- คุยกับคุณพ่อวัย 37 ที่เตรียมรีไทร์จากงานประจำเพื่อเริ่มต้นงานใหม่ในตำแหน่งคุณพ่อเต็มเวลา
- ฟังดูฟุ้งฝัน แต่ยืนยันทำจริงเพราะวางแผนแน่วแน่มาหลายปี วิศวกรคอมพิวเตอร์อย่างเขาเขียนโปรแกรมชีวิตค่อนข้างชัดเจน วางแผนครอบครัวรัดกุม ถึงขั้นเรียนต่อปริญญาโทด้านจิตวิทยาพัฒนาการเพื่อตามหา ‘แม่ของลูก’
- อาจทำไม่ได้ในสังคมไทยปัจจุบัน แต่วิธีคิดบางอย่างก็ช่วยกวนตะกอนที่นอนก้นอยู่ในใจ ให้ลอยขึ้นมาใหม่ว่า ‘บ้าน’ คือโรงเรียนสำคัญของลูก
ภาพ: เฉลิมพล ปัญณาณวาสกุล
เกรียงไกร นิตรานนท์ คุณพ่อลูกหนึ่ง ภรรยาหนึ่ง วัย 37 ปี สถานะวันนี้ของเขาคือ นับถอยหลังการทำงาน เพื่อเริ่มต้นเป็นคุณพ่อเต็มเวลาในอีกไม่ช้า
“เป้าหมายของผมคือ full time daddy” เกรียงไกรหรือพ่อหมูของ ‘บี๋’ ลูกชายวัย 6 ขวบ ยืนยันด้วยรอยยิ้ม
เกรียงไกร หรือ หมู หรือ ‘พ่อหมู’ กลุ่มบ้านเรียน (homeschool) วางแผนลาออกจากการทำงานมาหลายปีแล้ว ตอนนี้เขาอยู่ในช่วงทยอยปิดโปรเจ็คท์ เมื่อภารกิจสำเร็จ เขาและครอบครัวจะย้ายไปอยู่ลำปางอย่างถาวร
ฟังดูฟุ้งฝัน แต่พ่อหมูยืนยันทำจริงเพราะวางแผนแน่วแน่มาหลายปี วิศวกรคอมพิวเตอร์อย่างเขาเขียนโปรแกรมชีวิตค่อนข้างชัดเจน วางแผนครอบครัวรัดกุม ถึงขั้นเรียนต่อปริญญาโทด้านจิตวิทยาพัฒนาการเพื่อตามหา ‘แม่ของลูก’ เพราะอยากเลี้ยงลูกอย่างมีประสิทธิภาพ
ฟังไม่ผิด ความคิดนี้ผุดขึ้นมาในสมองผู้ชายบ้างานตอนนั้นจริงๆ….
“ทำงานตอนนั้น รู้เลยว่าเราหาแฟนยากมาก หันไปไหนก็เจอแต่ผู้ชาย เราได้เงินเดือนมาเราก็กินของเราคนเดียว เลยคิดว่า เราน่าจะเก็บเงิน น่าจะมีครอบครัวได้แล้วนะ (หัวเราะ)”
นอกจากแม่ของลูกแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่หมูเรียนต่อด้านนี้เพราะอยากแก้ไขความสัมพันธ์กับน้องสาวคนเดียว
ในอดีต หมูคือเด็กหลังห้อง ที่พูดอะไรไม่คิด ยึดตัวเองเป็นใหญ่ และเป็นพี่ชายที่หวงน้องสาวอย่างสุดโต่ง มีหนุ่มๆ โทรมาจีบก็แอบเอาโทรศัพท์พีซีที (สมัยนั้น) ไปเขวี้ยงทิ้ง หรือเอาตัวขวางประตูบ้านไว้ไม่ให้น้องสาวออกไปเที่ยว
“ผมรักน้องสาวมาก แต่รักแบบใช้แต่แรง และเพราะผมเป็นผู้ชาย ผมรู้ดีว่าผู้ชายมันแย่แค่ไหน” พ่อหมูสารภาพเสียงอ่อย ถึงเรื่องราวตอนนั้น
เวลาหนึ่งปีครึ่งในคลาสปริญญาโท เกรียงไกรบรรลุภารกิจ ได้แม่ของลูกกลับมาพร้อมกับการค่อยๆ รื้อฟื้นความสัมพันธ์ใหม่กับน้องสาวอย่างเข้าใจเขาเข้าใจเรา
ทั้งหมดนี้ ทำให้เขาตัดสินใจเป็นคุณพ่อเต็มเวลา
ปริญญาโทจิตวิทยาพัฒนาการสอนอะไรคุณหมูบ้างคะ
คร่าวๆ คือ เรียนตั้งแต่พัฒนาการตั้งแต่อยู่ในครรภ์ไปจนถึงคนแก่ แต่รายละเอียดของเด็กจะมีเยอะ
ตอนแรกเราเข้าใจว่านักจิตวิทยา อารมณ์ดี คุยกับใครก็ได้ แต่จริงๆ แล้วเขาก็เป็นคนธรรมดาเหมือนเรา แต่จะมีความรู้และนำความรู้นั้นไปเชื่อมโยงกับงานวิจัย
สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการรับฟัง คือเราจะมีโจทย์ของเราตลอดว่า ต้องอย่างนู้น ต้องอย่างนี้ แต่ถ้านึกย้อนกลับไป เราไม่เคยฟังเขา (น้องสาว) เลย ทำไมเขาถึงทำ ทำเพราะอะไร
ถามว่าได้เอากลับไปใช้กับน้องสาวไหม ก็ไม่เชิง พอเรียนจบมา ต่างคนต่างโต เรื่องร้อนค่อยๆ คลี่คลาย น้องก็มีครอบครัว เวลาน้องมีประเด็นอะไรในครอบครัว น้องก็โทรมาปรึกษา เราก็ดีใจ ซึ่งเราแทบไม่ค่อยให้คำปรึกษานะแต่เป็นการรับฟังมากกว่า ซึ่งมัน effective ให้เขาได้ระบายออกมา
สำหรับผู้ชายที่เรียนวิศวะคอมฯ มา เข้าใจเรื่องนี้อย่างไร
ผมว่าเป็นอะไรที่รู้ก็ดี ยกตัวอย่างวิชาปรับพฤติกรรม ที่มองทุกอย่างคล้ายการเลี้ยงสุนัขเลยครับ เช่น ถ้ามีพฤติกรมนี้ขึ้นมาเกิดจากสิ่งแวดล้อมแบบนี้ ถ้าถอดสิ่งแวดล้อมแบบนี้ออกไป พฤติกรรมนี้ก็หาย
หรือการทำโทษ สามารถทำให้พฤติกรรมไม่พึงประสงค์หยุดได้ แต่การันตีว่ากลับมาใหม่แน่นอน ถ้าไม่ต้องการให้กลับมาใหม่ต้องมี reward หรือมีแนวทางบางอย่าง มีตัวอย่างหนึ่งที่ผมชอบมากคือ ตอนเช้าๆ บางทีแม่รีบแต่งตัวให้ลูกไปโรงเรียน ก็จะชอบว่าลูก เนี่ย ทำไมไม่ติดกระดุม หรือติดกระดุมเบี้ยว ว่าๆๆๆ แต่ไม่เคยให้แนวทางเลยว่าต้องทำยังไงต่อ พอไม่เคยให้แนวทาง เด็กก็จะลอง way ที่ 1 แม่ก็จะดุว่าผิดอีก แล้วจัดการให้ พอเด็กจะลอง way ที่ 2 ก็ผิดอีก โดนดุอีก เพราะไม่เคยได้ way ที่ถูก สักพักก็จะพัฒนาไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘ทำอะไรก็ผิดไปหมด’ พอผิดไปหมดปุ๊บ รอบต่อไปก็ไม่ทำละ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเด็กบางคน สุดท้ายเขาไม่ยอมปรับอะไรอีกแล้ว นั่นเพราะเขาลองมาเยอะแล้วเขาไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรอีกถึงจะถูก วิธีแก้อย่างหนึ่งคือ ต้องมีเวิร์คช็อปที่ช่วยทำให้เขารู้จักว่า success คืออะไร อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง
เรียนจบได้ราวๆ สองปี คุณหมูก็แต่งงาน เคยนึกหรือวางแผนก่อนไหมคะ ว่าอยากเป็นพ่อแบบไหน
แต่งงานได้สามปี ถึงมีลูกครับ สร้างเนื้อสร้างตัว เปิดบริษัทไอทีของตัวเอง
ตอนนั้นเรานึกไว้ในใจเรียบร้อยแล้ว รู้สึกว่าเรารู้อะไรในโลกนี้มาเยอะมาก แล้วเราก็อยากเอาความรู้ทุกอย่างมาปั้นเขาเลย ระหว่างเรียนจิตวิทยาพัฒนาการ เราก็ได้ไปเรียนรู้พุทธศาสนาด้วย เราก็เริ่มเห็นความสำคัญว่า อะไรที่มันควรพัฒนาในมนุษย์ ในเด็ก จริงๆ ต้องพัฒนาในเด็กเลย เพราะทุกวันนี้ ยังไม่มีสนามที่จะพัฒนาเด็กด้วย ก็คิดว่า เฮ้ย เรานี่แหละ เราจะเป็นคนที่มาจัดการเขา (ลูก) ทั้งหมด
เรียกว่าจัดการเลยใช่ไหมคะ
(พยักหน้า) ตอนนั้นนะครับ
ยกตัวอย่างความรู้เรื่อง ‘หูเด็ก’ ที่เรียนมา ให้เขาได้ฟังเสียงหลากหลายโทนตั้งแต่เขาอยู่ในท้องเดือนที่ 7 ราวๆ นั้นนะครับ ผมก็จำไม่แม่น เสียงมันทะลุท้องได้สบายๆ แล้วพอมันกระทบหูปุ๊บ สมองส่วนต่างๆ ของเด็กจะทำงานตามคลื่นความถี่แต่ละช่วง ฉะนั้นต้องไปซื้อลำโพงที่ดีหน่อย (ยิ้ม) ให้มันวิ่งตามคลื่นความถี่กระจายกัน หรืออย่างตอนคลอดเขาออกมา เราจะพาเขาไปให้เห็นสีที่มัน complicated (ซับซ้อน) แต่เน้นจากธรรมชาติเป็นหลัก เช่น จากดอกไม้ จากท้องฟ้าต่างๆ เพราะพอแสงที่แตกต่างเข้าตา สมองส่วนต่างๆ เหมือนถูกกระตุ้นด้วย ไฟฟ้า มันก็คือการพัฒนาการ
พอเขาโตเริ่มคุยกันได้ก็จะสอนเขากับเรื่องความรู้สึก ผมจะเรียกว่า soft skill ครับ คุยกับเขาในเรื่องพวกนี้เป็นหลัก
ตอนยังไม่มีลูก ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา เราได้เอาสิ่งที่เราเรียนมามาปรับใช้บ้างไหม
(พยักหน้า) ของใหม่ไง เพิ่งเรียนมา ก็ใช้ได้ค่อนข้างดีในช่วงแรกๆ
เน้นว่ามีช่วงแรกๆ มันก็ต้องมีช่วงหลังๆ ด้วยใช่ไหมคะ
ใช่ๆ พอนานไป บางที มันก็เข้ากลับมาสู่ความเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ความรู้ไม่ได้หยิบมาใช้ แต่ถ้าเรามีสติบ้าง เราก็จะกลับไปได้ เรารู้ว่าที่ถูกที่ควร ควรทำแบบไหน แต่ก็ไม่ได้ perfect ถึงขั้นว่า ทำได้หมด
ทั้งคู่เรียนจิตวิทยาพัฒนาการมา เคยมีสถานการณ์เอาความรู้มาชนกันไหม แล้วผลเป็นอย่างไร
มีทั้งช็อตดีและช็อตไม่ดี ช็อตไม่ดีเนี่ยมันกลายเป็นสัญชาตญาณทั้งหมดแล้ว ไม่มีความรู้เข้ามาแทรก คือ มันไม่มีสติครับผม
แต่รวมๆ ช็อตปกติมากกว่าอยู่แล้ว ส่วนช็อตไม่ดีก็มีเข้ามา interrupt ชีวิตบ้าง
ตอนที่อยู่กันสองคนมันสอนให้เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง หรือว่าจริงๆ แล้ว ทฤษฎีกับสัญชาตญาณอันไหนสำคัญกว่า
ผมว่าทฤษฎีมันสำคัญ แต่การเอามาฝึกฝนมันเป็นเรื่องของแต่ละคน เพราะว่าทฤษฎีเราใช้ได้กับคนข้างนอกที่เราไม่รู้จักแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ คำว่า 100 เปอร์เซ็นต์เนี่ยไม่ใช่ว่าเราบริหารจัดการเขาได้นะ แต่หมายความว่า เราไม่ต้องไปโกรธ ไม่เกลียดอะไรด้วยกับเขา เรารู้ว่านี่มันคือความคิดเขา นี่คือความคิดเรา แต่เวลากับคนที่ใกล้ชิด เฮ้ย เราว่าแบบนี้มันดีนะ เขาต้องคิดแบบเราสิ แบบนั้นมันไม่โอเคเลย ซึ่งอันนี้คือเวลาที่ทฤษฎีไม่ได้ถูกนำมาใช้ มันก็คือความทุกข์ และมันเป็นทุกข์จากเรา ไม่พอนะ มันก็ขยายทุกข์ไปยังเขาอีก สุดท้าย ในทางพุทธศาสนามันคือความ ยึดมั่นถือมั่น ว่าต้องแบบนั้น ต้องเป็นแบบนี้
ผมยกตัวอย่างนะ ผมสนใจพุทธศาสนาสายท่าน ป.ปยุตโต ผมชอบไปฟังเทศน์ที่วัดญาณเวศกวัน ทุกเสาร์-อาทิตย์ เหมือนเป็นคอร์สประมาณปีครึ่ง ต้องตื่นเช้าไปฟัง แต่พอภรรยาตื่นสาย ก็ทะเลาะกัน ทำไมเธอช้าอย่างงนี้ ขับรถไฟก็ฟึดฟัด นี่คือจะไปฟังเทศน์นะครับ (ยิ้ม) ‘เห็นไหม ตื่นสาย’ อย่างนี้ตลอดทาง
คือ ผู้หญิงจะทำนู่นทำนี่เยอะกว่าผู้ชาย เราแป๊บเดียว เรากะเวลาแม่นมากในการออก แต่พอเขามาถ่วง เราก็หงุดหงิดจนสุดท้าย ไอ้ความรู้ที่เรารู้มาทั้งหมด มันเหมือนเอาไว้โม้ให้คนอื่นฟัง (หัวเราะ) เพราะชีวิตจริงมันคืออีกเรื่องหนึ่งเลย จุดนี้ทำให้เราหยุดและคิดว่า ความรู้ทุกอย่างสำคัญอยู่ที่การฝึก
พอเป็นคุณพ่อล่ะคะ ได้เอาความรู้มาใช้มากแค่ไหน
ช่วงเขาอยู่ในท้องเนี่ย เรียกว่าใช้ง่ายมากเพราะว่ามันเป็นเราฝั่งเดียว จนเขาโตมาซักสองขวบ จะสามขวบก็ยังง่าย เพราะเขายังทำอะไรมากไม่ได้ แต่พอเขาเริ่มมีความคิดของเขา ก็มาต่อล้อต่อเถียงกับเรา อันนี้ก็ (นิ่งคิด) บางทีถ้าเราอยู่ในจุดที่เราเครียด หรือ วุ่นวายใจ ความรู้ที่มีก็ไม่ได้ใช้อีก แต่ถ้าใจเรานิ่ง เราคลีน เรามีสติ อารมณ์ดี ก็ถือว่าบริหารจัดการกับเขาได้ง่าย
ยกตัวอย่างประกอบได้ไหมคะ
อย่างเวลาเขาทำไม่ถูก ผมพยายามจะบอกเขาว่า เขาทำไม่ถูกนะ แต่เขาก็จะบอก เปล่า เขาไม่ได้ทำแบบนั้น เช่น เขาเล่น เอาน้ำมาฉีดใส่คนอื่น พอเขาฉีดเรา แล้วเราอยู่ในจุดที่ไม่พร้อมที่จะเปียก เราก็บอก ทำไมต้องเล่นแบบนี้ เขาก็จะเฉไฉว่าเปล่า เขากดไปเฉยๆ อะไรอย่างนี้ (หัวเราะ) ซึ่งมันไม่เกี่ยวกัน เขาก็จะบอกว่าเขาไม่ได้ทำ เขาแค่กดแล้วมันก็เปียกเลย เราก็จะบอกเขาว่า เฮ้ย มันไม่ใช่ เขาตั้งใจทำ
แล้วตอนนั้นคุณหมูมีวิธีการดึงสติหรือ recovery ตัวเองอย่างไรบ้าง
คือมันมีทั้งช่วงที่มีสติและช่วงที่ไม่มีสติ ถ้าช่วงที่มีสติเนี่ยก็จะเรียกมานั่งคุย เสียงเขาก็จะเบาลง แล้วเราก็จะบอกว่า รู้ไหม ถ้ากดอย่างนี้ รู้อยู่แล้วว่าน้ำมันจะกระเด็นนะ ถ้าอยากจะทดสอบเราอาจจะต้องหาจุดที่มันพร้อมเปียก ไม่ใช่ตรงนี้แต่อาจจะเดินไปในห้องน้ำ
เวลาไม่ถูก แล้วที่ถูกคืออะไร คือเราจะบอกเขาในสิ่งที่ถูก วิธีนี้ผมใช้เยอะ และค่อนข้างได้ผล
ความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกเอง มาตั้งแต่ตอนไหนคะ
มันอาจจะยังไม่ได้มาตั้งแต่แรกนะ แรกๆ เราอาจจะคิดว่า เปิดบริษัททำงาน เราจะส่งลูกเรียนดีๆ พาลูกไปเที่ยว แต่ด้วยความที่เราได้เรียนทั้งพุทธศาสนาและจิตวิทยา บวกกับการใช้ชีวิตต่างๆ แล้วพอเปิดบริษัทเอง การทำงาน รายได้ ทรัพย์สินที่เราซื้อเนี่ย มันถึงจุดหนึ่งที่เรารู้สึก เราพอแล้ว ไม่ใช่หมาล่าเนื้อที่ต้องไปเอามาอีกเยอะๆ อีกแล้ว
มันหลายๆ อย่าง แล้วก็ตกผลึกตอนที่เขา 2 ขวบ เราก็เลยคิดว่าเราจะหยุด จะปิดบริษัท ค่อยๆ เชิญคนออกไป ทุกคนก็บอก บ้าแล้วมึง จนตอนนี้ทั้งบริษัทเหลือผมคนเดียว ทำคนเดียวมาประมาณ 4 ปีแล้ว
ผมมองการที่เราอยู่กรุงเทพฯ มันไม่ตอบโจทย์แล้ว ค่าใช้จ่ายก็มาก สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้น้อยมาก อะไรที่จะต้องเรียนรู้เป็นโมเดลที่ต้องเติมเงินอย่างเดียว ถ้ารายได้เราเริ่มลดลงแล้วเนี่ย คงอยู่ตรงนี้ไม่ได้ เลยมองต่างจังหวัด แล้วก็ไปสร้างพื้นที่ขึ้นมา
แล้วพื้นที่ที่เราจะไปอยู่เนี่ย ก็จะพัฒนาเป็นจุดที่หารายได้ได้ด้วย รายได้อาจจะน้อยลงหน่อยแต่ คิดว่าเป็นที่ที่เราน่าจะอยู่กับลูกได้ตลอด แล้วลูกก็จะได้เห็นสิ่งที่เราทำ คือทุกวันนี้ ลูกเห็นในสิ่งที่เราทำน้อย เพราะเช้ามาเราก็ออกไปข้างนอกแล้ว ไม่ได้เจอกัน
ความคิดนี้ คุณหมูคิดคนเดียว หรือคิดร่วมกับภรรยา
จริงๆ กับภรรยาเริ่มแรกก็คุย แต่ก็เหมือนทุกคนคือ ไม่มีใครโอเค
มีคนเดียวที่โอเคคือตัวเอง?
แต่เราก็ convince นะครับ ช่วงนั้นจะ search หาคนกรุงเทพฯ แล้วย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด ดูว่าชีวิตเป็นอย่างไร เจอกันในอินเทอร์เน็ตก็นัดเขาไปสัมภาษณ์ (ยิ้ม) ก็พาภรรยาไปฟังด้วย เขาก็ค่อยๆ เห็นด้วยทีละนิด ทีละนิด แต่เราก็มองว่า นี่มันเป็นสิ่งที่มันควรจะเป็น บางอย่างเราก็เผด็จการเล็กน้อย (หัวเราะ)
ยอมรับว่าเราเผด็จการและมีความคิดตัวเองเป็นใหญ่?
อันนี้ใช่ครับบางทีมันก็ยังมีมุมมองตรงนี้เหลืออยู่ มันอาจจะผิดก็ได้นะแต่ถ้าในมุมนี้ผมมองว่า เขามองไม่เห็นในสิ่งที่ผมเห็นในการเลี้ยงลูก แล้วเขา (ภรรยา) ก็จะเห็นในมุมที่ผมไม่เห็นด้วย แต่อีกมุมหนึ่งเราก็ฟังจากเขา
การเรียนรู้ (learning) แบบนี้ เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ยากมาก คือ แต่ละวันผมอยากจะใช้เวลาทำกิจกรรมกับลูกทั้งวัน ซึ่งในกรุงเทพฯ ผมว่ามันไม่เหลืออะไรให้ทำนอกจากไปเที่ยว เดินห้าง ไปเล่นสวนสนุก ฯลฯ อย่างทุกวันนี้ที่ง่ายที่สุดคือ ไปสวนสาธารณะกับเขา ไปออกกำลังกายเป็นหลัก
เป็นกิจกรรมที่พ่อพยายาม convince แม่เพราะพ่อคิดว่าดี อยากถามค่ะว่าคุณพ่อได้ถามลูกบ้างไหมว่าชอบแบบนี้หรือเปล่า
(พ่อหมูหันไปถามลูก) ต่อไปนี้คือบทสนทนาระหว่างพ่อลูก
พ่อ: พ่ออยากให้บี๋ไปทำกิจกรรมอะไรนะ ที่ลำปางอะ
ลูก: ทำไร่ เลี้ยงวัว
พ่อ: เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย แม่ก็จะบอกว่า เลี้ยงวัวเลี้ยงควายไม่ได้อะไรใช่ไหม หม่ามี้บอกว่าอะไร
ลูก: ไม่ได้อะไรเลย ไม่ชอบ เหนื่อย
พ่อ: เราตั้งใจให้เป็นวิชาเลยนะ ตอนนี้ผมเหลือโปรเจ็คท์ด้านไอทีของลูกค้า ประมาณ 4 ที่ ครึ่งปีหลังน่าจะย้ายได้จริงๆ ผมก็ฝันว่า สำหรับลูก วิชาเลี้ยงวัวเลี้ยงควายเป็นสุดยอดวิชาเลยนะ พอเริ่มเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงม้า เลี้ยงวัวเลี้ยงควายจะเจอปัญหาว่า การขนฟางจากที่ที่หนึ่งมาให้มันกินในช่วงหน้าแล้งเนี่ย ใช้เงินเยอะมาก มันเหนื่อย และใช้เงินเยอะ เพราะมันตัวใหญ่และกินเยอะมาก ชาวบ้านจะลากวัวลากควายไปที่ที่มันมีหญ้า แล้วนั่งรอ
ซึ่งการนั่งรอวันละ 5-6 ชั่วโมงแบบนี้ติดต่อกันเป็นเดือน ต้องเตรียมอาหารไปกินเอง ระหว่างนั่งรอ แค่เห็นเมฆที่มันขยับ มุม แดดที่มันเปลี่ยนเงา มดที่เดินข้างๆ มันมีความเข้าใจต่อธรรมชาติสูงมาก แล้วมันไม่ต้องเป็นอะไรที่ต้องตั้งใจเรียนเลย มันรู้เองว่าแดดเวลานี้มันมามุมไหน ถ้าเจอมดเเบบนี้รังมันน่าจะอยู่แถวไหน หญ้าจะเป็นอย่างไร วิธีการหาร่มไม้ เเละถ้าพรุ่งนี้มารอวัวควายกินหญ้าเหมือนเดิม คนอย่างเราต้องวางแผนอย่างไรบ้าง มันไม่ง่าย ต้องวางแผน เรียนรู้รอบตัว
ลูก: ถ้าเกิดน้ำหมดล่ะ
พ่อ: เราก็ต้องถือให้มันเยอะขึ้น
ลูก: ถือเยอะขึ้น ถ้าเกิดแบ่งกันกิน ผมก็ต้องแบ่งให้พ่อ เดี๋ยวมันก็หมด
พ่อ: มันก็ต้องถือให้เยอะขึ้นมาอีก
ลูก: ก็หนักขึ้นจะถือได้ไง
พ่อ: ก็เข็นไปก็ได้ กินสองคนไม่เยอะหรอก
ผมมองว่าวิชาแบบนี้อาจจบได้ภายในเดือนนึงหรือเดือนครึ่ง คือจะแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน อย่างนี้โทรศัพท์ไม่ต้องรับเป็นวันก็ได้ ต่างจากทุกวันนี้ห้ามวางโทรศัพท์ไกลตัว ไม่งั้นมีปัญหาแน่ เพราะเรื่องงานกับชีวิต ชีวิตในกรุงเทพฯ สร้างเงื่อนไขไว้เยอะ เเต่ถ้าเราไปอยู่ที่โน่น เราค่อยๆ วางมันลงไป ให้ชีวิตประจำวันมันเป็นชีวิตจริงๆ ตรงนี้สำคัญ
ตอนลูกเกิดมาคุณหมูช่วยเลี้ยงลูกอย่างไรบ้าง
เราทำทุกขั้นตอน ทุกขั้นตอนทำแทนได้ แต่เเบ่งกันทำ ไม่ใช่ว่าต้องใครเป็นหลัก เช่น เปลี่ยนผ้าอ้อม เช็ดตัว
มันจะมีช็อตคลาสสิกอย่างคุณแม่ให้นมตอนกลางคืน คุณพ่อตื่นมาด้วยไหม
ช็อตนี้ ครอบครัวผมจะเเตกต่างจากคนอื่นมาก ผมไม่เคยรู้เลยครับว่ามีช็อตนี้ตอนกลางคืน เพราะภรรยาเป็น full time mom ฉะนั้นจะไม่มีขวดนม เข้าเต้าเท่านั้น พอตอนกลางคืน ร้องตื่นก็เข้าเต้าไป ที่เราไปเรียนจิตวิทยามา เราจะรู้เลยว่า สมองมีความเชื่อมโยงกับสัมผัสถ้าเราให้เขาดูดจุกนม กับ ดูดจากเต้า การสันดาปออกซิเจนจะต่างกันโดยสิ้นเชิง
เเล้วพอลูกโตขึ้น คุณหมูเป็นคุณพ่อ full time แค่ไหน
เนื่องจากตอนนี้ผมยัง full time ไม่ได้ โดยเฉพาะวันทำงาน เเต่ช่วงหลังๆ มา พองานมันน้อยลงก็จะวางแผนว่า ปีหนึ่งเราจะไปเที่ยวทีหนึ่งแบบไปยาวมากๆ ประมาณ 1 เดือน เเละไปเที่ยวที่ค่าใช้จ่ายไม่สูง ไม่ต้องกินอะไรข้างนอก ซื้ออาหารทำเอง พยายามจะไปเรียนรู้ที่ 1 เดือน เราได้เลี้ยงเขาเต็มที่
แล้วก็เลือกให้ลูกเรียนแบบโฮมสคูล
เป็นความตั้งใจตั้งแต่ตอนเรียนจิตวิทยา เขาสอนเรื่องโรงเรียนแบบต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ แบบวอลดอร์ฟ ไปจนถึงบ้านเรียน (homeschool) ก็ตั้งใจตั้งเเต่ตอนนั้นเลยว่าถ้าเรามีลูกเราจะเลี้ยงเเบบนี้นะ ตกลงกับภรรยาไว้ตั้งแต่แรก
วางหลักสูตรคร่าวๆ ให้ลูกเรียนอะไรบ้างคะ
ผมกับภรรยาจะวางไว้คนละเเบบ ภรรยาอยากจะเน้นให้ลูกพัฒนาด้านทักษะร่างกาย ให้เขาได้เข้าสนามเเข่งขันต่างๆ ส่วนผมมองว่าเน้นเรื่องชีวิต ยังไม่มองเรื่องความรู้ข้างนอก เช่น ชีวิตเเต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งตอนนี้วิชาของผมยังไม่ได้สอนเขานะ วิชาของผมจะถูกสอนก็ต่อเมื่อย้ายไปอยู่ที่ลำปางด้วยกัน มองไว้เป็นโปรเจ็คท์ ตั้งเเต่ life cycle เกี่ยวกับ food ทั้งหมด ตั้งเเต่การปลูกผักกินไข่ เลี้ยงไก่ จับปลามาทำอาหาร
เฟรมใหญ่ของผมคือ สังเกตฟ้าดินแล้วไปสังเกตคนเอง สังเกตผลลัพธ์ สังเกตผลการกระทำ ถ้าเราช่วยเด็กหงายเเง่มุมนี้ขึ้นมาเเละเขาสามารถกระจายไปทุกๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐศาสตร์
ยกตัวอย่าง โตไปผมตั้งใจอยากไปถามเขาว่า ไปเดินตลาดนัดด้วยกันทำไมเงินในกระเป๋าหม่ามี้ถึงเข้าไปอยู่ในกระเป๋าอีกคนได้ เพราะอะไร เพราะเขาอยากได้ของจากอีกคนหนึ่ง เเละทำไมอีกคนหนึ่งเข้าใจว่าต้องหยิบของชิ้นนี้มาวางขาย เพราะเข้าใจ need ของคนว่า คนเรามันก็อยากสุขสบาย อยากได้รสชาติหวานๆ อร่อยๆ สุดท้ายมันเป็นการสังเกตความเชื่อมโยง พุทธศาสนาบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเหตุเเละปัจจัย เมื่อเราเข้าใจเหตุปัจจัย จะทำให้คนนั้นไปอยู่ได้ในหลายๆ สถานการณ์
ทุกวัน บี๋(ลูก) ทำกิจกรรมอะไรบ้าง
เเต่ละวัน จริงๆ ตัวเฟรมใหญ่คือการซ้อมสเก็ตซ์ของเขา เเม่ก็จะพาไปซ้อมกับครูและทีม ออกจากบ้านประมาณสี่โมงเย็น เเล้วกลับมานอน เเต่ถ้าตื่นมาตอนเช้า ที่บ้านค่อนข้างฟรีสไตล์ กินข้าวเช้าก่อน อาบน้ำ แปรงฟัน เเละเขาจะมานั่งเปิดคอมพิวเตอร์ ดูซีรีย์ youtube ของเขา ที่บ้านไม่เคยให้ดูทีวีเลย ผมจะเปิดใน youtube อย่างเดียว เเละเราจะเลือกวิดีโอที่เป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียว เขาจะได้ศัพท์ใหม่ๆ ในหนึ่งอาทิตย์มีอยู่หนึ่งวันที่จะเรียนวิทยาศาสตร์กับเลขขึ้นอยู่กับครูว่าจะสอนอะไร เเล้วก็อีกวันหนึ่งก็คือเรียนยิมนาสติก
แล้วมีวิธีการพาเขาเรียนรู้อย่างไรบ้าง ตอนที่ยังไม่ย้ายไปอยู่ที่ลำปาง
วันไหนมีกิจกรรมไปก็ด้วยกันตลอด เราก็จะสอนเขาตลอด เช่น เขายังอ่านไม่ได้เเข็งเเรง เเต่เขาจะรู้ว่าการอ่านคือสิ่งสำคัญ เราคุยกับเขาว่าเราจะไปที่นี่ เราต้องนั่งรถไฟฟ้าไปสถานีนี้ ถ้าเราอ่านไม่ได้จะเป็นอย่างไร เขาก็จะเริ่มรู้ว่าที่ที่เขาอยากไปถ้าอ่านไม่ออก จะไปที่นั่นก็ลำบาก เขาก็จะขาดโอกาสไปต่างประเทศ กระทั่งจะกลับบ้าน ก็ต้องอ่าน ผมจะหงายแง่มุมตรงนี้ให้เขาเห็นตลอด ให้เห็นความติดขัดในทักษะนี่ ทำให้เกิดอะไรบ้าง เขายังขาดอะไรที่ต้องพัฒนา
หรืออย่างไปอยู่กับเพื่อนๆ วัยเขา ตัวเองคือ self center อยากได้อะไร ไม่ชอบอะไร เขาจะเเสดงออกชัดเจน เช่น ถ้าอยากได้ของที่เพื่อนถืออยู่ ก็จะไปหยิบมาเลย ถ้าเป็นเราโดนแย่ง เราจะรู้สึกอย่างไร จะชวนเขาคุยเรื่องความรู้สึก พอเขาเรียนรู้ท่าทีก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
มีพัฒนาการหรือสัญญาณอะไร ที่บอกว่า เรามาถูกทางแล้วบ้าง
ผมรู้สึกว่าเขามีการเรียนรู้ความรู้สึก เช่น เขาอยากจะได้ของชิ้นหนึ่ง เด็กก็จะยอมเป็นเด็กดีตามที่พ่อแม่วางไว้ เเละพอได้ของชิ้นนั้นเเล้ว หลังจากวันนั้นไปก็ดื้อ ผมก็จะชวนเขาคุยว่า พฤติกรรมแบบนี้มันทำให้อีกคนหนึ่งรู้สึกเสียใจไหม เเต่ผมจะใช้คำพูดที่ชัดเจนขึ้นมาหน่อย เช่น ถ้าคุณอยากได้ของเเล้วพอคุณได้ คุณก็ดื้ออีกเเล้ว
ความที่เราคุยกันบ่อยๆ ผมจะรู้ว่า จริงๆ เขาพยายามนะ เเต่พอวันหลังเขาทำไม่ได้ เขาก็รู้นะว่ามันไม่ดี อันนี้ก็จะเป็นมุมมองที่ผมว่าเขาได้
เขารับรู้ถึงความรู้สึกของคนอื่น?
ใช่ครับ เป็นสิ่งที่ผมอยากให้เด็กได้เรียนรู้เร็วที่สุดเท่าที่เด็กจะเรียนได้ จริงๆ มันเป็นเเค่สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เราเเค่หงายเเง่มุมนั้นขึ้นมาพูดคุย
อย่างช่วงที่พ่อผมเสียชีวิตอะไร ผมก็จะเเชร์ให้เขาฟังว่า พ่อของผมก็เหมือนผมกับเขา เเละคิดว่าพ่อรักไหม เเละถ้าตอนนี้พ่อจากไปเขาจะรู้สึกอย่างไร คือจะพยายามให้เขาเริ่มจินตนาการเเล้วเปรียบเทียบความรู้สึกต่างๆ
จะมีชุดความคิดว่าบางอย่างพ่อแม่ทำไม่ได้ในวัยเด็ก เเล้วพอมีลูกก็จะเอาความคาดหวังหรือความฝันของพ่อแม่มาอยู่กับลูก ชุดความคิดนี้มันส่งถึงความฝัน ความคาดหวังของคุณหมูต่อลูกมากน้อยแค่ไหน
ผมว่ามันมีนะ ยกตัวอย่างในวัยเด็ก เราอยากตีลังกา เราอยากอะไรต่างๆ เป็น เเล้วก็ลึกๆ อยากเเข็งเเรง ทุกวันนี้ก็จะพาลูกเรียนยิมนาสติก คือมันก็พูดยาก มันเป็นความอยากของพ่อที่อยากให้ลูกทำได้เเล้วเด็กก็สนุกด้วย
หรือเรื่องที่ผมพยายามสอนให้ลูกรับรู้ความรู้สึกของคนอื่น มันน่าจะมาจากตอนผมเด็ก ผมเป็นคนชอบแกล้งเพื่อน เป็นเด็กหลังห้องที่ไม่มีความเข้าใจกับเรื่องความรู้สึกเลย เอาตัวเองสนุกไว้ก่อน ขึ้นมาถึงห้องก็ไปหยิบสมุดของคนอื่นในกระเป๋ามาสลับกันๆ ผมสนุก อยู่คนเดียว เพื่อนนี่ขั้นเกลียดเลย ช่วง ม.ปลายเราเก่งคณิตมาก เป็นตัวเเทนโรงเรียนไปเเข่งขัน ก็จะชอบไปทับถมคนอื่น เเต่โชคดีพอเข้ามหาวิทยาลัย เราเจอเพื่อนกลุ่มใหม่ มาเข้าทำงานเจอสิ่งเเวดล้อมที่ดี พวกนี้ค่อยๆ เปลี่ยนเรา
เคยหาคำตอบไหมคะว่าทำไมถึงเป็นคนแบบนี้
พ่อแม่สนใจใน daily operation ชีวิตมากจนไม่มีเวลามาพูดคุยกับเราเรื่องนี้เลย เช่น รู้ไหมลูกถ้าลูกทำอย่างนี้เพื่อนเขาจะไม่ชอบ บางครั้งครูเรียกผู้ปกครองไปพบ แม่ก็จะแค่บอกว่า อย่าทำแต่ไม่เคยมาคุยว่าทำอย่างนี้จะเกิดอะไรขึ้น ทำให้เราไม่เคยเข้าใจคนอื่นเลย
การเรียนในโรงเรียนกระเเสหลัก เป็นปัญหาด้วยไหม จนทำให้คุณหมูตัดสินใจทำโฮมสคูล
สิ่งที่ผมจำได้ตอนมัธยม อย่างเอนทรานซ์ (สอบเข้ามหาวิทยาบลัย) วิชาฟิสิกส์ ครูในโรงเรียนสอนไม่เข้าใจ เเละผมต้องมาเรียนจากการเรียนพิเศษ เเละจริงๆ แทบทุกวิชา ผมมาเรียนจากการเรียนพิเศษเเละผมก็เอนทรานซ์ติดเพราะผมเรียนพิเศษ
ผมเลยรู้สึกว่าวิชาที่ต้องสอบเอนทรานซ์ทั้งหมดเราก็เเค่ไปส่งลูกเรียนพิเศษเอาตอนก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เเละเราก็ provide ในสิ่งที่เขาจะต้องรู้ ให้เขาก่อน พอมองอย่างนี้ปุ๊บทำให้เห็นว่า ผมอาจจะต้องการโรงเรียนในระบบของผมเอง
ที่บอกว่าธงของคุณหมูคือเป็น คุณพ่อ full time มันมาตอนไหน เเล้วมีวิธีการอย่างไร
จริงๆ มาตอนที่เขาอายุประมาณ 2 ขวบ มองว่าสิ่งที่เรารู้ทั้งหมด เราอยากถ่ายทอดให้กับเขา ตรงนั้นมันเป็นจุดตัดสินใจ เลยเริ่มซื้อที่ดิน เริ่มหา location เริ่มพัฒนา เริ่มประกาศออกมาว่าเราจะปิดบริษัท
ฟังดูขวางโลกมาก มีคนขวางมากไหมคะ
ไม่มีใครเห็นด้วย เเต่นี่คือชีวิตเรา คือในมุมหนึ่งผมเป็นคนที่ถ้ารู้ว่าอะไรคือ fact อะไรคือของผม ผมก็จะแชร์ ไม่รู้สึกว่าต้องกั๊ก หรือ กันอะไร คิดอะไรได้ก็พูดออกมา ค่อนข้างตรงไปตรงมาเกือบทั้งหมด
แต่หลายครอบครัวก็มีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ อยากทำแบบนี้บ้างก็ทำไม่ได้ มีวิธีหรือคำแนะนำไหมคะ
เศรษฐกิจเป็นจุดยาก จริงๆ ผมว่าถ้าโรงเรียนไม่ดี เเล้วเรา (พ่อแม่) มีเวลาอยู่กับเขาได้มากขึ้น และชวนเขาคุยในมุมมองต่างๆ เพิ่มขึ้นมันก็โอเค
อย่ามองว่าโรงเรียนต้องเป็นคนปั้น หรือครอบครัวผลักหน้าที่การสอนและการเลี้ยงดูให้โรงเรียน จะทำให้พัฒนาเด็กได้น้อย เรา (พ่อแม่) อาจจะต้องเป็นอีกโรงเรียนหนึ่งในเวลาที่ลูกไม่ได้ไปโรงเรียน เเละมองโรงเรียนเป็นเพียงสนามว่าทดสอบทักษะต่างๆ ที่เราสอนไป
พอเขาเอาไปใช้มันเวิร์คไหม ไม่เวิร์คก็ปรับแก้ จูนกันไป คิดว่าแบบนี้น่าจะเป็นมุมที่น่าจะไปด้วยกันได้กับกลุ่มที่ติดขัดทางเศรษฐกิจ
แล้วในบทบาทของพ่อแม่ อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรจะมอบให้ลูก
สิ่งที่สำคัญมากๆ เลยคือทักษะที่เขาจะหาเลี้ยงชีพได้ด้วยตัวเองและมีกินได้ ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าเราขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียนทุกวันช่วงจน 10 ขวบ แล้วจู่ๆ พ่อกับเเม่เสียชีวิตไป ชีวิตวันพรุ่งนี้ของเขาจะทำอย่างไร เเต่ถ้าช่วง 10 ขวบ เขาได้ออกไปจับปลา เก็บไข่ ปลูกผัก เก็บผักกิน ทำจนเป็น เเล้ววันรุ่งขึ้น พ่อแม่จากไป เขาก็เเค่ออกไปเก็บผักกิน เก็บไข่กินเหมือนเดิม เเล้วก็ค่อยไปงานศพพ่อแม่ก็ได้