- การบ้านจากกิจกรรมรักการอ่านส่วนใหญ่คือให้นักเรียนสรุปประเด็นของหนังสือที่อ่าน แต่คลาสนี้กลับเสนอให้นักเรียน ‘เป็นที่ปรึกษาของตัวละคร’ ที่พวกเขาเพิ่งอ่านจบ
- จุดประสงค์ไม่ใช่ปริมาณหนังสือ แต่คือเครื่องมือช่วยให้นักเรียนชำระบาดแผลความทุกข์เศร้าในชีวิต โดยไม่จำเป็นต้อง ‘เล่า’ แต่ขยับเป็น ‘ที่ปรึกษา’ แทน
- เข้าใจโลกภายในของคนอื่น รู้จักความแตกต่าง มีความยืดหยุ่นและเห็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน คือคุณสมบัติที่อยากสร้างให้กับนักจิตบำบัดตัวน้อย
คุณูปการอันทรงพลังของนิยาย คือการพาผู้อ่านไปเข้าใจโลกภายในหลายใบของตัวละคร แม้ไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนั้น ไม่เห็นด้วย ไม่รัก แต่อาจเข้าใจ จะเป็นอย่างไรถ้าไม่ใช่แค่การอ่าน แต่ให้เด็กๆ เป็น ‘ที่ปรึกษาของตัวละคร’ จำลองตัวเองเป็น ‘นักจิตบำบัด’ ของตัวละครที่เพิ่งค้นพบ แล้วอธิบายว่าทำไมพวกเขาจึงคิดหรือทำแบบนั้น
นี่คือวิธีคิดและนำไปใช้จริงในห้องเรียนของ โรเบิร์ต วาร์ด (Robert Ward) นักการศึกษาและนักเขียน ด้วยความคิดตั้งต้น 2 อย่าง
1. เพื่อช่วยให้เด็กสะท้อนเรื่องราวโหดร้ายหรือเจ็บปวดของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้อง ‘เล่า’ ให้ครูฟัง แต่ผ่านการให้คำปรึกษาต่อตัวละคร
2. กับเด็กที่ไม่ได้มีประสบการณ์เลวร้ายโดยตรง วิธีนี้จะช่วยถ่างใจให้กว้าง เข้าใจคอนเซ็ปต์ความแตกต่าง พร้อมจะเข้าอกเข้าใจ (empathy) ผู้อื่น หรือเตรียมความพร้อมกับตัวเองหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในอนาคต
เขาอธิบายที่มาที่ไปและแรงบันดาลใจการสอนรูปแบบนี้ไว้ในบทความเรื่อง ‘Life Lessons From Fictional Characters’ (วิชาชีวิตจากตัวละครในนิยาย) ไว้ว่า ประสบการณ์จากการสอนทำให้เห็นว่านักเรียนแต่ละคนมีบาดแผลของตัวเองและมันย่อมสร้างผลกระทบต่อการเติบโตของพวกเขา
วาร์ดต่อยอดห้องเรียนจากแนวคิดนี้รวมกับโมเดลเรื่องสิ่งที่ได้จากการอ่านนิยาย โดยเสนอให้เด็กๆ เป็น ‘ที่ปรึกษาของตัวละครในนิยาย’ ให้พวกเขาทดลองเป็นผู้ให้คำปรึกษาและนำพาตัวละครให้ผ่านความเจ็บปวดนั้น
“เมื่อเขาอยู่ในฐานะนักจิตบำบัดของตัวละครในนิยาย นักเรียนที่มีบาดแผลไม่ว่าจากเรื่องอะไร พวกเขาจะค้นหาความเกี่ยวข้องระหว่างตัวเองกับตัวละครและให้คำแนะนำที่ใช้ได้จริงกับตัวละครได้ แม้ว่าความเจ็บปวดของตัวละครนั้นอาจไม่ใกล้เคียงกับชีวิตของพวกเขาเลย
“สำหรับเด็กๆ ที่ไม่ได้มีปัญหาอะไรในชีวิตขนาดนั้น การให้คำแนะนำกับตัวละครยังสร้างทักษะการให้คำปรึกษาต่อคนอื่นด้วยความเข้าใจ ในเวลาที่คนอื่นต้องการความช่วยเหลือ” วาร์ดอธิบาย
วิธีสร้าง ‘ที่ปรึกษาของตัวละคร’
วิธีการคือ ให้เด็กๆ ‘เขียนบทสนทนา’ ระหว่างพวกเขากับตัวละคร ขั้นแรกให้นักเรียนเลือกเวลาหรือสถานการณ์ที่ตัวละครนั้นๆ กำลังอยู่ในช่วงเวลาเคร่งเครียด แต่วิธีการที่พวกเขาจะระบายความเครียดคืออะไร จุดนี้ให้นักเรียนเป็นคนกำหนดขึ้นมาเอง ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นการกระทำบนฐานของตัวละครนั้นๆ และต้องสมจริง
อย่างไรก็ตาม เด็กๆ กำหนดเพิ่มเติมได้ว่าข้อจำกัดหรือบริบทในสถานการณ์นั้นคืออะไร เพียงแต่ต้องมีสัญลักษณ์หรือเปรย (hint) ไว้ในนิยายเรื่องนั้นจริงๆ ด้วย
ในการเขียนบทสนทนา วาร์ดให้เด็กๆ ปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้
พูดความจริง: นักเรียนต้องอนุญาตให้ตัวละครได้ระบายความอึดอัดคับข้อง และทำให้ตัวละครรู้สึกสบายใจที่จะเข้าอกเข้าใจสถานการณ์นั้น โดยให้ตัวละครได้อธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาบ้าง ขั้นตอนนี้ทำให้เด็กๆ รับมือกับประเด็นที่ซับซ้อนโดยเฉพาะเรื่องของอารมณ์และความเคร่งเครียด มากกว่าให้เด็กๆ ‘สรุป’ ว่านิยายเรื่องนี้มีใจความว่าอะไร
ทำความรู้จักอารมณ์: นักเรียนต้องขอให้ตัวละครนั้นๆ อธิบายว่า สิ่งที่ติดอยู่หัว หรืออะไรคืออารมณ์ที่คั่งค้างอยู่ในใจของตัวละครนั้นจนสลัดไม่หลุด และขอให้นักเรียนพูดคุยกับตัวละครนั้นให้เข้าใจว่าความรู้สึกดังกล่าวมีอิทธิพลต่อตัวละครอย่างไร วิธีการนี้จะช่วยให้นักเรียนขยับจากความเข้าใจไปเป็น ‘อนุมาน’ ถึงสิ่งที่อยู่ในใจและไม่อาจอธิบายออกมาได้
วิเคราะห์การกระทำ: นักเรียนต้องช่วยให้ตัวละครเห็นว่าการกระทำของพวกเขาเป็นผลจากความรู้สึกที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การกระทำของตัวละครอาจทำให้สถานการณ์นั้นแย่ลงหรือกระทบต่อคนอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยก็ได้ ขั้นตอนนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจความเชื่อมโยงของเหตุการณ์หนึ่งสู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง
ก้าวต่อไป: นักเรียนต้องช่วยให้ตัวละครเข้าใจเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างเข้าอกเข้าใจ ให้กำลังใจตัวละครเหล่านั้นสู่การให้อภัยและนำไปสู่การเริ่มต้นใหม่ได้สำเร็จ ขั้นตอนนี้ นักเรียนจะมีทักษะการแก้ปัญหาหรือคิดหาทางแก้ไขให้กับตัวละครนั้นๆ ได้นำไปพิจารณา
วาร์ดถอดบทเรียนของคลาสนี้ว่า นอกจากจะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เลือกตัวละครที่เขาอยากพูดคุยทำความเข้าใจ และได้พัฒนาทักษะเรื่องความฉลาดทางอารมณ์หรือ EQ แล้ว ยังทำให้พวกเขาเข้าใจความรู้สึกของการเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น และเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของผู้คน ส่วนประเด็นของการชำระเรื่องราวภายในของตัวนักเรียน แม้ว่าไม่ได้เปิดเผยโดยตรง แต่มันย่อมปรากฏอยู่ในบทสนทนาระหว่างตัวนักเรียนและตัวละครที่พวกเขาคุยด้วยโดยอัตโนมัติ
ส่วนเคล็ดลับของการเป็นนักบำบัด ซึ่งคุณครูอาจนำไปลองใช้กับนักเรียนเอง หรือแนะให้นักเรียนใส่ไว้ในบทสนทนาระหว่างพวกเขากับตัวละคร มีเทคนิคดังนี้
บทสนทนาเปิด: “ฉันอยากรับฟัง ช่วยเล่าเรื่องของคุณให้ฟังหน่อยได้มั้ยคะ?”
ดำเนินบทสนทนา: “ฉันอยากเข้าใจเรื่องตรงนี้จัง ช่วยอธิบายจุดนี้เพิ่มเติมหน่อยได้มั้ยคะ”
ยื่นความช่วยเหลือ: “ฉันตั้งใจอยากจะช่วยเหลือจริงๆ เรากลับมาพูดคุยประเด็นนี้กันอีกสักครั้งได้มั้ยคะ?” หรือ “ฉันอยากจะให้กำลังใจคุณในประเด็นนี้ค่ะ”
ช่วยสะท้อนกลับ: “สิ่งที่ฉันเข้าใจก็คือ…” หรือ “คุณกำลังรู้สึก… รึเปล่าคะ?”