- เปิดประตูสู่ ‘สตูดิโอศิลปะจากด้านใน’ ๗ Arts Inner Place ของครูมอส-อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธุ์ขจี จิตรกร ศิลปิน และนักศิลปะบำบัดมนุษยปรัชญา
- ศิลปะบำบัดแนวมนุษยปรัชญา เชื่อว่า ศิลปะเป็นหนทางไปสู่การหาคำตอบเกี่ยวกับตัวเอง ด้วยตัวเอง
- ไม่ต้องมีช่องว่างให้ลงสีหรือมีเส้นประให้ลากตาม เด็กจะมีภาษาของตัวเอง สำคัญคือ การลงมือทำ เด็กจะได้เรียนรู้จากการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองผ่านจินตนาการ ความรู้สึก ทำให้เด็กรู้จักศักยภาพของตัวเอง
ภาพ: เสาวนีย์ สังขาระ, ๗ Arts Inner Place และ วิภาวี เธียรลีลา
ก่อนเรียบเรียงงานชิ้นนี้ขึ้นมา คิดอยู่นานว่าจะเรียกผู้ชายคนนี้ว่าเป็นอะไรดี จิตรกร ศิลปิน นักวาดหรือยาวหน่อยก็เรียกว่าเป็นนักศิลปะบำบัดมนุษยปรัชญา แต่คิดไปคิดมาสุดท้ายขอลงเอยที่คำสั้นๆ ว่า ‘ครู’
ภายในสตูดิโอศิลปะเพดานสูงซึ่งตั้งอยู่ที่ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้สัมผัสถึงความโล่ง โปร่ง สบาย ธรรมชาติแมกไม้ที่ปกคลุมชี้ชวนให้หยุดฟังเสียงธรรมชาติ แม้ฝนตกลงมาอย่างหนัก จนทำให้พื้นดินที่ย่ำลงไปนั้นเป็นโคลนเฉอะแฉะ แต่ความเลอะเทอะและเปียกชื้นที่กวนใจก็ไม่ได้ทำให้พลังงานเชิงบวกชั้นดีภายในสถานที่แห่งนี้ลดน้อยลงไป
กว่าจะมาเป็นที่รู้จักในฐานะครู ที่นำศิลปะบำบัดมนุษยปรัชญามาเป็นส่วนผสมหลักในการทำงานและการใช้ชีวิต จนมี ‘สตูดิโอศิลปะจากด้านใน’ ที่รู้จักกันในชื่อ ๗ Arts Inner Place ครูมอส – อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี เริ่มต้นเส้นทางชีวิตที่พาตัวเองเข้ามาผูกพันและเกี่ยวข้องกับเด็ก การศึกษา และศิลปะ มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย
จากนิสิตครุศาสตร์ ภาควิชาการศึกษาประถมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีความสนใจในศิลปะ บวกกับประสบการณ์ทำงานที่นำพาไปพบเจอเด็กและเยาวชนในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาล เด็กในชนบทห่างไกล และเด็กในเมืองที่เข้าถึงโอกาส ครูมอสบอกว่า สิ่งที่เขาสังเกตเห็น คือ เด็กแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่สื่อสารตัวตนผ่านงานศิลปะออกมาในรูปแบบที่ไม่เหมือนกันเลย แม้ได้รับทิศทางการทำงานศิลปะแบบเดียวกัน
“ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?” นี่เป็นคำถามปลายเปิดมากๆ ที่ทั้งผลักทั้งดันทั้งกระตุ้นให้ครูมอสเดินทางไปค้นหาคำตอบไกลถึงประเทศเยอรมนี ที่นั่นเองทำให้เขาเห็นความเชื่อมโยงระหว่างศิลปะ การศึกษา และการสร้างความเป็นมนุษย์
มนุษยปรัชญา คืออะไร?
ก่อนเปิดบทสนทนาอย่างเต็มสูบถึงศิลปะบำบัดแนวมนุษยปรัชญา ครูมอส เล่าให้ฟังว่าชื่อวอลดอร์ฟ (Waldorf) แท้จริงแล้วไม่ใช่ชื่อแนวคิด แต่เป็นชื่อเรียกโรงเรียนที่สอนตามแบบแผนมนุษยปรัชญา ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 99 ปีก่อน (ค.ศ. 1919) ตามชื่อโรงงานยาสูบ เจ้าของโรงงานอุทิศที่ดินแปลงหนึ่งในเมืองสตุตการ์ต (Stuttgart) ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี ให้ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ หลังจากได้ฟังปรัชญาเกี่ยวกับมนุษยปรัชญาของเขา โรงเรียนจึงถูกเรียกตามชื่อโรงงาน Waldorf-Astoria Cigar ว่า โรงเรียนวอลดอร์ฟ หรือ Waldorf School
ในที่สุดชื่อของ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ เจ้าของปรัชญาที่ว่าด้วยเรื่องมนุษยปรัชญา ก็ถูกเอ่ยถึง
“มนุษยปรัชญามีความลุ่มลึกไม่ใช่แค่ในทัศนะของวิทยาศาสตร์ทางด้านการพัฒนาการเท่านั้น แต่เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตวิญญาณ (spiritual science) ที่สามารถอธิบายและพิสูจน์ได้ว่าลักษณะภายนอก เช่น ผิวพรรณ และการเติบโตของมนุษย์แต่ละคนที่เป็นอยู่นี้ เกิดขึ้นจากวิญญาณและจิตวิญญาณที่ทำงานแตกต่างกัน มนุษยปรัชญาจึงเป็นปรัชญาที่พูดถึงความเข้าใจที่แท้จริงของคำว่ามนุษย์”
ศิลปะบำบัดตามแบบฉบับมนุษยปรัชญา ช่วยสร้างคาแรคเตอร์ที่ดีในเด็กได้อย่างไร?
“การศึกษาที่ทำให้เราค้นพบตัวเองได้ ถือเป็นการศึกษาที่น่าสนใจและยอดเยี่ยมมาก ซึ่งศิลปะทำได้ ศิลปะเป็นหนทางไปสู่การหาคำตอบเกี่ยวกับตัวเอง ด้วยตัวเอง” ครูมอสกล่าว
ศิลปะบำบัดมนุษยปรัชญา อธิบายถึงการประกอบร่างของร่างกาย (body) วิญญาณ (soul) และจิตวิญญาณ (spirit) ในตัวมนุษย์ การพัฒนาจึงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการเจริญเติบโตทางร่างกายเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในระดับจิตวิญญาณ หากเด็กถูกปล่อยปละละเลยไม่ได้รับการดูแลจากผู้ปกครองหรือครูซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็ก เด็กจะเติบโตแต่เพียงร่างกาย ซึ่งในส่วนนี้ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า การศึกษาที่มีศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาจิตวิญญาณ (education as an art) ให้เด็กเติบโตขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งส่งผลต่อการสร้างคุณลักษณะและอุปนิสัยที่ดีให้เด็กได้
เมื่อเอ่ยถึงศิลปะ ก็ต้องพูดถึง ‘สี’ ศิลปะและศิลปะบำบัดมนุษยปรัชญาถูกนำมาใช้กับเด็กในแต่ละช่วงวัยแตกต่างกันไป รูดอล์ฟ สไตเนอร์ บอกว่า สี ไม่ใช่แค่วัตถุที่มาจากหลอดสี แต่คือ พลังชีวิต พลังของธรรมชาติ (life force/etheric) ไม่ว่าจะต้นไม้ ภูเขา พระอาทิตย์ ท้องฟ้า ทุ่งนา หรือสายรุ้ง ต่างก็มีสีที่มีความสมบูรณ์แบบและมีพลังอยู่แล้วในตัวเอง
“การนำงานศิลปะมาใช้กับเด็กเลยช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพลังชีวิต หลายคนอาจไม่รู้ว่ามีเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียนเยอะมาก บางคนนอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาล ถามว่าถ้าเขามีโอกาสได้ระบายสี ความมีชีวิตชีวาก็จะค่อยๆ เข้าไปในร่างกายของเขา นี่คือพลังของศิลปะของการระบายสีที่โรงเรียนมองว่าเป็นวิชา แต่ผมมองว่าเป็นชีวิต”
เรียนให้มีชีวิตชีวา…ให้มีท่วงท่ามากกว่าเขียนตามเส้นรอยประ
ถ้าโจทย์ของครู มาจากนโยบายที่บอกว่า ทำอย่างไรให้เด็กอ่านออกเขียนได้?
โจทย์ของการศึกษาวอลดอร์ฟ คือ ทำอย่างไรให้เด็กอ่านออกเขียนได้อย่างมีชีวิตชีวา?
ครูมอส ยกตัวอย่างว่า นอกจากการท่องจำและเขียนตามเส้นรอยประ เด็กเล็กสามารถเรียนรู้พยัญชนะผ่านเพลง นิทาน บทกลอน หรือเรื่องเล่า และด้วยวิธีอื่นอีกมากมาย แต่ไม่ว่าวิธีไหน ผู้ปกครองและครูต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กด้วยว่าธรรมชาติตามพัฒนาการของเด็กนั้นกำลังเปิดประตูรับการเรียนรู้ในระดับไหน
“ลองคิดดูว่าเราจะสอนบวกเลขได้ยังไงถ้าเด็กยังไม่มีความสามารถทางพัฒนาการที่จะตั้งโจทย์หรือทดเลขไว้ในใจ ต่อให้เด็กอยากเขียนหนังสือแต่ยังจับดินสอไม่ได้ ก็ต้องรอให้กล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรงก่อน หรือแม้แต่การเลือกใช้ศิลปะก็ต้องเลือกรูปแบบและวิธีการให้เหมาะสมกับวัยของเด็กด้วย
เด็กทุกคนสามารถวาดและระบายสีได้ตั้งแต่วัยอนุบาล โดยไม่ต้องกำหนดรูปแบบหรือฟอร์ม (free drawing and free painting) เพราะเด็กมีภาษาของเด็กเอง ถ้าผู้ใหญ่ปล่อยให้เด็กได้สื่อสารด้วยภาษาของเด็กอย่างอิสระ เราจะเห็นเลยว่าเส้นของเด็กมีความบริสุทธิ์มาก เรียกว่าเป็น fine art มากๆ ใสเสียจนทำให้รู้สึกว่า เราควรรักษาสิ่งนี้ไว้นะ ในมุมมองของมนุษยปรัชญามองว่าการวาดภาพและการระบายสีของเด็กเล็กมีแรงขับมาจากภายใน
ประตูจิตวิญญาณของเด็กเปิดแล้วหรือยัง?
ครูมอส ขยายความว่า เด็กทำงานอยู่กับภายในตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 8 ปี แล้วถึงจะเริ่มเปิดประตูความสนใจความเป็นไปในโลกภายนอก ในช่วงแรกคุณภาพของจิตวิญญาณภายในของเด็กยังอยู่ในลักษณะเหมือนเป็นความฝัน มีสำนึกรู้ตัวที่ยังอยู่กับจินตนาการ (dream consciousness) เช่น เด็กมักจินตนาการถึงแม่มด เทวดา นางฟ้า เด็กจึงสามารถฟังนิทานและทำงานกับภาพได้ดี ในทางกลับกันเมื่อเด็กเติบโตขึ้นจิตวิญญาณภายในถูกปลุกให้ตื่นโดยธรรมชาติ เด็กจะเริ่มคิดโดยใช้หลักเหตุผล (day consciousness) ไปตามธรรมชาติ
“เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเด็กยังทำงานอยู่กับภายในตัวเองจนอายุประมาณ 8 ขวบ ช่วง 9 ขวบจึงเป็นช่วงที่เหมาะสมสำหรับการพูดถึงความเป็นไปของโลกภายนอกกับเด็ก ดังนั้นตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 8 ขวบ สิ่งที่เราให้กับเด็กได้คือเรื่องของภายในโดยตรง (inner) เช่น การเล่านิทาน ไม่ว่าจะเป็นนิทานไทย นิทานพื้นบ้าน นิทานปรัมปรา หรือนิทานจากต่างประเทศ เพราะนิทานมีคุณค่าเชิงนัยยะทางจิตวิญญาณ (spiritual) เราจะไม่ผลักดันเด็กให้วาดรูปเหมือนหรือวาดตามโจทย์ จนกว่าความสนใจเด็กจะพุ่งออกไปนอกตัว เพราะเราจะไม่ปลุกให้เขามองออกไป จนกว่าเขาอยากจะมองมันเอง
“วันไหนเขาอยากมองออกจากภายใน เขาจะบอกแล้วตั้งคำถามเองเลย เช่นทำไมใบไม้ที่เขาวาดไม่เหมือนใบไม้นอกหน้าต่าง แต่ก่อนหน้านั้นเขาไม่ได้คิดแบบนี้ นี่แสดงว่าความสนใจของเด็กพุ่งออกไปนอกตัวแล้ว”
ไม่มีเส้นรอยประในตำราเรียน
จงระบายสีในช่องว่าง จงเขียนตามเส้นรอยประ
คุ้นๆ กับคำสั่งเหล่านี้ในสมุดแบบฝึกหัดบ้างไหม?
ขณะที่มีการพูดถึงมากเหลือเกินว่าให้ ‘คิดนอกกรอบ’ แต่ในสถานการณ์จริง โดยเฉพาะในเมืองไทย เด็กกลับถูกบังคับให้ทำตามโจทย์ในสมุดและหนังสือแบบฝึกหัดมาตั้งแต่ต้น
มีผลการศึกษาด้านสมองและทางการแพทย์มากมายในระยะหลังยืนยันว่า การเรียนการสอนในห้องเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัย ไม่ควรยัดเยียดกรอบหรือกำหนดกฎเกณฑ์เด็กให้ทำตามโจทย์ที่ครูกำหนด ครูมอสบอกว่า เด็กเล็กถึงวัย 8 ขวบ สามารถระบายสีลงในกระดาษได้ไม่มีเบื่อและไม่มีสิ้นสุด หากไม่ถูกจำกัดรูปแบบหรือขอบเขต เพราะเด็กใช้ willing (เจตจำนง) ในการวาด ซึ่งหมายถึง การวาดด้วยความเต็มใจ ไม่ได้ใช้ความคิด (thinking) ที่ต้องใช้เหตุผลในการวาด แต่สถานการณ์จริง คือ เราส่งเสริมให้เด็กคิด (thinking) ตั้งแต่อนุบาลผ่านงานศิลปะด้วยซ้ำไป หรือแม้กระทั่งการตั้งคำถามว่า “ทำไม” กับเด็ก ซึ่งมนุษยปรัชญาเชื่อว่ายังเร็วเกินไปและไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก
“การที่ผู้ใหญ่ถามเด็กว่าทำไม มันคนละประเด็นกับการที่ส่งเสริมให้เด็กคิด เราต้องแยกตรงนี้ให้ออก ทำไมลูกไม่ถอดรองเท้าให้เป็นระเบียบ ทำไมไม่เก็บของให้เป็นที่ ทำไมไม่ทำอย่างนั้นไม่ทำอย่างนี้ คำถามที่อยากถามผู้ปกครองกลับไป คือ แล้วผู้ปกครองทำให้เด็กดูเป็นตัวอย่างแล้วหรือยัง เพราะสิ่งที่ผู้ปกครองทำได้มากกว่าการถามว่าทำไม คือ การทำให้ดู ให้เด็กทำตามด้วยความรัก สังเกตว่าเราตั้งคำถามกับเด็กเล็กมากเหลือเกิน หนูวาดอะไรลูก ตัวนี้ตัวอะไรลูก เล่าให้ฟังสิ ทั้งที่สำหรับเด็กเล็กเราไม่จำเป็นต้องไปกระตุ้นเขาแบบนั้น
ในทางกลับกัน พอเด็กโตอยู่ในช่วงวัยรุ่นตั้งคำถาม เรากลับบอกให้หยุดถาม ทั้งที่เขาอยู่ในวัยที่ควรเปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้เขาได้คิด ผู้ใหญ่ทำทุกอย่างกลับกันไปหมด แล้วสร้างวลีขึ้นมาบอกว่าเด็กคิดไม่เป็น ซึ่งผมคิดว่าเป็นคำพูดที่แรงเหมือนกัน
“เราไม่ต้องพูดมาก การศึกษาทุกวันนี้พูดมากเกินไป พูดมากกว่าการพาลงมือทำ แต่ศิลปะตามแนวมนุษยปรัชญาอยู่บนพื้นฐานความสงบ ปล่อยให้เด็กได้ทำงานกับข้างในของตัวเอง”
อย่างไรก็ตาม ครูมอสกล่าวถึงสิ่งที่น่าระวังอีกอย่างหนึ่ง คือ ศิลปะหรือจินตนาการที่เกิดจากภาพจำ หรือ memory ซึ่งไม่ได้เป็น willing ตามธรรมชาติ เช่น การวาดภาพการ์ตูน หรือภาพเลียนแบบสิ่งที่เคยเห็นผ่านสื่อหรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งถือเป็นการจำกัดกรอบจินตนาการของเด็กได้เช่นกัน หากผู้ปกครองอนุญาตให้เด็กเสพสื่อเหล่านี้มากเกินไป
แน่นอนสิ่งนี้ย่อมนำมาสู่คำถามว่า…ในเมื่อบอกว่า ผู้ปกครองและโรงเรียนไม่ควรเร่งเด็กให้ต้องเรียนเขียนอ่าน แต่ถ้าไม่เร่งเรียนเขียนอ่านจะสอนอะไร?
การอ่านออกเขียนได้เป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตามครูมอสในฐานะนักศิลปะบำบัดมนุษยปรัชญา บอกว่า กระบวนการเรียนรู้ของเด็กในช่วงแรกนี้สามารถนำศิลปะที่ทำงานกับด้านในมาใช้ได้ ศิลปะจึงไม่ใช่แค่วิชาเรียน แต่มีบทบาทในการส่งเสริมทักษะการอ่านออกเขียนได้ของเด็กในอนาคต
“มันน่าจะพอแล้วกับคำว่าแข่งขัน ถ้าเรายังถอนคำนี้ไปไม่ได้ เราคงติดกับดักตรงนี้ไปอีกนานว่ากำลังพูดอะไรกันอยู่ ศิลปะอยู่ได้กับทุกวิชา ตามจังหวะเนื้อหาของช่วงชั้น การเขียนบทกวี ความเรียง การแกะสลัก การร้องเพลงก่อนเริ่มวิชาเรียน เป็นกระบวนการทางศิลปะ โรงเรียนตามแบบมนุษยปรัชญา ไม่มีหนังสือนะ เด็กเป็นคนสรุปเองด้วยการวาดรูปว่าวันนี้เรียนอะไรไปบ้าง ยกตัวอย่างเด็กโตหน่อย เรียนเรื่องประวัติศาสตร์กรีก เด็กอาจจะวาดรูปสรุปออกมาเป็นอาณาจักรเอเธนส์เลยก็ได้
“เราจะไม่มีการวาดรูปแล้วครูเป็นคนเลือกรูปที่ดีมาแปะติดบอร์ด จึงไม่มีเด็กหลังห้องที่บอกว่าผมหรือหนูวาดรูปไม่ได้ รูปทุกรูปจะถูกนำเสนอแบบนิทรรศการ (exhibition) คือเด็กทุกคนมีจุดที่ตัวเองยืนได้ มีพื้นที่ให้นำเสนอตัวเอง ไม่อย่างนั้นลองนึกดูว่าถ้าเราเป็นเด็กคนที่ไม่ได้ถูกเลือกงานให้ติดอยู่บนผนัง เราจะรู้สึกยังไง เพราะสุดท้ายเมื่อได้ทำงานกับภายในแล้วกระบวนการคือให้เด็กได้ออกมานำเสนอตัวเองกับคนอื่น กับเพื่อนร่วมชั้นเรียน กับผู้ปกครองกับสังคม เปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออก สร้างคุณลักษณะให้พวกเขามีความมั่นใจในตัวเอง”
ครูมอส ย้ำว่า กระบวนการของศิลปะบำบัดมนุษยปรัชญาที่ใช้กับเด็ก คือ การลงมือทำ แล้วให้เด็กได้เรียนรู้จากการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองผ่านจินตนาการ ความรู้สึกในตนเอง ทำให้เด็กรู้จักศักยภาพของตัวเองว่า ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ที่สำคัญยังช่วยกล่อมเกลาให้เด็กมีความสงบจากภายในที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดคุณลักษณะที่ดีด้านอื่นๆ
“Small is Beautiful.” ประโยคสั้นๆ ง่ายๆ ที่มีความหมาย ผุดขึ้นมาระหว่างบทสนทนา ครูมอส บอกว่า เราควรให้คุณค่ากับทั้งคำว่า small และ beautiful เพราะศิลปะของเด็กยังไม่ต้องการความซับซ้อนแต่เปิดเผยความงาม
“วิธีการสอน (method) เป็นสิ่งที่การศึกษาควรให้ความสำคัญมากกว่าคอนเซ็ปท์ (concept) เพราะเราให้คุณค่าแค่กับรูปแบบที่มีคำสวยๆ เสมอ แต่พอมองเข้าไปในส่วนเล็กๆ ที่เป็นรายละเอียดกลับขาด คุณค่าของสิ่งที่ทำหายไป”
อุปนิสัย (Temperament) และองค์ประกอบ (Element) จากธรรมชาติ
มนุษยปรัชญา มีคำใช้เรียกอุปนิสัยที่มีอยู่ในตัวบุคคลว่า temperament ทุกอุปนิสัยในตัวมนุษย์ประกอบขึ้นจาก ‘ธาตุ’ หรือ ‘element’ ในธรรมชาติ ได้แก่ ดิน (earth) น้ำ (water) ลม (air) และ ไฟ (fire) แต่ละธาตุสื่อสารถึงอุปนิสัยที่มีจุดเด่นและเด่นน้อยกว่าแตกต่างกัน อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า ศิลปะบำบัดมนุษยปรัชญา เป็นกระบวนการทำงานกับจิตวิญญาณ ดังนั้นหากเราได้ให้เวลากับตัวเอง เราก็จะรู้จักและเข้าใจว่าอุปนิสัยหลักที่หลอมรวมเป็นตัวเรานั้น ประกอบขึ้นจากธาตุใด
“อุปนิสัยที่เศร้าเกิดขึ้นจากมีธาตุดินเป็นองค์ประกอบมากเกินไป แต่อุปนิสัยนี้มีความหนักแน่นด้วย ต้องย้ำว่าสิ่งนี้ไม่ได้เป็นการหาจุดบกพร่อง แต่เป็นการหาสมดุลให้เจอ ธาตุน้ำ สัมพันธ์กับอุปนิสัย เฉื่อยชา ช้า เรื่อยๆ ไม่ได้มีความกระตือรือร้น แต่สิ่งที่ดีคือความยืดหยุ่นของน้ำทำให้เขาสามารถเข้ากับคนอื่นได้ง่าย แต่ในส่วนการทำงานอาจไม่สามารถทำให้เสร็จทันตามเส้นเวลาที่กำหนด อุปนิสัยใจร้อนแรง อารมณ์โกรธง่ายก็มีความสัมพันธ์ธาตุไฟ แต่มีพลัง กระฉับกระเฉง และว่องไว ส่วนธาตุลมมากับความร่าเริง แต่ก็เป็นคนที่เพ่งความสนใจไปหลายๆ จุด วันนี้สนใจเรื่องอาหาร มาเจออีก 3 อาทิตย์ความสนใจก็เบนไปเรื่องอื่น
“ผู้ปกครองจึงควรมีความรู้และความเข้าใจเรื่ององค์ประกอบพวกนี้ โดยใช้การสังเกต ผู้ปกครองบางคนชอบหงุดหงิด เพราะมีความสัมพันธ์กับธาตุไฟ แต่มีลูกที่เป็นน้ำที่เฉื่อยช้า ลองคิดดูนะว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่เข้าใจกัน แต่ถ้าผู้ปกครองรู้ว่าตัวเองเป็นแบบนี้ โจทย์แรกที่ผู้ปกครองต้องทำคือการพัฒนาตัวเองก่อน ไม่ไปกดดันลูกทางเดียว ทำอย่างไรให้เข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เด็กเป็นก่อน เมื่อหาสมดุลได้ทุกอย่างก็ลงตัว”
ด้วยเหตุนี้หากผู้ปกครอง ครูหรือคนที่อยู่ใกล้ตัวเด็กเข้าใจเรื่อง temperament และ element ที่อยู่ในตัวพวกเขา ความเข้าใจนี้จะช่วยให้สามารถคิดวิธีการในการสร้างสมดุลและพัฒนาเด็กในด้านต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความไม่เหมือนกันที่เป็นเอกลักษณ์ของเด็กแต่ละคน
บทสนทนาเข้มข้นสิ้นสุดลงพร้อมฝนห่าใหญ่ที่ตกผ่านไป เหลือเพียงฝนตกปรอยๆ พอให้ได้ยินเสียงเม็ดฝนกระทบใบไม้ใบหญ้า ฟ้ามืดแล้ว แสงไฟสีเหลืองส้มสลัวๆ ในสตูดิโอให้ความรู้สึกอบอุ่น
ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้ทำความรู้จักมนุษยปรัชญา เคล้าไปกับความเคลื่อนไหวที่ธรรมชาติกำลังสาธิตให้เห็นภายนอก ทำให้ได้เห็นองค์ประกอบของดิน น้ำ ลม และไฟอย่างชัดเจน
“ถ้าเรามองโลกในแบบที่เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างไหลเวียนเข้ามาในตัวของเราแล้วถ่ายออกไป นี่คือความเป็นไปที่บอกว่าทำไมเราต้องทำงานกับศิลปะ…เพราะศิลปะที่ละเอียดอ่อนจะนำสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่เป็นจริงไหลเทไปสู่เด็กน้อยคนหนึ่ง มนุษย์คนหนึ่ง แล้วทำให้เขาเติบโตขึ้นต่อไปได้ เขาไม่ได้เติบโตในทันทีทันใด แต่เขาผ่านการเติบโตด้านจิตวิญญาณ ทุกคืนที่ผ่านไป การทำงานในทุกวันที่ผ่านไป ดวงตาและจิตวิญญาณของเขาจะรับสิ่งเหล่านี้เข้าไป ทุกครั้งเขาจะตื่นมามองโลกด้วยสายตาที่ละมุนละไมขึ้น เห็นโลกที่จริงแท้และสดสวยงดงามมากขึ้น นี่คือความหมายของศิลปะในแง่มุมของการยกระดับจิตวิญญาณ ที่เป็นของขวัญให้กับเราในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง”
คงไม่เพียงแค่ Waldorf School ที่มีต้นกำเนิดมาจากมนุษยปรัชญา ‘๗ Arts Inner Place’ แห่งนี้ก็มีที่มาจากศิลปะเจ็ดแขนงที่ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ได้มอบไว้ให้กับยุคสมัยนี้ ศิลปะบำบัดแนวมนุษยปรัชญาจึงเติมเต็มเด็กและเยาวชนให้เติบโตและผลิบานด้วยความดี ความงาม และความจริงจากภายใน