- เรื่องเล่าจาก วิรตี ทะพิงค์แก นักเขียน นักเล่าเรื่อง และบรรณาธิการอิสระ ที่ควบตำแหน่งแม่ของลูกชายวัย 10 ขวบ ช่วยถ่ายทอดวิชาแม่ให้เตรียมตัวตั้งหลักก่อนลูกถึงวัยพรีทีน
- pre-teen คือช่วงเวลาก่อนลูกจะเป็นวัยรุ่น ซึ่งเกิดขึ้นกับเด็กแต่ละคนในช่วงอายุไม่เท่ากัน เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของลูกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนบางอย่างในร่างกาย
- อย่าผูกตัวเองไว้กับการเป็นแม่เพียงอย่างเดียว,จัดระยะความไว้ใจใหม่, เปลี่ยนความสัมพันธ์เป็นแนวราบ, ฝึกจิตใจให้เป็นผู้เริ่มต้น,ระลึกว่าชีวิตเป็นของลูก นี่คือ 5 วิธีเตรียมพร้อมรับมือลูกพรีทีน
ทันที่รู้ว่ามีชีวิตน้อยๆ อยู่ในท้อง แม่ทุกคนตื่นเต้นและฝันจะเลี้ยงลูกให้ได้ดีที่สุดด้วยกันทั้งนั้น แต่ความยากของการเป็นแม่คือ ไม่เคยมีโรงเรียนไหนสอน ‘วิชาแม่’ มาก่อนในชีวิต ความเป็นแม่คือสิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้าอย่างที่คนไม่ได้มีความรู้ หรือหากจะมีอย่างเต็มที่ ก็คือประสบการณ์ในวัยเยาว์ที่ตัวเองได้เติบโตมา… ก็เท่านั้นเอง
ฉันเคยทำงานเป็นนักเขียนอยู่ที่นิตยสารชื่อดังแห่งหนึ่ง ตอนนั้นบริษัทกำลังโปรโมทให้เป็นผู้บริหาร แต่เพราะคิดว่าอยากมีครอบครัวที่มีเวลาอยู่ด้วยกันใกล้ชิดทั้งแม่ลูก ฉันเลือกหันหลังให้การเติบโตทางการงานแล้วย้ายกลับมาอยู่บ้านที่ต่างจังหวัดเพื่อมีชีวิตครอบครัวเรียบง่าย แต่ชีวิตการเป็นแม่นั้นไม่ง่ายอย่างที่คิดเลย
บทเรียนแม่ ที่โรงเรียนไหนๆ ก็ไม่ได้สอน
ตั้งแต่ลูกเกิดมา ฉันไม่เคยได้นอนเต็มอิ่มเลยสักคืน ลูกเป็นเด็กที่ค่อนข้างตื่นตัว นอนน้อยมากทั้งกลางวันและกลางคืน ต้องอุ้มอยู่เสมอ ที่สำคัญคือไม่ยอมให้ใครอุ้มเลยนอกจากแม่ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุผลที่ฉันเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือเปล่า ลูกจึงติดแม่มากถึงขีดสุด ฉันเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยกินจากเต้า ไม่ได้ปั๊มนมใส่ขวด และให้ลูกกินนมแม่จนถึงอายุ 3 ปี (หมายถึงกินอาหารตามวัยตามปกติ เพียงแต่เวลานอนยังกินนมแม่เวลาตื่น)
ข้อดีของการเลี้ยงลูกด้วยตัวเองโดยไม่มีพี่เลี้ยงเลยคือ เราได้เห็นพัฒนาการลูกอย่างชัดเจน ฉันส่งเสริมให้ลูกคุ้นเคยกับหนังสือตั้งแต่ยังเล็ก หาซื้อหนังสือผ้าที่ฉีกไม่ได้มาให้เขาเล่น อ่านหนังสือให้ฟังก่อนนอนทุกคืน คุยกับลูกตลอดเวลา สิ่งที่เห็นได้ชัดคือลูกมีพัฒนาการดีมาก เร็วมาก โดยเฉพาะการพูด เขาพูดได้เร็ว พูดชัด คือพูดเป็นคำที่มีความหมายได้ตั้งแต่อายุ 9 เดือน พูดเป็นประโยคได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี 2 เดือนพร้อมๆ กับที่วิ่งเล่นได้ไกล
ขณะที่เด็กหลายคนในวัยนี้ยังเพิ่งเริ่มตั้งไข่ เราเห็นพื้นนิสัยของลูก คือเป็นเด็กที่เรียนรู้ได้เร็ว อยากรู้อยากเห็น สนใจเรื่องกลไกต่างๆ ชอบลงมือทำ มีความโดดเด่นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ หยิบนั่นมาประกอบนี่ เป็นเด็กที่มีความโดดเด่นในการเรียนรู้ผ่านการใช้ร่างกายที่ชัดเจนมาก การมองเห็นบุคลิกลักษณะของลูกได้อย่างลึกซึ้งเป็นภาพสะท้อนของการมีเวลาดูแลลูกอย่างดีด้วยคุณภาพ ทำให้เราซึมซับทุกรายละเอียด
ไม่แปลกที่แม่จะเป็นเหมือนทุกอย่างในโลกใบนี้ของลูก และลูกก็เป็นเหมือนทุกอย่างในโลกใบนี้ของแม่ด้วยเช่นกัน
เด็กทุกคนเกิดมาเพื่อเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง
แต่แล้วความสั่นคลอนก็เริ่มมาเยือน
โดยปกติแล้วเด็กเล็กช่วงอายุ 0-7 ปี จะเป็นช่วงที่ติดแม่มาก อันนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแม่เป็นแหล่งพึ่งพิงทั้งทางกาย (กินนม) และใจ (ความรู้สึกไว้วางใจมนุษย์และโลก) ช่วงขวบปีแรกของทารกเป็นช่วงเวลาการสร้างความรู้สึกไว้วางใจโลก (trust & attachment) ช่วง 1-3 ปี เป็นช่วงเวลาของการสร้างตัวตน (self) ช่วงวัย 4-6 ปี เป็นช่วงของการริเริ่มสิ่งใหม่ (self -esteem) หลังจากนั้นคืออายุ 7-14 ปี เด็กจะต้องเริ่มสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมาใหม่โดยไม่พึ่งพิงกับแม่อีก เพื่อพิสูจน์ความสามารถในการควบคุมตนเอง (self-control) ในกรณีเด็กหญิง แม่อาจเห็นความเปลี่ยนแปลงไม่ชัดเจนนัก (เพราะเด็กผู้หญิงจะยังมีแม่เป็นแบบอย่างไปอีกหนึ่งช่วงวัย) แต่สำหรับฉันที่มีลูกชาย การเปลี่ยนแปลงนี้มันเข้ามาเร็วมากจนเราไม่ได้ตั้งตัว
คำว่า pre-teen หรือช่วงเวลาก่อนเป็นวัยรุ่นเกิดขึ้นกับเด็กแต่ละคนในช่วงอายุไม่เท่ากัน ทั้งแนวคิดแบบวอลดอร์ฟเชื่อว่าวัย 9 ปี จะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของลูกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนบางอย่างในร่างกาย เขาจะเริ่มพยศ ต่อต้าน ไม่เหมือนลูกคนเดิมแบบที่เราคุ้นชินอีกต่อไป (แต่ก็ไม่ได้แปรปรวนถึงขั้นระดับวัยรุ่น) ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่ได้เตรียมใจรับรู้หรือรับมือกับเรื่องเหล่านี้มาก่อน
ฉันเองรู้สึกถึงความดื้อ ต่อต้านเล็กๆ จากลูกมาตั้งแต่ 7 ปี และพยายามทำความเข้าใจเพื่อปรับตัว เราสัมผัสได้ถึงความต้องการเป็นตัวของตัวเอง การต้องการระยะห่างจากแม่มากขึ้น และความอยากเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นในตัวเขา บทเรียนแรกที่ฉันเรียนรู้คือ ลูกไม่ยอมให้กอดหรือหอมแก้มก่อนเข้าห้องในโรงเรียนอีกแล้ว เขาจะรู้สึกเขินๆ ที่แม่ยังทำเหมือนเขาเป็นเด็กต่อหน้าสาธารณชน แต่ถ้าเป็นการกอดหรือหอมกันแบบส่วนตัว เขาก็ยังเต็มใจให้ทำอยู่
อย่างไรก็ตาม ความต้องการการเป็นตัวของตัวเอง ระยะห่าง โดยเฉพาะการต้องการตัดสินใจด้วยตัวเอง ทำอะไรบางอย่างในแบบที่ไม่ต้องเชื่อฟังแม่อีกต่อไปแล้ว จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่จะเรียกการไม่เชื่อฟังนี้ว่าดื้อ แต่จริงๆ แล้วลูกแค่กำลังพยายามพิสูจน์การเป็นมนุษย์ที่โตขึ้นอีกขั้นหนึ่งด้วยตัวเองอยู่
ฉันกับลูกทะเลาะกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะลูกไม่อยากเชื่อฟังแม่ บางครั้งลูกก็อยากไปใกล้ชิดกับพ่อมากกว่า (เป็นไปตามวัยที่เด็กผู้ชายจะเริ่มเรียนรู้ความเป็นผู้ชายจากพ่อ) เรารู้สึกโดดเดี่ยว ถูกทิ้ง ไม่มีความสำคัญ ยิ่งเราอยากควบคุมทุกอย่างให้เป็นเหมือนเดิมมากเท่าไร เรายิ่งสัมผัสได้ถึงความรู้สึกต่อต้านจากลูกมากขึ้นเท่านั้น
และนี่คือจุดแตกหักที่เปราะบางมากสำหรับคนเป็นแม่
พอเราทุ่มเทชีวิตทั้งหมดมาเพื่อทำหน้าที่เพียงประการเดียวคือ ‘แม่’ ลูกจึงเป็นเหมือนทั้งหมดทั้งมวลของชีวิต พอเราต้องเผชิญหน้าความจริงที่ทำให้เรารู้สึกว่า ‘เราไม่สำคัญอีกแล้ว’ หรือ ‘ลูกไม่ต้องการเราอีกแล้ว’ มันเป็นความรู้สึกที่ปวดใจมาก
เหมือนโลกทั้งใบจะพังครืนลงมา เหมือนคนอยู่ในภาวะซึมเศร้า คุ้มดีคุ้มร้าย เพราะพยายามจะมองหาสิ่งที่เรียกว่า ‘ตรงกลางระหว่างเรา’ ให้เจอ
แต่ฉันมาเรียนรู้ว่า เราจะไม่เจอสิ่งนั้นหรอก ตราบใดที่เรา-คนเป็นแม่ ยังมีความรู้สึกว่า มีแต่แม่เท่านั้นแหละที่รู้ดีที่สุด ทำได้ดีที่สุด เราจะไม่ไว้วางใจ (trust) คนอื่นเลย แม้แต่กระทั่งลูกของเราเอง ด้วยความรู้สึกลึกๆในใจว่า “เธอจะรู้ดีกว่าฉันได้ยังไง ฉันเป็นแม่เธอนะ”
ฉันเผชิญหน้ากับช่วงเวลานั้นอย่างทรมาน ตั้งคำถามกับการมีคุณค่าในตนเอง (นั่นคงเป็นภาวะซึมเศร้าแบบไม่รู้ตัว) และพบคำตอบว่า เราเกิดมามีคุณค่าในหลากหลายบทบาท ที่ไม่ใช่เพียงแค่การเป็นแม่อย่างเดียว หากเราลองขยับขยายตัวเองออกไปสู่บทบาทเดิมๆ ที่เราเคยทำได้ดี ทำได้เก่ง ความรู้สึกมีค่า ความเชื่อมั่นในตัวเองจะค่อยๆ กลับคืนมา
การปล่อยมือเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย มันต้องอาศัยความไว้วางใจต่อคนอื่น (ที่ดูแลลูก) ต่อลูก (ที่เชื่อว่าเขาโตขึ้นที่จะทำหลายอย่างเองได้) เป็นช่วงเวลาสำคัญที่แม่ทุกคนต้องกลับมารักตัวเองมากๆ หลังจากที่มอบพลังความรักทั้งหมดทุ่มเทไปให้ลูกแค่คนเดียวตลอดมา
ฉันกลับมาทำงานเขียนอีกครั้ง เป็นการรับงานแบบอิสระ ต้องออกเดินทางไปต่างจังหวัดบ้างเป็นครั้งคราว นั่นทำให้เราต้องทำใจปล่อยวางให้ได้ เชื่อมั่น ไว้วางใจว่าทุกอย่างจะเป็นไปได้อย่างดีตามสมควร โดยไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบตามความคาดหวังของมนุษย์แม่
เมื่อมีระยะห่าง เกิดพื้นที่ให้ได้ใช้ชีวิตในแบบของตัวเองตามสมควร ความสัมพันธ์ของฉันกับลูกก็ค่อยๆ ดีขึ้น เราเรียนรู้ที่เป็นแม่ที่จัดการน้อยลง (แม่ของเด็กเล็ก) และเรียนรู้การเป็นแม่ที่เป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น (แม่ของเด็กโต) ทำให้เขาเชื่อใจ ไว้วางใจว่ามีอะไรสามารถบอกพ่อกับแม่ได้ เปิดโอกาสให้เขาตัดสินใจได้มากขึ้น ทำให้ทุกคนได้มีพื้นที่เติบโตในแบบของตัวเอง อยู่ร่วมกัน แต่ก็มีระยะห่างที่มองเห็นกันได้ ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกจึงเป็นความสัมพันธ์ที่สมดุลขึ้น คือพึ่งพิงน้อยลง พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น
สามเหลี่ยมของความรัก พ่อรักแม่ แม่รักพ่อ และพ่อแม่รักลูก
สำหรับฉัน สามีคือปัจจัยสำคัญในการช่วยสนับสนุนทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนผ่านไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ชื่อดังเคยกล่าวว่า สามเหลี่ยมความรักที่สมดุลต้องเป็นสามเหลี่ยมคว่ำ คือพ่อรักแม่ แม่รักพ่อ เมื่อพ่อแม่รักกันมากพอ ความรักที่ส่งไปถึงลูกจึงจะเป็นรักที่สมดุล
ฉันเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้หญิงที่รับหน้าที่ดูแลลูกคนเดียว เนื่องจากสามีมีหน้าที่หาเงินเข้าบ้าน มันไม่ผิด แต่ก็ทำให้สมดุลครอบครัวหายไป ทำให้วงจรสามเหลี่ยมความรักในบ้านผิดเพี้ยน คือพอแม่เหนื่อยมากกับการดูแลลูกเพียงลำพัง แม่จะรู้สึกเป็นเจ้าของลูก จะรักลูกมากเป็นพิเศษ เบื่อหน่ายสามีกับการที่ไม่เคยยื่นมือช่วยเหลืออะไรเรื่องลูกเลย
นอกจากปล่อยให้เป็นหน้าที่แม่ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาเริ่มเหินห่าง ในวัยที่ลูกควรได้เรียนรู้ความเป็นผู้ชายจากพ่อ แต่ก็ไม่ได้ใกล้ชิดพ่อ วันหนึ่งเมื่อลูกชายอยากสร้างระยะห่างจากแม่ขึ้นมาจริงๆ ชีวิตของแม่จะพังทลายทันทีเพราะมีลูกเป็นทั้งหมดของชีวิต
เหล่านี้เป็นวงจรแห่งความทุกข์ เพราะฉะนั้นครอบครัวที่เป็นสุขและสมดุลจึงต้องเกิดจากความร่วมมือของทั้งสามีภรรยา ในบทบาทของทั้งพ่อและแม่ร่วมกัน สำคัญคือคนเป็นพ่อต้องมีส่วนร่วมในการดูแลลูกบ้าง เข้าใจ เห็นใจ สนับสนุน ให้เกียรติภรรยาในฐานะที่เป็นแม่ของลูก (ไม่ใช่พ่อเป็นใหญ่) เมื่อพ่อแม่รักกัน พ่อให้เกียรติแม่ แม่ให้เกียรติพ่อ พ่อแม่มีทิศทางในการเลี้ยงลูกสอดคล้องกัน ชีวิตครอบครัวจึงจะไม่สั่นคลอน
ตอนลูกเล็กช่วงแรกเกิดถึง 7 ปี ฉันมีหน้าที่ดูแลลูกเป็นหลัก พ่อของลูกอาจช่วยสนับสนุนอยู่ห่างๆ เพราะลูกยังต้องการแม่มากกว่า แต่เมื่อลูกเข้าสู่ช่วงวัยที่สองคือ 7-14 ปี พ่อคือกำลังสำคัญที่มีความหมายมาก สำหรับลูกชาย พ่อคือฮีโร่เสมอ พ่อทำอะไรก็ถูกต้องดีงามไปเสียหมด ในขณะที่แม่ทำอะไรก็ดูน่าเบื่อหน่ายไปทุกสิ่งเช่นกัน (ฮา) ความเป็นผู้ชายคือการได้ผจญภัย ได้เสี่ยง ได้ลุย ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการในวัยของเขาพอดี
ฉันและสามีเป็นคนชอบลุย เรานิยมการผจญภัยในธรรมชาติและเรียนรู้ผ่านการเดินทาง เราสองคนพาลูกไปออกค่ายอาสาพัฒนาด้วยกันในอำเภอห่างไกลที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างยากลำบากตั้งแต่อายุ 7 ปีและยังคงทำต่อเนื่องทุกปี (ปีนี้ลูก 10 ขวบแล้ว)
เราต้องการให้เขาเรียนรู้ว่าตัวเองโชคดีแค่ไหนที่ได้เกิดมาพร้อมพรั่งกว่าคนอื่นอีกมายที่ยากไร้และขาดโอกาส การออกค่ายในชนบทมีความหมายมากสำหรับเด็กผู้ชายทุกคน ทั้งการเดินทางที่เปรียบเสมือนการผจญภัยในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย การอ่านแผนที่ เทคนิคการขับรถในเส้นทางสูงชัน การได้ก่อกองไฟ การได้ช่วยงานแบบผู้ชายๆ เช่นการก่อสร้าง การหัดใช้มีดพับเล็กๆ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงเสริมสร้างทักษะชีวิตพื้นฐาน หากยังเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง ทำให้ลูกตระหนักว่าตัวเองมีประโยชน์ต่อคนอื่น แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เราก็สามารถหยิบยื่นความสามารถเพื่อช่วยเหลือคนอื่นได้ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการบ่มเพาะความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ (empathy) ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะกลายเป็นคุณลักษณะที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ในอนาคต ทั้งหมดนี้ เป็นการงานที่ยิ่งใหญ่ที่ต้องร่วมมือกันทั้งพ่อและแม่
ตอนนี้ลูกชายของฉันมีอายุ 10 ปี เรา (แม่ลูก) จัดระยะกันได้ดีขึ้น เขามีความชอบที่ชัดเจนทางด้านการประดิษฐ์คิดค้น เรา (พ่อแม่) ส่งเสริมให้เขาได้เรียนรู้ มีพื้นที่ให้ทดลองได้อย่างอิสระ พ่อ-แม่-ลูก มีพื้นที่ของตัวเอง แต่ก็มีพื้นที่ร่วมกันด้วยในคราวเดียว พ่อแม่ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูกที่ทำให้ลูกเชื่อใจ ไว้วางใจได้ที่บอกกล่าวเรื่องราวต่างๆ แต่ก็นั่นแหละนะ เส้นทางการเป็นวัยรุ่นของเขายังอีกยาวไกลนัก คงยากที่จะบอกว่าเราข้ามผ่านช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านนั้นมาได้อย่างสมบูรณ์แล้ว แต่ฉันเชื่อว่าเราจะผ่านไปได้อีก ไม่ว่าจะต้องเผชิญอะไรอีกก็ตาม
การมีจิตของผู้เริ่มต้น (beginner’s mind) คือสิ่งที่ฉันใช้ยึดถือในการใช้ชีวิต หลายเรื่องเราอาจเคยรู้ รู้ดี แต่ก็ต้องกลับมาทบทวนได้ว่าสิ่งที่เรารู้ อาจไม่เหมาะ ไม่สอดคล้องในตอนนี้ หากต้องเรียนรู้ใหม่ เริ่มต้นใหม่ และลองทำสิ่งใหม่ที่เราไม่เคยลองทำ การมีจิตใจเช่นนี้ จะทำให้พ่อแม่ผ่อนคลายจาก ‘ความเป็นพ่อเป็นแม่’ ในความหมายที่ว่า ต้องรู้ดีทุกเรื่อง ต้องทำถูกทุกเรื่อง ประสบการณ์ในอดีตไม่ได้ใช้ได้กับเหตุการณ์ในอนาคตเสมอไป จงเรียนรู้ที่จะเปิดกว้าง ยอมรับ เรียนรู้ และเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ ชีวิตจะผ่อนคลายและเป็นสุข
หากเราเป็นพ่อแม่ที่ใจกว้างเพียงพอ ยอมรับความแตกต่างได้มากพอ เราจะมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับลูกเสมอไม่ว่าเขาจะอยู่ในช่วงวัยใดก็ตาม
5 ไอเดียตั้งหลักสำหรับแม่พรีทีน
อย่าผูกโยงตัวเองไว้กับการเป็นแม่เพียงอย่างเดียว
สิ่งนี้คือความเสี่ยงสูงสุด เป็นเรื่องที่ดีที่แม่หลายคนลาออกมาเลี้ยงลูกในช่วงลูกเกิดใหม่ แต่เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น ดูแลตัวเองได้มากขึ้น เขาจะพึ่งพิงเราน้อยลง การที่แม่มีบทบาทหน้าที่อื่นๆ ทำในชีวิต เช่น กลับไปทำงานประจำ ทำงานอดิเรกที่หารายได้ได้ด้วย จะทำให้แม่ไม่เผชิญความสั่นไหวเมื่อลูกมีระยะห่างกับเรามากขึ้น หากยังสามารถมีความสุขกับบทบาทอื่นที่ตัวเองมีในชีวิต และรู้สึกมีคุณค่าในตนเองที่ยังคงพึ่งพาตนเองได้ทั้งใจเชิงเศรษฐกิจและจิตใจ นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการทำสิ่งใหม่ในชีวิตของคนเป็นแม่
จัดระยะใหม่และไว้ใจเพิ่มขึ้น
แม่ส่วนใหญ่ชอบควบคุมจัดการด้วยเจตนาที่ดี คืออยากให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ จนบางครั้งลงไปรับผิดชอบแทน ทำให้ลูกไม่รู้จักโต หรือ ทำให้ลูกเบื่อหน่ายเพราะอยากจัดการชีวิตตัวเองบ้าง (แบบใดแบบหนึ่ง) เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยพรีทีน แม่ต้องเริ่มจัดระยะห่างใหม่ เพิ่มความไว้วางใจในตัวลูก ให้ลูกรับผิดชอบชีวิตเล็กๆน้อยๆ ในขอบเขตของตัวเอง ยอมรับให้เกิดความผิดพลาดได้เพื่อเรียนรู้ความรับผิดชอบและพัฒนาการเป็นผู้ใหญ่ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ คิดเสมอว่ายอมให้ลูกเรียนรู้จากความผิดพลาดในเรื่องเล็กน้อยเสียตั้งแต่ตอนนี้ ย่อมดีกว่าให้เขาไปผิดพลาดเรื่องใหญ่อื่นๆในอนาคต
เปลี่ยนความสัมพันธ์เป็นแนวราบ
ตอนลูกยังเล็ก แม่อาจต้องจ้ำจี้จำไช คอยบอกทุกสิ่งทุกอย่างเพราะลูกยังคิดและตัดสินใจไม่ได้ แต่เมื่อลูกโตขึ้น เขาต้องการพิสูจน์ศักยภาพของตัวเอง เปิดโอกาสให้เขาคิด จงพูดให้น้อยลงและฟังให้มากขึ้น เปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น ผิดพลาดได้ และเรียนรู้จากความผิดพลาด คอยเติมเต็มและสนับสนุนอยู่ห่างๆ เมื่อเราให้เกียรติลูก ลูกจะให้เกียรติเรา หากิจกรรมครอบครัวทำร่วมกันที่ไม่ต้องพึ่งพิงกันและกันมากเกินไป หากสามารถมีพื้นที่ของตัวเองในการทำร่วมกันได้ เช่น ออกกำลังกาย ไปพิพิธภัณฑ์ ท่องเที่ยวธรรมชาติ เป็นต้น
มีจิตใจของผู้เริ่มต้นใหม่
พ่อแม่ต้องไม่ยึดติดกับสิ่งใด ตระหนักเสมอว่าทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ดีและถูกต้องในวันนี้ อาจไม่ใช่เรื่องดีและถูกต้องในอนาคต เรียนรู้ที่จะเปิดกว้าง ทบทวน เพื่อการก้าวเดินในทุกก้าวของชีวิต ลูกเป็นแบบหนึ่งในวัยหนึ่ง และจะเปลี่ยนไปอีกเรื่อยๆ ในวัยที่เขาต้องเติบโตขึ้น อย่าคาดหวังให้เขาต้องเหมือนเดิม คอยจัดระยะห่างระหว่างกันและกันเสมอเพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้สมดุล
ระลึกเสมอว่าชีวิตเป็นของลูก
แม่ทุกคนรักลูกที่สุด หวังดีที่สุด แต่อย่าลืมว่าชีวิตเป็นของเขา อย่าหวังดีจนเอาชีวิตของเขามาใช้ ด้วยข้ออ้างของคำว่า ‘ความรัก’ จนลูกรู้สึกถูกบงการชีวิต ชีวิตที่ดีไม่ใช่ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ แต่คือชีวิตที่ได้เรียนรู้ บางครั้งถูก ผิด สมหวัง ผิดหวังปนๆ กันไป สำคัญที่สุดคือชีวิตที่ลูกได้เป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง มีส่วนร่วมตัดสินใจ จัดการชีวิตตัวเองได้อย่างแท้จริง