- เวทีที่สองของ #ครูขอสอน ตั้งคำถามสำคัญกับคนทั่วไปว่า “คุณมาโรงเรียนทำไม”
- คำตอบอันดับ 1 พบว่า พวกเขามาเพื่อเรียนรู้ พัฒนาร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา ส่วนเรื่องความรู้และวุฒิการศึกษา กลับหล่นลงไปเป็นอันดับรองๆ
- คำตอบดังกล่าว คือคีย์เวิร์ดของหัวข้อ “อนาคตที่อยาก การศึกษาที่อยากเป็น” ที่ชวนคุยในเวทีครั้งนี้
เวทีที่สองของ #ครูขอสอน* เครือข่ายครูที่ตั้งใจทำงานเป็นแกนกลางรวบรวมเสียงของครู นักเรียน ผู้ปกครอง-ในฐานะเจ้าของสิทธิใช้ประโยชน์จากแหล่งบ่มเพาะการศึกษาในรั้วโรงเรียน – ครั้งแรกพวกเขาจัดเวทีชื่อ ตั้งวงเล่า #1 เมื่อ ‘ครู’ ไม่ได้ทำหน้าที่ครู: เสรีนิยมใหม่ในโรงเรียนไทย (ดูเพิ่มเติมที่นี่) บอกเล่าเหตุผลภายใต้โครงสร้างสังคมที่ทำให้ครูไม่ได้สอนหนังสือ
แต่วันนี้ วันที่ 5 ตุลาคม 2562 ซึ่งตรงกับวันครูโลก (World Teachers’ Day) #ครูขอสอน ขอเปิดอีกหนึ่งเวที ชวนคุยกันในประเด็น ‘อนาคตที่อยาก การศึกษาที่อยากเป็น’ นำเสนอผลสำรวจความเห็นจากคนทั่วไปจำนวน 1,277 คน ในประเด็นความคาดหวังที่คนทั่วไปมีต่อโรงเรียนในอนาคต
รายชื่อวิทยากรบนเวที มีรายนามและนำพูดในประเด็นดังนี้
- ทักษิณ อำพิณ นักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม ในฐานะเสียงของนักเรียนจริงๆ
- กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาฟินแลนด์ในแง่ ‘ตัวอย่าง’ ของโรงเรียนที่ก้าวหน้าและสร้างกำลังของประเทศได้จริง ว่าเขามีวิธีการทำงานแบบไหน
- ครูทิว-ธนวรรธน์ วุวรรณปาล ครูโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง และ ครูพล–อรรถพล ประภาสโนบล ครูโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการปทุมธานี นำเสนอแบบสำรวจ ตัวแทนเสียงของครู และผู้ชี้ประเด็น ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ที่กำลังจะร่างขึ้น ว่าควรมีหน้าตาแบบไหน และข้อกังวลต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวคืออะไร
- ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 1 เป็นผู้ชวนคุยและนำบทสนทนา
เสียงคนทั่วไป “อนาคตที่อยาก การศึกษาที่อยากเป็น”
ครูทิว เปิดวงคุยด้วยการหยิบผลสำรวจจากครู นักเรียน ผู้ปกครอง และบุคคลในอาชีพอื่น จำนวน 1,277 คน ในประเด็นอนาคตการศึกษาแบบไหนที่พวกเขาอยากเห็น ครูทิวเริ่มด้วยคำถามว่า “เคยตั้งคำถามต่อตัวเองไหมว่ามาโรงเรียนไปทำไม” คำถามนี้ต้องการให้นัยยะว่า บุคคลทั่วไปคิดว่าบทบาทของโรงเรียนเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ใด หรือพูดให้ง่ายกว่านั้น “คุณมาโรงเรียนทำไม?”
โดยความคาดหวังต่อโรงเรียน เรียงตามอันดับดังนี้ (หนึ่งคน ตอบได้มากกว่า 1 คำตอบ คำตอบที่ได้จึงรวมกันแล้วเกิน 100 เปอร์เซ็นต์)
- 20%: เพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาตามกรอบที่สังคมกำหนด
- 41%: เพื่อมาอบรมจริยธรรม คุณธรรม เพื่อให้ได้รับการขัดเกลาตามกรอบสังคม
- 45%: เพื่อมารับการถ่ายทอดความรู้
- 45%: เพื่อฝึกฝนการอยู่ร่วมกับคนอื่น
- 46%: เพื่อพัฒนาตัวเองและเปลี่ยนแปลงสังคม
- 49%: เพื่อให้ผู้เรียนค้นพบตัวเอง
- 65%: เพื่อการเรียนรู้ พัฒนาร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา
โดย 41.45 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า โรงเรียนตอบสนองต่อสิ่งที่พวกเขาคาดหวังได้ในระดับ ‘ปานกลาง’ และหากดูจากกราฟจะพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามยังคิดว่า โรงเรียนตอบสนองความต้องการของพวกเขาในสัดส่วนที่ ‘น้อย’ อยู่
จุดนี้ ครูพล ตั้งคำถามว่า หากคนมองว่าการศึกษาที่มีอยู่ยังไม่เติมเต็มการเติบโตทั้งทางกาย จิตวิญญาณ และสมรรถนะของพวกเขา ต้องกลับมาถามตัวเองดังๆ กันแล้วว่า ทำไมการศึกษาจึงไม่สามารถพาเราไปถึงจุดนั้นได้
ครูพลบอกว่าเขาได้ยินเสียงของเด็กหลายคนที่เลือกเป็นตัวของตัวเองไม่ได้ เลือกทำตามความฝันของตัวเองไม่ได้ เพียงเพราะต้องทำตามแรงผลักของสังคม ต้องทำอะไรก็ตามเพื่อความอยู่รอดในชีวิต ณ เหตุการณ์ตรงหน้าก่อน แต่หน้าที่ของโรงเรียนในแง่การประกันสิทธิการเข้าถึงการศึกษาของผู้เรียน ต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้คนต้องเลือกระหว่าง ทำตามความฝันหรือสิ่งที่สังคมบอก จะเรียนหนังสือหรือออกไปทำมาหากิน หรือเงื่อนไขอื่นๆ
ส่งไมค์ต่อไปที่ ทักษิณ ในฐานะตัวแทนนักเรียน เขาให้ความเห็นส่วนตัวและเสียงจากเพื่อนนักเรียนใกล้ตัวเฉพาะประเด็น ทำไมการศึกษาจึงไม่ทำให้เขาพัฒนาตัวเองในทักษะที่เขาชอบและถนัดได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความคาดหวังของผู้คนรอบข้างที่คอยส่งเสียงและเลือกทางเดินให้เขาและเพื่อนหลายคน
ต่อมาเป็นเรื่องการประเมินผลโดยเฉพาะการตัดเกรด ทั้งที่เขารู้ชัดเจนว่าอยากเรียนต่อเพื่อทำงานในแวดวงไหน แต่เกรดบางตัวที่เขาไม่ถนัด (ซึ่งวัดผลจากการทำข้อสอบ) ทำให้เขาและเพื่อนหลายคนเลือกเรียนในกลุ่มหรือสายวิชาที่ไม่สามารถต่อไปยังคณะที่อยากเรียนได้
อันที่จริงประเด็นนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ ไม่ว่าพูดคุยกับคนในเจนเนอเรชั่นไหนเราก็ได้ยินเรื่องเล่าทำนองนี้ ที่ต้องถามมากกว่าคือ ทำไมมรดกแห่งสถานการณ์แบบนี้ ยังคงส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ไม่เคยหายไปสักที
“การศึกษาที่ไม่เปิดโอกาสให้เป็นตัวของตัวเอง ถ้าไม่ทำตามเงื่อนไขที่วางไว้ คุณก็จะไม่ได้ความรู้” ทักษิณขมวดประเด็น
กุลธิดา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการศึกษาฟินแลนด์ จับไมค์เพื่อขยายประเด็นว่าการศึกษาในประเทศโลกที่หนึ่งจัดการการศึกษาอย่างไร และอธิบายจาก พ.ร.บ.การศึกษาของฟินแลนด์ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ราวปี 1999 และยังคงใช้สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน ขั้นแรกเธอกล่าวว่า ใน พ.ร.บ.การศึกษาฟินแลนด์ เขียนไว้ทั้งแบบแคบและกว้าง คือ
แบบกว้าง – การศึกษาฟินแลนด์เขียนชัดว่าการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้อย่างมีมาตรฐาน และฟรี
แบบแคบ – หากเด็กที่บ้านอยู่ไกลจากโรงเรียนเกินรัศมี 5 กิโลเมตร โรงเรียนต้องจัดรถรับส่งให้นักเรียนคนนั้น
ทั้งหมดนี้มีรายละเอียดอีกมาก แต่เป็นสิ่งที่เธอตั้งคำถามและพยายามนำประเด็นนี้ไปสู่วงคุยของคนระดับนโยบายว่า ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาของไทยที่กำลังทำประชาพิจารณ์และร่างขึ้นอยู่นี้ เราจะลงรายละเอียดให้กว้าง และ แคบ ในประเด็นไหนและอย่างไร
อีกครั้ง – ทั้งหมดนี้มีรายละเอียดอีกมาก แต่ในโครงสร้างพื้นฐานการจัดการศึกษาฟินแลนด์ ประกอบไปด้วยจิ๊กซอว์ 3 ตัวที่ต่อกันสนิทคือ
ครูและคนในท้องถิ่นเป็นเจ้าของการศึกษา หนึ่ง-ออกแบบ หลักสูตร ของตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงตามมาด้วย สอง-ครูออกแบบการประเมิน ของตัวเองได้ เมื่อออกแบบการประเมินเองได้ แน่นอนที่สุด สาม-ครู ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ในห้องเรียนตัวเองอย่างอิสระเสรี
หลักสูตร การประเมิน และ การเรียนรู้ – นี่คือจิ๊กซอว์ 3 ชิ้นที่ต่อกันสนิท แต่ระหว่างรอยต่อของจิ๊กซอว์แต่ละชิ้น กุลธิดากล่าวว่า มันคือ ความเชื่อใจ เชื่อใจว่าจิ๊กซอว์ทั้ง 3 ชิ้นจะทำงานร่วมกันในการออกแบบวิธีการทำงานและกฎเกณฑ์ให้เอื้อต่อการสร้างสรรค์การเรียนรู้ของผู้เรียนจริงๆ ไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อจ้องจับคนผิด ลงโทษคนที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่งาน
ก่อนจบวงสนทนา ครูพล เป็นตัวแทนกลุ่มครูขอสอน ชวนทุกคนจับตาดูร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับดังกล่าวที่กำลังเตรียมปรับปรุงและดำเนินการพร้อมใช้ หนึ่งในเหตุผลที่ต้องจับตาคือ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมีสิ่งที่หายไปคือ ข้อความเกี่ยวกับการยืนยันสิทธิการเข้าถึงการศึกษาของผู้เรียน กลไกในการประกันสิทธิการศึกษาของผู้เรียนไม่ชัดเจน เครือข่าย #ครูขอสอน จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการรวบรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนและจะนำเสนอต่อคณะกรรมการร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวต่อไป
#ครูขอสอน เครือข่ายครูที่ตั้งใจทำงานเป็นแกนกลางรวบรวมเสียงของครู นักเรียน ผู้ปกครอง ในฐานะเจ้าของสิทธิใช้ประโยชน์จากแหล่งบ่มเพาะการศึกษาในรั้วโรงเรียนนี้ ทั้งหมดเพื่ออยากสื่อสารว่า หนึ่ง – ครูทุกคนหวังใจอยากทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี สร้างสรรค์ และทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อพัฒนามนุษย์คนหนึ่งให้เต็มพร้อมและเติบโตอย่างสุดความสามารถ แต่ด้วยโครงการการทำงานและภาระงานที่ท่วมท้น ดึงครูออกจากหน้าที่นั้นและไปโฟกัสกับการทำงานด้านเอกสาร ติดตามข้อมูลเรื่อง ‘เวลาของครูไทยหายไปไหน’ ได้ที่นี่ สอง – ครูขอสอนเชื่อว่า การศึกษาคือสิทธิที่ทุกคนต้องเข้าถึงอย่างเท่าเทียม เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐไม่อาจเพิกเฉย งานหลักของเครือข่ายกลุ่มนี้จึงระดมสรรพกำลังเพื่อชวนคนออกมาให้ความเห็นต่อ ‘ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.…’ และจับตามองว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเพิ่ม ลด เนื้อหาส่วนใด และจะยังเป็นไปเพื่อรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนหรือไม่ สาม – เพื่อให้หลักการในข้อสอง เป็นไปอย่างราบรื่นและอย่างมี ‘เสียง’ ของผู้คนจริงๆ ครูขอสอนจึงออกแบบการรับฟังเสียงที่ให้ได้เสียงของผู้คนที่หลากหลายไม่เพียงเฉพาะครู แต่คือผู้ปกครอง พ่อแม่ นักเรียน และบุคคลทั่วไปที่ต่างได้รับผลกระทบจากการศึกษา ให้เข้ามาร่วมวงและทำประชาพิจารณ์ย่อยๆ วิธีการมีทั้งเปิดรับผ่านแบบสอบถามออนไลน์ และพวกเขาตั้งใจจัดวงระดมความคิดในหลายๆ จังหวัด ติดตามความเคลื่อนไหวของพวกเขาได้ที่แฮชแท็ก #ครูขอสอน และในเพจหลักที่นี่ |