่างๆ ซึ่ง เราก็ต้องดูด้วยว่าเด็กอยู่วัยไหน เพื่อเลือกวิธีเล่าและวิธีสื่อสารกับเด็ก เพราะเด็กบางคนอาจจะไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมกับหิมะเท่าไหร่ ถ้าเป็นเด็กเล็ก เขาก็อาจจะไม่เข้าใจว่า หิมะมันรู้สึกหนาวและร้อนยังไง อย่างโทนสีภาพก็จะมีส่วนช่วยเล่า โดยไล่เฉดจากช่วงแรกที่เริ่มด้วยความอบอุ่น แล้วสักพักโทนสีก็เริ่มดาร์กขึ้น สุดท้ายก็จบด้วยความสว่างอีกรอบ ซึ่งเรื่องนี้เราจะเล่าสำหรับเด็กเจ็ดขวบขึ้นไป ส่วนจะเล่ายังไงก็ขึ้นอยู่กับทักษะภาษาของเด็กคนนั้น”
อีกเรื่องที่ครูไนซ์ยกขึ้นมาเล่าให้ฟังคือเรื่อง ‘Flora and the Penguin’
“เรื่อง ‘Flora and the Penguin’ ก็เป็นอีกเล่มที่ไม่มีตัวอักษรเหมือนกัน แต่เราจะเล่าด้วยการใส่เสียงกับท่าเข้าไป อย่างที่บอกว่าเรานิยามนิทานส่วนใหญ่เป็น Visual Literacy เพราะเด็กสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่หน้าปก ซึ่งปกติเราจะใส่จังหวะเข้าไปในหนังสือที่เป็น Wordless ไปเลยแบบนี้ค่ะ”
ครูไนซ์เริ่มเล่านิทานด้วยการร้องเพลงและเลียนเสียงตามตัวละครของนิทาน และให้ความเห็นว่าเล่มนี้คือหนังสือภาพที่ดี เพราะทุกคนสามารถเห็น Action ตามภาพได้ โดยที่ไม่ต้องระบุคำอะไรเลย
“เด็กเขาจะรู้เองว่าเสียงนี้หมายถึงเพนกวินนะ คือเด็กเขาเข้าใจง่ายกว่าผู้ใหญ่อย่างเราซะอีก ก็เลยสามารถรับสารพวกนี้ไปได้เลย แต่หลายๆ ครั้ง การศึกษาไทยชอบไปตัดกระบวนการการเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็กลง ต้องไปชี้นำเยอะ ทั้งๆ ที่เขามีศักยภาพในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เขาแค่ไม่มีพื้นที่ให้ปล่อยออกมา”
ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ นิทานก็ยังตอบสนองเราได้
คนส่วนใหญ่มักมองว่าการเลือกนิทานที่เหมาะสมกับเด็กต้องพิจารณาจากเนื้อหาที่สอดคล้องกับช่วงวัย แต่ในมุมของครูไนซ์เรื่องนี้อาจไม่จำเป็นต้องกำหนดตายตัว แค่แบ่งสโคปกว้างๆ ไว้ก็พอ เพราะถึงจะเป็นนิทานสำหรับเด็กอายุ 1 – 3 ขวบ แล้วเด็กอายุ 5 ขวบมาอ่าน ก็ไม่ได้แปลว่าเด็กคนนั้นจะพัฒนาการด้อยลง “อย่างเรื่อง ‘แมว 11 ตัว กับยักษ์อุฮิอะฮะ’ นี้เขียนไว้ว่าโรงเรียนอนุบาลควรมี ซึ่งไปโรงเรียนอนุบาลมาหลายที่ ทุกที่ก็มีเล่มนี้ แต่พอเป็นห้องสมุดของประถมปุ๊บกลับไม่มีสักเล่มเลย”
ครูไนซ์เริ่มเล่านิทานเรื่อง ‘แมว 11 ตัว กับยักษ์อุฮิอะฮะ’ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวการท้าทายกฎของเจ้าแมว 11 ตัว ที่แม้ว่าจะเจอป้ายห้ามที่ไหน เจ้าแมวก็แหกกฎนั้นจนทำให้ถูก ‘ยักษ์อุฮิอะฮะ’ หลอกและจับตัวไป สุดท้ายเจ้าแมวก็ได้รับบทเรียน และรวมพลังความสามัคคีกันจนสามารถรอดพ้นยักษ์มาได้ จนช่วงท้ายเรื่องเจ้าแมวทั้ง 11 ตัวเจอป้ายให้ข้ามสะพานลอย ทุกตัวก็เคารพกฎและทำตามป้ายแต่โดยดี
“รากเดิมของนิทานบนโลกใบนี้มันคือเรื่องปรัมปราทั้งหมด และมันก็ต้องการส่งต่อเรื่องบางเรื่องไปถึงสังคมทั้งนั้น อย่างนิทานเรื่อง ‘แมว 11 ตัว กับยักษ์อุฮิอะฮะ’ คือต้องการพูดเรื่องกติกา ซึ่งเล่มนี้พูดถึงเรื่องกติกาที่ชัดเจน โดยมีเป้าหมายคือ ต้องการให้เด็กเคารพกติกาการข้ามสะพานลอย แต่เรารู้สึกว่านิทานเป็นเครื่องมือย่อยในการส่งสารก้อนใหญ่ให้เด็กอย่างเป็นรูปธรรม เพราะอยู่ดีๆ ถ้าเราไปพูดเรื่องกฎหมายข้อนี้ๆ เด็กก็คงไม่เข้าใจ”
นิทานเล่มนี้ก็เป็นเล่มแรกที่จุดประกายให้ครูไนซ์ ตั้งคำถามกับการแบ่งระดับของนิทานว่าเหมาะกับวัยไหนบ้าง เพราะช่วงหนึ่งครูไนซ์ได้ใช้นิทานเล่มนี้เข้าไปทำงานกับหลายๆ กลุ่ม แม้จะบอกว่าเหมาะกับเด็กอนุบาลก็ตาม
“ตอนนั้นเราเคยไปเล่านิทานในเซเว่น แล้วเจอเด็กโรงเรียนรัฐบาลประมาณ ป.5-ป.6 เล่นมือถือในเซเว่นระหว่างรอคุณพ่อคุณแม่ขายของในตลาด ซึ่งเราก็พบว่าเด็กในเซเว่นนี้เขาไม่มีนิทาน เราเลยไปถามเด็กๆ ว่ามาฟังนิทานกันไหม ทุกคนก็ตอบตกลงและตั้งใจฟังกันหมด”
“นี่เป็นรอยต่อแรกที่ทำให้เรารู้สึกว่าทำไมนิทานเล่มนี้แนะนำสำหรับเด็กอนุบาล แต่ว่าพี่ ป.5-ป.6 โรงเรียนรัฐบาลในกรุงเทพ ยังให้ความสำคัญกับมันได้”
และช่วงหนึ่งครูไนซ์ได้มีโอกาสได้ทำงานกับ ‘กลุ่มดาวเหนือ’ ที่ทำงานกับน้องๆ ในสถานพินิจ ครูไนซ์จึงได้นำ ‘หนังสือนิทาน’ เข้าไปใช้ด้วย ประกอบกับช่วงนั้นก็สนใจเรื่องการใช้ ‘หนังสือนิทานบำบัด’
“ในไทยทุกคนตั้งมาตรฐานไว้สูงกับคำว่า ‘หนังสือบำบัด’ ซึ่งหลายครั้ง นักวิชาการทั้งหลายในไทยกลับเอาหนังสือวรรณกรรมยากๆ ไปให้น้องๆ ในสถานพินิจอ่าน ทั้งๆ ที่ทักษะการอ่านของน้องๆ ในสถานพินิจหลายคนอาจจะยังไม่ค่อยดีมาก สุดท้ายผลบำบัดมันออกมาว่าหนังสือใช้ไม่ได้ผล และน้องๆ ในสถานพินิจก็เครียดมากขึ้น”
“เราเลยตั้งคำถามว่า ‘หนังสือที่เลือกมันไม่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายหรือเปล่า?’ เหมือนเราคุยกันคนละภาษาอยู่ เราก็เลยเอานิทานเข้าไปและเลือกนิทานภาพมาใช้ เรื่องที่เราเลือกคือ ‘แมว 11 ตัว กับยักษ์อุฮิอะฮะ’ เล่มเดิม เล่าให้น้องๆ ฟัง ซึ่งเขาก็เกิด Awareness ผ่านกระบวนการนิทานบำบัดด้วยตัวเขาเอง
น้องๆ เขาก็รีเฟล็กซ์ชันกันว่า ถ้าสมมติเขาเจอเจ้าเหมียวก่อนเขาอาจจะไม่ขโมยรถ หรือว่าไม่ทำอะไรบางอย่างที่ผิดพลาดไป เพราะว่าเรื่องราวมันเชื่อมโยงกับประสบการณ์โดยตรงของเขา ซึ่งตอนแรกเราก็ไม่ได้คาดหวัง Meaning นี้เหมือนกัน เราคาดหวังแค่ว่าอยากจะเติมสีสันความเป็นไปได้ในชีวิตเขา”
“อันนี้ก็น่าจะเป็นอีกอย่างที่เราได้แรงบันดาลใจว่าสุดท้ายแล้วมันก็มีผลกับคนวัยต่างๆ ได้ ทั้งๆ ที่เขายืนยันที่หน้าปกว่าเหมาะสำหรับเด็กอนุบาล แต่เด็กป.5 – ป.6 ก็ตอบสนองเรา หรือแม้กระทั่งเด็กๆ ในสถานพินิจที่เป็นวัยรุ่นถึงอายุ 18 ปี ก็ยังตอบสนองเราได้”
ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เพียงเด็กและวัยรุ่นเท่านั้น แต่นิทานยังสามารถทำงานกับผู้ใหญ่ที่มีบาดแผล (Trauma) ทางจิตใจได้ด้วย
“ล่าสุดเราพึ่งทำกระบวนการกับเพื่อนอายุ 30 กว่าไป นิทานบางเรื่องก็ยังทำงานกับผู้ใหญ่วัยเกษียณที่ทำงานแล้วออกมาเคว้ง เพราะว่าเคยเป็นผู้นำในองค์กรใหญ่ แต่พอกลับมาบ้านกลับโดนลูกบ่น ไม่ได้รับการยอมรับจากลูกหลาน จากที่เคยได้รับการยอมรับหรือที่ทำงาน จนเกิดภาวะ Self Esteem ตก
ในทางจิตวิทยา เราอาจเคยได้ยินคำว่า ‘Inner Child’ หรือ ‘เด็กน้อยในตัวเรา’ มาแล้ว นิทานเป็นกระบวนการให้ผู้ใหญ่สามารถเข้าไปทำงานกับเด็กน้อยในตัวเองได้ผ่านภาพ คือคนเล่าก็เป็นเพียงแค่คนส่งสาร แต่นิทานมันคุยกับเราเองอยู่แล้ว นิทานก็เลยเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่มาทำงานกับเด็กน้อยในตัวเองได้เร็วมากๆ”
สร้าง Self Esteem ให้กับเด็กผ่านนิทาน
ครูไนซ์บอกว่า “หลายคนอาจจะรู้สึกก้ำกึ่งกันอยู่ คือ Self Confidence ซึ่งเราอาจจะคิดว่า ‘ฉันมั่นใจในสิ่งต่างๆ มาก’ แต่ความจริงแล้วมันเป็นเพียงความมั่นใจเชิงบวกในสิ่งที่เราถนัด แต่ Self Esteem จะขยายขอบเขตของความเป็นไปได้ไปอีก เพราะเป็นการยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้ด้วย”
“เราเลยไม่ได้ปั้นเด็กให้มี Self Confidence แต่เราจะปั้นเด็กให้มี Self Esteem ซึ่งการทำเรื่อง Self Esteem เวลาที่เราจะทำให้เด็กคนนึงเกิดการเรียนรู้ หรือเกิดความมั่นใจ เราก็ต้องมีคาแรกเตอร์แบบนั้นก่อน สมมติเราเล่านิทานแบบหงอยๆ ไหล่ห่อ เด็กๆ ก็จะรู้สึกได้ว่าคุณครูยังไม่มีความมั่นใจเลย เพราะปกติแล้วมนุษย์ปกปิดสีหน้าและความรู้สึกไม่ได้
และเราว่าเด็กเป็นเครื่องอ่านที่ฉลาดมากๆ หากมีภาษากายที่ดูไม่มั่นใจเกิดขึ้น ก็อาจแปลได้ว่าเราไม่ได้ยอมรับตัวเราเองอย่างเต็มที่
ซึ่งบางครั้งเราไปยึดติดกับอะไรบางอย่างที่สังคมอาจจะตีตราไว้ว่าลบ แต่ถ้าเรายอมรับมันได้ จากสิ่งลบๆ นั้นก็อาจจะกลายเป็นกลางๆ แทน เราเลยรู้สึกว่าการที่จะทำให้เด็กมี Self Esteem ได้ ผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้างเด็กก็ควรมี Self Esteem แข็งแรงมากพอ”
ครูไนซ์เลือกนิทานเรื่อง ‘I Like Me’ เป็นนิทานที่ชอบมากที่สุด และมองว่าเป็นเรื่องที่ทำงานเรื่อง Self Esteem มากที่สุดอีกด้วย
“ในหนังสือที่มีภาพหมูยกมือขึ้นดีใจเนี่ย ถ้าเด็กได้เห็นภาพนี้และมันชัดด้วยตัวเองแล้ว ไม่ว่าจะเอาไปเล่ากับเด็ก Culture ไหน เด็กก็อินเพราะมันมีพลัง”
‘ฉันมีเพื่อนที่ดีที่สุดด้วยนะ เพราะเพื่อนที่ดีที่สุดก็คือ ตัวฉันเอง’
‘ฉันมีหางที่น่ารัก ฉันมีพุงนุ่มๆ และเท้าจิ๋วหลิวของฉัน’
‘ไม่ว่าจะไปที่ไหน ไม่ว่าจะเกิดอะไร ฉันก็รักตัวเองที่สุดเลยล่ะ’
“เรื่องนี้ตีพิมพ์มา 30 กว่าปี แต่มันยังทันสมัยมากเลย เราคิดว่าเขาต้องเท่แค่ไหนนะ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการรักตัวเองเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว และก็รู้สึกว่าพี่หมูดูแลใจเราในตอนที่เราอาจจะมีปัญหาหรือโจทย์ในชีวิต เพราะฉะนั้นมันจะดีแค่ไหนถ้าเราพูดเรื่องนี้กับเด็กตั้งแต่ยังเล็กว่า หนูยอมรับตัวเองได้เลยนะ ไม่ว่าหนูจะเป็นยังไง”
“บางครั้งเด็กยังไม่มั่นใจในกายภายนอก อย่างเช่น ผมหยิก ผิวคล้ำ แต่ถ้าเราทำให้เขายอมรับความเป็นตัวเอง เขาก็จะได้ลดเวลาในการเรียนรู้หรือทำงานกับเรื่องยากๆ เกิดความมั่นใจ และสามารถไปทุ่มเทในสิ่งที่เขาโฟกัสได้เลย”
“หลายคนอาจจะรู้สึกว่าเราโฟกัสกับกายภาพหรือเปล่า ไม่ใช่นะ แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เด็กจับต้องได้ หลังจากเล่านิทานเล่มนี้เสร็จ เราก็จะถามว่า “เด็กๆ ชอบอะไรในตัวเจ้าหมูนะ” เด็กๆ ก็อาจจะตอบว่าชอบพุง ชอบตัวเจ้าหมู แล้วเราก็จะลองถามว่า เด็กๆ ชอบอะไรในตัวครูไนซ์บ้าง เด็กๆ ก็อาจจะตอบว่า ชอบตา ชอบผม ชอบความใจดี ชอบเสียง แล้วเราก็จะถามกลับไปว่า “แล้วเด็กๆ ล่ะ ชอบอะไรในตัวเอง””
“ในความคิดเรา เรื่อง ‘I Like Me’ สื่อสารพลังมากกว่าหนังสือจิตวิทยายากๆ เสียอีก ให้พลังมากกว่าหนังสือร้อยกว่าหน้าที่อ่านไปแล้วก็ยังไม่เข้าใจซักทีว่า Self Esteem คืออะไร และเราจะมีมันได้ยังไง แต่เจ้าหมูสามารถพูดกับคุณง่ายๆ พูดความเป็นมนุษย์ออกมาเลยว่า Self Esteem คืออะไร”
การทำงานร่วมกันระหว่าง ‘บ้านกางใจ’ และ ‘ครอบครัว’
สิ่งที่ ‘บ้านกางใจ’ ทำงานคือเราพาพ่อแม่มาตั้งหลักให้ได้ก่อน บางครั้งพ่อแม่ไปสร้างความคาดหวังกับลูก ทั้งๆ ที่ตัวพ่อแม่เองก็ทำงานกับตัวเองไม่ได้เหมือนกัน
“สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจออกมาจากการศึกษาในระบบ คือเราอยากโฟกัสไปที่เด็กรายคน เพราะคอนเซปต์ของ ‘บ้านกางใจ’ คือเราจะทำงานร่วมกันกับพ่อแม่เด็ก การที่เด็กคนนั้นมีปัญหาอะไรก็ตาม จริงๆ แล้วผู้ปกครองควรย้อนมามองตัวเองก่อนอันดับแรก ทำไมพ่อแม่บางคนถึงโยนทุกภาระมาให้เด็กปรับตัว ทั้งๆ ที่ตัวพ่อแม่เองก็ไม่ยอมปรับตัวเองตามเด็ก”
ถ้าพ่อแม่เริ่มตั้งคำถามที่ตัวเองก่อน มันเป็นเหมือนการเปิดใจ ทำงานกันเป็นทีม เพราะถ้าเราโฟกัสว่าตัวปัญหาคือลูกแล้วอยากจะแก้ไข แต่มันไม่มีความรักอยู่ในนั้น ก็อาจจะกลายเป็นความเป็นห่วงที่อาจจะมีพิษอยู่ แต่ถ้าพ่อแม่เริ่มตั้งหลักด้วยตัวเอง มันก็จะเป็นการทำงานเป็นทีม เป็นความหวังดีที่อยากพัฒนาตัวเอง และเขาก็จะสามารถดึงศักยภาพลูกออกมาได้
“เหมือนหนังสือเล่มนึงที่เขาบอกว่า ‘ยิ่งครูดึงศักยภาพตัวเองออกมาได้เยอะแค่ไหน สุดท้ายครูคนนั้นจะดึงศักยภาพเด็กได้มากขึ้นตาม’ เพราะครูมั่นใจว่ามันมีความเป็นไปได้ในทุกๆ เรื่อง แต่ถ้าครูรู้สึกไม่มั่นใจ ครูก็จะรู้สึกว่าศักยภาพของตัวเองมีกับดักอยู่ แล้วพอไปเจอเด็กก็จะตัน”
“ทุกครั้งที่เราสอนเด็กเจนนี้ ที่เป็นเด็กอายุ 2 – 7 ขวบ เราจะรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำงานกับเด็กเจนเดียว เพราะเราเชื่อว่าถ้าเขามีประสบการณ์วัยเด็กที่แข็งแรง เขาก็จะมีประสบการณ์การเป็นพ่อกับแม่ที่ดีได้ในอนาคต”
เก็บความคาดหวังแบบผู้ใหญ่ไว้ในใจ เพื่อจุดประกายความหวังใหม่ในตัวลูก
หลายๆ ครั้งที่พ่อแม่อ่านนิทานด้วยความคาดหวัง คืออ่านแล้วมีเป้าในใจตลอด อยากให้เก็บเป้านั้นไว้ในใจ เพราะนิทานเรื่องแต่ละเรื่องแม้ว่าอาจจะมีใจความสำคัญหนึ่งประเด็น แต่ไม่ได้แปลว่าเด็กทุกคนจะโฟกัสไปแค่ใจความสำคัญเพียงอย่างเดียว เขาอาจจะไปโฟกัสรายละเอียดของภาพนิทานก็ได้
“ถามว่าเขาได้อะไรจากนิทานมั้ย เขาได้นะ แต่เขาอาจจะได้ในสิ่งที่ไม่ตรงกับใจพ่อแม่ ถึงเราจะมีเป้าอยู่ในใจก็จริง แต่เราก็ต้องช้อนเอาเป้าที่เด็กได้ในครั้งนั้นด้วย ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณมีเป้าแล้วคุณไปปฏิเสธกับสิ่งที่เด็กตอบสนองกลับมา อันนี้เรารู้สึกว่า คุณก็กำลังเสียโอกาสทองที่จะทำความเข้าใจเด็กไป”
การที่พ่อแม่เก็บเป้าในใจให้ลึกลง ไม่ได้แปลว่าการเล่าครั้งนั้นไม่มีเป้าหมาย แต่เราแค่ไม่เอาเป้าหมายนั้นออกมาให้เด็กเห็นโจ่งแจ้ง เพราะหากเราไปกำหนดคำตอบให้เด็กเลือก ก็ไม่ต่างอะไรกับการทำให้เด็กกลับไปเป็นหุ่นยนต์ ที่ต้องตอบแค่ความสุขความดีงาม ยึดโยงกับกรอบของสังคม
“อีกอุปสรรคหนึ่งที่เราเจอกับคุณพ่อคุณแม่ตอนนี้คือ เวลาที่บอกว่าให้อ่านหนังสือให้ลูกฟังเนี่ย พ่อแม่ก็จะไปอ่านให้ฟังตลอดเวลา การที่พ่อแม่อ่านให้ฟังเราว่ามันสำคัญแค่ครึ่งเดียวเอง แต่ที่สำคัญที่สุดคืออีกครึ่งหนึ่งต้องมีเวลาให้เด็กอ่านเรื่องของตัวเองด้วย
เพราะถ้าเราไม่มีเวลาให้เด็กลองพลิกหนังสือเล่น หรือให้ลองอยู่กับมันเพื่อสร้างความเข้าใจด้วยตัวเอง สุดท้ายแล้วมันก็กลายเป็นการอ่านแบบสั่งสอน มีคนนำการเรียนรู้ ทั้งๆ ที่ เด็กสามารถเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง”
คุณค่าของนิทานในมุมมองของครูไนซ์
“สำหรับเรา นิทานคือหนังสือที่มีคุณภาพและเล่าเรื่องด้วยภาพ เป็นหนังสือที่มีความหมาย แต่หลายๆ ครั้ง พอนิยามนิทานมาปุ๊บ เราก็เริ่มโฟกัสแล้วว่า Target เป็นเด็ก มองว่านิทานก็เป็นเรื่องไร้สาระ เรื่องจินตนาการ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ถ้าคุณลองเดินเข้าไปในมุมหนังสือแล้วหยิบนิทานออกมา ได้ลองมานั่งอยู่กับมัน เราเชื่อว่าความละเมียดละไม ความละเอียดอ่อนในชีวิตคุณก็จะผลิบานขึ้นอัตโนมัติ มันเป็นความสุนทรีย์”
สำหรับคุณพ่อคุณแม่และคุณครูที่อยากใช้นิทานในการสร้างการเรียนรู้กับเด็ก ครูไนซ์แนะนำว่าให้เริ่มจากตวเอง ลองกลับมาอ่านและทำความเข้าใจกับนิทาน ไม่ต้องอ่านเพื่อลูกหรือเพื่อเป้าหมายอะไร อ่านเพื่อตัวเองก่อน ว่ามีความสุขกับนิทานแล้วหรือยัง
“ถ้าคุณมีความสุขกับมันแล้ว คุณจะไม่ได้เล่านิทานด้วยหน้าที่ และจะรู้เลยว่านิทานมันมีพลังมากแค่ไหน โดยที่ไม่จำเป็นต้องพยายามยัดเยียดพลังตรงนี้ไปถึงเด็ก แต่ถ้าคุณยังไม่สามารถสัมผัสพลังตรงนั้นได้ ไม่ว่าหนังสือนั้นจะเป็นนิทานดีหรือรางวัลระดับโลกก็ตาม เด็กก็จะไม่เข้าใจสารที่เราสื่อเพราะเขาไม่ได้รับความรักจากผู้เล่า และเด็กเขารู้จริงๆ นะ ว่าคนไหนอ่านนิทานด้วยความรัก และคนไหนอ่านเพราะเป็นหน้าที่”
“สิ่งที่สำคัญที่สุดเวลาที่เราเล่านิทาน ทั้งทักษะภาษาและการส่งสารคือเป้าหมายทางตรง แต่เป้าหมายทางอ้อมคือเรากำลังสร้างแรงจูงใจให้เขาสนุกกับการอ่านในชีวิตจริง เพราะถ้าเขามีประสบการณ์ที่ดี เชื่อว่าเขาจะอ่านนิทาน หรืออ่านหนังสือตอนโตเอง ซึ่งนั่นคือเป้าหมายรองที่เราตั้งใจทำเสมอมา เพื่อให้เด็กเป็นหนอนหนังสืออย่างธรรมชาติ โดยไม่ยัดเยียด”
ถึงตรงนี้ ครูไนซ์ฝากถึงผู้ดูแลเด็กว่าอยากให้กลับมาอ่านนิทานดูก่อน เพราะถ้าผู้ใหญ่ยังไม่เห็นพลังของมัน ก็ยากมากที่จะไปในสเต็ปต่อไป
“ในความคิดของหลายๆ คนอาจคิดว่า ‘ก็แค่นิทาน’ แต่สำหรับเรามัน ‘ตั้งนิทาน’ เลยนะ ไม่ใช่แค่นิทาน สุดท้ายแล้วถ้าเราตัดมายาคติของสังคม ว่าอะไรเป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่ นิทานก็ไม่ต่างจากหนังสือวรรณกรรมดีๆ เลย เพราะทุกคนก็เติบโตมาพร้อมกับเรื่องเล่าทั้งนั้น”