- พ่อแม่มือใหม่ที่ต้องการหาความรู้ประดับสมองก่อนที่ลูกน้อยจะลืมตาดูโลก มักจะต้องผงะกับจำนวนหนังสือเลี้ยงลูกสารพัดวิธีแนวทางบนชั้นหนังสือ ซึ่งหลายครั้งความรู้เหล่านั้นในแต่ละเล่ม แต่ละเพจ หรือแต่ละเว็บไซต์กลับขัดแย้งกันเองจนชวนงุนงงว่าทางไหนคือทางที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด
- หลังจากอ่านหนังสือเลี้ยงลูกมานับสิบเล่มและบทความทั้งไทยและเทศอีกจำนวนไม่น้อย ผมได้ข้อสรุปว่าสูตรสำเร็จในการเลี้ยงลูกนั้นไม่มีอยู่จริง สุดท้ายก็คงตัดสินใจไปตามสัญชาตญาณที่เกิดจากการหยิบเกร็ดจากเล่มนู้นนิดผสมนั่นหน่อย แต่ที่สำคัญคือแนวทางนั้นจะต้องเห็นพ้องต้องกันระหว่างสามีภรรยา รวมถึงประนีประนอมกับความต้องการของปู่ย่าตายายด้วย
หากผู้อ่านคนไหนยังไม่ได้อ่านบันทึกนักการเงินพ่อลูกอ่อนตอนที่ 1 สามารถอ่านได้ที่ บันทึกนักการเงินพ่อลูกอ่อน (1): ความไม่ง่ายของการตัดสินใจเป็นพ่อ
แม้ผลตรวจจะยืนยันมั่นเหมาะแล้วว่าผมกำลังจะเป็นพ่อคน แต่มันก็ยังมึนงงเหมือนเดินวนอยู่ในหมอก กระทั่งอายุครรภ์เริ่มมากขึ้นหน่อย จากจุดเล็กๆ เริ่มกลายเป็นรูปร่าง มองเห็นสองแขนสองขาและกระดูกสันหลัง รวมทั้งเสียงหัวใจที่เต้นขยุกขยิกบนหน้าจอที่ก้องสะท้อนในห้องตรวจและสั่นไปถึงหัวใจของผม
‘ตุ่บ ตุ้บ ตุ่บ ตุ้บ ตุ่บ ตุ้บ ตุ่บ ตุ้บ’
ผลตรวจโครโมโซมบอกว่าเจ้าตัวเล็กปกติดีและคอนเฟิร์มชัดว่าเป็นเด็กชาย ในฐานะที่ไม่เคยเป็นพ่อแม่ใครมาก่อน ผมและภรรยาต่างก็ร้อนใจอยากจะหาความรู้มาประดับสมอง เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมก่อนที่ลูกน้อยจะลืมตาดูโลกในช่วงเดือนธันวาคม
ผมเป็นนักอ่านตั้งแต่มัธยมต้นและอ่านต่อเนื่องมาเป็นนิสัย ไปไหนมาไหนก็ต้องมีหนังสือติดมือตลอด แต่จวบจนปัจจุบัน ผมไม่เคยย่างกรายเข้าใกล้ชั้นหนังสือเด็กหรือคู่มือเลี้ยงลูกแต่อย่างใด จึงตัดสินใจแวะไปร้านหนังสือขนาดกะทัดรัดใกล้บ้าน แล้วเราก็ต้องผงะเพราะหนังสือประเภทนี้เยอะมาก มองดูเล่มไหนก็น่าซื้อไปเสียหมดจนต้องกลับมาตั้งหลัก สรรหาเล่มที่คิดว่าน่าจะดีโดยพิจารณาจากสารพัดรีวิวในอินเทอร์เน็ต โดยมีเป้าหมายคือหาสูตรสำเร็จในการเลี้ยงลูก
หลังจากค้นคว้าสักพักและได้ผ่านตาหนังสือเกินสิบเล่ม ผมขอเลือกหยิบหนังสือ 3 เล่ม 3 รส มาเล่าสู่กันฟังนะครับ
เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ EF โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
เล่มแรกคงกล่าวได้ว่าเป็นหนังสือคลาสสิคสำหรับพ่อแม่สมัยใหม่ นั่นคือ เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ EF โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ โดดเด่นด้วยเนื้อหากระชับ เล่มบางน่ารักพลิกอ่านไม่นานก็จบ
หัวใจของเล่มนี้คือการปูทางให้ลูกน้อยมีทักษะในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำ ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า EF Executive Function หรือ EF ซึ่งคล้ายกับการสร้างบันไดที่แต่ละช่วงชั้นมีความสำคัญในการก้าวต่อไป คุณหมอประเสริฐแนะนำว่าการปูทางสู่ EF ต้องเริ่มตั้งแต่วันแรกโดยการสร้าง ‘แม่ที่มีอยู่จริง’ ผ่านการอุ้ม กอด บอกรัก เมื่อโตขึ้นพอจะยืนด้วยขาสองข้างของตัวเอง แม่ก็จะต้องเป็นกองหนุนคอยยินดีเมื่อทำสำเร็จ สร้างสายสัมพันธ์ที่จะดึงรั้งให้ลูกน้อยกลับมาหาแม่ ภายใต้กติกาพื้นฐานคือห้ามทำร้ายคน ห้ามทำลายข้าวของ และห้ามทำร้ายตัวเอง
หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนการวางวิธีคิดในการเลี้ยงลูก โดยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสายสัมพันธ์ในขวบปีแรกของเด็กน้อยซึ่งจะสะท้อนออกมาได้เด่นชัดเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า รวมถึงขยายประเด็นเรื่องทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 รวมถึงกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่
แต่ผมอ่านไปก็รู้สึกน้อยใจนิดหน่อยเพราะทั้งเล่มให้ความสำคัญกับแม่มาก จนผมต้องแทนคำว่าแม่ด้วย ‘พ่อ’ อยู่ในใจ
เลี้ยงลูกทางสายกลาง โดยผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ
หากเล่มของคุณหมอประเสริฐคือการวางวิธีคิดในการเลี้ยงดูลูก หนังสือที่ครอบคลุมภาคปฏิบัติที่ผมอยากแนะนำคือเลี้ยงลูกทางสายกลาง โดยผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ หรือ หมอวินเจ้าของเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ เป็นอีกหนึ่งเล่มที่เนื้อหากระชับ อีกทั้งยังเขียนด้วยภาษายียวนชวนยิ้ม เรียกว่าอ่านไปขำไปเพราะเรื่องที่เขียนไว้นั้นจริงแสนจริง
หนังสือเล่มนี้จะเริ่มจากการทำความเข้าใจอารมณ์และการแสดงออกของลูก ช่วยคลายความโหดหินที่พ่อแม่มือใหม่ต้องประสบพบเจอระหว่างปรับจูนกับสิ่งมีชีวิตตัวเล็กที่อยู่ตรงหน้าซึ่งสื่อสารกันคนละภาษา ต่อด้วยรายละเอียดเรื่องการกิน การนอน รวมถึงการดูแลสุขลักษณะเบื้องต้นแบบตามใจหมอ พร้อมทั้งอธิบายข้อข้องใจของพ่อแม่หลายคนว่า ‘ลูกร้องทำไม?’ ปิดท้ายด้วยการสังเกตอาการผิดปกติที่ควรรีบพาเจ้าตัวเล็กไปส่งโรงพยาบาลเมื่อมีอาการเจ็บป่วย
สำหรับผม เล่มนี้คือหนังสืออ้างอิงสามัญประจำบ้านสำหรับค้นประเด็นต่างๆ เบื้องต้น รวมถึงมีคำแนะนำที่ชัดเจนเหมือนไปปรึกษากับกุมารแพทย์แบบไม่ต้องยกหูโทรศัพท์
แต่บทที่ผมท่องจำจนขึ้นใจคือการหาทางออกจากความขัดแย้งเรื่องวิธีดูแลทารกระหว่างพ่อแม่รุ่นใหม่กับปู่ย่าตายายที่ข้อมูลหลายอย่างยังไม่ทันอัพเดท ตัวอย่างเช่นการให้ทารกดื่มน้ำซึ่งความรู้สมัยใหม่บอกว่าไม่จำเป็นเพราะทารกได้รับน้ำจากนมแม่เพียงพอแล้ว แต่ด้วยความเคยชิน ปู่ย่าตายายจะพยายามตอแยให้เจ้าตัวเล็กดื่มน้ำให้ได้
หากมีปากเสียงกันก็มักจะจบที่ว่าปู่ย่าตายายเลี้ยงลูก (คือผมและภรรยา) แบบนี้ก็เห็นว่าโตมาได้ดิบได้ดี แล้วทำไมจะใช้ความรู้เดิมมาดูแลหลานบ้างไม่ได้
สถานการณ์ข้างต้นคงเป็นเรื่องที่พ่อแม่มือใหม่หลายคนต้องเผชิญและคุณหมอวินแนะนำให้ประนีประนอม โดยมองว่าหากไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ไม่กระทบสุขภาพ ไม่เพิ่มความเสี่ยงอันตรายต่อลูกน้อย พ่อแม่ก็ต้องยอมบ้างเพื่อให้ปู่ย่าสบายใจ เช่นกรณีของการดื่มน้ำ พ่อแม่อาจต้องยอมเทนิดๆ หน่อยๆ พอให้เจ้าตัวเล็กได้จิบ เพื่อสันติสุขของทั้งบ้าน
Bringing Up Bébé (ฉบับแปลไทยว่าเลี้ยงลูกแบบผ่อนคลาย สไตล์คุณแม่ฝรั่งเศส)
เล่มที่สามอาจไม่ใช่หนังสือขึ้นแท่นเบสต์เซลเลอร์ในไทย แต่เพื่อนชาวต่างชาติของภรรยาผมแนะนำให้อ่านซึ่งเนื้อหานับว่าน่าสนใจดี คือ Bringing Up Bébé (ฉบับแปลไทยว่าเลี้ยงลูกแบบผ่อนคลาย สไตล์คุณแม่ฝรั่งเศส) บันทึกของนักข่าวชาวอเมริกันที่ตั้งครรภ์ คลอด และเลี้ยงลูกที่ฝรั่งเศส โดยตลอดเส้นทางต้องเผชิญภาวะช็อกทางวัฒนธรรมกับวิธีการเลี้ยงลูกของคุณแม่ชาวฝรั่งเศสซึ่งแตกต่างจากอเมริกันอย่างสิ้นเชิง พร้อมทั้งปลาบปลื้มกับความสงบเรียบร้อยของเด็กๆ ชาวฝรั่งเศสที่สามารถมานั่งเล่นที่คาเฟ่รอแม่จิบกาแฟได้โดยไม่สร้างความโกลาหล
แกนกลางของการเลี้ยงดูแบบฝรั่งเศส คือการเคารพความเป็นปัจเจกบุคคลของพ่อ แม่ และทารก โดยไม่ได้มองว่าเจ้าตัวเล็กด้อยกว่าผู้ใหญ่แต่อย่างใด หนังสือเล่มนี้จึงแนะนำว่าพ่อแม่ควรพูดคุยกับทารกอย่างสุภาพ พาทำความรู้จักห้องต่างๆในบ้านเมื่อกลับมาโรงพยาบาลวันแรก บอกกล่าวทุกครั้งว่ากำลังจะพาไปอาบน้ำ อยากให้นอน หรือจะให้กินนม รวมถึง ‘การหยุดชั่วคราว’ กล่าวคือการปล่อยให้ลูกร้องงอแงประมาณ 5 นาทีในเวลากลางคืนก่อนที่พ่อแม่จะเข้าไปหา เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กน้อยเรียนรู้ที่จะจัดการกับตัวเองและกลับไปนอนหลับต่อ
แต่ประเด็นที่ผมชอบที่สุดสำหรับเล่มนี้คืออาหาร ที่ฝรั่งเศสไม่มีอาหารสำหรับเด็กเพราะไม่ว่าใครก็รับประทานอาหารเหมือนกัน การจัดเมนูอาหารจึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งเพราะนั่นคือกระบวนการที่จะพาเจ้าตัวเล็กไป
สำรวจรสชาติและรสสัมผัสของวัตถุดิบแต่ละประเภท แม้แต่ในสถานรับเลี้ยงเด็กของรัฐ ยังมีคณะกรรมการอาหารที่ต้องร่วมกันออกแบบมื้ออาหารแบบคอร์สสำหรับเด็กสองขวบ เริ่มจากออเดิร์ฟ จานหลัก จบด้วยขนมหวานและผลไม้ เพื่อให้มั่นใจว่านอกจากเด็กๆ จะได้รับสารอาหารครบถ้วนแล้ว ยังมีประสบการณ์ที่ดีกับอาหารอีกด้วย
ในระหว่างที่ดำผุดดำว่ายอยู่ในกองคู่มือเลี้ยงลูกซึ่งบรรจุข้อมูลมหาศาล สิ่งที่พบเจอบ่อยครั้งคือข้อแนะนำที่แตกต่างกันในหนังสือแต่ละเล่ม เช่น ข้อแนะนำเรื่องการนอน เล่มหนึ่งบอกว่าควรแยกห้องแต่ต้องเดินไปหาทันทีเมื่อได้ยินเสียงร้อง อีกเล่มหนึ่งบอกว่าเมื่อได้ยินเสียงร้องให้รอก่อนอย่างน้อย 5 นาที ส่วนบางที่ก็แนะนำว่าหากต้องการให้ลูกน้อยนอนหลับยาวได้ก็ปล่อยให้ร้องไปแบบไม่ต้องกังวล บทความบนเว็บไซต์ซึ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้กลับระบุว่าทางที่ดีกว่าคือการให้นอนห้องเดียวกันแต่แยกเตียงเพื่อป้องกันไม่ให้พ่อแม่เผลอไปนอนทับเจ้าตัวเล็ก ส่วนปู่ย่าตายายส่งเสียงเชียร์ให้นอนเตียงเดียวกันเพื่อความอบอุ่น แถมยังสำทับว่าอย่าใจร้ายใจดำให้หลานร้องนานนัก ฯลฯ
หากนี่คืองานวิจัยหัวข้อ ‘สูตรสำเร็จในการเลี้ยงลูก’ หลังจากทบทวนข้อมูลทั้งหมดผมคงสรุปว่า ‘ไม่มีข้อสรุป’ แต่ผมคงตอบแบบนั้นไม่ได้ในสถานการณ์ที่ลูกน้อยร้องไห้อยู่ตรงหน้าแล้วภรรยาหันมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี สุดท้ายก็คงตัดสินใจไปตามสัญชาตญาณที่เกิดจากการหยิบเกร็ดจากเล่มนู้นนิดผสมนั่นหน่อย
หากสรุปแบบนวนิยายกำลังภายในก็คงประมาณว่า “เรียนรู้ทุกกระบวนท่าแล้วหลงลืมให้หมดเพื่อกรุยทางสร้างวิทยายุทธ์ของตัวเอง” แต่ที่สำคัญคือแนวทางนั้นจะต้องเห็นพ้องต้องกันระหว่างสามีภรรยา รวมถึงประนีประนอมกับความต้องการของปู่ย่าตายายด้วย
วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ผมและภรรยาไปพบคุณหมอตามนัดเพื่อเตรียมการก่อนผ่าคลอดตามกำหนดการที่วางไว้คือวันที่ 20 ธันวาคม แต่ผลตรวจอัลตร้าซาวด์กลับพบเรื่องไม่คาดฝันเพราะเจ้าตัวเล็กน้ำหนักลดแถมน้ำคร่ำก็หดหายแทบไม่เหลือโดยไม่ทราบสาเหตุ
“หมอว่าเราคงต้องเลื่อนการผ่าคลอดนะคะ” สูตินรีแพทย์ที่ดูแลเราร่วมแปดเดือนบอกกับอย่างยิ้มแย้ม “หมอว่าเราผ่าคลอดพรุ่งนี้เช้าดีกว่าค่ะ คืนนี้มานอนค้างที่โรงพยาบาลได้เลยนะคะ อาการยังไม่น่ากังวลอะไรแต่หมอว่าผ่าคลอดเอาตัวเล็กออกมาไว้กอดน่าจะสบายใจกว่า”
คืนนั้นเองที่ผมนอนลืมตาโพลงในโรงพยาบาลด้วยใจระทึกเพราะกำหนดการการเป็นพ่อคนถูกเลื่อนขึ้นมาหนึ่งสัปดาห์โดยไม่คาดฝัน ความรู้สึกเหมือนกับคืนก่อนเข้าห้องสอบที่ต้องบอกตัวเองซ้ำๆ ว่าเราเตรียมตัวมาดี อ่านหนังสือมาเยอะ แต่ก็เหมือนสัจธรรมนะครับ เพราะต่อให้เราเตรียมตัวมามากมายแค่ไหน โจทย์ที่เจอในวันจริงนั้นหินกว่าที่อ่านหลายสิบเท่า