- “ลองคิดว่าคุณเรียนหนังสือในระบบปัจจุบันเพื่อ ‘ขี่จักรยาน’ ให้เป็นสิ” ประโยคนี้อธิบายปัญหาการศึกษาได้อย่างเห็นภาพ
- กว่าจะขี่จักรยานได้ เราต้องเรียนทั้งประวัติศาสตร์ ชิ้นส่วน กลไกการทำงาน เพียงเพื่อจบออกมาแล้วพบว่าเรายังขี่จักรยานไม่เป็น
- อย่าเพิ่งคิดไปไกลว่าระบบการศึกษาล้มเหลว แต่แค่ล้าหลัง เพียงเคาะสนิมและเข้าใจว่าสิ่งที่ต้องสร้างให้นักเรียน คือ passion และ purpose
เรียกว่าช้าไปเสียหน่อยที่มาพูดถึง ‘Most Likely to Succeed’ ภาพยนตร์สารคดีและหนังสือในชื่อเดียวกัน โดยเจ้าพ่อนักการศึกษาอย่าง โทนี วากเนอร์ (Tony Wagner) และ เท็ด ดินเทอร์สมิธ (Ted Dintersmith) นักธุรกิจตัวฉกาจในวงการนวัตกรรม-ผู้หันมาสนใจประเด็นการศึกษาในวัยใกล้เกษียณ เพราะมีลูกสองคนที่อยู่ในวัยเรียน คล้ายผู้ปกครองทั่วไปที่มีปัญหากับการประเมินเด็กๆ โดยวัดที่ ‘ความฉลาด’ ตามเกณฑ์ข้อสอบ
ที่ต้องบอกว่าช้าไป เพราะ Most Likely to Succeed* เปิดตัวครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ 2015 ได้รับความสนใจล้นหลามทั้งจากนักการศึกษา นักกำหนดนโยบาย ผู้ปกครอง ครู และคนทั่วไปที่ป่วยไข้จากระบบการศึกษาที่วัดและหล่อหลอมคนแค่เพื่อให้ได้ใบรับรองทางการศึกษา แต่เผาทิ้งจิตวิญญาณและความหลากหลายในตัวคน ถึงทุกวันนี้ ภาพยนตร์ชิ้นนี้ยังถูกเช่า ซื้อ ดาวน์โหลดอย่างต่อเนื่องและจากทั่วทุกมุมโลก ใช้เป็นแหล่งอ้างอิงพื้นฐานสำหรับคนในวงการศึกษาและผู้กำหนดนโยบาย
ที่ต้องบอกว่าช้าไป-กล่าวย้ำ เพราะทั้งภาพยนตร์และตัวหนังสือเอง เขียนไว้ชัดเจนว่าเพื่อ ‘Preparing our Kids for the Innovation Era’ – เพื่อเตรียมพร้อมลูกหลานของเราเข้าสู่ยุคแห่งนวัตกรรม ทั้งที่เราก้าวสู่ยุค disruption กันไปนานแล้ว ความเปลี่ยนแปลงเรื่องอาชีพและข้อเรียกร้องถึงคุณสมบัติในการทำงานใหม่ๆ เกิดขึ้นไปแล้วเช่นกัน
สำหรับผู้ที่สนใจอยากรู้ว่าทักษะของคนใน ‘innovation era’ เป็นอย่างไร และ จะสร้างทักษะนั้นได้อย่างไร วากเนอร์ เขียนสรุปไว้ในหนังสืออีกเล่มคือ ‘Creating Innovators: คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก’ (อ่านได้ที่นี่) แต่สำหรับ ‘Most Likely to Succeed’ เรียก (ส่วนตัว) ว่าเป็นปฐมบทของ Creating Innovators มากกว่า เพราะขยายความและตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์การศึกษาของอเมริกา แต่รับและส่งออกวิธีการเรียนและหนึ่งในผู้ผลิตองค์ความรู้ไปทั่วโลก ที่แม้จะเคยดีและเหมาะสมในยุคสมัยหนึ่ง แต่…
หนึ่ง-ต้องยอมรับว่าวิธีการศึกษาแบบที่คิดขึ้นอย่างเป็นระบบในศตวรรษที่ 18 มันล้าสมัยไปแล้ว (ทั้งคู่ใช้คำว่า obsolete) สอง-ความกดดันและความเครียดทางสังคมที่ผลักให้เส้นชัยของการศึกษาเป็นไปเพียงเพื่อได้ใบประกอบ (credential) เกิดผลกระทบอะไรตามมา สาม-ระบบการศึกษาที่เคยใช้เป็นเครื่องยกสถานะทางสังคม (อดทนยากลำบากกับการเรียนวันนี้ สบายในวันหน้า) ทุกวันนี้ไม่เป็นความจริง มีคนเป็นหนี้เพื่อการศึกษาอยู่ทั่วโลกและในจำนวนที่มากขึ้น กลับกัน ระบบการศึกษาที่ผิดพลาดในแง่ลดความหลากหลายและทำลายความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งซ้ำเติมปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำถ่างกว้าง
นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ วากเนอร์ และ ดินเทอร์สมิธ ได้จากการศึกษาข้อมูลแบบลงลึกและเจาะสัมภาษณ์ผู้คนหลายร้อย ทั้งบุคคลธรรมดา นักการศึกษา และคนในแวดวงธุรกิจ แม้ตั้งต้นจากความสนใจและความกังวลส่วนตัวในฐานะที่ทั้งคู่ทำงานในแวดวงนวัตกรรมที่ ‘มันเปลี่ยนล่วงหน้าไปก่อนแล้ว’ แต่จุดประสงค์ก็เพื่อชวนกันทบทวน คิดกันใหม่ว่า การศึกษาในยุคนวัตกรรม ยุคที่เราเรียกกันติดปากว่า ‘ศตวรรษที่ 21’ จุดมุ่งหมายของมันคืออะไร? พร้อมสำหรับโลกใบใหม่ (ที่มาแล้ว) อย่างโลกแห่งนวัตกรรมหรือเปล่า?
เป้าหมายการศึกษาแต่ละสมัย
1893 model | 21st century model |
ความพยายามอย่างหนักเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการของผู้เรียน | ค้นหาความหลงใหลและเป้าหมายของผู้เรียน |
เน้นการสอนที่ครอบคลุมเนื้อหา | พัฒนาทักษะคิดวิเคราะห์ |
การคัดเลือกและคัดออก | สร้างแรงบันดาลใจ |
ลองคิดว่าคุณเรียนหนังสือเพื่อ ‘ขี่จักรยาน’ สิ
อันที่จริง ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัญหาการศึกษาคืออะไร แต่เพื่ออธิบายให้เห็นภาพ ผู้เขียนอธิบายเปรียบเทียบไว้ในหนังสือว่า “ลองคิดว่าคุณเรียนหนังสือในระบบปัจจุบันเพื่อ ‘ขี่จักรยาน’ ให้เป็นสิ’ ”
ในระบบการศึกษาปัจจุบัน คุณต้องพิสูจน์ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการขี่จักรยานเพื่อให้ได้ประกาศนียบัตร แต่กว่าจะถึงขั้นนั้น ในระดับอนุบาลและประถม คุณต้องท่ององค์ประกอบทุกชิ้นของจักรยานเพื่อนำไปสอบ โซ่ควรยาวเท่าไร น็อตมีกี่ตัว เบาะควรสูงระดับไหน แฮนด์ควรโค้งเว้าเท่าไร การจะขึ้นขี่ต้องเตรียมความพร้อมอะไรบ้าง ต้องนั่งในท่าไหน ต้องใช้ร่างกายอย่างไร ซึ่ง… ทั้งหมดนี้เป็นคนละเรื่องกับการปฏิบัติจริง – อย่าลืมว่าคุณต้องอ้างอิงกับระบบการศึกษาในปัจจุบัน เราได้ปฏิบัติกันจริงเสียที่ไหน?!
ในระดับที่สูงขึ้น เราอาจต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์จักรยาน คุณต้องท่องที่มาว่าจักรยานคันแรกเกิดขึ้นเมื่อไร พ.ศ. อะไร การเปลี่ยนแปลงที่ว่าสำคัญอย่างไร และนำมาสู่จักรยานรูปแบบไหนบ้าง การเปลี่ยนแปลงของโลกส่งผลต่อจักรยานอย่างไร – คิดในแง่นี้ก็สนุกดีนะคะ แต่ทั้งหมดนี้คุณจะต้องรู้รายละเอียดเพื่อการสอบนะ ไม่นับว่าการศึกษาแบบพุ่งเป้าไปที่การได้ใบประกาศนียบัตรรับรอง ทำให้วัยรุ่นหลายล้านต้องคร่ำเคร่งเพื่อการสอบให้ได้ดีและเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังได้ มากน้อยแค่ไหน
ไฮไลต์ที่วากเนอร์ และ ดินเทอร์สมิธ ขีดเส้นไว้ก็คือ ยังไม่ทันได้ขึ้นขี่คุณก็ระอากับจักรยานไปเสียแล้ว ทั้งที่มันควรจะสนุกและเป็นทักษะพื้นฐานที่เกิดได้อย่างเป็นธรรมชาติ กลับกลายเป็นเสี้ยนหนามที่ทำให้หลายคนเข็ดขยาดและปฏิเสธมัน ในความเป็นจริงยังมีการสอบที่เข้มงวด การต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษอย่างหนักหน่วงเพียงเพื่อให้คุณขี่จักรยานให้เป็น
หลายคนต้องเป็นหนี้สินจากการศึกษา เพียงเพื่อออกจากรั้วมหาวิทยาลัยแล้วพบว่า ทักษะการขี่จักรยานที่เรียนอย่างเข้มงวดในรั้วโรงเรียน ไม่ได้ถูกนำมาใช้เลยในการทำงานจริง พร้อมกันนั้น พวกเขายังไม่มี passion และจุดมุ่งหมายในชีวิต
ในการทำงานจริง องค์กรปัจจุบันต้องการทักษะการทรงตัว ความยืดหยุ่น ทักษะการแก้ปัญหาในสถานการณ์เฉพาะหน้า การแบกรับความเครียด และอื่นๆ – ที่เอาแค่ทักษะพื้นฐานจากการขี่จักรยานจริงๆ มอบให้ กลับไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่องค์กรต้องการในทุกวันนี้ อย่างที่พูดกันในเรื่องทักษะศตวรรษที่ 21 ความรู้พื้นฐาน (Foundational Literacies) กลุ่มทักษะที่ต้องนำมาใช้ใน ‘การจัดการกับปัญหา’ (Competencies) และ ทักษะความสามารถภายใน หรือ คาแรคเตอร์ (Character Qualities)
ข้อเสนอใน Most Likely to Succeed
พูดให้ถึงที่สุด มันคือข้อเสนอต่อการปฏิรูปการศึกษา แต่ไม่ใช่แค่ระดับโครงการ แต่ลึกลงไปในวิธีคิดเรื่องออกแบบการเรียนรู้ ในหนังสือเสนอไว้หลากหลาย แต่ในที่นี้ขอสรุปคร่าวๆ ตามความเข้าใจของผู้เขียน (และที่โดนใจผู้เขียน) ใจกลางข้อเสนอของทั้งคู่ก็คือ การช่วยนักเรียนค้นหา passion หรือความหลงใหลในสิ่งที่สนใจ และช่วยค้น purpose หรือ จุดมุ่งหมายการเรียนของผู้เรียนแต่ละคนให้ลุกโชน ภายใต้ทักษะองค์ความรู้พื้นฐานอย่าง การอ่านออกเขียนได้ ทักษะภาษา ปรัชญา และทักษะในวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ต้องเป็นไปในทิศทางใด
โรงเรียนต้อง:
- สอนกระบวนการคิดและทักษะสังคม
- สร้างกระบวนการให้เด็กค้นหาความชอบของตัวเอง พบ passion พบ drive หรือทำให้เขาพบเจอสิ่งที่เรียกว่า sense of purpose คือเข้าใจว่าเรียนไปเพื่ออะไร มีหมุดหมายในอนาคตชัดเจน
- ต่อเรื่องคาแรคเตอร์ สิ่งที่ควรสร้างคือทักษะความรับผิดชอบ ผู้ให้ทางสังคม และทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (learning how to learn)
- สร้างแรงบันดาลใจผ่านงานสร้างสรรค์ที่หลากหลายของผู้คนในชีวิตจริง
- ต่อเรื่องทักษะความรู้พื้นฐาน โรงเรียนต้องพัฒนาทักษะการเขียน การพูดในที่สาธารณะ การบริหารจัดการงานในทีมหรืองานในแต่ละโปรเจ็คท์ และทักษะทางคณิตศาสตร์
ซึ่งในบุลเล็ตสุดท้าย ทักษะความรู้พื้นฐาน ทั้งคู่เขียนแยกเป็นบทอย่างชัดเจนในหนังสือเลยว่าการเรียนวิชาพื้นฐานอย่าง ฟัง พูด อ่าน เขียน และวิชาคณิตศาสตร์ จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบ อธิบายอย่างสั้นคือ ที่ผ่านมาวิชาภาษาอังกฤษ (ในบ้านเราคือวิชาภาษาไทย) สิ่งที่เกิดในห้องเรียนคือการสอนให้เขียนตามแพทเทิร์นอย่างเคร่งครัดแต่ไม่ได้พูดคุยเรื่องประเด็นในการสื่อสาร เช่นเดียวกับการสอนเรื่องการพูด ทั้งที่ควรสร้างทักษะการสื่อสารอย่าง การพรีเซนต์งาน การพูดในที่สาธารณะ การสื่อสารเพื่อหาข้อตกลงร่วมโดยสันติ (ไม่ทะเลาะกันตายก่อนจบงาน) รวมทั้งทักษะคณิตศาสตร์ในแง่ ‘ตรรกะความคิด’ ไม่ใช่การคิดเลขเร็ว ซึ่งทักษะนี้อาจใช้เป็นกระบวนการฝึกสมองสำหรับผู้ที่สนใจเฉพาะทางมากกว่า
ตัวอย่างความรู้ความสามารถด้านภาษาที่เปลี่ยน เปรียบเทียบระหว่างศตวรรษที่ 20 และ 21
โมเดลการเรียนวิชาภาษาที่สองให้ประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 20 | โมเดลการเรียนวิชาภาษาที่สองให้ประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 21 |
รู้จักคำศัพท์ การออกเสียงที่ถูก และการใช้ tenses | ความสามารถด้านการพูด |
ความสามารถในการอ่านและเขียน | รู้จักและเข้าใจภาษาในแง่วัฒนธรรม รู้ว่าจะใช้มันอย่างไร |
รู้จักองค์ประกอบของภาษา | มีความสามารถถ่ายทอดความเข้าใจหรือองค์ความรู้ข้ามกำแพงภาษา |
ความสำคัญของการรู้ภาษาเพื่อศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมโบราณ | ความสำคัญของการรู้ภาษาก็เพื่อการทำงานในเชิงเทคโนโลยี |
แม้จะบอกว่าอ่านเล่มนี้ช้าไปนิด แต่การวิพากษ์ระบบการศึกษาไม่เคยเป็นเรื่องเก่า – เพราะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่ – แต่ก็พูดไม่ได้อีกเช่นกันว่า ‘ครูไทย’ ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะอย่างที่ The Potential นำเสนอตลอดมา เราเห็นครูรุ่นใหม่ และ รุ่นเก๋าที่ไฟแรง เริ่มเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนตลอดมา แต่หนังสือและภาพยนตร์เรื่องนี้ยืนยันและลงรายละเอียดว่า…
ไม่ใช่ระบบการศึกษาล้มเหลว แต่แค่ล้าหลัง เพียงเคาะสนิมและเข้าใจว่าสิ่งที่ต้องสร้างคือ passion และ purpose ของนักเรียน สิ่งที่ตามมาก็คือ ระบบ หรือ โครงสร้าง อะไรบ้าง ที่จะมาช่วยสนับสนุนให้เด็กๆ ค้นเจอความต้องการภายในได้
สำหรับใครที่ยังไม่ได้เห็นหนังสือหนังสือและภาพยนตร์ ‘Most Likely to Succeed’ รวมถึงผลงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดย เข้าไปแวะชมและเลือกซื้อหาหรือเช่าได้ที่ https://teddintersmith.com