- พ่อปุ๊-วีรวัฒน์ กังวานนวกุล ผู้ก่อตั้ง ‘โรงเล่นเรียนรู้’ หรือพิพิธภัณฑ์เล่นได้ รวมถึงเป็นพ่อผู้ทำ ‘บ้านเรียน’ หรือ ‘Home School’ เพื่อต้องการใช้เวลาสร้างการเรียนรู้ร่วมกับลูกให้ได้มากที่สุด
- เพราะการเล่นกระตุ้นให้เกิดการเรียน เพราะของเล่นและประสบการณ์จากการเล่นจะทำให้เด็กสนุก อยู่ในภาวะของการทบทวน ขบคิด และแก้ปัญหา ที่สำคัญโรงเล่นจะต้องทำให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุก ปลอดภัย เป็นมิตร และสร้างสรรค์
- “ลูกคุณไม่จำเป็นต้องโฮมสคูลก็ได้ เรียนในระบบก็ได้ แต่อยากชวนผู้ปกครองที่สนใจ ชวนลูกเรียนรู้จากเรื่องเล็กๆ รอบตัว” นี่คือประโยคที่พ่อปุ๊ อยากฝากบอกกับพ่อแม่ทุกคน
ภาพ: ฉัตรชัย วงค์เกตุใจ และ โรงเล่นเรียนรู้
การสร้างการเรียนรู้ที่ดีและมีคุณภาพให้กับเด็ก ควรเป็นแบบไหน?
โจทย์นี้น่าจะเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคนทำงานด้านการศึกษา
แรกคลอด การดูแลเลี้ยงดูอาจเน้นให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก ช่วงเวลานี้พ่อแม่สวมบทบาทเป็นนักสังเกต หลังจากนั้นมานั่งคิดต่อว่า เมื่อลูกโตขึ้นจะให้ลูกเข้าเรียนที่ไหน โรงเรียนแบบไหนถึงจะดี หลายครอบครัวเลือกเปิด ‘บ้านเรียน’ หรือ ‘Home School’ เพื่อใช้เวลาสร้างการเรียนรู้ร่วมกับลูกให้ได้มากที่สุด
เงื่อนไข ความต้องการ พื้นฐานครอบครัวและความคิดที่แตกต่างของแต่ละครอบครัว ”นำมาสู่การตัดสินใจเลือกที่ไม่เหมือนกัน แต่แน่นอนว่าพ่อแม่อยากเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก
‘ปุ๊’ วีรวัฒน์ กังวานนวกุล ผู้ก่อตั้งโรงเล่นเรียนรู้ หรือพิพิธภัณฑ์เล่นได้ ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย พื้นที่ที่เชื่อมาตลอดระยะเวลาทำงานกว่า 20 ปีว่า การเรียนกับการเล่นเป็นเรื่องเดียวกัน
คำถามในวันนี้จึงควบหลายบทบาทของผู้ชายคนนี้ ทั้งในฐานะนักการศึกษา นักพัฒนาสังคม นักเรียนรู้ และในฐานะพ่อของลูกชายสองคน แปลน รามิล และ ปูน นาฬา กังวานนวกุล เด็กหนุ่มวัย 17 และ 12 ที่เป็นผลผลิตของการเติบโตมากับการเล่น (อ่านบทสัมภาษณ์ ปูนแปลนไม่ไปโรงเรียน เพราะการเรียนรู้ไม่จำกัดฝัน และไม่มีวันหมดอายุ)
พิพิธภัณฑ์เล่นได้เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว อะไรเป็นจุดเปลี่ยนให้เกิดโรงเล่นเรียนรู้
จากพิพิธภัณฑ์เล่นได้ และกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ที่ตั้งขึ้นมากว่า 20 ปี ผมประมวลจากข้อมูลที่มีอยู่แล้วพบว่า ทั้งสองอย่างนี้ไม่สามารถอยู่อย่างมั่นคงได้ในโลกอีก 10 ปีข้างหน้า อย่างกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ทำของเล่นพื้นบ้าน คนมักเข้าใจว่าเป็นเรื่องของผู้สูงอายุอย่างเดียว จริงๆ เป็นเรื่องของเด็กๆ และคนหนุ่มสาวที่เข้ามาเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำของเล่นดั้งเดิมด้วย
พิพิธภัณฑ์เล่นได้ก็เหมือนกัน เป็นพื้นที่ที่ดี แต่คนจำว่าพิพิธภัณฑ์เล่นได้เกี่ยวข้องกับของเล่น เป็นที่เก็บของสะสมอย่างเดียว พอคนมีภาพจำอยู่แล้ว มันยากที่จะอธิบายเรื่องเดิมในมุมมองใหม่ๆ ให้คนเข้าใจ ส่วนตัวผมอยากทำงานไปอีกอย่างน้อย 10 ปี มันเลยถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจ แล้วต้องเปลี่ยน เลยมีโจทย์เกิดขึ้นว่า ถ้าอยากทำงานต่อในอนาคตเราต้องสร้างแบรนด์ใหม่
โรงเล่นเรียนรู้ต่างจากพิพิธภัณฑ์เล่นเดิมอย่างไร
ผมเริ่มใหม่จากฐานความรู้และประสบการณ์เดิม ตอนนี้โรงเล่นเรียนรู้ ทำหน้าที่ชักชวนเด็กๆ ออกไปเรียนรู้ พูดถึงกระบวนการเรียนรู้เป็นเรื่องหลัก ไม่ได้พูดถึงแค่ของเล่นพื้นบ้าน แต่เรายังทำของเล่นพื้นบ้านอยู่ แล้วยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปเรื่อยๆ ต่อยอดจากของเดิม ส่วนนี้ผมได้แปลนเข้ามาช่วยคิดช่วยทำ ตอนนี้ก็เกิดเป็นกลุ่ม Young Maker ขึ้นมา (กลุ่มคนรุ่นใหม่ในชุมชน รวมถึงแปลนกับปูน ที่มีพื้นฐานการทำงานร่วมกับกลุ่มคนเฒ่าคนแก่มาก่อน)
พอมาเป็นโรงเล่น คำว่าชุมชนของเราขยายขอบเขตออกไป ใครก็ตามที่สนใจเรื่องการเรียนรู้ การเล่น การศึกษา ทุนทางสังคม และเครื่องมือชุมชน สามารถเข้ามาแลกเปลี่ยน เข้ามาเป็นชุมชนเดียวกันได้ หัวใจการบริการของโรงเล่น คือ ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา ให้ประสบการณ์ใหม่ แล้วมาชวนกันเล่น
เรามั่นใจว่าแม้มีสื่อเทคโนโลยีให้ความรู้ใหม่ๆ เข้ามา ถ้ามีโอกาสหรือเป็นไปได้ คนก็มีแนวโน้มต้องการเรียนรู้ผ่านการหยิบจับ สัมผัสของจริงและอยู่ในสถานที่จริง เมื่อมีพื้นที่ให้ได้ลงมือทำ ผลลัพธ์ด้านการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น คิดยังไงก็คุ้มค่า ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้สูญเปล่า ไม่ว่าจะเกิดกับลูกหลานใครก็ตาม
การเล่นกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร
ของเล่นและประสบการณ์จากการเล่นทำให้เด็กสนุก แม้กำลังเล่นอยู่แต่การได้จดจ่อ เป็นภาวะของการใคร่ครวญ ครุ่นคิด แก้ปัญหา แล้วจะเกิดปัญญา ฟังแล้วเป็นนามธรรมมาก แต่ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองพร้อม ครูพร้อม หรือใครก็ตามที่พร้อมเปิดรับการเรียนรู้ แล้วอยากมาเล่น โรงเล่นของเราก็พร้อมที่จะทำให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุก ปลอดภัย เป็นมิตร และสร้างสรรค์ โดยใช้ของเล่นเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้
ต้องบอกก่อนว่า การจัดการเรียนรู้ไม่มีคู่มือสำเร็จรูปว่าต้องทำแบบนี้เท่านั้น แต่เราหยิบใช้เครื่องมือต่างๆ ที่มีให้เหมาะสมกับบรรยากาศการเรียน หรือสภาพแวดล้อมเดิมที่เป็นอยู่ได้
ยกตัวอย่างของเล่น เรื่องราวกว่าจะมาเป็นของเล่น เชื่อมไปยังองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ แหล่งวัสดุ (ป่า) เครื่องมือ และจินตนาการ เราปลูกแปลงป่าทดลองเป็น 10 ไร่ ตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว ตอนนี้มีไม้หลากหลายชนิด ทำแม้กระทั่งออกแบบเส้นทางให้สามารถลำเลียงวัสดุลงมาได้ง่าย มีอุปกรณ์ให้ใช้ทดลองลงมือทำ แล้วผู้เล่นแต่ละคนได้ใช้จินตนาการสร้างสรรค์ชิ้นงานของตัวเอง แปลน ปูนก็เติบโตมากับการเรียนรู้แบบนี้
มั่นใจว่าการเล่นสร้างการเรียนรู้ได้ ถึงขนาดไม่ให้ลูกเข้าโรงเรียนตามปกติ?
บอกตรงๆ ว่าตอนยังไม่มีลูกก็ไม่ได้คิดเรื่องนี้นะ แต่ประสบการณ์ที่เห็นระหว่างทำงานสังคม ทำให้ผมฉุกคิดว่า ‘เด็กทุกคนควรมีเวลาอยู่กับพ่อแม่ให้ได้มากที่สุดก่อนเข้าสู่วัยเรียน’ เลยตัดสินใจดูแลลูกเอง ย้อนไป 12 ปีที่แล้ว ผมเป็นเคสแรกในเชียงรายที่ไปจดทะเบียนบ้านเรียน (โฮมสคูล)
ผมเชื่อว่าอยู่ที่ไหนเด็กๆ ก็เรียนได้ถ้ามีบรรยากาศการเรียนรู้ที่เหมาะสม เพราะความสงสัยใคร่รู้ หรือความกระตือรือร้นเป็นธรรมชาติของเด็กทุกคนอยู่แล้ว แต่มันจะค่อยๆ ลดลง เพราะมีสิ่งเร้าเข้ามาเยอะ มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ ลองนึกภาพแปลนกับปูนอยู่กรุงเทพฯ ห้องเรียนของพวกเขาก็คงต่างออกไป แต่เราโชคดีมากที่มีป่ามีทุ่งนาเป็นห้องเรียน มีชุมชนให้เดินไปไหนมาไหน ได้รู้จักกับผู้คนในชุมชน
นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าทุกชุมชนในชนบทสามารถดึงข้อดีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันต้องค่อยๆ ทำลายข้อจำกัดที่เป็นจุดอ่อนในแต่ละชุมชนให้หมดไป ซึ่งทำคนเดียวไม่ได้ ที่ผ่านมาเราเลยดึงกำลังคนในชุมชนเข้ามาช่วย
หลายครอบครัวมองหาการศึกษาทางเลือก อยากทำโฮมสคูล ต้องเริ่มจากตรงไหน
ด่านแรกคือด่านครอบครัว พ่อแม่ต้องเห็นร่วมกัน ด่านที่ยากต่อมา คือญาติผู้ใหญ่ บ้านเราโชคดีที่ได้รับโอกาส พวกเขาอาจไม่เข้าใจ แต่ไม่ได้ห้าม ไม่ได้ยับยั้ง ด่านที่สาม คือเข้าไปคุยกับเขตการศึกษา และด่านที่สี่ คือชุมชนหรือสังคมรอบข้าง ด่านนี้ยากที่สุด เพราะคำพูดบางอย่างที่พูดขึ้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ อาจสร้างบาดแผลและทำร้ายจิตใจเด็กได้ เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เจอคนเฒ่าคนแก่บอกว่า “ไม่เรียนหนังสือ เดี๋ยวเป็นควายนะลูก” พ่อแม่ต้องมีศิลปะในการพูดอธิบายให้ลูกเข้าใจ โดยไม่ให้ไปกดคนอื่นต่อ ไม่ใช่บอกว่า “ไม่เป็นไร เราไม่ได้ไปขอใครกิน”
เราต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดคนอื่น แต่ปรับความเข้มแข็งของตัวเองแล้วค่อยๆ เข้าใจเขา เราจะไปตะเบ็งอธิบายให้คนอื่นเข้าใจทุกเรื่อง มันเหนื่อยเกินกำลัง หลายๆ เหตุการณ์ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ช่วงหลังมานี้ก็ไม่มีใครถามแล้วว่า ลูกเราทำไมไม่ไปโรงเรียน
หมายความว่าแต่ละครอบครัวควรประเมินศักยภาพของตัวเองก่อนไหมว่าพร้อมจริงหรือเปล่า
ใช่ พ่อแม่ต้องตอบให้ได้ก่อนว่า “อยากทำบ้านเรียนไปทำไม?” เป้าหมายของการจัดการศึกษาคืออะไร ตอบตัวเองนะ ตอบกันสองคนพ่อกับแม่ก็พอ (หัวเราะ) ช่วงแรกคนมีภาพจำว่าคนทำบ้านเรียนต้องรวย หรือเด็กมีความพิเศษ เช่น มีโรค เข้ากับคนอื่นไม่ได้ หรือพิการ
จริงๆ ทุกคนสามารถทำบ้านเรียนได้ ไม่ต้องมีความพิเศษใดๆ แต่ต้องทำให้เป็นธรรมชาติจริงๆ อย่าทำตัวแปลกแยก อย่าไปคิดว่าลูกเราเรียนโฮมสคูลแล้วจะดีกว่าคนอื่น ให้เขาออกไปเล่น ไปใช้ชีวิตกับเพื่อนๆ ในชุมชน
แล้วเป้าหมายของการจัดการศึกษาให้กับแปลน ปูน เป็นแบบไหน ปล่อยให้ได้ลองคิด
ลองทำหลายๆ อย่างใช่ไหม
สร้างพื้นที่เรียนรู้ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกวัย ไม่เฉพาะแค่เด็ก ทุกคนสามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวเองได้โดยไม่ถูกตัดสิน และมีโอกาสทดลองทำสิ่งที่สนใจด้วยตัวเอง สิ่งนี้เป็นหัวใจของการสร้างสังคมการเรียนรู้ที่แท้จริง
พอเขาได้ลองทำ เขาจะรู้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร สนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ เป็นเรื่องดีมากที่เด็กคนหนึ่งจะค้นพบหรือรู้ว่าตัวเองสนใจหรือชอบอะไร แต่มันน่าสนใจกว่าถ้าเขารู้ว่าเขาไม่ชอบอะไร แล้วมีวินัยหรือมีความอดทนทำสิ่งที่ไม่ชอบได้ด้วย
เพราะโลกในอนาคตมีความผันผวนมากมาย เขาต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น พ่อแม่ต้องมีความกล้าหาญ วางใจตัวเองให้ได้จากการประเมินความเสี่ยงแล้วว่า ถ้าให้ลูกทำสิ่งนี้ลูกจะปลอดภัย ค่อยๆ ขยายพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกออกไปใช้ชีวิต เริ่มจากงานเล็กๆ ก่อนก็ได้ เช่น ให้ลูกเข้าครัวหั่นผัก ล้างจาน ช่วยทำอาหาร
จะสังเกตได้อย่างไรว่าเด็กเกิดการเรียนรู้ หรือผู้ปกครองทำมาได้ถูกทางแล้ว
ดูจากพัฒนาการของเด็กแต่ละคน เวลาไม่มีผู้ใหญ่เข้าไปอำนวยหรือเข้าไปสอน เวลาไม่มีผู้ใหญ่เข้าไปจ้ำจี้กับทุกเรื่อง พัฒนาการที่เพิ่มขึ้นจะตอบคำถามนี้ได้ด้วยตัวเอง พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือแม้แต่คนในสังคม ต้องเรียนรู้ที่จะเป็นนักสังเกตการณ์ที่ดี ยิ่งถ้าสนใจเรื่องการเรียนรู้ เพราะการสังเกตจะทำให้เห็นตัวตนของผู้เรียนจริงๆ
ทำไมเด็กคนนี้ชอบอยู่หลังห้อง ทำไมเด็กถึงพัฒนาการช้า เรียนรู้ไม่ทันคนอื่น โดยไม่เปรียบเทียบและไม่ตัดสิน แบบนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นห้องเรียนที่มีคุณภาพ
พ่อแม่ควรรู้ว่าพื้นฐานของลูกแต่ละคนเป็นคนแบบไหน ที่ผ่านมาแค่แปลนยอมขึ้นพูดบนเวทีสาธารณะถึงสองครั้ง ผมว่าเขาก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง แล้วก็ทำได้ดี สามารถพูดถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจได้ หลายคนบอกว่าก็แปลนมีพ่อเป็นโค้ช มีพ่อเป็นนักพูด จะบอกว่าเวลาต้องพูดในที่สาธารณะ ผมพูดไม่รู้เรื่องยิ่งกว่าแปลนอีก หรือแค่เขายอมมาคุยกับเราวันนี้ ทั้งที่มีแพลนทำงานของตัวเองอยู่ ผมก็ว่าเขาจัดการกับตัวเองได้ มันทำให้ผมเห็นเหมือนกันว่า การเรียนรู้ที่เราพยายามบ่มเพาะปลูกฝังมานี้ สะท้อนออกมาจริงๆ ผ่านตัวตนของเขา
คิดอย่างไรกับการแข่งขันในระบบการศึกษา แปลน ปูนจะออกไปสู้รบปรบมือกับคนอื่นๆ ได้ไหม
เป้าหมายของการแข่งขันทำให้เกิดการพัฒนา แต่ตอนนี้เรากำลังติดกับดักการแข่งขัน เราใช้การแข่งขันเข้ามาโฆษณาธุรกิจทางการศึกษา
“ไปเรียนกับอาจารย์คนนี้สิ สอนแล้วได้คะแนนเยอะ” เราได้ยินแบบนี้เยอะในวงพ่อแม่ สะท้อนภาพของครูที่เป็นนักสอน กับเด็กที่เป็นนักจำ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่พอสำหรับโลกอนาคตแล้ว สิ่งหนึ่งที่จำเป็นในตอนนี้ ผมว่าคือโรงเรียนของพ่อแม่ พ่อแม่เองก็ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
มากกว่าการแข่งขัน คือ การรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย คุณมีน้ำใจติวเพื่อนแต่คุณสอบตก ผมว่านี่เป็นน้ำใจของการแข่งขัน ส่วนที่ว่าแปลน ปูนจะไปแข่งขันกับคนอื่นได้หรือเปล่า ผมไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย
ถ้าลูกๆ ทำผิด มีวิธีจัดการกับลูกยังไง ยังเชื่อเรื่องการทำโทษไหม
เรื่องการทำโทษยังจำเป็นอยู่ การลงโทษเป็นเรื่องที่ทำให้มนุษย์เข้าใจตรรกะ ลูกจะเข้าใจเหตุและผล หากการทำโทษนั้นอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผลด้วย ไม่ใช่อารมณ์ แต่พ่อแม่ต้องตีความให้เข้าใจว่าการลงโทษไม่ใช่การตีอย่างเดียวนะ เรื่องตีไม่ตีเป็นเรื่องผิวมาก คำถามจริงๆ ที่พ่อแม่ควรตั้งคำถาม คือ เราจะทำโทษลูกแบบไหน อย่างไร ถ้าไม่ใช่การตี ไม่ใช่การขู่ด้วยเกรด ด้วยการตัดคะแนน แล้วทำโทษลูกเพื่ออะไร ถ้าพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครู ถามคำถามให้ชัด จะได้คำตอบที่ตรงไปตรงมา
เราต้องรู้ว่าการลงโทษโดยใช้อารมณ์ ผลลัพธ์ที่ตามมาสร้างบาดแผลให้กับลูกไม่น้อย การโมโหตีลูกโชว์ในที่สาธารณะเป็นเรื่องไม่ควรทำ แล้วเราจะไม่เอาความรักมาเป็นเครื่องต่อรอง “ถ้าลูกไม่ทำแบบนี้พ่อแม่จะไม่รัก” ถ้าเป็นแบบนั้นพ่อแม่จะกลายเป็นผู้บงการทุกอย่าง ลูกจะสูญเสียการควบคุม ขาดความเป็นตัวของตัวเองและขาดอิสรภาพ ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้และการจินตนาการของเขา
จำเป็นต้องสร้างระเบียบในบ้านที่ทุกคนต้องทำตามไหม
ระเบียบวินัยเป็นเรื่องจำเป็นแต่ไม่ตึงเป๊ะ พ่อแม่ต้องมีความยืดหยุ่นด้วย เช่น บอกว่าลูกเล่นแล้วต้องเก็บ ถ้าลูกไม่เก็บตอนนั้นทันที พ่อแม่ยอมปล่อยผ่านให้รกได้ไหม เพราะลูกอาจกำลังทำบางอย่างติดพัน เป็นชั่วโมงลื่นไหล
สิ่งที่เราต้องทำในฐานะพ่อแม่ ครู หรือผู้จัดการการเรียนรู้ คือ ต้องสร้างสภาวะแห่งการเรียนรู้ และทำความเข้าใจเหตุผล
ยังไม่เก็บเพราะอะไร? ขี้เกียจ ไม่มีวินัย หรือว่ายังอยากทำต่อให้สุด ถ้างานอีกนิดเดียวจะเสร็จอยู่แล้ว บางครั้งเราต้องยอมปล่อยให้มันไหล ไม่ต้องกินข้าวเป๊ะตอนหกโมงก็ได้ ยืดไปอีกนิดนึง
ผมเชื่อว่าช่วงเวลาที่เกิดสภาวะของการเล่น เพื่อเรียนรู้กับการทำอะไรสักอย่างมีคุณค่ามหาศาล เราต้องระวังไม่ให้ระเบียบที่วางไว้ ขัดจังหวะการเรียนรู้
จะเริ่มวางระเบียบวินัยในครัวเรือนแบบนี้ได้อย่างไร
ระเบียบวินัยเริ่มมาจากตัวเด็กเอง ถ้าลูกยังอยู่ในวัยเด็ก พ่อแม่ต้องทำให้เห็น ชี้ให้ดู ตื่นเช้ามาล้างหน้าแปรงฟัน ขยับจากพื้นฐานเล็กๆ สู่พื้นฐานใหญ่ๆ พอโตขึ้น มอบหมายให้ลูกรับผิดชอบงานบางอย่าง ยกตัวอย่างปูน แปลนมีหน้าที่รับผิดชอบงานในบ้าน ล้างจาน ซักเสื้อผ้า ตากผ้า ทำความสะอาดบ้าน หมุนวนไปในครอบครัว ใครติดภารกิจวันไหนไม่ว่างก็ช่วยทำแทนกันได้
เคยมีโมโหแรงๆ ใส่ลูกไหม
ผมไม่ใช่คุณพ่อโลกสวย ผมผิดเป็น โมโหได้แต่ไม่รุนแรง ไม่ถึงขนาดประชดประชัน หรือใช้คำพูดทิ่มแทง เหน็บแนม หรือเสียดสี ผมรู้ตัวว่าเป็นคนเจ้าระเบียบ เคยหงุดหงิดเวลาลูกทำห้องทำงานรก เพราะห้องทำงานแปลน ปูนกับผมเป็นห้องเดียวกัน แต่เมื่อแบ่งพื้นที่แล้ว ในฐานะคนเป็นพ่อหรือครู เราต้องปล่อยวาง ถ้าไม่รกพื้นที่ผม ผมจะไม่บ่น ส่วนพื้นที่เขาจะรกก็รกไป อุปกรณ์ เช่น กรรไกร ทุกโต๊ะมีเหมือนกัน เขียนชื่อแปะไว้ ใช้ร่วมกันได้ แต่เป็นที่รู้กันว่าต้องเก็บเข้าที่ แล้วถ้าลูกมาทำโต๊ะพ่อรก เขารู้ว่าเขาจะโดนดุแน่
พอเราทำเป็นตัวอย่างสังเกตเห็นได้ว่าสักพักเขาเก็บ ซึ่งเขาเรียนรู้ด้วยตัวเองเวลาหาของไม่เจอ เวลาโต๊ะเลอะเทอะ หรือสกปรกมีมดขึ้น มันไม่มีประโยชน์ถ้าเรามัวแต่บ่นไปทุกครั้ง ตัวพ่อแม่เองไม่มีความสุข เด็กก็ไม่มีความสุข ต่อให้ทำตามก็เป็นเพราะไม่อยากฟังเราบ่น ผมเองทุกวันนี้ก็ยังหลุดบ่นอยู่บ่อยๆ แต่ก็ดีขึ้นเยอะ
สำหรับผมในบทบาทของพ่อที่ทำโฮมสคูล ผมไม่ได้มีอาชีพทำโฮมสคูลนะ การจัดการลูกเป็นเรื่องหลักก็ใช่ แต่ผมมีงานมีความรับผิดชอบด้านอื่นด้วยเหมือนกัน ทุกอย่างในชีวิตมันไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ การงาน อาชีพ การเลี้ยงลูก หรือความเป็นครูที่ทำงานด้านการศึกษา แต่ละอย่างเราไม่สามารถแบ่งแยกได้ว่าวันนี้จะสวมบทไหน ผมก็เรียนรู้จากความเป็นพ่อ จากความเป็นคนของเรานี่แหละ
เราสร้างวินัยผ่านการเรียนรู้ได้ไหม?
ได้แน่นอน ลูกคุณไม่จำเป็นต้องโฮมสคูลก็ได้ เรียนในระบบก็ได้ แต่อยากชวนผู้ปกครองที่สนใจ ชวนลูกเรียนรู้จากเรื่องเล็กๆ รอบตัว ให้มีความสนุกสนานเท่าที่ทำได้ เพราะเรารู้ว่าคนในชุมชนเมืองกับชนบทมีเงื่อนไขต่างกัน
ยกตัวอย่างตอนแปลนเล็กๆ แล้วปูนยังไม่เกิด เราเลี้ยงไก่ไข่สองตัว ทำตารางวินัย เช่น เวลาให้อาหาร และมีส่วนบันทึกความรู้ ชวนลูกตั้งคำถาม ไก่กินอะไร ไข่ไก่ที่ได้เอาไปทำอะไรบ้าง โดยไม่ต้องไปตั้งธงหรือพร่ำบอกว่านี่คือการเรียนรู้ ทั้งที่จริงๆ เป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เป็นการฝึกฝนโดยไม่รู้ตัว ทำให้เด็กรู้กติกา และจัดสรรเวลาของตัวเอง เรียนรู้ว่าถ้าไม่ไปให้อาหารไก่ ไข่ไก่จะเล็กลง ไก่ออกไข่แล้วถ้าไม่เก็บ อีกวันหนึ่งไข่จะทับกันจนแตก พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องบอกตอนจบของเรื่องแม้จะรู้อยู่แล้ว
ถ้าพ่อแม่ทำแบบนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยสร้างประสบการณ์ และลักษณะที่พึงประสงค์ให้ลูก ฝึกให้ลูกมีความอดทน อ่อนโยน มีความรับผิดชอบ ผมบอกว่าเด็กทุกคนมีความสงสัยใคร่รู้ที่จะทำ แต่มากกว่านั้นในเรื่องระเบียบวินัยและการปฏิบัติตัว แบบอย่างสำคัญกว่า “เด็กไม่ได้เรียนรู้จากการพร่ำสอนพร่ำบ่นแต่เรียนรู้จากการซึมซับ”
ค้นพบอะไรบ้าง? อะไรทำให้เด็กหลายๆ คนไปไม่ถึงฝั่งฝัน อะไรทำให้เด็กแต่ละคนไม่สามารถดึงศักยภาพของตัวเองขึ้นมาได้
ถ้าเด็กทุกคนได้รับโอกาส มีพื้นที่ มีสิ่งแวดล้อม และมีเครื่องมือที่ใกล้เคียงกัน ล็อคสำคัญติดอยู่ที่ระบบการศึกษากับผู้ปกครอง ระบบการศึกษามีความเหลื่อมล้ำเยอะ ยกตัวอย่างโรงเรียนชายขอบที่นี่ กับโรงเรียนในเมือง หรือโรงเรียนนานาชาติ ความต่างไม่ได้อยู่ที่ฐานะอย่างเดียวนะ ถ้าเราบอกว่าติดอยู่ที่ฐานะ แปลว่าเราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้เลย เรื่องฐานะเป็นข้อเท็จจริงแต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรในประเทศนี้ได้
ผมว่าความแตกต่างอยู่ที่การเข้าถึงโอกาส สื่อที่ใช้ หลักสูตรที่สอน การสนับสนุนจากคนรอบตัว หรือกระทั่งอาหารการกินและน้ำดื่ม ทุกองค์ประกอบเกี่ยวข้องกันหมด รวมถึงการปรับทัศนคติผู้ปกครอง การสร้างค่านิยมให้ลูกศึกษาเพื่อพัฒนาตัวเอง และพัฒนาประเทศ ไม่ใช่ค่านิยมเพื่อให้เป็นเจ้าคนนายคน เพราะเราไม่ได้ต้องการแค่เด็กเก่งไปข่มคนอื่น แต่เราต้องการเด็กที่มีปัญญานำพาประเทศนี้ให้เปลี่ยนแปลงได้
มีคนที่ไม่เข้าใจความหวังดีของเราบ้างไหม
ในส่วนของโรงเล่นที่ทำมาตลอด 20 ปี บางคนไม่เข้าใจ ในสังคมเล็กๆ ตามชนบทที่ง่ายต่อการชวนเชื่อจากผู้ไม่หวังดี หลายคนเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำกันอยู่มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือหลายครั้งที่ผมสอนลูกหลานคนอื่น ผมพบเลยว่าเจตนาดีของเราก็ย้อนกลับมาทำร้ายเราไม่น้อยนะ ถ้าผู้ปกครองไม่เข้าใจ ยิ่งถ้าผู้ปกครองคาดหวังว่าอยากให้ลูกเก่ง สอบได้คะแนนดีๆ
ตอนนี้น้องแปลนอยู่ในช่วงเข้าสู่วัยรุ่น รู้สึกยากขึ้นไหม รับมืออย่างไร
พอโตเป็นวัยรุ่นแน่นอนว่าเขามีความซับซ้อนขึ้น ในขณะเดียวกันผมเองก็โตขึ้นด้วย ถ้าพ่อแม่ทุกคนมีวุฒิภาวะพอ เราจะรู้ว่าบางเรื่องไม่จำเป็นต้องเข้าไปหงุดหงิดหัวเสีย ไม่ต้องเข้าไปติดกับดักของอารมณ์ตัวเอง
พ่อแม่ทำหน้าที่ประคับประคอง ให้คำแนะนำเพื่อให้ลูกรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ผมมองว่าปัจจุบันสิ่งเร้าในสังคมมีเยอะ เด็กที่จะอยู่บนโลกในอนาคตได้อย่างมั่นคง คือ เด็กที่กล้ายืนยัน กล้าตัดสินใจ หรือกล้าปฏิเสธในสิ่งที่เขาคิดแล้วว่า ไม่ดีหรือไม่เหมาะสม เพราะเราคงไม่สามารถไปห้ามปราม หรือสร้างสังคมที่ดีให้เขาตลอดไปได้ แค่เขารู้จักปฏิเสธได้ ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผมว่าเขาเจ๋งแล้ว นอกจากนี้ เรารู้ว่าเด็กในวัยนี้ต้องการพื้นที่ในการแสดงออก ผมก็ให้เขาทำ
ถึงวันนี้ภูมิใจในตัวเองไหมกับการตัดสินใจให้ลูกเรียนรู้นอกห้องเรียน?
ผมภูมิใจนะ ยิ่งเมื่อมองตามพัฒนาการของลูกแต่ละช่วงวัย เอาจริงๆ พวกเขามีความรับผิดชอบและมีวินัยเกินวัย มีความกระตือรือร้น และการขวนขวายหาความรู้ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากการถูกบังคับ หรือผู้ใหญ่ทำให้เขารู้สึกว่าต้องแบกภาระนี้เอาไว้ แต่เกิดจากตัวเขาเอง
ผมเขียนไว้ในแผนซึ่งเป็นหลักสูตรของผมไว้ว่า เมื่อลูกจบประถม ลูกจะต้องอ่านออกเขียนได้ คิดเป็นทำเป็น จบมัธยม อ่านออกเขียนได้ คิดเป็นทำเป็น ดูแลตัวเองได้และไม่เบียดเบียนคนอื่น ซึ่งพวกเขาเป็นแบบนั้น
คุณสมบัติที่เขามีจะทำให้เขาปรับตัวอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงได้ไม่ยาก วันนี้จริงๆ ผมนอนตายตาหลับนะ เพราะมั่นใจว่าในวันที่ผมจากไปลูกจะยืนได้ด้วยตัวเอง
Fun Fact มาเล่นกันเถอะ!!วีรวัฒน์ เชื่อว่า การเล่นทำให้เกิดการค้นพบ เพราะกระบวนการของการเล่น ทำให้ผู้เล่นได้ใช้จินตนาการ หลายครั้งนำมาสู่การตั้ง คำถาม ที่ทำให้ได้ศึกษาและหาคำตอบด้วยตัวเอง ยิ่งเมื่อได้เล่น ได้ทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก การเล่นนั้นจะช่วยสร้างการเรียนรู้ พัฒนาทักษะและสร้างความถนัดแก่ผู้เล่นในเชิงลึก อย่างไรก็ตาม กำลังใจและการสนับสนุนจากคนในครอบครัวและสังคมรอบข้างเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะ การไม่ห้าม ไม่ปิดกั้น ไม่บอกว่าทำไม่ได้ แต่เปิดพื้นที่ให้ลองผิดลองถูก หรือแม้กระทั่งชวนเด็กๆ มาเล่นมาทำด้วยกัน พื้นที่ลักษณะนี้ทำให้เด็กและเยาวชนมีความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เปิดรับการแลกเปลี่ยนและการถ่ายทอดความรู้จากคนใกล้ตัว และแหล่งความรู้อื่นๆ กระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพจึงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เหมือนอย่างที่โรงเล่นมักบอกเสมอว่า… “เมื่อฉันฟัง ฉันอาจจะลืม เมื่อฉันเห็น ฉันจะจำได้ เมื่อฉันทำ ฉันจะเข้าใจ เมื่อฉันเล่น ฉันจะค้นพบ” |