- ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร นักวิจัยอาวุโสประจำศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ช่วยอธิบายทฤษฎีมิติควอนตัม ใน Avengers: Endgame ที่ทำให้เห็นการทำงานของบทภาพยนตร์ที่พยายามสอดแทรกวิทยาศาสตร์ลงไป
- ครอบครัวไหนที่ลูกชอบดูหนังจักรวาล ลูกชอบเล่นหุ่นยนต์ ชอบต่อเลโก้ พ่อแม่ควรจะส่งเสริมเขา เริ่มต้นง่ายๆ จากการดูว่าลูกชอบทางไหน และใช้วิธีกระตุ้นถามว่า ‘ทำไมๆ’ กับลูกเรื่อยๆ แค่พ่อแม่เริ่มจากการสังเกตและกระตุ้น สุดท้ายถ้าเขาโตขึ้นมาแล้วชอบเรื่องวิทยาศาสตร์จริงๆ ถ้ามันเป็นความฝันของเขา เขาก็จะไปตามทางของเขาเอง
- เคล็ดลับในการเรียนวิทยาศาสตร์ คือ อย่ากลัว เราสนุกกับทฤษฎีที่เราเรียน ยิ่งถ้าเราเชื่อมโยงบทเรียนกับชีวิตประจำวันได้ จะยิ่งทำให้รู้สึกประทับใจมากขึ้นไปอีก
ภาพยนตร์เรื่อง Avengers: Endgame ถือเป็นหนังม้วนสุดท้ายของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ (จำนวนมาก) ก็ว่าได้ หลังจากที่ถูกผู้สร้างปลุกปั้นกินเวลามายาวนานถึง 11 ปี โดยเส้นเรื่องหลักของบทสรุปมหากาพย์จากค่ายมาร์เวลนี้ ถูกเชื่อมโยงกับทฤษฎีการย้อนเวลาหรือมิติควอนตัม (Quantum Realm) ซึ่งภารกิจของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่จะต้องรวมตัวกัน เพื่อกลับเข้าไปแก้ไขอะไรบางอย่างในมิติที่เกิดขึ้นในอดีต โดยฉากดังกล่าว ต้องอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อย่อตัวเองให้เล็กมากๆ จนหลุดทะลุเข้าไปในอีกมิติให้ได้
คล้ายกับเป็นธรรมเนียมที่ภาพยนตร์มาร์เวลมักจะเชื่อมโยงเรื่องของวิทยาศาสตร์ จักรวาล เอกภพ รวมไปถึงมิติต่างๆ ลงไป เช่นเดียวกับมิติควอนตัม ที่ถูกอ้างอิงมาตั้งแต่เรื่อง Ant-Man and the Wasp (2015) แล้ว
การเปิดตัวจักรวาลขนาดจิ๋ว หรือ ไมโครเวิร์ส (microverse) คือการเปิดมิติใหม่ในจักรวาลมาร์เวล เป็นมิติใหม่ที่ไม่ได้ดำรงอยู่ตามความเป็นจริง อธิบายได้ว่ามิตินี้ไม่ใช่แค่การย่อตัวให้เล็ก แต่เปรียบเสมือนเป็นจักรวาลคู่ขนานกับโลกปัจจุบัน เพียงแค่สิ่งที่ดำรงชีพอยู่ในจักรวาลแห่งนี้จะต้องมีขนาดเล็กกว่าอะตอมต่างหาก และความพิเศษของมิติแห่งนี้คือการอยู่เหนือกาลเวลา
ข้อยืนยันอีกอย่างหนึ่ง เพื่อยืนยันว่าค่ายหนังมาร์เวลพยายามจะขยายจักรวาลให้กว้างและใหญ่กว่ากระบวนการยอดมนุษย์ซูเปอร์ฮีโร่ โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง Thor ที่เดินทางเข้าออกมิติกันเป็นว่าเล่น ตัวละครที่ชื่อ ดร.อีริค เซลวิก เคยอธิบายเรื่องโลกคู่ขนานในจักรวาลมาเวลว่ามีจักรวาลคู่ขนานมากถึง 616 จักรวาล
คงเกิดคำถามมากมาย หลังจากดูภาพยนตร์จบ The Potential ชวนเข้าห้องเรียน เช็คชื่อ เพื่อไขความลับวิชาวิทยาศาสตร์ ใน Avengers: Endgame ตลอดความยาว 3 ชั่วโมง กับ ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร นักวิจัยอาวุโสประจำศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ผู้ที่ทุ่มเทและอยู่ในแวดวงงานวิจัยด้านวิศวกรรมโฟโทนิกส์ มานานกว่า 20 ปี
ถ้าพูดถึง Avengers: Endgame เราเรียนรู้วิทยาศาสตร์อะไรบ้างผ่านหนังเรื่องนี้
จากในหนัง เราเห็นการทำงานของตัวบทเองที่พยายามใส่เรื่องวิทยาศาสตร์ลงไป การที่ตัวเอกหลายๆ คน ย้อนเวลาโดยผ่านอุโมงค์เล็กๆ หลอดเล็กๆ หรือ โครงสร้างที่เล็กมากๆ เพื่อที่เขาจะเชื่อมโยงให้เกี่ยวกับทฤษฎีควอนตัม (Quantum Theory) และเชื่อมโยงเกี่ยวกับ Quantum Entanglement ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่สำคัญ เพราะมิติควอนตัม คือ จุดเริ่มต้นการขยายเรื่องราวในจักรวาลภาพยนตร์ให้มีความเป็นไปได้
แล้วควอนตัมคืออะไร?
ถ้าเรามองเชิงฟิสิกส์ ทฤษฎีควอนตัมเป็นสิ่งที่ใช้แทนคำอธิบายสิ่งที่เล็กมากๆ เรารู้จักอะตอมอิเล็กตรอน โปรตรอน หรืออนุภาคที่เล็กมากๆ อย่างควาร์ก (quark) พวกนี้จะต้องใช้เรื่องควอนตัมมาช่วย เพราะของเล็กๆ เหล่านี้ มีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา ซึ่งวิธีการวัดการเคลื่อนที่นี้ จำเป็นต้องมีสถิติบางอย่างเข้ามาช่วย ซึ่งสถิตินี้จะเป็นตัวที่มีความสัมพันธ์กับควอนตัม
แต่พอเราได้ยินแค่คำว่า ‘ควอนตัม’ เรามักจะกลัว และคิดว่ามันเข้าใจยาก นี่คือจุดอ่อนและข้อเสียของวิทยาศาสตร์เหมือนกัน เพราะชอบใช้คำที่ขึงขัง ดูเข้าถึงยาก แต่บางอย่างมันก็เป็นเรื่องในชีวิตประจำวันของเรานี่แหละ
คีย์เวิร์ดหลักๆ ของ Avengers คือ การย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตได้ แต่ในความเป็นจริง มันเป็นไปได้ไหม?
ทฤษฎีบางอย่างอาจถูกต้องในวันนี้ แต่วันข้างหน้าอาจจะผิดเพราะมีทฤษฎีใหม่มาหักล้าง เช่นเดียวกันกับที่เราเคยเชื่อว่าตึกสูงได้แค่ 10 ชั้น เราไม่สามารถสร้างตึกสูงเกินกว่านี้ได้ แต่วันนี้มันก็ทำได้แล้ว ผมจึงไม่อยากให้ใช้คำว่าเป็นไปไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์
หนังวิทยาศาสตร์จะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ได้อย่างไรบ้าง
สมมุติครอบครัวไหนที่ลูกชอบดูหนังจักรวาล ลูกชอบเล่นหุ่นยนต์ ชอบต่อเลโก้ พ่อแม่ควรจะส่งเสริมเขา เริ่มต้นง่ายๆ จากการดูว่าลูกชอบทางไหน และใช้วิธีกระตุ้นถามว่า ‘ทำไมๆ’ กับลูกเรื่อยๆ
รู้ไหม ทำไมรถเคลื่อนที่ได้?
รู้ไหม ชิ้นส่วนนี้ทำงานอย่างไร?
รู้ไหม ทำไมมือถือถ่ายรูปได้ หรือโทรออกได้?
แค่พ่อแม่เริ่มจากการสังเกตและกระตุ้น สุดท้ายถ้าเขาโตขึ้นมาแล้วชอบเรื่องวิทยาศาสตร์จริงๆ ถ้ามันเป็นความฝันของเขา เขาก็จะไปตามทางของเขาเอง
หากให้ตัวอย่างหนัง Avengers ที่สอดแทรกยังมีเรื่องราวของจักรวาล ระบบสุริยะ กาแล็คซี มันช่วยทำให้พวกเราเข้าใจมากขึ้นด้วยซ้ำ จากเดิมที่ท่องระบบสุริยะตามตำรา ดวงอาทิตย์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ตามลำดับ แต่ในหนังทำให้เราเห็นเรื่องราวมากขึ้น ถ้าใครสนใจดาราศาสตร์อยู่แล้ว ผมเชื่อว่าก็จะยิ่งหลงใหลเข้าไปอีก ขนาดผมไม่ได้อยู่วงการดาราศาสตร์ยังรู้สึกตื่นเต้นไปด้วยเลย
เพราะผมมองตัวเองเป็นนักเรียน ไปนั่งเรียนที่ห้องเรียน Avengers มันเลยทำให้เรา “โอ้โห รู้สึกชอบ ดูแล้วเข้าใจ แถมออกมาเล่าได้เป็นฉากๆ อีก นี่คือประโยชน์ของการเรียนรู้ผ่านหนัง ผ่านเพลง”
แต่วิธีการใช้ห้องเรียน Avengers ก็สอนจริงไม่ได้ทุกห้องเรียน จะทำอย่างไร
ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า ภาระหน้าที่ของครู ที่มากเกินไป ครูบางคนต้องทำงานนอกเหนือจากหน้าที่การสอน งานบริการ งานธุรการ งานเอกสาร บางครั้งก็ส่งผลให้ครูไม่มีเวลาคิด ไม่มีเวลาสร้างสรรค์ออกแบบห้องเรียน เตรียมเนื้อหาของตัวเอง ก็เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง
อะไรที่ทำให้รู้ตัวว่าอยากเป็นนักวิจัย
หากย้อนไป 20 กว่าปีที่แล้ว คำว่าวิจัย หรือนักวิจัย ยังไม่เป็นที่รู้จัก รวมถึงความเข้าใจก็ยังไม่เยอะมากนัก ผมเรียนจบวิศวกรรม เป้าหมายตอนนั้นเราก็คิดว่าต้องได้ทำงานเป็นวิศวะแน่นอน แต่พอมีโอกาสได้ไปเห็นการทำงานจริงๆ ผ่านการฝึกงาน เราก็เห็นว่าบางอย่างในวิชาชีพนี้ค่อนข้างรูทีน มีการทำซ้ำๆ อยู่
ซึ่งความต้องการข้างในใจของเรา คือการอยากลองทำอะไรใหม่ๆ มากกว่า ประกอบกับตอนนั้น NECTEC เพิ่งเปิดใหม่ มีอายุได้ไม่กี่ปี เขากำลังรับสมัครงานตำแหน่ง ผู้ช่วยวิจัย โดยจั่วหัวไว้ว่า จะได้เจอกับสิ่งใหม่ๆ จึงตัดสินใจสมัครงานที่นี่ จากนั้นก็อยู่ยาว
พอเข้ามาเป็นผู้ช่วยวิจัย มันเป็นอย่างที่เราคิดไหม
ก็ได้เจอเรื่องใหม่ๆ ที่นี่ทำให้ได้รู้ในสิ่งที่เราไม่เคยเรียนมา บางอย่างที่เราเคยเรียนผ่านๆ เรียนมานิดเดียว แต่พอได้มาทำงาน มันก็ช่วยทำให้เรา ‘อ๋อ มันเป็นงี้เองเหรอ’
ย้อนกลับไปก่อนจะเรียนมหาวิทยาลัย เจอตัวเองหรือรู้ได้อย่างไรว่าอยากเรียนวิศวะ
ผมโตมากับครอบครัวที่ต้องทำมาหากิน ที่บ้านเปิดเป็นร้านเครื่องเขียน พ่อแม่ต้องค้าขายทุกวัน ซึ่งเราเองก็ต้องช่วยเขา
หน้าที่ตอนนั้นคือการเรียนหนังสือและช่วยงานที่บ้าน ดังนั้นผลสอบหรืออะไรก็ตามแต่ พ่อแม่ท่านไม่เคยมากังวล หรือมาบังคับอะไรด้วย เรียนอย่างเดียวจริงๆ ในทางกลับกันพ่อผม ท่านมักจะบอกเสมอว่า ถ้าเรียนไมไหว ให้ลาออก ออกมาทำงานเลย ท่านกลัวเราเครียดด้วยซ้ำ
ผมโตมาและถูกฝึกเช่นนี้มาตลอด ไม่เคยถูกบังคับ ไม่เคยถูกกดดัน ไม่มีคำถามว่าเรียนได้ที่เท่าไรของห้อง ท่านไม่เคยสนใจ มีอย่างเดียวคือถ้าเครียดให้บอก ไม่พร้อมเรียนให้บอก มาช่วยกันทำงาน
อาจเป็นเพราะพ่อจบแค่ ป.4 ท่านก็ไม่ค่อยอะไรมากกับการเรียน จึงทำให้ครอบครัวเราค่อนข้างอิสระ
แต่ประเด็นต่อมา ในตอนนั้น ช่วง ม.ปลาย ผมไม่เคยรู้ ไม่เคยถามตัวเองเลยว่าอยากเรียนอะไร อยากเป็นอะไร ผมแค่รู้ตัวว่าเราชอบคำนวณ เราชอบฟิสิกส์ แต่ถามว่าจะต้องเรียนวิศวะไหม ก็ไม่รู้ เพราะเราไม่รู้จักว่าวิศวะคืออะไร ต้องทำอะไรบ้าง
แต่โชคดีที่มีเพื่อนพี่ชาย เขาเตรียมตัวเอนทรานซ์เพื่อเข้าวิศวะในปีนั้นพอดี เราก็ ‘เฮ้ย เอนทรานซ์คืออะไร ต้องมีสอบเข้าอีกเหรอเนี่ย?’ พอเราเห็นว่ารุ่นพี่คนนี้เขามีความชอบคล้ายๆ กัน เขาชอบฟิสิกส์เหมือนกัน ถ้าแบบนั้น ถึงเวลาที่เราเอนทรานซ์ เราก็คงจะเลือกวิศวะเหมือนพี่เขาด้วย คิดแค่นั้นจริงๆ เลยทำให้ตอนเรียน ก็เรียนอย่างเต็มที่ เพื่อจะเข้าวิศวะ
ชีวิตตอนนั้นมันไม่มีแผนอะไรเป๊ะๆ เหมือนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยสมัยนี้ ข้อมูลก็มีไม่เยอะ ต้องพึ่งจากครู หรือไม่ก็สิ่งแวดล้อมรอบตัวเอา
ตอนเป็นเด็ก คุณเป็นเด็กแบบไหน ใช่เด็กเรียนเก่งหรือเปล่า
ก็ไม่นะ แต่ผมพยายามและขวนขวาย สมัยตอนเรียนผมเคยเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนที่เป็นลูกข้าราชการ เขาดูสบาย ตกเย็นกลับจากโรงเรียน ทำการบ้านนิดหน่อย แต่ผมกลับจากโรงเรียนแล้วต้องทำงานบ้านก่อน ยิ่งทำงานค้าขาย ก็ต้องคอยผลัดกันไปเฝ้าหน้าร้าน ไม่ค่อยได้กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากัน
แต่ย้อนมองไป ผมว่านี่เป็นข้อดีทางอ้อมที่ทำให้เราขวนขวายด้วยตัวเอง พอถึงเวลาว่างปุ๊บ หยิบหนังสือสอบมาอ่าน ฝึกทำโจทย์ พอช่วงลูกค้าเข้ามาก็ต้องวางหนังสือมาช่วยขาย ผมคิดว่าสภาพแวดล้อมมีส่วนมากๆ ที่มันหล่อหลอมทำให้เราเป็นแบบนี้
อาชีพฮิตสมัยนั้น ยังเหมือนเดิมหรือเปล่า เช่น แพทย์ พยาบาล ครู ฯลฯ
คล้ายเดิมเลยครับ ตั้งแต่ผมยังเด็ก จนตอนนี้
คิดอย่างไรกับคำว่า ผู้ชายมักชอบเรียนวิทยาศาสตร์มากกว่าผู้หญิง
ผมไม่แน่ใจว่ามันถูกต้องไหม อย่างที่บอกมันเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของสังคม ถ้ามองย้อนประเทศเรา สมัยก่อนผู้หญิงมักมีโอกาสได้เรียนสูงๆ น้อยกว่าผู้ชาย เพราะสังคมแต่ก่อนบอกว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำ
เมื่อมีครอบครัวมีลูก ผู้หญิงมักจะต้องดูแลลูกอยู่บ้าน ส่วนผู้ชายมีหน้าที่ทำงานเป็นช้างเท้าหน้า ออกไปหาเงิน จึงทำให้เราไม่ค่อยเห็นผู้หญิงในแวดวงวิทยาศาสตร์เท่าไร แต่ถ้าลักษณะในสังคมตะวันตก บางครั้งเราจะเห็นการโปรโมทนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น บวกกับสภาพสังคมปัจจุบันกลายเป็นว่าไม่ว่าจะชายหรือหญิง ทุกคนต้องช่วยกัน จึงเห็นบทบาทของผู้หญิงในทุกวงการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เรียนวิศวะด้านอะไรมาคะ
ผมเรียนวิศวะที่ขอนแก่น ปีแรกที่เข้าเรียนก็จะได้เรียนวิชารวมๆ พอปี 2 ถึงเวลาที่ต้องแยกสายว่าจะเลือกอะไรเฉพาะทาง เช่น โยธา เคมี สิ่งแวดล้อม ไฟฟ้า เครื่องกล
ตอนนั้นผมคิดจะเลือกวิศวะโยธาด้วยซ้ำ เพราะมองออกไปเราเห็นชัดว่าวิศวะโยธาคืออะไร นี่คือเสา นี่คือถนน นี่คือสิ่งก่อสร้าง แต่อีกใจหนึ่งก็อยากเรียนวิศวะไฟฟ้า เพราะเราชอบคำนวณ แต่เรานึกภาพไม่ออกเลย ไม่รู้ว่าไฟฟ้าวิ่งอย่างไร เพราะไม่เคยเห็น แต่ก็เลือกไฟฟ้าไป เพราะมีเพื่อนๆ เลือกด้วย
พอเลือกแล้ว ช่วงแรกๆ เราก็พอเรียนได้ แต่เนื้อหาที่มันยากขึ้น มีวิชาหนึ่งที่คะแนนสอบรายสัปดาห์ของคนทั้งห้องอยู่ที่ 0 หรือ 1 เต็ม 10 ทั้งนั้น ซึ่งไม่รู้ว่าทำไมถึงสอบกันไม่ผ่าน จนสุดท้ายอาจารย์ในคลาส บอกว่า ถ้าคุณอยากเข้าใจเนื้อหา อยากเข้าใจบทเรียน ‘คุณต้องจินตนาการว่าคุณคืออิเล็กตรอน’
แสดงว่าตลอด 4 ปี เรามีความสุขกับวิศวะ
ใช่ ผมว่ามันสำคัญมากนะ ถ้าเราไม่รู้สึกสนุกกับสิ่งที่เรียน เราจะไม่มีความสุข ไม่ว่าคณะอะไรก็ตาม ย้อนไปตอน ม.ปลาย ผมเรียนฟิสิกส์เรื่องการเคลื่อนที่ เช่น โยนก้อนหินขึ้นไปให้ตกลงในแนวดิ่ง หรือการวิ่งรถตามแนวโค้ง เราก็เริ่มคิดทำไมถนนโค้ง ถนนต้องเอียงนิดนึง แล้วล้อไหนของรถต้องกดถนนไว้ เวลาผมนั่งรถไปส่งของกับพ่อ ผมชอบสังเกตว่า “เออ จริงเว้ย ถนนมันเอียงจริงๆ ด้วย ถ้าเราเลี้ยวซ้าย ล้อข้างขวาจะกดถนนจริงๆ ด้วยแฮะ” หรือ เวลาเราขี่มอเตอร์ไซค์เลี้ยวโค้งทำไมตัวเราต้องเอียง ทุกอย่างไปเป็นไปตามทฤษฎีเป๊ะเลย รวมถึงตอนเราอาบน้ำอยู่ ผมเคยลองเอาสบู่มาโยนแนวดิ่งแล้วจับเวลา พบว่า เออมันเป็นไปตามสูตรทฤษฎีโดยอัตโนมัติ
ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้มันยิ่งทำให้เราสนุกกับทฤษฎีที่เราเรียน และรู้สึกประทับใจมากขึ้นไปอีก ถ้าเราเชื่อมโยงบทเรียนกับชีวิตประจำวันได้
อะไรที่ทำให้ให้เรามีแพชชั่นกับวิทยาศาสตร์อยู่ตลอดเวลา
ผมว่าอาจจะเป็นเพราะเราได้เห็นในสิ่งที่ตัวเองเคยเห็น ถูกพิสูจน์ บางทีเราเห็นตัวเลข เห็นคณิตศาสตร์ เห็นเป็นสูตร เราก็ไม่ค่อยเข้าใจนะว่ามันจะยังไงต่อ
ผมยกตัวอย่าง ตอนเรียนปริญญาเอก ผมก็สงสัยว่าสิ่งที่ผมเรียนอยู่มันใช้อะไรได้จริงไหม จนมีครั้งหนึ่งระหว่างเรียน ผมเจอบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง เขานำของมาขาย ซึ่งของนั้นถูกผลิตจากความรู้ที่ผมเรียนจบไม่กี่อาทิตย์ก่อน มันทำให้รู้สึกว่า ‘เออ วิทยาศาสตร์มันใช้ได้จริงนี่หน่า’
สำหรับวิทยาศาสตร์ผมว่า เราต้องอย่ากลัวมัน ต้องสนุก ยิ่งเด็กสมัยนี้ได้เปรียบตรงที่มีข้อมูลมากมายให้ค้นคว้า สิ่งที่ต้องทำคือ ถ้าเราไม่เข้าใจก็แค่เสิร์ชดู คลิกดูได้เลย อินเตอร์เน็ทอยู่ในมือทุกคน สมัยผมไม่มีหรอก จึงทำให้ตัวเองต้องขวนขวาย
แต่สิ่งหนึ่งที่เด็กๆ ควรทำ นอกจากค้นข้อมูลแล้วคือการทดลอง เพราะการทดลองและเชื่อมโยงจะทำให้สิ่งที่เราเรียนอยู่มันน่าสนใจมากขึ้น อย่างผมที่เคยโยนสบู่ในห้องน้ำ เชื่อว่าอะไรที่เราสัมผัส มันจะช่วยให้เราจำได้เร็ว
ช่วยสะท้อนการเรียนวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนให้ฟังหน่อย
ผมไม่ค่อยได้เห็นการเรียนการสอนแบบปัจจุบันเท่าไร แต่ผมคิดว่าจุดสำคัญที่สุดไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบันคือการเชื่อมโยงในการสอน
ตอนผมเรียนฟิสิกส์ตอน ม.ปลาย เพื่อนหลายๆ คนก็ตกกันเยอะ และชอบคิดว่าคนที่สอบผ่าน คือคนที่ talent พิเศษกว่าคนอื่น ผมว่าไม่จริงหรอก เขาอาจจะแค่สนุกกับมันมากกว่าแค่นั้น เพราะคนส่วนใหญ่ไม่สนุกกับมัน หรือเพราะผู้สอนไม่เชื่อมหรือทำให้เห็นฟิสิกส์ในชีวิตประจำวันก็ได้
อะไรที่เป็นข้อจำกัดในการเรียนวิทยาศาสตร์
ผมคิดว่าคือ ‘สื่อ’ สื่อในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอุปกรณ์ แต่หมายถึงการสื่อสารให้เด็กเข้าใจ การเชื่อมโยงเนื้อหาเข้าไปในสิ่งรอบตัวของลูกศิษย์ ไม่ใช่เพียงแค่ประถมหรือมัธยม รวมถึงในระดับมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน ครูที่สอนวิทยาศาสตร์จึงมีบทบาทสำคัญมาก เพราะเด็กจะกลัว/ไม่กลัว วิชานี้ครูผู้สอนก็มีส่วนสำคัญหรือตัวเด็กๆ เอง ในปัจจุบันก็สามารถพึ่งตัวเองได้ เนื่องจากมีอินเตอร์เน็ท มีวิธีหาข้อมูลได้จากหลายแหล่งมากกว่าสมัยก่อน
วิทยาศาสตร์สำคัญก็จริง แต่สำคัญกว่าวิชาอื่นจริงไหม
ถ้ามองในร่างกายมนุษย์เป็นพื้นฐานก็ได้ โดยมนุษย์ทั่วไป บางคนชอบวาดรูป ถ่ายรูป ฟังเพลง ศิลปะ เกิดจากการทำงานของสมองซีกสุนทรียศาสตร์ แต่บางคนที่อาจจะชอบขั้วตรงข้ามก็ไม่ได้ผิดอะไร ดังนั้นเราต้องสมดุล
แต่ประเทศเราก็ยังหลีกหนีการเชิดชูคนที่เป็นหัวกะทิด้านวิทยาศาสตร์ไม่ได้ จะทำอย่างไร
ใช่ มันเป็นกระแสสังคม เป็นความคิดที่ปลูกฝังไว้ ตั้งแต่ผมยังไม่เกิดเลยด้วยซ้ำ คนเราจะประเมินมนุษย์จากการเรียนเก่งไม่เก่ง รวยไม่รวย แต่ถ้าเราโตพอที่จะเรียนรู้คนรอบข้างเราจะเห็นได้เลยว่าความรวยหรือความเก่ง มันอาจจะไม่เกี่ยวกับความสุขในชีวิตก็ได้
อยากให้ยกตัวอย่างหนังวิทยาศาสตร์ 3 เรื่องที่ชอบ
โห (หัวเราะ) จริงๆ ทุกเรื่องก็เป็นวิทยาศาสตร์หมดนะ เรื่อง Avengers, Star Wars หรือพวกซีรีส์สืบสวน สอบสวนต่างๆ ที่หลายคนชอบดูก็เกี่ยวข้องหมด แต่เราไม่เคยตั้งคำถามกับมันเองต่างหาก
เคยสงสัยไหม ทำไมฉากลอบยิง โจรต้องเล็งปืนในองศานี้ แค่นี้ก็เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์แล้ว
หรือทำไมต้องเห็นฉากที่หมอหยิบเครื่องมือชนิดนี้ ขึ้นมาผ่าร่างกายเพื่อพิสูจน์ นี่ก็เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์แล้ว
จะเห็นได้ว่าวิทยาศาสตร์แทรกอยู่รอบตัวเราหมดเลย ไม่ว่าจะเป็น ละคร ซีรีส์ หรือภาพยนตร์
บางครั้งวิทยาศาสตร์ดูเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องที่ต้องใช้ต้นทุน คำว่าวิทยาศาสตร์จึงเข้าถึงยากสำหรับบางคน จริงไหม?
ยกตัวอย่างพ่อแม่ผมก็ได้ เขาเรียนแค่ ป.4 เขาไม่รู้หรอกว่า การบ้านวิชาวิทยาศาสตร์ข้อนี้ของเราต้องทำอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าพ่อแม่เขาพร้อมสนับสนุนเราเรื่องอื่นๆ มากกว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมด้วย วัยเด็กที่ผมอยากได้หุ่นยนต์ก็ไม่มีเงินไปซื้อ ผมก็เอาของที่มีอยู่รอบๆ เอามอเตอร์เก่าๆ มาประยุกต์เล่น ลองประดิษฐ์ ทำนู่น ทำนี่ แค่นี้ก็เข้าถึงวิทยาศาสตร์แล้ว
ถ้าพ่อแม่สังเกตเห็นตรงนี้ อย่ามองว่านี่คือเรื่องไม่ดี นี่คือการเรียนรู้อย่างหนึ่งของลูกแล้ว พ่อแม่ต้องเปลี่ยนความคิดจากเดิม ‘เราลองไปสร้างหุ่นยนต์กับลูกไหม เข้าไปมีส่วนร่วมกับเขาบ้าง’
พ่อแม่ทุกๆ คน ต้องอย่ากลัวกับคำว่า วิทยาศาสตร์ มันอาจจะดูขึงขัง แต่จริงๆ มันก็คือเรื่องรอบๆ ตัว เรื่องในชีวิตประจำวันเรานี่แหละ
อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในการเรียนรู้ของเด็กยุคนี้
มันจะดีมากถ้าทุกคนได้เรียนและทำงานในอาชีพหรือสาขาที่ตัวเองรัก พร้อมกับได้เงินเยอะๆ ซึ่งในเรื่องจริงมันอาจมีกรณีเช่นนี้ไม่เยอะ ผมจึงมองว่าสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ คือการเรียนอะไรก็ได้ที่เรามีความสุขน่าจะดีที่สุด อีกอย่างหนึ่งการส่งเสริมการเรียนรู้ของพ่อแม่ไม่ได้แปลว่ายัดเยียดวิทยาศาสตร์ให้ลูกนะ ถ้าลูกไม่ชอบก็ไม่เป็นไร ลูกไม่จำเป็นต้องเป็นหมอ วิศวะ เขาเป็นนักดนตรี เป็นศิลปินวาดรูปก็ได้
และผมว่าความแตกต่างระหว่างการเรียนรู้ของเด็กสมัยก่อนกับปัจจุบัน ที่เห็นชัดคือ เรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือในการค้นหาความรู้ เครื่องมือในการสื่อสาร เราสามารถสื่อสารกับเพื่อน สื่อสารกับคนที่ไม่รู้ สื่อสารข้ามประเทศได้ง่ายๆ แต่มันก็เหมือนดาบสองคม การที่พร้อมมากๆ เราอาจจะละเลย ไม่ค่อยตระหนักถึงความสำคัญกับอะไรบางอย่างไป
ถ้าอยากเริ่มต้นเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านหนัง ต้องทำอย่างไรบ้าง
ตอนเด็กๆ มันก็ไม่มีใครสอนเนอะ ว่าหนังมันให้คุณค่าอะไร ตอนเด็กผมชอบดูหนังหนุมาน ก็ไม่มีใครมาสอนหรอกว่าการกระโดดของหนุมานมันเกี่ยวกับฟิสิกส์อย่างไร
ส่วนตัวผมคิดว่าหนังทุกเรื่อง มันมีอะไรซ่อนอยู่หมด ไม่ใช่แค่เรื่องวิทยาศาสตร์ ถ้าเราเอามาโยงกับชีวิตของเราแล้วตั้งคำถามกับมันเยอะๆ พยายามคิดว่าทำไม ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ มันจะทำให้เราเข้าใจและมีความอยากที่จะขวนขวายหาข้อมูลเพิ่มเติม
พ่อแม่เองก็สำคัญ บางครั้งเด็กๆ อาจจะไม่ฉุกคิด แต่ถ้าพ่อแม่ช่วยกระตุ้นลูก ‘เห็นไหมทำไมเขาถึงย้อนเวลาได้’ ‘ทำไมเขาถึงกระโดดข้ามเวลาได้’ มันก็จะเกิดการเรียนรู้
ซึ่งการเรียนรู้ผ่านหนังมันได้หลายอย่างด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องวิชาการ ไม่ว่ามิตรภาพ ความสัมพันธ์ สิ่งแวดล้อม ความรัก เพราะมันโยงกับชีวิตมนุษย์เราทั้งหมดเลย
ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยด้านฟิสิกส์ที่ผ่านมือมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และบทบาทของ NECTEC โดยงานวิจัยส่วนมากจะเน้นการประยุกต์ใช้ความรู้ที่เกี่ยวกับแสง อิเล็กทรอนิกส์ และการเขียนโปรแกรม โดยนำทั้งสามศาสตร์มาผสานกัน เพื่อตอบโจทย์ตามที่ได้รับมอบหมาย ทั้งด้านอุตสาหกรรม การเกษตร ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม การแพทย์หรือสาธารณสุข ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัด อย่างด้านเกษตร NECTEC จะมองได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ อย่างแรกคือเรื่องของข้อมูล ต้องลองไปดูเรื่องของแหล่งน้ำ แหล่งเพาะปลูก ซึ่ง NECTEC จะได้รับข้อมูลเหล่านี้จากเจ้าของ นั่นคือภาครัฐ โดยนำข้อมูลต่างๆ มาเชื่อมโยงกัน มาวิเคราะห์ต่อ เช่น ข้อมูลบอกว่าสภาพดินเป็นแบบนี้ สภาพอากาศเป็นแบบนี้ เกษตรกรควรปลูกอะไรดี อย่างที่สองคือการตรวจวัด เช่น วันพืชมงคลเราจะเห็นได้ว่าใครๆ ก็อยากได้พันธุ์ข้าวจากพิธีไปเพาะปลูกต่อ เพราะข้าวนั้นเป็นข้าวที่มีคุณภาพ บทบาทของ NECTEC คือการวิเคราะห์พันธุ์ข้าวโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นภาพใหญ่ๆ ของ NECTEC คือ เป็นผู้รับโจทย์จากทั้งภาครัฐและเอกชน ทำงานต่อโดยใช้ความรู้จากทีมที่มีอยู่ เอามาผสมผสาน คิดเครื่องมือขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาและตอบโจทย์อย่างยั่งยืน |