- เป็นเวลา 3 ปี ที่ อานันท์ นาคคง ศิลปินศิลปาธร สาขาดนตรีประจำปี 2562 เรียนรู้ดนตรีในพื้นที่แห่งความขัดแย้งเพราะอาศัยกับครอบครัวนักดนตรีเขมรอพยพกลับบ้านไม่ได้ ผู้อพยพชาติอื่นๆ เช่น ลาว เวียดนาม ก็ปะปนอยู่ด้วย
- เป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เขาอยากสอนวิชา World Music ให้กับเด็กๆ หรือเปิดพื้นที่ให้กับดนตรีชาติพันธุ์ และความสนุกสร้างสรรค์รายรอบดนตรีเพื่อเรียนรู้มนุษย์และสังคม
- ในคลาสของอาจารย์มีทั้งการศึกษาเรื่องกะเทยผ่านเพลงลูกทุ่ง ดนตรีชาตินิยมที่สร้างมายาคติเพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชน ไปจนถึงการสำรวจเวทีลิเกในงานวัด
- หนึ่งในการวัดผลนักศึกษาคือการเปิดคำตอบแล้วบอกให้นักศึกษาช่วยเขียนคำถามให้ได้เยอะที่สุด เพราะชีวิตนี้นักศึกษาตอบกันมาเยอะแล้ว
ชั้นเรียนที่มีครูพาเด็กนักเรียนออกนอกห้อง ไปเที่ยวงานวัด งานบุญ เวทีลิเก วันดีคืนดีก็เลคเชอร์เรื่องเพลงสาวดอยคอยปี้ และ พระรถเมรี ของ กระแต อาร์สยาม หรือจัดทอล์คโชว์จากปรากฏการณ์เพลงประเทศกูมี ชวนให้ตั้งคำถามว่าเจ้าของคาบคนนี้สอน ‘ดนตรี’ ในสไตล์ไหนกันแน่
อานันท์ นาคคง หรือ ครูหน่อง มีผลงานทางดนตรีหลากหลายรูปแบบทั้งในประเทศและระดับโลก เขาเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ที่คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สอนวิชามานุษยวิทยาดนตรีเบื้องต้น ดนตรีโลก ดนตรีอาเซียน การศึกษาภาคสนามทางมานุษยวิทยาดนตรี และดนตรีวิจารณ์ เขาเป็นศิลปินศิลปาธร สาขาดนตรีประจำปี 2562 เป็นกรรมการบริหารวงดุริยางค์อาเซียน-เกาหลี (ASIA Traditional Orchestra) เป็นผู้อำนวยการดนตรีของวง C Asean Consonant (วงดนตรีอาเซียนที่รวบรวมเยาวชนในภูมิภาคมาทดลองเล่นดนตรีเพื่อการอยู่ร่วมกันในอนาคต) ที่ปรึกษางานสร้างภาพยนตร์โหมโรง, From Bangkok to Mandalay และเป็นผู้ผลิตงานดนตรีสารพัดรูปแบบ ตั้งแต่เพลงประกอบละครเวที ประกอบภาพยนตร์ งานวิจัยมานุษยวิทยาดนตรี งานนาฏกรรมร่วมสมัย สื่อผสมหรือศิลปะการจัดวางเสียง (sound installation)
ยกตัวอย่างคร่าวๆ ว่างานศิลปะการจัดวางเสียงของเขาชื่อ ‘สินบนกรุงเทพ’ (Bangkok Bribe) เคยจัดแสดงที่หอศิลปฯ กรุงเทพมหานคร อานันท์นำเครื่องอัดเสียงไปวางที่มุมสี่มุมของพระพรหมเอราวัณแถบสี่แยกราชประสงค์ เพราะต้องการบันทึกว่าพระพรหมได้ยินเสียงอะไรบ้าง
“ข้างบนพระพรหมมีรถไฟฟ้าวิ่งฉิว ได้ยินเสียงจากเซ็นทรัลเวิลด์ ได้ยินเสียงของโรงพยาบาลตำรวจที่มีคนตายวิ่งผ่านไป จริงๆ แล้วหูของพระพรหมละเอียดมาก แต่ทำไมเลือกที่จะช่วยแต่พวกที่มาติดสินบน เราเลยตีความว่าพระพรหมคือเทพเจ้าแห่งคอร์รัปชัน สังคมติดสินบนไม่ได้อยู่แค่ในหน่วยงานราชการ อำนาจหน่วยงานในกรมกอง เพราะแม้แต่เทวดาก็ยังเป็นเลย แล้วคุณจะมาหวังอะไรกับสังคมจริงๆ”
หลังจากที่จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาดุริยางคศิลป์ไทยด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (เหรียญทอง) เขาได้รับทุนการศึกษาปริญญาขั้นสูงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2535 เพื่อศึกษาต่อที่ School of Oriental and African Studies (SOAS) สำนักบูรพาคดีและแอฟริกันศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน ด้านมานุษยวิทยาดนตรี (Ethnomusicology) เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาได้เรียนและรู้จักดนตรีที่กว้างขวางออกไป โดยเฉพาะดนตรีที่ถูกผลกระทบจากสงคราม
เขาไปเป็นหนึ่งในสตาฟขององค์กรที่ดูแลผู้อพยพชาวเวียดนาม ลาว กัมพูชา พลัดถิ่น และพักอาศัยอยู่กับครอบครัวของครูดนตรีกัมพูชาที่กลับแผ่นดินเกิดไม่ได้ เขาใช้ชีวิตคลุกคลีกับคนดำ คนจีน คนอินเดีย คนมุสลิม และพังค์ ตกตะกอนเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้อานันท์กลับมาเปิดวิชา ‘ดนตรีโลก’ World Music ขึ้นในสถาบันต่างๆ ที่เขาไปใช้ชีวิตครู เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้จักความแตกต่างของมนุษย์ด้วยดนตรี ทำกิจกรรมเปิดพื้นที่ให้เด็กได้สัมผัสความพิเศษของดนตรีชาติพันธุ์ ทำงานวิจัยและสร้างงานวิชาการดนตรีเพื่อเรียนรู้มนุษย์และสังคม
“กลับมาจากอังกฤษ แล้วเป็นครู ก็สามารถช่วยให้เราสื่อสารความรู้ทางมานุษยวิทยาดนตรีที่เป็นเรื่องแตกต่างไปจากวิชาการแสดงดนตรีหรือดนตรีศึกษา ช่วยทำหน้าที่บันทึกดนตรีชนเผ่า พูดเรื่องดนตรีอะไรบางอย่างที่มหาวิทยาลัยอาจมองข้าม ที่ผมทำกิจกรรมดนตรีชาติพันธุ์แบบจริงจัง ส่วนหนึ่งก็เป็นแรงขับมาจากการใช้ชีวิตอยู่กับผู้อพยพหลังสงคราม อยู่กับพวกชาติพันธุ์ที่เป็นคนแปลกแยกในสังคมอังกฤษ ผมเปิดห้องเรียนเถื่อนในเฟซบุ๊ค (ห้องเรียนเพลงดนตรีอาเซียน) ให้ความรู้แก่คนอ่านหน้าจอทุกวัน ผมจัดรายการวิทยุดนตรีโลก สร้างเวทีดนตรีออนไลน์ให้คนมาเสพบ่อยๆ มีพื้นที่ให้เสียงแคน เสียงฆ้อง ถึงคนจะไม่ฟังในทันที ไม่ติดหูในทันที แต่อย่างน้อยในบางขณะเขาอาจจะรับรู้คุณค่าบางอย่างจากมันได้”
แม้จะออกตัวว่าเขาอาจจะไม่ใช่ครูสอนดนตรีที่ดีด้วยซ้ำ เพราะทำงานดนตรีหลากหลายมากกว่าชีวิตครูในห้องเรียน ไม่เคยเรียนเกี่ยวกับการสอนดนตรีมาโดยตรง หรือไม่มีวุฒิครูตามระบบที่ควรจะเป็น แต่วิธีการมองโลกและการใช้ศาสตร์มานุษยวิทยาดนตรีเข้ามาสอนและสร้างสรรค์ดนตรีในรูปแบบที่ deconstruct นั้นน่าสนใจ นำไปสู่คำถามใหม่ว่าเราสอนดนตรีกันไปเพื่ออะไรกันแน่ มันสามารถไปไกลถึงการทำความเข้าใจมนุษย์และวิถีการอยู่ร่วมกันในสังคมได้หรือเปล่า
เรียนดนตรีผ่านสิ่งที่ไม่ใช่ดนตรี
อาจารย์เติบโตมากับการเรียนดนตรีแบบไหน
ผมรู้จักดนตรีไทยตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ได้เรียนดนตรีไทยในห้องเรียน กว่าจะอ่านโน้ตเป็นคือตอนเข้ามหาวิทยาลัย ที่ผ่านมาคือเราเก็บความรู้ด้วยหู พ่อแม่เป็นครูช่าง มีลูกศิษย์มาตั้งวงเล่นเครื่องสายกัน ซึ่งไม่มีใครเล่นเก่งเลย เพี้ยนมาก แต่เรารู้สึกแฮปปี้ ผมมีครูที่เป็นช่างเหมือนกัน ชื่อครูวัน อ่อนจันทร์ เป็นช่างไม้ ช่างทำเครื่องดนตรี บ้านอยู่ในสวนบางขุนศรี ต้องเดินลุยท้องร่องไปหาครูที่บ้าน เป็นคนที่ทำให้ผมสัมผัสดนตรีที่ไม่เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ คือเราได้เล่นดนตรีจากงานช่าง เมื่อเช้านี้มันยังเป็นท่อนไม้อยู่เลย แล้วครูก็เอาไม้เข้าเครื่องกลึง แล้วฉับพลันก็เนรมิตรซอขึ้นมาได้ เหมือนเล่นกล ถึงครูเขาจะสอนดนตรีตามระบบไม่เป็น แต่สอนให้เรารู้จักสิ่งที่มันงดงามกว่านั้นคือ ซอคันนี้ จะเข้ตัวนี้ โทนใบนี้ทำมาจากต้นไม้ชื่ออะไร เติบโตที่ป่าแถวไหน ไม้อายุกี่ปี เราเห็นไม้โดนตัดมา โดนเลื่อย โดนขุด โดนกลึงจนกลายร่าง แล้วเราก็ได้ลองเสียงจากท่อนไม้ท่อนนี้
ครูผมไม่มียูนิฟอร์มเพราะเป็นช่าง ถอดเสื้อทำงาน แต่งตัวเขรอะๆ แล้วก็สีซอแบบกระโชกโฮกฮากอย่างที่เรียกว่าพูดภาษาชาวบ้าน ไม่ได้มีจริตเหมือนนักดนตรีราชสำนัก แต่เราสนุกกับการติดตามครูไปในสถานที่ต่างๆ ไปเล่นในวัด ในตลาด ในสวน ผมรู้จักความเป็นวงดนตรีที่อบอุ่นจากเพื่อนครู ลุง ป้า น้า อา ที่มาซ้อมกัน การเล่นดนตรี 5 นาที ก็คือ 5 นาทีที่ผู้ฟังกับผู้เล่นอยู่ด้วยกัน ดนตรีมีหลายๆ มือมาช่วยกันตีฉิ่ง ตีกลอง สีซอ ตีระนาด เล่นคนละลีลา แต่ทุกคนแคร์กัน แล้วมันเป็นครอบครัว อบอุ่นมาก
เราเรียนรู้ว่าดนตรีมันเป็นพื้นที่จำลองของสังคมสันติสุข ที่คนแตกต่างมาอยู่ด้วยกันได้ คนแก่หรือเด็กเล่นด้วยกันได้ มันเป็นสวรรค์เล็กๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีคอนเสิร์ตฮอลล์ เราอยู่ในบ้านครูที่รกๆ มีขี้เลื่อยเต็มไปหมด แต่มันทำให้เราลืมทุกข์โศก ขจัดความกังวลต่างๆ ไปได้
จากนั้นมีการต่อยอดการเรียนรู้ดนตรีนอกห้องเรียนอย่างไร
หลังจากเรียนเครื่องสายกับครูวัน ช่วงมัธยมปลายผมไปเรียนปี่พาทย์กับครูเป๋ สมหมาย สุวรรณวัฒน์ บ้านอยู่ในสลัมหลังวัดกัลยาณมิตาวาส ครูสอนไปเรื่อยๆ ในวิถีทางของปี่พาทย์ เริ่มจากเพลงสาธุการไปเป็นโหมโรงเช้า โหมโรงเย็น ผมเดินเข้าไปในสลัมฯ ทุกเย็นหลังเลิกเรียน อยู่จนดึกแล้วก็กลับบ้าน เคยถูกรีดไถ แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคที่เราจะเลิกเรียนปี่พาทย์ ผมกลับเห็นเสน่ห์อีกหลายอย่างที่เสียงดนตรีไทยอยู่ในชุมชนแบบนี้ ที่มันต่างจากคตินิยมว่าดนตรีจะต้องเป็นสมบัติของราชสำนักหรือคนชั้นสูง
ครูพาผมไปออกงานเยอะ ไปงานศพ งานบวช งานแห่นาค ทำขวัญนาค จนถึงไปช่วยเล่นดนตรีแก้บน ไปเล่นให้สำนักทรงเจ้า เห็นเจ้าร่ายรำกับเพลงปี่พาทย์ เห็นคนเมาคนบ้ามาร้องรำทำเพลงอย่างสนุก ได้เห็นความหลากหลายของคนที่มาสัมผัสโลกดนตรีที่ไม่ใช่แค่นั่งเรียบร้อยฟังกันในโรงคอนเสิร์ตเท่านั้น
ทุกคืน ผมกลับบ้าน ไม่ใช่ว่าจะหยุดเรียนรู้ดนตรี ผมเปิดวิทยุ ฟังรายการดนตรีไทยตอนดึกๆ ฟังสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยที่มีรายการบรรเลงสดจากวงดนตรีไทยสมัครเล่นมากมาย ผมคิดว่ามันคือการขยายโลกทัศน์ในการเรียนด้วยหูที่สำคัญมาก ไม่แพ้การเล่น การฝึกซ้อม หรือออกงานแสดง ทักษะการฟัง เป็นสิ่งที่ผมฝึกมากไม่แพ้การเล่นดนตรี
ต่อมาผมเดินทางไกลมากขึ้น ไปดูเขาเล่นเพลงพื้นบ้านต่างจังหวัดที่มี พี่เอนก นาวิกมูล ตั้งกลุ่มศึกษาเพลงพื้นบ้าน ผมก็เข้าไปร่วมด้วย ไปช่วยงานบันทึกเสียงเพลงพื้นบ้านในหลายจังหวัดมาก ได้ยินกลอนเพลงจากพ่อเพลงแม่เพลงชั้นยอดที่เป็นกวีชาวบ้านร้องโต้กันสดๆ
การเรียนดนตรีในสมัยปัจจุบันดูเหมือนจะแตกต่างจากสิ่งที่เล่ามา?
ผมโตมาแบบนักดนตรีสมัครเล่น เล่นเพราะสนุกที่จะเล่น ไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นมืออาชีพ ครูก็ให้อิสระ พ่อแม่ก็ไม่ได้บังคับ และไม่ได้เข้าไปเรียนดนตรีในหลักสูตรอะไร แต่ทุกวันนี้ ตามโรงเรียนเขามีหลักสูตรดนตรีจริงจัง มีห้องเรียนดนตรี มีเครื่องดนตรีดีๆ ซื้อมาตามงบประมาณ ต้องเรียนทุกอย่างเลยซึ่งไม่รู้ว่ามันจะหนักเกินไปหรือเปล่า
ดนตรีก็มีทั้งสอนทางตรงกับสอนแบบแฝง ทางตรงคือต้องเข้าใจว่าเล่นดนตรียังไง ไม่ใช่แค่เอาดนตรีไปใส่ในหลักสูตรการศึกษาแล้วจะประสบผลสำเร็จ แต่พออยู่ในระบบการศึกษาแล้วก็ต้องมีนโยบายของชาติมากำกับมากมาย เช่น บังคับว่าเด็กนักเรียนต้องเล่นดนตรีไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันเป็นความวิบัติที่สุดแล้วเพราะดนตรีเป็นทางเลือกของมนุษย์ ไม่ได้ถูกสร้างให้มาเล่นแบบเกณฑ์ทหาร ให้ครบกองร้อยกองพัน ต้องนับจำนวนเพื่อทำยอดให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้สนใจว่าคุณภาพดนตรีมันจะสัมพันธ์กับปริมาณไหม แล้วดนตรีที่คุณเล่นมันไทยจริงหรือเปล่า หรือการเล่นดนตรีไทย 100 เปอร์เซ็นต์ มันพิสูจน์ความรักในดนตรีได้จริงแท้แค่ไหน
บริบทของสังคมมีผลต่อสถานะและบทบาทของดนตรีอย่างไร
สังคมเปลี่ยนแปลงไป ใครบางคนคิดมายากลใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อทำให้ดนตรีกลายเป็นสิ่งน่าเคารพ น่าเกรงขาม ต้องไปฟังดนตรีบริสุทธิ์ในคอนเสิร์ตฮอลล์เท่านั้นถึงจะเรียกว่ามีรสนิยมทางดนตรี การที่จะมีสิทธิในการเดินเข้าไปในพื้นที่นั้น คุณต้องยอมรับในจารีตอะไรบางอย่างก่อน เช่น ยอมรับในประวัติศาสตร์ทางดนตรีที่พวกนักวิชาการสร้างขึ้น ต้องมีศรัทธาในบารมีของวงดนตรีวงนี้และจงรักภักดีต่อวาทยากรท่านนี้ ต้องมีกิริยามารยาทที่วางท่าเป็นผู้ดี ต้องแต่งตัวไปดูคอนเสิร์ตอย่างประณีต และมีค่าใช้จ่ายแพง ทำไปทำมา การศึกษาของคนกับเรื่องดนตรี กลายเป็นการปลูกฝังความฟุ้งเฟ้อ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับดนตรีเหล่านี้ และการคิดอยู่แต่เพียงดนตรีคลาสสิกเท่านั้น ก็คือการจำกัดให้ดนตรีอยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่คน
ซึ่งนั่นคือการปลูกฝังที่แคบด้วย เพราะคนที่เรียนดนตรีส่วนใหญ่เขาไม่ออกมาเล่นที่ข้างถนนหรอก เขาก็จะเล่นในห้องที่ปิด มีรั้วรอบขอบชิด อาจมีที่เก็บเสียงด้วย เครื่องดนตรีที่เล่นก็ต้องมีราคาแพงเพราะว่าต้องเล่นให้ได้โน้ตที่ดีที่สุด และเล่นตามคำสั่ง โน้ตนี้ คีย์นี้ ไม่ต่างอะไรกับคนกินยา เพราะเขาต้องมีทักษะและความรู้ความเข้าใจดนตรีที่ค่อนข้างจะลึกซึ้งและโดดเด่นมากพอที่จะแยกระหว่างตัวเขากับคนอื่นที่ร้องได้ไม่เพราะเท่าเขา เพี้ยนกว่าเขา หรือจิ้มเครื่องดนตรีแล้วไม่จับใจเท่าเขา ต้องใช้ดนตรีทำมาหากินซึ่งคำว่าทำมาหากินเป็นคำที่โหดร้ายในโลกปัจจุบัน
ปัญหาของการสอนดนตรีไทยตามห้องเรียนคือมีครูคนเดียว แล้วนักเรียนต้องอยู่ในทิศทางเดียวกันเหมือนกับทหาร อยู่ในระเบียบ ต้องซ้อม ถ้าคนที่ทำงานศิลปะต้องอยู่ในกติกาแบบนี้ก็เหมือนกับการล้างความเป็นคนไปเรื่อยๆ
ถ้าอย่างนั้นการเรียนการสอนดนตรีควรจะเป็นแบบไหน
ไม่ต้องสอน (หัวเราะ) สอนมั่งไม่สอนมั่ง แต่อย่าบังคับให้เด็กเรียน เราต้องมาทบทวนกันก่อนว่าเรียนไปเพื่ออะไร เราเข้าใจว่าการเรียนดนตรีคือต้องเป็นครูดนตรีที่สอนๆๆ เท่านั้น
แต่จริงๆ ครูพละก็สอนดนตรีได้จากการวิ่งที่มันมีสเต็ป หรือแค่การอ่านวรรณกรรมก็มีเสียงดนตรีอยู่ในตัวแล้ว ครูภาษาไทยก็สอนได้ แต่สิ่งที่คุณสอนในคาบเรียนดนตรี ให้ท่อง เพลงลาวดวงเดือนเนี่ย มันมีศิลปะและจินตนาการอยู่ในนั้นจริงๆ หรือเปล่า
ถ้าวิธีการสอนดนตรีคือการโยนโน้ตให้ เราก็จะเล่นแค่โดเรมีไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่รู้ความหมายของพระจันทร์ ไม่รู้ว่าไอ้หนุ่มที่กล้ามาร้องเพลงจีบสาวตอนดึกนี่มันกล้ามากเลย มันต้องจินตนาการได้ แต่โน้ตเพลงมันไม่ได้บอกอย่างนั้น
และเราปลูกฝังให้ฟังน้อยมาก ลองเอาเครื่องดนตรีออกจากมือแล้วฟังทุกอย่างได้ไหม ฟังเสียงรอบๆ หรือเสียงสังคมภายนอก การฟังดนตรีมันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการฟังทุกอย่างในโลก สอนให้เราสัมผัสคุณค่าในโลกนี้อย่างละเอียดอ่อน ฟังสิ่งที่เป็นรายละเอียดที่ประดับอยู่ เหมือนกับที่เราฟังคนพูดแล้วเราก็สามารถใช้ข้อเท็จจริงหรือจินตนาการต่อยอดได้
การฟังเป็นประสาทขั้นละเอียด แต่สถาบันสอนเรื่องวิชาความรู้ทั้งหลายให้ความสำคัญกับการฟังน้อย หรือบังคับให้ฟังเฉพาะเรื่องบางเรื่อง ซึ่งมันไม่ได้สอนให้ฟังความงดงามหรือความละเอียดลึกซึ้ง ดังนั้นผลผลิตที่ออกมาจากสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ก็จะเป็นเด็กที่มีทักษะการฟังต่ำ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเหมือนกัน
เพราะมันวัดผลได้สะดวกด้วยหรือเปล่า
อาจจะใช่ เราไม่มีกระบวนการสร้างความรู้สึกในสิ่งที่เรียน เรามีแต่ความรู้ที่จะรู้สึก ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกันแต่ว่ามันอยู่ภายในกันและกัน รู้สึกโดยที่ไม่รู้ก็เป็นอันตราย รู้โดยที่ไม่รู้สึกก็เป็นอันตราย เช่น การผสานการทำงานดนตรีเข้ากับงานละคร เราไม่ได้ทำงานกับแค่นักดนตรีกับผู้แสดง แต่ทำงานกับวรรณกรรม แสง คอสตูม เล่นเพลงที่คอสตูมเคลื่อนไหวไม่สะดวกแล้วจะเล่นทำไม หรือคอสตูมสวยๆ เล่นเพลงแป๊บเดียวจบแล้ว ให้เวลาเขาดูสิ่งที่มันอยู่บนเรือนร่างคน การกรายนิ้วมือหน่อยสิ มันจะมีคุณค่าต่อเมื่อเสียงดนตรีมันเลี้ยวไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นเราควรจะเรียนรู้สิ่งที่เป็นศาสตร์ร่วม แล้วเอาพลังมาใส่ในเด็กรุ่นใหม่
ตอนนี้ผมสอนวิชามานุษยวิทยาดนตรี ได้ไปเรียนรู้ดนตรีชาวบ้านตามป่าเขาลำเนาไพร จากนั้นก็เอาความรู้เหล่านี้มาส่งต่อให้เด็กในมหาวิทยาลัย หรือคนนอกที่ไม่ได้เข้าไปฟังเลคเชอร์ เราไม่เคยมีตำราสอนจริงจังแต่เน้นให้ในมิตินอกห้องเรียน เช่น สอนว่าทำไมต้องมีการแห่นางแมว มานั่งคุยกันแล้วไปดูกันหน่อยว่าฝนมันตกจริงหรือเปล่า เราไม่ได้ลงภาคสนามแบบไปเดินเล่น แต่สอนให้ใช้หู ใช้ตา ใช้วิธีการจด พูดคุยซักถาม สิ่งที่เราสามารถถ่ายทอดให้เขาได้ ก็มีคุณค่าไม่น้อยไปกว่าการสอนดนตรีตรงๆ แบบครูในสถาบันดนตรี
มานุษยวิทยาดนตรีเพื่อเมโลดี้แห่งความหลากหลาย
มานุษยวิทยาดนตรีคืออะไร
มานุษยวิทยาคือการทำความรู้จักมนุษย์ แต่เราใช้ประตูที่เป็นดนตรีเปิดเข้าไป แล้วไปเจอมนุษย์ที่เป็นเจ้าของดนตรีนั้น อาจจะเป็นคนที่เล่น ร้อง ปฏิบัติ หรือคนฟัง แล้วเราก็ทำความรู้จักกับเขาต่อว่าคุณเป็นใคร มาจากไหน เช่น เรารู้จักกับมนุษย์ที่เป็นคนดำ เราอยากรู้ไหมว่าข้างในหัวใจเขาเต้นบีทส์เท่าไหร่ มีอะไรในหู ทำไมหูเขามีเพลงแจ๊ส เพลงบลูส์ ไม่มีเสียงแบบอื่นล่ะ มันมาจากบางส่วนของประวัติศาสตร์หรือความขมขื่นในชีวิตหรือเปล่า
มานุษยวิทยาดนตรี ethnomusicology เป็นกระบวนการศึกษาตอนประมาณศตวรรษที่ 20 ก่อนหน้านี้ดนตรีถูกมองเป็นดนตรีวิทยา musicology ที่ต้องมีประวัติศาสตร์ มีระบบ ตัวโน้ตให้วิเคราะห์เยอะแยะไปหมด แล้วมันก็อยู่ในกระดาษ แต่ชีวิตของคนที่อยู่กับดนตรีมาเรียนรู้กันมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนที่โลกไร้พรมแดนขึ้นไปทุกทีๆ แล้วยุโรปไม่ใช่ศูนย์กลางของดนตรีอีกต่อไป
นอกจากการตระหนักในคน มานุษยวิทยาสอนให้เราคิดว่าประวัติศาสตร์มีหลายด้าน แล้วเราจะเรียนรู้จากปรากฏการณ์ดนตรีกับสังคมในแง่มุมเหล่านี้ได้ยังไง เช่น รัฐใช้ดนตรีอย่างไร ศาสนาใช้ดนตรีอย่างไร สถาบันกษัตริย์เอาดนตรีไปทำอะไร หรือในทางกลับกัน ดนตรีแบบไหนที่พึ่งพิงอำนาจกษัตริย์ อำนาจศาสนา อำนาจรัฐ ตกลงว่ามนุษย์ใช้ดนตรีเป็นดนตรีเพื่อบันเทิงหรือเพื่อเป็นเงื่อนไขในสิ่งอื่น มานุษยวิทยาดนตรีสนใจสิ่งที่มันอยู่รอบๆ ด้านของสังคม
การเรียนสิ่งที่อยู่รอบๆ ด้านของสังคมผ่านดนตรีน่าสนใจอย่างไร
มันสามารถสร้างการยอมรับในความเป็นมนุษย์ด้วยกันได้ เช่น เราอาจจะมีอคติบางอย่างต่อแขก มองว่าสกปรก อ้วน ดำ ขี้โกง แต่ดนตรีที่เขาเล่น มันมีความวิเศษ และดำรงอยู่มายาวนาน 5,000 ปีแล้ว เขาอ่านโน้ตไม่ออกหรอก แต่ดีดซีตาร์ (sitar) เล่นราก้ากันได้เป็น 2-3 ชั่วโมง โดยโน้ตไม่ซ้ำกันสักตัวหนึ่ง มันสืบต่อมาได้ยังไงโดยที่ไม่มีโรงเรียนดนตรี ไม่มีปริญญา
เราไม่ได้ทำงานดนตรีแต่กับคนที่มีทักษะสูงๆ ทักษะไม่ดีอย่างเด็กดาวน์ซินโดรมเราก็เคยสอนเขา เขามีความสุข หัวเราะกันเอิ๊กอ๊าก เล่นโน้ตถูกหรือผิดไม่เป็นไร ในขณะที่เราพยายามจะบอกว่าดนตรีทำให้คนเป็นอัจฉริยะ ถ้าลองนับหนึ่งจากคนบกพร่องล่ะ คุณจะให้เขาเดินต่อไหม ถ้าเขาเกิดพูดไม่ชัด มองไม่เห็น หรือประสาทสัมผัสไม่ว่องไวเหมือนเรา แต่เขาคือคนเหมือนกัน คุณยอมที่จะอยู่กับเขาไหม
ใช้มานุษยวิทยาดนตรีสอนนักเรียนอย่างไร
เรามีวิชา fieldwork ที่พาเด็กไปอยู่ในงานวัด ชุมชนต่างๆ กว่าจะเดินไปถึงเวทีดนตรี เราเดินผ่านหมึกปิ้ง คนขายชุดชั้นใน หลวงพ่อที่กำลังเรียกเราให้ไปทำบุญ ฉะนั้นก่อนที่เขาจะไปถึงเวทีรำวง เขาได้เรียนรู้สังคม เสียง และรู้ว่าเวทีรำวงมันต้องอยู่กับงานวัดแบบไหน เรียนรู้สิ่งที่มันเป็นประวัติศาสตร์ร่วม วัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่หรือวัฒนธรรมที่จะทำให้เวทีรำวงมันเปลี่ยนไป
ข้างๆ เป็นหนังจอใหญ่ซึ่งต้องการพาวเวอร์มาก ฉะนั้นเวทีรำวงก็รำแบบชนิดที่ลำบากใจมาก หรือเวทีลิเกยิ่งลำบากใจใหญ่ เพราะคนไปดูอย่างอื่นกันหมด เงินก็น้อย ระนาดที่ตีเก่งๆ ก็ต้องเล่นเพลงลูกทุ่งหรือเพลงป๊อปถึงจะอยู่ได้ พระเอกนางเอกลิเกพอรำได้สักพักก็ต้องถือขันขอเรี่ยไร ไม่มีคนไปให้พวงมาลัยติดแบงก์อย่างในอุดมคติอีกต่อไปแล้ว เราเห็นความจริงของสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณสอนเด็กน่ะ คุณแยกโลกของดนตรีไทยออกไปจากโลกของลูกทุ่ง ป๊อปและความเป็นจริง ต้องลองไปดูหัวใจของคนตีระนาดในเวทีลิเก ลองไปเก็บข้อมูลว่าดนตรีอยู่กับสังคมหรือผู้คนยังไง
วิธีการที่จะไปสู่ความรู้ แค่เดินไปบอกให้เขาเล่นให้ฟังมันไม่พอ มันต้องรู้จักภาษาของเขา มีวิธีการปฏิบัติต่อเขา เราควรเรียนรู้และฝึกคนรุ่นต่อๆ ไปที่จะมาเป็นอะไรสักอย่างที่ขุดเจอคุณค่าของดนตรีตรงนั้นตรงนี้ แชร์กับชาวบ้านหรือทำความเข้าใจกับมัน คนที่จะตีความได้ต้องมีเซนส์ของความเข้าใจมนุษย์ ความหลากหลาย หรือสิ่งที่เป็นเบื้องหลังชุดความคิดของเขา
บรรยากาศในห้องเรียนเป็นแบบไหน
คุยกันยกใหญ่ แล้วก็คุยกันนอกห้องเรียนด้วย เช่น เราเลคเชอร์กันเรื่องวันชาติจีนฉลอง 70 ปี จับประเด็นเรื่อง carnival culture เขียนบอกล่วงหน้าในเฟซบุ๊คว่า state theatre หรือเวทีนาฏกรรมที่รัฐเป็นผู้จัดการเป็นยังไง เด็กจะเอาข้อมูลเหล่านี้มาถกเถียงกันในห้องเรียน แล้วต่อกันได้อย่างสนุกนอกห้องว่าเราดูปรากฏการณ์สังคมที่จีนมาเหนือมากเลยเพราะจัดละครใหญ่ให้คนทั้งโลกดู ทุกอย่างต้องเตรียม ต้องมีวินัยในการซ้อม ต้องเป๊ะ มุมกล้องที่เห็นนี่คือมุมกล้องละคร ทุกมุมเป็นภาพจำได้หมดเลย เราใช้การวิพากษ์เปรียบเทียบและเชื่อมโยงว่าตกลง เชื่อไหมว่าคอมมิวนิสต์มีจริง มันคืออะไรกันแน่ ฉากของทหารที่เดิน มีประชาชน และมณฑลต่างๆ มาเต้นร่วมกัน ชวนเด็กๆ ดูว่าเขาหยิบอะไรมาอยู่ในริ้วขบวนเหล่านั้น จีนใช้องค์ประกอบเหล่านี้เป็นโค้ด สัญญาณ และเป็นโชว์ด้วย
นักศึกษามีพัฒนาการอะไรที่น่าสนใจอะไรในการเรียน รู้ได้อย่างไรว่าเขาเรียนได้ดีแล้ว
ถ้าตามฟอร์แมตการศึกษาคือการวัดผล บางทีก็สอบโดยให้คำช่วยเขียนคำถามให้หน่อย ชีวิตนี้นักศึกษาตอบกันมาเยอะแล้ว
เราเลยลองเปิดมิวสิควิดีโอหนึ่งแล้วบอกเด็กว่านี่คือคำตอบ ให้คุณตั้งคำถามให้เยอะที่สุด ปรากฏว่ามีคำถามที่น่าสนใจจากเด็กเยอะมาก เขาไม่ได้หยุดอยู่แค่ว่าเพลงนี้แปลว่าอะไร ที่ผ่านมาเขาต้องตอบตามสูตรสำเร็จ และเจ็บปวดกับเรื่องนี้มาตั้งแต่อนุบาล ประถม พอมาอยู่มหาวิทยาลัยแล้วยังต้องเขียนคำตอบที่ถูกต้องอีกหรือ เราจะไม่มีการสอบแบบนี้อีกต่อไป
แต่ถ้าไม่ตามฟอร์แมตก็คือเราถกนอกรอบกับเด็กทุกเย็น เลยรู้ว่าบทสนทนาที่คุยกันมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ดนตรีแบบใดแบบหนึ่ง แต่กว้างมาก อัพเดทกันได้ตลอดเวลา ไปค้นอะไรได้ก็มาแบ่งกัน ตั้งประเด็น แล้วเราก็เห็นเขาเป็นผู้ชมที่ดี นักศึกษาไปนั่งดูปี่พาทย์ประชันกันแต่เช้าในงานวัด แล้วคนคนเดียวกันวันรุ่งขึ้นเขาก็ไปอยู่ในเวทีดนตรีแจ๊ส เพราะเขาชื่นชมทั้งคู่ เขาอาจจะเป็นผู้ดูแลคุ้มครองดนตรีแบบไหนก็ได้ในอนาคต เมื่อก่อนนี้เราอาจจะต้องบังคับให้คนจงรักภักดีกับดนตรีบางประเภทเท่านั้น แต่เด็กพวกนี้ใจกว้างมากกว่าและมีเซนส์ในการสังเกตความเคลื่อนไหวของโลก
มีนักเรียนแบบอื่นไหมที่ต้องใช้การสอนที่แตกต่างออกไป
เคยไปเป็นพ่อแม่ให้เด็กในมูลนิธิเด็ก (Foundation for Children (FFC)) อยู่เป็นปีเลย เอาอังกะลุงใส่กระสอบเหมือนซานตาคลอสไปสอน เด็กพวกนี้คือเด็กที่ถูกทิ้งมาจากสลัมบ้าง โดนข่มขืนบ้าง เราเลยให้พวกเขาเล่นอังกะลุงกัน เพราะมันเล่นคนเดียวไม่ได้ เสน่ห์ของมันคือต้องรอกัน ให้เกียรติกัน แล้วก็ต้องมีสเปซ ผมเลือกอังกะลุงเพราะต้องการดึงเด็กที่เคยต่อยกัน จับกดน้ำกันมาก่อนมาเล่นดนตรีด้วยกัน พอเล่นซ้ำไปซ้ำมาจะเริ่มรู้แล้วว่าบทบาทหน้าที่ของตัวเองคืออะไร โน้ตกับเพลงชุดเดียวกัน พอไปอยู่ในตำแหน่งที่แตกต่าง เราสัมผัสถึงหัวใจของคนอื่นได้ แลกบทบาทเป็นคนนำและตามได้ แต่เราไม่ได้สอนเขานะว่า ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า….’ อะไร จากโน้ตกะพร่องกะแพร่ง มันจบลงด้วยเพลงที่ดีที่สุดที่เราเคยได้ยินมา แล้วเราคิดว่ามันคือรางวัลชีวิต เพลงที่เขาเล่นไม่ได้แสดงในคอนเสิร์ตที่เล่นให้ผู้ใหญ่ดู แต่เล่นหน้าแม่น้ำแควที่เคยจับกดน้ำกันมานี่แหละ
นอกจากงานสอน อาจารย์ยังทำวงดนตรีและงานคอนเสิร์ตด้วย?
โปรเจ็คต์ล่าสุดคือ ฟอร์มวงดนตรีเล็กๆ จาก 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนมาอยู่ด้วยกัน ชื่อวง C asean Consonant เกิดขึ้นมาได้จากประชาคมอาเซียน ที่เราวาดฝันว่าเราจะได้อยู่ด้วยกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง มันเป็นไปได้จริงหรือ เสาทางด้านสังคมวัฒนธรรมมันท่องด้วยปากอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีการเรียนรู้ที่ผู้ใหญ่ต้องเรียนกับเด็กด้วย ผมชวนเพื่อนที่เป็นครูดนตรีรุ่นเดียวกัน 10 ชาติจาก 10 ประเทศมาคุยกันว่าเราจะทำอย่างไรให้ดนตรีอาเซียนไปปรากฏอยู่ในโลกสมัยใหม่ได้ มีเยาวชนจาก 10 ชาติ ทั้งชายหญิง มีต่างศาสนา พุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู มาอยู่ในวงเดียว การแสดงดนตรีมีความยืดหยุ่นมาก ไม่จำเป็นต้องโชว์ออฟความเป็นชาติอยู่ตลอดเวลา เราปรับเปลี่ยนเสียงเพลงไปเป็นหลากสไตล์ ตั้งแต่พื้นบ้าน ไปจนป๊อป ร็อค บลูส์ จนถึง contemporary music ก็ทดลองกันมากมาย
โปรเจ็คต์ทดลองนี้นำไปสู่อะไร
โปรเจ็คต์นี้ผ่านมาแล้ว 3 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 แต่เดิมมีครูเพลงเรียบเรียงดนตรีให้เด็กเล่น ปีนี้เราทดลองให้เขาเขียนเพลงกันเอง และรู้สึกว่าเขาโตพอที่จะสอนเราแล้ว เราเรียนจากการที่เด็กกัมพูชามีบทสนทนากับเด็กไทย เขายอมรับนับถือกันได้ไหม
เราบอกเด็กๆ ว่าผมโตมาจากรุ่นที่สอนให้เกลียดเขมร เกลียดญวน โดยเฉพาะเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แล้วเราก็เรียนเรื่องพม่าเผากรุงศรีฯ เรียนเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งทั้งนั้นเลย เราลบประวัติศาสตร์เหล่านั้นไม่ได้ แต่เราสามารถที่จะ deconstruct มันได้ แล้วใช้วงดนตรีของเราพิสูจน์ว่าเพลงของพม่า ไม่ใช่เพลงแห่งความโหดร้ายรุนแรง เพลงของกัมพูชาก็อาจจะมีซาวด์ที่งามกว่าดนตรีไทยอีก
เราใช้กระบวนการเยอะมากที่จะทำให้เด็กในวงเข้าอกเข้าใจกัน ไม่ใช่แค่เล่นดนตรี เราช่วยกันระหว่างการเดินทาง กิน เล่น คุย ไปดูงานศิลปะด้วยกัน สร้างครอบครัวใหม่ซึ่งเป็นครอบครัวที่มีนักดนตรีที่มาจากภาษาที่ไม่เหมือนกัน แต่ว่าภาษาดนตรีมันคุยกันได้
เราใช้นักดนตรีเยาวชนเพราะจะไม่ค่อยมีม่านกั้นกัน ดีใจที่เห็นภาพคนดูรุ่นใหม่กับเด็กอาเซียนรุ่นใหม่เป็นเพื่อนกัน บางที่ที่ไปมี FC ซึ่งเราต้องสร้าง FC ไปพร้อมๆ กับการสร้างคุณภาพดนตรี และมีนิทรรศการทุกที่ที่ไป เครื่องดนตรีพวกนี้สามารถเล่าความเป็นประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์และเปิดโอกาสให้ศิลปะหลายแขนงมามีส่วนร่วม บางที่เราก็แจกสีแจกกระดาษให้ผู้ชมให้มีส่วนร่วมทางสังคม (social engagement) งานพวกนี้จึงกลายเป็นงานสดที่มีความทรงจำของผู้คน ดนตรีสามารถเป็นสิ่งที่ดึงคนมาทำกิจกรรมร่วมกันได้ตั้งหลายแบบ แต่เรามักจะคิดว่าการเรียนดนตรี ดนตรีต้องเป็นใหญ่เท่านั้น
อาจารย์คลุกคลีกับดนตรีพื้นบ้านมานาน แล้วมีความคิดเห็นในด้านของดนตรีป๊อปอย่างไร
ผมแฮปปี้และชื่นชมมาก อย่างดนตรีป๊อปเกาหลีคือดนตรีที่มีคุณภาพของการทำงานสูง นักร้องต้องมีวินัยสูงและต้องเสียสละเรือนร่างเพื่อที่จะต้องสวย การศัลยกรรมเข้ามามีบทบาท มีการสร้างคุณค่าความงามในลักษณะใหม่ มีอะไรให้เราเรียนรู้จากดนตรีป๊อปเกาหลีได้เยอะ เราไม่เคยคิดว่ามันจะทำให้วัฒนธรรมไทยอันแสนจะแข็งแรงมีความเสื่อมทราม ถ้าเห็นข้อดีของเขา มันจะพัฒนาสังคมการเรียนรู้ดนตรี ขับร้องเต้นรำของเราได้อีกเยอะ
สอนดนตรีป๊อปให้เด็กบ้างไหม
เยอะมาก ไม่ใช่แค่ตัวดนตรีป็อป แต่เป็นปรากฏการณ์ เช่น ล่าสุดผมเพิ่งจะเลคเชอร์เรื่องเพลงเลิกคุยทั้งอําเภอเพื่อเธอคนเดียว ในประเด็นลูกทุ่งในโลกที่เปลี่ยนแปลง ตอนนี้เขาพบรักกันที่เซเว่นอีเลฟเว่นแทนทุ่งนาแล้ว มีการใช้ดนตรี EDM เข้ามา นักร้องลูกทุ่งอย่างน้องกระแต อาร์สยาม ก็เป็นสาวชนบท และทำได้ดีไม่แพ้การเต้นเกาหลี เพลงของเขามีความประณีต สนุกมากและมีกราฟิกดี เมื่อวานนี้ผมพึ่งพูดถึงปรากฏการณ์ของเพลงสาวดอยคอยปี้ ซึ่งผมมองว่ามันคือดนตรีป๊อป แต่คนพยายามจะบอกว่ามันคือสิ่งที่ทำลายมาตรฐานเพลงลูกทุ่ง เพลงนี้เล่าเรื่องสาวเหนือที่แฟนจากไปไกล เมื่อไหร่จะกลับมาหาน้อง แต่พอคำว่าพี่ มันถูกร้องว่าปี้ โอ้โห วงการลูกทุ่งก็เดือดดาล
ผมจะมีตัวอย่างปรากฏการณ์ป๊อปคัลเจอร์ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมมาคุยกัน เช่น จัดทอล์คเรื่องเพลงประเทศกูมี แล้วเชิญ Liberate P (หนึ่งในศิลปินจากวง Rap Against Dictatorship) ถนอม ชาภักดี ที่เป็นนักวิจารณ์ศิลปะ และนักกฎหมาย มาถกกันว่าเนื้อหาในเพลงนี้ผิดกฎหมายข้อไหน (หัวเราะ)
เราเอาประเด็นสังคมมาเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ เพลงประเทศกูมีเป็นป๊อปคัลเจอร์ ลูกทุ่งก็เป็นป๊อปคัลเจอร์ แล้วมันก็เกิดมาเพื่อที่จะเป็นป๊อปคัลเจอร์นานแล้ว เพียงแต่ว่าเราเอาเขาไปขังไว้ในมนต์รักลูกทุ่ง แล้วไม่ให้เขาหายใจหรือเติบโตต่อ ปรากฏการณ์ของเพลงหรือดนตรีทำให้เราเรียนรู้ศิลปะของการต่อต้าน ถ้ามันดี มันแฮปปี้ก็ไม่ต้องต่อต้าน แล้วมันไม่ได้ต่อต้านด้วยตัวดนตรีอย่างเดียว แต่ด้วยการสนับสนุนดนตรีด้วย คือพอมีคนบอกว่าเพลงนี้ต้องถูกกำจัด ก็กลายเป็นว่าคนกดไลค์และแชร์ไป 40 ล้านวิว แบบนี้มันมหัศจรรย์เพราะเป็นพลังบริสุทธิ์ของผู้คน
การใช้ดนตรีเพื่อสอนแง่มุมทางสังคมกับเด็กสามารถนำไปสู่การเป็นมนุษย์ที่อยากทำความเข้าใจมนุษย์ได้ดีขึ้นไหม
ต้องสอนให้เห็นว่าภาษาดนตรีมันล้างกำแพงของภาษาที่คนใช้สื่อสารกัน และดนตรีไม่ได้มีความหมายแบบเดียว มันไม่ใช่แค่ภาษาสากล แต่เป็นภาษาของประวัติศาสตร์ที่สื่อสารเรื่องอารมณ์ความรู้สึกได้ ใช้เป็นเสียงแสดงอำนาจก็ได้
เช่น ระฆังเป็นเสียงบอกพื้นที่ของศาสนจักร จึงต้องสร้างระฆังให้สูงเพื่อให้รัศมีของเสียงไปไกลที่สุด หรือ ถ้าเรารู้เรื่องของฉิ่งดีพอ เราจะรู้ว่ามันผ่านยุคสัมฤทธิ์มา บ่งบอกได้ว่าเป็นภาษาของมนุษย์เก่าแก่ที่มีอารยธรรมย้อนไปถึง 2500 ปีเป็นอย่างน้อย ภาษาของความงดงาม ของการรัก โลภ โกรธ หลง ก็บอกได้ด้วยโน้ตเหล่านี้ ตีฉิ่งฉับบอกว่า ‘ฉันรักเธอ’ นี่ตีด้วยความรักก็ได้ หรือตีด้วยความโกรธ เกลียดก็ได้เหมือนกัน แล้วก็เข้าใจกันได้โดยที่ไม่ต้องเอ่ยคำว่ารักหรือคำว่าโกรธออกมา
เมื่อดนตรียังมีหลายความหมาย เพราะฉะนั้นการเสพและการทำความรู้จักมันก็เปิดพื้นที่ให้กับความแตกต่างได้ด้วย เราสามารถหยิบจับอะไรขึ้นมาเป็นตัวอธิบายก็ได้ในโลกของมานุษยวิทยาดนตรี เช่น ในยุคปัจจุบัน ผมเลคเชอร์เรื่องงานเพลงของ ปอยฝ้าย มาลัยพร เพราะมันเท่มากที่เขาเรียกร้องความเป็นกะเทยของอีสานผ่านบทเพลง หรือนักร้องที่อยู่ในแก๊ง sexy stars เราก็พยายามไปศึกษาดูว่าทำไมเขาถึงกลายเป็นเครื่องมือในโลกสมัยใหม่ เขาไม่ใช่แค่วัตถุทางเพศอย่างเดียวแต่มีอะไรที่น่าสนใจอีกเยอะ
ดนตรีที่คุยกันมาก็มีส่วนที่ยึดโยงกับคุณค่าของความเป็นดนตรี เราควรจะสอนเด็กให้เห็นคุณค่าของดนตรีไหม
เราควรให้ทางเลือกเยอะๆ ว่าเขาเข้าใจแบบไหน เข้าใจว่าครูในห้องเรียนอาจจะมีเวลาน้อยที่จะทำให้ 50-60 ชีวิตเข้าใจ เขาเลยต้องมีสรุป วัดผล และให้คะแนน แต่มันก็ช่วยให้คนทำมาหากินได้ ให้การเรียนการสอนดนตรีเป็นสิ่งที่เขาหมกมุ่นก็ดีเหมือนกันเพราะว่าใครจะมานั่งปั้นโน้ตให้ถูกต้องเป๊ะๆ ถ้าไม่ได้เรียนหรือทำวิจัย หรือคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของมันอย่างจริงจัง ถ้าไม่มีเขา ตำนานต่างๆ ของวงการดนตรีคลาสสิก แจ๊ส ร็อค ก็ไม่มีคุณค่า
ต้องอย่าลืมว่าดนตรีหรือเพลงเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เนี่ย (ตบมือ) มันเกิดขึ้นแล้วก็หายไป บอกได้ไหมว่าเมื่อกี้นี้โน้ตตัวอะไร แล้วเชื่อไหมว่าเมื่อกี้ผมเล่นดนตรี เห็นไหมว่ามันไม่มีหลักฐานเพราะมันหายไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้มันมีประวัติศาสตร์เกิดขึ้น ก็ต้องมีความพยายามทุกอย่างที่จะเล่าถึงมัน เช่น ได้ปรบมือเป็นบันไดเสียง C Major เมื่อปีนี้ วันนี้ สถานที่นี้ ทำให้การปรบมือมีคุณค่าขึ้นมา เหล่านี้ก็เป็นการสร้างคุณค่าหรือความทรงจำของสังคมผ่านการศึกษาค้นคว้าหรือการบันทึกถึง
ดนตรีจะสามารถสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายในสังคมได้อย่างไร
มันเป็นเสียงและพื้นที่ทางความคิดของความหลากหลาย แล้วก็มันอาจจะเป็นการทดลองว่าการส่งเสียงไม่ใช่แค่ชุดของภาษาปาก ชุดของตัวหนังสือมันยังมีความหมายอยู่ไหมในโลกสมัยใหม่ โลกในอดีต ตัวหนังสือมาทีหลังเสียง แล้วเราก็ไปคิดว่ามันคือสิ่งสำคัญจนกระทั่งคิดว่าประวัติศาสตร์จะเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์สร้างตัวอักษร แล้วก่อนหน้านั้นเราอยู่กันมายังไงล่ะ เสียงมันมาก่อน เราให้ความสำคัญกับชนชั้นที่มีรสนิยม บอกว่าคุณค่าของดนตรีคลาสสิกเป็นดนตรีที่งดงามบริสุทธิ์ เราเลือกเล่นดนตรีให้คนที่ใส่สูททักซิโด้ ซื้อตั๋วแพงๆ เท่านั้นหรือ เราจะเลือกปฏิบัติต่อมนุษย์บางจำพวกที่มีรสนิยมที่เราต้องการเท่านั้นหรือ
เบสิคของดนตรีคือมันอยู่ร่วมกันกับสังคมมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่บางยุคที่เราพัฒนาไปสู่ความเป็นศิลปิน อัตตาพรั่งพรูขึ้น กลายเป็นว่านักดนตรีกลายเป็นพระเจ้าที่อยู่กลางเวที แล้วเราก็ลืมไปว่าดนตรีมันมีความหลากหลายเหมือนชาติพันธ์ุ ภาษา ผู้คน มานุษยวิทยาทำให้เราเห็นว่าความหลากหลายของดนตรีเหมือนความหลากหลายของผู้คน และสอนให้เรายอมรับความหลากหลายเหล่านั้น
Fact Box – อานันท์เป็นผู้ก่อตั้งและสมาชิกวงกอไผ่ วงดนตรีร่วมสมัยที่เล่นตั้งแต่ดนตรีแนวแบบแผนไปจนถึงดนตรีโฟลค์-ป๊อป, ฟิวชั่นแจ๊ส และดนตรีทดลอง เดินทางไปเล่นในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน กัมพูชา มาเลเซีย ฯลฯ และเป็นสมาชิกวงฟองน้ำเพื่อส่งต่อดนตรีร่วมสมัยในแบบของอาจารย์บรูซ แกสตัน – เขาเป็นคนไทยคนเดียวที่เป็นสมาชิกกลุ่มศิลปะสร้างสรรค์ชื่อ I-Picnic ที่มีส่วนประกอบของนักแต่งเพลง ศิลปินวิดีโออาร์ตชาวญี่ปุ่น นักดนตรีด้นสด ผ่านการสนับสนุนจากมูลนิธิญี่ปุ่นให้ทัวร์สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยทั่วเอเชียและยุโรป – อานันท์บันทึกและเผยแพร่ดนตรีชาติพันธุ์ ดนตรีกะเหรี่ยง ดนตรีวณิพกทั่วไทย ช่างทำเครื่องดนตรี และวัฒนธรรมดนตรีที่น่าสนใจทั่วโลกผ่านหลายช่องทางทั้งการจัดรายการวิทยุ ห้องเรียนเพลงดนตรีอาเซียนในเฟซบุ๊ค หรือบทความวิจัยทางวิชาการด้านดนตรี เช่น บทความ The Central Region, The Tuning System of Folk Music in Thailand, Sonic Orders in ASEAN Musics (A Field and Laboratory Study of Musical Cultures and Systems in Southeast Asia) ที่สนับสนุนโดยทุนวิจัยอาเซียน ประเทศสิงคโปร์ อีกทั้งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย 14 โครงการที่หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โครงการอัครดุริยะศิลปินราชสดุดี 84 พรรษา – ตำแหน่งอาจารย์ก่อนหน้านี้คืออาจารย์สอนวิชาดนตรีที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และยังคงเดินทางศึกษาดนตรีทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง |