- 25ปี คืออายุของ ลี้-จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ประเภทเรื่องสั้นประจำปีที่ผ่านมา โดยผลงานสร้างชื่อคือ ‘หนังสือสิงโตนอกคอก’ ตีพิมพ์กับแพรวสำนักพิมพ์ 2560
- 12ปี คือจำนวนปีที่เธอทุ่มเทให้กับการเขียนนิยาย
- มัธยมคือ ช่วงวัยที่เธอเริ่มหลงรักในความวาย จนปลูกฝังรากวิธีคิด รสนิยมและหลอหล่อมให้เป็นเธอในปัจจุบัน
- เด็กสาวคือ ทาร์เก็ตกลุ่มใหญ่ที่บริโภคความวายในทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละครหรือนิยาย
- วาย คือคำย่อมาจาก yaoi กล่าวคือตัวละครเอกทั้งสองตัวเป็นเพศชายและมีความสัมพันธ์เชิงชู้รัก เป็นวัฒนธรรมเริ่มต้นจากญี่ปุ่น
ภาพ: จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท/ สกล ปานกลิ่นพุฒ
กุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก มองไปทางไหนก็มีแต่สีชมพูสีแดงสดใส แม้จะเลยเทศกาลวาเลนไทน์ไปแล้วก็ตาม
แต่หากจะเหมารวมให้ความรักเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเพียงอย่างเดียว ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าถูกต้องเสียทีเดียว เพราะความรักสามารถนิยามได้หลายรูปแบบ เช่น ความรักหรือความหลงใหลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเราทุ่มสุดตัวให้กับสิ่งนั้นอย่างถึงที่สุด อย่างความรักในการเขียนนิยายวายของ ร เรือในมหาสมุท นามปากกาของ ลี้-จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนรางวัลรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ประเภทเรื่องสั้นประจำปี 2017
ลี้คือหญิงสาววัย25 ที่บอกกับทุกสื่ออย่างชัดเจนว่า “เธอคือสาววายตัวจริง”
ท่ามกลางกระแสและบริบททั้งนิยายวายและซีรีส์วายเริ่มขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น แม้กลุ่มผู้บริโภคจะยังคงเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะเด็กสาวที่ทุกวันนี้บริโภคกันอย่างหนักหน่วง
ในฐานะที่เธออยู่ในวงการนี้มาเป็นเวลานาน The Potential จึงชวน ลี้-จิดานันท์ มานั่งคุยตั้งต้นแต่ วายคืออะไร ทำไมเธอและสาวๆ หลายต่อหลายคนถึงตกหลุมรักนิยายแขนงนี้ กรอบเรื่องเพศบางอย่างที่สุดท้ายนิยายวายก็ไม่อาจหลุดพ้น เส้นทางการเติบโตในงานเขียนของเธอและตบท้ายด้วยแง่คิด ถึงพ่อแม่ที่มีลูกชอบอ่านนิยายวาย
นิยายวายคืออะไร?
คำว่า วาย เป็นคำย่อของยาโอย หรือ yaoi เป็นวัฒนธรรมที่เริ่มต้นในประเทศญี่ปุ่น มีลักษณะเด่นคือ ตัวละครเอกทั้งสองตัวเป็นเพศชายและมีความสัมพันธ์กันในเชิงคู่รัก งานแนวยาโอยจะปรากฏออกมาในรูปนิยาย การ์ตูนภาพวาด ภาพยนตร์ หรือการ์ตูนอนิเมชั่นภาพเคลื่อนไหวก็ได้
แรกเริ่มเดิมที งานแนวยาโอยจะเริ่มจากลักษณะแฟนฟิคชั่นค่ะ หมายความว่าผู้อ่านนำนิยายหรือการ์ตูนที่ตีพิมพ์วางขายอยู่แล้ว มาเขียนเป็นนิยายหรือการ์ตูนในฉบับตัวเอง โดยจินตนาการเนื้อเรื่องต่อเติมเข้าไป เช่น ตอนแรกเรื่องนั้นอาจเป็นเรื่องผู้กล้ากับลูกน้องอัศวินออกล่าสมบัติ แต่ผู้อ่านนำมาเขียนต่อยอดต่อเติมให้พวกเขาเป็นคนรักกันด้วย โดยเขียนเพียงฉากที่พวกเขาได้ตกหลุมรักหรือสารภาพรักกัน เหมือนเป็นตอนเสริมของนิยายเรื่องนั้น แต่ไม่ได้ถูกสร้างด้วยน้ำมือนักเขียนผู้ผลิตคนแรก
บางครั้งงานในแนวนี้จะถูกตั้งคำถามในเรื่องของลิขสิทธิ์ เนื่องจากมีลักษณะเป็นแฟนฟิคชั่น ผู้เขียนคนแรกได้สร้างพล็อต ตัวละครและเนื้อเรื่องไว้แล้ว ผู้เขียนแฟนฟิคเพียงแค่สร้างเรื่องต่อเติมจากจุดนั้น ทำให้หลายๆ ครั้ง เนื้อเรื่องของแฟนฟิคจึงเล่าแค่ ฉากรัก ความสัมพันธ์วาบหวามหรือฉากร่วมเพศ ทำให้ช่วงแรกงานแนวนี้ถูกเรียกว่า yaoi จริงๆ ที่มีความหมายว่า “Yama nashi, Ochi nashi, Imi nashi” แปลว่า “No plot, no point, no meaning” คือไม่มีพลอตไม่มีประเด็นอะไร มีแต่ฉากเรทอย่างเดียว
ต่อมา นิยายแนว yaoi ถูกพัฒนาต่อยอด ในระดับของแฟนฟิคชั่นก็ไม่ได้มีแค่ฉากเรทอย่างเดียว แต่มีการบรรยาย ฉากแอคชั่น ฉากโศกซึ้ง ฯลฯ ตามแต่นักเขียนหรือนักวาดการ์ตูนจะสรรค์สร้าง แต่ยังคงใช้ชื่อเรียกประเภทตามเดิมคือคำว่า yaoi และยังมีผู้เริ่มเขียนนิยายหรือการ์ตูนที่เป็นแนววายโดยไม่ได้เป็นแฟนฟิคของอะไร คือเป็นผลงานออริจินัลตั้งแต่แรกเริ่มเองค่ะ ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์อีก เพราะเป็นผลงานของผู้เขียนตั้งแต่ต้น
ส่วนใหญ่กระแสนิยายวายในไทยมักเป็นแฟนฟิคที่หยิบเอาศิลปินหรือไอดอลที่ตัวเองชื่นชอบมาจับคู่กัน นิยายวายคุณเป็นลักษณะนั้นหรือเปล่า?
งานนิยายวาย มีทั้งแบบที่เป็นแฟนฟิคชั่นคือ เอานิยาย หนังหรือศิลปินดารามาเขียนต่อยอดใส่เนื้อเรื่องเพิ่มตามที่เราชอบใจ กับงานออริจินัลที่ผู้เขียนคิดเองทั้งหมด ทั้งพลอตเรื่องและตัวละคร
ส่วนนิยายของลี้ที่ตีพิมพ์กับทางสำนักพิมพ์ จะเป็นงานออริจินัลที่คิดเองทั้งหมดค่ะ สร้างตัวละครขึ้นมาเอง เหมือนการเขียนนิยายในแนวอื่นๆ เลยค่ะ แต่ลี้จะมีงานแฟนฟิคชั่นอยู่บ้าง เป็นงานแฟนฟิคจากหนังค่ะ เช่น การเขียนต่อเติมเรื่องราวฮีโร่จากค่ายมาร์เวลส์ ฯลฯ ซึ่งลี้จะลงในอินเทอร์เน็ตและบางครั้งมีทำเป็นหนังสือทำมือ ขายกันในวงของคนที่ชื่นชอบสิ่งเดียวกันค่ะ
จำเป็นต้องบอกว่างานแฟนฟิคชั่นนี้มีลักษณะเป็นสีเทานะคะ คือมีการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ทางเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้เอาผิด เพราะถือว่าเป็นแฟนคลับที่ทำด้วยความรักชอบในผลงาน คล้ายกับการวาดรูปแฟนอาร์ต หรือการคอสเพลย์ ซึ่งการที่เจ้าของลิขสิทธิ์จะเอาผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไปค่ะ ว่ามีการนำคาแรคเตอร์เหล่านั้นไปใช้เพื่อการค้าหรือไม่
การทำหนังสือทำมือขายก็อยู่ในข่ายของการค้า แต่ในมุมมองรวมๆ ของสังคมยังถือว่าอยู่ในจุดที่ทำเพราะชอบศิลปินหรือภาพยนตร์อยู่ดีค่ะ หากไม่ได้ทำในสเกลใหญ่ อันนี้เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นรายเคสไปค่ะว่าละเมิดหรืออนุโลมได้
พอจะจัดประเภท ความรักในนิยายวายได้มั้ย มีอะไรบ้าง?
จัดประเภทความรักนี่ตอบไม่ถูกนะคะ (ยิ้ม) ผู้เขียนแต่ละคนไม่ว่าจะเขียนนิยาย ชายหญิง หญิงหญิง ชายชาย ต่างก็สะท้อนภาพ “ความรัก” ที่เขาเห็นในโลกแห่งความจริง ลงมาในนิยาย โดยผ่านมุมมอง และประสบการณ์ชีวิตของเขา ความรักของแต่ละเรื่องจะต่างออกไปในรายละเอียด ในสถานการณ์ที่ตัวละครประสบ เช่น การพบเจอปัญหา การตัดสินใจของแต่ละคน ลักษณะนิสัยของตัวละคร ดังนั้นจะแบ่งประเภทของความรักอาจจะไม่ได้
แต่ถ้าให้แบ่งประเภทของนิยายวาย ก็อาจแบ่งเป็นสายต่างๆ ได้เหมือนประเภทของนิยายทั่วไปค่ะ ถ้านิยายทั่วไปมีงานแนว รักใสๆ แนวดราม่า แนวสืบสวน แนวผี แนวไซไฟ แนวแฟนตาซี แนวดิสโทเปีย นิยายวายก็สามารถเทียบเข้าไปได้เลย คือเป็นงานแนวนั้น แค่เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครชายเข้าไป เช่น วายแนวรักใสๆ กุ๊กกิ๊ก วายแนวรักดราม่า วายแนวสืบสวน วายแนวผี วายแนวแฟนตาซี วายดิสโทเปีย มีทุกแบบค่ะ
อะไรคือเสน่ห์ของนิยายวายที่นิยายแขนงความรักอื่นไม่มี?
สาเหตุที่เด็กสาวชอบอ่านนิยายวาย วันก่อนลี้ได้อ่านเปเปอร์ชิ้นหนึ่งค่ะ ชื่อว่า Exploring the Meaning of Yaoi in Taiwan for Female Readers: From the Perspective of Genders โดยคุณ Dienfang Chou จากมหาวิทยาลัย Tzu Chi ค่ะ เปเปอร์นี้เสนอหัวข้อที่น่าสนใจว่านิยายวายเกิดจากความรู้สึกที่ว่า นิยายชายหญิงในแบบเมนสตรีม ได้แสดงภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่ต้องถูกปกป้อง ตกยาก จึงต้องมีผู้ชายร่ำรวยมาคอยช่วยเหลือ ซึ่งทำให้ผู้หญิงส่วนหนึ่งเกิดคำถามว่า ทำไมจึงต้องเขียนตัวละครหญิงในแบบนั้นเสมอ เหมือนเห็นความไม่เท่าเทียมทางเพศแฝงมาในวรรณกรรม ทำให้รู้สึกไม่อินไปกับตัวละครแบบนั้นหรือความสัมพันธ์แบบนั้น พวกเขาจึงพยายามใฝ่หานิยายรักรสชาติใหม่ๆ
คือนิยายวายจะเล่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวเอกสองตัวในรูปแบบที่ทัดเทียมมากกว่าค่ะ ทั้งสองคนต่างก็มีความเข้มแข็งและเป็นชาย อาจปกป้องกันและกันได้ ไม่มีใครถูกปกป้องฝ่ายเดียว ทำให้คนอ่านรู้สึกสนุกกับเรื่องราวความสัมพันธ์มากกว่า เพราะคนอ่านผู้หญิงบางคนจะไม่อินกับบริบท “ชายเข้มแข็ง ปกป้องหญิงสาวอ่อนแอ” อีกแล้ว
ทั้งนี้และทั้งนั้น นิยายชายหญิงก็มีเล่มที่เขียนดีและข้ามขนบเดิมไปสู่พรมแดนใหม่ๆ นะคะ หมายเหตุไว้เพราะไม่อยากเหมารวม และข้อสังเกตเพิ่มเติมคือ นิยายวายก็มีบางส่วนที่เขียนออกมาเหมือนขนบนิยายรักชายหญิงค่ะ
ถึงจะพูดว่านิยายวายนั้นดำเนินเรื่องโดยเล่าความรักของชาย-ชาย แต่สุดท้ายก็ไม่อาจหลุดขนบ “เพศชาย-หญิง” ได้อยู่ดี กล่าวคือ gender identity ยังต้องมีชายคนหนึ่งที่มีบทบาทหรือท่าทางแบบเพศหญิง ฝ่ายตรงข้ามรับบทเป็นชายเพศชาย คุณมองว่าสาเหตุเป็นเพราะอะไร
อ้างอิงจากเปเปอร์ของคุณ Dienfang Chou เขาอธิบายว่า นิยายวายสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้หญิงอ่าน คือไม่ใช่งานที่เกย์มาอ่านแล้วจะชอบค่ะ เพราะมันไม่เรียล มันถูกสร้างขึ้นเพื่อสนองความฝันของผู้หญิง ดังนั้นตัวฝ่ายรับจึงมีความคล้ายผู้หญิงซึ่งจะมาเป็นผู้อ่าน
แต่จากการสังเกตของลี้เอง ตัวนิยายวายในไทย ฝ่ายรับจะมีความเป็นหญิงมากๆ ส่วนนิยายวายที่แปลมาจากทางตะวันตก ฝ่ายรับจะค่อนข้างมาดแมนกว่าค่ะ คิดว่าบริบทด้าน gender ของแต่ละสังคมมีผลต่อการกล่อมเกลาความคิดของผู้เขียน ส่งผลกระทบถึงวิธีการสร้างตัวละครในนิยายวาย ว่าจะมาดแมนขนาดไหน
ในสังคมที่ผู้หญิงเข้มแข็งได้มาก ฝ่ายรับในนิยายวายก็ยิ่งถูกสะท้อนภาพให้เข้มแข็งขึ้น และในสังคมที่เพศหญิงยังถูกจำกัดกรอบหลายอย่าง ฝ่ายรับในนิยายวายก็อ่อนแอลง
ทัศนคติที่สังคมหล่อหลอมเพศของเรา จนถูกนำมาสะท้อนลงไปในนิยายวายนี้ บางครั้งคนเขียนหรือคนอ่านเองก็ไม่ทันรู้ตัว เพราะมันซ่อนแฝงในคำพูด การดำเนินชีวิต เป็นการกดขี่เชิงวัฒนธรรม
คุณมองว่านิยายวายเป็นเพียงเทรนด์แฟชั่น? หรือ sub-culture ที่กำลังกลายเป็นกระแสแมสหรือเปล่า?
หนึ่ง นิยายวายเป็นซับคัลเจอร์แน่ๆ ค่ะ ไม่ใช่ความสนใจของคนทั้งประเทศแน่ๆ มันมีเพื่อสนองคนกลุ่มหนึ่งที่ชอบเนื้อหาสไตล์นี้ ตอนนี้นิยายวายเป็นเทรนด์ ได้รับพื้นที่ในร้านหนังสือ ได้รับความสนใจจากสื่อทีวี กลุ่มคนที่สนใจวัฒนธรรมตรงนี้ก็อาจจะใหญ่ขึ้น อาจจะดูแมสขึ้น แต่เราว่าไม่ใช่ระดับที่คนทุกคนต้องมาชอบมันนะคะ เพราะมันค่อนข้างจะเป็นงานแนวเฉพาะค่ะ ถ้าถามว่ามันจะมีวันซาลงไหม เราว่าก็คงมีค่ะ ทุกอย่างล้วนขึ้นลงตามกาลเวลา ไม่คงอยู่ตลอดไป
แต่คนที่ชอบวายอยู่ตอนนี้หลายๆ คน เขาก็ไม่ได้ชอบเพราะแค่แฟชั่น แบบเขาฮิตฉันฮิตตามไรงี้ คนที่เขาชอบจริงๆ ใส่ใจมัน จริงจังกับมันก็มีนะคะ เลยไม่อยากให้สื่อใช้คำพูดว่า เป็นเพียงแฟชั่น นักอ่านบางคนอาจจะเสียใจได้ค่ะ
คิดอย่างไรกับแนวคิดของคนส่วนใหญ่ที่มองว่า นิยายวาย = 18+ ความรุนแรงและเซ็กส์
ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่ามีนิยายวายจำนวนหนึ่ง หรืออาจจะมากด้วยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงและเซ็กส์ เมื่อมีตัวอย่างให้เห็นมากๆ แบบนั้น การที่สังคมมองแบบนั้นก็ไม่แปลกจริงไหมคะ
สิ่งที่เราจะสามารถทำได้ก็คือการให้ข้อมูลตามตรงค่ะ ว่ามีนิยายวายที่ติดเรทอยู่จริงๆ และก็มีนิยายวายที่ไม่ได้เน้นเรทอยู่เช่นกัน สามารถเลือกอ่านได้ตามที่สนใจค่ะ
ก็ให้คำตอบกลางๆ นะคะ แต่ถ้าจะถามเจาะลึกเลยว่าคิดว่านิยาย ไม่ว่าแนววายหรือชายหญิง ควรเรทไหม หรือ Pornography ควรเข้าถึงได้ง่ายหรือยาก อะไรงี้ มันต้องคุยกันย้าวยาว เลยขอยกยอดไว้ก่อนนะคะ (หัวเราะ)
ขอถามเกี่ยวกับนิยายของลี้บ้าง อย่างเรื่อง “ชายใดเล่าจะแซบเท่าแฟนเก่าแม่” จะถูกจัดหมวดให้อยู่ใน “นิยายรักวาย” ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์แจ่มใสที่ส่วนใหญ่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่น แต่สิ่งที่คุณเล่ากลับเป็นประเด็นหนักมาก เช่น การเมือง อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คุณเลือกใช้ความรักของคนเพศเดียวกันมาเป็นตัวละครหลักในการเล่าเรื่อง
ลี้ไม่ได้คิดว่า จะเล่าเรื่องการเมือง แล้วมาเล่าผ่านเรื่องแนววายค่ะ แต่ลี้ตั้งธงว่าอยากเขียนเรื่องวาย แล้วบริบททางการเมืองมันโผล่เข้าไปเองค่ะ
ตอนที่เขียน ชายใดเล่าจะแซบเท่าแฟนเก่าแม่ ลี้ได้เผชิญกับช่วงเวลาที่หดหู่และเจ็บปวดของชีวิตค่ะ จึงคิดจะเขียนเรื่องที่มีแต่ความสดใส ไม่เจ็บปวด ไม่ดราม่าเลย ไม่มีคอนฟลิกซ์ ไม่มีปมปัญหา และเป็นนิยายวายอ่านง่ายๆ สบายๆ เพราะชีวิตของลี้เจ็บปวดมากพอแล้วในช่วงนั้น แต่ระหว่างที่เขียน ประเด็นหนักหนาอย่างคอมมิวนิสต์และสงครามเวียดนามได้โผล่เข้ามาในขั้นตอนการสร้างตัวละคร อาจเป็นเพราะลี้พยายามตามหาบางอย่างเพื่อใช้เป็นจุดสร้างเนื้อเรื่องค่ะ และเรื่องเหล่านี้อยู่ในความสนใจของลี้พอดี ยอมรับว่าเรื่องค่อนข้างหนัก จึงรู้สึกขอบคุณสำนักพิมพ์แจ่มใสอยู่เสมอมา ที่ตีพิมพ์เรื่องนี้ให้ค่ะ (ยิ้ม)
ตั้งแต่เริ่มเขียนนิยาย (อายุ 12) กับเรื่องเล่าตอนนี้ (25 ปี) มันขยับขยายไปในทิศทางแบบไหน – คุณเติบโตมาแบบไหน
ตอนอายุสิบสองลี้ต้องไปอยู่อาศัยที่บ้านญาติเป็นการชั่วคราวประมาณครึ่งปี ตอนนั้นลี้ไม่มีอะไรทำ ประจวบกับมีงานของเด็กวัยรุ่นไทยได้รับการตีพิมพ์วางแผง ทำให้ลี้ได้รู้ว่าเด็กก็เขียนหนังสือได้ ไม่ใช่เฉพาะผู้ใหญ่ที่เขียนหนังสือ จึงเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่นั้นมา ตอนแรกสนใจแนววรรณกรรมเยาวชน แฟนตาซี มีเวทมนตร์ต่างๆ
มัธยมปลาย เริ่มเข้าถึงวัฒนธรรมวาย และเขียนงานแนวแฟนฟิคชั่นกับเพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน พร้อมๆ กับเขียนงานออริจินัลแนวแฟนตาซีควบคู่ไปด้วย
ตอนเข้ามหาวิทยาลัย ลี้เริ่มเขียนแฟนฟิคชั่นน้อยลงและเขียนงานแนวออริจินัลมากขึ้นเนื่องจากต้องการมีผลงานตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ อย่างที่บอกไว้ตอนแรกคืองานแฟนฟิคชั่นจะไม่นำมาใช้เพื่อการค้าในระดับใหญ่ค่ะ ประกอบกับได้รับคำชี้แนะจากรุ่นพี่ในชุมนุมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพื่อนจากชุมนุมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เริ่มคิดที่จะเขียนงานแนวสัจนิยม และส่งงานประกวด
หลังการประกวดได้รับรางวัลเป็นครั้งแรกก็มีกำลังใจ และเริ่มต้นเขียนงานเพื่อส่งประกวดมาเรื่อยๆ ได้รับรางวัลบ้าง ไม่ได้รับรางวัลบ้าง หลังจากนั้นก็มีการติดต่อกับบรรณาธิการสายวรรณกรรมสร้างสรรค์เพื่อทำต้นฉบับรวมเรื่องสั้น โดยลี้มีรวมเรื่องสั้น 2 เล่ม คือ สิงโตนอกคอกที่พิมพ์กับแพรวสำนักพิมพ์ และ วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คุณแตกสลาย พิมพ์กับสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม
พร้อมกันนั้นลี้ก็เขียนนิยายวายเสนอไปทางสำนักพิมพ์ และผ่านการพิจารณาตีพิมพ์ ทำให้ได้ออกผลงานทั้งวายและวรรณกรรมสร้างสรรค์ในเวลาไล่เลี่ยกันค่ะ
แล้วเส้นทางการตกหลุมบ่วงนิยายวายเป็นอย่างไร ได้ยินว่าคุณบอกว่า “ความวายมันอยู่ในสายเลือด” เพราะอะไรถึงรักในการเขียนนิยายวาย?
ลี้เริ่มต้นอ่านการ์ตูนและนิยายวายตั้งแต่มัธยมโดยเริ่มจากอ่านตามพี่สาว และเริ่มมารู้จักกับงานแนวนี้เพิ่มขึ้นเมื่อได้เล่นอินเทอร์เน็ต พออ่านแล้วเราก็ชอบ และเราอ่านมันในช่วงวัยรุ่น มันก็ถูกปลูกฝังลงมาในช่วงเวลาการเติบโตของเรา ทำให้เราคิดว่ามันค่อนข้างฝังรากในวิธีคิด ในรสนิยมของเรา มาจนถึงปัจจุบัน และในที่สุดเมื่อเราอ่านแนวนี้เยอะๆ เราก็อยากจะถ่ายทอดมันออกมาเป็นงานเขียนค่ะ
ที่คุณบอกว่า งานเขียนบ้างชิ้นของคุณคือไดอารี่ส่วนตัวของคุณ หมายความว่าอย่างไร มีความรู้สึกเขินอายบ้างไหม เวลาที่ถูกคนอ่านไดอารี่ของเรา
มีงานบางชิ้นที่เป็นไดอารี่ค่ะ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็น
งานชิ้นที่เป็นคือ บางส่วนของเล่ม วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คุณแตกสลาย เขียนจากเหตุการณ์จริงหลายเรื่องนำมาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน มีบางอันเป็นบันทึกที่จดเหตุการณ์ไว้ คือทรูสตอรี่เลย แต่ไม่ได้เอาไปพิมพ์รวมเล่มทั้งอย่างนั้นนะ มันมีกระบวนการ Novelization ทำให้เป็นวรรณกรรมก่อน
คือมาตกแต่งพลอต ไดอารี่อาจไม่มีตอนจบที่ตื่นเต้นๆ เราก็แต่งเพิ่มเข้าไป ตัวละครจริงๆ อาจไม่ได้หล่อสวย เราก็บรรยายเข้าไปให้หน้าตาดีๆ ภาษาตอนเป็นไดอารี่อาจจะสบายๆ มีเขียนวกวน เราก็มาปรับให้มีความสวยงามขึ้น ตัดส่วนที่วกวน มีการตัดทอนบางส่วนที่เปิดเผยไม่ได้ออกไป กระบวนการขัดเกลาเหล่านี้ทำให้สุดท้ายเราไม่ได้เขินที่มีคนมาอ่านค่ะ เพราะมันถูกจัดแต่งมาแล้ว ว่าเป็นจุดที่ให้คนอื่นอ่านได้ และอีกอย่าง เราไม่ต้องอายเพราะ… คนอ่านเขามองมันเป็นตัวละคร ไม่ได้มองว่ามันคือเรา
อาจจะมีแค่เพื่อนเราเท่านั้นแหละที่อยากจะตะโกนว่า “เลิกเขียนถึงฉันสักที!”
และเราจะตอบว่า “…ไม่” (หัวเราะ)
หมายความว่าการเขียนคือการปลดปล่อยความรู้สึกอย่างหนึ่ง
ใช่ค่ะ แบบนั้นเลย เวลารู้สึกอะไรก็เอามาเขียน บอกออกไปอย่างซื่อตรง ไม่ต้องหวาดกลัวหรือปกปิด แล้วมันจะเยียวยาเราได้
มีนิยายรักแบบอุดมคติที่ฝันไว้บ้างไหม เช่น เนื้อเรื่องต้องเดินแบบนี้ ภายชายในฝันต้องเป็นลักษณะนี้
อันนี้ลี้ตอบไม่ได้นะคะ เพราะนิยายแต่ละเล่มที่อ่าน มีข้อดีข้อเสียต่างกัน จะให้หาภาพที่สมบูรณ์ของนิยายที่ชอบที่สุด คงเป็นไปไม่ได้ ทุกเรื่องต้องมีจุดที่ชอบและไม่ชอบ แต่เรื่องหนึ่งที่คิดคือ เอ…ชายในฝันของเรา ถ้ามาเป็นพระเอกนิยาย เรื่องจะน่าเบื่อมั้ยน้อ
ในฐานะที่คุณเป็นผู้ผลิตสื่อที่ส่วนใหญ่มีกลุ่มเป้าหมายคือเด็ก (อย่างตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ฉะนั้นแล้ว งานเขียนของคุณมีข้อจำกัดไหม ในลักษณะที่ว่า “กลุ่มอ่านนิยายเราเด็กไป ประเด็นนี้ไม่ควรแตะ”
ตอบในส่วนของตัวลี้เองนะคะ คำตอบนี้จะไม่รวมถึงนักเขียนวายท่านอื่น เพราะแต่ละคนคงมีลิมิตแตกต่างกันไป สำหรับลี้ในการพยายามสร้างงานวายจะมีบางจุดที่ไม่ได้เขียนอยู่แล้วค่ะ เช่น จุดที่เกี่ยวกับการเมืองไทยปัจจุบัน (ตั้งแต่ปี 50 เป็นต้นมา) ตรงนี้จะไม่นำมาใส่ ส่วนเนื้อหาเชิงสังคมอื่นๆ สามารถใส่ลงในนิยายได้เลยค่ะ เช่น เนื้อหาดราม่าในที่ทำงาน เนื้อหาความเจ็บปวดของชีวิต การหย่าร้าง ความเหลื่อมล้ำของคนจน คนพิการ เด็กกำพร้า ฯลฯ สามารถใส่ได้หมด เนื่องจากวรรณกรรมเยาวชนแปลจากต่างประเทศเองก็มีการแตะต้องเนื้อหาในเชิงนี้อยู่แล้ว และเด็กๆ นักอ่านสามารถเข้าใจคิดตามได้ค่ะ พวกเขาเก่งกว่าที่ผู้ใหญ่คิด (ยิ้ม)
จากแพลตฟอร์มหน้ากระดาษถูกเปลี่ยนมาอยู่ในโลกออนไลน์ เรียกได้ว่าใครๆ ก็เป็นนักเขียนกันได้ทั้งนั้น อะไรคือความยากที่ทำให้คุณปีนมาอยู่ในเส้นทางนี้
เห็นคำถามซ้อนกันอยู่นะคะ ข้อแรก อะไรคือความยาก กับ อะไรที่ทำให้คุณปีนมาอยู่ในเส้นทางนี้
ความยากก่อน หนึ่ง – ความยากในตัวงานเอง คือการเขียนให้ดี เป็นสิ่งที่ยากที่สุดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีโลกอินเทอร์เน็ตหรือไม่ สอง – ความยากที่มาพร้อมกับยุคอินเทอร์เน็ต คือ การมีคู่แข่งจำนวนมาก ซึ่งทำให้การมีโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางทะเลนิยายเป็นเรื่องยาก แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องอย่าลืมแง่ดีว่าอินเทอร์เน็ตก็ทำให้คนเราเผยแพร่งานได้ง่ายขึ้นนะ และสาม – คุณมีโอกาสได้รับคำวิจารณ์ที่รุนแรงจากคนอ่านมากกว่าเมื่อก่อน แต่ในอีกแง่หนึ่ง คุณก็สามารถพูดคุยและใกล้ชิดกับคนอ่านได้มากกว่ายุคที่สื่อสารกันผ่านแผงหนังสืออย่างเดียว
เรียกว่าทุกจุดที่ไม่ดีก็มีข้อดีของมันค่ะ
ส่วนอะไรทำให้ลี้เลือกมาปีน และยังปีนอยู่ในเส้นทางนี้ ตะเกียกตะกาย แม้ต้นฉบับจะไม่ผ่านการพิจารณาและพอลงเว็บก็ไม่มีใครอ่าน คงตอบว่าเพราะลี้ชอบเขียนหนังสือ อยากเขียนหนังสือค่ะ
สุดท้าย อยากบอกอะไรถึงผู้ปกครองที่เห็นลูกๆ อ่านนิยายวาย?
คุณพ่อ คุณแม่ ถ้าลูกคุณอ่านวาย อย่างแรกที่คุณต้องทราบคือ คุณจะห้ามเขาไม่ได้ค่ะ
ต่อให้คุณห้าม เด็กๆ ก็มีสมาร์ทโฟนและสามารถเข้าถึงนิยายวายอยู่ดี การยิ่งแข็งข้อ จะยิ่งทำให้ลูกปิดใจจากคุณ แอบทำอะไรต่างๆ โดยหลบให้พ้นจากสายตาคุณ แต่ถ้าหากคุณไม่เข้มงวด ลูกจะใช้ชีวิตร่วมกับคุณ คุณจะมีโอกาสรู้มากกว่าว่าลูกๆ กำลังทำอะไรอยู่ ดังนั้น ไม่อยากให้เข้มงวดมากเกินไปค่ะ เพราะเด็กจะแข็งกลับแน่นอน
คุณพ่อ คุณแม่อาจกลัวเรื่องนิยายมีฉากเพศสัมพันธ์หรือมีความรุนแรง ก่อนอื่นต้องทราบว่า นิยายวายมีทั้งแนวที่มีฉากรุนแรงเป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญของเรื่อง และแนวที่มีเนื้อหาการดำเนินเรื่อง เล่าความผูกพันในครอบครัว หรือเล่าเรื่องราวชีวิตวัยเรียน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถแนะนำหรือพูดคุยกับลูกได้ค่ะว่าพ่อกับแม่อยากให้หนูเลือกอ่านเรื่องแบบไหน
แต่สุดท้ายเด็กจะเป็นคนตัดสินใจคลิกเรื่องเองอยู่ดี การตัดสินใจของเขาจะเป็นอย่างไร คงขึ้นกับท่าทีและวิธีการในการชักนำของพ่อแม่ อยากให้เลือกวิธีที่ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นมิตรและอยากปฏิบัติตามค่ะ
3 นิยายน่าอ่านสำหรับเดือนแห่งความรัก
นัดหมายในความมืด
ผู้เขียน: โอตสึ อิจิ / ผู้แปล: พรพิรุณ กิจสมเจตน์
สำนักพิมพ์: JBOOK
เอาไงดี ส่วนตัวเป็นคนไม่อินวาเลนไทน์ จริงๆ จะอินของไหว้ตรุษจีนที่ตามมามากกว่า ถ้าพูดถึงนิยายรัก เราชอบนัดหมายในความมืด ของโอตสึอิจิ เนื้อหาไม่ได้พูดถึงความรักอย่างตรงไปตรงมา ดำเนินเรื่องผ่านผู้หญิงที่ตาบอด และผู้ชายที่แกล้งทำเป็นไม่อยู่ในบ้าน ผู้หญิงไม่ควรจะรู้ถึงการมีอยู่ของผู้ชาย แต่ความสัมพันธ์กลับเกิดขึ้นผ่านการนับแผ่นขนมปังและเรื่องเล็กน้อยอื่นๆ จนกลายเป็นสายสัมพันธ์ที่อบอุ่นมาก
พาไรโดเลียรำลึก
ผู้เขียน: ปราบดา หยุ่น
สำนักพิมพ์: ไต้ฝุ่น
อีกเล่มหนึ่งที่เหมาะกับวาเลนไทน์ คือพาไรโดเลียรำลึก ของปราบดา หยุ่น เล่มนี้จะเล่าเรื่องความรักครั้งแรก และเพศสัมพันธ์ครั้งแรก อาจไม่ใช่เรื่องหวาน แต่เราชอบมันมากค่ะ นิสัยของเด็กผู้หญิงเป็นวัยรุ่นมากๆ เลย คือพยายามไม่อ่อนหวาน แต่ก็กลับไม่รู้จะจัดการความขัดเขินของตัวเองอย่างไร ทำเป็นวางท่าแต่ก็สนใจพระเอกเอามากๆ บางทีก็ไม่รู้ว่าพระเอกใจร้ายมากๆ หรือว่าทึ่มจัดจนไม่เห็นอะไรเลยกันแน่
สมิงพระราหู
ผู้เขียน: อุรุดา โควินท์
สำนักพิมพ์: ไรท์เตอร์
สมิงพระราหู ของพี่อุรุดา โควินท์ รวมเรื่องสั้นเล่มนี้เป็นเรื่องแนวรักเป็นส่วนใหญ่ค่ะ พูดถึงความสัมพันธ์หลายแบบ แบบรักเป็นแฟนกัน แบบมีคนอื่น แบบจากกันไป แบบไม่แน่ใจว่าคืออะไร แบบระหองระแหงแต่ยังไม่เลิกร้าง สำนวนภาษาอ่อนหวาน ภาพประกอบในเล่มก็น่ารัก อ่านคู่กับกินขนมวันวาเลนไทน์ต้องทำให้วันที่สิบสี่ของคุณสดชื่นแน่นอนค่ะ