หนังสือนิทานสำหรับเด็กเล่มใหม่เรื่อง ‘อ่านนิทานให้ฉันฟังหน่อย!’ เบเนดิกต์ การ์บอแนล เรื่อง มีคาเอิล เดอรึลเลิกซ์ ภาพ น้านกฮูก แปล บริษัทแปลนฟอร์คิดส์จำกัด พิมพ์
เรื่องนี้สนุก นี่ถ้าอีสปตื่นมาพบหมาป่าตัวนี้คงเป็นลมตายอีกรอบ ด้วยคาดไม่ถึง
หมาป่าตัวหนึ่งไปพบพ่ออ่านนิทานให้ลูกฟังในสวน พ่อลูกอ่านเสร็จเดินไปแต่เผลอทำหนังสือนิทานตกไว้ หมาป่าคาบหนังสือไปหาคนอ่านให้ฟังเพราะอ่านไม่ออก
ใครๆ ก็วิ่งหนีหมาป่าเพราะทุกคนรู้แล้วว่าหมาป่าเจ้าเล่ห์ นิทานอีสปบอกไว้นานแล้วนี่นา (ประโยคหลังนี้เติมเอาเอง) เหลือแต่กระต่ายทำใจดีสู้หมามาอ่านให้ฟัง
เมื่อหมาป่าฟังกระต่ายอ่านนิทานจบ “เอาอีก เอาอีก เอาอีก” เด็กๆ เป็นแบบนี้กันทุกคน รับประกันได้เลยรายไหนรายนั้น พ่อแม่ที่ไม่กำหนดกติกาไว้ก่อน เช่น 3-5 เล่มหรือ 30 นาทีมักจะต้องอ่านต่อไปจนเสียงแห้ง หรือสลบเหมือด
นิทานเป็นประตูเปิดจักรวาล หมาป่าที่วันๆ เอาแต่เจ้าเล่ห์ เพิ่งจะรู้ว่าโลกเป็นอย่างไรเมื่อได้ฟังนิทาน ลูกๆ จอมดื้อของเราก็เช่นกัน บ้านคับแคบแต่จักรวาลในนิทานกว้างใหญ่ไพศาล ไม่ต้องดื้อก็ได้ ยังมีอะไรดีๆ น่าทำเหมือนหมาป่าตอนท้ายเรื่อง ทำอะไรลองไปหามาอ่านดู ไม่สปอยล์
จากนี้ไปเป็นข้อคิดเห็นจากทางบ้าน การแลกเปลี่ยนที่ให้ และคำอธิบาย
“สนุกจริงๆ เลยค่ะ”
สนุกมากครับ สนุกแบบนี้คนอ่านก็ไม่เบื่อ กระต่ายก็ไม่เบื่อ
อธิบาย-เด็กฟังพ่อแม่อ่านนิทานก่อนนอน เขาจะสวมรอย (identify) ตัวละครสักตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวเอก บางครั้งก็สวมรอยทุกตัว สมมุติว่าเขาสวมรอยกระต่าย กระต่ายขยันอ่าน เขาก็จะขยันอ่าน (แม้ว่าจะยังอ่านไม่ออกก็ตาม)
“เพิ่งได้มาเลยค่ะ คนเล็ก (2ขวบ) หยิบมาให้อ่านทุกคืนเลย ส่วนตัวแม่ชอบภาพค่ะ วาดและลงสีสวยถูกใจ (ชอบพิเศษคือหน้านกฮูกหัวเราะ สีสวยมากๆ)”
หยิบมาอ่านซ้ำแน่นอน หมาป่ายังให้อ่านซ้ำเลย
อธิบาย-เรื่องการอ่านซ้ำในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กไม่มีอะไรให้กังวล อ่านซ้ำได้สบายมาก เพราะสมองเด็กพัฒนาและวางขดลวด (wiring) ทุกวัน หมาป่าเมื่อคืนจะไม่เหมือนหมาป่าคืนนี้แล้วจะเปลี่ยนไปอีกในวันพรุ่งนี้ กระต่ายก็เช่นกัน ที่สำคัญคือสมองเด็กเปลี่ยน ตัวเขาเปลี่ยน
“ยั่วกันตลอดนะคะ”
มีสาระนะครับ นึกถึงสัญลักษณ์ยึกยือที่หมาป่าอ่านไม่ออก เหมือนถูกขัง พอมีคนปลดล็อค เสรีภาพก็กระเจิง ไม่ต้องเจ้าเล่ห์นักก็ได้ เด็กๆ ของอาจารย์ก็เช่นกัน ทลายกรงขังเท่านั้นเอง ไม่ต้องเกเรก็ได้
อธิบาย-หนังสือคือประตูสู่โลกกว้าง ห้องนอนคับแคบกลับกลายเป็นจักรวาลกว้างใหญ่ไพศาลในพริบตา บ้านเล็กในห้องแถวขยายตัวออกไปได้ทุกมิติก็ด้วยนิทาน เมื่อหมาป่าอ่านอักขระไม่ได้เพราะแทนสัญลักษณ์และตีความสัญลักษณ์ไม่ได้ โลกคับแคบเหมือนกรงขังทำเป็นแค่เจ้าเล่ห์และล่าเหยื่อ ครั้นกระต่ายมาตีความให้ โลกที่มีมากกว่าความเจ้าเล่ห์และล่าเหยื่อก็เริ่มขยายตัว ส่วนหมาป่าจะทำอะไรได้บ้าง ไปหามาอ่าน
“โอย…คุณหมอคะ ชอบตั้งแต่ชื่อเรื่องเลยค่ะ”
อายุเท่าไร เราก็เริ่มอ่านนิทานได้ครับ หมาป่าอายุมากแล้วยังชอบเลย
อธิบาย-นิทานสำหรับเด็กหากลดละเลิกความพยายามจะสั่งสอนเด็กให้เป็นคนดีเสียบ้าง ขอเพียงมีตัวละคร มีตัวเอก ตัวรอง ตัวร้าย มีเส้นเรื่อง และความขัดแย้งคือ conflict ผู้ใหญ่อายุเท่าไรก็จะพบว่าตัวเองหยิบอ่านได้ สบายตาและหลงใหลได้ง่ายๆ ด้วย เพราะที่แท้แล้วบนเส้นทางพัฒนาการของเราเอง มีอะไรต้องซ่อมแซม เติมเต็มหรือชดเชยอีกมาก
“สนุกจริงๆ ค่ะคุณหมอ อ่านให้ลูกๆ ฟังครั้งแรกแม่ยังลุ้นตามไปด้วยเลยค่ะ 555”
แล้วเด็กๆ จะทำแบบหมาป่าในตอนท้าย นั่นคือ…
อธิบาย-จะเห็นว่าแทบทุกคนถูกโปรแกรมว่าหมาป่าต้องใจร้าย เจ้าเล่ห์ และกินกระต่ายในตอนท้ายแน่นอนเหมือนที่เคยกินลูกแกะที่ปลายลำธารมาแล้วทั้งที่ตัวเองเป็นคนทำน้ำขุ่นแท้ๆ ดังนั้นองค์ประกอบที่สำคัญอีกข้อคือการหักมุมในตอนท้าย อย่างคาดไม่ถึง ตรึงพ่อแม่ให้สนุกกับนิทานก่อนนอนได้ด้วยจะดีที่สุด เพราะคนอ่านสนุก ลูกก็สนุกตามง่ายๆ
“โอยยยย อยากได้บ้าง…ง”
ออกไปหาครับ
อธิบาย-การพาลูกไปร้านหนังสือเป็นเรื่องควรทำ อย่าถึงกับไม่ทำเลยเอาแต่ซื้อทางเน็ต ร้านหนังสือช่วยเปิดจักรวาลกว้างใหญ่ พ่อแม่ลูกใช้เวลาอยู่ด้วยกันในทางสร้างสรรค์ พ่อแม่ได้พัฒนาตัวเองบ้าง ดีกว่านั้นคือลูกได้ฝึกการชั่งน้ำหนัก จะเอาเล่มไหน จะบริหารงบประมาณอย่างไร ไปจนถึงรู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน คือ EF การให้หนังสือไม่มีข้อเสียแต่ควรกั๊กเอาไว้บ้างไม่ต้องให้ครั้งเดียวหมดร้าน เดือนหน้ามาใหม่อีกได้
“ตอนหมาป่าวิ่งไปคาบหนังสือ ลูกชายบอกว่าหมาป่าขโมยหนังสือเหรอ แม่อึ้งตอบไม่ถูกเลยค่ะ เลยบอกไปว่าหมาป่านิสัยไม่ดี 555”
แต่งเองได้ครับ หมาป่าวิ่งตามไปคืน แต่พ่อลูกหายไปแล้ว
อธิบาย-จะเห็นว่าเด็กรับรู้มากกว่าที่หนังสือบอกและคิดเอาเองได้มากกว่าที่พ่อแม่จะรู้ทัน พ่อแม่ที่ไม่ประสีประสาอาจจะอึ้งได้ไม่ผิดอะไร ขอแค่มานอนอ่านด้วยกันก็สุดยอดแล้ว แต่พ่อแม่ที่ไหวพริบดีกว่าสามารถแต่งเอาเองได้ตามสบาย ตอบคำถามได้อย่างสนุกสนาน ไม่มีอะไรผิดอยู่แล้ว นี่ห้องนอน มิใช่ห้องสอบ อย่าทำห้องนอนเป็นห้องกวดวิชา
“ลูกบอกหนูเป็นหมาป่า หม่าม้าเป็นกระต่าย”
จะเห็นว่าหมาป่าใหญ่ชั่วข้ามคืน
อธิบาย-จะเห็นว่าเด็กๆ ทุกคนอยากโตเร็ว อยากกินนมกินข้าวออกกำลังกายแล้วโตเร็วๆ มากกว่านี้คืออยากโตกว่าพ่อแม่ เป็นเราเองที่ทำให้ทุกอย่างยาก การกินข้าว การนอน ให้ตรงเวลา การเล่นในสนามจริงๆ พวกเขาอยากทำ อยากทำได้ อยากจะโตเร็วๆ
“คืนนี้คงได้อ่านให้ตัวเล็กฟังและให้สรุปเรื่องราวที่ประทับใจจากการฟังนิทานค่ะ เพิ่งได้มาเมื่อวันศุกร์ (การบ้านลูก)”
ไม่สรุปๆ เอาสนุกว่าครับ
อธิบาย-นิทานที่ดีไม่จำเป็นต้องสรุปหรือลงท้ายว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เพียงเล่าเรื่อง (storytelling) แล้วทิ้งไว้เช่นนั้น เด็กๆ จะต่อเอาเองและเก็บเกี่ยวเอาเองตามใจชอบ ดีต่อสมองมากกว่ามาก เราอยากได้สมองที่มีเสรีภาพคิดกว้างไกลคิดนอกกรอบ
หนังสือดีราคาไม่ถึงร้อยยังมีอยู่ ที่ราคาสองสามร้อยก็ดีมากเกินราคา หนังสือเป็นสินค้าทางปัญญา ลงทุนเท่าไรก็ได้คืนเพราะประเมินค่ามิได้ ยังไม่นับว่านิทานสำหรับเด็กดึงเวลาของพ่อแม่ลูกเข้ามาใกล้กันวันละครึ่งชั่วโมงยามค่ำคืน ยิ่งกว่าประเมินค่ามิได้ ควรที่เราจะบริหารงบประมาณ ชั่งน้ำหนัก สินค้าทางปัญญานี้กับเสื้อผ้า เครื่องสำอาง อาหารฟุ่มเฟือย กิจกรรมพัฒนาการที่อาจจะไม่คุ้มค่า เพราะที่คุ้มค่ามากกว่าคือหนังสือ
และตัวเป็นๆ ของพ่อแม่