- เวลาที่คนเราเครียดมากๆ สมองจะตั้งโปรแกรมใหม่เพื่อรับมือกับความเครียด สารความสุขไม่หลั่งมา ทำให้เราต้องหาวิธีจัดการกับความเครียดไม่ให้ทำร้ายเรา
- แต่ถ้าความเครียดเกิดกับเด็กที่ประสบการณ์ยังน้อย ไม่รู้วิธีรับมือกับความเครียดหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง บางครั้งทำให้จัดการผิดพลาด นำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้
- ญา ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา อายุ 14 ปี เธอคิดวิธีแก้ไขปัญหานี้ด้วยการทำวิชาภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ หวังว่าวิชานี้จะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้และสามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้
โกรธ แล้วทำลายข้าวของ
ผิดหวัง แล้วทำร้ายตัวเอง
เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กต้องเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาจนเกิดเป็นความเครียดและไม่รู้ว่าจะจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร
ญา หรือ ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา วัย 14 ปี เธอทำงานช่วยเหลือเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้า บอกว่า ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ เด็กก็มีเรื่องเครียดเช่นกัน เด็กเครียดจากความคาดหวังของพ่อแม่ว่าต้องเรียนเก่ง เป็นเด็กกิจกรรม เป็นเด็กสมบูรณ์แบบ และด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อย ทำให้พวกเขาหาทางออกไม่เจอ ไม่รู้จะจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร เป็นต้นตอของความเครียดสะสมจนนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า และทำร้ายตัวเอง
วิชา ‘ภูมิคุ้มกันทางอารมณ์’ คือหนึ่งในความพยายามของเธอในการช่วยเหลือเพื่อนที่เผชิญกับภาวะนี้ ชวนทำความรู้จักกับ ญา และวิชาภูมิคุ้มกันทางอารมณ์กันค่ะ
ที่ปรึกษาโรคซึมเศร้า
ช่วงปีที่ผ่านมาถ้าใครได้ติดตามข่าววงการสุขภาพจะเจอกับข่าว ‘เด็กอายุ 14 ขอแก้พรบ.สุขภาพ’ ซึ่งคนๆ นั้นก็ คือ ญา เธอเริ่มทำงานช่วยเหลือเด็กที่ประสบปัญหาสุขภาพจิตขณะเธออายุ 12 ปี จุดเริ่มต้นเกิดจากเธอเคยช่วยเหลือเพื่อนที่เป็นโรคซึมเศร้าตอนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จึงอยากช่วยเหลือคนอื่นๆ ต่อไปอีก ปัจจุบันงานที่เธอทำคือ จัดอบรมให้ความรู้แก่เด็กๆ ในโรงเรียน และให้คำปรึกษาเด็กที่มีปัญหา
“เราเคยเห็นรอยแผลกรีดข้อมือของเพื่อน เราก็สงสัยว่าอาการกรีดข้อมือมันคืออะไร หาจากกูเกิลเจอว่าการกรีดข้อมือเป็นอาการของโรคซึมเศร้า
“เราได้ยินคำว่าโรคมาตั้งแต่เด็กแล้ว โรคไข้หวัดนู่นนี่นั่นที่ครูมาตรวจ เราเลยรู้สึกว่าโรคนี้มันหายได้เหมือนกัน ฉะนั้น เราเลยต้องพาเพื่อนไปหาหมอ คำถามต่อมาคือหมออะไร เราก็หาต่อว่าต้องพาเพื่อนไปที่ไหน มันมีสถาบันสุขภาพจิตที่เป็นของเด็กอยู่ที่รามา เราเลยคิดที่จะพาเพื่อนไป เรารู้สึกว่าการที่เขากรีดข้อมือเราก็ไม่รู้ว่าวันหน้าเขาจะตายไหม เราไม่อยากที่จะเสียเพื่อนคนนี้ไป เราเลยหาทางที่จะช่วยเขา”
ทว่าไม่เพียงนักเรียนเท่านั้น คนอื่นๆ ที่เคยร่วมงานกัน ก็พากันมาขอคำปรึกษาจากเธอ มีตั้งแต่เด็กประถมจนถึงนักศึกษามหาวิทยาลัย ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมพวกเขาจึงเลือกที่จะมาเล่าปัญหาและขอความช่วยเหลือจากคนอายุ 14 ปีอย่างญา เธอตอบว่า อาจเป็นเพราะเธอเป็นคนที่ฟังโดยไม่ตัดสิน แต่ช่วงแรกๆ ที่ให้คำปรึกษาก็เคยทำผิดพลาด เธอเลือกที่จะตอบพวกเขาหลังจากฟังปัญหาเสร็จว่า ‘ไม่เป็นไร สู้ๆ นะ’ สุดท้ายเพื่อนคนที่มาปรึกษาก็ไม่กลับมาคุยกับเธออีก ทำให้ญาตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่เธอทำมันควรหรือไม่
“พอเราได้กลับมาคุยกับเพื่อนคนนี้ เขาบอกว่าการที่แกบอกว่าสู้ๆ นะ เหมือนตัดประเด็น เหมือนไม่อยากคุย จบเลย สิ่งที่เขาต้องการคือคนที่รับฟัง คนที่บอกว่าเขาสามารถผ่านไปได้ สมมติเขายืนอยู่คนเดียวเราควรทำให้เขารู้ว่ามีเราอยู่ข้างๆ เขา”
“อย่างแรกเราจะปล่อยให้เขาพูดเลย เราจะรับฟังเขา ถ้าเรารู้สึกว่าเขามีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงก็จะแนะนำว่าไปหาหมอคนนี้ไหม เรารู้จัก แต่ถ้าเขายังไม่ได้เป็นถึงขั้นนั้น เราจะวิเคราะห์ไปแต่ละเรื่อง สมมติเขาโดนบูลลี่มา อะไรคือสิ่งที่ควรจะทำ เช่น โดนเพื่อนบูลลี่ทั้งห้อง เราอาจจะพักการเรียนไปสักพักไหม ถ้าพร้อมค่อยกลับมา
“บางคนเครียดมากไม่รู้จะไปแก้ตรงไหน เราจะพยายามหาจุดให้เขาคิดได้ เชื่อว่าคนอื่นแก้ปัญหาได้ไม่เท่ากับตัวเขาแก้ปัญหาเอง สมมติคนอื่นมาบอกเราให้เราจัดการอารมณ์มันก็ยาก แต่ถ้าเราหาวิธีจัดการอารมณ์ของตัวเองได้มันเป็นอะไรที่ใช้ได้ตลอดชีวิต”
ปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก
คนรุ่นเดียวกับญามีความเครียดอะไรบ้าง? คำตอบแรกที่ญาตอบกลับมาอย่างรวดเร็ว อันดับหนึ่ง คือพ่อแม่ เด็กส่วนใหญ่เกิดความเครียดจากการถูกกดดัน คาดหวังว่าต้องสมบูรณ์แบบ เรียนเก่ง กิจกรรมดี เมื่อเด็กทำไม่ได้ พ่อแม่ก็เกิดอาการผิดหวัง
“พอเด็กผิดหวังกลับมาไม่เจอคำแนะนำหรือให้กำลังใจ กลับบ้านมาเจอพ่อแม่ซ้ำอีกว่าทำไมทำไม่ได้ ทำไมไม่ตั้งใจ สำหรับเด็ก เราคิดว่าเราตั้งใจแล้วแต่มันไม่ได้ ไม่ว่าจะเรื่องการสอบการเรียน”
ปัญหาต่อมา คือ การบูลลี่ในโรงเรียน ซึ่งมีตั้งแต่อาจารย์ไปจนถึงเพื่อนด้วยกันเองที่เป็นผู้กระทำ ญายกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ครูโรงเรียนหนึ่งล้อเลียนเด็กว่าเป็นเงาะป่าหน้าเสาธง ทำให้เด็กคนนี้ถูกเพื่อนคนอื่นๆ ล้อเลียน เป็นการย้ำว่าเขาเป็นเงาะป่า เป็นคนที่ไม่สามารถอยู่ในโรงเรียนนี้ได้ ส่งผลกระทบต่อจิตใจทำให้ไม่กล้ามาโรงเรียน
เหตุการณ์พวกนี้ส่งผลกระทบกับจิตใจของเด็ก บางคนเก็บไว้กับตัว ไม่กล้าปรึกษาใคร นานวันไปความเศร้าความเครียดสะสมเรื่อยๆ ลงท้ายด้วยการหาทางออก คือ ฆ่าตัวตาย งานของญาจึงพยายามเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่มีอาการดังกล่าว เบื้องต้นเธอและทีมงานสภาเด็กจะไปลงพื้นที่โรงเรียนที่เป็นสีแดง เป็นโรงเรียนที่มีเหตุการณ์เด็กฆ่าตัวตาย งานของพวกเธอเข้าไปให้ความรู้ พร้อมกับสำรวจว่ามีใครที่กำลังประสบปัญหาเพื่อที่ให้ความช่วยเหลือ
“เริ่มจากกิจกรรมสันทนาการให้ความรู้ปัญหาสุขภาพจิต หลังจากนั้นเราจะให้นักเรียนหลับตาแล้วถามว่าใครรู้สึกเศร้า รู้สึกเครียดบ้างให้ยกมือขึ้น ก่อนจะค่อยๆ ไต่ระดับคำถาม จนสุดท้ายถามว่ามีใครเคยคิดทำร้ายตัวเองไหม
“ที่ให้หลับตาเพราะบางคนไม่กล้ายก เพื่อนไม่ยกเราก็ไม่ยก เราเลยให้หลับตายกมือ ให้ทีมงานจำว่าน้องคนไหนยกมือบ้าง วางแผนต่อทำ focus group ต่อ พอเรากลับมาอีกครั้งก็จะดึงเด็กกลุ่มนี้มานั่งวงคุยกัน ถามก่อนว่าสบายใจที่จะคุยกับคน 10 คนไหม ถ้าไม่ก็แยกไปคุยส่วนตัว บางคนอยากมีเพื่อนมานั่งด้วยก็อนุญาต จะเห็นว่าในเด็ก 10 คนมีใครสีแดงคิดฆ่าตัวตายแล้ว สีเหลืองเคยคิดแต่ไม่เคยทำ หรือสีเขียวมีภาวะที่จะเป็นแต่ยังอยากอยู่ในโลกนี้อยู่
“ถ้าเป็นสีแดงจะติดต่อครูเพื่อถามว่าพ่อแม่เขาเป็นใครเราจะพาน้องไปรักษา หรือว่าทิ้งคอนแทคน้องให้คุณหมอติดต่อคุยกับน้อง มันก็จะมีอีกหลายคนที่ไม่ยกมือ ไม่ได้ทำโฟกัสกลุ่มกับเรา เราก็จะทิ้งคอนแทคไว้ มีเด็กทักมาประมาณ 30-40 คน เพราะไม่กล้ายกมือ”
แต่ปัญหาเดิมๆ ยังคงกลับมา คือ เด็กไม่สามารถรับการรักษาได้ถ้าไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง ญาตัดสินใจแก้ไขปัญหานี้ด้วยการยื่นเรื่องขอแก้ไขพระราชบัญญัติสุขภาพจิต ให้เด็กสามารถเข้ารับการรักษาได้โดยไม่ต้องรับคำยินยอม
“จริงๆ ต้องเล่าก่อนว่าพ.ร.บ.นี้บอกว่า ในกรณีที่เด็กต้องเข้ารับการบำบัดรักษาต้องพาผู้ปกครองมาด้วย แต่ไม่ได้บอกว่าถ้าแค่ขอคำปรึกษาสามารถทำได้เลย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อหมออ่านพ.ร.บ.นี้เขาคิดว่าไม่สามารถให้ได้แม้แต่คำปรึกษากับเด็ก แล้วมันมีเรื่องเล่าในวงการว่าถ้าให้คำปรึกษาเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จะโดนพ่อแม่เขาฟ้อง หมอเลยพยายามบล็อกทุกทางไม่ให้เด็กเข้ามา
“ฉะนั้น ปัญหาหลักๆ ไม่ใช่พ.ร.บ แต่คือมายเซ็ตของคนที่ปฎิบัติงาน ทางกระทรวงจะช่วยเราได้ด้วยการส่งหนังสือเวียนไปตามโรงพยาบาลว่าหมอสามารถให้คำปรึกษาได้ไม่โดนฟ้อง แล้วถ้าหมอรู้สึกว่าให้ยาเด็กคนนี้ได้ไม่กระทบกับการเรียน หรือเรื่องอะไรหมอสามารถให้ไปเลย”
วิชาภูมิคุ้มกันทางอารมณ์
แม้ว่าจะแก้ไขให้เด็กสามารถเข้ารับคำปรึกษาจากคุณหมอได้โดยไม่ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง แต่นั่นเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุ คือ เด็กไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ แล้วมันจะดีกว่าไหมถ้าสอนเขาให้รู้วิธีจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง นี่จึงเป็นที่มาของวิชาภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ที่ญากำลังทำ
“ถ้าเราสามารถหยุดความเครียดของตัวเองไว้ได้ตั้งแต่ต้น ไม่ให้มันเตลิดไป มันก็จะหยุดโรคซึมเศร้าได้ เพราะซึมเศร้ามาจากการที่เราเครียดมากๆ แล้วสมองของเราไม่ได้สร้างมาเพื่อรับความเครียด แต่เพื่อหลั่งสารความสุข
“ฉะนั้น พอเครียดมากๆ สารเคมีในสมอง (ฮอร์โมนความเครียดในชื่อคอลติซอลและไซโตไคน์) จะเปลี่ยนเพื่อตั้งรับกับความเครียด* เมื่ออยู่ในสภาวะแบบนี้มากๆ ทำให้สมองจมอยู่กับสารแห่งความเครียดและสารความสุขไม่หลั่งมาแล้ว นี่เป็นต้นเหตุทางสมองของการเป็นซึมเศร้า ถ้าเราสอนให้เขาจัดการความเครียดตั้งแต่ต้น เขาจะสามารถรับมือกับความเครียดของตัวเองได้”
ญาเล่าว่า เธอได้ไอเดียวิชานี้ตอนที่หาวิชาเรียนสำหรับ homeschool แล้วเจอว่าที่ต่างประเทศมีการบรรจุวิชาภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ไว้ จึงเกิดความสนใจ และมีโอกาสได้คุยกับอาจารย์ที่จุฬาฯ ซึ่งกำลังทำหลักสูตร CBT** (Cognitive Behavioral Therapy) อยู่พอดี ทำให้ญาตัดสินใจคิดวิชาภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ขึ้นมา
“วิชาภูมิคุ้มกันทางอารมณ์เป็นวิชาที่สอนเรื่องระบบจัดการความคิด มันจะให้เราแยกความคิดเป็นส่วนๆ โดยให้เราจดความคิดทั้งหมดที่เกิดขึ้นในแต่ละวันไว้ เช่น มีเรื่องพ่อแม่-จด เรื่องเพื่อน-จด เสร็จแล้วเอากระดาษมาฉีก 1 ความคิด/1 ชิ้น แล้วก็นั่งแยกความคิดไหนดี ความคิดไหนไม่ดี เราจะรู้ว่าในแต่ละวันเราคิดอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ดีหรือไม่ดี ไปยังขั้นต่อไปที่ว่าจะจัดการยังไงไม่ให้เอาความคิดแบบนี้มาอยู่ในสมองเรา”
ส่วนหลักสูตร CBT ที่ญาไปศึกษานั้นเป็นเรื่องของจิตบำบัดเพื่อจัดการกับอารมณ์ในทางลบของมนุษย์ แต่หลักสูตรตัวนี้ใช้สอนในระดับมหาวิทยาลัย เธอเลยนำมาปรับผสมกับวิชาภูมิคุ้มทางอารมณ์ที่ไปศึกษาของต่างประเทศมา กลายเป็นเป็นวิชาภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ที่ใช้สอนในโรงเรียนไทย นักเรียนสามารถเข้าใจและทำตามได้ ญาเล่าให้ฟังคร่าวๆ ถึงโครงสร้างวิชา โดยจะเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา มี 5 บท คือ
- บทรู้จักอารมณ์ ให้ทำความเข้าใจว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง ใช้ตุ๊กตาเป็นสื่อการเรียนรู้แทนแต่ละอารมณ์ แล้วให้เด็กลองจดบันทึกว่าในแต่ละวันเขามีอารมณ์อะไรบ้าง บันทึกประมาณ 1 สัปดาห์ นำมาวิเคราะห์กับครูว่าตัวเองเป็นคนที่มีความสุขมากน้อยแค่ไหน
- บทแยกความคิด ให้เด็กเขียนว่าในแต่ละวันมีความคิดอะไรบ้างใส่กระดาษ จากนั้นฉีกแยกแต่ละความคิด เพื่อจะได้มองเห็นว่าในแต่ละวันเขามีความคิดที่ส่งผลดีหรือไม่ดีกับตัวเขาเอง
- บทจัดการกับอารมณ์ สอนวิธีรับมือกับอารมณ์ของตัวเอง ช่วยค้นหาวิธีที่เหมาะสมให้กับแต่ละคนเช่น บางคนโกรธต้องนับ 1 – 10 เพื่อลดอารมณ์ตัวเอง หรือบางคนถ้าเศร้าต้องระบายด้วยการคุยกับคนอื่น เป็นต้น
- บทรู้จักกับโรคที่เกิดขึ้นทางจิตใจ เช่น อาการไบโพลา อาการโฟเบีย
- บทจัดการกับการบูลลี่ เริ่มต้นด้วยไซเบอร์บูลลี่ด้วยแนวคิด STOP BLOCK TELL คือ หยุดที่ตัวคนถูกกระทำไม่ใช่หยุดที่คนกระทำ เพราะส่วนใหญ่คนที่บูลลี่ คือ คนที่เคยถูกบูลลี่มากก่อน เขารู้สึกว่าถ้าเขาโดนคนอื่นต้องโดนด้วย บล็อกเราไม่ให้ไปทำกับคนอื่นต่อ
“เวลาถูกบูลลี่ คนชอบบอกให้เก็บเอามาเป็นแรงผลักดันให้เราก้าวผ่านมันไปได้ แต่เราจะไม่สอนแบบนั้น เราจะสอนให้เขาจัดการกับมัน ถึงแม้มันจะอยู่ตรงหน้าเราแต่ไม่สามารถทำอะไรเราได้
“สมมติถูกบูลลี่ว่าเป็นลูกคนเก็บขยะ สังคมบอกต้องผลักดันตัวเอง ทำให้มากกว่าเป็นลูกคนเก็บขยะให้ได้ แล้วถ้าสมมติเขาอายุสามสิบยังทำงานเก็บขยะเหมือนที่พ่อแม่เขาทำ เขาอาจรู้สึกว่าชีวิตเขามันแย่ว่ะ เขาไปมากกว่านี้ไม่ได้ แต่สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นก็คือ ‘ลูกคนเก็บขยะแล้วไง?’ มันก็คืออาชีพหนึ่งซึ่งไม่ควรถูกบูลลี่ ฉะนั้น เราจะไม่สอนให้เขาเก็บเอามาเป็นแรงผลักดัน แต่จะทำให้มันไม่มีผลอะไรกับเขา ไม่สามารถทำอะไรเขาได้”
ซึ่งไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นที่เรียนรู้ ผู้ปกครองและครูก็ต้องมีส่วนร่วมด้วย ญาบอกว่าหลักสูตรของเธอจะครอบคลุมไปถึงครูและพ่อแม่ โดยครูที่สอนวิชานี้จะต้องมีความรู้โดยเฉพาะ ซึ่งจะมีหลักสูตรสอนครูโดยตรง ส่วนพ่อแม่เองควรเข้าใจจะได้ปฎิบัติกับลูกได้เหมาะสม
“เราจะให้ครูเรียนก่อนจบมาเป็นครู เพราะเราเห็นว่าหลักสูตรครูแทบไม่มีเรื่องจิตวิทยาเด็กเลย ครูต้องอยู่กับเด็ก วิชานี้จะเกี่ยวข้องเหมือนของเด็ก เราต้องสอนให้ครูควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน เวลาครูปรี๊ดแตกเด็กก็ไม่เข้าใจว่าทำไมครูต้องเป็นแบบนี้ สอนให้ครูควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน
“สามารถสังเกตได้ว่าเด็กคนไหนเป็นซึมเศร้า ถ้ามีเด็กมาปรึกษาต้องให้คำแนะนำยังไง ปัญหาที่เจอคือครูอยากช่วยเด็กแต่ไม่รู้วิธี เวลาเด็กมาปรึกษาครูจะคิดว่าปัญหามาจากพ่อแม่ ฉะนั้น ให้เด็กกลับไปคุยกับพ่อแม่ ซึ่งครูคิดว่าเป็นคำแนะนำที่ดีที่สุดแล้วแต่กลายเป็นว่าเด็กรู้สึกครูไม่เข้าใจเอาซะเลย สอนให้ครูรับฟังเป็น ให้คำปรึกษาเป็น ส่องเคสเป็น ครูสามารถโทรหาหมอได้ตลอดเวลาเพื่อที่จะส่งเด็กไปรักษาได้ ครูดีลกับพ่อแม่ยังไงเพื่อจะพาลูกไปรักษา”
ปัจจุบันวิชาภูมิคุ้มกันทางอารมณ์กำลังรอให้กระทรวงศึกษาพิจารณาเพื่อนำไปพัฒนาต่อเป็นวิชาที่ใช้สอนในโรงเรียนทั้งหมด แต่ญาวางแผนว่า อยากให้ปรับลดวิชาเรียนก่อน เธอมองว่าถ้าเพิ่มหลักสูตรนี้เข้าไปมันอาจจะไม่ได้ให้ประโยชน์มาก เพราะเด็กต้องเรียนวันละ 8 – 9 คาบต่อวัน พวกเขาเองรู้สึกเหนื่อย อาจต้องลดวิชาลงแล้วใส่วิชานี้เพิ่มเข้าไป ทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายแล้วเขาจะตอบรับวิชานี้
ทัศนคติของสังคมไทยต่อปัญหาสุขภาพจิต
ด้วยเพราะมีความสนใจงานด้านนี้ นอกจากงานที่ทำญายังมีความฝันอย่างอื่นอีก เธออยากเป็นหมอรักษาเด็กและเป็นนักจิตบำบัด เป้าหมายต่อไปของญานอกจากทำวิชาภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ คือ สร้างคลินิกจิตเวชหรือพื้นที่ให้คนที่มีปัญหาได้เข้ามาปรึกษา รับคำแนะนำ อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่า เป็นสิ่งที่ทำได้ยากเพราะทัศนคติของสังคมที่มองว่า คนที่เข้าคลินิกพวกนี้เป็นโรคทางจิต หรือ การเป็นโรคซึมเศร้าเท่ากับเป็นคนบ้า ทั้งๆ ที่เขาอาจจะแค่มีปัญหาที่ต้องการการปรึกษา งานของญาจึงไม่ใช่แค่ช่วยคนป่วย แต่พยายามปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมด้วย
“การเปลี่ยนทัศนคติมันต้องเปลี่ยนเป็น cast by cast เราต้องได้เจอคนๆ นั้นบ่อยๆ พ่อแม่เรา พ่อแม่เพื่อนเรา ครูที่รู้จัก เจ้าหน้าที่ เราสามารถคุยได้ ค่อยๆ ให้ความรู้ที่ละนิด น้ำหยดลงหินทุกวัน มันก็คือวิชาภูมิคุ้มกันที่หวังให้เปลี่ยนสังคม อาจจะเปลี่ยนคนเจนเก่าไม่ได้ แต่เราเชื่อว่าเมื่อวิชานี้เผยแพร่ออกไป เด็กที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตเขาจะเข้าใจเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น
“ถึงคุณจะไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า ก็เข้าใจคนที่เป็นได้ ไม่จำเป็นว่าเราต้องเศร้า การเข้าใจ คือ ทุกคนเครียดได้ ทุกคนเจอปัญหาได้ แล้วถ้าวันหนึ่งเขาเจอปัญหาที่ทำให้เขาจะฆ่าตัวตาย หน้าที่ของเราคือดึงเขากลับมา ไม่ใช่ถีบเขาลงไป”
พื้นที่การทำงานของเด็ก
ญาเริ่มต้นทำงานตอนอายุ 12 ปี ตอนนี้เธออายุ 14 ปีแล้ว ปัญหาที่เจอระหว่างทางการทำงาน คือ ทัศนคติของผู้ใหญ่ที่มองว่าเธอเป็นแค่เด็ก ทำให้บางครั้งไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร
“ไปทำงานเจอผู้ใหญ่อายุ 40-50 ปี เขายังมองว่าเราเป็นเด็ก ไม่ค่อยจะรับฟังความคิดของเราสักเท่าไร สิ่งที่เราทำคือ สู้ ไม่หมดกำลังใจ คำว่าเด็กมันหมายถึงอายุ แต่ไม่สามารถตัดสินความคิดของเราได้ บางคนอายุ 12 แต่ความคิดคือมีวุฒิภาวะไปแล้ว หนูคิดว่าวุฒิภาวะไม่ควรตัดสินที่อายุ
“ยอมรับว่าเราเป็นเด็ก แต่ไม่ได้หมายความว่าความคิดเราจะเด็กเสมอไป หรือถึงแม้มันจะเป็นความคิดของเด็กหรือของผู้ใหญ่เอง ก็ควรได้รับการให้เกียรติเท่าเทียมกัน เขาควรจะรับฟังเรา เด็กกล้าอย่างเดียวไม่ได้ ผู้ใหญ่ต้องให้พื้นที่ ส่วนใหญ่เด็กไม่กล้าออกมาทำงานเพื่อคนอื่นเพราะมายเซ็ตของผู้ใหญ่ที่ตัดสินว่า เด็กคือเด็ก ทำให้เด็กจะคิดว่า ‘เออ เราก็เด็กจริงๆ เราไม่ควรไปทำอะไรพวกนี้’
“คนทุกเพศทุกวัยสามารถออกมาทำงานเพื่อคนอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นโรคซึมเศร้าก็สามารถทำได้ อย่าดูถูกความคิดตัวเอง สิ่งเล็กๆ ก็สามารถเปลี่ยนได้ แม่ญาบอกเสมอว่าไม่ว่าคิดทำอะไรให้คิดว่าทำสำเร็จไว้ก่อน” ญากล่าวทิ้งท้าย
*สมองถูกตั้งโปรแกรมให้ไวต่อความเครียด : โดยปกติแล้วเมื่อคนเราเข้าสู่ภาวะเครียด จะเกิดการปรับตัวทางสมองครั้งใหญ่เพื่อต่อสู้และคลี่คลายกับความเครียดนั้นได้เอง แต่หากเครียดมากๆ เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดสมองมีภาวะตึงเครียดอย่างไม่เคยได้พัก ความเครียดที่ว่าจะส่งสัญญาณไปเปลี่ยนแปลงการทำงานสมอง เช่น … การปรับลดเนื้อเยื่อสมองสีเทา หรือ เมื่อเซลล์ประสาทถูกทำลายมากเกินไป มันเชื่อมต่อกับกลไกสมองเรื่องความทรงจำ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของฮิปโปแคมปัสเรื่องความทรงจำ, คอร์ปัส-แคลลอสซัม และ สมองส่วนหน้า – ทั้งหมดนี้มีผลต่อความสามารถในการคิด ตัดสินใจ สมาธิ และการควบคุมอารมณ์ และที่บอกว่าสมองอาจตั้งโปรแกรมใหม่ให้ไวต่อความเครียดคือ แกนตอบสนองความเครียด HPA (ไฮโปธาลามัส-ต่อมใต้สมอง-ต่อมหมวกไต) ถูกตั้งโปรแกรมให้เร่งผลิตฮอร์โมนความเครียดในชื่อคอลติซอลและไซโตไคน์ ภาวะนี้หมายถึงสมองถูกตั้งโปรแกรมให้เราตอบสนองต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งด้วยความเครียดได้ง่ายและคลี่คลายยาก นี่เป็นคำตอบว่าทำไมบางคนจึงหลุดจากภาวะเครียดหรือเอาตัวเองออกจากความคิดด้านลบได้ยากโดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและจิตเภทบางประเภท นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยสมัยใหม่บอกว่ามันส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วย **CBT ย่อมาจาก Cognitive Behavioral Therapy เป็นจิตบำบัด (psychotherapy) ชนิดหนึ่งที่มีเป้าหมายเพื่อจัดการกับอารมณ์ในทางลบของมนุษย์ (เช่นเศร้า กังวล โกรธ ฯลฯ) ด้วยการปรับเปลี่ยนความคิด (cognitive) และพฤติกรรม (behavioral) การบำบัดมีลักษณะเน้นที่ปัจจุบัน เจาะจงปัญหาที่ชัดเจน มีการกำหนดเป้าหมายในการบำบัดอย่างเป็นรูปธรรม เน้นความร่วมมือของผู้รับการบำบัดเพื่อนำไปสู่การฝึกฝนทักษะในการจัดการกับปัญหาของตนเองให้ได้ดียิ่งขึ้น ที่มา Chula CBT |