- แบบไหนไปหานักจิตวิทยา แล้วหนักหนาแค่ไหนถึงต้องไปหาจิตแพทย์ ? คุยกับ ‘เม’ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ ช่วยอธิบายความเหมือนและแยกความต่างระหว่างนักจิตวิทยากับจิตแพทย์
- พ่อแม่-เด็กเล็ก-วัยรุ่น ทุกคนมีปัญหาสุขภาพจิตได้หมด จึงเป็นที่มาของการเปิด ‘ห้องเรียนครอบครัว’ เพื่อให้การบำบัดเชิงกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและให้ความรู้ครอบครัวโดยใช้จิตวิทยาเชิงบวก
- “เราไม่สามารถอ่านใจใครได้ เราไม่ได้รักษาเพียงคนไข้จิตเวช เราไม่ได้มีคำตอบให้กับทุกปัญหา” คุณเมบอกว่า ถึงที่สุดแล้ว นักจิตวิทยาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งซึ่งเรียนรู้ที่จะเข้าใจตัวเองและเข้าใจผู้อื่นด้วยใจที่เป็นกลาง
ภาพถ่าย: เฉลิมพล ปัญณานวาสกุล
ทุกวันนี้ความเครียด โรคซึมเศร้า ปัญหาสุขภาพจิต เป็นเรื่องใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นวัยทำงาน วัยรุ่น พ่อแม่ เด็กเล็ก ทุกคนสามารถมีปัญหาสุขภาพจิตได้ แม้สังคมยอมรับและเปิดกว้างกับการไปรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ว่าเป็นเรื่องปกติมากขึ้น แต่ก็อาจมีความเข้าใจผิด ความกลัว หรือสับสนว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรขอคำปรึกษา? พ่อแม่คาดหวังมากเกินไป หรือเป็นแค่ความเอาแต่ใจของเด็ก? แล้วมันหนักหนาขนาดต้องไปหาหมอเลยหรือเปล่า?
อีกหนึ่งทางเลือกช่วยรักษาอาการทางใจคือ “นักจิตวิทยา” ที่พร้อมเป็นเพื่อนเคียงข้างรับฟังทุกปัญหา แล้วนักจิตวิทยาแตกต่างกับจิตแพทย์อย่างไร เขาจะช่วยเราบรรเทาอาการทางใจได้อย่างไร ห้องเรียนครอบครัวคืออะไร ‘เม’ เมริษา ยอดมณฑป เจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ จะมาอธิบายใฟ้ฟัง
“นิตยสารการเลี้ยงลูกและตำราเลี้ยงเด็กของคุณหมอต่างๆ” คือหนังสือเล่มโปรดของเม มาตั้งแต่เริ่มอ่านหนังสือออก
“เราสนใจเรื่องพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย มันน่าแปลกใจที่ผู้ใหญ่อย่างคุณหมอรู้ว่าเด็กต้องการอะไร นอกจากนั้น เมื่อเราชอบ ยิ่งทำให้อยากรู้เกี่ยวกับพัฒนาการ พฤติกรรมของเด็ก”
จนจบ ป.6 จากโรงเรียนเน้นวิชาการทั่วไป ด.ญ.เมริษา จึงเดินเข้าไปบอกพ่อแม่เองว่าต้องการไปเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนทางเลือก พ่อแม่ก็เป็นห่วงว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือไม่
“แล้วที่ผ่านมา เมเคยทำให้เป็นห่วงเรื่องการเรียนไหม” เมื่อคำตอบคือไม่ ด.ญ.เมริษาก็ได้ย้ายโรงเรียนสมความตั้งใจ
มัธยมปลาย เมมีโอกาสสำรวจความชอบและความสนใจของตัวเองเสมอๆ ตั้งต้นจากการที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้น ม.4 ไปฝึกงานที่ตัวเองสนใจในช่วงปิดเทอม ตอนนั้นเมสนใจอาชีพจิตแพทย์ และได้ลองฝึกงานแพทย์ในต่างจังหวัด จนรู้ว่าตัวเองไม่เหมาะ เพราะกลัวการที่คนไข้อาเจียนมาก (Emetophobia) จึงหันหัวเรือมาที่ ‘นักจิตวิทยา’
“น่าจะตรงกับเราเพราะเป็นเรื่องกระบวนการ การติดตามผลต่อเนื่องระยะยาว เห็นพัฒนาการอย่างใกล้ชิดของคนไข้ ตรงกับใจเรามากกว่า”
จบปริญญาตรีจากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมไปศึกษาต่อปริญญาโท ด้าน Early Intervention in Psychosis หรือ การป้องกันแทรกแซงก่อนเกิดจิตเวช ที่ King’s College London (KCL) ประเทศอังกฤษ
ปัจจุบัน เมริษา วัย 27 เป็นนักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว ก่อตั้งพื้นที่เล็กๆ ร่วมกับ ‘มาร์ค’ สิริสักก์ เจริญรวิภักดิ์ นักกิจกรรมบำบัด ชื่อ ‘ห้องเรียนครอบครัว’ เพื่อให้การบำบัดเชิงกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและให้ความรู้ครอบครัวโดยใช้จิตวิทยาเชิงบวก
และเป็นเจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ เพจที่อยากให้ทุกคนเข้าถึง ‘นักจิตวิทยา’ ได้มากขึ้นในฐานะ ‘เพื่อน’ แปลกหน้า ผู้เคียงข้างและรับฟัง
“นักจิตวิทยาคือคนแปลกหน้าที่พร้อมเป็นเพื่อนร่วมทาง ในวันที่เรายังไม่เจอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” คุณเม นิยามไว้เช่นนี้
การป้องกันแทรกแซงก่อนเกิดจิตเวช ที่คุณเมเรียนจบมา มีเนื้อหาคร่าวๆ อย่างไร
ถ้าเป็นสมัยเรียน ‘Early Intervention in Psychosis’ คือการให้การแทรกแซง (ช่วยเหลือ) ป้องกันก่อนการเกิดโรคทางจิตเวช ซึ่งก็คือการทำงานเชิงรุกเพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ที่มีแนวโน้มเสี่ยง/มีอาการเริ่มแรกของจิตเวช (First Symptoms of Psychosis) โดยใช้การบำบัดผ่านเครื่องมือทางจิตวิทยา เช่น การให้คำปรึกษา (counselling) การปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ประเทศอังกฤษ เขาบอกว่ารายจ่ายที่รัฐบาลจะต้องจ่ายให้กับโรงพยาบาลของผู้ป่วยจิตเวชหรือยาผู้ป่วยจิตเวชมันมหาศาลมาก เลยตั้งศูนย์ Early Intervention มาเพื่อป้องกัน คัดกรองเบื้องต้น (screening) ก่อน ยังไม่เป็น ไม่เป็นไร แต่คุณมีแนวโน้ม เช่น ปัจจัยเสี่ยง ครอบครัว พ่อแม่เป็นโรคซึมเศร้า ลูกก็ควรจะเข้ามาเจอกับเราละ หรือสามารถที่จะทำอะไรเพื่อป้องกันได้ ก็เข้าไปตามโรงเรียน แล้วก็ให้โปรแกรมว่าต้องมีนักจิตวิทยาที่โรงเรียนนะ เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นไม่ให้มันเลยเถิดถึงขั้นต้องกินยาหรือเข้าโรงพยาบาล เพราะโรคจิตเวชเมื่อเป็นแล้วไม่หายขาด ถ้าร่างกายจิตใจอ่อนแอ ในอนาคตก็สามารถกลับมาเป็นได้อีก
ส่วนแนวทางการทำงานปัจจุบันคือ ‘Early Intevention’ อธิบายสั้นๆ เราทำงานเชิงป้องกัน หมายถึง ป้องกันตั้งแต่เด็ก เช่น 5 ปี โรคสมาธิสั้น หรือโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเข้าสังคม ส่วนใหญ่เราจะพบปัญหากับเด็กประมาณ 5-6 ปี เพราะเด็กอนุบาลยังช่วยเหลือตัวเองไม่เป็น พัฒนาการด้านสังคมบางอย่างยังไม่พัฒนา แต่เด็ก ป.1 ขึ้นไป จะมีการนั่งเรียน สื่อสารกับเพื่อน การทำโครงงาน เลยทำให้การวินิจฉัยโรคจะเกิดชัดในช่วงนี้
ความแตกต่างระหว่างจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคืออะไร
1. การเรียนต่างกัน นักจิตวิทยาเรียนเป็นวิทยาศาสตรบัณฑิต หรือบางทีก็เป็นศิลปศาสตร์ ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยและหลักสูตร แต่จิตแพทย์ต้องจบแพทย์ แล้วเรียนต่อเฉพาะทางด้านจิตแพทย์
บางที่ถ้าเป็นจิตเวชผู้ใหญ่อาจจะเรียนจำนวนปีน้อยกว่าจิตแพทย์เด็ก เช่นที่สหรัฐอเมริกา จิตแพทย์เด็กจะเรียนนานกว่า แต่ถ้าเป็นนักจิตวิทยา ในเมืองไทยจบปริญญาตรีสาขาจิตวิทยาคลินิก แล้วฝึกงานจบก็ไปสอบ license ได้ หรือบางทีก็จบ ปริญญาตรีแล้วไปต่อปริญญาโท เช่นที่มหิดล (คณะแพทยศาสตร์ สาขาจิตวิทยาคลินิก) ฝึกงานจบแล้วก็สอบ license ได้ แต่ของเมไปเรียนโทที่อังกฤษ ทางเดียวที่จะสอบ license ได้คือจบปริญญาเอก Doctoral of Clinical Psychology เท่านั้น
2. ถ้าเป็นจิตแพทย์ ชัดๆ เลยคือสามารถจ่ายยาได้ แต่นักจิตวิทยาจ่ายยาไม่ได้ ยกเว้นบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เฉพาะรัฐนิวเม็กซิโกและหลุยส์เซียนา นักจิตวิทยาคลินิกสามารถจ่ายยาได้ แต่ที่ประเทศไทยไม่ได้เด็ดขาด
3. แพทย์สามารถสั่ง process บางอย่างที่ต้องใช้เครื่องมือได้ เช่น ECT-Electroconvulsive Therapy เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ช็อตไฟฟ้า (วิธีการรักษาโดยใช้กระแสไฟฟ้าที่มีความเข้มข้นต่ำผ่านสมองในระยะเวลานั้นๆ เพื่อกระตุ้นให้สารสื่อประสาทภายในสมองกลับมาหลั่งตามปกติ) แต่นักจิตวิทยาทำไม่ได้ แต่นักจิตวิทยาจะใช้เครื่องมือในเชิงบำบัด (therapy) คนไข้มากกว่า เช่น การพูดคุย (counselling), play/art therapy กับเด็ก, psycho therapy ฯลฯ การบำบัดจะมีหลายทฤษฎีมากๆ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะถนัดสายไหน ซึ่งเมจะไปทางด้านเด็ก ตอนจบปริญาโทเลยเรียนต่อด้าน play therapy เหมือนไปเรียนเครื่องมือเพื่อช่วยเยียวยา บรรเทา และช่วยป้องกันแทรกแซงก่อนเกิดจิตเวชในเด็ก
4. แพทย์จะให้คำวินิจฉัยได้ เช่น คุณเป็นโรคอะไร แต่นักจิตวิทยาจะช่วยคัดกรองโรค (screening test) เพื่อตัดข้อบ่งชี้ว่าไม่ใช่โรคนี้นะ ตัดข้อที่เป็นไปได้ทั้งหมดเพื่อช่วยแพทย์วินิจฉัยได้ชัดเจนว่าเป็นโรคนี้แน่ๆ ถ้าอธิบายสั้นๆ แบบโรคทางกายว่า คุณน้ำมูกไหล ไม่ได้เป็นเพราะไซนัสหรือเป็นภูมิแพ้นะ แต่เป็นเพราะว่าคุณเป็นหวัด คือนักจิตวิทยามีหน้าที่ตัดเรื่องไซนัส ภูมิแพ้ออก แล้วแพทย์ก็วินิจฉัยว่าเป็นหวัด
เพราะนักจิตวิทยาอาจจะมีเวลาสังเกตและประเมินคนไข้มากกว่าจิตแพทย์ จึงมีโอกาสมองคนไข้แบบองค์รวมมากขึ้น
ถ้าสงสัยว่าตัวเองจะเป็นซึมเศร้า เราสามารถไปหาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา คนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวได้ไหม หรือจำเป็นต้องไปควบคู่กัน
นำมาสู่ข้อ 5 ค่ะ จิตแพทย์จะดูว่าอาการนี้เป็นซึมเศร้าหรือเปล่า ระดับความรุนแรงเป็นอย่างไร คือจิตแพทย์ นักจิตวิทยาจะอยู่ในโซนนี้เลย ถ้าโรคมันรุนแรง (severe) มาก ในลักษณะ brain injury สมองได้รับความกระทบกระเทือน ส่งผลให้สารเคมีในสมองหลั่งผิดปกติ จนส่งผลต่อบุคลิกภาพ (personality) หรือโรคที่ค่อนข้างร้ายแรงที่เกิดชัดเจนทางร่างกายซึ่งส่งผลต่อจิตใจ/จิตใจส่งผลต่อร่างกายแล้ว ถึงขั้นจะฆ่าตัวตาย จิตแพทย์ต้องดูแลก่อน อาจจะต้องใช้ยาปรับสารเคมีในสมองด้วย หรือจะต้องแอดมิท จิตแพทย์ก็ต้องดูแล
แต่พอแพทย์ดูแลจนดีระดับหนึ่งแล้ว คนไข้สามารถรับฟังและควบคุมตนเองได้ดีระดับหนึ่ง เมื่อคนไข้ต้องการกลับไปใช้ชีวิตปกติ ระยะนี้นักจิตวิทยาจะมาช่วยดูแล คล้ายๆ ว่า ถ้าคนโดนรถชนมา แพทย์จะดูแลให้พ้นขีดอันตราย แต่พอจะให้กลับไปเดินได้ก็เป็นงานของนักกายภาพบำบัด ก็คือนักจิตวิทยา
ดังนั้นจิตแพทย์และนักจิตวิทยาต้องทำงานร่วมกัน แพทย์จะได้รับการสอนว่าจะต้องรักษาอาการที่อันตรายต่อคนไข้ก่อน เหมือนถ้าเราเป็นแผลมาแพทย์ต้องเย็บเดี๋ยวนี้ แล้วหลังจากนั้นการช่วยให้คนไข้ปรับตัวเข้าสู่ชีวิตปกติ นักจิตวิทยาจะมาช่วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้าน ความสัมพันธ์กับผู้อื่น/ครอบครัว, ปรับตัวเข้าสู่สังคม, ปรับความคิดเพื่อปรับพฤติกรรม เป็นต้น
มีจิตแพทย์ที่สามารถทำหน้าที่เป็นนักจิตวิทยาได้ด้วยไหม
งานของเราอาจจะเป็นชิ้นเดียวกันแต่คนละขั้นตอน คนไข้คนเดียวกันแต่ดูแลคนละช่วงเวลา
จิตแพทย์จะเรียนมาเพื่อรักษา เช่น เรื่องของสารเคมีในสมอง แพทย์บำบัดรักษาได้ แต่ในระยะยาว การที่จะปรับคนคนหนึ่งให้เข้าสู่สังคม จะมีมากกว่านั้น เช่น การสื่อสาร เข้าใจคนอื่น การปรับตัวสู่สังคม/ความสัมพันธ์/ความหมายของการมีชีวิตอยู่ เพื่อช่วยให้เขาไม่กลับสู่วงจรเดิมที่เลวร้ายอีก นักจิตวิทยาจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในส่วนนี้
ลงลึกถึงเนื้องานของนักจิตวิทยา น่าจะเริ่มจากการฟังก่อนใช่ไหมคะ
จริงๆ การฟังเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะมนุษย์เราเกิดมาเพื่อพูด การฟังมีหลายระดับ เช่น การฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) , การฟังธรรมดา
ถ้าเราอยากจะฟังเพื่อช่วยเขาแก้ปัญหาก็เป็นการฟังในระดับทั่วไปหรือระดับธรรมดา เช่น ลูกมาปรึกษาแม่ว่าหนูมีปัญหาเรื่องทำโครงงาน อันนี้เราก็ฟังเขาแล้วก็ช่วยคิด แม่ว่าลองทำแบบนี้ไหม
การฟังระดับธรรมดาจะใส่ความเป็นตัวเองลงไปด้วย เช่น ข้อแนะนำหรือใส่ความเห็นของเราลงไป ถามว่ามีประโยชน์ไหม ก็มีประโยชน์ในกรณีที่เขาขอความช่วยเหลือและให้ช่วยแก้ปัญหา แต่มันจะไม่มีประโยชน์และอาจจะเป็นผลเสียมากถ้าเขาไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือหรือแก้ปัญหา อันนั้นอาจต้องเป็นการฟังแบบ deep listening
กรณีนี้เขาต้องการให้ฟังเพื่อบรรเทา ต้องการระบายออก ไม่ต้องการความเห็นเรา เช่น ถ้าคนไข้คนหนึ่งจะฆ่าตัวตาย แล้วมาบอกว่า เฮ้ย มันเหนื่อยมากเลย ชีวิตไม่ไหวแล้ว แล้วเราไปพูดว่าแกต้องสู้สิ ฉันยังสู้มาได้แล้วเลย เขาก็บอกว่า เราสู้มาเต็มที่แล้วแกไม่เห็นเหรอ คือบางครั้งเราเอาตัวเราไปตัดสินว่าเขายังสู้ไม่พอ ทั้งๆ ที่เขาสู้มานานแล้ว ความเข้มแข็งทางใจของแต่ละคนไม่เท่ากัน อย่าใช้ตัวเราตัดสินใคร
การดูแล้วก็ตัดสินโดยใช้ความเห็นเรา นั่นคือการฟังแบบธรรมดา แต่ถ้าเป็น deep listening เราจะคิดว่าเขามีเหตุจำเป็น มีเหตุผลที่จะต้องทำแบบนั้น ดังนั้น deep listening คือเคียงข้างอย่างปราศจากอคติ เราเป็นกระจก อันนี้จะเป็นหน้าที่นักจิตวิทยาส่วนใหญ่ เราฟังแล้วสะท้อนในสิ่งที่จำเป็นและสำคัญเพื่อช่วยให้อีกฝ่ายมองเห็นตัวเองและปัญหาได้ชัดเจนขึ้น
ทำไมการมองเห็นตัวเอง จะช่วยให้เขาแก้ปัญหาของตัวเองได้
คนไข้อาจจะเหมือนพายเรืออยู่ในอ่าง แต่เขาไม่รู้ตัว ถ้าเราเป็นกระจกสะท้อนให้เขามองเห็นตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ เขาจะรู้ตัวและหาวิธีขึ้นมาจากอ่างนั้นเอง
แล้วทำไมเราไม่ช่วยเขาให้ขึ้นมาเลยล่ะ? การที่เขาขึ้นมาเอง ตัวเขาได้เลือก (individual choice) และทำมันเอง เขาจะกลายเป็นผู้ควบคุมชะตาชีวิตของเขาเอง ไม่ใช่เรา แต่เราจะเคียงข้างจนกว่าเขาจะเจอคำตอบหรือแสงสว่าง
deep listening จึงเป็นการเคียงข้าง รับฟัง และสะท้อนตัวตนของเขา อันนี้จะเป็นการบำบัดอย่างหนึ่งด้วยซ้ำ เพื่อให้คนไข้รู้ตัวว่าเขาเป็นยังไง
deep listening จึงต่างกับการฟังเพื่อช่วยแก้ปัญหา เราไม่ได้ให้ความเห็นหรือแนวทางใดๆ เลย เพราะแต่ละคนมักมีคำตอบในใจ และรอที่จะเดินไปหาคำตอบนั้น เพียงแค่เวลานี้เขายังไม่พร้อมเดินไปข้างหน้า แต่มันมีประโยชน์กับคนที่ต้องการระบายออก บางทีเราไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าคนที่มาอยู่ข้างๆ เรา
อาจารย์จะชอบยกตัวอย่างว่า คนหนึ่งกำลังจะฆ่าตัวตาย มีเพื่อนสองคนเดินเข้ามา เพื่อนคนแรกบอกว่า เฮ้ย ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวไปวัดกับเรา มันดีขึ้นแน่นอน เชื่อเราสิ กับคนที่สองมาแล้วพูดแค่ว่า อืม มันเหนื่อยเนอะ แต่ไม่เป็นไร ไม่ว่าแกจะทำอะไรเราจะอยู่ข้างๆ แกเอง นั่นคือคำที่นักจิตวิทยาใช้
ในกรณีที่เราประเมินแล้วว่า เขามีแนวโน้มจะทำร้ายตัวเองจริงๆ (มีอุปกรณ์พร้อมหรือเราสู้แรงเขาไม่ได้) เราจะติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลแผนกฉุกเฉินทันที หรือ พาเขาไปโรงพยาบาลทันที)
วิธีทั้งสองให้ผลแตกต่างกันอย่างไร
แม้เพื่อนทั้งสองจะหวังดีกับเพื่อนคนนี้ทั้งคู่ แต่เพื่อนคนแรกนำเสนอวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งข้ามขั้นตอนและยังไม่เหมาะสมกับเวลาดังกล่าวเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตามวิธีการแก้ปัญหาก็ควรจะเกิดจากเจ้าตัวเลือกเอง เราควรเพียงเสนอทางเลือก แต่ไม่ควรยัดเยียดแนวทางของเราให้ใคร
‘การนั่งสมาธิ’ เป็นอีกหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาที่ดีเพื่อให้เรามีสติรู้เท่าทันอารมณ์และจัดการอารมณ์นั้นได้ดีขึ้น นอกจากนี้มีอีกหลายๆ วิธีแก้ปัญหาที่สามารถช่วยเราได้ และได้ผลระยะยาว
แต่ ณ ขณะที่คนคนหนึ่งกำลังจะฆ่าตัวตาย สิ่งที่คนคนนั้นต้องการอาจจะไม่ใช่ ‘วิธีแก้ปัญหา’ แต่เป็น ‘การรับฟัง’ และ ‘การเคียงข้าง’ เพื่อเยียวและบรรเทาความหนักหนาทางใจก่อน จากนั้นเราจะมุ่งช่วยชีวิตคนคนนี้
จิตแพทย์สามารถช่วยจ่ายยาปรับสารเคมีในสมองก่อน หลังจากนั้นจึงมาหาทางออกร่วมกัน นักจิตวิทยาอาจจะช่วยเสนอทางเลือกต่างๆ ระหว่างทางก็ช่วยกันปรับเปลี่ยนความคิด สะท้อนตัวตนให้เขามองเห็นตัวเองและปัญหาได้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้เขาได้เลือกวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับชีวิตของตัวเอง ไม่ใช่นักจิตวิทยาที่จะเลือกให้กับเขา
วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด สำหรับแต่ละคนอาจจะเหมือนหรือไม่เหมือนกันก็ได้ แต่วิธีนั้นนำพาเราไปสู่ ‘ตัวตนที่เราชอบมากขึ้น’ เรารักและเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้นก็เพียงพอแล้ว
เมื่องานของนักจิตวิทยาเริ่มจากการฟัง แต่ละเคสก็จะมีวิธีการบำบัดที่แตกต่างออกไป อยากให้คุณเมเล่าเนื้องานคร่าวๆ ให้ฟัง
บางครั้งเด็กไม่พร้อม แต่ผู้ใหญ่คาดหวังให้เขาพร้อม
งานเราคือการเข้าหา บางทีก็แค่อยู่เฉยๆ เช่น วันนี้ เด็กบางคนไม่พร้อมเรียน เราก็โอเค หนูไม่พร้อมเรียน พร้อมเมื่อไหร่หนูก็ลุกขึ้นมา เราไม่ได้เร่งรัด มันเป็นขั้นตอนที่เร่งรัดไม่ได้ แต่ถ้าเกิดความสัมพันธ์แล้วมันจะเกิดไปตลอด แปลว่าเราพูดอะไร มันเกิดการเชื่อใจ เกิดการวางใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเราจะไม่ทำร้ายเขา เราจะไม่ทำอะไรที่เขาจะรู้สึกแย่ หลายคนไม่เชื่อใจใคร เข้ามาเขาก็นั่งเงียบๆ แล้วก็นั่งเขี่ยโต๊ะ เราก็นั่งดูเขา บางทีเราสะท้อนผล เขาเขี่ยมา เราก็เขี่ยมั่ง เขาก็หันมาดูว่าเราทำอะไร สักพักเขาลองจับหน้า เราก็จับหน้าบ้าง เขาก็ดู
เราให้ความสนใจเขาร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ไม่ใช่แบบอึดอัด เป็นการสะท้อนและสร้างความสัมพันธ์ทางกาย บางทีไม่ใช่คำพูด ไม่ใช่เรื่องของการฟัง เป็นการรับมือว่าเขามีตัวตนนะ เขาคือตัวตนที่มีค่าที่สุดในห้อง เขาได้รับความสนใจร้อยเปอร์เซ็นต์จากเรา อันนี้คือในเด็กนะ ในผู้ใหญ่จะไม่เหมือนกัน
ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่ เขาจะเข้ามาหาเราแล้วพูดเยอะมาก สิ่งที่เขาจะไม่พูดเลยคือสิ่งที่เก็บไว้ในใจ จะพูดทุกอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่ในใจ จนกว่าเขาจะเชื่อใจเรา เขาจะพูดสิ่งนั้นออกมา
แต่ในเด็กตรงกันข้าม ถ้าเขาไม่อยากพูดก็จะไม่พูดออกมาเลย ซื่อตรงกับความรู้สึก เด็กจะดีตรงที่เราสามารถเข้าถึงเขาง่ายกว่า ไม่ชอบก็บอกว่าไม่ชอบ ไม่อยากทำก็จะพูดเลยว่าไม่อยากทำ ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่การจะทำให้เด็กเชื่อใจเรา ต้องใช้เวลา และเราต้องเฟิร์ม ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กทำอะไรก็ได้ อะไรที่เป็นกรอบของเรา เช่น ไม่ปีนโต๊ะ เราก็แค่บอกว่า ลงมาค่ะ แล้วจับเขาลงมา หรือเด็กบางคนที่เข้ามา เขาพยายามทำร้ายตัวเอง ก็พูดชัดๆ ไปเลยว่าครูเมจะกอดหนูไว้ จนกว่าครูเมจะแน่ใจว่าหนูจะไม่ทำให้ตัวเองเจ็บ ถ้าหนูพร้อมครูเมจะปล่อย
พอเด็กเริ่มเชื่อใจ ขั้นที่สองคือจับคู่ตัวเรากับความสุข ความสนุก เช่น เจอหน้าเราก็ เฮ้ย เดี๋ยวจะได้เล่นอะไรสนุกๆ แล้ว อันนี้ใช้กับพ่อแม่ก็ได้ คือจับคู่ตัวเรากับสิ่งที่มันสนุก ถ้าตัวเราไม่สนุกหาอะไรที่เด็กชอบแล้วเอามาเล่นกับเรา ทุกครั้งที่จะเล่นปราสาททรายจะต้องมีครูเม ทุกครั้งที่จะเล่นของเล่นชิ้นนี้ต้องมีแม่ ทุกครั้งที่จะอ่านหนังสือเล่มโปรดจะต้องมีเรา
พอเขารู้สึกว่าความสุข สนุกมันคู่กับเรา เราจะเริ่มสอนเขาได้ละ เริ่มจากสอนในสิ่งที่ง่ายๆ ก่อน แล้วค่อยเริ่มกลางๆ ระดับเดียวกับเขา แล้วค่อยพัฒนา เราไม่ได้เอาเกณฑ์มาตรฐานมาเริ่มกับเขา แต่จะดูว่าเขามีพื้นเท่าไหนก็เริ่มเท่านั้นไปก่อน
แต่ถ้าเป็นเรื่องการรับฟัง เราจะเริ่มจากการไม่ถามคำถาม เขาอยากเล่าอะไรเราฟัง แล้วเขาถามอะไรเรา เราจะพยายามสะท้อนสิ่งที่สำคัญกลับไป (reflection)
เด็กๆ ส่วนใหญ่ที่เจอจะไม่ค่อยคุยกับพ่อแม่ แต่พอมาเจอเรา เขาก็รู้สึกอยากจะคุยเพราะ หนึ่ง เรารักษาความลับเป็น สอง เราไม่ตัดสินเขา เราฟังอย่างเป็นกลาง เวลาเขาบอกว่าอย่าบอกพ่อแม่นะ เราก็บอกว่ามีข้อแม้ข้อเดียวคือถ้ามันไม่เป็นอันตรายต่อคนอื่นหรือตัวเอง ครูเมก็จะไม่บอก นี่เป็นจรรยาบรรณ
เป็นการรักษาความลับ คำไหนคำนั้น เรารักษาสัญญาเสมอ เช่น เด็กบอกว่า อาทิตย์หน้าอยากอ่านนิทานเล่มนี้เราจะไม่มีวันลืม การรักษาสัญญาทำให้เด็กเชื่อใจเรา
หนึ่งเริ่มสร้างความสัมพันธ์ สองจับคู่ความสุข ขั้นตอนหลังจากนั้นคืออะไร
ขั้นแรกสร้างความสัมพันธ์ สองจับคู่ตัวเรากับสิ่งที่มีความสุข สามเริ่มจากดีมานด์ที่เล็กไปสู่ดีมานด์ที่ใหญ่ สี่คือเรื่องของคำไหนคำนั้น แล้วสุดท้ายคือเรื่องของการรอคอยและอดทน แปลว่าถ้าเราทำซ้ำๆ แล้วผลยังไม่เกิด ก็จงทำต่อไป แต่ถ้าไม่ได้ผลที่ดี เราก็ต้องมาคิดทบทวนแล้วว่าสิ่งที่เราทำไปมันมีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า หรือมีอะไรที่ต้องต่อยอดหรือเปล่า
คนไข้ที่เข้ามาหาคุณเม มาได้อย่างไรบ้าง
ก่อนเปิดห้องเรียนครอบครัว เราก็ติดต่อไปที่โรงเรียนว่าเราขอเข้าไปทำเวิร์คช็อปกับพ่อแม่ได้ไหม ประจวบเหมาะว่าเขากำลังต้องการพอดี เคสแรกคือเด็กวัยรุ่น ม.4-ม.5 พ่อแม่ไม่เชื่อใจลูก ค่อนข้างสอดส่องทุกกระเบียดนิ้ว เด็กเลยไม่อยากกลับบ้าน ไปอยู่บ้านเพื่อนแล้วไม่กลับบ้านเลย แต่เขาเป็นเด็กเรียนดี เรานัดเขาที่สยาม คุยกัน จนเขาเชื่อใจ ยอมกลับบ้าน ขอให้พ่อทำตาม สุดท้ายเด็กคนนี้ก็ดีขึ้น ไม่ต้องการเราแล้ว
จากนั้นก็เป็นวัยรุ่นที่เป็นสมาธิสั้น เขามีปัญหาการปรับตัวเข้ากับสังคม เราเลยคุยกับพ่อแม่เขาว่าเราไม่สามารถช่วยให้ลูกฉลาดขึ้นหรือทำงานวิชาการเก่งขึ้นนะ แต่ให้เขามีความสุขกับชีวิตเขามากขึ้น โอเคไหม ถึงแม้ว่าเขาจะเข้ากับเพื่อนไม่ได้ พ่อแม่ก็โอเค
เราช่วยให้เขาค้นหาตัวเองเจอ เพราะการที่เขาไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ บางทีสังคมนั้นอาจจะไม่ได้เหมาะกับเขาแต่เราพยายามฝืนดันเขาเข้าไปในสังคมเล็กๆ อย่างมหาวิทยาลัย พ่อแม่ก็เลยเก็ทว่าจริงๆ เขาดันลูกเข้าไปในสังคมที่ไม่ใช่ตัวเขาเลย ตอนนี้ก็ดีขึ้น จากนั้นเขาก็เลยบอกปากต่อปากไปว่าครูเมสามารถช่วยเด็กๆ ได้ เด็กๆ ค่อนข้างเชื่อใจกันแล้วก็ไปคุยกับเพื่อน เพื่อนเขาก็มาเจอเรา
แต่ที่มันไปได้ น่าจะเป็นเคสเด็กเล็กที่ได้มาจากการไปทำเวิร์คช็อปเรื่องเล่นกับธรรมชาติ เด็กอนุบาลสองคนหนึ่งไม่กล้าเหยียบหญ้า เราก็ เอ๊ะ มันเกิดอะไรขึ้น จริงๆ การที่เด็กไม่กล้าเหยียบหญ้ามีหลายสาเหตุ หนึ่งคือขาดประสบการณ์ สองคือปรับตัวกับสภาพแวดล้อมไม่ได้ แล้วเขาค่อนข้างเป็นเด็กขี้อายมากแต่อารมณ์รุนแรง คุณแม่เลยพามาหาเรา จากนั้นก็เข้ามาเรื่อยๆ แต่ส่วนใหญ่คือปากต่อปาก
ที่เข้ามาก็มีทั้งพ่อแม่และเด็ก?
เพราะเราเน้นสอนพ่อแม่ คือถ้าเด็กมาเรียน พ่อแม่ต้องมาเรียนด้วย นั่งคุยกับพ่อแม่เป็นชั่วโมง ช่วงหลังๆ เริ่มรู้สึกเหนื่อย พ่อแม่อาจจะมองว่าเหมือนไปส่งลูกเรียนเฉยๆ ไม่ได้เหรอ ทำไมตัวเองต้องมานั่งเรียนด้วย
ที่เมืองไทยพ่อแม่จะชินกับศูนย์ที่เป็นเนิร์สเซอรี ที่เรียนพิเศษ ที่ส่งเด็กไว้แล้วพ่อแม่ก็ไป แต่พอมาเจอเราพ่อแม่จะงงๆ เราให้พ่อแม่ทำการบ้าน เช่น ทำตารางเวลาของลูกกับที่บ้านมา เหมือนไม่สะดวก ไม่มีทางลัดให้เขา ไม่เห็นผลลัพธ์เร็วๆ พ่อแม่ผู้ปกครองก็เลือกไปที่อื่น เพราะเมเน้นกระบวนการที่เกิดในความคิด ในเนื้อตัว ซึ่งจะยั่งยืนกว่าเน้นผลลัพธ์ แต่มันเกิดช้ากว่า บางทีไม่ทันใจพ่อแม่
เพราะเราเน้นลงมือทำ พ่อแม่ต้องมาทำกับเรา “เปลี่ยนลูก พ่อแม่ต้องเปลี่ยนด้วย” ส่วนพ่อแม่ที่อยากให้ลูกเปลี่ยน โดยที่ตัวเองไม่ต้องเปลี่ยนอะไร มันทำไม่ได้ หรือถ้าทำได้จะไม่ยั่งยืน
เมเรียนเป็น Family Counselling – เรียนทั้งระบบครอบครัวมา เรารู้ว่าถึงจะเปลี่ยนเด็กได้ เขาก็จะเปลี่ยนแค่ที่นี่ ดีกับเรา แต่พอกลับบ้านไปเขาก็เหมือนเดิม ปู่ย่าตายายก็ยังป้อนข้าว เด็กก็อ้าปากรอรับข้าวเหมือนเดิม
ถึงจุดไหนที่พ่อแม่ควรสงสัยได้แล้วว่า แบบนี้เพียงพอที่จะเดินเข้าไปหานักจิตวิทยาหรือยัง
หนึ่ง เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข คือเรามีช่วงเวลาที่ทุกข์มากกว่าช่วงที่มีความสุข ในหนึ่งวันเราว้ากไปซักกี่หน ความจริงหนึ่งครั้งต่อวันก็ถือว่าเยอะแล้ว
สอง เราไม่สามารถจัดการลูกเราได้ เราไม่สามารถควบคุมตัวเองให้มีสมาธิหรือรู้สึกปล่อยวางได้ แค่นี้ก็ปรึกษาได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องเกิดปัญหาใหญ่โตว่าลูกทำอะไรที่อันตรายต่อตัวเอง หรือจริงๆ ไม่มีอะไรเลย แต่มาขอคำแนะนำในการเลี้ยงลูกก็ได้ เราค่อนข้างยินดี
ส่วนใหญ่นักจิตวิทยาจะดีใจมากถ้าพ่อแม่ให้ความสำคัญกับพัฒนาการเด็กหรือว่าอยากรู้แนวทางในการเลี้ยง เราเอาลูก เอาวิถีชีวิตของเรามาปรึกษา เราก็จะได้ลักษณะการเลี้ยงดูที่เหมาะสมกับครอบครัวเรา แต่เราก็บอกว่าที่ให้คำแนะนำไปบางทีมันเหมาะกับครอบครัวคุณแม่นะ แต่ไม่เหมาะกับครอบครัวอื่น แค่เด็กก็ไม่เหมือนกันแล้ว
ก่อนจะมาหานักจิตวิทยา คนในครอบครัวจะช่วยอะไรก่อนได้ไหม
แม่ส่วนใหญ่ เจอปัญหาลูกไม่ฟัง ไม่ว่าจะทำพฤติกรรมอะไรก็จะไม่ฟัง ไม่ทำตามคำสั่ง ดังนั้น ข้อแรกต้องดูว่าเด็กไม่ฟังเรามาจากสาเหตุอะไรบ้าง หนึ่งเราคาดหวังเกินวัย เกินความสามารถเขาหรือเปล่า เช่น คาดหวังให้ลูกเงียบ นั่งฟัง อันนี้อาจจะไม่ตรงวัยเขาละ แสดงว่าอาจจะผิดที่เรา ไม่ใช่ผิดที่ลูก
สอง ถ้าคาดหวังตรงตามวัยเขา แต่เขาก็ยังไม่ฟัง เช็คได้เลยว่าความสัมพันธ์ของเรากับลูกช่วงนี้เป็นยังไง มีช่วงเวลาดีๆ กับเขามากกว่าช่วงที่ไม่ดีหรือเปล่า ถ้าไม่มีให้รีบสร้างช่วงเวลาดีๆ เพราะถ้าเด็กรู้สึกรักหรือรู้สึกดีกับใคร เขาจะค่อนข้างฟัง คือพิสูจน์มาด้วยตัวเองว่า เด็กๆ เวลาอยู่กับเราเขามีความสุข ต่อให้ขอให้เขาทำสิ่งที่ไม่ชอบ เขาก็ยินดีทำ พร้อมที่จะเรียนรู้
ข้อสุดท้าย เช็คว่าเขามีอาการทางกายอะไรหรือเปล่า พัฒนาการเขาปกติหรือไม่ เพราะเด็กที่พัฒนาการล่าช้ามักประสบปัญหาในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้เขามีปัญหาพฤติกรรม เช่น ช่วงนี้ผื่นขึ้นเลยหงุดหงิด หรือฟันขึ้น ฟันโยก หรือไม่สบาย ปวดหู อะไรแบบนี้ มันก็ส่งผลต่อจิตใจเหมือนกัน เช่น เวลาผู้หญิงเราเมนส์มาก็ไม่เป็นตัวของตัวเอง ดังนั้น เราก็ต้องเช็คด้วยว่ามีอะไรทางร่างกายที่ทำให้ลูกเรารู้สึกไม่ดีหรือเปล่า
ถ้าเช็คสามข้อนี้แล้วยังไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ปรึกษานักจิตวิทยาก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แก้แค่ข้อแรกกับข้อสองก็โอเคแล้ว
สามข้อนี้แก้กันได้ในบ้าน?
ใช่ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอย่างนั้น แล้วที่สำคัญคือแนวทางเลี้ยงดูเป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือเปล่า ไม่ใช่ปู่ย่าเลี้ยงแบบนึง พ่อแม่เลี้ยงอีกแบบนึง เด็กเกิดความสับสนในสภาพแวดล้อมเดียวกัน ก็ทำให้เขาทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมหรือทำในสิ่งเราไม่ได้ต้องการเหมือนกัน
เด็กที่เข้ามาบำบัด มีหลากหลายเคส คุณเมพอจะอธิบายอาการคร่าวๆ ได้ไหมคะ
ตอนนี้จะเป็นเด็กอนุบาลส่วนใหญ่ เพราะ early intervention เราเชื่อว่า ในเด็ก 3-6 ขวบกราฟ EF ในสมองจะพุ่งขึ้นจะชัดมาก แต่หลังจากนั้นจะเริ่มเรียบ ตรงนี้คือช่วงพัฒนาการสมองเด็กที่จะใส่อะไร จะเปลี่ยนอะไร มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น เราบอกให้เขาเปลี่ยนวันนี้ พรุ่งนี้เขาก็เปลี่ยนแล้ว แต่ถ้าเด็กเจ็ดขวบขึ้นไป เราบอกเขาวันนี้ อาจจะใช้เวลามากกว่าสี่เท่าถึงจะเปลี่ยน
ส่วนใหญ่จะบอกพ่อแม่ที่เป็นเด็กเล็กเลยว่าให้รีบมา เราจะได้รีบปรับกัน เพราะว่าก่อนหกปียังไม่วินิจฉัยโรค ส่วนใหญ่จะวินิจฉัยว่าเป็นสมาธิสั้น เป็นออทิสซึม อันนั้นถ้าบางอย่างเกิดจากพฤติกรรม เกิดจากสภาพแวดล้อม เราเปลี่ยนเขาก่อนจะเป็นโรค ป้องกันได้ ครูเมจะเน้นและพุ่งเป้าไปที่เด็กเล็ก เด็กบางคนไม่มีความสุขกับการไปโรงเรียน เพราะเขาทำอะไรไม่ได้เหมือนเพื่อน พฤติกรรมถดถอย แต่พ่อแม่ไม่ทำอะไร รอจนหกปีแล้วค่อยทำ ความมั่นใจมันเสียไปแล้ว ดังนั้นเราก็เลยเน้นช่วงนี้ ถ้าเราทำได้จะเปลี่ยนเขาไปเลย เปลี่ยนพ่อแม่ด้วย
ส่วนในเด็กโต บุคลิกภาพและตัวตนเขาเริ่มชัดเจนแล้ว เรียกว่ามันแทบจะเสถียรแล้ว สิ่งที่เราทำได้คือ ทำยังไงให้เขามีความสุขกับชีวิตปกติ และทำสิ่งต่างๆ ที่ควรทำได้ตามวัยของเขา
เด็กเล็กส่วนใหญ่ที่เข้ามาคุณเม มาด้วยสาเหตุอะไรบ้าง
ส่วนใหญ่มาด้วยปัญหาเอาแต่ใจ พ่อแม่อยากเสริมความมั่นใจลูก
แต่จริงๆ การเอาแต่ใจก็เกิดจากการที่พ่อแม่ไม่มีตารางเวลา ไม่มีวินัยที่บ้าน และไม่ให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเองตามวัย เลยเอาแต่ใจ เพราะรู้สึกว่าต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดเวลา แต่พอพึ่งพาคนอื่น คนอื่นทำไม่ได้ตามที่เขาต้องการและทำไม่ทันใจ เขาก็เลยหงุดหงิด เอาแต่ใจ
การที่ช่วยเหลือตัวเองได้ก็เป็นการสร้างความมั่นใจเวลาไปโรงเรียน เช่น เด็กเช็ดก้นไม่ได้ก็อั้นอึ เด็กบางคนอั้นอึมาทั้งวันเพื่อมาอึที่คาบครูเม เพราะอึที่นี่รู้สึกปลอดภัย ดังนั้นการช่วยเหลือตัวเองไม่ใช่เรื่องเล็ก เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าทำไม่ได้มันส่งผลกระทบต่อความมั่นใจ ต่อความสุขของเขา
พ่อแม่ไม่รู้ว่าที่ลูกไม่มั่นใจเวลาไปเจอคนแปลกหน้า ไม่กล้าเข้าไปคุย เพราะไม่ให้ลูกช่วยเหลือตัวเองเลย ดังนั้นเด็กที่ไม่ช่วยเหลือตัวเองก็ไม่มีความมั่นใจอยู่แล้ว อยู่ดีๆ จะให้ไปผูกเชือกรองเท้าต่อหน้าเพื่อน เขาทำไม่ได้
รวมถึงพ่อแม่ที่ชอบสั่ง ไม่ให้ลูกได้คิดอะไรเลย …มีอยู่ครั้งหนึ่ง แม่พาลูกมาหาพร้อมบอกว่า “ลูกไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงออก” ตั้งแต่เข้าห้องมาสั่งประมาณ 20 คำสั่งได้ ลูกถอดรองเท้า เอานี่ใส่ไว้ตรงนี้ ถอดถุงเท้า ม้วนด้วย วางที่ชั้นนี้นะ แล้วเดินเข้าไปเช็ดเท้าก่อน ไปล้างมือ ไปฉี่ ปิดประตู ในความเป็นจริง ถ้าแม่ท่านนี้ให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเอง และลดการใช้คำสั่งลง ลูกคงกล้าคิดและแสดงออกมากกว่านี้
คุณเมวิเคราะห์ได้ไหมว่า ทำไมพ่อแม่ถึงทำให้ลูกมีพฤติกรรมแบบนี้
เรารู้ว่าพ่อแม่สมัยเบบี้บูมเมอร์เป็นกังวลเรื่องปากท้องแล้วก็เรื่องมีงานดีๆ ทำ เป็นที่นับหน้าถือตา ดังนั้นจะไม่ให้ลูกทำอะไร ตั้งใจเรียนอย่างเดียว เขาจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือตัวเอง เพราะเขา (พ่อแม่) เชื่อในระบบดีๆ องค์กรดีๆ แล้วลูกจะเป็นใหญ่เป็นโตได้เอง เขาไม่ได้สร้างลูกมาเพื่อให้คิดเองเป็น แต่สร้างลูกมาเพื่อตอบสนองระบบ เพราะฉะนั้นลูกที่เป็นเจนเอ็กซ์ เจนวายก็จะตอบสนองต่อระบบ เราถูกสอนว่าต้องเข้าโรงเรียนดี มหาวิทาลัยชื่อดัง องค์กรที่มีชื่อเสียงจะทำให้ลูกดี ไม่ได้เชื่อในตัวลูก ไม่ได้เชื่อว่าลูกเรามีดีอยู่แล้วโดยไม่ต้องมีตราสัญลักษณ์มาทาบบนตัวของลูก
มาถึงตอนนี้ที่พ่อแม่คือเจนเอ็กซ์ เจนวาย?
เมจึงเข้าใจเลยว่า เพื่อนที่บอกว่าคิดไม่เป็น จริงๆ ไม่ใช่คิดไม่เป็นหรอก มันพยายามคิดแล้วแต่คิดไม่ออก เราไม่ใช่ไม่ขยันแต่เราไม่รู้เลย แปลกมาก แล้วการเลี้ยงดูสมัยเบบี้บูมเมอร์คือผู้ใหญ่ถูกเสมอ เราก็เลยไม่ค่อยมีข้อกังขาอะไร ฟัง
พอเป็นยุคเราเป็นพ่อแม่ก็ก้ำกึ่ง ใจหนึ่งก็อยากฟังลูก อีกใจเราก็โตมาแบบโดนสั่งมา แล้วเราจะต้องทำยังไง พอสับสนปุ๊บก็ทำไม่ดีสักทาง จะสั่งก็ไม่สั่งเลย จะฟังก็ไม่ฟังเลย ก็เลยทำให้เด็กสับสนว่าสรุปพ่อแม่จะเอายังไงกับฉัน ที่สำคัญคือเราไม่รู้ว่าเด็กเดี๋ยวนี้จะต้องทำอะไรมากขึ้นกว่ารุ่นเรามากเลยนะ เช่น เขามีไอแพด สมัยเราอย่างมากก็มีทีวี มีช่วงเวลา 7-10 โมงเช้าคือเวลาการ์ตูน แต่เด็กยุคนี้ดูได้ 24 ชม.
แล้วบางอย่างมันเร็วกว่าสมองพ่อแม่ยุคเจนเอ็กซ์เจนวาย เด็กเล่นสไลม์ คืออะไร สกุชชี่ราคาแพง มันมีเรื่องของวัตถุนิยม เลียนแบบดาราตั้งแต่ยังเล็ก แบบที่พ่อแม่ตามไม่ทัน ยิ่งโลกแคบยิ่งเร็วเท่าไหร่ เรายิ่งตามไม่ทัน
เบบี้บูมเมอร์กินเวลานานมาก เจนเอ็กซ์เจนวายเริ่มแคบลงมานิดนึง แต่เจนแซด เจนอัลฟ่าคือแคบแค่นี้เอง (ทำมือแคบจริงๆ) ต่างกันแค่ห้าปีก็คือเปลี่ยนเจนแล้ว ถามว่าความรู้ที่เราไม่อัพเดทเลย เราจะตามลูกเราทันไหม
ที่ต้องอัพเดทจริงๆ คือเรื่องรายละเอียด แต่โครงสร้างความรู้จริงๆ มันไม่ได้อัพเดท คือพัฒนาการเด็กที่คุณหมอแต่ละท่านพูดว่า ถ้าเรารู้พัฒนาการเด็ก รู้ภารกิจว่าเด็กต้องทำอะไรแต่ละวัย เราก็จะเลี้ยงเขาได้อย่างเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่าง รู้แค่หลักก็พอ โดยเฉพาะ ‘หลักพัฒนาการเด็ก’ เพื่อจะรู้ว่า อะไรสำคัญ/ไม่สำคัญในช่วงวัยดังกล่าว วัตถุ/ของเล่น/เทคโนโลยี ไม่ผิด ผิดที่พ่อแม่นำมาให้เด็กในวัยที่ไม่เหมาะสมต่างหาก
ผ่านเคสและให้คำปรึกษามาเยอะ เชื่อว่าจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเองก็ต้องการการบำบัดเหมือนกัน จะทำอย่างไร
เราไม่เรียกว่าบำบัด เราเรียกว่าช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมก็มี supervisor ทุกวันนี้ก็ยังคุยสไกป์กัน คุยว่าเจอปัญหาอะไร มีอะไรติดค้าง เมเป็นเพอร์เฟ็คชันนิสต์ ชอบความสะอาด ชอบความเนี้ยบ แต่เราไปเจอเด็กที่ดูยุ่งเหยิง ไม่มีระเบียบมาก (messy) มากๆ บางทีเราก็เผลอทำหน้าหงิกหน้างอ เราก็ต้องมาระบายให้อาจารย์ฟังว่า เป็นวิธีการที่ทำให้เราปรับตัวปรับใจ (refresh) ตัวเองจนเราพร้อมรับเคส อารมณ์เหมือนเครื่องยนต์ เวลาเราใช้ไปมากๆ เราก็ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไม่ใช่ว่าใช้ไปเรื่อยๆ
หลักหนึ่งที่นักจิตวิทยาจะมีให้กับผู้มารับคำปรึกษา (client) เราไม่ใช้ sympathy หรือความสงสาร เพราะการที่เราสงสารแปลว่าเราเห็นอีกฝ่ายด้อยกว่าเรา เราไม่ควรรู้สึกเช่นนั้น เพราะเมื่อใดที่เรารู้สึกว่าเราเหนือกว่าใคร เราจะตัดสินอีกฝ่ายและเราจะเผลอควบคุมดูแลสั่งสอนเขาไปด้วย
แต่เราจะใช้หลัก empathy คือความเห็นอกเห็นใจหรือการร่วมรู้สึกไปกับเขา เราพยายามทำความเข้าใจอย่างเป็นกลางมากกว่าไปตัดสินอีกฝ่าย เช่น เขามาหาเรา เขาเหนื่อยใจมามาก เราจะรับฟัง และพยายามทำความเข้าใจว่ามันเป็นยังไงมากกว่าที่จะไปบอกว่า เฮ้ย ทำแบบนี้สิ เราไม่ทำเช่นนั้น แต่เราจะพยายามลองนึกถึงว่า ถ้าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ของเขาดูจะเป็นอย่างไร (put yourself in his/her shoes) แม้จะไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่แค่รู้สึก รับรู้ร่วมกัน
สมมุติว่าเราโดนตี เจ็บแน่ๆ จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเห็นคนไข้โดนตีมา เราไม่ต้องไปตีตัวเอง แต่เราแค่รับรู้ว่าเขาโดนตี มันจะเป็นยังไง ไม่ได้ไปสงสารเขา มองเขาว่าเออ คงซนมากเลย มองเขาอย่างเข้าใจแบบคนระดับเดียวกัน ซึ่งทำไม่ได้ง่าย เพราะส่วนใหญ่เราจะชินกับการสงสาร เช่น เห็นขอทานเราก็สงสารละ เรามองเขาด้อยกว่า แล้วเราจะมองว่าเรื่องที่เขาเจอมันเล็กนิดเดียว ทำไมเอามาเป็นปัญหาในชีวิตได้ แต่ถ้ามองแบบ empathy ปัญหามันหนักนะ อันนี้อาจจะยากเหมือนกัน เมก็ฝึกอยู่
อย่างไรก็ดี ยังมีขอบเขตกำหนดพื้นที่ส่วนตัวของ client กับ therapist อยู่ เราจะไม่ได้ถลำเข้าไปอยู่ในชีวิตของเขาร้อยเปอร์เซ็นต์ เราต้องมีขอบเขตว่าเราจะช่วยได้เต็มที่ในส่วนของเรายังไง
เช่น เราจะไม่พยายามรับของ สมมุติวันนี้เป็นวันเกิดหรือวันนี้พ่อเสียชีวิต เราจะไม่เอาเรื่องนี้ไปคุยด้วย คือเราไม่ใช่คนในชีวิตเขา เราเป็นนักบำบัด และเราควรรักษาขอบเขต (boundary) ของเราไม่ให้ล้ำเส้น client หรือให้ client เข้ามาในชีวิตเรามากเกินไป
วิธีป้องกันตัวเองไม่ให้จมไปกับเรื่องราวของ Client มีอะไรบ้าง
เขียนบันทึก บางทีเราเจออะไรเยอะๆ หนักๆ แล้วเราก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง เราเขียนทุกอย่างที่อยู่ในหัวเราออกมา แล้วค่อยๆ เรียบเรียงว่า เช่น ถ้าเราเจออะไรเยอะๆ เราก็เขียนไปเลย เฮ้ย เครียดว่ะ วันนี้รู้สึกเศร้า บอกไม่ถูก แล้วค่อยๆ โยงไปว่าเกิดจากอะไร เราก็จะค่อยๆ เข้าใจตัวเอง ดังนั้น นักจิตวิทยาจำเป็นต้องเข้าใจในเรื่องของตัวเองเยอะๆ
ตอนเรียนจิตวิทยา เราเรียนเพื่อทำความเข้าใจตัวเอง พอเข้าใจตัวเองชัดเจน แล้วมันจะเข้าใจคนอื่น ถ้าเราเป็นกระจกที่ขุ่นมัว เราจะไม่สามารถสะท้อนอะไรไปได้เลย
เราไม่สามารถอ่านใจใครได้ เราไม่ได้รักษาเพียงคนไข้จิตเวช เราไม่ได้มีคำตอบให้กับทุกปัญหา เพราะนักจิตวิทยาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เรียนรู้ที่จะเข้าใจตัวเองและเข้าใจผู้อื่นด้วยใจที่เป็นกลาง เราจะไม่ยอมแพ้ต่อผู้ที่มาหาเรา และเราจะเคียงข้างกันไปจนสุดทาง หากอีกฝ่ายยินดีและอนุญาตให้เราทำเช่นนั้น