- กิจกรรมด.เด็กเดินป่า เปิดโลกการเรียนรู้นอกห้องสำหรับเด็กๆ และครอบครัว สิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ความรักและความรู้ในธรรมชาติ แต่คือความเข้าใจและรู้จักตัวเอง ไม่ใช่แค่ลูก ผู้ปกครองก็มองเห็นโอกาสเติบโตของตัวเองด้วยเช่นกัน
- “เวลาเราล้ม เราเจ็บ เราร้องไห้ได้ แต่เราก็เรียนรู้ว่าเราจะเดินได้ดีขึ้นในครั้งต่อไป ตอนเดินป่าใหม่ๆ พี่ก็ล้ม ลูกๆ เองได้เห็นว่า แม่ล้มได้ก็ลุกได้ ชีวิตก็ต้องเดินต่อไปแบบนั้น เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเขาคือต้องเข้มแข็งให้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่มารอให้แม่ดูแลอย่างเดียว เพราะวันหนึ่งที่แม่ล้ม เขาจะช่วยแม่ได้ ถ้าเขาหยัดยืนด้วยตัวเองเป็น”
ตอนที่มนุษย์ยังใช้ชีวิตเร่ร่อนไร้หลักแหล่ง เรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติอย่างเหลือล้น อย่างน้อยเราก็รู้ว่าต้นอะไรกินได้ ท้องฟ้าสีแบบนี้จะมีพายุไหม เสียงร้องแบบนี้คือเสียงสัตว์ชนิดไหน ควรเข้าหาหรือถอยหนี เพราะนั่นคือความเป็นความตายของชีวิต แต่เมื่อวันหนึ่งเราพัฒนาตัวเองกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ฉลาดหลักแหลม เราสร้างสิ่งห่อหุ้มตัวเองในนามของความสะดวกสบายและทันสมัย ชีวิตเรากลับห่างไกลจากธรรมชาติมากขึ้นทุกที เรามองเห็นต้นไม้เป็นแค่ต้นไม้ เห็นต้นไม้เล็กๆ ทุกชนิดตามพื้นดินเป็นวัชพืช ไม่รู้ว่าต้นไหนเป็นอาหารหรือยา เราเกลียดกลัวไส้เดือนเพราะไม่เคยรู้ว่ามันมีหน้าที่สำคัญอะไรในโลก เราไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าน้ำที่ใช้ทุกวี่วันมีต้นกำเนิดมาจากที่ไหน
ไม่ใช่เพียงไม่รู้ แต่ไม่เคยแม้แต่จะคิดถาม
‘ลุงอ้วน’ นิคม พุทธา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มแม่น้ำปิงและผู้ก่อตั้งค่ายเยาวชนเชียงดาว จึงจัดกิจกรรม ด.เด็กเดินป่า* ขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีละสองครั้ง เพื่อหวังเปิดโลกการเรียนรู้นอกห้องสำหรับเด็กๆ และครอบครัว มุ่งหมายจะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ความรักต่อธรรมชาติในหัวใจน้อยๆ ของคนรุ่นใหม่ เพราะหากไม่มีความรักเป็นพื้นฐาน ยากเหลือเกินที่คนเราจะอุทิศตนรักษาสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ให้คงอยู่ และการมีประสบการณ์ตรงผ่านการใช้ร่างกายและหัวใจของตนเองเท่านั้น จึงจะก่อเกิดภาพจำในหัวใจไม่ลบเลือน
กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นสองวัน วันแรกเป็นการเดินป่าเพื่อเรียนรู้ระบบนิเวศบริเวณเชิงเขาหินปูนอันเป็นลักษณะเฉพาะของดอยหลวงเชียงดาว ผ่านเส้นทางป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ โดยมีจุดเริ่มต้นจากวัดถ้ำผาปล่องไปสิ้นสุดที่ด้านหลังวัดถ้ำเชียงดาว ส่วนวันที่สองเป็นการเดินตามลำธารในป่าต้นน้ำ ณ สถานีวิจัยสัตว์ป่าเชียงดาว เพื่อให้เรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างภูเขา ป่า แม่น้ำ และสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ที่ได้อาศัยพึ่งพิง การเดินป่าหน้าร้อนในพื้นที่ที่แตกต่าง ช่วยให้เด็กได้มีความเข้าใจต่อธรรมชาติอย่างลึกซึ้งผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าของตัวเอง
นี่แหละประสบการณ์ ‘ป่า’ ในความทรงจำ ที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน
บทเรียนที่หนึ่ง: น้ำทุกหยดกำเนิดมาจากป่า
เส้นทางวันแรกสูงชันไม่น้อยสำหรับเด็กๆ เพราะเป็นการเดินจากที่ราบเชิงเขาขึ้นไปสู่ยอดเขา เส้นทางที่เราเดินเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ป่า 380 ไร่ของวัดถ้ำผาปล่อง ทางเดินที่ดูโล่งเตียนคือแนวกันไฟ หรือ การเก็บกวาดใบไม้แห้งในป่าเพื่อให้เกิดช่องว่างเป็นแนวยาวเพื่อป้องกันไฟลุกลามเมื่อเกิดไฟป่า ลุงอ้วนมักชักชวนอาสาสมัครมาช่วยกันทำแนวกันไฟทุกๆ ปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม คนทั่วไปเป็นจิตอาสาร่วมกันได้
ลุงอ้วนชี้ชวนให้เด็กๆ เรียนรู้ป่าสองข้างทาง พลางตั้งคำถามว่าปีนี้ไม่มีฝนตกมาเกือบห้าเดือนแล้วแต่ทำไมธรรมชาติยังดำรงอยู่ได้ นั่นเพราะทุกครั้งที่มีฝน ป่าสมบูรณ์จะช่วยเก็บน้ำเอาไว้ใต้ดินถึง 80 เปอร์เซ็นต์ คอยสะสมเอาไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง อีก 20 เปอร์เซ็นต์ไหลลงไปตามลำน้ำน้อยใหญ่ส่งต่อกันไปตามแม่น้ำล่องไปถึงทะเล แต่ถ้าป่าที่ไหนถูกทำลายจนโล่งเตียน ก็เท่ากับว่าเราได้สูญเสียน้ำ 80 เปอร์เซ็นต์ที่ว่านั้นไปอย่างน่าเสียดาย หลายครั้งก่อเกิดปัญหาน้ำท่วมตามมา เพราะน้ำไม่ได้อยู่ในที่ที่มันควรจะอยู่
“น้ำทุกหยดไม่ว่าจะอยู่ในแก้วหรือขวด กำเนิดมาจากป่าทั้งสิ้น เพราะแม่น้ำทุกสายไหลมาจากป่าในภูเขา ทุกครั้งที่เราดื่มน้ำขอให้เราคิดถึงป่า คิดถึงต้นไม้และภูเขาที่ช่วยเก็บน้ำไว้ให้เราด้วย ” ลุงอ้วนเล่าด้วยรอยยิ้ม
แม้เราเห็นว่าผืนดินแห้งแล้ง แต่ลึกลงไปยังมีน้ำชุ่มฉ่ำอยู่ที่รากไม้ซึ่งต้นไม้ใหญ่ได้แบ่งปันซึ่งกันและกันอยู่ภายใต้ผืนดิน ทั้งยังแบ่งปันให้แก่ต้นไม้น้อยๆ รอบข้าง ยามที่ใบไม้แห้งร่วงหล่นลงผืนดิน ส่วนหนึ่งจะถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์เล็กๆ หรือปลวกเพื่อเปลี่ยนใบไม้ให้กลายเป็นดิน กลับคืนกลายเป็นธาตุอาหารของต้นไม้ ส่วนใบไม้แห้งที่เหลือทำหน้าที่เป็นเหมือนผ้าห่มบนผิวดินคอยรองรับแรงกระแทกจากเม็ดฝนไม่ให้ชะล้างเอาความอุดมสมบูรณ์ออกไปจากหน้าดิน คอยเก็บรักษาความชุ่มชื้นเอาไว้ รวมทั้งเป็นฟองน้ำที่คอยดูดซึมน้ำฝนเอาไว้บนผิวดินก่อนค่อยๆ ซึมซับลงไปใต้ผืนดิน
ป่าที่สมบูรณ์มากๆ เราอาจได้เห็นน้ำซับน้ำผุดหรือปรากฏการณ์ที่น้ำเอ่อล้นขึ้นมาบนผิวดินกลายเพราะรากไม้และผืนดินเก็บน้ำไว้จนอิ่มเต็มและท่วมท้นออกมา
ลำน้ำน้อยๆ ทั้งหลายจึงเกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ เหล่านี้เอง เมื่อน้ำท้นจากผืนดิน ไหลล่องออกมาจากป่า รวมกันเป็นสายน้ำลำธาร กลายเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่และไหลไปบรรจบกันที่ทะเล น้ำทุกหยดจึงมีจุดเริ่มต้นจากป่า ป่าเป็นผู้ให้กำเนิดน้ำ และน้ำให้กำเนิดสรรพชีวิตทั้งมวล หากไม่มีป่า เราอาจไม่มีอะไรเหลืออีกเลย
ลำน้ำน้อยๆ ทั้งหลายจึงเกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ เหล่านี้เอง เมื่อน้ำท้นจากผืนดิน ไหลล่องออกมาจากป่า รวมกันเป็นสายน้ำลำธาร กลายเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่และไหลไปบรรจบกันที่ทะเล น้ำทุกหยดจึงมีจุดเริ่มต้นจากป่า ป่าเป็นผู้ให้กำเนิดน้ำ และน้ำให้กำเนิดสรรพชีวิตทั้งมวล หากไม่มีป่า เราอาจไม่มีอะไรเหลืออีกเลย
บทเรียนที่สอง: ป่าคือธนาคารของชีวิต
ในป่าแต่ละระดับความสูงจะมีพันธุ์ไม้แตกต่างกันออกไป ซึ่งพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาวถือว่ามีความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชและสัตว์สูงมาก ลุงอ้วนบอกว่าต้นไม้สายพันธุ์เดียวกันที่อยู่นอกป่าอาจเปลี่ยนแปลงและกลายพันธุ์ได้ แต่ต้นไม้ในป่าจะคัดเลือกกันเองจนได้สายพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุดเสมอ ป่าจึงเปรียบเสมือนธนาคารของเมล็ดพันธุ์ เป็น Genetic Bank ที่หลากหลายและสมบูรณ์ที่สุดหากเรายังดำรงรักษาผืนป่าเอาไว้ได้
ดอยหลวงเชียงดาวมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะถือเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ เป็นป่าที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำปิง ก่อนไหลไปรวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาและลงทะเลอ่าวไทย การจะพูดว่าเชียงดาวเป็นผู้มีส่วนร่วมก่อกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทยจึงไม่ใช่เรื่องที่เกินความเป็นจริงนัก
นอกจากนี้ พื้นที่เชิงเขารอบดอยเชียงดาวยังมีความพิเศษตรงที่เป็นระบบนิเวศเขาหินปูน ดอยหลวงเชียงดาวถือเป็นภูเขาที่สูงเป็นอันดับสามแต่เป็นภูเขาหินปูนที่สูงที่สุดในประเทศไทย มีต้นไม้ ดอกไม้และพันธุ์พืชเฉพาะหลายชนิดที่พบได้ที่นี่แห่งเดียวเท่านั้น ลักษณะสำคัญของเขาหินปูนคือมีก้อนหินผสมผสานอยู่ในหลากหลายพื้นที่ บนเส้นทางการเดินป่าเราก็จะพบเห็นก้อนหินหลากหลายขนาดอยู่ในป่าด้วย หินปูนเหล่านี้เป็นหินที่มีเนื้อสีขาวซึ่งเกิดจากตะกอนใต้ทะเลและซากสัตว์ต่างๆ เช่น เปลือกหอยและปะการัง
การที่เด็กๆ ได้ฟังคำอธิบายจากลุงอ้วนว่า เมื่อก่อนก้อนหินพวกนี้เคยอยู่ใต้ทะเลมาก่อนจึงเป็นสิ่งที่เรียกความฮือฮาจากเด็กๆ อย่างดีเหลือเกิน ร่องรอยหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือก้อนหินบนทางเดินขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาว มีร่องรอยหอยโบราณติดอยู่บนก้อนหินที่มีอายุหลายร้อยล้านปี
นับเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่ยืนยันได้ว่า ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใต้มหาสมุทรจริงๆ
บทเรียนที่สาม: ไฟป่าดับง่าย ไฟในใจดับยาก
ผ่านจากเส้นทางที่เป็นแนวกันไฟในป่าดิบแล้ง ในที่สุดเด็กๆ และครอบครัวก็เดินขึ้นไปถึงเขตป่าเบญจพรรณและมองเห็นป่าเต็งรังอยู่ด้านที่สูงขึ้นไปอีกระดับ พื้นที่ช่วงนี้เมื่อเดือนก่อนเกิดไฟป่าลุกลามกว้างใหญ่ จนเรามองเห็นร่องรอยเถ้าถ่านของเพลิงไหม้ได้อย่างชัดเจน
“ทำไมคนต้องเผาป่าด้วยคะ” เด็กน้อยคนหนึ่งยกมือขึ้นถามคำถามที่สำคัญ
ลุงอ้วนยิ้มพลางบอกเล่าว่า บางครั้งไฟป่าก็มีความสำคัญหากเกิดขึ้นเล็กน้อยพอประมาณ เพราะช่วยกระตุ้นเมล็ดไม้ให้รีบเติบโตงอกงามด้วยตัวเอง
ไฟป่ามีหลายแบบ ทั้ง ไฟมุดดิน คือไฟที่ถูกจุดให้สุมขอน เผาไหม้รากไม้ ไฟผิวดิน ที่ไหม้กิ่งไม้และใบไม้แห้ง ไฟแบบนี้ทำให้ไฟป่าลุกลามอย่างรวดเร็วเพราะในฤดูแล้งใบไม้แห้งปกคลุมทั่วทั้งผืนป่า การทำแนวกันไฟจึงช่วยป้องกันไฟแบบนี้ได้ ไฟกระโดด คือไฟที่ลุกลาม บางครั้งเผาไหม้ไปตามกิ่งไผ่ที่คดโค้ง ข้ามแนวกันไฟไปยังป่าอีกฟากฝั่ง ไฟลอย คือไฟที่ไหม้จากจุดหนึ่งแล้วถูกลมพัดปลิวไปยังจุดอื่น ทั้งไฟลอยและไฟกระโดดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไฟป่าลุกลามและดับได้ยาก หลายครั้งเปลวไฟลอยเข้าไปในพื้นที่ป่าที่เข้าถึงได้ยากทำให้ต้องใช้เวลาดับไฟเนิ่นนานยิ่งกว่าเดิม
ไฟป่าที่ว่ามานี้เกือบทั้งหมดเกิดจากฝีมือมนุษย์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังดับได้ (ง่าย) แต่ไฟที่รุนแรงแท้จริงและดับได้ยากยิ่งกว่าคือ ไฟในใจ หมายถึง ความโกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชังที่ผู้คนมีต่อกัน เราทุกคนต่างมีไฟนี้ในหัวใจ การจะดับไฟป่าในทางกายภาพได้ บางทีก็ต้องเริ่มจากการดับไฟในใจเป็นสำคัญ
การเดินทางผ่านป่าเบญจพรรณในฤดูแล้งที่ใบไม้ผลัดทิ้งใบเกือบหมด ทำให้ทุกคนเผชิญอากาศร้อนจัด ร่องรอยไฟป่าตามต้นไม้ใหญ่ชวนให้หดหู่ใจ แม้ไฟป่าจะพร่าผลาญเหล่าสรรพชีวิตในผืนป่า แต่ภาพปรากฏบางอย่างตรงหน้าก็นำพาพลังชีวิตให้เราได้มหาศาล
ทั้งที่ผืนดินแห้งแล้ง ไฟป่าทำลายล้าง แต่ต้นไม้หลายชนิดก็ยังหยัดยืนไม่ยอมแพ้ เราเห็นการแทงยอด การผุดกำเนิดขึ้นมาจากผืนดิน สีเขียวอ่อนนั้นสื่อสารถึงความเข้มแข็ง ไม่ยอมแพ้ต่อชีวิต การเลือกที่จะหยัดยืนต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
ลุงอ้วนบอกเด็กๆ ว่านี่คือกระบวนการฟื้นตัวของธรรมชาติ สื่อสารถึงพวกเราให้ยืนหยัดต่อชีวิตเช่นเดียวกัน บางครั้งชีวิตของเราก็ทุกข์ทนดั่งถูกไฟผลาญ
“แต่เราเรียนรู้ที่จะใช้ความร้อนและการทำลายล้างเหล่านั้นนำพาตัวเองไปสู่ความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นได้ไหม” ช่างเป็นคำถามชวนใคร่ครวญในใจยิ่งนัก
บทเรียนที่สี่: ชีวิตคือการเติบโตด้วยตัวเองและเผื่อแผ่ความรักแก่ผู้อื่น
ข้อดีของการเดินป่าหน้าร้อนคือ เด็กได้พบเจอเมล็ดไม้หลายชนิด บางชนิดรูปร่างสวยงามแปลกตา หลายชนิดมีปีกบินได้ ลุงอ้วนบอกเด็กๆ ว่าเพราะต้นไม้ไม่มีขา เวลาแม่ต้นไม้จะนำพาลูกๆ ไปเกิดใหม่ก็ต้องอาศัยแรงลมพัดพาให้เมล็ดไม้แพร่กระจายไปได้ไกลและมากที่สุด ปีกของเมล็ดไม้จึงเป็นเครื่องมือเดินทางไปก่อกำเนิดสร้างชีวิตใหม่ของตัวเอง บางชนิดมีปีกร่อน บางชนิดมีขนปุยเหมือนขนนก เมื่อร่อนไปแล้วขนจะหลุดร่วงทิ้งไป เหลือไว้แต่เมล็ดไม้ที่ต้องหยั่งรากหยัดยืนด้วยตัวเองต่อไป
เพราะต้นไม้รู้ความลับสำคัญที่ว่า การเติบโตที่ดีที่สุดคือการเติบโตให้พ้นไปจากร่มเงาของพ่อแม่นั่นเอง
สิ่งหนึ่งที่เด็กๆ และหลายครอบครัวได้เรียนรู้ในการเดินป่าครั้งนี้คือ
ชีวิตเป็นการเติบโตด้วยตัวเอง พ่อแม่บางคนได้เห็นศักยภาพที่ไม่เคยเห็นยามที่ลูกเป็นแค่เด็กน้อยในบ้าน แต่เมื่ออยู่ในท่ามกลางธรรมชาติที่ยากลำบาก ต้องเผชิญหน้าฝ่าฟันด้วยตัวเอง เด็กๆ หลายคนทำได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ พวกเขาอดทนและไม่พร่ำบ่นเลย
บางคนหยิบยื่นน้ำใจต่อเพื่อนร่วมทางตัวน้อย พี่ช่วยน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน แบ่งปันอาหาร ขนม น้ำดื่ม ประคับประคอง ปลอบประโลม ยื่นมือโอบอุ้มช่วยเหลือกันและกันด้วยความเต็มใจ เด็กน้อยจากเมืองกรุงคนหนึ่งถึงกับเอ่ยปากขึ้นมาว่า “ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้เลย ทำไมใจดีจัง” เรียกรอยยิ้มจากเหล่าผู้ใหญ่รอบข้างได้ไม่น้อย
ถ้าเรามีความเชื่อมั่นเพียงพอ เราจะรู้ว่าชีวิตที่แท้คือความเป็นไปได้ เราจะได้เห็นศักยภาพที่ซ่อนเร้นในสถานการณ์ที่ยากลำบากเสมอ หลายครั้งเราทำอะไรได้มากมายกว่าที่เราคิด แต่การอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยที่คุ้นชิน ทำให้เราไม่เคยต้องดึงสิ่งสำคัญนั้นออกมาใช้งาน จนกว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่พลิกผัน เราจึงได้พบว่า เราเก่งกว่าที่ตัวเองคิดมากมายนัก การเดินป่าครั้งนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเด็กๆ หลายคน ที่ไม่เพียงทำให้เขาค้นพบศักยภาพอันมหาศาลของตัวเองเท่านั้น หากยังเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความภาคภูมิใจในตนเองได้อย่างสูงสุดด้วย
บทเรียนที่ห้า: เมื่อมีที่ว่าง เราจึงเติบโต
เด็กหลายคนร้องไห้กระจองอแงเมื่อเริ่มปีนป่ายขึ้นที่สูง เดินหอบเหนื่อยบนเส้นทางที่สูงชันขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดที่ตรงไหน ขณะที่บางคนมุ่งมั่นตั้งใจ ค่อยๆ เดินไปตามเส้นทางของตัวเองทีละนิด เหนื่อยเมื่อไรก็หยุดพัก บางคนเดินลิ่ว ทิ้งพ่อแม่ไว้ข้างหลังอย่างไม่เห็นฝุ่น
อะไรทำให้เด็กที่อายุเท่ากัน มีการแสดงออกในสถานการณ์เดียวกัน-แตกต่างกันออกไป นี่คือหนึ่งในบทเรียนสำคัญที่พ่อแม่ควรเรียนรู้
เด็กบางคนหวาดกลัว ไม่มั่นใจในคราวแรก แต่เมื่อได้ลองทำ ได้มองเห็นเพื่อนอายุรุ่นราวคราวเดียวกันทำอย่างไม่หวาดหวั่น ก็รู้สึกมีแรงใจที่จะลงมือทำด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้น จนเดินได้เองอย่างแข็งแกร่ง เด็กบางคนเดินกับพ่อแม่ ถูกประคบประหงมจากพ่อแม่ตลอดทาง มีท่าทีอ่อนแอตลอดเวลา แต่ในบางช่วงบางขณะเขาสนุกที่จะเดินกับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน ความอ่อนแอที่เห็นเมื่อครู่หายไปสิ้น เขาทำได้ทุกอย่างไม่ต่างจากเพื่อน เป็นการข้ามผ่านความกลัวของตัวเอง เสริมสร้างความมั่นใจอย่างกล้าหาญ
ความรู้สึกที่เรียกว่า ‘หนูทำได้’ นี่สำคัญนัก และบ่อยครั้งพ่อแม่เองนี่แหละทำให้สิ่งเหล่านี้หล่นหายไปด้วยความรักและห่วงใยที่ ‘เกินความพอดี’ บางที เราในฐานะพ่อแม่อาจต้องเรียนรู้ที่จะต้อง ‘ปล่อยมือ’ บ้าง เพื่อให้ลูกเกิดที่ว่างของการเติบโต การล้มหรือความผิดพลาดก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน แม้แต่พ่อแม่ก็มีสิทธิพลาด เราจงอนุญาตให้ตัวเองเป็น ‘มนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ’ ได้โดยไม่ต้องตัดสินตัวเอง ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนทำให้เราแข็งแกร่งและเรียนรู้ที่จะทำได้ถูกต้องในครั้งต่อไปเสมอ
คุณแม่คนหนึ่งแบ่งปันกับฉันในระหว่างเดินป่าว่า เมื่อก่อนเธอห่วงลูกมาก ต้องคอยดูแลทุกสิ่งทุกอย่างในทุกเรื่อง บางครั้งเธอเหนื่อยล้าทนไม่ไหว แต่ไม่เคยแสดงออกให้ลูกเห็น ต้องทนทำเป็นเข้มแข็งแล้วประคับประคองลูกต่อไป แต่วันหนึ่งเมื่อเธอได้เรียนรู้ชีวิตมากขึ้น เธอพบว่า คนเป็นพ่อแม่มีสิทธิ์เปราะบางได้ และลูกควรได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าใจพ่อแม่ในฐานะ ‘มนุษย์คนหนึ่ง’ ด้วยเช่นกัน
“เวลาเราล้ม เราเจ็บ เราร้องไห้ได้ แต่เราก็เรียนรู้ว่าเราจะเดินได้ดีขึ้นในครั้งต่อไป ตอนเดินป่าใหม่ๆ พี่ก็ล้ม ลูกๆ เองได้เห็นว่า แม่ล้มได้ก็ลุกได้ ชีวิตก็ต้องเดินต่อไปแบบนั้น เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเขาคือต้องเข้มแข็งให้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่มารอให้แม่ดูแลอย่างเดียว เพราะวันหนึ่งที่แม่ล้ม เขาจะช่วยแม่ได้ ถ้าเขาหยัดยืนด้วยตัวเองเป็น”
เนื่องจากเส้นทางการเดินป่าครั้งนี้เป็นการเดินขึ้นและลงดอยที่ลาดชันอย่างสูง (สำหรับคนในเมือง) ขาขึ้นว่าเหนื่อยแล้วเพราะต้องเดินต่อสู้กับแรงโน้มถ่วง แต่ขาลงที่ต้องเดินลัดเลาะป่าไผ่ยิ่งลำบากยิ่งกว่า เพราะทางเดินเต็มไปด้วยกรวดขนาดย่อม (คล้ายดินลูกรัง) ตลอดสองข้างทางไม่มีสิ่งยึดเกาะ บางคนถึงกับลื่นล้มไปตลอดทาง เด็กหลายคนลื่นล้มหลายครั้งเข้าก็ตัดสินใจลื่นไถลไปกับพื้น ผืนป่าร้อนแล้งกลายเป็นสไลเดอร์แสนสนุกขนาดมหึมา ผู้ใหญ่หลายคนได้โอกาสปลุกวิญญาณความเป็นเด็กของตัวเองขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการลื่นไถลตามเด็กๆ ลงมาจนเสื้อผ้าเนื้อตัวเปรอะเปื้อนมอมแมมไปตามๆ กัน
“ดูสิเสื้อผ้าเปื้อนหมดเลย” เด็กหญิงคนหนึ่งเอ่ยขึ้น “เสื้อผ้าเปื้อนมันซักได้ แต่ประสบการณ์ที่เราได้วันนี้ นี่หาไม่ได้จากที่ไหนนะเนี่ย” เด็กชายอีกคนหนึ่งตอบ ช่างเป็นถ้อยคำอันงดงามเกินวัยเหลือเกิน ลองมองดูเถิด ทุกๆ ที่ว่างมีการเติบโตอยู่ในนั้นเสมอ ถ้าเราผู้เป็นพ่อแม่ได้เปิดโอกาสให้เขาได้มี “ที่ว่างของการเติบโตด้วยตนเอง”
บทเรียนที่หก: ทุกอย่างบนโลกใบนี้คือหนึ่งเดียวกัน
วันที่สองของการเดินป่ายิ่งสนุกสนานมากกว่าเดิม เพราะเส้นทางการเดินอยู่ในพื้นที่ของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเชียงดาวที่ร่มครึ้มด้วยต้นไม้ใหญ่ตลอดเส้นทาง ลุงอ้วนบอกเด็กๆ ว่าชีวิตในธรรมชาติคือการพึ่งพาอาศัยและแบ่งปันกันและกัน และทุกสิ่งทุกอย่างเกิดมาเพื่อทำหน้าที่บางประการเสมอ เมื่อมองป่าครั้งใดขอให้เรามองเห็น 3 สิ่งสำคัญ คือ 1) มองเห็นองค์ประกอบ 2) มองเห็นหน้าที่ และ 3) มองเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง ซึ่งบางทีไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา ทว่าอาจเห็นได้ด้วยใจ หัวใจจึงเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน
เราเดินจากค่ายเยาวชนเชียงดาวผ่านหมู่บ้านปกาเกอะญอ-ผู้อยู่ร่วมกับผืนป่าอย่างเคารพนบนอบ ชาวบ้านถือคติว่า “เมื่อกินน้ำ ใช้น้ำ ต้องรู้จักรักษาป่า” ชาวปกาเกอะญอจึงเป็นเรี่ยวแรงสำคัญเสมอในการพิทักษ์รักษาผืนแผ่นดินให้ร่มเย็น ด้านหน้าทางเข้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเชียงดาวมีพื้นที่ชุ่มน้ำเล็กๆ อยู่ เป็นหนึ่งระบบนิเวศย่อยในผืนป่าขนาดใหญ่ พื้นที่ชุ่มน้ำหรือ wetland มีความสำคัญในฐานะแหล่งอนุบาลสัตว์ เป็นตัวกรองสารพิษก่อนที่น้ำจะไหลไปสู่ลำน้ำ ใกล้ๆ กันเป็นพื้นที่ดินโป่งที่สัตว์ป่าได้อาศัยกินแร่ธาตุอาหารและดื่มน้ำอยู่เสมอ
ลุงอ้วนชวนเด็กๆ แหงนมองดูต้นไม้ใหญ่ มองเห็นเฟิร์นและกล้วยไม้หลากชนิดเกาะอยู่บนคาคบไม้ พืชยึดเกาะเหล่านี้ช่วยเก็บรักษาความชื้นไว้ให้ต้นไม้ใหญ่ ขณะเดียวกันก็เป็นบ้านหลังใหญ่ของมดแมลงตัวจิ๋ว ชายรุ่งริ่งของเฟิร์นกระเช้าสีดาทำหน้าที่ปลดปล่อยสปอร์ให้ล่องลอยไปในอากาศเพื่อกระจายพันธุ์ เถาวัลย์ร้อยรัดต้นไม้ระหว่างต้นต่อต้น เป็นเหมือนเข็มขัดเส้นโตที่ช่วยประคองต้นไม้ใหญ่เอาไว้ยามลมพายุพัดรุนแรง ทุกอย่างในธรรมชาติจึงเกิดมาพร้อมกับหน้าที่บางประการเสมอ
เมื่อเดินลัดเลาะเนินเขาเข้าไปยังลำน้ำ เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าน้ำไม่ใช่แค่น้ำ แต่น้ำในป่ายังเป็นบ้านของสัตว์หลากหลายชนิด ทั้งตัวอ่อนแมลงปอ แมลงชีปะขาว บนผิวน้ำก็มีจิงโจ้น้ำเต้นระบำ แม้แต่ก้อนหินในน้ำก็ยังมีหน้าที่ช่วยเติมออกซิเจนในน้ำ ทุกครั้งที่น้ำไหลกระทบโขดหินจนเกิดการกระฉอกนั่นเปรียบเหมือนกับลำน้ำสายน้อยได้โผล่ขึ้นมาหายใจ แล้วนำออกซิเจนกลับลงไปเติมในน้ำเพื่อแบ่งปันอากาศให้แก่สรรพชีวิตในน้ำด้วยเช่นกัน
นี่คือชั่วขณะสำคัญที่หลายคนได้ตระหนักรู้ว่า ลมหายใจของเรา ต้นไม้ และสายน้ำคือหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริงเหมือนอย่างที่ลุงอ้วนกล่าวไว้ว่า หายใจครั้งใดให้คิดถึงป่า ดื่มน้ำครั้งใดให้คิดถึงต้นไม้และภูเขา เพราะทุกสรรพชีวิตบนโลกใบนี้ล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน
ในยามแล้งเช่นนี้ ปริมาณน้ำในลำน้ำแม่ก๊ะลดลงอย่างเห็นได้ชัดจนเห็นพื้นทรายปรากฏขึ้นเป็นช่วงๆ นี่เป็นโอกาสทองของเมล็ดไม้น้อยใหญ่ จะรีบหยั่งรากเติบโต บางช่วงเราเห็นสายน้ำขุ่นข้นดำปี๋ ลุงอ้วนว่านี่คือหน้าดินชั้นดีทั้งนั้น ที่ถูกน้ำฝนชะล้างลงมาจากป่าบนดอย เพราะป่าบางส่วนถูกถากถางทำลายเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวจนหน้าดินเสียหายหมด
กล้วยป่าริมธารกำลังแตกหน่อ มันเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของสัตว์น้อยใหญ่ในป่า รากที่ยึดตลิ่งเอาไว้เป็นบ้านของปลาน้อยๆ ต้นไม้แต่ละชนิดเลือกเติบโตในพื้นที่เหมาะสมกับตัวเอง เราเองก็เช่นกัน บางครั้งอาจต้องมองหาผืนแผ่นดินที่ใช่ แล้วเลือกหยั่งรากงอกงามบนความเข้มแข็งของตัวเอง ไม่ใช่เพียงเพื่อตนเองเท่านั้น หากเพื่อเป็นที่พึ่งของสรรพสิ่งรอบข้างด้วย นี่คือสิ่งที่ธรรมชาติสื่อสารชี้ชวนให้เรามองเห็น
สำหรับเด็กๆ หลายคนนี่คือการเดินป่าในน้ำครั้งแรก อาจนำพาความกลัวและความไม่มั่นใจในคราวแรก แต่เมื่อคุ้นเคยจึงเริ่มสนุกสนานมากขึ้นเรื่อยๆ ธรรมชาติเป็นสวนสนุกและห้องเรียนขนาดใหญ่สำหรับเด็กเสมอ
เด็กโตสนุกสนานกับการผจญภัย เด็กเล็กเพลิดเพลินกับสัตว์น้ำ ดอกไม้ริมทางแปลกตา บ้างก็ลืมเวลากับการลงแช่ในลำธารที่เย็นฉ่ำชื่นใจ ทุกอย่างคือบทเรียนอันยิ่งใหญ่ที่หาไม่ได้ในห้องเรียนสี่เหลี่ยม
การก้าวเดินทวนกระแสในสายน้ำ การเหยียบย่ำไปบนผืนทราย บนกรวดหินที่ไม่ราบเรียบสม่ำเสมอ การก้าวเดินไปบนท่อนไม้ที่ทอดตัวยาวเหยียด ทั้งหมดนี้คือบทเรียนน้อยๆ ที่ทั้งน่าหวั่นใจและเสริมสร้างความมั่นใจให้เด็กๆ ของเราทุกคน ได้มองเห็นศักยภาพของตัวเอง ได้เติบโตจากการข้ามผ่านความกลัวและเสริมสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง
ธรรมชาติจึงเป็นห้องเรียนห้องใหญ่ที่เรียนรู้ได้ไม่รู้จบ เป็นการเรียนรู้ที่เรียบง่าย แต่ทรงพลัง และเปลี่ยนแปลงชีวิตเราได้อย่างแท้จริง
ธรรมชาติจึงเป็นห้องเรียนห้องใหญ่ที่เรียนรู้ได้ไม่รู้จบ เป็นการเรียนรู้ที่เรียบง่าย แต่ทรงพลัง และเปลี่ยนแปลงชีวิตเราได้อย่างแท้จริง
กิจกรรม ด.เด็กเดินป่า เป็นกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะความรักต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม จัดขึ้นปีละสองครั้งคือ เสาร์อาทิตย์แรกของเดือนพฤษภาคมและเดือนตุลาคม เป็นกิจกรรมที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการร่วมกิจกรรม (แต่หากต้องการพักค้างคืนหรือกินอาหารในระหว่างพักแรมสามารถสมทบเงินบริจาคได้) ค่ายเยาวชนเชียงดาวมีกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในปี 2562 นี้มีการปลูกป่าตลอดช่วงฤดูฝนทุกสัปดาห์ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: Nikom Putta หรือสอบถามที่ โทร. 081 992 6031 |