- ที่โรงเรียนอนุบาลสตูล พวกเขาออกแบบหลักสูตรโดยใช้โครงงานฐานวิจัย หรือ Research-Based Learning (RBL) ให้ผู้เรียนเป็นคนเลือกเรื่องที่อยากเรียนและลงมือศึกษาด้วยตัวเอง รวมถึงออกแบบแพลตฟอร์มหนึ่งที่ให้เด็กๆ ได้เขียนความฝันของตัวเอง และคุณครูออกแบบการสอนให้ตอบโจทย์เด็กๆ
- นอกจากนี้ ยังมีวิชาสุนทรียะ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ให้เด็กๆ ได้รู้จักกับวิชาศิลปะเพื่อค้นหาตัวเอง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เด็กได้ความรู้และทักษะสมรรถนะ พร้อมๆ กับค้นพบตัวตน
- เพื่อไขเบื้องหลังการออกแบบการเรียนรู้นี้ ชวนไปคุยกับ อภิชาติ อดิศักดิ์ภิรมย์ หนึ่งในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล และอดีตนายกสมาคมผู้ปกครองเเละครูโรงเรียนอนุบาลสตูล
- “ก่อนอื่นเราต้องยอมรับก่อนว่า เด็กมีสิทธิที่จะฝัน เขามีสิทธิเป็นของตัวเขาเอง เเต่ระหว่างทางที่โรงเรียนอนุบาลสตูล การศึกษาเราถึงแค่ป.6 บางอย่างจะไปชี้ชัดมากก็ยังทำไม่ได้ เเต่อย่างน้อยเราทำให้เด็กกล้าที่จะบอกว่าความฝันของตัวเองคืออะไร คุณอยากจะเป็นอะไร ให้คนอื่นได้รับรู้เพื่อที่จะได้เติมเต็ม เพื่อจะได้ validate ได้ว่าคุณชอบสิ่งนี้”
ทุกคนเคยมีคำถามที่ตอนเด็กๆ เราจะกลัวกันไหม ให้ความรู้สึกแบบอย่าถามคำถามนี้กับฉันเลย
ของเรามีหนึ่งคำถาม คือ ‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’ เวลาเจอคำถามนี้ทีไรความกดดันตามมาทุกที ให้ความรู้สึกประหนึ่งนางงามตอบคำถามรอบสุดท้าย สปอตไลท์ส่องมาที่เราขณะรอคำตอบ มันค่อนข้างเป็นคำถามวัดใจเลยนะ สมมติตอบว่าไม่รู้ ก็ดูเป็นคนไม่มีอนาคต ไม่รู้จักวางแผนในสายตาคนอื่น หรือตอบไปแล้ว คำตอบดันไม่โดนใจคนฟังอีก ก็เจอปฏิกิริยาตอบกลับ เช่น ‘เอาที่มันเป็นไปได้หน่อย’ ‘ไม่ดีหรอก อย่าเป็นเลยอาชีพนี้’
ส่วนตัวเรารู้สึกว่าคำถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไรในสังคมเรามันถูกผูกไว้กับคำว่า ‘อาชีพ’ หมายถึงความฝันเราคือเธอจะทำงานอะไร ซึ่งจริงๆ ความฝันเรามันอาจจะไม่ได้เป็นอาชีพก็ได้ เช่น เราแค่ฝันอยากมีชีวิตในฟาร์มได้ไหม? หรือฝันอยากไปเที่ยวรอบโลก
ซึ่งพอความฝันเท่ากับอาชีพ แถมบ้านเราวงการอาชีพค่อนข้างแคบ งานที่ได้รับคุณค่าเยอะๆ หนีไม่พ้น หมอ ครู วิศวกร กลายเป็นตีกรอบชีวิตเราไปโดยปริยาย และช่วงนี้ที่ระบบการศึกษาเริ่มเปลี่ยนการสอน โรงเรียนหันมาตั้งหลักสูตรโดยวัดว่าเด็กจะได้ทักษะอะไรกลับมา ตอบโจทย์ตลาดแรงงานหรือไม่
เราว่าไม่ผิดนะ แต่อย่างน้อยความฝัน… โดยเฉพาะกับเด็กเราไม่ควรได้รับอิสระให้ฝันอย่างเต็มที่เหรอ? มันอาจหลุดจากกรอบสังคม ดูไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเป็นจริง ถ้าเพียงแต่ได้รับการสนับสนุน
ที่โรงเรียนอนุบาลสตูล ถือเป็นหนึ่งในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล พวกเขาออกแบบหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยใช้โครงงานฐานวิจัย หรือ Research-Based Learning (RBL) คือ ให้ผู้เรียนเป็นคนเลือกเรื่องที่อยากเรียนและลงมือศึกษาด้วยตัวเอง รวมถึงออกแบบแพลตฟอร์มหนึ่งที่ให้เด็กๆ ได้เขียนความฝันของตัวเอง และคุณครูออกแบบการสอนให้ตอบโจทย์เด็กๆ นอกจากนี้ ยังมีวิชาสุนทรียะ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ให้เด็กๆ ได้รู้จักกับวิชาศิลปะเพื่อค้นหาตัวเอง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เด็กได้ความรู้และทักษะสมรรถนะ พร้อมๆ กับค้นพบตัวตน
เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น เราชวน อภิชาติ อดิศักดิ์ภิรมย์ หนึ่งในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล และอดีตนายกสมาคมผู้ปกครองเเละครูโรงเรียนอนุบาลสตูล มาคุยกัน
เขาคือคุณพ่อและนักธุรกิจที่จับพลัดจับผลูมาทำงานด้านการศึกษาโดยมีความหวังว่าอยากเห็นเด็กๆ เรียนอย่างมีความสุข พร้อมๆ ไปกับได้สร้างฝันอย่างเต็มที่
การเปลี่ยนผ่านจากคุณพ่อมาเป็นคนทำงานในภาคการศึกษา
ลูกผมเคยเรียนที่โรงเรียนอนุบาลสตูล เราคอยขับรถรับ – ส่งลูก ก็มีโอกาสเจอคุณสมชาย ตันติ์ศรีสกุล (ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนอนุบาลสตูล) เเละสุทธิ สายสุนีย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ณ ขณะนั้น ได้คุยกันเรื่องการศึกษาเเล้วถูกคอ เลยชวนกันทำกิจกรรมเล็กๆ มาเรื่อยๆ จนมาวันหนึ่งผมคิดว่ามันคงถึงเวลาที่เราต้องทำงานอย่างเป็นทางการแล้วล่ะ เพื่อจะก่อร่างสร้างที่ทางให้กับคนรุ่นหลัง เลยเป็นที่มาของการตั้งสมาคมผู้ปกครองเเละครูโรงเรียนอนุบาลสตูล ผมได้รับโอกาสเป็นนายกสมาคม และทำงานร่วมกับโรงเรียนเรื่อยมา
เรื่องที่คุยกันถูกคอ คือเรื่องอะไร?
หลายคนมองว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่อยู่แค่ในโรงเรียนเท่านั้น เป็นหน้าที่ของครูเเละโรงเรียน เเต่พวกเราเห็นตรงกันว่าการศึกษามันไม่ใช่เฉพาะโรงเรียน ผู้ปกครองเองก็มีหน้าที่ให้การศึกษาลูก ที่โรงเรียนเราจัดการเรียนรู้โดยใช้โมเดล 3 – 3 – 4 คือเรียนอยู่ที่โรงเรียน 30 ที่ชุมชนอีก 30 เและ 40 ที่เหลือก็คืออยู่ที่ผู้ปกครอง อยู่ที่บ้าน การเรียนรู้จะเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ใช่เกิดเเค่ในโรงเรียน
ผู้ปกครองถือเป็นกุญแจสำคัญหนึ่งในการออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กๆ
โรงเรียนไม่ได้สอนได้ทุกอย่าง บางอย่างเกิดจากการเรียนรู้ที่บ้าน ยกตัวอย่างเช่น การซักผ้ารีดผ้า การทำงานบ้าน รวมไปถึงการปลูกฝังเรื่องวินัย มันสามารถเกิดจากที่บ้านได้ ไม่ใช่แค่ที่โรงเรียน
เเต่เรื่องสอนหนังสือ เรื่องวิชาการ ก็ยังคงเป็นเรื่องหลักที่โรงเรียนรับผิดชอบอยู่ เเต่การศึกษาปัจจุบันเราต้องยอมรับว่าการเรียนในระบบกับการสอบเเข่งขันมันไม่เท่ากัน ผู้ปกครองก็คงต้องช่วยกันเติม ทำงานร่วมกันกับโรงเรียนต่อไป
แต่บริบทของเเต่ละคนไม่เหมือนกัน ผู้ปกครองหลายท่านอาจจะไม่มีเวลา ตัวผมทำงานส่วนตัวจึงบริหารเวลาได้ง่าย เเต่จริงๆ เด็กเขาไม่ได้ต้องการเวลาเยอะนะ เขาต้องการนิดเดียว วันละสัก 15 นาที หรือครึ่งชั่วโมง เราก็เติมเต็มไปเรื่อยๆ ฝึกให้เขาคิด ฝึกให้เขาทำเอง เเล้วก็มีวินัย เด็กไม่ต้องการเยอะ เเต่ต้องการความสม่ำเสมอ
บทบาทของคุณอภิชาติในภาคการศึกษา
อย่างแรกผมเข้ามาช่วยออกเเบบการศึกษา โดยเอาข้อมูลที่โรงเรียนเก็บไว้เยอะมากแต่ไม่ได้ใช้งาน เช่น ผลการสอบ ตัวผมมีความรู้ด้านสถิติอยู่แล้ว เราก็เอาโปรเเกรมสถิติใช้ประมวลข้อมูลนี้ แล้วเอาผลที่ได้ไปออกแบบการเรียนรู้ให้นักเรียน
นอกจากนั้นก็ชวนพ่อเเม่และเพื่อนๆ มาทำกิจกรรมในห้องเรียนมากขึ้น เช่น เอาคนข้างนอกมาช่วยติวเด็กบ้าง พาคนมาเติมเต็มสิ่งที่คุณครูในโรงเรียนไม่สามารถที่จะสอนได้นอกหลักสูตร หรือบางช่วง คุณครูที่โรงเรียนขาดเเคลน เราเองสามารถช่วยพาครูข้างนอกมาสอนเด็กได้ พ่อเเม่บางคนก็มาเป็นครูได้
การนำข้อมูลมาประมวลผลเพื่อออกแบบหลักสูตรการศึกษา วิธีการเป็นอย่างไร?
ผมว่าจริงๆ ทุกโรงเรียนมีข้อมูลเก็บไว้เยอะนะ อย่างเรื่องการอ่าน ที่เขตพื้นที่จะมีการทดสอบการอ่านออกเขียนได้ของเด็กปีละ 4 ครั้ง อย่างการอ่านมันก็มีหลายเกณฑ์ เช่น อ่านออกไหม? อ่านเเล้วจับใจความได้หรือไม่ เป็นต้น เเต่ว่าข้อมูลของเด็กที่เก็บแต่ละครั้งเป็นข้อมูลดิบที่ทิ้งไป ไม่มีใครนำไปประมวลต่อ ส่งไปให้เขตพื้นที่การศึกษา เขตเอาไปเเล้วก็เงียบ ตัวผมมองว่าข้อมูลเเบบนี้มันน่าสนใจมากนะ เราอยากจะรู้ว่าเด็กที่อ่านไม่ออกไปกระจุกตัวอยู่ตรงไหน มันเป็นปัญหาที่ตัวเด็กหรือเป็นปัญหาที่ครู ข้อมูลสถิติจะช่วยให้เราวิเคราะห์ปัญหาได้ชัดเจนขึ้น
ยังมีข้อมูลอีกหลายตัว เช่น การสอบแข่งขันทางวิชาการระดับนานาชาติ เป็นการสอบวัดความสามารถทางวิชาการของแต่ละช่วงชั้น เราก็ดูผลสอบของเด็ก ป.4 ป.5 ป.6 มีความต่างกันอย่างไร เด็กป.4 ทำไมทำข้อสอบได้มากกว่าเด็ก ป.5 เด็กป.5 ทำไมสอบได้มากกว่าเด็ก ป.6 เหตุผลเเละปัจจัยคืออะไร ข้อมูลเเบบนี้เราเอามาใช้ในการบริหารจัดการและออกเเบบการศึกษาได้
ข้อมูลที่ผมใช้จะมี 2 ส่วน ส่วนเเรก – ส่วนที่โรงเรียนมีอยู่เเล้ว ปกติโรงเรียนต้องส่งข้อมูลต่างๆ ให้เขตพื้นที่อยู่แล้ว แต่ส่วนมากไม่ได้ใช้ต่อ เราหยิบข้อมูลนี้มาประมวลผลได้ ส่วนที่สอง – ข้อมูลการสอบสนามใหญ่ เช่น โครงการสอบของสสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) การสอบแข่งขันทางวิชาการระดับนานาชาติ เป็นข้อมูลที่ประกาศในเว็บไซต์สาธารณะ เเต่ไม่มีใครเอาข้อมูลมาประมวลต่อ เราก็หยิบมาใช้
เรียกว่าใช้ความสามารถหลายๆ ศาสตร์จากผู้ปกครองหลายคน มาอุดรอยรั่วและช่วยสนับสนุนการศึกษาในความถนัดของตัวเอง
ใช่ เเล้วผู้ปกครองก็จะได้เห็นศักยภาพของลูกตัวเอง จริงๆ มันก็มีประเด็นการเก็บข้อมูล เพราะบางคนก็ไม่อยากให้คนอื่นเห็น บางคนก็อยากให้ประกาศให้เห็นกันชัดๆ เพราะฉะนั้น เราใช้วิธีการเอาคะแนนของเเต่ละคนมา plot เทียบกับสถิติ อย่างเช่น สูงสุด – ต่ำสุด ค่าเฉลี่ย เขาอยู่ตรงไหน เขาเป็นคนที่เท่าไหร่ในเเต่ละวิชา เราไม่ได้ประกาศ เเต่บอกเป็นรายบุคคล เขาจะรู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนของระดับชั้น คะแนนที่ตัวเองได้เทียบกับค่ากลางหรือค่าสูงสุด เพื่อพัฒนาตัวเองต่อ เราจัดทำเป็นข้อมูลส่วนตัว
ข้อมูลมันมีประโยชน์มากนะ อย่างเช่น ณ โรงเรียนดังแห่งหนึ่ง ปีๆ หนึ่งเขาจะรับเด็กที่สอบเข้าได้ 20 คน เพราะฉะนั้น ถ้าคุณอยู่ใน 20 อันดับเเรก คุณก็มีโอกาส เเต่ถ้าเด็กบางคนที่รู้ข้อมูลก่อนว่าเขาอยู่ที่ลำดับ 25 อยู่ที่ 30 ถ้าคุณอยากติด เเปลว่าคุณต้องสปีดตัวเองขึ้น ทำงานหนักมากขึ้น เพื่อที่จะไต่ขึ้นไปอยู่ในลำดับ 1 – 20 ข้อมูลจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเเบบนี้ เราไม่ได้มองว่านี่เป็นการเเข่งขัน เพราะ ณ ระบบวันนี้ เก้าอี้มีจำนวนจำกัด เพราะฉะนั้นทุกคนพยายามที่จะช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด นี่คือส่วนที่เรามองว่าเราช่วยเด็กเเละผู้ปกครองได้ การเห็นข้อมูลจะทำให้คุณมีเวลาเตรียมตัวเเละปรับปรุงตัวเอง
ต่อให้บอกว่านี่เป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนา แต่สุดท้ายมันก็วนไปที่การแข่งขันอยู่ดี
ต้องบอกว่าบางครั้งตัวข้อมูลก็ขึ้นอยู่กับมุมมองเเละเจตนา เราปฏิเสธความจริงได้ไหม? เราจะเอาอะไรมาวัด มาบอกว่าตัวเราอยู่ตรงไหน ถ้าเราไม่ยึดข้อมูล เเต่ถ้าเราบอกว่าเราเอาข้อมูลนั้นเพื่อบอกว่าเราอยู่ตรงไหนเป็นการเเข่งขัน มันก็ปฏิเสธไม่ได้ ขึ้นอยู่กับเจตนาที่จะเอาไปใช้
เเต่สำหรับเรา เจตนาคือเราจะได้รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน อย่างเช่น คนที่อยู่ลำดับ 20 คุณสุ่มเสี่ยงมากนะ สอบคราวหน้าถ้าคุณพลาดไป 1 ข้อ ขณะที่คนที่สอบได้ที่ 21 เขาได้อีก 1 ข้อ เขาอาจมาเเทนคุณทันที เพราะฉะนั้นข้อมูลบอกให้คุณพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่การเเข่งขัน มันขึ้นอยู่กับมุมมอง
ช่วงแรกๆ ที่เข้ามาทำงานในสายนี้ เราได้วาดภาพไว้ไหมว่าอยากเห็นอะไร?
สิ่งที่ผมต้องการไม่ได้ใหญ่เลย เราอยากเห็นเด็กเรียนอย่างมีความหมายเเละมีความสุข เพราะเรารู้สึกว่าการศึกษาในปัจจุบันทำร้ายเด็ก มันตัดความคิดสร้างสรรค์ ตัดความเป็นเด็กออกไป คือระบบมันทำให้เด็กมุ่งเเต่เรียน ทำข้อสอบ ติว เเข่งขัน วิถีความเป็นเด็กมันหายไป มีเด็กเเค่หยิบมือเดียวประมาน 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ที่ได้อย่างที่ตัวเองหวัง เเต่เด็กอีก 80 เปอร์เซ็นต์ก็คือหลุดออกจากระบบ ไม่ได้อะไรเลย
คนที่ไปสอบสนามไหนก็ winner takes all ได้ทุกอย่าง ในขณะเด็กที่หลุดก็หลุดทุกสนามเหมือนกัน มาเรียนก็เบื่อๆ ไม่สนุก อย่างนี้เรามองว่าการเรียนไม่มีความหมาย เด็กไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราอยากเห็นก็คือ ทำยังไงให้เด็กเรียนอย่างมีความหมายเเละมีความสุข นั่นคือเจตจำนงเเละทุกกิจกรรมที่เราทำเพื่อที่จะให้เด็กเรียนอย่างมีความหมายเเละมีความสุข
เป็นความรู้สึกที่ได้จากประสบการณ์ตรง
ถามว่าทุกวันนี้เด็กเรียนจบไป เขาทำอะไร สิ่งที่เรียนได้เอาไปใช้หรือเปล่า เเม้เเต่รุ่นเราเองก็พูดว่าเรียนมาไม่เห็นได้ใช้เลย เเปลว่าเรียนเเล้วไม่มีความหมาย เราอยู่ในภาคธุรกิจ เราเห็นเด็กที่จบมา เรารับเขาเข้ามา ความรู้ที่เขามีมาเเต่เดิม เขาเรียนมา 10 – 20 ปี แต่แทบไม่ได้ใช้เลย เราก็พบว่าการเรียนเเบบนี้มันไม่มีความหมาย ด้วยที่เราเป็นผู้ประกอบการเเละจากประสบการณ์ที่เราทำงาน เราก็เห็นว่าการเรียนเเบบนี้ไม่มีความหมาย เเล้วจะทำอย่างไรให้การเรียนนั้นมีความหมาย…
ถามว่าจำเป็นไหมต้องเรียนจบปริญญาเเล้วทำงานได้ ที่ จ.สตูล เรามีเเหล่งท่องเที่ยวเยอะเเยะ ต้องการอาชีพพวกนี้มาก เเต่เด็กที่จบมากลับไม่ได้มีความสามารถหรือทักษะที่จะเอื้อให้ไปทำงานต่อได้เลย เรามองว่านี่เป็นการเรียนเเบบไม่มีความหมาย
ถึงแม้คุณอาจไม่ได้จบปริญญา แต่สิ่งที่คุณเรียนที่ผ่านๆ มา มันน่าจะเป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพให้คุณได้ นี่คือการเรียนที่เรามองว่ามีความหมาย
วันนี้ทุกคนเรียนไป ถามว่าทุกคนมีเป้าหมายไหม ผมว่าเเทบไม่มีเลยนะ เราเรียนไปเพื่อเรียนให้จบ เเต่ถามว่าจบไปทำอะไร หรือคุณมั่นใจไหมว่าสิ่งที่คุณเรียนคือสิ่งที่คุณชอบจริงๆ ส่วนมากก็พ่อเเม่อยากให้เป็นบ้าง เพื่อนชวนบ้าง หรือเห็นเพื่อนเป็นกันเยอะ มันเท่ เราเลยอยากไป
เเต่เอาจริงๆ นะ ก่อนที่จะไปถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่าอยากเป็นหรือเรียนอะไร จะมีเด็กสักกี่คนที่มีโอกาสได้ ตรวจสอบ (validate) ตัวเอง ได้พิสูจน์ว่าฉันชอบอย่างนี้นะ ยกตัวอย่างเช่น เด็กเล็กๆ เห็นตำรวจจราจรยืนโบกรถอยู่หน้าโรงเรียน เด็กเขาก็รู้สึกว่านี่เท่มากใส่ชุดเครื่องเเบบ โตมาอยากเป็นตำรวจจราจรบ้าง ถามว่าเขาจะได้มีโอกาสไปลองไหม? มีกี่คนที่มีโอกาสที่ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองฝันต้องทำยังไงถึงจะไปจุดนั้นได้ ต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เราไม่มีโอกาสให้เด็กได้ลองทำเเบบนี้เลย
เพราะฉะนั้น การเรียนเเบบนี้ไม่มีเป้าหมาย มันเลยไม่มีความหมาย ซึ่งเป้าหมายของเเต่ละคนมันก็ยากที่จะบอกในตอนนี้ เเต่อย่างน้อยเด็กๆ ควรมีโอกาสได้ฝัน เราสามารถให้เขา validate ฝันเขาได้ไหม ถ้าเขาอยากเป็นหมอ เขาต้องเตรียมตัวอย่างไร อาชีพหมอเป็นยังไง เขาทำงานอะไรบ้าง
บางคนรู้ว่าสถานภาพทางครอบครัวไม่พร้อม ฐานะไม่พร้อม การเรียนบางอย่างต้องใช้เงินมันมีทางอื่นไหม มีทุนให้ไหม ถ้าไม่มีต้องหยุดกลางคัน เเล้วเราต้องทำอย่างไร
แล้วเราจะทำยังไงที่จะช่วยสนับสนุนให้เด็กได้มีโอกาสฝันและทดสอบความชอบตัวเอง
ปีล่าสุด โรงเรียนอนุบาลสตูลมีโอกาสได้ออกเเบบหลักสูตรเอง ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ เรามีวิชาหนึ่งชื่อวิชาสุนทรียะ ให้เด็กเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ ทางศิลป์ เช่น ศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ ให้เด็กมีโอกาสได้ไปดูว่าเขาชอบสิ่งเหล่านี้ไหม มันสามารถไปเป็นพื้นฐานของอะไรได้บ้าง การออกเเบบเเบบนี้ทำให้เด็กทดสอบตัวเองในเเต่ละมุม สมมติเทอมนี้ลองเรียนนาฏศิลป์แล้วรู้สึกไม่ชอบ เทอมหน้าก็เปลี่ยนใหม่ได้ หรือถ้าคุณยังชอบ คุณก็ validate เเละพัฒนาเพิ่ม อย่างนี้คือการออกเเบบของโรงเรียนที่ทำให้เด็ก validate ตัวเอง ในอนาคตตัววิชาอาจมีศาสตร์ด้านอื่นๆ เช่น วิชาช่าง เป็นต้น
ถ้าเราลองไปดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 จะระบุไว้เลยว่าการศึกษาต้องตอบสนองความต้องการเป็นรายบุคคล เเต่การศึกษาบ้านเรามันเป็นแบบ one size fit all ในประเทศนี้เราทำให้ทุกคนเหมือนกัน เราไม่เอาความแตกต่างของแต่ละบุคคลเป็นที่ตั้ง
นอกจากนี้ เราวางแผนจะสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลขึ้นมาอันหนึ่ง เป็นแพลตฟอร์มที่ให้ครูใช้ออกแบบการเรียนการสอน พาร์ทหนึ่งเราจะให้เด็กเข้าไปกรอกว่าความฝันของคุณคืออะไรเป็นรายบุคคล สามารถเข้าไปเปลี่ยนได้ตลอดนะ เพราะฝันของเด็กมันไม่อยู่คงทน หรือจะคงทนต่อก็ไม่เป็นไร เเต่ถ้ามันจะเปลี่ยนก็ไม่ใช่เรื่องแปลก จากนั้นให้ครูออกแบบหลักสูตรที่สามารถตอบสนองความฝันเด็กๆ ได้
ก่อนอื่นเราต้องยอมรับก่อนว่า เด็กมีสิทธิที่จะฝัน เขามีสิทธิเป็นของตัวเขาเอง เเต่ระหว่างทางที่โรงเรียนอนุบาลสตูล การศึกษาเราถึงแค่ป.6 บางอย่างจะไปชี้ชัดมากก็ยังทำไม่ได้ เเต่อย่างน้อยเราทำให้เด็กกล้าที่จะบอกว่าความฝันของตัวเองคืออะไร คุณอยากจะเป็นอะไร ให้คนอื่นได้รับรู้เพื่อที่จะได้เติมเต็ม เพื่อจะได้ validate ได้ว่าคุณชอบสิ่งนี้ คุณบอกว่าคุณอยากจะเป็นศิลปินหรือนักวาดรูป เเต่คุณไม่ยอมวาดรูป มันเป็นไม่ได้ อยากจะเป็นวิศวกร เเต่ไม่ชอบคณิตศาสตร์ ก็เป็นไม่ได้
ครูออกแบบการสอนอย่างไร?
เเต่เดิมเเผนการสอนเเละการวัดผลอยู่ในกระดาษ เเต่ในปัจจุบันเรามีเเพลตฟอร์มที่ครูสามารถออกเเบบแผนเเละกิจกรรมการสอนบนเเพลตฟอร์มออนไลน์ มันสามารถบอกได้ว่ากิจกรรมการสอนนี้มีตัวชี้วัดอะไรบ้าง ครูสามารถเลือกได้จากตรงนั้น สิ่งที่ออกเเบบสอดคล้องกับตัวชี้วัดที่เกิดขึ้นหรือไม่ มากไปกว่านั้น ถ้าคุณมีหลายกิจกรรม มีหลายๆ เเผนการสอน ระบบจะประมวลให้เลยว่าสิ่งที่คุณสอนครบเเล้วหรือยัง ขาดอะไร เพราะระบบจะเข้ามาช่วยให้ครูทำงานง่ายขึ้น
จากที่ออกแบบการสอนบนแผ่นกระดาษ โดยไม่รู้ว่าเเผนการสอนนี้มีตัวชี้วัดอะไรบ้าง อีกเเผนมีตัวชี้วัดอะไร ถ้ารวมเเล้วมีอันไหนมากน้อยเท่าไร ขาดตัวไหน เเต่ตัวเเพลตฟอร์มตัวนี้ ครูจะเห็นเลยว่า มีกี่ตัวเเล้ว เเล้วยังขาดอีกกี่ตัว ระบบจะบอกเเละช่วยประมวลผลให้เลย เพราะฉะนั้นครูจะทำงานง่ายขึ้น
ฟังดูแล้วแพลตฟอร์มนี้เหมือนเครื่องมือวิเศษช่วยครู น่าจะมีนานแล้ว
การทำงานกับโรงเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าโรงเรียนมีข้อจำกัดเยอะ กว่าที่เราจะออกเเบบตรงนี้ได้ก็ต้องมีประสบการณ์ ต้องปรับหลายเรื่องให้เหมาะ เชื่อไหมว่าครูบางคนเขียนเเผนการสอนไม่ค่อยเป็น เพราะที่ผ่านมาครูซื้อเเผนการสอนเเบบสำเร็จ เเล้วครูต้องออกเเบบหนึ่งกิจกรรมที่ต้องตอบความต้องการของเด็กที่เเตกต่างกัน ก็ต้องคิดอย่างละเอียด
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่าจู่ๆ จะมีขึ้นมาได้ ต้องฝึกครูมาก่อน กว่าที่ครูจะเข้าใจกระบวนการ ขั้นตอนทำอย่างไร เเล้วมาประมวลผลเป็นระบบ ถ้าไม่มีองค์ความรู้ที่มากพอ เหมือนที่บอกว่าการที่จะรู้ว่าเด็กจะเรียนรู้อะไร คุณต้อง validate หลายๆ เรื่อง อันนี้ก็เหมือนกัน การที่จะทำระบบได้ เราก็ต้อง validate ครูในหลายๆ เรื่อง ก่อนที่จะมาถึงตรงนี้
แพลตฟอร์มนี้ใช้เฉพาะที่โรงเรียนนี้ หรือที่โรงเรียนอื่นก็ใช้แล้ว
ตอนนี้เฉพาะโรงเรียนนำร่อง เริ่มทำเเพลตฟอร์มสำหรับคุณครูที่จะทำเเผนการสอน เเล้วต่อไปทุกอย่างมันจะต้องลิงก์ถึงกันว่า เเผนการสอนของครูตอบโจทย์เด็กเเต่ละคนหรือเปล่า จริงๆ ควรทำพอร์ตโฟลิโอของเด็กเเต่ละคนเลย ปัจจุบันเรามีเเต่ ปพ. (เอกสารประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน) มันก็เป็นบล็อก หรือวิชาเลือกที่เราบอกกันว่าให้เด็กเลือก เด็กมีสิทธิเลือกจริงๆ เหรอ? ไม่มี วิชาเลือกเขายังเลือกไม่ได้เลย นี่คือความเศร้าของการศึกษาที่เกิดขึ้นอยู่ เพราะฉะนั้น เราพยายามให้เด็กมีโอกาสได้เลือก เเละได้ทำในบริบทที่เขาต้องการ
เราเพิ่งเปิดเทอมมาได้ไม่นาน ตอนนี้เราให้ครูเริ่มก่อน เมื่อพาร์ทของครูนิ่งเเล้ว เราจะเริ่มให้เด็กเข้าใช้เพราะเราพึ่งใช้เเพลตฟอร์มนี้เป็นปีเเรก เพราะถ้าทำพร้อมกัน จะมีประเด็นว่าอันนี้ก็เป็นปัญหา อีกฝั่งก็เป็นปัญหา เเต่เราเริ่มไปทีละส่วน ตอนนี้คิดว่าของเด็กใกล้เเล้ว เพราะของครูใกล้เสร็จเเล้ว
นอกจากแพลตฟอร์มนี้ โรงเรียนยังมีเครื่องมืออะไรอีกบ้างที่ช่วยนักเรียนค้นหาตัวเอง
ทุกวันนี้เราจัดการเรียนเเบบ active learning คือ ใช้โครงงานฐานวิจัย หรือ Research-Based Learning (RBL) ในการเรียน โดยเด็กเป็นคนเลือกว่าอยากเรียนเรื่องอะไร เเล้วเขาจะลงไปทำ ศึกษาข้อมูล ซึ่งเเต่ละคนจะมีความชอบหรือความถนัดไม่เหมือนกัน ในหนึ่งเรื่องเราสามารถออกเเบบได้หลายเเบบ เช่น คนไหนถนัดคำนวณก็ให้เขาทำงานคำนวณ คนไหนถนัดงานศิลปะก็มุ่งงานศิลปะ หรือถนัดการพูดก็มุ่งไปที่การพูดได้ ในหนึ่งกิจกรรมมันสามารถออกแบบเพื่อต่อยอดความชอบเเละความถนัดของเด็กได้หลากหลาย
ผมมองว่า การเรียนที่นักเรียนได้ลงมือทำ (hand – on) ทำให้เด็กมีความสุขเเละได้สมรรถนะ คือ ไม่ใช่เเค่มีความรู้ เเต่เขารู้ว่าจะได้ความรู้นี้มาอย่างไร (learn how to learn) เช่น ถ้าตั้งคำถามแบบนี้ จะได้คำตอบอย่างไร หรือเรื่องนี้คุณไม่มีคำตอบ จะไปหาข้อมูลที่ไหน การตรวจสอบความน่าเชื่อถือเเละความถูกต้องของข้อมูล
คนมักบอกว่าการศึกษาไทยเเก้ไม่ได้ในชาตินี้ สำหรับคุณอภิชาติคิดยังไงกับคำถามนี้?
ชาติไหนก็แก้ไม่ได้ครับ ถ้าทุกคนมองว่ามันไม่ใช่ปัญหาของตัวเอง การศึกษาเป็นปัญหาของทุกคน ถ้าเราบอกว่าจะปฏิรูปแล้วเรารอนายกฯ รอกระทรวง สมมติว่าถ้าวันนี้กระทรวงให้ทุกอย่างที่คุณต้องการ ถามว่าครูพร้อมเป็นกระบวนกรไหม? พ่อแม่โอเคไหมถ้าลูกสอบไม่ได้ที่หนึ่ง พ่อแม่รับได้ไหมถ้าลูกไม่ได้เป็นหมอ ไม่ได้เป็นวิศวกร ถ้าลูกอยากเป็นนักดนตรีหรือนักฟุตบอล เรากล้าเปิดใจไหม
ผมมองว่าต่อให้ระบบเอื้อคุณแล้ว แต่ถ้าคุณไม่ปรับตัวก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นทุกวันนี้การปฏิรูปที่แท้จริง คือ การมองจากข้างล่างขึ้นข้างบน เกิดจากตัวเราทุกคน เราทุกคนทำตัวให้พร้อมก่อนผมเชื่อว่าถ้าเราพร้อม ระบบจะพร้อมหรือไม่พร้อม แต่เราก็พร้อมแล้ว ถ้าเราพร้อมมากเพียงพอ สุดท้ายระบบก็ต้องเปลี่ยน มันอยู่ไม่ได้หรอก
พื้นที่นวัตกรรม โครงการนำร่องแห่งการปฏิรูปการศึกษา ที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน เป็นอิสระ บริหารจัดการตัวเอง เป็นการร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายและชุมชน ร่วมกันออกแบบการศึกษาเพื่อทำให้ความหลากหลายของการศึกษาปรากฏตัว พื้นที่นำร่องมี 6 จังหวัดครอบคลุมจากเหนือสู่ใต้ ได้แก่ สตูล ศรีสะเกษ ระยอง เชียงใหม่ กาญจนบุรี และ จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) |
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนอนุบาลสตูลได้ที่ วนิดา ศิริวัฒน์: ครูที่ตั้งใจเป็น ‘ครูผู้ไม่รู้’ เพื่อเรียนรู้ไปพร้อมนักเรียน 40 ปีของสุทธิ สายสุนีย์: ผู้อำนวยการที่เพียรทุบกำแพงโรงเรียน นำเด็กและครูไปเรียนกับชุมชน |