- คุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล สุทธิ สายสุนีย์ ผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันวิธีการเรียนรู้ที่สร้างเด็กให้มีวิธีคิดผ่านการเรียนด้วยโครงงานฐานวิจัย การเรียนรู้นอกห้องเรียนโดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน โดยชาวบ้านเป็นครูของนักเรียน และ การดึงผู้ปกครองเข้ามาทำงานในภาคการศึกษาคู่ขนานไปกับคนในเครื่องแบบครู
- “วันแรกที่มาทำงานที่นี่ สิ่งแรกที่คิดว่าต้องทำคือ ทุบกำแพงโรงเรียน ไม่ใช่กำแพงที่เป็นอิฐปูน แต่ต้องการเปลี่ยนความคิดว่าการจัดการศึกษากับเด็กๆ เป็นหน้าที่ทุกคน ไม่ผูกขาดว่าหน้าที่ผู้ปกครองจะหมดลงเมื่อมาส่งลูกที่ประตูโรงเรียนตอน 7 โมงเช้าแล้วหลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของคุณครู เราไม่แบ่งหน้าที่กันที่หน้าประตูโรงเรียน เพราะเชื่อว่าการจัดการเรียนรู้ไม่ใช่แค่ 5-6 ชั่วโมงในโรงเรียน ทั้งผู้ปกครองและครูต้องเข้าใจร่วมกัน เราคงไม่มีกำแพงขวางกั้นระหว่างผู้ปกครองกับคุณครู”
ในวงการศึกษา น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักผู้ชายคนนี้ …สุทธิ สายสุนีย์
ประการแรก – เพราะเขาคือผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล อนุบาลและโรงเรียนประถมขนาดใหญ่ประจำจังหวัดสตูล ประการต่อมา – สุทธิคือ นักการศึกษา ผู้ที่ทำให้นิยามของการเรียนรู้ด้วยโครงงานฐานวิจัย การเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนโดยชาวบ้านเป็นครูของนักเรียน เป็นจริงในภาคปฏิบัติและสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษา รวมถึงการดึงผู้ปกครองเข้ามาทำงานในภาคการศึกษาคู่ขนานไปกับคนในเครื่องแบบครู
พูดให้ถึงที่สุด เขาและทีมงานคือเบื้องหลังการผลักดันวิธีการเรียนรู้ที่สร้างเด็กให้มีวิธีคิดแบบนักวิจัย และกระจายออกไปยังโรงเรียนใกล้เคียง โดยล่าสุดในปี 2562 โรงเรียนอนุบาลสตูลกลายเป็นหนึ่งในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา*
อันที่จริงโมเดลการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นฐานไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ท่ามกลางโครงสร้างการศึกษาที่ให้ (มัด) เด็กอยู่ในห้องเรียน จินตนาการและทดลองความคิดในหัวมากกว่าออกไปปฏิบัติการจริง (ซึ่งเราต่างรู้ว่ามันไม่เวิร์ก นี่ไม่ใช่การเรียนรู้ที่จะเข้าใจฝังลึกจนเก็บไปพลิกแพลงใช้งานได้) การเรียนรู้ที่ว่านี้ …เป็นไปได้ยาก
แต่เพราะเชื่อ เพราะอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงาน เพราะอยู่ในตำแหน่งที่กำหนดนโยบายการจัดการเรียนรู้ของครูได้ ทำให้ตลอด 40 ปีบนเส้นทางการศึกษา ตั้งแต่เป็นครู ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ และการดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน สุทธิหมั่น ‘ทุบกำแพง’ – นี่คือคำที่เขาใช้เรียกวิธีคิดการทำงานของตัวเอง – ชวนเด็กลงไปเรียนรู้กับทรัพยากรจริงใกล้ตัว ซึ่งพื้นที่จังหวัดสตูลมีครบตั้งแต่ ภูเขา ทะเล ป่า ความหลากหลายทางชาติพันธ์ุอย่างชุมชนมุสลิม ไทยพุทธ หรือกลุ่มชาติพันธ์ุที่อาศัยในป่า
ในวาระเกษียณอายุราชการ The Potential ล็อกคิว (ที่แสนจะหายาก) ชวนสุทธินั่งคุยสบายๆ ทบทวนเส้นทางอาชีพของเขาตลอด 40 ปีบนถนนสายการศึกษา เขาเริ่มต้นจากอะไร บ่มเพาะตัวเองและเรียนรู้การเป็นครูมาแบบไหน อะไรที่ทำให้เขาเชื่อมั่นถึงการเรียนรู้แบบนี้และผลักดันมาตลอดอายุการทำงานของตัวเอง
และนี่คือ 40 ปี ของคนในแวดวงการศึกษาที่เราควรถอดบทเรียน…
สุทธิในวัยหนุ่ม การเริ่มต้นอาชีพครูที่คลุกคลีกับวิถีชุมชน
อันที่จริงสุทธิไม่ได้ตั้งใจเป็นครูตั้งแต่แรก เขาเพียงอยากมีอาชีพที่ได้อยู่ที่บ้านเพื่อดูแลคุณพ่อ อาชีพครูจึงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ เพราะสามารถบรรจุเป็นข้าราชการกลับไปทำงานที่บ้านเกิด และเพราะชีวิตวัยเด็กผูกพันกับอาชีพนี้เนื่องจากบ้านเกิดอยู่ติดกับโรงเรียน โรงเรียนจึงไม่ใช่สถานที่เคร่งเครียดแต่เหมือนเป็นสถานที่คุ้นเคยในความทรงจำ เป็นสถานที่หนึ่งที่พี่ป้าน้าอาเข้าไปทำงานในนั้น เมื่อจบ มศ.3 (เทียบเท่าชั้นม.4) จึงสมัครเรียนต่อหลักสูตรประกาศนียบัตรครูทันที
“ตอนเป็นนักศึกษาวิทยาลัยครู ใจมันมาแล้วนะ เพราะโรงเรียนคือสิ่งที่เราใกล้ชิดมาตั้งแต่เด็ก เป็นอะไรที่เราสัมผัสได้ ตอนเรียนเลยมีภาพความผูกพันของครูกับชีวิตตัวเอง พอตั้งใจจะเป็นครูแล้ว ก็มุ่งมั่นและพยายามหาประสบการณ์เพื่อจะเป็นครูที่ดีให้ได้
“สิ่งหนึ่งที่เราตั้งใจคือ มีไม่กี่อาชีพนะที่จะได้ใช้เวลาในช่วงสำคัญของชีวิตเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตคนอื่น ได้เปลี่ยนชีวิตเเละสร้างจิตวิญญาณให้คน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอนาคตของชาติได้”
หลังจบหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูที่หาดใหญ่ สุทธิในวัย 20 บรรจุเป็นครูทันที ณ โรงเรียนท่าแพ จังหวัดสตูล – พื้นที่ที่จะกลายเป็นหน้างานตลอด 40 ปีในอายุราชการ – ประจำวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (สปช.) ป.5 และ ป.6 แม้จะผิดจากความตั้งใจที่อยากทำงานที่บ้านไปมากโข แต่ด้วยความตั้งใจจริง เขาไม่ลังเลที่จะเริ่มอาชีพที่นี่
“โรงเรียนที่ไปอยู่เป็นโรงเรียนชนบทและนักเรียนนับถือศาสนาอิสลาม 100 เปอร์เซ็น มันเลยเป็นประสบการณ์ใหม่ของเราเหมือนกันนะ เรามาจากต่างจังหวัดแล้วไปอยู่ในโรงเรียนที่ค่อนข้างห่างไกล ไป-กลับลำบากหน่อยคือต้องนั่งเรือ หรือถ้าใช้รถก็จะใช้เวลานาน แต่อย่างหนึ่งที่เราสัมผัสได้ก็คือความเป็นชุมชนที่มีความเอื้ออาทรดูแลกันอย่างใกล้ชิด
“เราเป็นครูน้องใหม่ซึ่งเป็นผู้ชาย แล้วบ้านพักก็มีแค่หลังเดียวซึ่งมีคุณครูผู้หญิงอยู่กัน 5 คน เข้าไปก็ไม่มีที่อยู่ ครูใหญ่เลยไปกั้นไม้ฝากระดานในห้องเรียนซีกหนึ่งมาเป็นห้องพักครูให้เรา แม้จะลำบากใจเรื่องที่พักแต่มีข้อดีเรื่องอื่น บางครั้งเพื่อนๆ ที่อยู่ในชุมชนก็มานอนเป็นเพื่อน แบ่งปันอาหารการกิน แล้วโรงเรียนอยู่ในชุมชนชายฝั่งทะเล หากุ้งหาปูได้ก็มาแบ่งปันกัน มันเป็นความผูกพันระหว่างเรา ชุมชน และคนในพื้นที่อย่างเนื้อเดียวกัน 12 ปีที่อยู่ที่นั่นเลยเรียกว่าบ่มเพาะตัวเราเยอะมากเรื่องการทำงานชุมชนและการจัดการศึกษา”
ใน 12 ปีของการเป็นครู มีหนึ่งเหตุการณ์น่ารักที่ทำให้เห็นตัวตนของสุทธิและความเป็นครูสมัยก่อน คือครั้งหนึ่งเขาถึงกับต้องฉีดวัคซีนให้เด็กน้อยคนหนึ่งในชั้นเรียนเพราะเด็กคนนั้นวิ่งหนีออกจากห้องครั้งอนามัยมาฉีดวัคซีนที่โรงเรียน
“เป็นภาพจำเลยนะ จำได้ว่าครั้งหนึ่งสถานีอนามัยเขามาฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักเด็ก มีเด็กผู้ชายป.3 คนหนึ่ง เขากลัว ไม่กล้าฉีด แล้วหนีไปเลย เรามองว่าถ้าเขาไม่ได้รับวัคซีนมันอันตรายนะ เลยถามเจ้าหน้าที่ว่าฉีดยังไง ทาเเอลกอฮอล์ยังไง วางเข็มกี่องศา เขาคงคิดว่าคุณครูคนนี้ถามอะไรมากมาย
“พอเขากลับมาเราก็ถามเขาว่าหายไปไหนมา ก็ชวนเขาคุยน่ะนะ ถามเขาว่าการไม่ได้รับวัคซีนมันส่งผลต่อลูกยังไงบ้าง แต่คุยยังไงเขาก็ยังไม่ยอมไปฉีดที่อนามัย เลยบอกว่าถ้างั้นเดี๋ยวครูฉีดให้เองดูแล้ว พูดวันนี้มันอาจฟังดูสุ่มเสี่ยงที่เราทำเกินหน้าที่นะ แต่ตอนนั้นก็กลัวว่าอุปสรรคความกลัวของเขาจะทำให้เขาไม่ได้รับวัคซีน และตอนนั้นเราก็สนิทกับพ่อแม่เขาด้วยก็เลยสื่อสารได้ ตอนนี้ศิษย์เก่าคนนี้เขาเป็นปลัดอบต. อยู่ 3 จังหวัด เวลากลับมาบ้านคุยกัน เขายังบอกเราตลอดว่า ผมจำได้แม่นเลยว่าผมโดนคุณครูฉีดยา (หัวเราะ)”
สุทธิในบทบาทใหม่ ค่อยๆ เริ่มจากผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ สู่ ผู้อำนวยการ
12 ปีเต็มของการเป็นครู แม้จะรักในอาชีพและสิ่งที่ทำ สุทธิเห็นอุปสรรคเชิงโครงสร้างและการทำงานเป็นครูอยู่ไม่น้อย ขณะนั้นเขาคิดว่าการทำงานในห้องกับนักเรียนนั้นดีก็จริงอยู่ แต่หากอยากให้การทำงานของตัวเองส่งผลกระทบในวงกว้างและทำกับคนจำนวนมากขึ้น การขึ้นไปทำงานฝ่ายบริหารและประสานงานคือคำตอบ ประจวบเหมาะกับมีประกาศรับสมัครผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ในปีนั้น เขาปรึกษากับครอบครัวถึงความฝันและวิธีคิดของตัวเอง ประเมินข้อดีและเสีย ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเขาที่ต้องสละ แต่หมายถึงสมาชิกในครอบครัวที่ต้องสละร่วมไปด้วยกัน
“วงล้อชีวิตคนเรา มันจะมีวงครอบครัว วงงาน เเละวงสังคม การบริหารสามวงนี้ให้สมดุลมันก็ยากอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเราตัดสินใจทำงานในตำเเหน่งที่ต้องรับผิดชอบเยอะขึ้น วงครอบครัวจะเล็กลง วงงานและสังคมโตขึ้นผกผันกัน เราเลยต้องคุยกับครอบครัวด้วย ซึ่งเขาโอเค ก็เลยตัดสินใจไปสอบ
“ตอนนั้นเรามองว่าเป็นความท้าทายใหม่ของเรานะ ที่ความรับผิดชอบจะตกอยู่ที่เราทั้งหมด”
สุทธิก้าวเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนบ้านทุ่งนุ้ยมิตรภาพ (โรงเรียนขยายโอกาส) อยู่ 2 ปี และสอบติดเป็นอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนบ้านวังสายทอง อ.ละมุง ในปี 2536
“ก่อนรับตำเเหน่ง เราขี่มอเตอร์ไซค์กับแฟนไปแอบดูโรงเรียนก่อน โรงเรียนกับบ้านห่างกัน 50 กิโล ตอนนั้นยังไม่รู้เลยนะว่าโรงเรียนอยู่ที่ไหน ถนนก็ยังไม่ได้ลาดยางทั้งหมด ขี่ไปแวะถามชาวบ้านไป ไปถึงก็ไปดูโรงเรียน ไปเช็คสถิติ ไปดูข้อมูลโรงเรียน พบว่าที่นี่เป็นโรงเรียนที่คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยพุทธที่อพยพมาจากจังหวัดพัทลุง และพื้นที่นี้อยู่ใกล้กับเทือกเขาบรรทัด มีความหลายทางชาติพันธุ์ กลุ่มมานิก็อยู่ที่นี่ ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาก ไปโรงเรียนตอนเช้าจะได้ยินเสียงชะนีเพราะโรงเรียนใกล้ป่า ด้วยความเป็นชุมชนอพยพมา ส่วนใหญ่ก็เป็นเครือญาติกัน การปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนเลยเข้มเเข็งมาก ร่วมไม้ร่วมมือเต็มที่ในทุกกิจกรรม ชุมชนพร้อมที่จะมาดูเเลโรงเรียนในทุกเรื่อง”
ที่น่าสนใจคือเวลานั้นกระทรวงมหาดไทยเปิดประกวดหมู่บ้านตัวอย่าง สุทธิซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนขณะนั้น ตัดสินใจเข้าไปช่วยงานชุมชนแข่งประกวดเสียเลย
“ที่ตัดสินใจเข้าไปช่วยทั้งที่ไม่ใช่งานของโรงเรียน เพราะเชื่อว่าโรงเรียนไม่ใช่เเค่สอนหรือออกเเบบการเรียนรู้ให้กับเด็กอย่างเดียว แต่ในฐานะผู้บริหาร เราต้องเชื่อมโยงงานของเรากับภาคีต่างๆ เรารู้ว่าเบื้องหลังการประกวดหมู่บ้านตัวอย่างคือการสร้างมิติความสัมพันธ์เเละการยกระดับทางความคิดชาวบ้าน อันนี้เเหละ เราถือโอกาสใช้บทบาทโรงเรียนดึงศักยภาพเเละการมีส่วนร่วมของชาวบ้านชึ้นมา ถ้าเราเปิดประเด็นเรื่องเเบบนี้ได้ เรื่องอื่นๆ ก็ตามมา เพราะเราเป็นกลุ่มเดียวกันกับภาคประชาสังคมในชุมชนที่นั่นเเล้ว”
ผู้อำนวยการที่เริ่มใส่หมวกอีกใบในนาม ‘นักวิจัย’ ณ โรงเรียนบ้านตะโละใส ใช้ชุมชน และคนในชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน
ทำงานที่โรงเรียนวังสายทองได้ 8 ปีก็ย้ายมาลุยงานที่โรงเรียนบ้านตะโละใส ในปี 2544 ที่นี่เองที่สุทธิได้ตอกเสาเข็มการเรียนรู้โดยใช้วิจัยชุมชนสำเร็จ กลายเป็นฐานทำงานทั้งความรู้และเครือข่ายที่แข็งแรงจนถึงวันนี้
“ก่อนหน้าย้ายมาที่ตะโละใส เราเห็นกระบวนการจัดการชุมชนที่มีความชัดเจนมาพอสมควรแล้ว พอมาที่นี่ น่าจะราวปี 46 ที่เราได้เจอกับโหนด (ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น) จาก สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) เขาทำชุมชนวิจัยชาวบ้านกับกลุ่มเเม่บ้าน คืองานวิจัยเรื่องขนมพื้นบ้านของกลุ่มเเม่บ้านมุสลิม สิ่งที่เขาอยากหาให้เจอไม่ใช่แค่ว่าทำขนมยังไง แต่คือประวัติศาสตร์ชุมชน ศาสนา ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับขนม ขนมเเต่ละชนิดมีคติธรรมหรือมีอะไรที่อยู่เบื้องหลังขนม ทำไมงานมงคลสมรสหรืองานบุญต้องมีขนมนี้ มันมีเรื่องเล่านะไม่ใช่เเค่ขนมที่เอามากินอย่างเดียว และความตั้งใจของกลุ่มข้อหนึ่งคือ เขาอยากฟื้นฟูความรู้เรื่องนี้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรการศึกษา
“ประจวบกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 ออกมาไม่นาน ตอนอ่านเราดีใจ โดนใจมาก โดยเฉพาะหมวดที่ 4[1] ในการจัดการเรียนรู้ของเด็ก โรงเรียนต้องพัฒนาเด็กตามศักยภาพ การจัดการศึกษาต้องเกิดได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกคนคือภาคีที่จะมาร่วมกันจัดการศึกษาเเบบไหนก็ได้
“สองอย่างนี้ เราเลยเริ่มเห็นช่องทาง คือกฏหมายเเม่ก็ประกาศชัดเจน หลักสูตรเริ่มคลี่คลาย และพื้นที่เองก็มีเรื่องราวอยู่ เลยเกิดเป็นไอเดียที่จะเอางานวิจัยที่ชาวบ้านทำอยู่มาเป็นหลักสูตรท้องถิ่น ซึ่งมีพื้นที่ บุคคล เเละกิจกรรม แล้วเราก็ร่วมงานกับทีมวิจัยและโหนด ร่วมสร้างหลักสูตรสถานศึกษา กำหนดให้ 30 เปอร์เซ็นต์เป็นหลักสูตรท้องถิ่น”
ไอเดียหลักขณะนั้นคือ ให้เด็กๆ ลงไปเรียนกับชุมชน เรียนกับชาวบ้านที่ทำวิจัยเหล่านี้ แต่ช่วงแรกๆ ครูยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มหลักสูตรชุมชนได้อย่างไร สุทธิซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนคิดวิธีการที่ดูเหมือนจะไม่มีใครทำมาก่อน นั่นคือ ประกาศหยุดการเรียนการสอนปกติเป็นเวลา 2 อาทิตย์! แล้วสร้างค่ายการเรียนรู้ท้องถิ่นด้วยฐาน 6 ฐาน เช่น ฐานประวัติศาสตร์ ฐานการทำขนม ฐานประเพณีวัฒนธรรม ให้ครูมาเขียนแผนกิจกรรมว่าในฐานๆ หนึ่ง ต้องให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการทำข้อมูล ครูเรียนรู้ร่วมกับเด็กด้วยการพาลงไปเก็บข้อมูลชุมชน คุยกับชาวบ้าน หรือบางฐานเขาต้องได้ลงมือทำ และวันปิด เราจะจัดเวทีให้เด็กๆ ทุกคนได้ขึ้นไปนำเสนอบนเวที
“สุดท้ายที่เราจัดเวทีให้เด็กนำเสนอข้อมูล เราเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมานั่งฟัง ทั้งครู ทั้งผู้ปกครอง ทั้งเจ้าหน้าที่ อบจ. อบต. หมออนามัย คนที่อยู่รอบบริเวณโรงเรียน คนที่เด็กไปเก็บข้อมูล เราเชิญมานั่งฟังหมด ที่มองว่าเป็นจุดคลิกคือ
“การเสนอของเด็กสะท้อนตัวตนของเขาเอง การนำเสนอข้อมูลหมู่บ้าน เรื่องเล่าหนึ่งที่ยังเป็นความทรงจำคือ เด็กขึ้นเล่าว่าบ้านตะโละใสมีความเป็นมายังไง คำนี้เพี้ยนมาจากภาษามลายูว่าอะไร แต่ครูที่อยู่ที่นั่นยังไม่รู้เลยว่าบ้านตัวเองมีประวัติอย่างนี้
“อีกเรื่องที่ประทับใจมาก เล่าทุกเวทีเลยคือ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เด็กไปถาม ท่านเคยเป็นนักการภารโรงที่โรงเรียนนั้น หลังเกษียณราชการไปก็ไม่เคยได้เหยียบย่ำกลับเข้ามาในโรงเรียนอีก ท่านพูดทั้งน้ำตาว่าได้มีโอกาสเข้ามาโรงเรียนอีกครั้งก็เพราะลูกหลานไปหาที่บ้าน ไปถามข้อมูลประวัติชุมชนหมู่บ้านกับเค้า วันนั้นเด็กๆ ก็เชิญท่านให้ไปฟังการนำเสนอของเด็กๆ มาแล้วดีใจ ปลื้มใจ ประทับใจที่ลูกหลานเอาเรื่องราวอดีตมาถ่ายทอดได้ แกก็พูดทั้งน้ำตานะ”
เหมือนได้รับคำยืนยันว่าวิธีการเรียนรู้กับชุมชนโดยครูไม่ได้เป็นผู้สอนแค่คนเดียวแบบนี้ มีความหมายและคุณค่าไม่เฉพาะกับผู้เรียนแต่รวมถึงเจ้าของความรู้อย่างชาวบ้านด้วย สุทธิ โหนด และทีมนักวิจัยจึงทำงานต่อเพื่อขยายวิธีการเรียนรู้แบบนี้ต่อไปยังโรงเรียนข้างเคียงอื่นๆ
แต่เพื่อยกระดับการเรียนรู้และเพื่อสร้างแกนให้ชัด สุทธิได้ทำวิจัยร่วมกับโหนดจาก สกว. พัฒนาโครงงานฐานวิจัย 10 ขั้นตอน ในช่วงปี 2548-2549 และผ่านการคัดเลือกให้เป็นรางวัลงานวิจัยดีเด่นในปี 2551[2] ด้วย
เครื่องบินที่พยายามหารันเวย์ลง กับ ความพยายามทุบกำแพงโรงเรียนที่เริ่มสำเร็จจริงในวัย 60 ปี
ประเมินจากคนนอก การผลักงานเรื่องการเรียนรู้บนฐานชุมชนตลอดมาของเขาดูจะประสบความสำเร็จแล้วที่โรงเรียนบ้านตะโละใส แต่ลึกๆ ยังเชื่อว่าคงจะดีกว่านี้หากได้ผลักการเรียนรู้เช่นนี้ไปในหลักสูตรการศึกษาใหญ่ เมื่อถึงวาระเปลี่ยนย้ายโรงเรียน เขาได้รับความไว้ใจให้เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล ซึ่งถือเป็นโรงเรียนชั้นอนุบาลและประถมศึกษาประจำจังหวัด และในวันแรกที่รับตำแหน่ง สุทธิถือความท้าทายนั้นเดินเข้าโรงเรียนด้วย
“ที่นี่เป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ภาพฝันของผู้ปกครองคือต้องการให้ลูกๆ ที่จบจากที่นี่เป็นคนเก่ง สอบแข่งขันเพื่อไปต่อโรงเรียนที่มีชื่อเสียงชั้นนำในภาคใต้ แล้วเด็กที่นี่มาจากทุกอำเภอของสตูลนะ บางคนบ้านกับโรงเรียนห่างกัน 70 กิโลก็มี เขาพยายามขนาดนั้นเพื่อที่จะเรียนที่นี่ก็ด้วยหวังสิ่งนี้
“2 ปีแรกของที่นี่ เราเหมือนเครื่องบินที่ไม่มีสนามจะลง ไม่รู้จะเอางานที่เราเคยทำมาลงตรงไหน” เพราะไม่สามารถสานต่อความฝันความเชื่อตัวเองได้
“มีวันหนึ่ง คุณครูมาคุยให้ฟังว่า ‘เนี่ย ผอ. เด็กเรากินอาหารกลางวันเหลือเยอะมาก เททิ้งเยอะ ทานไม่หมด’ หลังจากนั้นเราก็เดินไปคุยกับเด็กๆ พบว่าเขาไม่รู้จักต้นข้าวนะ ไม่รู้ว่าหน้าตารูปร่างมันเป็นแบบไหน อะ… เราก็กระตุกคิดละ ไปลองหยอดกับครูว่า ‘ที่นาใกล้ๆ โรงเรียนนี่พอจะมีมั้ยนะ’ ปรากฎว่ามี ไม่ไกลจากโรงเรียน ในหัวไม่มีอะไร ตอนนั้นแค่ต้องการดึงเด็กออกนอกห้องเรียน ไปทำนา”
เรียกว่ามองอะไรก็กลายเป็นการศึกษาและโครงงานฐานวิจัยได้ หลังจากนั้นสุทธิเริ่มชักชวนครูออกแบบกระบวนการพาเด็กๆ ไปทำนาและเริ่มถอดบทเรียนว่าการเรียนแบบนี้เวิร์กหรือไม่อย่างไร โชคดีที่ในเวลานั้นโรงเรียนอนุบาลสตูลได้รับคัดเลือกเข้าโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล สิ่งที่ได้คือ ชั่วโมงเรียนเพิ่ม 5 ชั่วโมง เพื่อเรียนวิชาที่เรียกว่า Independent Study (IS) วาระนี้จึงกลายเป็นประเด็นอย่างที่สุทธิกล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า…
“กลายเป็นรันเวย์ให้เราเอางานวิจัย 10 ขั้นตอนมาลง ได้ในปี 53”
แต่แน่นอนว่าทางเดินไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ (อีกแล้ว) เพราะนี่คือโรงเรียนใหญ่ที่ทุกคนคาดหวังความสำเร็จทางวิชาการและมีภาพจำถึงการเรียนรู้ในห้องเรียนแบบเดิม รวมทั้งบุคลากรครูยังเชี่ยวชาญการสอนในแบบที่เคยทำกันมา แม้เชื่อว่าการเรียนอย่างโครงงานฐานวิจัยจะมีผลดี แต่ครูที่สอนแบบเดิมมาสิบยี่สิบปี แม้ตั้งใจแต่จะให้เปลี่ยนในข้ามคืนคงเป็นเรื่องยาก
“เราเริ่มจากครู 12 ราศี 4 แกนนำ”
สุทธิประเมินแล้วว่าหากเริ่มใช้วิธีเดิมอย่างที่ตะโละใสคือ ปิดการเรียน 2 อาทิตย์แล้วให้ครูเปลี่ยนทีเดียว ไม่มีทางทำได้ แรงกดดันจะมหาศาลแน่ๆ สิ่งที่ทำคือ ชวนครู 12 แกนนำที่อยากเปลี่ยนแปลงร่วมด้วย …ไปกินข้าวริมทะเล ณ ชุมชนบ่อ 7 ลูก!
“บอกครูแกนนำ 12 คนว่าไปเที่ยวกัน 2 วัน 1 คืน ไปกินอาหารทะเลกันนะ ไปรีแลกซ์กัน บรรยากาศชายทะเลที่สงบ ก็หารถไปกันเองนี่แหละ แต่เราก็เตรียมกับทีมงานวิจัยเดิมของเราไว้ทางนู้นแล้วแหละแต่ไม่บอกครู ถึงที่นั่นเราก็เอาคลิปวิดีโอของตะโละใสขึ้นจอ คุยกับครู แล้วตั้งคำถามว่าอยากเห็นเด็กเป็นแบบนี้มั้ย อย่างน้อยครูก็พยักหน้าแล้วล่ะว่าเป็นงานที่ท้าทายและอยากให้เด็กลองดู แล้วเราก็ได้วิธีการมา
“ช่วงปีนั้น คุณครูเค้าทำงานกันหนักมากนะ ครูหนึ่งคนรับผิดชอบสามห้องเรียนในการขึ้นโจทย์วิจัย ซึ่งแต่ละห้องจะมีโจทย์ไม่เหมือนกัน แปลว่าครู 12 คนนี้ทำงานกับเด็กทั้ง 36 ห้อง ส่วนครูคนอื่นก็เป็นบัดดี้ร่วมเรียนรู้กันไป แล้วเราถอดบทเรียนกันทุกวัน ครูกลุ่มนี้กลับบ้านไม่ต่ำกว่าสองทุ่ม พาครูไปเรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียน ส่วนฟีดแบกของผู้ปกครองช่วงแรกก็ยังกังวลว่าการพาเด็กลงไปพื้นที่นี่มันยังไงนะ หลายคนไม่โอเค ไม่เห็นด้วย ถามเราว่าแล้วลูกจะติวกันช่วงไหน ยังไง โอเน็ตจะต่ำมั้ย สอบเข้าโรงเรียนได้มั้ย? ก็บอกว่าคงไม่ทิ้งและเราจะพยายามดูแลเรื่องนี้นะ แต่พอผ่านปีแรกไป เราดีใจนะ ทุกคนยินดีที่จะร่วมเดินทางไปกับเราต่อ ผู้ปกครอง ครูทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ร่วมเรียนรู้ผ่านงานนี้”
จากวันนั้นถึงวันนี้ ก็เป็นเวลา 10 ปีแล้วที่โรงเรียนอนุบาลสตูลก็ค่อยๆ พัฒนาหลักสูตรโครงงานฐานวิจัยจนแข็งแรง ตัวอย่างงานวิจัยที่มีชื่อเสียงคือ “โครงงานศึกษาการตามรอยฟอสซิลในอำเภอเมืองสตูล เพื่อร่วมกับชุมชนพัฒนาเป็นแหล่งการเรียนรู้ในจังหวัดสตูล” โดยกลุ่มนักเรียนป.4 ที่เริ่มทำโครงงานและพบซากฟอสซิลมากมายในพื้นที่อำเภอเมือง เช่น ฟอสซิลหอยสองฝา ไครนอยด์ (พลับพลึงทะเล)
ปัจจุบันโรงเรียนอนุบาลสตูลได้รับการยอมรับในเชิงการจัดการเรียนรู้ ครูและนักวิจัยที่ร่วมทำงานกันมาเริ่มกลายเป็นโค้ชช่วยส่งต่อวิธีคิดและการทำงานเช่นนี้ให้กับโรงเรียนหลายจังหวัดในประเทศไทย โรงเรียนอนุบาลสตูลเองก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ทั้งหมดนี้พูดไม่ได้ว่ามาจากการทำงานของสุทธิเพียงคนเดียว เพราะเขาเองก็พูดอยู่เสมอว่าความสำเร็จในวันนี้ต้องยกเครดิตให้กับเหล่าทีมงาน ตั้งแต่การเป็นครูที่โรงเรียนท่าแพ การเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนบ้านทุ่งนุ้ยมิตรภาพ กระทั่งการเป็นอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนบ้านวังสายทอง และโดยเฉพาะการเป็นผู้อำนวยการที่โรงเรียนบ้านตะโละใส ได้ทำงานร่วมกับโหนด ชาวบ้าน และอาจารย์ พัฒนางานวิจัยที่เป็นกระดูกสันหลังและเป็นความภาคภูมิใจ เรื่อยมาถึงการเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล ที่เรียกว่าเป็นเมืองหลวงของสตูล และผลักดันหลักสูตรชุมชนนี้สำเร็จในระบบไปขั้นหนึ่ง
“วันแรกที่มาทำงานที่นี่ สิ่งแรกที่คิดว่าต้องทำคือ ทุบกำแพงโรงเรียน ไม่ใช่กำแพงที่เป็นอิฐปูน แต่ต้องการเปลี่ยนความคิดว่าการจัดการศึกษากับเด็กๆ เป็นหน้าที่ทุกคน ไม่ผูกขาดว่าหน้าที่ผู้ปกครองจะหมดลงเมื่อมาส่งลูกที่ประตูโรงเรียนตอน 7 โมงเช้าแล้วหลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของคุณครู เราไม่แบ่งหน้าที่กันที่หน้าประตูโรงเรียน เพราะเชื่อว่าการจัดการเรียนรู้ไม่ใช่แค่ 5-6 ชั่วโมงในโรงเรียน ทั้งผู้ปกครองและครูต้องเข้าใจร่วมกัน เราคงไม่มีกำแพงขวางกั้นระหว่างผู้ปกครองกับคุณครู”
รู้สึกอย่างไรกับการเดินทางตลอด 40 ปีบนถนนสายการศึกษาของตัวเอง? – เราถาม
“สี่สิบปีที่เคลื่อนมาดูเหมือนยาว แต่สัมผัสจริงๆ แล้วไม่ยาวนะ ไม่ไกล ถามว่าวันนี้สำเร็จตามเป้ามั้ย? ก็คิดว่าเราทำงานสำเร็จทุกวันเราไม่ได้หวังเป้าอะไรมากมายแต่คิดว่าเราให้กำลังใจตัวเองว่าเราทำงานกับเด็กทุกวัน วันนี้ได้คุยกับเด็กคนนี้ ได้คุยกับผู้ปกครองคนนี้ ได้คุยกับครูคนนี้ มันมีอะไรระหว่างทางที่เราสัมผัสได้ว่าถึงความงอกงามในหลายมิติ มันเป็นกำลังใจซึ่งเราไม่ต้องป่าวประกาศ แต่สัมผัสได้ว่าที่เราทุ่มเท ที่เคยคิดว่าวงครอบครัวเราจะเล็กลง แต่จริงๆ แล้วมันเป็นครอบครัวที่ใหญ่ขึ้นนะ เรามีสมาชิกมากขึ้น”
ครั้งหนึ่งระหว่างคุยกัน เราถามเขาว่า การทำงานตลอด 40 ปีอย่างต่อเนื่องอย่างไม่เคยวอกแวกไปเดินเส้นทางอื่นเลย มันเป็นอย่างไรนะ? เราเองที่เพิ่งทำงานมาสี่ห้าปี ไม่เคยจินตนาการชีวิตแบบนั้นได้ สุทธิเพียงตอบอย่างธรรมดาว่า
“ผอ.ไม่เคยคิดเลยนะ ไม่เหนื่อย ทำไปเรื่อยๆ คิดแค่ว่างานที่ทำมันมีประโยชน์”
สูตรการทำงานของคุณครูใหญ่ใจดีของเด็กๆ ของนักขับเคลื่อนการศึกษาที่มั่นคงและทำจริง ของนักคิดและนักบริหารที่ดึงความสามารถในตัวคนขึ้นมาใช้งานเก่ง ของนักวิจัยที่เคลื่อนงานชุมชนอย่างไม่ลดละ ในชื่อ สุทธิ สายสุนีย์ อาจเรียบง่ายแค่นี้
‘ทำไปเรื่อยๆ ทำสิ่งที่มีประโยชน์’
เรื่อยๆ แต่ไม่หยุด ผ่านไปไม่นานก็แค่ 40 ปีเอง
*พื้นที่นวัตกรรม โครงการนำร่องแห่งการปฏิรูปการศึกษา ที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน เป็นอิสระ บริหารจัดการตัวเอง เป็นการร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายและชุมชน ร่วมกันออกแบบการศึกษาเพื่อทำให้ความหลากหลายของการศึกษาปรากฏตัว พื้นที่นำร่องมี 6 จังหวัดครอบคลุมจากเหนือสู่ใต้ ได้แก่ สตูล ศรีสะเกษ ระยอง เชียงใหม่ กาญจนบุรี และ จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) |