- เสียงหัวเราะที่แทรกในบทสนทนาหลายครั้ง กระทั่งตอนเล่าเรื่องเปลี่ยนสถานะเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ยืนยันได้ดีว่า ‘ตุ๊ก’ ชนกวนัน รักชีพ อยู่กับมันอย่างมีความสุขแค่ไหน
- แม้จะมีวินาทีที่เศร้าบ้าง แต่เราต้องเข้าใจ คือหนึ่งในวิธีรับมือกับเรื่องใหญ่เรื่องเล็กที่พัดเข้ามาในชีวิต
- นี่คือชีวิตปัจจุบันที่ ‘ปกติสุข’ ของคุณแม่ลูกสอง ที่ไม่ยอมแบ่งพื้นที่แม้เศษเสี้ยวให้ความเกลียดชัง ไม่มีวันที่ไม่ไหว และเข้าใจมากๆ ว่า ก็มันมีแค่นี้และควรอยู่อย่างมีความสุข
หลายคนรู้จัก ‘ตุ๊ก’ ชนกวนัน รักชีพ จากบทบาทนักแสดง นางแบบ พิธีกร หลายคนชอบเธอในบทบาทเกษตรกรอินทรีย์ มีแปลงนาและแบรนด์ข้าวอินทรีย์เป็นของตัวเอง และอีกหลายคนเช่นกัน นับถือหัวใจเธอในฐานะ ‘ซิงเกิลมัมสายสตรอง’
“แต่ก่อนหน้านั้นไม่ใช่ว่าเขา (ลูก) ไม่เข้าใจนะ เราไม่ได้หลอกเขา ไม่ได้บอกว่า ‘แดดดี้ทำงาน ไปนอนบ้านอื่น’ ไม่มีแบบนี้ ทุกอย่างเป็นความจริง แต่เป็นความจริงที่ละมุนละม่อม และใช้ชีวิตทุกวันแบบ positive ไม่มีพลังงานของความเกลียดชัง ไม่ใช่แบบ ‘ก็เขาไม่อยู่หนิ แยกบ้าน’ ไม่… อยู่คนละบ้านก็คืออยู่คนละบ้าน และแม่ก็ดู ‘ปกติสุข’ ไม่ใช่มีความสุขนะ แต่มันมีแค่นี้และมีความสุข ไม่ใช่ตื่นมาแล้วเราจะแบบ “เฮ้อ ถ้าเรามีแดดดี้ก็จะมีคนเปลี่ยนไฟให้’ ไม่ไง เปลี่ยนไม่เป็นก็เรียกช่างมาเปลี่ยน
“หน้าที่เรา พื้นฐานที่สุดแค่ ‘everything will be ok’ ถ้าเราโอเค เขาก็โอเค เราไม่ได้ตื่นเต้นบ้าบอ แบบ ‘ไม่นะลูก ชีวิตลูกไม่ขาด’ หรือ ‘โอเคนะลูก แม่รักลูกก็พอ’ ไม่ใช่ และมันไม่ใช่การเพิกเฉย เราแค่ ‘เออ… เรื่องนี้หนูว่ายังไง’ หรือบางทีต้องเงียบ บางทีแค่ ‘ถ้าลูกรู้สึกยังไง บอกแม่นะ’ ‘หนูอยากให้แม่ช่วยอะไรไหม’ ‘ถ้าอยากได้อะไรบอกแม่นะ แม่อยู่ตรงนี้นะ แม่พร้อมเสมอ’ อะไรก็ได้ที่เหมาะกับสถานการณ์นั้น ให้เขารู้ว่าเรามั่นคง
“ถ้าเขารู้ว่าเราผ่านได้ เขาก็พร้อมจะผ่าน ให้เขารู้ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรกับเขา เราอยู่ตรงนี้”
อันที่จริงบทความนี้ไม่ได้พูดถึงเฉพาะมุมมอง ‘ซิงเกิลมัม’ หรือ ‘คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว’ แต่รวมถึงประเด็น ‘การเป็นแม่สไตล์คุณตุ๊ก’ คุณแม่สมัยใหม่ที่ไม่เน้นวิชาการกับลูกในช่วง 0-7 ปี แต่ให้เล่น ชวนกันปลูกข้าว ลงคอร์สเรียนทำขนมปัง เย็บผ้า หรือกิจกรรมต่างๆ ที่ใช้มือ ผัสสะ จินตนาการ ร่างกาย และอื่นๆ อย่างที่เธออธิบายว่า
“ถ้ายังสร้างบ้านไม่เสร็จแล้วเข้ามาอยู่ เราก็อยู่ไม่ถนัด ช่างก็ทำงานไม่ถนัด อยู่ๆ ไปก็กลัวว่าปูนจะหล่น ตะปูจะหล่นใส่รึเปล่า เหมือนกับพัฒนาการร่างกายและสมองที่เด็กจะพร้อมสำหรับวิชาการหลัง 7 ขวบ ระหว่างนี้ให้เขาฟอร์มตัวไปก่อน ระหว่างที่ร่างกายและสมองกำลังฟอร์ม การที่เขาได้เห็นความงาม ความจริงตามธรรมชาติ ได้กลิ่นหอมของดอกไม้จริง ได้เห็นช้างแบบจริงๆ ไม่ใช่จากสารคดีในทีวี จนมันประทับตราตรึงเข้าไปในสัญชาตญาณของเขา มันต่างกัน และมันจะเป็นส่วนที่ทำให้ทุกอย่างเติบโตอย่างดีและมีความสุขด้วย”
ทั้งหมดนี้ไม่ได้จะบอกว่าคุณตุ๊กเป็นซูเปอร์วูแมน เป็นคุณแม่สายสตรองมากไปกว่าคุณแม่ท่านอื่น (เพราะขึ้นชื่อว่า ‘แม่’ ยืนหนึ่งเรื่องความแกร่งอยู่แล้ว!) หากเธอคือผู้หญิงธรรมดาที่ดำเนินชีวิตอย่าง ‘ปกติสุข’ และชวนอ่านความคิดการเป็น ‘แม่ครั้งแรก’ ของผู้หญิงคนนี้ตั้งแต่ยังไม่ตั้งครรภ์ กระทั่งวันที่ลูกๆ ของเธอเกือบเข้าสู่วัย pre-teen หรือก่อนวัยรุ่นกันแล้ว!
ตุ๊ก ชนกวนัน กับ การเป็นแม่ครั้งแรก
ก่อนเป็นคุณแม่ คิดอยากเป็นคุณแม่ไหม อยากเป็นแบบไหน
ไม่คิด แต่ไม่ใช่เพราะไม่อยากมีลูกนะ แต่ถ้าต้องเป็นแม่ เคยอยากเป็นคุณแม่ full time ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีพี่เลี้ยง ทำงานบ้านเอง ทำกับข้าวเอง ทำทั้งหมดนี้ด้วยตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอนนั้นเลยไม่อยากมีลูกจากอะไรบางอย่างที่ทำให้เราเป็นแม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าเราไม่อยากทำอะไรเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ขนาดนั้น ยังเป็นนักแสดง (และเป็นคุณแม่) เหมือนตอนนี้มันก็ทำได้
คุณตุ๊กในวัย 29 ที่ยังไม่เป็นแม่ ตอนนั้นฝันว่าอยากเป็นแม่แบบไหน
ไม่ได้คิดเอาไว้ว่าอยากเป็นแบบไหน แต่คิดว่าอยากทำอะไรกับเขา คิดว่าเราจะซัพพอร์ตหรือให้ความสบายใจกับเขาได้แค่ไหนมากกว่า เวลาที่เขามีปัญหา อยากให้เขารู้ว่าเลือกจะคุยกับเราได้ เอาความคิดเราไปปรับใช้ในชีวิตเขาได้ ดำเนินชีวิตอย่างเชื่อมโยงกับเรา ไม่ได้ตัดสินใจคนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ จะใช้คำว่าอะไรดี (นิ่งคิด) อยากเลี้ยงให้เขามีความสุขกายสบายใจเพียงพอจะใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ ให้มีทัศนคติที่ดี ให้มีคุณสมบัติในการเป็นมนุษย์ที่จะใช้ชีวิตแบบไหนก็ได้
เพราะเขาจะต้องเจอเรื่องราวในชีวิตประมาณล้านเรื่องอยู่แล้ว เราไม่รู้ว่าเขาจะเจออะไร แต่ให้เขาเลือกได้ว่าโหมดนี้เขาควรจะกล้าหาญ โหมดนี้ควรจะอ่อนโยน หรือโหมดนี้ควรจะมีคุณสมบัติอะไร มันคงไม่สมบูรณ์แบบ แต่อย่างน้อยอยากให้เขาได้มากที่สุด และเขาต้องใช้คาแรคเตอร์ของเขาเอง
พอรู้ว่าตั้งครรภ์ กลัวไหมกับความคิด ‘กำลัง’ จะเป็นแม่
ไม่กลัว จะสรุปให้คนอื่นฟังเสมอว่าคงเป็นคาแรคเตอร์ของความเอ๋อ พี่ตุ๊ก จันจิรา (จันจิรา จูแจ้ง) เคยบอกว่า “เธอเหมือนคนที่มีลูกบอลอยู่ในท้องแล้วทำตัวปกติ” แต่เหนื่อยนะ ชีวิตเปลี่ยน
ไม่กลัว และพร้อมที่จะใช้วิธีธรรมชาติที่สุดเท่าที่ความรู้ของเรามีในขณะนั้น เช่น ท้องแรกเรารู้เท่านี้ ท้องคนที่สอง (ความรู้) ก็เพิ่มไปอีก คนที่สองนี่คลอดธรรมชาติและแบบโบราณเลย ไม่ขึ้นขาหยั่ง มีเชือก คุณหมอนั่งอยู่ไกลประมาณเรากับคุณตอนนี้ (ระยะห่างราวหนึ่งโต๊ะกินข้าว) ปกติการคลอดคุณหมอต้องอยู่ใกล้ๆ เราใช่ไหม? แต่นี่ไม่ คลอดแบบให้สามีภรรยาซัพพอร์ตกัน คุณหมอแค่ยืนดูความเรียบร้อยอยู่ตรงนั้น
วินาทีที่คลอดน้อง วินาทีเป็นแม่ครั้งแรก วันนั้นเป็นอย่างไร
ตอบแล้วจะดูตลก การเป็นคุณแม่มันต้องมีโมเมนต์น้ำตาไหลหรือรู้สึกนู่นนั่นนี่ใช่ปะ? เราน้ำตาไหลนะ แต่มันไม่ใช่ความรู้สึกแบบในหนังอะ สำหรับตุ๊ก วินาทีนั้นเป็นวินาทีรับผิดชอบ “โอเคไหมคะคุณหมอ” “ครบ 32 ไหมคะ?” “แล้วต้องทำยังไงต่อคะคุณหมอ” “ต้องอาบน้ำกี่โมง” “หัดกี่โมง” “schedule มีอะไรที่ต้องฝึกบ้าง จะได้เข้าไปตรงตามสูตร” เราจะซีเรียสบ้าบออะไรแบบนี้ กลัวจะพลาดมากกว่าหรือเป็นคนตลกก็ไม่รู้นะ
คุณแม่หลายคนกลัวว่าอาจทำขั้นตอนแรกไม่ถูกต้องตามวิธีที่ควรทำ?
ถูก และเราเป็นเพอร์เฟ็คชันนิสต์ด้วย จนมาท้องสองที่ความเป็นเพอร์เฟ็คชันนิสต์ลดลง และรู้แล้วว่าถ้าเราอยู่ในกระบวนการธรรมชาติ ยังไงมันก็ต้องดีเลยไม่กังวล การคลอดลูกมันมีอันตรายจริง แต่สุดท้ายเราจะคลอดจนได้ เลยไม่ได้กังวลใดๆ เอาแค่เช็คว่าลูกกลับหัว มดลูกเปิดตามเวลา แสดงว่าเราอยู่ในกระบวนการธรรมชาติและเราไม่มีอะไรผิดปกติ อีกอย่าง เราโชคดีด้วยที่การคลอดไม่มีปัญหา บางคนน้ำคร่ำไม่แตก บางคนมดลูกเปิด/ท้องไม่บีบ หรือ ท้องบีบ/มดลูกไม่เปิด ของเราเป็นไปตามธรรมชาติ เลยเหมือนได้ทำอะไรตามที่คิดคือคลอดธรรมชาติและไม่มีตัวช่วย
มีความรู้สึกหวาดกลัวจากภายในไหม เช่น ต้องเลี้ยงเขาไปอีกกี่ปี? ลูกออกมาเป็นตัวเป็นตนจริงๆ แล้วนะ
รู้สึกถึงความเป็นแม่มากกว่า เพราะตอนท้องยังไม่รู้สึกเลยว่าตัวเองจะเป็นแม่จนคลอดออกมา “สิ่งมีชีวิตนี้เป็นของเราเหรอ” มันมีนิดหนึ่งนะ ความรักตอนนั้นก็ยังไม่เต็มเปี่ยมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ค่อยๆ เพิ่มทุกวินาที การดูแล โอบอุ้ม ประคบประหงมในช่วงแรก (แพมเพอร์) ดูแล เอาเขานอน เอาเขากินนม ความรู้สึกมันเกิดจากการที่มือเราสัมผัสเนื้อตัวเขา ได้จับ ได้พลิกเจ้าก้อนกลมๆ นี้นอนคว่ำ เหล่านี้มันคือการสร้างความรัก เลยรู้สึกว่าความรู้สึกรักมันเกิดจากการได้เลี้ยงดู
ขวบปีแรกของการเป็นแม่ ทำอะไรบ้าง
ทำเองทั้งหมด ไม่มีใครมาทำแทนได้อยู่แล้ว เลี้ยงลูกเองเต็มเวลา ดูให้เขาเติบโตขึ้นจาก 1 วัน เป็น 1 เดือน เป็น 1 ปี การเลี้ยงเด็กเล็กไม่มีรายละเอียดอะไรมากนอกจากทำให้เขา ‘หลับ อิ่ม ยิ้ม’ ยิ้มที่แปลว่ามีความสุขและอุ่นพอ
จริงๆ ตอนนั้นเหนื่อยและวิตก เช่น วันหนึ่งลูกนอน 10 โมง อีกวันนอน 10 โมง 15 เราโทรฯ หาพี่หนิง ศรัยฉัตร (ศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา) ว่าได้ไหม? พี่หนิงบอก “บ้าปะ 15 นาทีเอง” คือเราไม่เข้าใจอะไรเลย คิดว่ามันต้องเหมือนกัน ถ้าไม่เหมือนกันจะเป็นอะไรรึเปล่า แล้วต้องรีบถามด้วยนะ กลัว ต้องแก้ไขเร็ว กลัวว่าถ้าช้าจะเนิ่นนาน
แต่สิ่งหนึ่งที่จำได้แม่นและช่วยได้เยอะคือ คำจากแม่ แม่พูดกับเราตอนน้องแพรวหนึ่งเดือนว่า “เลี้ยงลูกนะ ไม่ได้ประกวด เลี้ยงด้วยหัวใจ” ได้ยินแล้วหายเหนื่อยเลย
ถึงได้บอกว่าจริงๆ แล้วแค่ ‘อิ่ม นอนหลับ ยิ้ม’ แต่เราต้องรู้หน้าที่ของเราด้วยนะว่าเราต้องให้อาหารหรือแพมเพอร์เขาตรงตามเวลา สร้างจังหวะ (rhythm) ของเขาให้โอเคและปลอดภัย พร้อมจะตื่นมาทุกวันด้วยความรู้สึกเสถียร แค่นั้น
พ่อแม่อยากทำทุกอย่างให้ดีที่สุดสำหรับลูก แต่บางทีก็กลัว เอาตัวเองไปเปรียบกับแม่คนอื่น?
ไม่เป็นเลย ดีใจที่ตัวเองไม่เป็น พอไม่เป็นก็เลยโชคดีที่ไม่ต้องปรับทัศนคติเรื่องนี้ เช่น เขาบอกว่าถ้าจะให้ลูกเรียนวอลดอร์ฟ พ่อแม่ต้องไม่ตื่นเต้นนะเวลาไปบ้านเพื่อนแล้วลูกคนอื่นอ่านหนังสือออก น้องภูมิที่เห็นวิ่งๆ อยู่นี่ยังอ่านไม่ได้นะคะ แต่เราไม่ได้รู้สึกอะไร คือเป็นธรรมชาติของเราจริงๆ ที่จะไม่ซีเรียสกับอะไร
บางครั้งเพื่อนเราเป็นนะ เช่น ไลน์มาในกรุ๊ปว่า “ทำยังไงดี มีเด็กมาแย่งของเล่นลูก อยากจะสอนให้ลูกเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ก็ไม่อยากให้ใครเอาเปรียบในสังคมปัจจุบัน จะสอนลูกยังไงดี?” สิ่งที่เราคิด ณ วินาทีนั้นคือ “เรื่องเล็กมากเลย ให้เด็กเคลียร์กันเองดีไหม?”
หรือถ้าเจอคุณแม่ที่แบบ “หยุดเลยนะ อ่านหนังสือเดี๋ยวนี้” ชีวิตเขาเปลี่ยนเลยนะ “ตายละ จันทร์ถึงศุกร์ต้องกวดวิชา” จะบอกว่าความกลัวของเรา หนึ่ง-ลึกๆ แล้วสิ่งเหล่านั้นเป็นความต้องการของตัวเองทั้งหมดรึเปล่า ก็ต้องแยกอีกว่า เป็นเพราะปมวัยเด็กรึเปล่า? บางคนค้นพบเลยว่าที่ให้ลูกเล่นเปียโนเพราะชั้นอยากเป็นนักเปียโน ตอนเด็กไม่มีโอกาส สอง-เดี๋ยวพอเข้าสมาคมกับกลุ่มคุณแม่แล้วจะได้พูดคุยได้ หรือ บางทีก็เพราะรักลูกนั่นแหละ แต่บางทีต้องมาเคลียร์ให้ชัดเจนว่าเพราะลูก หรือจริงๆ แล้วเพื่อเรา
ที่น้องภูมิ (ลูกชายคนเล็ก) ยังอ่านหนังสือไม่ออก ไม่ใช่เพราะคุณไม่ส่งให้เข้าโรงเรียน แต่เพราะเชื่อว่าอายุ 0-7 ปีเป็นช่วงวัยที่ต้องเล่น ยังไม่เรียน อยากให้ช่วยขยายความตรงนี้
ไม่ใช่ว่าเราไม่กลัวเองโดยอัตโนมัติ แต่มีทฤษฎีหนึ่งที่ช่วยให้คุณแม่หายกังวลไปได้เปลาะหนึ่ง เขายกตัวอย่างง่ายมาก เช่น ถ้ายังสร้างบ้านไม่เสร็จแล้วเข้ามาอยู่ เราก็อยู่ไม่ถนัด ช่างก็ทำงานไม่ถนัด อยู่ๆ ไปก็กลัวว่าปูนจะหล่น ตะปูจะหล่นใส่รึเปล่า เหมือนกับพัฒนาการร่างกายและสมองที่เด็กจะพร้อมสำหรับวิชาการหลัง 7 ขวบ ระหว่างนี้ให้เขาฟอร์มตัวไปก่อน ระหว่างที่ร่างกายและสมองกำลังฟอร์ม การที่เขาได้เห็นความงาม ความจริง ตามธรรมชาติ ได้กลิ่นหอมของดอกไม้จริง ได้เห็นช้างแบบจริงๆ ไม่ใช่จากสารคดีในทีวี จนประทับตราตรึงเข้าไปในสัญชาตญาณของเขา มันต่างกัน และมันจะเป็นส่วนที่ให้ทำให้ทุกอย่างเติบโตอย่างดีและมีความสุขด้วย
เป็นช่วงเวลาที่เขากำลังทำงานกับสุนทรียศาสตร์?
ในเวลาที่เหมาะสมด้วยนะ หลายอย่างจะมาสุนทรียะตอนนี้ก็ไม่เท่าขวบปีแรกในตอนที่สัญชาตญาณดิบหรือความเป็นเมาคลีของลูกเราสูงสุด การเห็นของเขาในเวลานี้มันจะประทับเข้าไปข้างในจิตวิญญาณหรือพลังงานอะไรสักอย่าง ซึ่งมันพร้อมจะขับเคลื่อนและเรียนรู้จริงๆ ในวันที่มันสมควร
ถ้าตามอินสตาแกรมของคุณจะเห็นว่าคุณพาลูกทำกิจกรรมหลากหลายมาก ทำนา ทำขนมปัง ทำขนม เย็บผ้า พูดได้ไหมว่าเป็นความตั้งใจอยากสร้างประสบการณ์จริงให้เขาในช่วง 10 ปีแรก
ออกตัวก่อนว่ามันไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด แต่เผอิญว่าครอบครัวสะดวกแบบนี้ และบอกตัวเองว่า รู้ทั้งรู้ว่าไม่ตามตำราก็จะหยวน ซึ่งพูดตรงๆ ก็คือ พ่อแม่อยากไปเที่ยวด้วย (ยิ้ม) จริงๆ 7 ปีแรกจะอยู่บ้านทุกวันก็ได้ เพียงแต่ทำทุกอย่างให้เป็นธรรมชาติ ตอนเราเด็กๆ มันไม่ได้มีกิจกรรม play group อะไรนะ แค่ตื่นมาอยู่กับแม่ แม่ทำกับข้าวเราช่วยล้างจานล้างกระทะ แม่ซักผ้า เราก็ตากผ้าเก็บผ้า กล้ามเนื้อมัดเล็กใหญ่ได้ใช้กับงานบ้านหมด ตอนเย็นถ้าพ่อแม่ไปนา เราได้อยู่กับความอิสระของธรรมชาติ พ่อแม่จะเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง ใช้หูฟังดนตรีธรรมชาติที่ไม่ผ่านเครื่องแปลงเสียง หูอันมหัศจรรย์ของเด็กได้ฟังดนตรีสดๆ โดยไม่ผ่านเครื่องแปลงเสียง ได้ใช้ศักยภาพสูงสุดในเวลานั้นจริงๆ หรือการฟังพ่อแม่อ่านนิทานโดยเห็นภาพขึ้นมาในหัว อันนั้นไม่ใช่เหรอที่กระตุ้นจินตนาการของเขา?
ลองเล่านิทานให้กับเด็ก 5 คนฟังสิ แต่ละคนคิดไม่เหมือนกันสักคน และนั่นหมายความว่ามันไม่มีการกำจัดความคิดด้วยว่าเจ้าหญิงต้องใส่กระโปรงบานยาวสีฟ้าหรือสีชมพู ผมต้องเป็นสีทองลอนๆ นะ เพราะถูกเลี้ยงมาแบบนั้น
อยากให้พูดถึงกิจกรรมของน้องๆ ในการทำขนมปัง เย็บผ้าด้วยตัวเองในวัยนี้
ถ้าตามไอเดียเลย พี่ตุ๊กอยากให้ลูกเติบโตมาในครอบครัวที่ “คุณแม่ทำขนมปัง คุณพ่อเล่นดนตรี ทำงานไม้กัน” อยากให้มีแบบนั้นมากเลย แต่แม่ทำอะไรไม่เป็นไง แต่เรามีพันธมิตรช่วยพาเขาทำจากของจริง และมันไม่ใช่แค่ทำขนมปังเป็น แต่การที่ลูกได้ดูขนมปังค่อยๆ ฟูขึ้นมา หรืออย่างการเย็บผ้า คนจะชมว่าลูกเราเป็นดีไซเนอร์ เรายินดีที่เขารักลูกเรานะ แต่ว่ามายด์เซ็ตของเราไม่ได้มองว่าเขาเป็นดีไซเนอร์
มันไม่ใช่ความตั้งใจ (ให้เขาเป็นแบบนั้น) ไม่ใช่การกดปุ่ม แต่เข้าใจว่าเขาควรได้รู้ ต้องได้ทำบางอย่าง ต้องได้สัมผัส รู้รสความเหนื่อยตามวัย หรืออย่างเช่น เขาจะรู้ว่า ไม่ใช่กลับบ้านมาแล้วโยนกระเป๋าแล้วออกไปเล่น เธอควรจะมาดูว่าแม่บ้านทำอะไร เธอกินข้าวควรจะล้างจานเอง แม่บ้านจะได้ไปพักบ้าง หรือควรจะรู้ว่า กลับมาบ้านแล้วรีบทำงานบ้านให้เสร็จนะ ถ้าช้า ทำไม่ทันเธอก็จะไม่ได้เล่น ห้าโมงออกไปเล่น หกโมงกลับมากินข้าวและเผื่อเวลาล้างจาน ถ้าล้างจานช้า นิทานก่อนนอนจะไม่ได้อ่าน คือให้เขาคิด วางแผน ไม่โอ้เอ้
เป็นคนชัดเจนเรื่องเวลา?
firm but kind – firm ชัดเจนให้เขารู้ว่าอะไรทำได้/ไม่ได้ แต่ก็ kind ถ่ายทอดทุกอย่างด้วยความอ่อนโยน ตุ๊กก็ทำไม่ได้ตลอดนะ มีเหนื่อย มีอึดอัด มีอารมณ์ แต่ก็ควบคุมให้ได้มากที่สุด นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องเติบโตไปพร้อมกับเขาทุกวัน
เพื่อให้เขาได้แบบอย่างที่ดีเท่าที่เขาจะหาได้ในชีวิต เราคงไม่ได้ดีทั้งหมด แต่ดีที่สุดเท่าที่เราจะพัฒนาตัวเองทัน
เคยมีโมเมนต์ที่เหนื่อยมากๆ ไหม จัดการตัวเองอย่างไร
ไม่มีโมเมนต์ที่ไม่ไหว มนุษย์มีขีดจำกัดความอดทนได้มากกว่าที่คิดนะ มีแต่โมโหมากๆ แต่จัดการได้ ใช้หลายวิธีเลย อย่างตอนนี้น้องแพรวเป็นวัยรูบิคอน (Rubicon) หรือเป็นวัยแห่งความรู้สึก เราจะพูดความรู้สึกกับเขาตรงๆ เลย เช่น “แพรวทำแบบนี้ แม่เสียใจมากเลย” แต่ถ้าพูดแบบนี้กับภูมิ ภูมิยังไม่เข้าใจนะ
พูดตรงๆ กับลูกได้ ไม่อ้อมค้อม ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นแม่ที่ไม่ดี
พูดเลย “ทำแบบนี้แม่รู้สึกแย่นะ แม่อายที่ลูกพูดกับเพื่อนแม่แบบนั้น” บางทีคุณแม่กลัวว่าตัวเองจะเป็นแม่ที่ดุ กลัวเป็นแม่ใจร้าย ก็กลับไปที่เรื่องความกลัวสารพัด บางทีอ้อมค้อมจนลูกจับประเด็นไม่ได้ ตกลงแม่จะพูดอะไร?
แต่พูดในทาง positive นะคะ ไม่ใช่ด่าว่า แบบ “เสียใจจริงๆ เลยที่มีลูกอย่างแก” “ทำไมดื้ออย่างนี้” ไม่พูด แค่พูดความรู้สึกของเรา หรือ (เน้นเสียง) ดูที่กาละเทศะด้วยหรือเวลาอันเหมาะสมด้วย เช่น ตอนนั้นฝนมันตก แล้วแพรวกำลังเล่นโรลเลอร์เบลด เราบอกว่า “มันลื่นนะ” อีกไม่ถึงหนึ่งนาทีแพรวล้มเลย แล้วเขาพูดว่า “รู้งี้เชื่อแม่ก็ดี” เราไม่พูดอะไรต่อ เอาแค่นี้ pause ไว้ บางคนอาจบอก “นี่ ชั้นบอกเธอแล้ว” อย่างนี้พังเลย
ต้องมีจิตวิทยากับเขา?
บางอย่างเป็นเซนส์ของการเป็นแม่นะ ณ เวลานั้นแค่รู้สึกว่าเราจะเงียบ ให้ความเงียบเล่าเรื่อง เราอาจพูดคำอื่นก็ได้ที่เป็นการซ้ำเติม เช่น “ใช่ไหมลูก เห็นไหม ทีหลังเอาใหม่นะคะ” พูดแบบนี้ก็ได้ แต่เราเลือกจะไม่พูด การไม่พูด ณ เวลานั้นและในเหตุการณ์นั้น มันประทับลงไปลึกกว่า เพราะเขากำลังย่อยความรู้สึกของเขา แต่ในใจเราคือ “เห็นไหมล่ะ” (หัวเราะ)
บางคนบอก จะทำยังไงให้เขาเป็นคนแบบนี้ๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ดูว่าตัวเองต้องปรับปรุงให้เป็นคนยังไง เพราะเขาจะเป็นทุกอย่างแบบที่เราเป็น บางทีหันไป กำลังจะอ้าปากว่าแต่ยังไม่ได้พูด แค่คิดในใจว่า “ทำแบบนี้นิสัยไม่ดีเลย” แต่นั่นมันนิสัยชั้นเลย คือตัวเองทุกอย่าง
อยากเป็นคนที่ดีขึ้นเพื่อไม่ต้องสอนเขา
สอนไม่ได้ด้วย เพราะเด็กในวัยนี้ เขาทำตามแบบอย่างอยู่แล้ว การปากเปียกปากแฉะสอนลูกในช่วง 7 หรือ 10 ปีแรก เสียเวลานะ ลูกจะเป็นอย่างที่คุณเป็น การเป็นแบบอย่างให้ลูกเรื่องหนึ่ง แต่เขาก็จะเป็นตัวเขาเองด้วย เขาจะย่อยสิ่งที่รับฟังหรือเรียนรู้จากคนอื่นมาอีกทีหนึ่ง เลยรู้สึกว่า ตัวเองจะเครียดไปรึเปล่า? เราเองก็งดงามขึ้นและทำเท่าที่ทำได้
ตุ๊ก ชนกวนัน ทำทุกอย่างให้ปกติสุข ถ้าเรามั่นคง ลูกก็โอเค
เดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคม The Potential ตั้งใจทำประเด็นเรื่องจิตวิทยาครอบครัว หนึ่งในนั้นคือบทบาทการเป็นแม่ มายาคติการเป็นแม่ สำหรับคุณ… มีเรื่องไหนไหมที่คิดว่าคือมายาคติการเป็นแม่ เรื่องที่คนคาดหวังว่าคนเป็นแม่ต้องทำ แต่คุณรู้สึกว่าทำไม่ได้?
แม่คือมนุษย์คนหนึ่ง ลูกไม่ได้ขอมาเกิด เขาเกิดเพราะเราทำ ก็ต้อง on duty ถามว่าเสียสละไหม? ก็ต้องเสียสละนั่นแหละ เป็นแม่แล้วก็ต้องเป็นตลอดด้วย ลาออกไม่ได้ เราทำได้หมดถ้าเราอยากทำ แต่บางอย่างไม่จำเป็นต้องทำ
เช่น เตะฟุตบอลกับลูก ไม่ชอบก็ไม่เตะ และไม่คิดว่าตัวเองผิดด้วย ให้เขารอวันที่เจอพ่อแล้วก็เตะ บางคนคิดว่าซิงเกิลมัมต้องทำได้ทุกอย่าง ถ้าให้เตะฟุตบอลกับลูกจริงๆ ก็ทำได้ เช่น ถ้าไม่ทำแล้วลูกจะไม่หายจากโรคร้าย คือถ้าต้องเล่นก็เล่นได้ แต่มันไม่จำเป็น
นี่อาจเป็นหนึ่งในมายาคติซิงเกิลมัม คนชอบคิดว่าแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเหนื่อยยาก และต้องทำได้ทุกอย่าง
เหนื่อยแน่นอนแต่มันไม่ถึงกับชีวิต ซิงเกิลมัมผ่านแต่ละวันไปได้ยากกว่าคนที่มีสามี การรู้ว่ามีใครข้างๆ คอยซัพพอร์ตเราทางใจมันแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่มันไม่มีอะ อย่าเปรียบเทียบ เพราะตอนนี้มีทางเลือกเดียว เราเปรียบเล่นๆ แต่มันไม่เป็นจริง แค่ไหนแค่นั้น ยอมรับเท่าที่ได้
สิ่งที่ยากของการเป็นซิงเกิลมัม มีอะไรบ้าง
อาจเริ่มเล่าว่า เพราะคุณพ่อแต่งงานหลายครั้ง หย่ากับคุณแม่ตอนตุ๊ก 6 ขวบ คิดมาตลอดว่าจะไม่ให้ลูกเป็นแบบเรา วันแรกที่เกิดเรื่องนี้รู้สึกว่า “เฮ้ย นี่เป็นอย่างเดียวที่ไม่อยากให้เกิด ไม่เอา ไม่เอาแบบตัวเอง” แต่ใช้เวลาคิดกี่นาทีไม่รู้ แล้วก็ “ช่างมันเหอะ” มันแค่เสียดายว่าไม่อยากให้เกิด อยากให้ลูกมีครอบครัวสมบูรณ์ อยากให้มีพ่อแม่ลูกน่ารักกุ๊กกิ๊กเหมือนในละคร แต่พอมันไม่ได้ก็แค่ทำใจ ไม่ได้ทำใจได้ด้วย (พูดเร็ว) แต่ตัดความรู้สึกนั้นแล้วโยนทิ้งทะเลไป ไม่อย่างนั้นเราจะย้ำคิดย้ำทำบ้าบออยู่ในหัวอยู่นั่นแหละ
แต่คนส่วนใหญ่กลัวว่าลูกจะขาด
ขาดก็ขาด เขาก็จะเป็นมนุษย์ที่ขาดเรื่องนี้ไป มันเป็นรูปธรรม จะมาเถียงว่า “เลี้ยงให้สมบูรณ์ เท่าคนที่มีพ่อ” ยอมรับเลยว่าไม่ใช่ เพียงแต่ว่า… อะไรที่ทำได้ก็ทำ ไม่ใช่ว่าขาดแล้วไปบ้าบออีก นึกออกปะ? ทำในสิ่งที่ทำได้
เราเข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับสรรพสิ่งในโลก ไม่ได้เกิดความสงสัยหรือตีโพยตีพายว่าทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดกับฉัน พี่บ๊วยก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เราต้องเคารพการตัดสินใจ แค่ทำให้ดีที่สุด ไม่งั้นก็จะอิหลักอิเหลื่ออยู่อย่างนี้ fresh up ตัวเองขึ้นมาแล้วเดินทางใหม่
ในการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ หลายคนใช้ลูกเป็นเครื่องต่อรองความรัก
คำถามนี้อาจจะได้ประโยชน์ถ้าถามหลายๆ คน ตุ๊กตอบได้แค่ความจริงของตัวเอง ซึ่งมันไม่มีใครเหมือนกัน อันดับแรก พี่เอาลูกเป็นเซ็นเตอร์ที่ไม่อยากให้เขามีความเกลียดชังในหัวใจ เพราะมันจะเกิดกับเขาอยู่แล้วในเรื่องอื่น ซึ่งมันเป็นเรื่องของเขาในอนาคต แต่ในเมื่อเรื่องนี้เราเลือกได้และเราไม่ใส่ความเกลียดชังกับเขา ให้เขาเติบโตมาด้วยความรัก และเราแฮปปี้ด้วยว่าเราทำสำเร็จแล้ว เพราะเด็กๆ ติดพี่บ๊วยมาก นั่นแสดงว่าแม้แต่พลังงานของเราที่แผ่ออกไปมันไม่มีความเกลียดชัง เขาจะเติบโตมากับความรัก ยังอยู่ในวัยที่ควรได้รับความรัก เขามีสิทธิ์ได้รับความรักจากพ่อเชา จากคุณปู่คุณย่า ให้เขารับไป
สื่อสารกับลูกอย่างไรท่ามกลางความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลง
ไม่รู้ว่าทำถูกรึเปล่านะคะ แต่ใช้วิธีนี้… ตอนนั้นเขาเล็กมาก น้องภูมิเพิ่งเกิด แพรวเพิ่งสามขวบ เด็กวัยนั้น เขาไม่น่าจะเข้าใจการสื่อสารแบบลายลักษณ์อักษร แต่เข้าใจว่านี่ (ความจริงในครอบครัวแบบนี้) คือโลกของเขา เราแค่ทำทุกอย่างให้เป็นปกติ จนเขาโต เริ่มเห็น เริ่มตื่นจากตัวเองและเห็นคนรอบข้าง เห็นว่าบ้านเราไม่เหมือนคนอื่น พ่อแม่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน แค่นั้น เขาก็เห็นและเข้าใจ
แต่ก่อนหน้านั้นไม่ใช่ว่าเขาไม่เข้าใจนะ เราไม่ได้หลอกเขา ไม่ได้บอกว่า ‘แดดดี้ทำงานและไปนอนบ้านอื่น’ ไม่มี ทุกอย่างเป็นความจริง แต่เป็นความจริงที่ละมุนละม่อม และใช้ชีวิตทุกวันแบบ positive ไม่มีพลังงานของความเกลียดชัง
ไม่ใช่แบบ ‘ก็เขาไม่อยู่หนิ แยกบ้าน’ ไม่… อยู่คนละบ้านก็คืออยู่คนละบ้าน และแม่ก็ดู ‘ปกติสุข’ ไม่ใช่มีความสุขนะ แต่มันมีแค่นี้และมีความสุข ไม่ใช่ตื่นมาแล้วเราจะแบบ “เฮ้อ ถ้าเรามีแดดดี้ก็จะมีคนเปลี่ยนไฟให้’ ไม่ไง เปลี่ยนไม่เป็นก็เรียกช่างมาเปลี่ยน เขาจะไม่ฝันลอยแพว่านี่คือสุขที่สุดในโลก แต่มีความสุขแบบนี้ตามอัตภาพ เวลาแดดดี้มา… เขามีความสุขขึ้นแน่นอน แต่ไม่ได้บอกว่านี่คือสุขที่สุด แค่มีความสุขกว่าเดิม
มีโมเมนต์ที่รู้สึกว่ายากลำบากในการอธิบายเรื่องความสัมพันธ์กับลูกไหม
ไม่นานมานี้ตุ๊กบอกเขาด้วยความรู้เท่าที่มี คิดว่าคงต้องบอกเขานิดหนึ่ง แต่รู้เลยว่าตัดสินใจผิดเพราะบอกไปเขาก็ไม่เข้าใจ เขาเห็นว่าทุกอย่างเป็นแบบนี้ ปกติแบบนี้ก็พอแล้ว แต่แค่เข้าใจเพิ่มขึ้น หรือ เขาเริ่มสังเกตว่ามีเพื่อนที่เหมือนเขา เริ่มเห็นว่ามีเพื่อนที่ครอบครัวสมบูรณ์ และมีเพื่อนที่เหมือนเขาเลย เขาพูดด้วยความเศร้า มันเป็นวินาทีที่เศร้าแต่เขาก็ต้องเข้าใจ และเขาจะค่อยเข้าใจโลกใบนี้ขึ้นเรื่อยๆ
วันที่ลูกตั้งคำถาม คงเกิดความรู้สึกกับเราหลากหลาย ตอบคำถามและคลี่คลายความรู้สึกภายในตัวเองอย่างไร
รู้สึกมากเลย มีวันหนึ่งที่เขาถาม วันนั้นพี่ตุ๊กอยู่หลังพวงมาลัยรถ เขาบอกว่า “วันนี้เพื่อนหนูมาบอกว่าเราก็ขาดเหมือนกัน” ตุ๊กร้องไห้เลย แต่เขาไม่เห็นเพราะเขานั่งอยู่เบาะหลัง พอเขาไม่เห็นเรา มันก็เลยไม่ซับซ้อนว่าเราต้องทำหน้ายังไง แต่รู้สึกว่า “เฮ้ย ต้องตอบยังไงนะ”
สมองทำงานแรงมาก คิดหลายอย่างว่า เขาแค่จำคำมาพูดว่าขาด หรือเข้าใจว่าเขาขาด หรือแค่เพื่อนคนนั้นผ่านประสบการณ์ 1 2 3 4 มาคุยกับเขา แล้วเขาหยิบเอาคำนั้นมาสื่อสารกับเราว่า “เราก็ขาดเหมือนกัน” มันเป็นแค่ ขาด ‘ข-า-ด’ (สะกด) อาจไม่ได้เข้าใจความหมาย ในขณะที่เราประมวลผลในสมองว่าต้องตอบยังไงๆ เราก็หันไปถามเขาว่า “แล้วหนูว่ายังไงลูก” เขาตอบว่า “จำไม่ได้แล้ว” และก็เปลี่ยนเรื่อง เราไม่รู้ว่าเขาเปลี่ยนเรื่องเพราะลึกๆ เขาเฉไฉ หรือไม่ได้คิดอะไรจริงๆ หรือเปล่า แต่เท่าที่คุยกับหมอ หมอบอกว่าเขาไม่ลึกเท่าเราแน่นอน อาจเป็นประสบการณ์ที่เขาได้รับมาวันนั้น รู้เยอะรู้น้อยแต่ก็ได้รับๆ มา
หน้าที่เรา พื้นฐานที่สุดแค่ ‘everything will be ok’ ถ้าเราโอเค เขาก็โอเค เราไม่ได้ตื่นเต้นบ้าบอ แบบ ‘ไม่นะลูก ชีวิตลูกไม่ขาด’ หรือ ‘โอเคนะลูก แม่รักลูกก็พอ’ และมันไม่ใช่การเพิกเฉย เราแค่ ‘เออ… เรื่องนี้หนูว่ายังไง’ หรือบางทีก็ต้องเงียบ หรือบางทีแค่ ‘ถ้าลูกรู้สึกยังไง บอกแม่นะ’ ‘หนูอยากให้แม่ช่วยอะไรไหม’ ‘ถ้าอยากได้อะไรบอกแม่นะ แม่อยู่ตรงนี้นะ แม่พร้อมเสมอ’ อะไรก็ได้ที่เหมาะกับสถานการณ์นั้น ให้เขารู้ว่าเรามั่นคง ถ้าเขารู้ว่าเราผ่านได้ เขาก็พร้อมจะผ่าน
ทุกคนบอกว่าคุณคือคุณแม่สายสตรอง คิดแบบนั้นไหม?
มีคนบอกตั้งแต่วันแรกว่าเราเข้มแข็ง จน (ตอนนั้น) คิดว่าตัวเองเข้มแข็ง แต่พอเวลาผ่านไปแล้วเราเข้มแข็งขึ้นมาจริงๆ มองย้อนกลับไปวันแรกๆ เราไม่ได้เข้มแข็งเลย เหนื่อยนะ บางทีเพื่อนมาปรึกษา อยากฆ่าตัวตาย ซึมเศร้า นอนไม่หลับ เราไม่เคยมีโมเมนต์นั้นเลย รักในคุณสมบัติการหลับง่ายของตัวเอง ตอนที่เกิดปัญหา กินไม่ได้อยู่สิบวัน เฮ้ย… น้ำหนักลด พอกินได้ก็คิดว่า เอ๊ะ น่าจะลดอีกสักห้าโลนะ (หัวเราะ)
รักตัวเองรึเปล่าไม่รู้ แต่ยังหายใจได้ กินอิ่ม นอนหลับ สัญญาณชีพโอเค เท่านี้ก็ couldn’t ask for more จะขออะไรไปมากกว่านี้?