- เมื่อโรงเรียนไม่ตอบโจทย์ พ่อแม่ยุคใหม่จึงต้องขวนขวายสร้างห้องเรียนให้ลูกกันเอง
- เวทีนี้รวมเอาพ่อแม่ที่ต่างคนต่างทำ มาระดมสมองร่วมกัน ออกแบบโรงเรียนพ่อแม่ – เพื่อลูก
- ต้นทุนสำคัญของโรงเรียนพ่อแม่ คือ เปลี่ยนทัศนคติและปลูกความเชื่อใจ พร้อมวิ่งไปกับลูกในโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับคุณเมื่ออายุเท่าไหร่?
“ขึ้นเครื่องบินครั้งแรก” “มีเพื่อนต่างชาติคนแรก” “ใช้กูเกิลโดยไม่ต้องเข้าห้องสมุด” หรือ “ซื้อของโดยไม่ต้องใช้เงินสด”
เหล่านี้คือคำถามสำคัญของนิทรรศการ ในวงเสวนา ‘โลกเปลี่ยนการศึกษายังไม่เปลี่ยน สองมือพ่อแม่สร้างโอกาสการเรียนรู้ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21’ ในงาน TEP Forum 2018 ถึงเวลาเปลี่ยนการศึกษาไทย เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
นิทรรศการชุดนี้พิเศษตรงที่ไม่ได้ให้ผู้ชมเดินดูเพียงอย่างเดียว แต่ให้นำสติกเกอร์แปะไว้ที่ระดับอายุตัวเองในคำถามนั้นๆ แล้วชวนคิดต่อว่า เด็กๆ รุ่นลูกรุ่นหลานจะมีประสบการณ์แบบนี้ตอนอายุเท่าไหร่กัน
คุณแม่ท่านหนึ่งสะท้อนนิทรรศการนี้อย่างน่าคิดว่า “ลูกเป็นพลเมืองโลก แต่เราเป็นพลเมืองไทย”
ประโยคนี้สะท้อนอะไร?
วิทยากรชวนย้อนกลับไปคิดว่า เมื่อโลกพัฒนาไปขนาดนี้แล้ว การศึกษาที่เด็กๆ ในปัจจุบันตอบโจทย์กับโลกที่เปลี่ยนแปลงหรือไม่ และพ่อแม่จะมีส่วนช่วยเรื่องการศึกษาของลูกอย่างไร เมื่อโรงเรียนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเด็ก ‘บ้าน’ ต่างหากคือหน่วยใหญ่ที่สุดสำหรับสร้างฐานที่มั่น
แล้วจะทำอย่างไรให้บ้านเข้มแข็งและสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ฟันเฟืองสำคัญคือพ่อแม่ ที่ต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน เพื่อจัดการศึกษาให้ลูกโดยใช้ประสบการณ์เป็นวัตถุดิบ
คำถามคือ พ่อแม่จะเรียนรู้อย่างไร
คำตอบอยู่ที่ โรงเรียนพ่อแม่
ต้นทุนของ ‘โรงเรียนพ่อแม่’
ในกลุ่มพ่อแม่ที่เข้ามาฟังเสวนา มีหลายคนจัดการเรียนรู้ให้ลูกด้วยตนเอง (home school) และสร้างเครือข่ายพ่อแม่ที่เป็นโฮมสคูลด้วยกันเองเพื่อลบคำสบประมาทว่า “เด็กโฮมสคูลไม่มีสังคม”
พ่อแม่หลายคนมุ่งไปโรงเรียนทางเลือกเมื่อพบว่าการศึกษาในระบบทำให้ลูกไม่มีความสุข เช่น เขียนผิดแล้วถูกครูตี ทำให้ไม่กล้าแสดงออกเหมือนเมื่อก่อน และคิดว่าโรงเรียนทางเลือกจะช่วยนำศักยภาพของเด็กกลับคืนมาพร้อมๆ กับความสุข หรือพ่อแม่บางคนที่มีลูกเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ก็พยายามเสาะหาโรงเรียนที่ลูกจะเรียนร่วมกับเด็กอื่นๆ ได้
นอกจากความพยายามหาวิธีการศึกษาใหม่ๆ แล้ว พ่อแม่หลายคนยังต้องใช้แรงกายแรงใจและเปลี่ยนวิธีการตอบสนองเด็กๆ อย่างเหมาะสม เช่น คุณป้าคนหนึ่งบอกว่า “คุยกับหลานต้องไม่สั่ง มีอะไรก็แลกเปลี่ยนกัน” บางบ้านที่ต้องเลี้ยงลูกที่เป็นเด็กปกติคู่กับลูกที่เป็นเด็กพิเศษ ความน้อยใจเกิดขึ้นกับเด็กปกติ พ่อแม่จึงต้องทำความเข้าใจให้มากขึ้น
ท่ามกลางข้อจำกัดและหนทางที่ต่างกัน พ่อแม่หลากหลายเหล่านี้มางานนี้เพื่อออกแบบ ‘โรงเรียนพ่อแม่’ ร่วมกัน…ผลออกมาคือ ต้องเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ โรงเรียนพ่อแม่แต่ต้องมีลูก
- ต้องเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้
พ่อแม่หลายคนเสนอตรงกันว่า พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ หัวใจสำคัญของโรงเรียนพ่อแม่ ผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น โซเชียลมีเดีย การรวมตัวทำกิจกรรมต่างๆ
ที่สำคัญ พื้นที่นี้ต้องปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยกันสร้างหลักสูตร มีเวทีกิจกรรมร่วมกัน เช่น การจัดการความรู้ อบรมสัมมนา โดยมีผู้เชี่ยวชาญทั้งนักวิชาการและพ่อแม่มากประสบการณ์มาเป็นพี่เลี้ยง บรรยากาศในการคุยเป็นแบบ ‘เพิ่มพลังงานดีให้แก่กัน’ ส่งผลให้กลุ่มโรงเรียนพ่อแม่ขยายไปได้ดี เช่น จัดกันเองในกลุ่มองค์กรที่ทำงาน โรงเรียน ฯลฯ ไม่จำกัดวงแค่กลุ่มพ่อแม่ อาจไปถึง ปู่ ย่า ตา ยาย และใครก็ตามที่ใกล้ชิดเด็ก
ทั้งหมดนี้ มีกฎเหล็กคือ เอาความรู้สึกลูกเป็นหลัก ครอบครัวเองก็ต้องมีความสุขด้วย
- โรงเรียนพ่อแม่แต่ต้องมีลูก
พ่อแม่ไม่ใช่หัวใจเพียงหนึ่งเดียวของโรงเรียนพ่อแม่ เด็กเองควรเรียนรู้เรื่องนี้ด้วย
“เราอาจจะอยากทำอะไรอย่างที่เราอยากให้เป็น แต่บางทีไม่ได้เกิดจากความต้องการของลูก ควรฟังความเห็นของเขาด้วย” อีกเสียงจากพ่อแม่
ร่วมด้วยช่วยกันโดยไม่ต้องรอใคร
คุณยาย – ผู้เข้าร่วมเสวนาท่านหนึ่ง เล่าประสบการณ์ตรงของหลาน เรียนในโรงเรียนสอนจิตศึกษาและ PBL (Problem-based learning) ที่สอนให้เด็กคิดเป็นและคิดวิเคราะห์ ด้วยกระบวนการการศึกษาเช่นนี้คุณยายมั่นใจว่าวันไหนไม่มียายหรือพ่อแม่ เขาก็อยู่ได้ นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวของผู้ปกครองเป็นเครือข่ายที่มีปัญหาอะไรก็พูดคุยปรึกษากัน เช่น ใครขาดเรียนบ่อยมีปัญหาอะไร มาคุยกันไหม เกิดจากอะไร ฯลฯ คุณยายยิ่งอุ่นใจ
“เสนอว่าอยากให้มีโรงเรียนแบบนี้เยอะๆ อย่างหลานยายที่สมาธิสั้น ก็ดีขึ้น โจ๊กมีแค่ครึ่งซองก็กินได้ หากเป็นเมื่อก่อนนี้คงอาละวาดบ้านแตก ถ้าทุกโรงเรียนทำได้แบบนี้ การที่เราจะเรียกผู้ปกครองมาคุยกัน รู้อะไรต่างๆ ก็จะง่ายขึ้น”
ด้านตัวแทนพ่อแม่เด็กที่มีความต้องการพิเศษเสนอว่า ในบรรดากลุ่มต่างๆ ที่อยากชวนมาเข้าร่วม ‘รัฐบาล’ คือกลุ่มที่ยากที่สุด นั่นทำให้การศึกษาในระบบยิ่งพึ่งพาไม่ได้ บรรดาพ่อแม่จึงรวมกลุ่มกันเอง ช่วยเหลือกันเอง
“เราช่วยกันทำกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการ แล้วถ่ายรูปออกสื่อเลย ถ้าเราทำผลงานดีๆ สังคมจะหันกลับมามองเราเอง”
เปลี่ยนทัศนคติ ปลูกความเชื่อใจ
การเปลี่ยนทัศนคติ เป็นอีกประเด็นที่วงเสวนาให้ความสำคัญ ยกตัวอย่างจากกลุ่มตัวแทนพ่อแม่เด็กพิเศษที่ผ่านประสบการณ์เรื่องนี้มามาก
“ถ้าจะชวนพ่อแม่เด็กพิเศษมาร่วมโรงเรียนพ่อแม่ เราควรจะไปแก้ที่ทัศนคติว่า ‘ลูกพิการควรอยู่บ้าน ไม่ออกไปไหน จะอายชาวบ้านเปล่าๆ’ ความจริงคือ หากให้ลูกออกไปทำกิจกรรมก็จะช่วยฟื้นฟูพัฒนาการต่างๆ ของลูกได้ มีคนพร้อมจะช่วยเหลือกันอยู่นะ”
ด้านพ่อแม่กลุ่มโฮมสคูลก็เสนอว่า ‘ความเชื่อใจ’ คือสิ่งที่ต้องมี
“ยกตัวอย่างเด็กญี่ปุ่นเดินออกจากบ้านโดยพ่อแม่ไม่ไปส่งได้เพราะพ่อแม่เชื่อใจในชุมชนของเขา พอเด็กไปถึงสี่แยก คุณตาคุณยายก็มาช่วยกั้นรถให้ช่วยเด็กข้ามถนนไป ถ้าเราเชื่อใจตั้งแต่ระดับเล็กๆ ผู้ปกครองเชื่อครู ไปจนถึงครูเชื่อใจศึกษานิเทศก์ เชื่อใจขึ้นไปจนระดับผู้มีอำนาจ”
“เราเชื่อว่า ถ้าค่านิยมเปลี่ยน ยังไงผู้ใหญ่ก็ต้องเปลี่ยนตาม”
แม้โรงเรียนพ่อแม่อาจจะทำไม่ได้ในทันที ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องรวมหัวและกระจายกำลังกันขับเคลื่อน ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเวทีนี้ คือสัญญาณที่ดีที่บอกว่าพ่อแม่ยุคใหม่ ตระหนักรู้และกำลังวิ่งให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลง
ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขากำลังแสวงหาแนวทางการจัดการศึกษาแบบใหม่ให้เด็กๆ อย่างกระตือรือร้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณมิรา ชัยมหาวงศ์ โครงการสำรวจเครือข่ายและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสมัชชาพ่อแม่ อีเมล: mira.chai@gmail.com