- ใครๆ ก็พูดถึงทักษะ STEM แต่มันคืออะไร ทำไมเทรนด์การศึกษาจึงให้ความสำคัญ
- STEM คือทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ว่าด้วยการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์มาประยุกต์และแก้ไขปัญหาในชีวิตจริง
- STEM สามารถสอนได้กับเด็กที่แม้แต่ยังอ่านหนังสือไม่ออก เพราะยิ่งรู้จัก STEM เร็วก็ยิ่งส่งผลดีต่อพวกเขาในอนาคต
- STEM เริ่มสอนได้ทันที ได้ทุกที่ ทุกเวลาและทุกโอกาส! โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อของเล่นราคาแพง
ทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ที่หลายต่อหลายคนในแวดวงการศึกษาบ้านเราพูดกันอย่างหนักหน่วงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นทักษะ STEM ที่ทุกวันนี้หลายโรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเริ่มปรับและนำหลักสูตรดังกล่าวมาใช้
STEM Education ย่อมาจาก Science Technology Engineering and Mathematics Education คือ แนวทางการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์มาประยุกต์และแก้ไขปัญหาในชีวิตจริง โดย STEM ถูกพูดถึงครั้งแรกโดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (the National Science Foundation: NSF)
หากอธิบายให้ง่ายที่สุดว่าทักษะ STEM คืออะไรกันแน่ STEMคือการนำทั้ง 4 องค์ความรู้ดังกล่าวมาบูรณาการเพื่อพัฒนาทักษะการคิด ตั้งคำถาม แก้ไขปัญหา ค้นหาคำตอบ วิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผลออกมาอย่างเป็นระบบที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่ง STEM สามารถสอนได้เลย แม้ว่าเด็กๆ จะยังอ่านหนังสือไม่ออกก็ตาม
เพราะยิ่งมีประสบการณ์ทักษะ STEM เร็วเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลดีต่อระบบความคิดของพวกเขาเมื่อโตขึ้น
ด้วยเหตุนั้นเอง ทักษะ STEM จึงไม่อาจรอให้เริ่มต้นที่โรงเรียน แต่ควรเริ่มทันที ซึ่งผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ใกล้ตัวสามารถส่งเสริมและพัฒนาทักษะดังกล่าวเพื่อให้เด็กๆ มีทักษะดังกล่าวได้ด้วยตนเอง
และนี่คือ 5 วิธีง่ายแสนง่ายที่ผู้ปกครองสามารถสอนทักษะ STEM ให้กับเด็กๆ ได้ในทุกโอกาสและทุกเวลาอย่างถูกต้อง เพื่อให้เด็กเกิดพัฒนาการรอบด้านอย่างครบถ้วนพร้อมรับมือกับอนาคตข้างหน้า
1. หัดสังเกต
ความจริงแล้ว เด็กๆ มีสายตาช่างสังเกตมากกว่าผู้ใหญ่อยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เหนื่อยล้าจากความคิดที่ว้าวุ่นจากการทำงานหรืออะไรก็ตาม จนเผลอละเลยบางอย่างไป การฝึกทักษะช่างสังเกตสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ และทันที โดยให้เด็กรู้จักสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น วันนี้อากาศเป็นอย่างไร แตกต่างกับเมื่อวานไหม หรืออะไรก็ตามที่ใกล้ตัวคุณและลูก
เมื่อหัดให้เด็กสังเกตอยู่เป็นประจำ พวกเขาจะเปลี่ยนจากแค่สังเกต (noticing) มาเป็นการสังเกตการณ์ (observing) อย่างละเอียด เพราะการสังเกตการณ์เป็นหนึ่งวิธีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ จากการมีสมมุติฐานไว้ในใจแล้วเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการสังเกตอย่างเป็นระบบ
2. สนใจรายละเอียดรอบตัวและบรรยายออกมา
ระหว่างที่พวกเขากำลังจดจ่อกับการเล่นหรือดูอะไรบ้างอย่างอยู่ ลองให้พวกเขาอธิบายคุณลักษณะสิ่งของที่อยู่ตรงหน้าหรือบรรยายกิจกรรมที่พวกเขาทำอยู่ เช่น แก้วน้ำบนโต๊ะรูปร่างเป็นอย่างไร สีอะไร เล็กหรือใหญ่ จากนั้นอาจกล่าวซ้ำในประโยคเดิมที่เด็กๆ พูดโดยการเพิ่มคำศัพท์หรือคุณศัพท์เข้าไปโดยใช้ภาษา STEM กล่าวคือศัพท์จำพวกการคาดการณ์ (predict) ทดลอง (experiment) และประเมินผล (measure) เป็นต้น
เพราะเด็กที่มีการใช้/การรู้ภาษาหรือการได้มาซึ่งภาษา (language socialisation) อย่างต่อเนื่องจะช่วยให้เขามีทักษะการใช้ภาษาที่ดีขึ้นทั้งเรื่องเสียงและโครงสร้างไวยากรณ์ รวมถึงมีแนวโน้มว่าเมื่อพวกเขาโตขึ้นเขาอาจเลือกเรียนหรือศึกษาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ STEM ในอนาคต
3. ถามว่า ‘อะไร’ มากกว่า ‘ทำไม’
เพราะการถามว่า ‘ทำไม’ นั้นเป็นการกดทับความมั่นใจในตัวเองของเด็กให้หายไป แต่การถามว่า ‘อะไร’ จะช่วยให้เด็กรู้สึกมั่นใจที่จะตอบมากกว่า ทั้งยังเป็นการส่งเสริมสายสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ เพราะสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำคือ การสร้างบทสนทนาที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ได้ใช้ความคิด ไม่ใช่การตัดบทสนทนา ชัตดาวน์คำถามที่ผู้ใหญ่ตอบไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าถามว่า ‘ทำไม’ ไม่ได้ แต่ก่อนอื่น ควรเริ่มต้นจากการถามว่า ‘อะไร’ กล่าวคือ ถามคำถามที่เด็กสามารถตอบได้ก่อน จากนั้นค่อยไต่ระดับให้ยากขึ้น
4. รู้จักกับการจับคู่ตัวเลขให้สัมพันธ์กับจำนวน (One-to-One Correspondence)
One-to-One Correspondence คือพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเด็กปฐมวัย กล่าวคือ การจับคู่ตัวเลขให้สัมพันธ์กับจำนวน เช่น เลขหนึ่งเท่ากับจำนวนสิ่งของหนึ่งอย่าง เลขสองเท่ากับจำนวนสิ่งของสองอย่าง ไล่ไปเรื่อยๆ โดยผู้ปกครองสามารถสอนทักษะคณิตศาสตร์นี้ได้ง่ายๆ เช่น ให้เด็กจัดแก้วบนโต๊ะอาหารให้ตรงจำนวนกับคนจะรับประทานมื้อเย็น นับว่าจดหมายในตู้ไปรษณีย์มีกี่ซอง หรือให้หยิบไข่สองฟองสำหรับทำอาหาร เป็นต้น
ให้ง่ายกว่านั้นและสนุกกว่านั้นคือ การเล่นบอร์ดเกม การทอยลูกเต๋าและเดินให้ตรงจำนวนกับที่ทอยก็ช่วยเสริมสร้างทักษะดังกล่าวเช่นกัน ว่าแล้วก็ปัดฝุ่นเกมเศรษฐีมาลองเล่นกับพวกเขาดูไหม
5. ชวนคิดอย่างมีมิติสัมพันธ์
มีการยืนยันชัดเจนว่า การที่เด็กมีความสามารถคิดอย่างมีมิติสัมพันธ์ (spatial skill) นั้นเชื่อมโยงกับ STEM เนื่องจากความสามารถคิดอย่างมีมิติสัมพันธ์นั้นนำไปสู่การสร้างสรรค์และการเชื่อมโยงไปสู่ความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เช่น การเปรียบเทียบ หรือ การสังเกต เป็นต้น
เริ่มอย่างง่ายๆ เลย ให้เด็กเป็นศูนย์กลางของจักรวาลทุกสิ่งที่เขารับรู้ ดังนั้นรอบตัวเด็กก็จะเป็นตำแหน่งหน้า หลัง ซ้าย ขวา โดยลองให้เขาอธิบายว่าสิ่งรอบตัวเขามีอะไรบ้าง ไม่ว่าตรงนั้นจะว่างเปล่า เป็นสถานที่ เวลาหรือสิ่งของต่างๆ และสิ่งเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับเขาอย่างไร เช่น สมมุติว่าดูแผนที่สวนสัตว์ อาจให้เขาลองหาว่าตัวเขาตอนนี้อยู่ที่ไหน สิงโตอยู่ตรงไหน หรือ สมุมติว่ากำลังเดินทางไปสถานที่ใดที่หนึ่ง เช่น โรงเรียน ให้เขาลองอธิบายว่าจากบ้านไปโรงเรียนต้องผ่านอะไรบ้าง เขาเห็นอะไรบ้าง