- เจลรักษาโรคขาแดงในกบจากสารสกัดน้ำนมราชสีห์ ผลงานที่ยอดเยี่ยมของ ฟ้า-อุ้ม-ฝ้าย ที่คิดค้นขึ้นเมื่อยังเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งช่วยกำจัดปัญหาโรคในกบ และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
- โดยทั้งสาม เริ่มต้นจากการฟุ้งไอเดียขึ้น จากนั้นลงมือทดลอง พัฒนา จนต่อยอดผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์
- นอกจากได้เปิดโลกของการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองในหลายๆ ด้านแล้ว ฟ้า-อุ้ม-ฝ้าย ยังใช้ผลงานนี้เป็นใบเบิกทางไปสู่อนาคตทางการศึกษาที่ดีได้ด้วย
หลายครั้งที่นวัตกรรมดีๆ เกิดจากแรงบันดาลใจง่ายๆ ที่ถูกคิดบนฐานความจริง เช่น ผลงาน BIOTREAT ของสามสาว ฟ้า-ทิฆัมพร วงษ์วาสน์, อุ้ม-สินีกานต์ เจริญโสภารัตน์ และ ฝ้าย-อริสา รัตนวัน ขณะที่ยังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนมัญจาศึกษา จังหวัดขอนแก่น
เริ่มค้นแค่ความคิดอยากนำวัชพืช (ที่เคยถูกทิ้ง) จากแปลงสวนของพ่อแม่ไปทำประโยชน์เพิ่มเติม พัฒนามาเป็นผลงาน ‘เจลรักษาโรคขาแดงในกบจากสารสกัดน้ำนมราชสีห์‘ ที่ช่วยกำจัดปัญหาโรคในกบ ผลลัพธ์ทางตรงคือเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และทางอ้อมคือเปิดเส้นทางชีวิตให้แก่ฟ้า อุ้มและฝ้าย
จากไอเดีย สู่ห้องแล็บ
Quote คำในโลกออนไลน์ มักนำประเด็นเรื่อง ‘จินตนาการสำคัญกว่าความรู้’ ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ มาผลิตซ้ำอยู่เสมอๆ ทั้งที่ในความจริงของบริบทที่ไอน์สไตน์พูดนั้น ความรู้และจินตนาการจะต้องไปควบคู่กัน และเมื่อเรายังไม่มีความรู้มารองรับจินตนาการ เราก็ต้องทำวิจัยเพื่อผลิตสร้างความจริงมาพิสูจน์จินตนาการนั้น เหมือนที่ฟ้าและเพื่อนทำ
“หลังจากเราได้ main idea แล้ว เราก็เอาไปคุยกับอาจารย์ ว่าอยากลองนำวัชพืชมายับยั้งแบคทีเรีย อาจารย์จึงไปขอใช้ห้องแล็บปฏิบัติการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เพื่อใช้ในการทดลอง”
จากไอเดียที่ลอยฟุ้ง เมื่อถูกนำเข้าสู่กระบวนการวิทยาศาสตร์ ความรู้ก็เริ่มบังเกิด จากวัชพืช 7 ชนิดที่ทั้งสามไม่เคยรู้จัก ไม่ทราบสรรพคุณ การทดลองทำให้ทั้งสามค้นพบสรรพคุณการยับยั้งแบคทีเรียของต้นน้ำนมราชสีห์ และต่อยอดความรู้ไปสู่เป้าหมาย นั่นคือการนำสารสกัดจากน้ำนมราชสีห์ไปทดลองยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในพืชและสัตว์ โดยทำเป็นสารสกัดหยาบฉีดพ่นรักษาโรคเหี่ยวเขียวในพืช และทดลองสังเคราะห์อนุภาคนาโนซิลเวอร์จากต้นน้ำนมราชสีห์ เพื่อรักษาโรคขาแดงในกบ ซึ่งผลการทดลองออกมาน่าพึงพอใจ แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้น คือความรู้ที่เกิดจากการทดลองทำ
“ตอนแรกพวกหนูไม่มีความรู้อะไรเลยค่ะ (หัวเราะ) ไม่รู้ด้วยว่าต้นนี้ชื่อน้ำนมราชสีห์ เริ่มแรกก็ไปสุ่มว่าในไร่ มีวัชพืชอะไรบ้างที่ขึ้นเหมือนกัน แล้วก็เอามาทดสอบว่ายับยั้งแบคทีเรียได้ไหม พอพบว่าน้ำนมราชสีห์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้โดดเด่นที่สุด พวกหนูเลยเลือกตัวนี้มาต่อยอด” ฟ้าเล่าด้วยรอยยิ้ม
ก่อนจะพบว่า หากการทดสอบเพื่อสร้างความรู้ว่ายากแล้ว การพัฒนาความรู้ไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์นั้นยากกว่าอีกหลายเท่าตัว
เพื่อให้เยี่ยม! จึงต้องยาก
ฟ้าและเพื่อนส่งผลงานเข้าประกวด YSC 2017 และได้เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ แต่ด้วยความอยากเห็นผลงานของพวกตนถูกพัฒนาขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริงและใช้ได้ดี พวกเธอจึงเข้าร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 5 และก็ไม่ผิดหวัง เมื่อคำแนะนำจากกรรมการและทีมโค้ช นำมาซึ่งการทดลองและพัฒนาผลงานอีกถึง 5 เวอร์ชั่น
นับจากเวอร์ชั่นแรก ที่ทีมใช้อนุภาคนาโนซิลเวอร์ขนาด 15-23 นาโนเมตรเป็นส่วนประกอบหลัก ผสมด้วยคาร์โบพอล (สารก่อเจล) ทำให้ได้เจลที่มีความเข้มข้น 50 ไมโครกรัม ซึ่งยังไม่เสถียร ทีมจึงต้องกลับสู่ห้องแล็บเพื่อหาสูตรที่ลงตัวขึ้น ซึ่งไม่ยาก…แต่ก็ไม่ง่าย
“ตอนสังเคราะห์นาโนมันไม่ได้ยากค่ะ แต่การจะควบคุมความเข้มข้นให้ได้มันต้องทำหลายครั้ง เพื่อให้มันหนืดพอที่จะติดอยู่กับขากบได้ ซึ่งพอทำครั้งหนึ่งไม่ได้เราก็ต้องทำใหม่กว่าจะได้ ตอนทำเจลเราทำ 3 สูตร ต้องทดสอบอยู่นานกว่าจะควบคุมความเข้มข้นของเจล และความสะอาดเวลาบรรจุได้” ฟ้าเล่าถึงกระบวนการ
และเมื่อคิดจะพัฒนาผลงานเพื่อจำหน่าย ตัวผลิตภัณฑ์อย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ แต่ต้องมีบรรจุภัณฑ์เข้ามาเสริมด้วย เวอร์ชั่นที่ 2 และ 3 ของ BIOTREAT นอกจากการพัฒนาสูตรเจลให้เสถียรแล้ว การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ใช้ง่ายสำหรับเกษตรกรก็เป็นอีกงานที่ฟ้าและเพื่อนต้องกุมขมับ
“มันยากค่ะในการคิด packaging เพราะตอนแรกพวกหนูคิดว่าเอาที่สบายเรา เป็นเจลในกระปุกหรือสเปรย์ก็ได้ แต่ถ้าเรามองไปที่เกษตรกรที่เขาใช้จริง เวลาเปิดกระปุกเจลเขาสะดวกไหม? เราจึงต้องคิดให้เกษตรกรสะดวกสบายที่สุด ไม่ใช่แค่สบายเรา แต่เขาใช้งานไม่สะดวก” ฟ้ากล่าวกลั้วหัวเราะ
กระทั่งบรรจุภัณฑ์เข้าที่เข้าทาง งานต่อไปในเวอร์ชั่นที่ 4-5 ก็คือ การตรวจสอบความปลอดภัยของเจล ที่มีต่อระบบนิเวศและความปลอดภัยต่อเซลล์ไลน์ (Cell Line) ของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นความยากยิ่งกว่า แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ทั้งสามได้เรียนรู้ในสิ่งที่พวกเธอไม่เคยสัมผัสมาก่อน
“ก่อนหน้านี้เราไม่รู้ว่าเมื่อเจลละลายไปกับน้ำ แล้วน้ำถูกปล่อยออกไปจะส่งผลต่อระบบนิเวศรอบข้างไหม รวมไปถึงพี่ๆ โค้ชและกรรมการแนะนำว่า เจลเราใช้กับกบ แล้วคนมากินกบ อาจจะเกิดผลข้างเคียงอะไรไหมเราไม่รู้ เพราะฉะนั้นต้องทำให้ปลอดภัย ซึ่งการทดสอบความเป็นพิษต่อระบบนิเวศ เราต้องเลี้ยงกุ้งฝอย ซึ่งเลี้ยงยากมาก (ลากเสียง) เพราะกุ้งฝอยเซนซิทีฟมาก ถ้าปล่อยไว้นานไม่มีออกซิเจนกุ้งจะน็อคน้ำ พวกหนูทำตรงนี้เยอะมาก หลายครั้งมาก เป็นเดือนกว่าจะได้ ส่วนการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติ อาจารย์ก็ช่วยประสานส่งไปทดสอบที่ห้องปฏิบัติการ (Lab) ขั้นที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ค่ะ” ฟ้าเล่า
และไม่ใช่เพียงความยากของเนื้องานเท่านั้น แต่รวมไปถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ทั้งการทำงานเป็นทีมและเวลาในการทำงาน ที่ต้องอยู่ทำจนดึกดื่น ไม่ได้กลับบ้านกันเป็นเดือนๆ ด้วย
“ในทีมไม่ได้แบ่งหน้าที่กันชัดเจน เรียกว่าช่วยกันทำค่ะ ก็มีทะเลาะกันบ้าง ซึ่งไม่ใช่จากงาน แต่ก็ทำให้แทบจะยกเลิกงานทุกอย่าง จนอาจารย์ต้องมาช่วยเคลียร์ อาจารย์พูดมาประโยคเดียวว่า เราอยู่ด้วยกันมาตั้ง 3 ปีนะ ที่อาจารย์พูดทำให้เรากลับมาทำงานกันต่อ เพราะพวกหนูเห็นมาตลอด 3 ปีว่าอาจารย์ทุ่มเทกับงานมาก ถ้าจะต้องนำเสนอก็จะซ้อมอยู่ด้วยตลอดคืน เสาร์อาทิตย์พาไปทำแล็บ พาไปลงพื้นที่ ค่าใช้จ่ายอาจารย์จะจ่ายให้ตลอดด้วยเงินส่วนตัว ถึงทะเลาะกันเราก็คืนดีกันเพราะอาจารย์ค่ะ” ฟ้าเล่าด้วยรอยยิ้ม
อาจารย์จึงเป็นปัจจัยเสริมแรงที่สำคัญของฟ้า-อุ้ม-ฝ้าย ที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้ทั้งสามข้ามพ้นความยากไปสู่การพัฒนาผลงานจนสำเร็จได้
เพราะยากมาก จึงเติบโต
กล่าวได้ว่ากระบวนการพัฒนา BIOTREAT นี้ข้ามพ้นไปจากการทำโครงงานระดับนักเรียน เพราะต้องอาศัยความรู้ด้านการตลาดและการทดสอบผลทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง แต่ก็เพราะความยากนี้เอง ที่ช่วยพัฒนา ฟ้า-อุ้ม-ฝ้าย ให้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด
การทำโครงงานช่วยสอนให้เราคิดเป็นระบบมากขึ้น รู้ว่าต้องทำอะไรก่อน-หลัง ทำแบบนี้ได้ผลแบบไหน และจะทำอะไรต่อไป
“ถ้าเราเอาน้ำนมราชสีห์มา เราต้องสกัดก่อน เอามาระเหย ทำตามขั้นตอนไปเรื่อยๆ ทำให้เราไม่คิดสะเปะสะปะ ซึ่งมันช่วยในการใช้ชีวิตด้านอื่นด้วย เช่น แบ่งเวลาทำการบ้าน หรือช่วยเพื่อนวางแผนการทำงานได้ เช่น กิจกรรมรับน้องของโรงเรียน ตอนไปซื้อของก็มีการวางแผนว่า ไปร้านนี้ก่อน แล้วค่อยไปร้านนี้ เมื่อก่อนก็จะขับรถวนไปเรื่อยๆ” อุ้มหัวเราะท้ายประโยค
“หรืออย่างการนำเสนอ เมื่อก่อนจะพูดไปเรื่อยๆ ตอนนี้จะมาไล่ลำดับการนำเสนอ เน้นจุดที่สำคัญ ถ้าอยากให้เกษตรกรใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา เราต้องพูดจาหว่านล้อมให้เขาเห็นจุดเด่นผลิตภัณฑ์ของเรา ซึ่งการนำเสนอมันเป็นการฝึกมนุษยสัมพันธ์ของเราไปโดยปริยายค่ะ อย่างเมื่อก่อนหนูมนุษยสัมพันธ์แย่มาก (ลากเสียง) แต่พอมาต่อกล้าฯ ทำให้รู้ว่ามนุษยสัมพันธ์สำคัญ ทำให้เรามีเพื่อนใหม่ๆ มีคอนเนคชั่นที่ดี รู้จักวิธีประสานงาน การพูดคุยกับผู้ใหญ่ และทำให้เราได้รับมุมมองดีๆ กลับมา เช่น เวลาทำงานพี่ๆ โค้ช ก็จะแนะนำให้เราปรับแก้จุดนั้นจุดนี้ ทำให้เราฉุกคิดว่าทำไมเรามองข้ามตรงนี้ไป ทำให้เราได้บทเรียนว่า เวลาทำอะไรสักอย่างในชีวิต เราต้องมองหลายๆ มุม ไม่ใช่มองด้านเดียว ทำให้เรามีมุมมองกว้างขึ้นค่ะ” ฟ้ากล่าว
และเหนืออื่นใด คือ มุมมองในการพัฒนาผลงานบนฐานของความต้องการของผู้ใช้จริง ซึ่งทั้งสามได้รับมาอย่างเต็มที่
“ปกติเวลาทำงานอะไรสักอย่าง เราจะมองตัวเองเป็นหลัก เอาที่เราคิดว่าดี แต่ต่อกล้าฯ มีเวิร์คช็อปที่ทำให้เราได้มองเห็นผลงานของเราในมุมที่เราไม่เคยคิดจะมองค่ะ เราไม่เคยคิดว่า ถ้าเราเป็นเกษตรกรเราจะกล้าใช้ผลิตภัณฑ์นี้ซึ่งมาจากงานของนักเรียนไหม ต่อให้เราไปบอกเขาว่าดีอย่างไรเขาก็ไม่ใช้อยู่ดี โครงการนี้ทำให้เราเห็นว่า เราต้องหาวิธีการให้เขาพอใจกับผลิตภัณฑ์ของเรา” ฟ้าเล่าถึงกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการนำผลงานเวอร์ชั่น 6 ไปให้เกษตรกรตัวจริงลองใช้ และเก็บข้อมูลกลับมาพัฒนางานต่อ
ซึ่งนอกจากอาจารย์ที่ปรึกษาทั้ง 2 ท่านแล้ว ทีมโคชก็มีบทบาทอย่างมากในการช่วยหนุนเสริมการทำงานและการพัฒนาตัวตนของทั้งสามสาว
“พี่ๆ ทุกคนทุ่มเทให้พวกหนูมากๆ ค่ะ เหมือนพี่เขาไม่ได้คิดว่ามันเป็นงาน เป็นหน้าที่ ที่ทำแล้วจบ แต่คอยช่วยพวกหนูในทุกๆ ช่วงที่มีปัญหา พี่เขาให้คำแนะนำได้ทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องผลิตภัณฑ์ แต่รวมถึงการใช้ชีวิต เป็นเหมือนครอบครัว เหมือนพี่สอนน้อง เรามาอยู่ในต่อกล้าฯ ที่เป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ที่สามารถปรึกษาได้ทุกเรื่อง พี่เขาพร้อมให้คำแนะนำเรา แค่เรากล้าที่จะเข้าไปขอความช่วยเหลือเท่านั้น” ความรู้สึกจากฝ้าย
ผลลัพธ์ของการทำงานหนัก
ถึงวันนี้ ที่ BIOTREAT ถูกพัฒนาไปถึงขั้นที่สามารถใช้งานได้จริง มีบรรจุภัณฑ์ มีแบรนด์ และโลโก้สำหรับการต่อยอดเชิงพาณิชย์ รวมไปถึงกำลังดำเนินการจดสิทธิบัตร วันนี้มีผู้มายื่นข้อเสนอขอซื้อลิขสิทธิ์ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายต่อเรียบร้อยแล้ว
แน่นอนว่าพวกเธอในฐานะผู้พัฒนาผลงานย่อมภาคภูมิใจกับผลสำเร็จนี้อย่างมาก
“พวกหนูนึกถึงวันแรกที่เข้าโครงการต่อกล้าฯ มา คือเรายังไม่มีอะไรเลยจริงๆ จนพี่ๆ โคชให้คำแนะนำมาเรื่อยๆ จนมาเป็นผลิตภัณฑ์นี้ รู้สึกภูมิใจมากค่ะ” อุ้มกล่าว
“ตอนแรกคิดแค่รักษาโรคขาแดงในกบได้ก็จบแล้ว แต่ตอนนี้มันมาเกินเป้าเยอะมาก เราพอใจที่มีแบรนด์ มีโลโก้ของเรา เราสามารถแตกไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้ เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีความสะดวกมากขึ้น” ฟ้าเล่าอย่างมีความสุข
“ไม่คิดว่ามันจะมาไกลขนาดนี้ จนวันสุดท้ายที่จะได้มาโครงการฯ รู้สึกว่า เราอยู่มา 9 เดือนแล้วหรือ เราทำตัวเจลนี้ 9 เดือนเลยนะ เราเหนื่อยมาเท่าไหร่ มันทำให้หนูภูมิใจมาก สามารถยื่น portfolio เรียนต่อได้ มีผลงานที่กำลังจะจดสิทธิบัตร ตอนทำงานยอมรับว่าเหนื่อยมาก แต่พอมองย้อนไปเรากลับคิดถึงมัน มันก็ไม่ได้เหนื่อยนี่ รู้สึกหายเหนื่อย แต่มันกลายเป็นความภูมิใจ” ฝ้ายเล่าพร้อมรอยยิ้ม
เพราะการพัฒนาผลงานในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ทั้งสามได้เปิดโลกของการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองในหลายๆ ด้านแล้ว ตัวผลงานก็ยังสามารถใช้เป็นใบเบิกทางไปสู่อนาคตทางการศึกษาที่ดีให้แก่ทั้งสามได้อีกด้วย โดยฟ้าได้ศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์ (เคมี) มหาวิทยาลัยขอนแก่น อุ้มศึกษาต่อในคณะเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น และฝ้ายได้เลือกทั้งคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยบูรพา
“มีช่วงที่ทำงานหนักๆ ไม่ได้กลับบ้านเป็นเดือน ไปอยู่บ้านอุ้มกัน เพราะบ้านอุ้มอยู่หลังโรงเรียน ต้องทำแล็บเก็บผลตลอดในช่วงแรก ต้องทดลองทำอยู่ที่โรงเรียนทั้งวันทั้งคืน พ่อแม่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำงานเหนื่อยขนาดนี้ แต่พอวันนี้หนูยื่นผลงานเข้าคณะที่อยากเรียนได้ ทำให้เขารู้ว่า นี่คือความพยายามของลูกฉันที่ทำมาตลอด 3 ปี” ฟ้ากล่าวอย่างภาคภูมิใจ และแน่นอนว่า ใบเบิกทางสู่รั้วมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ คือก้าวสำคัญที่ดึงทั้งสามสาวเข้าใกล้ความฝันไปอีกขั้น
“หนูชอบชีวะ แล้วหนูก็ได้สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร ซึ่งเรียนชีวะเยอะมาก หนูชอบ และอยากจะเป็นนักวิจัยหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยต่อไปค่ะ” อุ้มกล่าว
“ส่วนหนูอยากเป็นนักวิชาการสาธารณสุข อยากทำงาน สสอ. อยู่อนามัยชุมชน มีความสุขกับงานที่ทำ สิ่งที่เรียนมา และสามารถเลี้ยงดูแม่ได้ค่ะ” ฝ้ายเผยความฝันอย่างชัดเจน
“ที่บ้านปลูกฝังให้เป็นข้าราชการค่ะ แต่ตอนนี้อยากเป็นเจ้านายตัวเอง (หัวเราะ) อยากเปิดฟาร์ม เลี้ยงทุกอย่างที่อยากเลี้ยง ปลูกทุกอย่างที่อยากปลูก ยิ่งมาโครงการนี้ ได้ทำงานนี้ หนูยิ่งอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากบริหารจัดการตัวเองได้” ฟ้าจบประโยคด้วยรอยยิ้มกว้างขวาง
ทั้งหมดคือผลพวงแห่งความสำเร็จที่เกิดมาจากการทำงานหนัก เปรียบได้กับการแบกภาระหน้าที่เดินขึ้นยอดเขา ซึ่งแม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อล้าเพียงใด แต่เมื่อฝ่าฟันอุปสรรคและความเหนื่อยยากไปจนถึงยอดได้ ความสวยงามย่อมปรากฏตรงหน้า
เป็นความสวยงามที่นอกจากผลงานนั้นจะช่วยแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรได้จริงแล้ว ผลดังกล่าวยังสะท้อนกลับมาหนุนเสริมความก้าวหน้าในชีวิตของทั้งสามสาวได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย