- จากห้องเรียนวิชา ‘สัมมนาภาษาและวรรณกรรมไทย’ คณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดล คัด 5 หัวข้อวิจัยน่าสนใจและหลากหลายมาแนะนำ
- นอกเหนือจากตัวหนังสือ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่อ่านข้ามไม่ได้คือทัศนคติ มุมมองของเจ้าของผลงานว่า พวกเขาคิดสงสัยและสนใจอะไรอยู่
- สิ่งที่หยิบมาศึกษาก็ไม่ต่างอะไรจาก ‘สมุดบันทึก’ เล่มใหญ่ ที่ไม่ได้เห็นหรือสนใจแต่เรื่องของตัวเอง
เรื่อง: อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
ทุกวันนี้สังคมถูกขับเคลื่อนผ่านมุมมองของผู้ใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม…
แต่จะมีผู้ใหญ่สักกี่คนที่เห็นว่าเด็กรุ่นใหม่มีมุมมองอย่างไรกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน…
บางครั้งการที่จะเข้าถึงและเข้าใจเด็กเหล่านี้ได้ อาจเริ่มจากการเข้าไปในพื้นที่ที่เด็กสามารถตั้งคำถาม รวมทั้งแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ ไม่มีอะไรปิดกั้น และห้องเรียนวิชา ‘สัมมนาภาษาและวรรณกรรมไทย’ ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในพื้นที่นั้น
แม้ว่าการมาเยือนในครั้งนี้ จะเปรียบได้กับการมาเยือนในคาบเรียนสุดท้าย หลังจากนักศึกษากลุ่มฝ่าฟันอุปสรรคการทำงานมาตลอด 4 ปี จนมาถึงการนำเสนองานวิจัยครั้งสุดท้ายเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
The Potential คัด 5 หัวข้อน่าสนใจมาแนะนำ นอกเหนือจากตัวหนังสือ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่อ่านข้ามไม่ได้คือทัศนคติ มุมมองของเจ้าของผลงานว่า พวกเขาคิดสงสัยอะไรอยู่ และสิ่งที่หยิบมาศึกษาก็ไม่ต่างอะไรจาก ‘สมุดบันทึก’ เล่มใหญ่ ที่ไม่ได้เห็นหรือสนใจแต่เรื่องของตัวเอง
รักที่ปรารถนาดีในเพลงโพลีแคท
หลังจากเพลง ‘พบกันใหม่’ กลายเป็นเพลงฮิตติดชาร์ตอยู่นานในช่วงปี 2558 ชื่อของวง โพลีแคท กลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่กลุ่มคนรุ่นใหม่รู้จักเป็นอย่างดี ด้วยคอนเซ็ปท์เพลงที่มักพูดถึงความรักที่ไม่สมหวัง แต่กลับไม่ทำให้คนสิ้นหวังในความรัก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ จิตตาภา หงษา ตัดสินใจค้นคว้าและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงของโพลีแคท จนเกิดเป็นงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้นมา ชื่อว่า ‘ความรัก’ ในเพลงของโพลีแคท: แนวคิดและกลวิธีในการนำเสนอแนวคิด
นอกเหนือทฤษฎีแนวคิดเกี่ยวกับความรักของโพลีแคทที่มองว่า ความรักเป็นสิ่งสวยงาม สิ่งที่จิตตาภา ค้นพบเพิ่มเติมคือ ความรักเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับความปรารถนาดีที่แม้ว่าสุดท้ายจะต้องพบเจอกับความเสียใจ แต่นี่คือความรัก เราจำเป็นต้องเสียสละเพื่อปล่อยให้เขาไปมีชีวิตที่ดีกว่า
นอกจากนี้ การใช้ถ้อยคำภาษาต่างๆ ในบทเพลงของโพลีแคทนั้นน่าสนใจไม่แพ้กัน จิตตาภาพบว่า หากพิจารณาตามกรอบแนวคิดศาสตร์และศิลป์ในการเล่าเรื่อง ของ รศ.สรณัฐ ไตลังคะ ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเห็นว่า ภาพพจน์ ขนบวรรณคดี และการรับรสวรรณคดี เป็นสิ่งที่พบได้ในบทเพลงของโพลีแคท ผ่านการใช้คอนเซ็ปท์ในการตั้งชื่อเพลงที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าใจเนื้อหาของเพลงได้ผ่านการตั้งชื่อ และการเล่าเรื่องผ่านการใช้สรรพนามเพื่อบอกความสำคัญ โดยไม่บอกตรงๆ ว่า ตัวละครในบทเพลงนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร
รวมทั้งเพลงของโพลีแคทยังมีการใช้วรรณศิลป์ในรูปแบบที่หลากหลายได้อย่างดีเยี่ยม เช่น การใช้บุคลาธิษฐาน หรือการเปรียบสิ่งไม่มีชีวิตให้แสดงกิริยาอาการเหมือนมนุษย์ และอธิพจน์ หรือการกล่าวเกินจริงในเพลง ‘เวลาเธอยิ้ม’ ในท่อนที่ว่า “ดวงดาวทั้งฟ้าต้องเสียใจ” และการใช้ปฏิปุจฉา หรือการตั้งคำถามโดยไม่ได้คาดหวังคำตอบ ในท่อน “ได้โปรดให้ฉันเป็นคนสุดท้ายได้ไหม” ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าคำถามนี้ไม่ได้ต้องการคำตอบ เพียงแค่ร้องขอให้ได้รับความเห็นใจจากคนรักเท่านั้น
กลวิธีการใช้ภาษาในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างลงตัวของโพลีแคท นำไปสู่ความมีสุนทรียภาพที่ดีของเพลง ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังเข้าถึงตัวเพลงได้ง่ายขึ้น รวมทั้งกระแสนิยมในเพลงของวงโพลีแคทที่เพิ่มมากขึ้น จากการที่เนื้อหาในบทเพลงส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์ร่วมที่ใกล้เคียงกันระหว่างผู้แต่งเพลงและผู้ฟัง จนทำให้โพลีแคทเป็นวงดนตรีอันดับต้นๆ ที่คนรุ่นใหม่นึกถึง
หยิบมหากาพย์ใส่บทเพลง
นับตั้งแต่ปี 2558 เกิดกระแสของวงการเพลงที่หันมาหยิบยกเรื่องราวของตัวละครในมหากาพย์ ‘รามเกียรติ์’ ออกมาใช้ในการผลิตผลงานเพลงอย่างคึกคัก
ตั้งต้นจากเพลง ‘I’m Sorry สีดา’ ของ The Rube ที่โด่งดังขึ้นมาและติดชาร์ตเพลงอยู่หลายสัปดาห์ และมิวสิควิดีโอเพลงที่สร้างยอดวิวกว่า 160 ล้านครั้งในปัจจุบัน ศิลปินอื่นๆ จึงหันมาแต่งเพลงที่มีเนื้อหาอ้างอิงมาจากมหากาพย์เรื่องนี้มากขึ้น ส่งผลให้ นิศาชล พูนวศินมงคล หันมาสนใจกับกระแสดังกล่าว และได้กลายเป็นที่มาของงานวิจัยชื่อ สัมพันธบทในการสร้างสรรค์เนื้อเพลงจากตัวละครในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์
นิศาชลพบว่า ช่วงปี 2558-2560 ที่ผ่านมา มีเพลงที่ถูกผลิตขึ้นมาโดยใช้เนื้อหาจากรามเกียรติ์กว่า 20 เพลง และเนื้อหาของบทเพลงส่วนใหญ่ถูกดัดแปลงในส่วนของแง่คิดหลักที่ได้จากเรื่องอย่าง ‘ธรรมะย่อมชนะอธรรม’ ให้เปลี่ยนเป็นแง่คิดเกี่ยวกับความรักกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อีก 20 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นบทเพลงที่พูดถึงลักษณะนิสัยของตัวละครเป็นหลัก โดยพบว่า โครงเรื่องภายในบทเพลงส่วนใหญ่มีการตัดทอน เปลี่ยนแปลงบางประการ เช่น การขยายอารมณ์ของตัวละครที่ไม่เคยพบเห็นในวรรณคดี และการตัดทอนความร้ายกาจของตัวละครฝ่ายร้ายลงไป
การดัดแปลงเพื่อนำมาเล่าใหม่ผ่านบทเพลงนี้ ส่วนมากถูกนำมาเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของบุรุษที่ 1 จากเดิมที่เป็นการเล่าผ่านมุมมองของพระเจ้า ทำให้เพลงที่ออกมามีความโดดเด่นเรื่องการนำเสนออารมณ์ความรู้สึกของตัวละครที่ไม่เคยพบหรือหาอ่านไม่ได้ในวรรณคดี นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงให้สั้นกระชับเหมาะสมกับสื่อ และเลือกนำเสนอในมุมมองเรื่องรักโลภโกรธหลงที่เกิดขึ้นโดยปกติกับมนุษย์ ทำให้ผู้ฟังสามารถเข้าถึงง่ายและสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟัง
ทศกัณฑ์ก็มีหัวใจในแฟนฟิคชั่น
หากวรรณคดีสามารถเข้าไปอยู่ในบทเพลงได้ แล้วทำไมวรรณคดีถึงจะเข้าไปอยู่ในแฟนฟิคชั่น (fan fiction) ไม่ได้
แฟนฟิกชั่นหรือนวนิยายที่ถูกสร้างจากการนำส่วนหนึ่งส่วนใดของเรื่องที่มีอยู่นำมาเขียนต่อยอดหรือดัดแปลงเนื้อหาไม่ว่าจะบางส่วนหรือแทบทั้งหมดก็ตามอีกทั้งแฟนฟิกชั่นมีหลายแนวเช่นเดียวกับนวนิยายทั่วไปรวมถึงแฟนฟิกชั่นวาย(ชายรักชายและหญิงรักหญิง)
เมื่อแฟนฟิกชั่นเป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านมากขึ้นประกอบกับบริบททางสังคมที่เริ่มมีการหยิบมหากาพย์รามเกียรติ์ มาดัดแปลงให้เข้ากับสื่อหลากหลายช่องทาง ทำให้มีผู้เขียนนวนิยายชายรักชายหยิบมาปัดฝุ่นดัดแปลงปรับโครงเรื่องให้กลายเป็นนวนิยายเรื่องใหม่ ที่มีเนื้อหาจากมหากาพย์สอดแทรกอยู่ในชื่อเรื่องอย่าง ‘หัวใจทศกัณฐ์’ และได้กลายเป็นที่มาของงานวิจัยชื่อ หัวใจทศกัณฐ์ ของ Holyspace: กลวิธีการดัดแปลงวรรณคดีสู่แฟนฟิคชั่นชายรักชาย โดย ปิยะธิดา ชาวหนอง
หลังจากศึกษา ปิยะธิดาพบว่า หัวใจทัศกัณฐ์ ของ Holyspace ได้มีการดัดแปลงวรรณกรรม รามเกียรติ์ อยู่ 3 ส่วนคือ ส่วนของแก่นเรื่องอย่าง ธรรมะย่อมชนะอธรรม เป็น การยึดมั่นในรักเดียว ทำให้หัวใจทศกัณฐ์กลายเป็นนวนิยายรักโรมานซ์ ตอบสนองผู้ที่นิยมบริโภคแฟนฟิคชั่น นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของปมขัดแย้งและตอนจบ เพื่อเปลี่ยนให้นางสีดามารักกับทศกัณฐ์ เพิ่มปมขัดแย้งระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์มากขึ้น และเป็นที่มาของคำสาปแช่งของนางมณโฑที่ต้องการให้ความรักของนางสีดาและทศกัณฐ์ไม่สมหวังทุกชาติไป
จากการศึกษาพบอีกว่า หัวใจทศกัณฐ์นั้นมีการดัดแปลงคุณลักษณะบางประการของตัวละครไป กล่าวคือ
นวนิยายชายรักชายเรื่องนี้ ได้ปรับลดลักษณะที่โหดเหี้ยมของทศกัณฐ์ลง โดยให้เหตุผลว่าทศกัณฐ์ก็มีหัวใจแต่ทำไปเพราะพวกพ้อง และปรับลักษณะนิสัยของนางสีดาจากรักเดียวใจเดียว ยอมอ่อนข้อให้สามีอย่างพระรามเพียงคนเดียว ให้เปลี่ยนเป็นนางสีดาที่มีความรักให้กับทศกัณฐ์เช่นกัน
รวมทั้งนวนิยายเรื่องนี้ยังมีการนำเสนอเรื่องที่เปิดกว้างความหลากหลายทางเพศ ต่อยอดตัวบทและนำตัวละครที่ไม่ได้ถูกพูดถึงในวรรณกรรมกระแสหลักมาพูดได้อย่างสร้างสรรค์
เส้นเรื่องของการนำเสนอความรักที่ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นความรักแบบผัวเดียวเมียเดียว หรือเฉพาะเพศชายกับหญิงเท่านั้น ทำให้นวนิยายชิ้นนี้เป็นงานเขียนที่ปะทะความเชื่อระหว่าง 2 สมัย ระหว่างตัวบทต้นทางและตัวบทปลายทาง และถือเป็นนวนิยายที่ท้าทายสังคมไทยมากที่สุดเรื่องหนึ่ง
สังคมยังไม่ไปไหนในเมียหลวง
ละครเรื่อง ‘เมียหลวง’ ไม่เคยห่างหายจากหน้าจอไปไหน เพราะถูกนำมาทำซ้ำ ปรับรูปแบบให้มีความสอดคล้องกับทุกยุคทุกสมัยบ่อยที่สุดเรื่องหนึ่ง เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะละครเก่าส่วนใหญ่มักจะมีฐานแฟนคลับที่ติดตามละครอยู่แล้ว รวมทั้งเนื้อหาที่สอดแทรกสะท้อน ‘ความเป็นผัวเมีย’ ในสังคมไทยอย่างคลาสสิก และเป็นที่มาให้ วรารัตน์ ไตรพิทักษ์ สนใจอยากจะศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับละครเรื่องดังกล่าว จนนำมาสู่การทำรายงานวิจัยชื่อ เมียหลวง: การดัดแปลงนวนิยายสู่บทละครโทรทัศน์ปี พ.ศ. 2560
ละครเรื่อง ‘เมียหลวง’ ไม่เคยห่างหายจากหน้าจอไปไหน เพราะถูกนำมาทำซ้ำ ปรับรูปแบบให้มีความสอดคล้องกับทุกยุคทุกสมัยบ่อยที่สุดเรื่องหนึ่ง เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะละครเก่าส่วนใหญ่มักจะมีฐานแฟนคลับที่ติดตามละครอยู่แล้ว รวมทั้งเนื้อหาที่สอดแทรกสะท้อน ‘ความเป็นผัวเมีย’ ในสังคมไทยอย่างคลาสสิก และเป็นที่มาให้ วรารัตน์ ไตรพิทักษ์ สนใจอยากจะศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับละครเรื่องดังกล่าว จนนำมาสู่การทำรายงานวิจัยชื่อ เมียหลวง: การดัดแปลงนวนิยายสู่บทละครโทรทัศน์ปี พ.ศ. 2560
จากงานวิจัยชิ้นนี้ วรารัตน์ พบว่า มีการใช้กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านสื่อที่แตกต่างกัน รวมทั้งช่วงเวลาในการเล่าที่ต่างกันก็มีผลทำให้รูปแบบและวิธีการเล่าต่างกัน เดิมทีเมียหลวงเป็นนวนิยายที่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2512 ก่อนจะถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นบทละครโทรทัศน์ครั้งแล้วครั้งเล่า จนมาถึงเวอร์ชั่นล่าสุดปี 2560 มีส่วนประกอบของเรื่องสำคัญหลายข้อได้ถูกปรับเปลี่ยนไปเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น
หากเปรียบเทียบต้นฉบับที่เป็นนวนิยาย กับบทละครฉบับล่าสุดปี 2560 จะเห็นว่า ฉากแรกที่ปรากฏขึ้นระหว่างในนวนิยาย และบทละครโทรทัศน์มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ นวนิยายใช้การเปิดเรื่องจากการเล่าถึงความทุกข์ของวิกันดาในชีวิตคู่กับอนิรุทธิ์ แสดงให้เห็นว่าการแต่งงานอาจไม่ได้พบกับความสุขเสมอไป หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นของความทุกข์ ขณะที่บทละคร พ.ศ. 2560 ใช้การเปิดเรื่องในฉากงานแต่งงานของวิกันดากับอนิรุทธิ์ ที่แสดงถึงความหวานชื่นและแสดงให้เห็นถึงปัญหาของตัวละครอื่น เพื่อบอกเป็นนัยให้เห็นว่าแต่ละครอบครัวนั้นมีปัญหาที่แตกต่างกันไป
ส่วนการดำเนินเรื่องทั้งนวนิยายและบทละครโทรทัศน์ก็มีหลายจุดที่ปรับเปลี่ยนไป หนึ่งในนั้นคือ การเพิ่มภูมิหลังให้สอดคล้องกับบทของตัวร้ายในละครอย่าง อรอินทร์ ซึ่งเดิมทีในนวนิยายไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครนี้มากนัก แต่เมื่อปรับมาเป็นบทละครปี 2560 จะพบว่า ในละครได้เล่าถึงภูมิหลังของอรอินทร์ว่า อรอินทร์ตกหลุมรักอนิรุทธิ์มาตั้งแต่สมัยมัธยม ทำให้อรอินทร์ยอมเป็นเมียน้อย และภูมิหลังเกี่ยวกับหน้าที่การงานของอรอินทร์ที่มีการศึกษาดี มีหน้าที่การงานที่ดี แต่ด้วยการปฏิบัติตัวทำให้ชีวิตค่อยๆ ตกต่ำ และทำให้ลูกสาวของเธอกลายเป็นเด็กมีปัญหาไปในที่สุด
นอกจากนี้ ละครเรื่อง ‘เมียหลวง’ ยังได้สอดแทรกข้อคิดสะท้อนความเป็นสังคมปิตาธิปไตย (ชายเป็นใหญ่) เอาไว้อย่างแน่นหนา กล่าวคือสังคมไทยยังมีการให้คุณค่าชายเป็นใหญ่อยู่มาก และความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงยังเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป ซึ่งการนำมาผลิตซ้ำของละครเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าแนวคิดเรื่องปิตาธิปไตยนั้นยังอยู่ซึมซับในสังคมในปัจจุบัน
พ่อหล่อสอนลูกให้ไม่เชื่อ
มีเหตุผลมากมายที่คนเราจะถูกใจหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง บ้างถูกใจในหน้าปก บ้างถูกใจคอนเซ็ปท์ของเล่ม แต่สำหรับ กานต์รวี กองศรีมา การได้มาพบหนังสือ ‘พ่อหล่อสอนลูก’ ถือเป็นเรื่องราวโดยบังเอิญ แต่ด้วยหนังสือเล่มนี้ชวนให้ผู้อ่านคิดสงสัย ตั้งคำถาม และเลือกที่จะเชื่อหรือทำอะไรด้วยตัวเอง มากกว่าต้องเชื่อฟังเพราะผู้ใหญ่สั่งหรือสอนให้ทำ จึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดงานวิจัยชื่อ พ่อหล่อสอนลูก ของอธิคม คุณาวุฒิ: การศึกษาในฐานะวรรณกรรมคำสอนสมัยใหม่
กานต์รวีกลับมาอ่านและเรียนรู้กับหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง และพบว่า หนังสือเล่มนี้สอดแทรกสาระไว้ 2 ประการคือ การปฏิบัติตนภายใต้มาตรฐานและข้อกำหนดของสังคม และการปฏิบัติตนภายใต้ความซับซ้อนและหลากหลายของสังคม ผ่านกลวิธีการเล่าแบบบทสนทนาถามตอบระหว่างพ่อกับลูก ที่จะทำให้เด็กเกิดการตั้งคำถามและนำไปสู่การฝึกคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีตรรกะรองรับในทุกคำตอบ เพื่อตกตะกอนในประเด็นที่หนังสือต้องการนำเสนอ นอกจากนี้ยังมีกลวิธีการเล่าแบบเสียดสีประเด็นทางสังคมและเสียดสีบุคคล เพื่อเน้นย้ำคำสอนได้เห็นเด่นชัดมากขึ้น
สำหรับจุดเด่นของหนังสือที่อาจเป็นข้อสรุปสำหรับกานต์รวีคือ วรรณกรรม ‘พ่อหล่อสอนลูก’ เป็นวรรณกรรมคำสอนสมัยใหม่ที่ชี้แนะคำสอน ทัศนคติและเสนอแนวทางในการปลูกฝังและการปฏิบัติตนสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมสมัยใหม่
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้จะไม่มีการสอนให้เชื่อในสิ่งที่ผู้เป็นพ่อเชื่อ แต่ให้ใช้เหตุและผลคิดพิจารณาด้วยตัวเองก่อนจะเชื่อหรือทำอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนไทย
ถึงแม้จะเป็นวรรณกรรมคำสอนสำหรับเด็ก แต่กลับไม่ได้เป็นหนังสือที่ให้คุณประโยชน์สำหรับเด็กเท่านั้น วรรณกรรมนี้ยังให้ประโยชน์แก่คนทั่วไปที่ได้อ่านให้ชวนคิดตามไปกับสิ่งที่ผู้เขียนได้เขียนอย่างแยบยล
จากการศึกษา กานต์รวีอธิบายว่า การอบรมสั่งสอนลูกนั้นจำเป็นต่อสังคมทุกยุค เพราะการเรียนรู้เป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิต และการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องเกิดจากการรู้จักคิดหรือตั้งคำถามต่อเรื่องต่างๆ รอบตัว แม้ว่าจะขัดกับค่านิยมของคนส่วนใหญ่เพราะสังคมจะพัฒนาไปได้ ส่วนหนึ่งมาจากการตั้งคำถามของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเสมอ
นอกจากนี้วรรณกรรม ‘พ่อหล่อสอนลูก’ ยังนำเสนอถึงปัญหาของระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะระบบการศึกษาในโรงเรียนที่มักจะพบว่า การเรียนการสอนส่วนใหญ่ยังคงปลูกฝังเด็กแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมการเรียนเก่ง ไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนตั้งคำถาม ทำให้เด็กส่วนใหญ่มีความคิดที่เชื่องและรอให้โรงเรียนหรือใครในสังคมมาคอยชี้แนะว่าตนจะต้องทำอะไร วรรณกรรมเล่มนี้จึงถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้อ่านได้คิดและตรวจสอบความคิดความเชื่อของตัวเองและสังคม
ภาษาแบบธนาธร
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มเข้าถึงสื่อช่องทางต่างๆ ได้มากขึ้น ความรู้ของผู้คนจึงไม่ถูกจำกัดว่าจะต้องมาจากหนังสือ โทรทัศน์ หรือคำสอนของผู้หลักผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่โครงข่ายขนาดใหญ่อย่างอินเทอร์เน็ตกลับเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้คนตื่นรู้ทางความคิดมากขึ้น และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงกลายเป็นขวัญใจของคนรุ่นใหม่ในชั่วข้ามคืน
จากการนำเสนอแนวคิดและมุมมองของชายผู้นี้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์หลากหลายช่องทาง ประกอบกับการใช้ภาษาของเขาผ่านการใช้สื่อโซเชียลในการปราศรัยหาเสียงให้กับ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ทำให้ พชรวรรณ เกียรติเวธี หันมาศึกษากลวิธีการใช้ภาษาของธนาธร เพื่อโน้มน้าวผู้คนให้คิดตามในสิ่งที่เขานำเสนอ จนเกิดเป็นงานวิจัยชื่อ ภาษาที่สื่ออัตลักษณ์ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในช่วงระหว่างหาเสียงเลือกตั้งปี 2562
หลังการศึกษาเรื่องดังกล่าว พชรวรรณพบว่า การใช้ภาษาของธนาธร ประกอบด้วยกลวิธีทางภาษาหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น การใช้ถ้อยคำอ้างถึง เช่น การใช้คำที่สื่อถึง ‘กลุ่มคนรุ่นใหม่’ อย่างคำว่า ผู้กำหนดอนาคต เยาวชนคนรุ่นใหม่ คนรุ่นต่อไป หรือคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เป็นต้น การใช้คำกริยาและคำขยาย การใช้ความหมายคู่ตรงข้าม เช่น คำว่าเผด็จการกับประชาธิปไตย การใช้มโนอุปลักษณ์ หรือการสร้างความเข้าใจสิ่งหนึ่งด้วยการเปรียบเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เช่น การเปรียบการเปลี่ยนแปลง เป็นการต่อสู้ ด้วยพลังของประชาชน เพื่อชัยชนะของประชาชน
นอกจากนั้นการใช้รูปประโยคที่สัมพันธ์กันตามลำดับเวลา อย่างในประโยคที่ว่า หากย้อนไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ไทยและมาเลเซียเริ่มต้น ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างยางพาราพร้อมกันแต่ปัจจุบัน มาเลเซียได้กลายเป็นประเทศที่แปรรูปยาง รายใหญ่ของโลก การใช้ประโยคเงื่อนไขและประโยคการปฏิเสธ อย่างเช่น หากผมได้รับความไว้วางใจจากประชาชนผม ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างอัตลักษณ์ให้กับธนาธรในฐานะ นักการเมืองรุ่นใหม่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง และนักประชาธิปไตย ลบภาพลักษณ์เดิมของนักการเมืองรุ่นเก่าด้วยการสร้างอัตลักษณ์ให้คำว่านักการเมืองรุ่นใหม่
แม้ว่าทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงการนำเสนองานวิจัยภายในห้องเรียนเท่านั้น และแม้ว่าต่างคนจะต่างความคิด ต่างความสนใจ แต่สิ่งที่เหมือนกันของทุกคนคือ การตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่เดิม เพื่อหาคำตอบให้กับสิ่งนั้นว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดขึ้น และสามารถพัฒนาต่อยอดสิ่งดังกล่าวเพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่นได้หรือไม่
เพราะหลายๆ ครั้ง คำถามสำคัญกว่าคำตอบ