- เด็กไทยไม่ได้ไม่เก่งภาษาอังกฤษแต่ด้วยบริบทหรือทัศนคติทางสังคมปิดกั้น ไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงออกหรือโชว์ศักยภาพด้านนั้นออกมา
- วิธีสอนภาษาอังกฤษที่ไม่ดึงดูดให้เด็กสนใจเป็นส่วนหนึ่งทำให้เด็กปิดประตูใส่ตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่ม แต่วิชาการไม่จำเป็นต้องทำให้ไกลตัว แต่ทำให้สนุกและเป็นเรื่องใกล้ตัวได้เพียงเปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการสอน
- อย่าทำลายความฝัน ความพยายามหรือความตั้งใจของเด็กๆ ที่อยากเก่งภาษาอังกฤษด้วยการตำหนิหรือชี้ว่า ‘ผิด’ แต่ส่งเสริมให้เขากล้าพูด มีความมั่นใจในตัวเอง จากนั้นจึงแนะนำให้เขาเห็นว่าควรปรับปรุงตรงจุดไหนแทน
‘ภาษาดีมีชัยไปกว่าครึ่ง’ คือประโยคที่คนชอบพูดกัน (ซึ่งเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใคร) ปฏิเสธไม่ได้ ซ้ำยังได้แต่พยักหน้าอย่างเห็นด้วยเป็นสิบทีว่าจริงแสนจริง เมื่อโลกทุกวันนี้หมุนเปลี่ยนรวดเร็ว เหวี่ยงแรงเสียจนหากเกาะไม่ดีอาจหลุดจากขบวนแน่
อย่าว่าแต่ภาษาที่สองหรือสาม แต่การเรียนภาษาของเด็กๆ ทุกวันนี้ไกลไปถึงภาษาที่สี่หรือห้า อย่างไรก็ดี หากมองรอบๆ ตัวแล้ว พื้นที่สำหรับการเรียนรู้ แสดงศักยภาพทางภาษา หรือสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมและเกื้อหนุนให้ได้ใช้ภาษาของเรามีมากแค่ไหน? น่าเศร้ากว่านั้น กำแพงหรืออุปสรรคขวางกั้นยังมีเต็มไปหมด โดยเฉพาะทัศนคติทางสังคมบางอย่างที่กดทับให้พวกเขา (ผู้ที่อยากพัฒนาภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่) ไม่กล้าแสดงออกมา
“เราควรเลือกเองว่าจะให้อะไรดังอยู่ในหัวเรามากกว่ากัน ระหว่างเป้าหมายของเรากับเสียงของคนอื่น ถ้าเราต้องเสียความมั่นใจเพราะคำพูดคนอื่น เราก็อาจไม่ต้องฟังเสียงนั้น เพราะถ้าเสียงความฝันเรามันดังกว่า เดี๋ยวเสียงคนรอบข้างก็หายไปเอง”
คือคำตอบของ นุ่น-ณัชชานันท์ เลียงอรุณวงศ์ พิธีกรและดีเจมากความสามารถ หรือที่หลายๆ คนรู้จักใน English AfterNoonz เจ้าของเพจเฟซบุ๊คและแอคเคาท์ทวิตเตอร์สอนภาษาอังกฤษที่มีจำนวนผู้ติดตามมากถึงหนึ่งล้านคน
The Potential ชวนคุณนุ่นพูดถึงปริศนาที่หาคำตอบไม่ได้ ทำไมเด็กไทยหลายคนขี้เขิน ไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษ หรือเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนตั้งหลายปีแต่ก็ยังพูดอย่างฉะฉานไม่ได้ คำตอบของเธอสวนทางกับคำถามตั้งต้นนั้น เพราะเธอเห็นว่า ‘ไม่ใช่ว่าเด็กไทยไม่พูดภาษาอังกฤษ เพียงแต่พวกเขาแค่ไม่กล้า’ ทั้งเธอยังปลุกเร้าให้ทุกคนรู้สึกกล้าที่จะพูดด้วยสโลแกน
‘ผิดก่อน ความถูกต้องจะตามมาเอง’
“เราอยากให้เด็กทุกคนรู้ว่าก่อนจะเก่งได้ ก็ต้องผิดพลาดมาก่อนทั้งนั้น นุ่นอยากให้ทุกคนกล้าออกมาทำ ต่อให้ผิด เราก็จะได้สิ่งนั้นเป็นบทเรียนแทน จำก็จำจริงๆ อายก็อายจริงๆ แล้วจะไม่เป็นอีก”
แต่ก่อนจะไปว่ากันเรื่อง ‘เปลี่ยนมุมในการมองภาษาอังกฤษ’ กับครูนุ่น เธอสรุปเคล็ดลับง่ายๆ ในการเรียนให้ฟังก่อนดังนี้
เคล็ดลับภาษาอังกฤษง่ายๆ กับครูนุ่น
- ‘See things in English’ มองทุกอย่างให้เป็นภาษาอังกฤษ ปรับวิธีคิดหรือมุมมองต่างๆ ให้เป็นภาษาอังกฤษ เช่น คิดแคปชั่นรูปในอินสตาแกรมเป็นภาษาอังกฤษหรือบ่นว่ารถติดเป็นภาษาอังกฤษในทวิตเตอร์ ไม่ต้องกลัวว่าไร้สาระหากสิ่งเหล่านั้นทำให้เราพัฒนาตัวเองได้
- ‘Repeat after me’ ฝึกออกเสียงซ้ำอย่างต่ำสองครั้ง เคล็บลับสำเนียงสวยๆ ของนุ่นคือ เวลาดูหนัง ฟังเพลงหรือได้ยินประโยคภาษาอังกฤษอะไรให้ขยับปากพูดตามเหมือน copy paste ขยับปากให้เหมือน ไม่ต้องกลัวเรื่องแกรมม่าเพราะเดี๋ยวมันจะค่อยๆ เข้ามาเอง
- ‘Don’t be hard on yourself’ ไม่สนุกอย่าฝืน รู้จักตัวเองก่อนเริ่มเรียนรู้ เพราะถ้ารู้สึกว่าไม่สนุกหรือไม่ชอบ ไม่ว่าจะเรียนหนักแค่ไหนร่างกายก็ไม่จำ
ตั้งต้นจากวัยเด็ก รู้สึกอย่างไรกับภาษาอังกฤษ
เท่าที่จำได้ ตอนอนุบาล จำได้แม่นเลยว่าอายมาก (ลากเสียงยาว) ครูให้เราท่องศัพท์คำว่า ‘orange’ ซึ่งเราท่องไม่ได้ ครูก็ทำโทษให้เรายืนบนเก้าอี้แล้วกางแขน ตอนนั้นคืออายแบบอายมาก เกลียดภาษาอังกฤษเลย ไม่ชอบ แต่เป็นการไม่ชอบแค่ช่วงเดียว พอขึ้นชั้นประถม โรงเรียนก็เริ่มมีครูฝรั่งมาสอนวิชาภาษาอังกฤษสัปดาห์ละครั้ง เราก็ได้เรียนกับเพื่อนที่เป็นฝรั่ง ผมทอง ตาฟ้า ซึ่งเป็นลูกอาจารย์ เราเกิดความสงสัยว่าทำไมเขาไม่เหมือนเรา พูดไทยไม่ชัด เรารู้สึกว่าแปลก แบบ… โลกนี้ไม่ได้มีแค่เรา แต่มีคนที่พูดไม่เหมือนกับเราด้วย
ความอายในครั้งนั้นหายไปตอนไหน?
ยังรู้สึกอายบ้างแต่ไม่ใช่ความรู้สึกเชิงลบ เป็นความรู้สึกแปลกแบบสงสัยมากกว่า จริงๆ ต้องยกเครดิตความสามารถทางภาษาอังกฤษของเราให้พ่อ (นาวาโทไชยนันต์ พีระณรงค์) นะ เพราะพ่อเราทำงานกับ UN จะมีเพื่อนฝรั่งเยอะ แล้วเพื่อนพ่อแต่ละคนก็มีลูกอายุไล่เลี่ยกัน
วิธีการสอนภาษาอังกฤษของพ่อเราคือไม่สอน คือไม่สอนจริงๆ ทิ้งให้เราไปอยู่กับลูกๆ ของเพื่อนพ่อทั้งวัน กลายเป็นว่าเราต้องเอาตัวรอดด้วยคลังคำศัพท์เท่าที่เด็ก ป.1 มี ‘I have a dog’ ‘Do you have a pencil?’ แค่นี้ แต่ได้พูดทั้งวันทำให้เราเป็นเด็กกล้า แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ทำคือถูกต้องทั้งหมดนะคะ
ตอนนั้นด้วยความที่ยังเด็กยังพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ ก็ใช้วิธีเอาตัวรอดคือ เอากระดาษมาวาดรูป หรือไม่ก็ชี้ๆ ตอนนั้นความรู้สึกของเราคือ ภาษาอังกฤษคือสกิลเอาตัวรอด อาจเป็นความโชคดีในก้าวแรกที่ไม่ได้ถูกสอนให้กลัวฝรั่ง ที่เหลือคือผิดเอง เรียนรู้เองหมดเลย
จุดที่ทำให้หันมาสนใจภาษาอังกฤษอีกครั้งคืออะไร
ประมาณ ป.1-2 ตอนนั้นหนังเรื่องไททานิคเข้า จำได้ว่าไปดู 7 รอบ เพราะชอบมาก ตอนนั้นเราสงสัยว่าทำไมฝรั่งถึงออกเสียงคำว่า ‘I love you’ ไม่เห็นเหมือนที่ครูสอนเราเลย กลายเป็นจุดเริ่มต้นว่าที่ผ่านมาเราพูดไม่เหมือนฝรั่งหรือเจ้าของภาษาเพราะเรายังคิดแบบไทย เรียนแบบไทย อ่านออกเสียงโดยเอาพยัญชนะไทยมาใส่ ไม่ได้คิดแบบฝรั่ง หลังจากนั้นคือเปลี่ยนเลย
จากประสบการณ์นั้นทำให้เราสนใจเรียนภาษาอังกฤษนอกห้องเรียนแทน เรียนในห้องก็ยังเรียนอยู่ แต่เรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย อย่างเวลาดูหนังหรือฟังเพลง เราจะกดหยุด (pause) แล้วขยับปากพูดตามเขา แล้วเรื่องไวยากรณ์มันจะค่อยๆ เข้ามาเอง
วิธีเรียนภาษาอังกฤษของคุณนุ่นเป็นแบบไหน
สำหรับนุ่น เราไม่สามารถเรียนได้ทุกอย่างในวันเดียว จะเอา listening, speaking, reading หรือ writing วันเดียวไม่น่าได้ เราจะเรียนสกิลละวันแทน ตัวอย่างเช่น วันนี้อยากฝึกพูด ก็พูดเลย ไม่ต้องสนแกรมม่า ไม่ต้องใสใจ พูดไว้ก่อน อย่างวันนี้ขึ้นลิฟต์ได้ยินว่า ‘sorry to keep you waiting’ ก็พูดตาม (ออกเสียงพูดตาม) ออกเสียงจนกว่าจะเหมือนเขา
วันพรุ่งนี้เรียนแกรมม่า เมื่อวานได้ยินว่าอะไรนะ ‘sorry to keep’ อ๋อ keep ตามด้วย verb + ing จะมา sorry to keep you wait ไม่ได้ แล้วเอาที่ได้ยิน ได้รู้กลับมาใช้ให้ตรงกับบริบทที่เพิ่งเกิดขึ้นของตัวเอง สำหรับเรา ไม่มีประโยคภาษาอังกฤษไหนถูกใจเท่าเราได้พูดเองหรอก แล้วเราก็จะจำ
คุณไม่เคยไปเรียนภาษาอังกฤษที่ต่างประเทศเลย แต่ทำอย่างไรให้สำเนียงภาษาอังกฤษชัดเจนขนาดนี้
ตอนแรกก็สำเนียงไทยนี่ล่ะ ก็เราเรียนที่ไทย โตที่ไทยเนอะ หลังๆ ความอยากพูดได้ก็ทำให้เราเริ่มฝึกจนสำเนียงไปฝั่งอเมริกัน จนใกล้จะเรียนจบขึ้นปี 3 มาฝึกงานที่ช่องสาม สายข่าวต่างประเทศ ได้ยินช่อง BBC เราก็ชอบเลย อยากพูดได้ สำเนียงสวยจัง ตอนนั้นก็เริ่มเลย copy paste เขาพูดว่าอะไรเราพูดสองรอบ อย่าง ‘Can I have a bottle of water? (สำเนียงอเมริกัน)’ ไม่ๆ เอาใหม่ๆ ‘Can I have a bottle of water? (สำเนียงอังกฤษ)’ เหมือนคนบ้าเลยตอนนั้น (หัวเราะ) จนมารู้สึกตัวอีกทีคือมีฝรั่งพูดกับเราว่า ‘Your sound so British’
ความอยากได้มันแรงกว่าแพชชั่นนะคะ อยากพูดสำเนียงแบบนี้ได้ ฝึกทุกวันจนพัฒนามาเป็นตอนนี้ พูดตรงๆ ก็คิดว่าเรายังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์หรอก เพราะเราเองก็เป็นคนไทย มันจะมีบางอย่างหลุดๆ ออกมา ซึ่งไม่ได้กังวลนะเพราะสำเนียงภาษาอังกฤษแต่ละชาติก็มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองแตกต่างกันออกไป
ไม่ไปเรียนภาษาที่ต่างประเทศ เสียเปรียบคนที่ไปเรียนกับเจ้าของภาษาไหม?
มองว่าเป็นความท้าทายแทน สนุกดีนะ ทำอย่างไรให้เราได้เท่ากับคนที่มีโอกาสไป สำหรับนุ่นคือ ใจที่อยากพูดภาษาอังกฤษต่างหาก แล้วทุกอย่างจะมาเอง เพราะสิ่งรอบตัวไม่ใช่ข้อจำกัดในการพัฒนาตัวเอง ถ้ามีโอกาสไปเรียนเมืองนอก ไปแลกเปลี่ยนก็สนับสนุนไปเถอะแต่สมมุติใครที่ไม่มีโอกาสขนาดนั้นอย่าไปคิดว่าคือข้อจำกัด ถ้าคิดว่าเราจะเก่งภาษาอังกฤษแล้วต้องไปเรียนเมืองนอกอย่างเดียว เราว่าไม่จริง ทุกอย่างอยู่รอบตัว แค่ตื่นเช้ามากดปิดนาฬิกาปลุกในโทรศัพท์คือคำว่า ‘snooze’ (งีบหลับ) ถามว่าแปลว่าอะไร? แปลว่าของีบแป๊บนึงใช่ไหม? หลายคนยังไม่รู้เลยว่าคำนี้จริงๆ แปลว่าอะไร แต่รู้ว่าคืออะไร
สโลแกนของนุ่นเลยคือ ‘See things in English’ อย่างเล่นเฟซบุ๊คจะลงรูปคิดแคปชั่นว่าไรดี เราก็เห็นละ ‘What’s on your mind?’ แล้วมันแปลว่าอะไร ไม่ต้องรู้เป๊ะๆ ก็ได้แต่เราเข้าใจใช่ไหมก็เอาไปใช้เลย ถามฝรั่งได้เลย ‘Hey, what’s on your mind?’
มองให้เห็น มองให้ละเอียด บางอย่างมันอยู่ใกล้จนตัวเราไม่สนใจ เริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัว ตั้งคำถามจากสิ่งไกลตัว เช่น รถติดอยากบ่นเป็นภาษาอังกฤษ ต้องใช้คำว่าอะไร ถึงคนอื่นจะมองว่าไร้สาระแต่ว่าถ้ามันทำให้เราพัฒนาได้ก็นับหมดนะ
เด็กๆ หลายคนไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษเพราะกลัวออกเสียงผิด หรือกลัวว่าพูดชัดแล้วจะหาว่าดัดจริต หรือกลัวว่าพูดไปจะผิดแกรมม่า ทั้งหมดนี้เป็นความกลัวของคนส่วนใหญ่ ทำให้เด็กๆ ไม่ได้พัฒนาภาษาอังกฤษเท่าที่ควร คิดอย่างไรกับประเด็นนี้?
เราคิดว่าการพูดภาษาอังกฤษกับคนไทยยากสุด ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ภาษาเราแต่การพูดภาษาอังกฤษกับฝรั่งเรากลับกล้าจะใส่เต็ม หรือต่อให้พูดภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติที่ไม่ใช่เจ้าของภาษาเราก็กล้าใส่เต็ม แต่พอเป็นคนไทยกลายเป็นว่ากลัวกันเอง แต่ถ้าถามว่ามีคอมเมนท์อะไรไหม ก็ขอตอบว่าโนคอมเมนท์ เพราะเราเปลี่ยนความคิดเขาไม่ไม่ได้ แต่เปลี่ยนตัวเองได้ คือไม่ต้องสนใจใครจะว่าอะไรเลยมากกว่า แต่เอาจริงๆ แล้ว เราไม่ควรสนใจคนที่คิดแบบนั้นกับเราต่างหาก มันบ่อนทำลายมากเลยนะ
เราเคยเจอเด็กเล่าให้ฟังในทวิตเตอร์ว่าครูสอนภาษาอังกฤษว่าเขา ว่า ‘ต้องพูดเว่อร์ขนาดนี้เลยเหรอ’ กลายเป็นว่าทำลายความฝันของเขาไปเลย ดังนั้น ถ้าให้เลือกระหว่างความกล้ากับความถูกต้อง นุ่นจะเลือกให้เด็กกล้าทำก่อน
กล้าไว้ก่อน ถ้าผิดเดี๋ยวก็ถูกเอง แต่ถ้ามัวแต่กลัวว่าจะทำผิด คนที่เขากล้าทำ เขาทำไปสิบอย่างแล้ว เพราะงั้นลองก่อน ผิดถูกเดี๋ยวรู้กัน
เคยโดนแซวเรื่องสำเนียงไหม เช่น ‘เยอะ’ หรือ ‘ดัดจริต’?
ถ้าถามว่านุ่นเคยเจอไหม อาจเคยเจอนะ แต่เราไม่ได้ยิน เพราะเราคิดว่าฉันยังพูดไม่เหมือนเจ้าของภาษา ออกเสียงไม่เหมือนเขา ทุกวันนี้อาจมีคนไม่ชอบก็ได้นะ (หัวเราะ) แต่เราควรเลือกเองว่าจะให้อะไรดังอยู่ในหัวเรามากกว่ากัน ระหว่างเป้าหมายของเรากับเสียงของคนอื่น ถ้าเสียความมั่นใจเพราะคนอื่นก็อาจไม่ต้องฟัง เพราะถ้าเสียงความฝันเรามันดังกว่า เดี๋ยวเสียงคนรอบข้างก็หายไปเอง เหมือนที่เอ็ด ชีแรน (Ed Sheeran ศิลปินชาวอังกฤษ) บอกว่า แก้แค้นกันด้วยความสำเร็จ ‘Success is the best revenge’ ไม่ว่าจะทักษะไหน
แสดงว่าบุคลิกภาพที่มั่นใจในตัวเอง ส่งผลต่อการเรียนและพัฒนาภาษาอังกฤษ?
เราคิดว่ามันเชื่อมกับทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษแต่ทุกสาขา ทุกทักษะ ทุกวิชา ถ้าความมั่นใจในที่นี้คือ มั่นใจว่าเราจะไปถึงเป้าหมายบางอย่างที่เราตั้งเอาไว้
ดังนั้นเวลานักเรียนเราพูดผิด เราจะไม่บอกว่าเขาพูดผิด เราจะบอกว่า ‘ให้พูดใหม่สิ’ หรือ ‘ดีมากแต่เพิ่มตรงนี้หน่อย’ เหมือนเป็นการให้กำลังใจ เราคิดว่าคนไทยต้องการพลังงานที่ดี เวลาเราไปสอนที่ไหนก็ตาม ส่วนใหญ่เราจะเอาความผิดพลาดของตัวเองมาสอน อย่างเคยเจอฝรั่งถามถึงพี่สาวเราว่า ‘What year?’ ซึ่งจริงๆ แล้วเขาหมายถึงว่าอยู่มหาวิทยาลัยปีไหน แต่เราตอบไปว่า ’22 years old’ อะไรแบบนี้ จริงๆ ก็เจ็บมาเยอะ ปล่อยไก่เยอะ อดีตเคยพัง ปัจจุบันก็ยังมีพังบ้าง (ยิ้ม)
เพราะเราอยากให้เด็กทุกคนรู้ว่า ก่อนจะเก่งได้ก็ต้องผิดพลาดมาก่อนทั้งนั้น นุ่นอยากให้ทุกคนกล้าออกมาทำ ต่อให้ผิด เราก็จะได้สิ่งนั้นเป็นบทเรียนแทน จำก็จำจริงๆ อายก็อายจริงๆ แล้วจะไม่เป็นอีก
หลังจากมาเป็นครูแล้ว มองระบบการศึกษาโดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษอย่างไร
จริงๆ คำว่า ‘ครู’ เป็นคำที่เพิ่งได้มา เราไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นครู ตอนแรกสุดเราไม่ได้เป็นครูแต่ใครถามอะไรแล้วเราบอกเขา ตอบได้ อาจไม่ได้รู้ทุกเรื่องแต่ช่วยหาคำตอบให้ และอาจเพราะทำเพจเฟซบุ๊คมาประมาณสามจะสี่ปี จึงทำให้เขาเรียกว่าครู เหมือนเป็นคำที่เป็นคนอื่นเรียก เหมือนเขาให้เกียรติเรา เพราะเราไม่ได้จบตรงสายครุศาสตร์เลย
ส่วนเหตุผลที่คนไทยหรือเด็กไทยไม่ได้รู้สึกชื่นชอบภาษาอังกฤษมากขนาดนั้น เรามองว่าเพราะบริบทการเรียนบางอย่างมันไม่ได้ใกล้ตัวเขา ไม่ว่าจะวิชาอะไรก็ตาม กลายเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงเรียนกันนานมากแต่ยังไม่เข้าใจ ยังไม่นับวิธีการสอนหรืออื่นๆ ที่เราสามารถทำให้ใกล้ตัวเด็กได้ แต่กลับทำให้เด็กปิดประตูตั้งแต่เริ่ม อีกอย่างคือมันใช้ไม่ได้จริง เรามองว่าอย่าไปโทษวิชาการว่ายากเลย แต่เราทำให้วิชาการสนุกขึ้นได้ โดยการเปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการสอนได้
พอมาเป็นครูจริงๆ เราเลยได้รู้ว่าวิธีการสอนสำคัญ เปลี่ยนนิดเดียว เปลี่ยนความสนใจเขาได้เลย
สุดท้าย ช่วยให้คำแนะนำกับใครก็ตามที่กำลังจะเรียน เรียนอยู่ หรือท้อกับภาษาอังกฤษในตอนนี้
สำหรับคนที่กำลังเรียนอยู่หรือเริ่มเรียนเราจะบอกนักเรียนทุกคนเลยว่าให้เริ่มต้นจาก ‘ความอยากทำ’ ‘อยากได้’ ก่อน อย่างเราคืออยากพูดภาษาอังกฤษได้คล่องๆ เหมือนเจ้าของภาษา จนถึงตอนนี้เราก็ยังรู้ว่ายังไม่เท่าที่ตั้งเอาไว้ เพราะเราอยากดีมากกว่านี้ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคิดได้แบบนี้แล้วเดี๋ยวเส้นทางมันก็จะตามมาเอง ต่อมาคือเรียนรู้จากความสนใจและความผิดพลาดเพราะว่าถ้าเรียนรู้จากสิ่งที่สนใจแต่ไม่ได้ลองใช้เลยก็ไม่มีประโยชน์ เช่น เด็กผู้ชายชอบบอล ชอบเกม ROV ก็ดูจากในนั้น ท้าเลย ภาษาอังกฤษในเกมพวกนี้สวยมาก แกรมม่าก็มาเต็มมาก หรือชอบร้องเพลง โอ้ย สบายมาก ชอบดูหนัง โห ย่อยได้อีกเยอะว่าอยากได้ศัพท์แนวไหนหรือสไตล์ไหน
แต่ที่สำคัญคือ อย่าฝืนตัวเองถ้ามันไม่สนุกอย่าฝืน จริงๆ ก่อนจะเรียนทุกทักษะต้องรู้ทันตัวเองก่อน รู้ว่าตัวเองไม่จำ ไม่ชอบหรือไม่สนุกแน่ถ้าทำอย่างนี้ เพราะถ้าร่างกายไม่ไปแล้ว วินาทีต่อจากนั้นมันก็ไม่จำแล้ว เอาเท่าที่ใจอยาก แล้วพรุ่งนี้ค่อยเริ่มใหม่ ไม่ต้องตะบี้ตะบัน ยัดเยียดตัวเอง เน้นทำน้อยๆ เท่าที่อยากจะทำ แต่ทำทุกวันแล้วกัน อยากฝึกเท่านี้ ฝึกแค่นี้พอ