- การเป็นพ่อคือความรับผิดชอบหนักอึ้งในการชุบเลี้ยงสิ่งมีชีวิตตัวน้อยให้เติบใหญ่ ที่สำคัญตำแหน่งนี้ไม่มีโอกาสให้เซ็นใบลาออก ชีวิตเปลี่ยนตลอดไม่อาจถอยหลังกลับ เป็นความผูกพันระยะยาวที่ต้องใช้ทรัพยากรทั้งทุน เวลา และอารมณ์ การตัดสินใจเปลี่ยนสถานะจากบุคคลธรรมดาเป็นพ่อของอีกหนึ่งคนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
- เราอาจคิดว่าการมีลูกนั้นแสนง่ายเหมือนกับที่สื่อมวลชนกระแสหลักประโคมข่าววัยรุ่นท้องก่อนวัยอันควรเพราะมีเซ็กซ์โดยไม่ป้องกันคืนวันวาเลนไทน์ เมื่อประสบกับตนเอง ผมพบว่าการมีลูกยากกว่าที่คิดและจำเป็นต้องอาศัยวิทยาศาสตร์เข้าช่วยเพื่อคาดการณ์วันไข่ตก (Ovulation) ซึ่งเป็นช่วงสองสามวันในแต่ละเดือนที่มีโอกาสตั้งครรภ์สูงสุด
- ชวนอ่านการตัดสินใจมีลูกของคนรุ่นใหม่ที่มีเรื่องต้องคำนึงมากมาย การวางแผนรองรับการมีลูกหลายเรื่อง เช่น การคำนวนเงินออมสำหรับการศึกษาบุตรในอนาคต
ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นพ่อคนในช่วงอายุที่ยังไม่แตะเลขสาม
ไม่ใช่สิ ผมอาจไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าตัวเองจะได้มีสถานะเป็นพ่อ เพราะตั้งแต่สมัยปริญญาตรี ผมมักเป็นเป้ากึ่งแซวกึ่งกระแนะกระแหนว่าอยากเห็นหน้าแฟนในอนาคตจัง อาจเป็นเพราะการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยที่ไม่ค่อยขนบกับเด็กคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีสักเท่าไหร่ แถมยังไม่มีท่าทีสนใจจะคบหาใครเพราะหมดเวลาไปกับกิจกรรมและการเรียน
พวกมันคงช็อกไม่น้อยที่ผมกลับแต่งงานและมีเจ้าตัวเล็กเป็นคนแรกๆ ของรุ่น (ฮ่าฮ่า!)
คำถามหนึ่งที่เพื่อนหลายคนถามมาหลังไมค์เมื่อได้ข่าวว่าภรรยาผมตั้งท้องคือคิดยังไงถึงอยากมีลูก?
เพื่อนผมหลายคนเขียนสาธยายยาวเหยียดบนโซเชียลมีเดียว่าด้วยเหตุผลที่ไม่อยากมีลูก เขาและเธอมองอนาคตของโลกใบนี้ไม่ค่อยสดใสนัก ทั้งการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจที่ลุ่มๆ ดอนๆ อาชญากรที่มีอยู่เต็มเมือง วิกฤติสิ่งแวดล้อมที่ดูจะไร้ทางออก ตอกย้ำด้วยโรคระบาดที่ไม่รู้จะควบคุมได้เมื่อไหร่ และอีกสารพัดความเลวร้ายที่ทำให้ดูเป็นการใจร้ายอย่างยิ่งที่คนสองคนจะปลงใจให้กำเนิดลูกน้อยในภาวะที่ดูสิ้นหวัง
ผมอ่านข้อความเหล่านั้นแล้วยักไหล่ เพราะหากพิจารณาตัวชี้วัดระดับมหภาค คุณภาพชีวิตของประชากรในปัจจุบันดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหากเทียบกับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนครัวเรือนที่เข้าถึงน้ำประปาและไฟฟ้า คุณภาพบริการด้านสุขภาพ อายุขัยเฉลี่ย จำนวนปีที่เด็กได้เข้าศึกษา อัตราการอ่านออกเขียนได้ เปอร์เซ็นต์ของเด็กแรกเกิดที่เสียชีวิต และอีกสารพัดตัวชี้วัดที่บอกกับเราว่าชีวิตในวันนี้ดีกว่าในอดีตหลายเท่านัก
เพื่อให้พอเห็นภาพ ผมขอหยิบตัวเลขจีดีพีต่อหัว (GDP per capita) มาเปรียบเทียบแบบกำปั้นทุบดิน โดยพ.ศ. 2534 ปีที่ผมเกิดซึ่งก็คือปีที่คุณพ่อแม่ตัดสินใจมีลูก จีดีพีต่อหัวอยู่ที่ราว 4,290 บาทต่อคนต่อเดือน (1,716 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี) ขณะที่ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นปีที่ผมตัดสินใจว่าจะมีลูกอยู่ที่ราว 19,480 บาทต่อคนต่อเดือน (7,792 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี) จะเห็นว่ารายได้ในปัจจุบันสูงกว่าในอดีตถึง 5 เท่า (หรือราว 2 เท่าหากปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ)
สิ่งเดียวที่น่ากังวลคือปัญหาวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่แม้จะดูไร้ความหวัง แต่เราก็เห็นถึงความพยายามของคนจำนวนมากในการบรรเทาวิกฤติดังกล่าว อีกอย่าง ชีวิตจะไปสนุกอะไรถ้ามันดำเนินไปอย่างราบเรียบไร้ความท้าทาย?
แต่การตัดสินใจเป็นพ่อคงไม่ได้ใช้เพียงแค่สมอง เพราะอีกองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้คือการไตร่ตรองโดยใช้หัวใจซึ่งนับว่ายากกว่าหลายเท่าตัว
ใครบ้างจะไม่กังวลกับการรับบทบาทหน้าที่ใหม่ ความรับผิดชอบหนักอึ้งในการชุบเลี้ยงสิ่งมีชีวิตตัวน้อยให้เติบใหญ่ ที่สำคัญตำแหน่งนี้ไม่มีโอกาสให้เซ็นใบลาออก ตัดสินใจแล้วชีวิตเปลี่ยนตลอดไม่อาจถอยหลังกลับ ผมใช้เวลาทบทวนคำถามนี้ลึกๆ ว่าทำไมตัวเองถึงอยากมีลูก
ต้องการหาคนสืบสายสกุล? อันนี้ไม่เคยอยู่ในหัวสมอง
ต้องการมีคนดูแลตอนแก่ชรา? เรื่องนี้วางแผนไว้แล้วในบัญชีเงินออมและลงทุน
สุดท้ายผมก็ได้คำตอบที่ค่อนข้างโรแมนติก (หากอิงจากค่อนชีวิตที่อยู่กับตัวเลขและงานวิชาการ) นั่นคือผมอยากสัมผัสกับความรักที่ไม่มีเงื่อนไขแบบที่เรามีสถานะผู้ให้มากกว่าผู้รับ ที่สำคัญครอบครัวของผมและภรรยาต่างก็พร้อมสนับสนุนเต็มที่หากเราตัดสินใจจะมีสมาชิกตัวน้อย องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ผมคลายความกังวลและตัดสินใจได้ไม่ยากนัก
ผ่านจากสมอง หัวใจ มาจบที่กระเป๋าสตางค์ เพราะเงินเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญไม่น้อยไปกว่าเวลาและความรัก
ค่าใช้จ่ายก้อนแรกจะเริ่มตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ทั้งมีค่าฝากครรภ์ไปจนถึงทำคลอด หากเป็นโรงพยาบาลเอกชนก็ค่อนแสน หลังคลอดก็เป็นช่วงที่จำเป็นต้องใช้เงินอีกก้อน ทั้งเฟอร์นิเจอร์สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเจ้าตัวเล็ก คาร์ซีทเพื่อความปลอดภัย เสื้อผ้า ของใช้ของเล่น และอีกจิปาถะที่ซื้อนู่นนิดนี่หน่อยก็อาจทำให้เงินหลายหมื่นบาทหายวับไปในพริบตา
แถมแต่ละเดือนยังมีค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองทั้งผ้าอ้อมและอาหารการกิน แม้เราตั้งมั่นว่าจะใช้ผ้าอ้อมแบบซักได้และให้กินนมแม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ต้องกันเงินเตรียมไว้แต่ละเดือนอย่างน้อยสามพันบาท
โชคดีที่ผมกับภรรยาเก็บหอมรอมริบไว้พอสมควร ผนวกกับเงินก้นถุงค่าสินสอดที่ทั้งสองบ้านยกให้ใช้ตั้งตัว เราจึงมั่นใจว่ามีทรัพยากรเพียงพอที่จะดูแลสมาชิกใหม่ในช่วงแรกเริ่ม แต่ที่น่ากังวลคือค่าเล่าเรียนในอนาคต เพราะต่อให้ไม่ได้ส่งไปโรงเรียนสามภาษาค่าเทอมหลักแสน เราก็อยากปูทางไว้หากสักวันหนึ่งที่ลูกต้องการไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ทุนทรัพย์จะได้ไม่กลายเป็นข้อจำกัดสำหรับความฝันของเจ้าตัวเล็ก
ผมคำนวณคร่าวๆ ว่าจะใช้เวลา 15 ปีในการเก็บหอมรอมริบเงินก้อนหนึ่งไว้เป็นทุนการศึกษาโดยตั้งเป้าว่าจะเก็บให้ได้ราวสองล้านบาท แน่นอนว่าผมคงไม่อยากให้อนาคตของลูกไปผูกติดกับความผันผวนของราคาหุ้น เงินลงทุนจึงต้องอยู่ในสินทรัพย์ความเสี่ยงไม่สูงมากแต่ผลตอบแทนต้องสมน้ำสมเนื้อ
ตัวเลือกอันดับหนึ่งคือบัญชีฝากประจำปลอดภาษีซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแทบทุกธนาคาร โดดเด่นโดยการหักเงินจากบัญชีแบบอัตโนมัติในแต่ละเดือนโดยได้ผลตอบแทนรวมกับโบนัสหากฝากครบตามเกณฑ์ราว 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เมื่อครบกำหนดแล้วค่อยถอนมาลงในกองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ทางเลือกที่ความเสี่ยงต่ำและได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกัน สำหรับกลยุทธ์นี้ผมกดตัวเลขกลมๆ เท่ากับการเก็บออม 10,000 บาทต่อเดือนที่หากทำได้ต่อเนื่องตามแผนก็จะมีเงินก้อนรวม 2.1 ล้านบาทในปีที่ 15
ตัวเลขดังกล่าวนับว่าไม่เยอะมากมายนัก เพราะหากหารสองระหว่างผมและภรรยาก็จะตกคนละ 5,000 บาทต่อเดือน เรื่องเงินๆ ทองๆ ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยาวจึงนับว่าเบาใจได้
หลังจากตัดสินใจร่วมกันว่าพร้อมที่จะมีลูก แต่เรากลับต้องเจออุปสรรคที่ไม่คาดฝัน ผมเคยเข้าใจว่าการมีลูกนั้นง่ายแสนง่าย เหมือนกับข่าวที่สื่อมวลชนกระแสหลักประโคมข่าววัยรุ่นท้องก่อนวัยอันควรเพราะมีเซ็กซ์โดยไม่ป้องกันคืนวันวาเลนไทน์ แต่เมื่อต้องพยายามด้วยตัวเอง ผมก็เพิ่งทราบว่าการมีลูกยากกว่าที่คิดและจำเป็นต้องอาศัยวิทยาศาสตร์เข้าช่วย
อย่างแรกคือวิตามินที่ผมและภรรยารับประทานเพื่อให้มั่นใจว่าเจ้าตัวเล็กจะแข็งแรง อย่างที่สองคือแอปพลิเคชันเพื่อคาดการณ์วันไข่ตก (Ovulation) ซึ่งเป็นช่วงสองสามวันในแต่ละเดือนที่มีโอกาสตั้งครรภ์สูงสุด โดยภาระหนักจะตกอยู่ที่ภรรยาของผมที่ต้องคอยใส่ข้อมูลทั้งอารมณ์ อุณหภูมิหลังตื่นนอน วงจรประจำเดือน อาการปวดเกร็งต่างๆ เพื่อให้อัลกอริธึมประเมินว่าการมีเซ็กซ์วันไหนจะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูงสุด
ผ่านไปร่วมค่อนปีก็ยังไม่มีวี่แวว เราเริ่มท้อใจและคิดว่าจะไปปรึกษากับคุณหมอแผนกผู้มีบุตรยาก ซึ่งคุณหมอท่านก็แนะนำว่าให้ลองพยายามวิธีธรรมชาติให้ครบหนึ่งปีเสียก่อนค่อยมาคุยกัน แต่ในใจผมภาวนาลึกๆ ว่าอยากให้เป็นไปตามธรรมชาติ ทำไมน่ะหรอครับ? ก็เพราะกระบวนการทำกิ๊ฟ (Gamete Intra – Fallopian Transfer: GIFT) หรือ IVF (In Vitro Fertilization) ใช้ทุนทรัพย์ร่วมแสนแถมยังไม่การันตีว่าจะประสบผลสำเร็จเสียอีก
เราตั้งดีเดย์ไว้วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ว่าจะยกธงขาวและนัดพบคุณหมอ ก่อนหน้านั้นผมและภรรยาหยุดยาวช่วงสงกรานต์ เราใช้โอกาสนั้นไปเที่ยวตุรกี ตากแดดร้อนเปรี้ยงตะลุยเมืองโบราณเอฟิซุส (Ephesus) เมืองหลวงแห่งโลกตะวันออกของอาณาจักรโรมัน นั่งรถสมบุกสมบันชมหมู่หินหน้าตาแปลกประหลาดที่คัปปาโดเกีย (Cappadocia) แล้วมาชิมช็อปที่อิสตันบูล เราหอบของฝากพะรุงพะรังและร่างกายเหนื่อยอ่อนกลับกรุงเทพฯ
ไม่นานหลังจากถึงบ้าน ภรรยาของผมก็รู้สึกไม่สบายตัวซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวที่สมบุกสมบัน แต่หลังจากใช้ที่ตรวจการตั้งครรภ์ ในที่สุดเราก็ได้เห็นเส้นสีแดงลางๆ ที่เราเฝ้ารอมานาน มันเป็นสัญญาณว่าเราประสบความสำเร็จแบบไม่ต้องเสียสตางค์
เราไปตรวจอีกครั้งที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อความมั่นใจ ผลการอัลตร้าซาวด์เห็นจุดจิ๋วๆ ที่คุณหมอบอกว่านี่แหละคือลูกน้อยอายุสี่สัปดาห์ มันเป็นช่วงเวลาที่หลากอารมณ์ทั้งดีใจ เครียด ตื่นเต้น กังวล และอีกสารพัดถูกปั่นรวมกันในหน้าอก ผมรู้สึกตัวจากภวังค์อีกทีเมื่อคุณพยาบาลเรียกให้เราไปรับบัตรนัด นั่นเป็นครั้งแรกที่คนอื่นเรียกผมว่า ‘คุณพ่อ’