- สภาวะที่สามนอกจาก ‘fight or flight’ สู้หรือหนี คือ freeze – ภาวะถูกแช่แข็ง ในระยะยาวสมองจะถูกตั้งโปรแกรมให้ตอบสนองต่อความเครียดได้ง่าย มีเซนส์ของ ‘บาดแผลทางใจ’ ที่นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าโดยเฉพาะกลุ่ม PTSD และมีผลทำให้เป็นคนชะงักงันทางอารมณ์
- ภาวะถูกแช่แข็งมักเกิดกับเด็กได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เด็กที่ไม่มีอำนาจต่อรองและไม่รู้จะหนีจากสถานการณ์นี้ได้อย่างไร ไม่รู้ว่าจะสู้อย่างไร หนีไปไหน ไม่สามารถยินดียินร้ายหรือเข้าอกเข้าใจ (empathy) ในสถานการณ์อื่นๆ ได้ นับเป็นความรู้สึกที่อึดอัดและกลายเป็นเกลียดที่ตัวเองไม่มีความรู้สึกแบบนั้น
หลายคนคุ้นหูกับคำและสภาวะ ‘fight or flight’ จะสู้หรือจะหนี กลไกป้องกันตัวที่ถูกสั่งการจากสมองทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว (เช่นเดียวกับเวลาคนยกโอ่งน้ำหนีเวลาไฟไหม้ได้) แต่ภายใต้ความซับซ้อนและทรงพลังของสมอง ยังมีอีกหนึ่งกลไกป้องกันตัวยืนหนึ่งระหว่าง fight กับ flight อีก นั่นคือภาวะที่สาม… freeze
freeze – ภาวะ (สมอง) ถูกแช่แข็ง ไม่สู้ ไม่หนี คล้ายสำนึกคิดเข้าสู่สภาวะอัมพาตไปบางขณะ และให้เซนส์ของ ‘บาดแผลทางใจ’ มันเป็นภาวะที่รู้สึก (อย่างไม่ทันได้คิดเป็นกระบวนการ มันเกิดขึ้นเร็วมากและอย่างอัตโนมัติ) ว่าสู้ไม่ได้แน่นอนแต่ก็ไม่รู้จะหนีไปพึ่งใคร ไม่มีใครในโลกที่คุณจะวิ่งเข้าไปขอความช่วยเหลือ ปลอบโยนบรรเทาให้รู้สึก ‘ปลอดภัย’ ได้อีกแล้ว และหากเราเข้าสู่โหมดนี้ตลอดเวลา สมองอยู่ในภาวะเครียดไม่เคยได้พัก คอลติซอลหรือฮอร์โมนแห่งความเครียดท่วมท้นในสมองอยู่ตลอด นั่นหมายถึงสมองถูกตั้งโปรแกรมให้อ่อนไหวต่อความเครียดได้ง่าย ตื่นตัวเร็ว และเลิกรากับมัน (หยุดเครียด) ได้ยาก
กล่าวโดยคร่าว freeze – เป็นภาวะที่ในระยะยาวจะทำให้สมองเราตั้งโปรแกรมให้ตอบสนองต่อความเครียดได้ง่าย เกิดกับเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ มีเซนส์ของ ‘บาดแผลทางใจ’ ที่นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าโดยเฉพาะกลุ่ม PTSD (สภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง) และมีผลทำให้เป็นคนชะงักงันทางอารมณ์
การทำงานของสมอง ระหว่าง fight-สู้ กับ flight-หนี
ก่อนจะว่ากันถึงภาวะแช่แข็ง freeze ขออธิบายการทำงานของสมองระหว่าง fight กับ flight เสียก่อน
ในช่วงที่คุณถูกกดดัน คุกคาม หรือตกอยู่ในสถานการณ์เครียดขึ้งและต้องตั้งรับ – ในที่นี้ขอพูดถึงการเผชิญหน้ากันระหว่างคนกับคน – หากคนตรงหน้าเป็นคนที่คุณรู้สึกว่าพอจะต่อสู้ได้ ไม่ว่าจะทางอำนาจหรือร่างกายก็ตามที่ทำให้หลุดพ้นจากสภาวะความกลัวบางอย่างในใจได้ คุณจะเข้าไปอยู่ในสภาวะ ‘สู้’ (fight mode) กรณีนี้ ระบบประสาทซิมพาเทติค (Sympathetic Nervous System-SNS) ส่วนหนึ่งของระบบประสาทอัตโนมัติจะควบคุมการทำงานอวัยวะที่ ‘อยู่เหนืออำนาจจิตใจ’ (เรามักรู้จัก SNS แง่ที่คนยกโอ่งน้ำได้ในยามไฟไหม้) สั่งงานให้อะดรีนาลีนหลั่ง ทำให้คุณพร้อมต่อสู้และมีเซนส์แห่งความหวังว่าจะชนะ กรณีตรงข้าม คุณประเมินแล้วว่าคู่กรณีตรงหน้ามีอำนาจเหนือกว่า ร่างกายจะสั่งให้คุณ ‘หนี’ (flight mode) อวัยวะในร่างกายทำงานคล้ายกันในแง่จะเพิ่มพลังให้คุณหนีไปอย่างไม่คิดชีวิต แต่ก็เต็มเปี่ยมด้วยหวังว่าจะหนีได้
แต่ในภาวะที่ ไม่รู้จะหนีไปไหนและสู้ไปก็แพ้ ทำให้เราเข้าสู่สภาวะที่สามนั่นคือ freeze การแช่แข็ง ตรงนี้เองที่สมองกระตุ้นให้เกิดฮอร์โมนความเครียด (คอลติซอล) นอกจากนี้ไฮโปธาลามัส (ศูนย์บัญชาการด้านอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ความดัน การเต้นของหัวใจ สมดุลร่างกายอย่าง หิว/อิ่ม/นอนหลับ) ยังสั่งการแกนตอบสนองความเครียด HPA (ไฮโปธาลามัส-ต่อมใต้สมอง-ต่อมหมวกไต) ให้ตื่นตัวตลอดเวลาด้วย
อย่างไรก็ตาม เวลาที่เกิดความเครียด สมองเราจะมีระบบปฏิบัติการเพื่อคลี่คลายความเครียดได้เองและอัตโนมัติ ถ้าระบบประสาทซิมพาเทติค คือระบบที่สั่งการให้ร่างกายตั้งรับและทำให้เกิดความเครียด ระบบประสาทพาราซิมพาเทติค (Parasympathetic Nervous System-PN ทำงานนอกเหนืออำนาจจิตใจเช่นเดียวกับระบบประสาทซิมพาเทติค) ก็จะส่งสัญญาณลงมาปฏิบัติการให้ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติหรือภาวะผ่อนคลายได้ในเวลาต่อมา
แต่ตรงนี้เอง ผู้ที่ต้องตั้งรับและเข้าสู่สภาวะแช่แข็งตลอดเวลา เครียดตลอดเวลาและไม่ได้พัก อาจมีผลทำลายสมดุลความเครียดในร่างกายและเปลี่ยนโครงสร้างสมองได้
สู้ไม่ได้ หนีไม่ไหว: ความน่ากลัวของภาวะแช่แข็งในวัยเด็ก
ที่ต้องพูดถึงที่สุดคือ สภาวะนี้มักเกิดกับเด็กได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ลองคิดดูหากคุณอยู่กับพ่อที่ติดแอลกอฮอล์ แม่ที่เพิกเฉยไม่แสดงความรู้สึกต่อคุณ ไม่ว่าจะสนใจ/ไม่สนใจ พอใจ/ไม่พอใจ ไม่เคยแสดงความรักและมักดุด่าใส่อารมณ์กับคุณอยู่เสมอ (ไม่ว่าจะหวาดกลัวอำนาจของสามี หรือสัมภาระเก่าที่ถูกเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่เพิกเฉยต่อความรู้สึกเช่นกัน) เด็กที่ไม่มีอำนาจต่อรองและไม่รู้จะหนีจากสถานการณ์นี้ได้อย่างไร ไม่รู้ว่าจะสู้อย่างไร หนีไปไหน สถานการณ์แบบนี้ทำให้เด็กเข้าสู่ภาวะ freeze ได้ง่าย …ง่าย กว่าผู้ใหญ่มาก
ประการต่อมา ผู้ที่อยู่ในภาวะ freeze – ในที่นี้ขอพูดถึงภาวะที่เกิดในเด็ก สิ่งที่ตกค้างคือเด็กคนนั้นจะกลายเป็นคนที่ชะงักทางอารมณ์ ไม่รู้สึกรู้สากับสิ่งรอบตัว
“ถ้าสมองส่วนหนึ่งบอกว่า ‘จงไปหาแม่’ แต่ก้านสมองบอกว่า ‘จงหนีไป’ มันเป็นความย้อนแย้งทางชีวภาพที่ไม่สามารถแก้ไขได้ (…) วงจรสมองถูกกระตุ้นด้วยเป้าหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เด็กไม่อาจทำทั้งสองอย่างนี้พร้อมกัน จิตใจของเด็กแตกออกเป็นเสี่ยงๆ เพราะวงจรทั้งสองพยายามทำหน้าที่ไปด้วยกันและผสานกัน แต่ไม่สามารถทำได้”
คือคำพูดของนายแพทย์ แดน ซีเกล จิตแพทย์เด็กเจ้าของหนังสือ ‘Brainstorm: The Power and Purpose of the Teenage Brain’ อ้างอิงในหนังสือ ‘Childhood Disrupted: How Your Biography Becomes Your Biology, and How You Can Heal’ โดย ดอนนา แจ็คสัน นากาซาวะ (หน้า 184) โดยในหนังสือเล่มนี้ยกกรณีตัวอย่างของผู้ที่วัยเด็กตกอยู่ในภาวะแช่แข็งและบอกว่า พวกเขาไม่สามารถยินดียินร้ายหรือเข้าอกเข้าใจ (empathy) ในสถานการณ์อื่นๆ ได้ ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่อึดอัดและกลายเป็นเกลียดที่ตัวเองไม่มีความรู้สึกแบบนั้น
นอกจากนี้ภาวะ freeze ยังถูกพูดถึงว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า (ที่เป็นผลจากภาวะเซนซิทีฟต่อความเครียดได้ง่าย ตื่นตัวตลอดเวลา และท่วมท้นไปด้วยฮอร์โมนความเครียดอย่างคอลติซอลต่อเนื่อง) โดยเฉพาะ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) สภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง
การเยียวยาและความเชื่อในพลังแห่งการมีตัวตน
ข้อมูลข้างต้นอาจฟังดูหดหู่และคล้ายถูกต้องคำสาป – เพียงเพราะเกิดมาอยู่กับครอบครัวที่มีปัญหาและขาดพร่อง และแม้ความรู้ชุดนี้จะบอกว่ามันคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและสถาปัตยกรรมสมอง แต่ก็มีข้อเท็จจริงอีกประการเช่นเดียวกันว่าสมองเราปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาและทำได้อย่างทรงพลัง
ประการแรก – หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่ามีบาดแผลทางใจในวัยเด็กและเข้าข่ายภาวะแช่แข็งอยู่บ่อยครั้ง การเข้ารับคำปรึกษาหรือช่วยเหลือจากมืออาชีพนับเป็นความจำเป็น นอกจากนักบำบัดมืออาชีพจะช่วยคลี่คลายสางสัมภาระเก่าของคุณ ปัจจุบันยังมีเครื่องมือหลากหลายตั้งแต่ศิลปะบำบัด วาดบำบัด เพลงบำบัด ให้เลือกและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน สำคัญที่สุด ปัจจุบันที่ความรู้เรื่องนี้ถึงพร้อม ไม่มีใครตีตราอีกแล้วว่าบาดแผลทางใจคือเรื่องผิดบาปและหรือคุณเป็นคนผิดปกติ – เพราะต้องไม่ลืมว่าเราต่างมีปมด้วยกันทั้งนั้น
งานวิจัยทางประสาทสมองปัจจุบันบอกว่า การขยับเขยื้อนร่างกายควบคู่ไปกับการหยุดพักและฝึกสมาธิ ทั้งในแง่การทำสมาธิจริงๆ การเล่นโยคะ ไทกงชี่กง หรือการทำงานกับร่างกายด้วยสมาธิอื่น ยืนยันว่าความสงบในช่วงการทำสมาธิช่วยลดภาวะเครียดในสมอง (ลดคอลติซอล) ได้จริง และการกลับมาโฟกัสที่ความรู้สึกยังทำให้เกิดการฟื้นฟูสมองส่วนอารมณ์และความรู้สึกทำงาน ทั้งหมดรวมกันมันช่วยลดภาวะอักเสบทางสมองได้
สอง – ในกรณีที่คุณเห็น อยู่ใกล้ หรือมีส่วนรับผิดชอบชีวิตของเด็กคนหนึ่ง หากพบเห็นเหตุการณ์ที่เข้าข่ายทารุณกรรมทางจิตใจและร่างกาย การแจ้งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการอย่างเร็วที่สุดนับเป็นสิ่งที่ไม่ควรลังเล หรือ มันอาจจะเป็นคุณก็ได้ที่จะเป็นที่พึ่ง – แม้เพียงคนเดียวในโลกของเด็กคนหนึ่ง ก็นับเป็นการเปลี่ยนแปลงและช่วยเหลือที่ทรงพลังได้ เพราะในภาวะแช่แข็ง มันคือการไม่รู้ว่าจะสู้หรือหนีไปพึ่งใคร หากเด็กรู้ว่ามีใครอีกคนที่เขาจะหนีไปพึ่งพิงหรือรู้ว่าสู้แล้วจะมีคนคอยซัพพอร์ตและอยู่ข้างเขา เท่านี้โลกของเด็กคนหนึ่งก็เปลี่ยนได้
ย้ำอีกครั้ง – เพียงหนึ่งคนที่เห็นว่าเขามีตัวตน และเป็นที่พึ่งให้เรา ‘หนี’ มาหาคุณได้ เพียงเท่านั้นก็เป็นการเปลี่ยนแปลงและโอกาสที่ยิ่งใหญ่แล้ว