- เรื่องเล่าที่ไม่ถูก pause จากสปีกเกอร์รุ่นเล็ก 11 คนTEDxYouth@Bangkok ปีที่ 2 ทั้งเรื่องการศึกษา นวัตกร บูลลี่ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ และ LGBT
- เพราะเห็นว่าประเด็นเหล่านี้ถูก pause จากผู้ใหญ่ สังคม หรือกระทั่งกับคนในรุ่นเดียวกันเอง แต่ไม่ใช่กับเวทีนี้
- ธีมของปีนี้จึงเป็น Now Playing : เสียงของเด็กไทยที่กำลังพูด เล่าเรื่องแสดงออกทางความคิดอย่างอิสระ
ภาพ: TEDxYOUTH
ไม่ใช่แค่เชื่อว่า ‘เด็ก’ ทุกคนมีของ มีเรื่องเล่าที่ทรงพลังผ่านประเด็นที่เฉียบคม แต่เชื่อด้วยว่า ‘บริบท’ ที่แตกต่างของเด็กแต่ละคน ยิ่งส่งผลให้เรื่องเล่านั้นทรงพลังและอาจสร้างแรงบันดาลใจหรือเปลี่ยนวิธีคิดของชีวิตคนอื่นได้
นี่คือวิธีคิดของ พิ-พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน คิวเรเตอร์หรือภัณฑารักษ์คัดสรรเรื่องเล่าบนเวที และเจ้าของไลเซนส์ TEDxBangkok จนนำมาสู่การจัด TEDxYouth@Bangkok เป็นปีที่ 2 วันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ C asean อาคาร CW Tower
ซึ่งปีนี้มาในธีม Now Playing เปรียบเสมือนเสียงของเด็กไทยที่กำลังพูด เล่าเรื่องแสดงออกทางความคิดอย่างอิสระ ‘อย่างไม่ถูก Pause’ – แม้ความเป็นจริงเสียงเด็กไทยจะถูกกด pause จากผู้ใหญ่ สังคม หรือกระทั่งกับคนในรุ่นเดียวกันเอง แต่ไม่ใช่กับเวทีนี้
และแม้สปีกเกอร์บนเวทีปีนี้จะมีเพียง 11 คน แต่เรื่องเล่าของพวกเขา (เชื่อว่า) มันคล้ายกับสิ่งที่เด็กราว 66 ล้านคน (ตามข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ) กำลังเผชิญขณะนี้
Now Playing จาก 11 Speaker
แนน-พินิฐนัน พรหมจันทร์: ตัวเลือก
แนนเป็นตัวแทนของเด็กๆ ที่มีปัญหาครอบครัว เป็นเด็กต่างจังหวัดที่ต้องเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เล็ก หลายคนอาจคิดว่าเธอกำลังต่อสู้กับ ‘เสียงของคนกรุงเทพฯ’ ที่ตั้งคำถามว่าเด็กต่างจังหวัดอย่างแนนจะทำอะไรได้บ้าง แต่เปล่า แนนกล่าวบนเวทีอย่างชัดเจนว่าสิ่งที่เธอต่อสู้คือ ‘เสียงในหัวของตัวเอง’ มากกว่า และ ‘อาวุธ’ ที่เธอใช้สู้คือวิธีคิดที่บอกว่าเธอมีทางเลือก มีตัวเลือก และเธอเลือกได้ว่าจะคิดกับสถานการณ์ตรงหน้าในทุกๆ ช่วงชีวิตอย่างไร
“วัยรุ่นเป็นช่วงที่ต้องตัดสินใจอะไรมากมาย หนูว่าวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่สำคัญในแง่ที่เราจะพัฒนาทักษะเรื่องการตัดสินใจได้ แต่ถ้าเราถูกใครบางคน ใครหลายคนบังคับ ถูกระบบการศึกษาหรือสังคมตีกรอบให้เราทุกอย่าง การตัดสินใจของเรา (ตามสถิติ) 35,000 ครั้ง/วัน เราจะได้ตัดสินใจเองกี่ครั้งกัน”
ภูมิ-ภูมิปรินทร์ มะโน: เวทมนตร์
หลายคนรู้จักภูมิในฐานะเด็กมัธยมปลายที่ลาออกจากโรงเรียนเพราะไม่เชื่อมั่นในระบบ เขาศึกษาเรื่องการ coding ด้วยตัวเองจนก้าวไปทำงานในซิลิคอนวัลเลย์ได้ แต่วันนี้ภูมิไม่ได้ขึ้นพูดบนเวทีด้วยเรื่องเล่านั้น แต่ขึ้นมาเล่าถึงกระบวนการหรือวิธีคิดของนวัตกรคนหนึ่ง ซึ่งเขาเชื่อว่าหากนักเรียนถูกฝึกให้คิดด้วยวิธีคิดอย่างนวัตกร (who, story, how, idea, test) เด็กคนหนึ่งจะกลายเป็น maker หรือนักสร้าง เป็นนักวิเคราะห์ และมีหัวใจเพื่อใส่ใจกับปัญหานั้นอย่างจริงจัง ทั้งหมดนี้ แม้เป็นวิธีคิดของคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งแต่ก็เปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นได้
“เมื่อไรที่เราเจอปัญหาเราจะไม่ซุกมันไว้ในพรม เราจะไม่ปล่อยมันไป แต่เราจะใช้เวทมนตร์ของตัวเองในการแก้ปัญหาด้วยวิธีของเรา ผมเชื่อว่า ‘การสร้าง’ เป็นเรื่องของทุกคน
“ผมเชื่อว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ถ้าเด็กไทยและทุกคนเอาทักษะที่ตัวเองมีไม่ว่าจะดาราศาสตร์ การเขียนโปรแกรม วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะเอามาแก้ปัญหาที่ตัวเองเจอในชีวิตประจำวันและก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา ผมเชื่อว่าประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าน่าจะเปลี่ยนไปเยอะมาก”
รัน-รัญชน์ บูรพาชีพ: ใจเขาใจเรา
ประเด็นกลั่นแกล้ง (bully) ในโรงเรียนแทบจะกลายเป็นปัญหาคลาสสิกทั่วโลก รัญชน์ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มวัยเลขหนึ่งนำหน้าหยิบประสบการณ์ส่วนตัวจากการถูกเหยียดเชื้อชาติในโลกออนไลน์แล้วขยายไปสู่การตั้งคำถามที่เด็ดขาดว่า ทั้งที่ทุกคนต่างเคยถูกเหยียดและรู้ทั้งรู้ว่ามันให้ความรู้สึกเช่นไร แต่เรากลับรับได้ขึ้นเรื่อยๆ และหลายครั้งก็กลายเป็นคนเหยียดคนอื่นเสียเอง?
“ผมเปรียบการเหยียดเหมือนหลุมทางเท้าหน้าบ้าน ครั้งแรกที่คุณเห็นมันคุณรู้สึกอย่างไร? โกรธ เศร้า เสียใจ กังวล? แต่สิ่งที่คุณทำได้ง่ายที่สุดคือเดินอ้อมและผ่านมันไป วันที่สอง สาม สี่ คุณก็ทำแบบเดิม เพราะนั่นคือสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดหรือไม่ก็เป็นเพราะคุณไม่คิดว่าคุณจะตกหลุมนี้ด้วยตัวเอง การกระทำนี้ไม่ได้ทำให้หลุมตื้นแต่ทำให้หลุมลึกลงไปกว่าเดิม ซึ่งผมเรียกสิ่งนี้ว่าวงจรแห่งการเหยียดครับ (…) ทำให้การเหยียดเป็นเรื่องปกติ”
กิ๊ก-นิศาชล คำลือ: เดินทางไกล
หลายคนรู้จักกิ๊กในฐานะหนึ่งในทีม SPACETH.CO และประวัติส่วนตัวที่เธอลาออกจากโรงเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ด้วยเหตุผลในมุมนักลงทุนว่า ‘หากเห็นว่าบริษัทที่คุณจะลงทุนด้วยไม่ได้ให้ผลลัพธ์อะไรคืนมา คุณจะลงทุนหรือไม่?’ ซึ่งการลงทุนนั้นไม่ใช่แค่เงินทุนที่เสียไปแต่คือเวลา
กิ๊กไม่ได้เล่าการทำงานในมุม SPACETH.CO และความกล้าหาญและวิธีในการลาออกจากโรงเรียน แต่เล่าการเดินทางของเธอกับ ‘สัมภาระ’ ที่เธอแบกไว้อย่างเปิดเปลือย
สัมภาระแรกคือความเกลียดชังและตั้งคำถามกับคนเป็นแม่ที่ตัดสินใจให้เธออยู่กับยายในช่วง 10 ปีแรกของชีวิต แต่เธอทำงานกับตัวเองและโยนก้อนแรกออกไปจากเป้สำเร็จได้ตั้งแต่วัย 10 ขวบ ส่วนหินอีกก้อนคือก้อนแห่งความเกลียดชังที่มาจากการคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ ปัญหาคือแม้เธอสามารถให้อภัยผู้กระทำได้หมดแต่ก็ยังทุกข์และเศร้า สุดท้ายเธอค้นพบว่าที่ยังติดในความเศร้านั้นก็เพราะเธอ… ไม่ได้ให้อภัยตัวเอง
“เราอยากบอกทุกคนว่า พวกคุณเองก็เป็นนักเดินทางเหมือนกันนะ เราไม่รู้หรอกว่าการเดินทางของคุณเป็นรูปแบบไหน ที่ผ่านมาการเดินทางคุณเจออะไรบ้าง ไม่รู้ว่าในเป้สัมภาระของคุณเก็บหินไว้กี่ชิ้น แต่เราจะบอกคุณนะ หลังจากนี้ที่คุณได้ฟังเรา เราขอให้คุณเดินทางด้วยความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น เข้าใจสัมภาระ เข้าใจตัวคุณเอง”
ป๋อ-ธีรชาติ ชัยมงคล: เริ่มใหม่
ป๋อคือตัวแทนของวัยรุ่นทั่วไปที่เคยเกเร ติดบุหรี่ติดเหล้าตั้งแต่ 9 ขวบ และเจอความท้าทายมากมายในช่วงวัยรุ่น เขาเล่าอย่างติดตลกแต่แฝงความจริงว่า ‘ความเท่’ ที่วัยรุ่นทั่วไปยอมรับก็คือภาพการพ่นควันออกจมูก การต่อสู้เพื่อมิตรภาพและศักดิ์ศรี รวมทั้งการตกหลุมรักในวัยหนุ่มสาวนั่นก็ด้วย ทั้งหมดนี้มองให้เป็นเรื่องธรรมดานั่นก็คือชีวิตแห่งวัยรุ่นและการได้รับการยอมรับ แต่ป๋อโชคดีที่เข้าใจว่าเขาต้องการได้รับการยอมรับแบบไหนและจากใคร ได้เร็วและทันเวลา
“วันนั้นผมโทรหาแม่และบอกทุกอย่างให้แม่ฟัง ผมคิดในใจว่าประโยคที่ผมอาจได้ยินจากแม่หลังจากนี้คงทำให้ผมเสียใจตลอดชีวิต เพราะคงไม่มีครอบครัวไหนรับได้ หรือภูมิใจกับลูกที่ติดเหล้าและสูบบุหรี่ตั้งแต่ 9 ขวบ และทุกอย่างเป็นไปอย่างที่ผมคิด แม่เงียบกริบ เงียบเหมือนทั้งบ้านไฟดับ ผ่านไปประมาณ 2-3 นาทีแม่ผมก็พูดว่า ‘ไม่ว่าลูกจะทำอะไร จะเป็นอะไร ลูกก็ยังเป็นลูกของแม่เสมอ’ สำหรับคนอื่นอาจฟังดูเฉยๆ แต่สำหรับผมคือประโยคที่ทำให้เข้าใจ ‘การยอมรับ’ มากที่สุด”
ลิลลี่-ระริน สถิตธนาสาร: Change for Better
ในช่วงที่ เกรตา ธุนเบิร์ก ลุกขึ้นมาโปรเจ็คต์ชวนเด็กจากทั่วโลกมาทำ #SchoolStrike ทุกๆ วันศุกร์เพื่อต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ภาพของระรินที่ออกไป take action ในเรื่องนี้ ตั้งแต่คุยกับคนทำนโยบาย คุยกับชาวบ้าน ทำโปรเจ็คต์ในโรงเรียน และอื่นๆ ก็ปรากฏในภาพสื่อบ้านเราเช่นกัน แต่ใครจะรู้ว่าเธอสนใจและทำงานอย่างจริงจังในเรื่องนี้ตั้งแต่อายุ 8 ขวบและทำมายาวนานตลอด 4 ปี
ระรินขึ้นพูดบนเวที เล่าเหตุผลอย่างตรงไปตรงมาว่า เพราะเธอไม่เข้าใจว่าตราบที่เรื่องถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งยังมีปัญหา สิ่งแวดล้อมมีปัญหา และมันแก้ไขได้ด้วยวิธีสร้างสรรค์หลายอย่างเพียงคนลุกขึ้นมาจัดการ ทำไมจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลง
“It’s wasn’t enough for me to just talk about it, to just pick up trash in the beach and to just use my reusable bags to stores every time we go to shop. So I had to change my anger into action and that’s what I did.”
เวโรนิก้า: โลกสองใบ
เวโรนิก้า ตัวแทนของกลุ่ม LGBTQ+ ขึ้นพูดและแสดง Drag บนเวที เล่าเรื่องของเด็กคนหนึ่งที่หาทางออกให้กับความฝันที่จะกำหนดเพศของตัวเอง กับความคาดหวังที่ผู้ปกครองอยากให้เธอเป็นตามเพศกำเนิด
การแสดงของเวโรนิก้าเล่าผ่านการอ่านไดอารี ย้อนไปในแต่ละจุดเวลาสำคัญของชีวิต ตั้งแต่วันที่เริ่มรู้ว่าชอบและมีความฝันอยากเป็นเพศไหน วันที่ครอบครัวค้นพบ วันที่ต่อรองกับที่บ้านจะขอเป็นเพศตามที่ใจเลือก วันที่พบว่าครอบครัวไม่พร้อมจะต่อรองกับเงื่อนไขที่เธอเสนอ จนวันนี้เธอตัดสินใจจะใช้ชีวิต ‘สองโลก’ โลกที่หนึ่งคือโลกตามความฝัน โลกที่สองคือความจริงแบบที่ครอบครัวอยากให้เป็น
ซึ่งนี่อาจเป็นความจริงอันเจ็บปวดอย่างที่เด็กหลายคนกำลังเผชิญและหาทางออก
“ทุกคนอยากจะมีโลกแค่ใบเดียว โลกที่สามารถเป็นตัวเอง โลกที่สามารถมีความสุขในทุกเมื่อ”
ใบเฟิร์น-ชมพูนุท คำบุญเรือง: เท่าไหร่ถึงจะพอ
เด็กสาววัยมัธยมต้นที่เคยมีปัญหากับเกรด 3.99 แม้จะเรียกเสียงหัวเราะปนเอ็นดูจากคนในฮอลล์ว่าเหตุใดใบเฟิร์นจึงเสียใจที่คะแนนหายไป 0.01 แต่เธอบอกว่าเหตุการณ์จริงนั้นไม่ขำเลย เพราะเบื้องหลังความเสียใจมันมาจาก ความกดดัน ความคาดหวัง และการเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นเสียงจากคนรอบตัวที่ได้ยินตลอดมา
มากไปกว่าเกรด 3.99 มันคือการถูกผลักให้ต้องปีนยอดเขาเพื่อไปหาความสมบูรณ์แบบ เมื่อพิชิตยอดเขาลูกที่หนึ่งได้ก็ตามมาด้วยการปีนไปยังลูกที่ 2, 3, 4 นอกจากความเหน็ดเหนื่อย มันคือการตั้งคำถามว่านี่คือเส้นทางที่เธออยากเดินและอยากเหนื่อยเพื่อมันจริงหรือเปล่า
ใบเฟิร์นเชื่อว่าเธอไม่ได้ถูกผลักอยู่คนเดียว ยังมีเพื่อนๆ อีกหลายคนที่ถูกคนในบ้านผลักดันในนาม ‘ความรัก’ และ ‘ปรารถนาดี’ อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งเธออยากส่งเสียงว่า …พอเสียที
” ‘ถ้าทำไม่ได้จะผิดหวังมากนะ’ ‘ทุ่มให้ขนาดนี้ทำไมถึงทำไม่ได้’ นี่เป็นแผลที่ (คนอื่น) สร้างให้กับหนูมาโดยตลอดแม้ว่าจะมองไม่เห็นก็ตาม แต่ก็เป็นแผลที่อยู่ตามร่างกายและจิตใจ เป็นแผลที่หนูต้องรักษาเอง ถูกแล้วเหรอที่หนูต้องมารักษาแผลด้วยตัวเอง จะดีกว่าไหมถ้ามันไม่มีแผลตั้งแต่แรก ถ้าไม่มีแผลคงตามมาด้วยความสุข การได้เป็นตัวของตัวเอง ได้ทำสิ่งที่ตัวเองรัก และจาก toxic expectation อาจกลายเป็น positive expectation ที่จะไม่ทำลายตัวเราเองเลยก็ได้”
เดี่ยว-ธงชัย อัชฌายกชาติ: คำถามที่ต้องการคำตอบ
เดี่ยวคือ geek วิชาประวัติศาสตร์ที่เปิดตัวบนเวทีว่าเขาคือนักเรียนโอลิมปิกวิชาประวัติศาสตร์ประเทศไทย ที่สนใจประวัติศาสตร์ก็เพราะพ่อแม่เล่าประวัติศาสตร์ให้ฟังเสมอตั้งแต่เด็ก แต่เขาไม่ได้ขึ้นมาเล่าว่าเขาชอบประวัติศาสตร์ได้อย่างไร แต่มาเล่าประวัติศาสตร์โลกฉบับย่นย่อที่ผูกว่าสาระพวกนี้สำคัญต่อมนุษยชาติอย่างไร และทำไมเราจึงควรรู้มัน
ใจความเด็ดของเดี่ยวคือ เราศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อตั้งคำถาม วิพากษ์ โต้แย้ง เพราะหากขึ้นชื่อว่าประวัติศาสตร์ นั่นหมายถึงการถูกเล่าและเขียนขึ้นด้วยชนชั้นนำและผู้ที่ชนะ ไม่มีหลักฐานโต้แย้งเชิงบุคคล มันจึงเป็นศาสตร์แห่งการวิพากษ์และท่องจำ ประวัติศาสตร์จึงควรเป็นพื้นที่เปิด ไม่มีข้อผูกมัด ฝึกการวิจารณ์และรับคำวิจารณ์ได้
เดี่ยวพูดคล่องราวแสดงเดี่ยวไมโครโฟนจนได้รับเสียงปรบมือกึกก้องยามไฟเวทีดับ อันเป็นสัญญาณว่าเวลาของเขาจบลงแล้ว ก่อนที่เดี่ยวจะเดินกลับมาถามผู้ชมในฮอลล์ว่า “ทุกคนเชื่อกันหมดใช่ไหมครับว่าผมคือนักเรียนโอลิมปิกวิชาประวัติศาสตร์?” ก่อนที่เขาจะเฉลยด้วยใบรางวัลชมเชยระดับเหรียญทองการแข่งขันสุนทรพจน์ (ทักษะภาษาญี่ปุ่นระดับภูมิภาค กรุงเทพมหานครและภาคตะวันออก)
เดี่ยวลาเวทีจริงๆ ด้วยการบอกว่า “นี่แหละคือสาระของวิชาประวัติศาสตร์ การตั้งคำถาม”
“รู้จักชุมชนมอญไหมครับ? หลายคนอาจจะบอก ‘อ๋อ พม่าใช่ไหม?’ ขอโทษนะครับ บ้านผมอยู่นนทบุรี ที่นี่มีชุมชนมอญที่ตั้งหลักปักฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว แต่ทำไมเรื่องเหล่านี้กลับไม่ค่อยมีคนรู้? ทำไมไม่มีใครสามารถออกมาพูดเรื่องนี้ได้ เราจะกล้าพูดได้อย่างไรว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดกว้าง?
“วิชาประวัติศาสตร์ควรเป็นพื้นที่เปิดให้นักเรียนและครูได้แลกเปลี่ยนความคิดกันเพราะคนในยุคนั้นก็ไม่ได้อยู่ในตอนนี้แล้ว เด็กจะคิดได้อย่างไม่มีขีดจำกัดเพราะมันไม่มีข้อผูกมัดอะไร และเมื่อเด็กได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับครู เด็กก็จะเริ่มพัฒนาตัวเอง เด็กจะวิจารณ์และรับคำวิจารณ์ได้ดีมากๆ”
ฮับ-เหมวิช วาฤทธิ์: Start to Listen
เด็กไทยเพียงคนเดียวที่ผ่านเข้ารอบ 20 คนสุดท้ายโครงการ Google Science Fair กับโปรเจ็คต์ ‘Earz’ เครื่องช่วยฟังสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน โดยความฝันของฮับคือการวางขาย Earz ในราคาจับต้องได้และเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้มีปัญหาทางการได้ยิน ซึ่ง… ทั้งหมดนี้เขาตั้งใจทำมันมาตั้งแต่อายุ 11 ปี ปัจจุบันอายุ 14 ปี
ฮับไม่ได้ได้รับโอกาสนี้ง่ายๆ กลับกัน เรื่องเล่าบนเวทีของเขาคือการ ‘เฟลด์’ มาหลายครั้ง เขาบอกว่าในวัยสิบขวบต้นๆ เขาต้องพบกับการอกหักตั้งแต่การพัฒนาเครื่องแล้วล้มเหลว การขอเงินทุนแล้วไม่ได้ดั่งหวัง การพาตัวเองเข้าโครงการ Google Science Fair แต่ต้องต่อสู้เพื่อพัฒนาตัวโปรเจ็คต์ แต่ทั้งหมดนี้เขาผ่านมาได้เพราะกำลังใจจากคนในครอบครัว และการตั้งคำถามกับตัวเองว่าเขายังเชื่อมั่นในโปรเจ็คต์ของตัวเองอยู่หรือเปล่า ถ้ายังเชื่อ เขาไม่ควรให้การสะดุด ‘ก้อนหิน’ เพียงไม่กี่ครั้งมาทำให้เขาไม่ลุกขึ้นสู้ต่อ
ฮับบอกว่า สิ่งสำคัญในการต่อสู้ของเขาคือ passion และ การลงมือทำ เพราะต่อให้ล้มอีกกี่ครั้ง ถ้าเขายังมีสองสิ่งนี้อยู่ เขาจะต่อสู้กับมันได้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
“So if you are not prepared to be wrong, you will never come up with anything original because when you get older, you may become frightened of being wrong.”
“Ideas are not for dreaming, it’s for doing”
อู๊ด-อำนาจ ศรีสังข์: โชคชะตาที่กำหนดเอง
หลายคนรู้จักเขาในฉายาโอซีอุส (Ozeeoos) แรปเปอร์สายตาพิการที่แต่งเพลงจีบหญิงตั้งแต่ ป.2 ที่มีผู้ติดตามในยูทูบเบอร์ราวสองแสนคน อำนาจขึ้นพูดบนเวทีเล่าการเดินทางมาเป็นแรปเปอร์ชื่อดังในวันนี้ว่าต้องผ่านอะไรมาบ้าง ทั้งคำพูดเชิงดูถูกอันเนื่องจากความพิการ และคำพูดที่คนทั่วไปคิดว่าธรรมดาและพูดได้แต่คิดให้ดีแล้วคำพูดเหล่านี้ไม่ต่างกับคำดูถูก เช่น “ดูสิ ขนาดตาบอดยังทำ…ได้เลย แล้วทำไมคนปกติถึงจะไม่ทำ”
อำนาจบอกว่าเขาเป็นผู้พิการทางสายตาก็จริงอยู่ และก็เพราะประสบการณ์แบบนั้นทำให้เขาเป็นโอซีอุสในวันนี้
“จริงๆ แล้วผมไม่ต้องรู้สึกต่อคำพูด (เชิงดูถูก) พวกนี้ก็ได้ แต่ว่าผมดันรู้สึก ไอ้บ้านี่มันยังดันรู้สึกว่าอยากสร้างคุณค่าให้ตัวมันเอง ยังรู้สึกว่ามีอะไรที่อยากทำ ยังมีความฝันที่อยากไป ยังมีจุดหมายที่อยากไปถึง ผมไม่สนใจครับ ผมจะแบกความฝันของผม ทลายกรงและกรอบที่คนอื่นบอกว่าผมเป็นอย่างนี้ ผมต้องทำอย่างนี้ และออกไปสร้างสิ่งที่ผมต้องการเอง แม้ว่ามันจะเจ็บปวดแต่ผมดีใจทุกครั้งที่ได้ทำ”
และทั้งหมดนี้อาจบอกได้ว่า ทำไมเราจึงควรลบมายาคติแห่งคำว่า ‘เด็ก’ ทิ้งไป เพราะเสียงและเรื่องราวจากสปีกเกอร์ทั้ง 11 คน ไม่ใกล้เคียงกับ ‘ความคิดของเด็ก’ ในมุมที่ผู้ใหญ่คาดหวังว่าจะมาจากพวกเขาเลย
นิยามว่า ‘เด็ก’ หรือไม่ คงไม่ได้มาจากอายุเสียแล้ว
3 อีกหนึ่งความน่าสนใจของงานคือนิทรรศการและกิจกรรมที่จัดให้ผู้เข้าชมได้ไปแลกเปลี่ยนส่งเสียงทั้งความอึดอัดคับข้องในการเป็น ‘เด็ก’ ที่ถูกกด pause ในประเด็นต่างๆ และชวนส่งเสียงถึงกิจกรรมโดยเยาวชนที่คิดว่าเป็นข้อดี สร้างสรรค์ หรือส่งต่อกำลังใจจากวัยรุ่นถึงวัยรุ่น โดยแบ่งเป็น 7 ด่านดังข้อมูลข้างล่าง และขีดเส้นใต้เอาไว้ว่านิทรรศการทั้งหมดนี้จัดทำขึ้นโดยเยาวชนทั้งหมดเลย กิจกรรมหน้างานมีดังนี้ 1. Whose Voice: ห้องลับที่ให้เข้าไปฟังคำพูดและเดาว่า เจ้าของความคิดเป็นใครกันนะ วิธีคิดที่จริงจังและก้าวหน้าแบบนี้ เป็นของเด็กหรือผู้ใหญ่กันแน่ 2. Your Current Track: ปัญหาคลาสสิกของการเป็นวัยรุ่นคือการทะเลาะกับคนที่บอกว่าเป็นผู้ใหญ่ แต่ที่ทะเลาะเป็นเพราะอะไรกันนะ ด่านนี้ทำหน้าที่ชวนผู้มาร่วมงานร่วมกันโหวตว่า คนแต่ละรุ่นให้คุณค่ากับเรื่องอะไรมากที่สุด ซึ่งสุดท้ายโพลนี้อาจทำให้ความเข้าใจระหว่างคนแต่ละรุ่นเพิ่มมากยิ่งขึ้น 3. The Unheard Track: ฟังเสียงของเยาวชนไทยว่าพวกเขาอยากบอกอะไรกับสังคม 4. Chat to Share: ชวนคนมาร่วมวงสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและใครจะรู้ มันอาจนำมาซึ่งไอเดียดีๆ อีกมาก 5. Playlist of School: บอร์ดที่ให้คนในงานมาแชร์ว่าความหมายของคำว่า ‘โรงเรียน’ ของแต่ละคนเป็นอย่างไร 6. Dream & Do: บอร์ดที่ชวนคนมางานมาเขียนความฝันของตัวเอง และให้คนที่มางานช่วยเขียนคำแนะนำต่อความฝันนั้นๆ 7. Grab & Go: บอร์ดที่ส่งต่อวิธีการช่วยเหลือสังคมตามหัวข้อที่สนใจ เช่น ปัญหาคนพิการ คนชรา ปัญหาการศึกษา |