- นอกจากประเด็นละเมิดสิทธิแล้ว เด็กๆ หลายคนถึงกับหัวเสียเมื่อเห็นพ่อแม่เอารูปตัวเองไปโชว์ในโซเชียลมีเดีย
- พ่อแม่อาจโพสต์เพราะความรัก ความภูมิใจ แต่ลึกๆ ลงไปในทางจิตวิทยา ลูกคือ ความสำเร็จที่มีชีวิต…และโพสต์ได้
- ถึงที่สุดแล้ว แม่คือผู้ชี้ขาดว่าจะโพสต์รูปอะไร ถึงลูกจะบอกว่าไม่ได้ แต่แม่ก็มีเหตุผลที่ไม่จนมุมเสมอ
การเลื่อนดูฟีดเฟซบุ๊ค ถือเป็นหนึ่งกิจวัตรของคนยุคดิจิตอล แต่ละวันเราเห็นรูปภาพมากมายบนหน้าฟีด ไม่ว่าจะเห็นรูปน้องหมา น้องแมว อาหาร หรือแม้กระทั่งรูป ข้อความเกี่ยวกับเด็ก ที่แม่ๆ หลายคนอัพโหลด เพื่ออธิบายเรื่องราวหรือกิจกรรมที่ลูกทำ เพราะมองว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจ
สมาชิกเฟซบุ๊คบางคนถึงขั้นหงุดหงิดที่เห็นโพสต์เด็กๆ มากเกินไป พวกเขามองว่าเป็นเรื่องที่ ‘น่าเบื่อ’ ‘ซ้ำซาก’ ‘ธรรมดา และน่ารำคาญ’ บางคนรู้สึกหงุดหงิดถึงขนาดตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊คขึ้นมา เช่น กลุ่ม ‘STFU Parents’ เพราะคิดว่ากำลังจะ ‘บ้าคลั่ง’ จากการอัพเดตรูปและเนื้อหาเด็กของเหล่าแม่ๆ ที่เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊คของตน
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าการอัพเดตสถานะลูกน้อยโดยพ่อแม่เกิดจากอะไร และมีผลกระทบต่อครอบครัวและเด็กหรือไม่ มีงานวิจัยเผยว่า แม่จะโพสต์ข้อมูลลูกมากกว่า เมื่อเทียบกับสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน และมีบทบาทสำคัญในการตัดสินว่ารูปหรือข้อความนั้น สามารถอัพโหลดได้หรือไม่ โดยเฉพาะรูปครอบครัว
อวดแบบถ่อมตัว?
Sharenting หรือการโพสต์รูปลูกตามโซเชียลมีเดียต่างๆ นัยหนึ่งถูกมองว่าเป็น การลุ่มหลงตัวเองในโลกดิจิตอล (Digital Narcissism) ยิ่งไปกว่านั้นก็ถูกมองว่าเป็นอาการ Humblebrag หรือการอวดตัวเองที่เหมือนไม่ได้อวด ของพ่อแม่
ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์ทางด้านวิทยาศาสตร์พฤติกรรมที่ Warwick Business School เคยอธิบายเอาไว้ในเว็บไซต์ไทยพับลิก้าว่า
Humblebrag เป็นการอวดที่แฝงมากับการถ่อมตนเพื่อให้คนอื่นคิดว่าเราไม่ได้ตั้งใจจะอวดแต่ที่จริงก็คือการอวด
หลายๆ คน Humblebrag เพราะว่าเราต่างคนต่างต้องการการตอบสนองที่ดีในความสามารถของเรา หรือความสำเร็จของเรา หรือแม้แต่ในสิ่งที่เรามีและภูมิใจ เพราะการตอบสนองที่ดีจากคนอื่นๆ นั้นช่วยทำให้เราคงภาพพจน์ที่ดีของตัวเราเอง (positive self-image) เอาไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อความเชื่อมั่นในตัวเองและความสุขของเรา
อาการ Humblebrag นั้น ใกล้เคียงและถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจหรือ Pride
หรือแชร์เพราะ ‘ภาคภูมิใจ’
งานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาแม่ 15 คน ที่ยอมรับว่าได้โพสต์เรื่องราวและประสบการณ์เกี่ยวกับลูกและครอบครัว พบว่าผู้เป็นแม่จะใช้คำว่า ‘ภาคภูมิใจ’ เมื่อโพสต์เกี่ยวกับความสำเร็จของลูก เช่น การแข่งขัน หรือสอบผ่าน ซึ่งความภาคภูมิใจดังกล่าวเป็นความคาดหวังทางสังคมอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าลูกของพวกเขาได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี เหล่าแม่ๆ จึงไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาแต่อย่างใดที่จะอัพโหลดให้คนอื่นรู้
การแสดงความภาคภูมิใจของผู้ปกครองทางสื่อออนไลน์ยังเชื่อมโยงกับความต้องการทางสังคมที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแม่ที่มีแนวโน้มจะเลี้ยงดูและให้เวลาลูกมากกว่า
พวกเขาต้องมั่นใจว่าสิ่งที่เขาทำให้กับลูกเป็นสิ่งที่ดี ฉะนั้นสื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่พ่อแม่ใช้ประเมินว่าการเลี้ยงดูลูกของพวกเขาเป็นอย่างไร
การเลี้ยงลูกในยุคสื่อดิจิตอลกลายเป็นเรื่องซับซ้อนมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นของลูก งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการอัพโหลดเรื่องลูกสามารถนำไปสู่ความขัดแย้งของครอบครัวได้ เช่น เด็กหญิงคนหนึ่งไม่พอใจรูปของเธอที่พ่อโพสต์ลงเฟซบุ๊ค เธอกังวลว่าเพื่อนที่โรงเรียนจะเห็นรูป และจะได้คอมเมนต์ไม่ดีกลับมา
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ ลูกสาว report พ่อไปยังเฟซบุ๊คเพราะพ่อปฏิเสธที่จะลบโพสต์นั้นออกไป
อย่างไรก็ตาม แม่ของเธอบอกว่า การโพสต์รูปเป็นสิทธิ์ของพ่อในการเผยแพร่ นี่จึงเป็นกรณีที่แสดงให้เห็นว่า ‘ความภาคภูมิใจ’ ของผู้ปกครองอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของลูกได้ทั้งในโลกออฟไลน์ และออนไลน์
แม่มักถือว่าการแบ่งปันข้อมูลออนไลน์เป็นวิธีการรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่อยู่ในเครือข่ายทางสังคมเดียวกัน ซึ่งข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับการรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวแบบออฟไลน์ ที่ชี้ว่าผู้หญิงมีส่วนร่วมในการติดต่อสื่อสารกับสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ มากกว่าผู้ชายทั้งในรูปแบบจดหมายและโทรศัพท์
เหล่าแม่ๆ ที่เข้าร่วมในงานวิจัย บอกอีกว่าการโพสต์รูปและข้อความแสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดกับครอบครัว และมองว่าเป็นประโยชน์แก่ลูกๆ ถือว่าเป็นการแสดงความรักและความเอาใจใส่ของแม่ยุคดิจิตอล