- ไม่ได้ชวน ‘น้องธันย์’ คุยเรื่องความพิการในเชิงวิพากษ์สังคม แต่ตรวจทานว่า ต้นทุน ‘สาวน้อยคิดบวก’ ใครเป็นคนสร้าง มันเริ่มมาจากที่ไหน
- รู้สึกอย่างไรเวลาใครบอกว่าเธอคือ ‘สาวน้อยมหัศจรรย์’ มันเป็นกรอบให้เธอต้องคิดบวกตลอดเวลา กดดันการใช้ชีวิตของเธอในอีกทางรึเปล่า?
- เธอเคลื่อนไหวด้วยขาเทียมและวีลแชร์ แต่อีกมุม เธอหลงใหลการว่ายน้ำและทอดตัวในมหาสมุทร ด้วยเหตุผล ‘ไม่เคยคิดว่าจะตีลังกาได้ ก็ไปตีลังกาในน้ำ ไปตรงไหนก็ได้โดยที่เราไม่ต้องจำกัดว่าข้างหน้ามีพื้นที่เหลือกี่เมตร ข้างหลังเหลืออีกกี่เมตร’
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
ถ้าเสิร์ชชื่อของเธอ ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ หรือ ‘น้องธันย์’ ในเเสิร์ชเอนจิ้น อัลกอริธึมจะประมวลผลภาพเด็กสาวดวงตาเรียวเล็ก และทุกรูปเปื้อนไปด้วยรอยยิ้ม พาดหัวส่วนใหญ่ระบุนามสกุลของเธอคล้ายกันว่า ‘สาวน้อยคิดบวก’ หรือ ‘สาวน้อยมหัศจรรย์’
ดูเผินๆ เธอไม่ต่างกับคนทั่วไป สรีระ ดวงตาที่มีชีวิต มีรอยยิ้ม แต่ใครหลายคนยังจำได้ เธอสูญเสียขาทั้งสองข้างที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อปี 2011
ปัจจุบันณิชชารีย์ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล แจ้งวัฒนะ ในฐานะ ‘เจ้าหน้าที่ผู้สำรวจความสุขคนไข้’ 5 วันต่อสัปดาห์ ขณะที่อีก 2 วัน เธอขับรถ (ใช่แล้ว… เธอขับรถเอง โดยการใช้ Hand Control – อุปกรณ์ที่ใช้มือบังคับสำหรับการขับรถ) มุ่งหน้าสู่ทุ่งรังสิต เข้าห้องเลคเชอร์ในฐานะนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอกบริหารการสื่อสาร
ผ่านมาแล้ว 7 ปี เรื่องราวของณิชชารีย์เป็นที่รับรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคนในวงกว้าง แต่สิ่งที่ The Potential สนใจ ไม่ใช่เฉพาะการต่อสู้กับสิ่งแวดล้อมที่ต้องเจอบนความพิการ แต่ชวนคุยว่า…
ทุนตั้งต้นเพื่อสร้าง ‘สาวน้อยคิดบวก’ (ที่ต้องถูกหยิบใช้อย่างปุบปับ) คืออะไร, ทำไมต้องคิดบวก คิดลบบ้างได้ไหม ความหมายของ ‘การคิดบวก’ คืออะไร, แม้เธอจะได้ชื่อว่าเป็นเด็กสาวที่มีความคิดเช่นผู้ใหญ่ แต่ขณะเกิดเรื่องและกระทั่งวันนี้ เธอยังคงเป็นวัยรุ่น (วัยวุ่น) เธอเป็นวัยรุ่นแบบไหน, อาการปรี๊ดแตกที่สุดของเธอเป็นอย่างไร, อดีต ปัจจุบัน ความฝันในอนาคตของเธอจะหน้าตาเป็นแบบไหน
รับชมได้ ณ บัดนี้
ธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ คือใคร?
เรารู้จักคุณในนามสกุล ‘สาวน้อยคิดบวก’ และ ‘เด็กสาวสิงคโปร์’ แต่จริงๆ แล้ว ธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ คือใคร เป็นคนแบบไหน เติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมอย่างไร
ธันย์เป็นคนจังหวัดตรัง ในครอบครัวมีสมาชิก 4 คน เราเติบโตมาด้วยการถูกสอนให้ช่วยเหลือตัวเอง ที่บ้านจะไม่มีคำว่าคุณหญิงคุณนาย ไม่มีคนมาช่วยดูแล วิธีการเลี้ยงลูกของที่บ้านคือ คุณพ่อจะสอนแค่ครั้งเดียว หลังจากนั้นต้องทำเอง ไปเรียนเอง ที่เรียนพิเศษก็ต้องหาเอง เป็นสายลุย ชีวิตครอบครัวค่อนข้างสมบูรณ์ค่ะ ทุกคนอยู่กันพร้อมหน้า
แต่ธันย์เป็นเด็กที่ไม่ได้โดดเด่น ไม่ได้เป็นเป้าสายตาของผู้ใหญ่ โตมาอย่างธรรมดา เขาให้ทำอะไรก็ทำ แล้วเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าจำเป็นจะต้องสอบได้ที่หนึ่ง ต้องมีชื่อเสียงนะ หรือเป็นยูทูบเบอร์ เป็นเด็กต่างจังหวัดที่แค่เรียนหนังสือให้เก่ง สอบให้ผ่าน แล้วก็ไปเรียนต่อในสายที่… ถ้าสมัยนั้นเขาก็จะฮิต หรือพูดกันถึงอาชีพหมอ เห็นเขาฮิตๆ กัน ก็คิดว่ามันก็คงจะดีเนอะ ถ้าได้เรียนสายนี้
ซึ่งตอนนี้คุณก็ได้เข้ามาทำงานในโรงพยาบาลพอดีเลย
ใช่เลย แต่หลังจากความคิดนั้น ก็เลยปูทางให้เราอยู่ในสายการเรียนตลอด พออายุ 14 เลยขอคุณพ่อไปเรียนซัมเมอร์ที่สิงคโปร์เป็นเวลา 1 เดือน เพราะก่อนหน้านั้นเพื่อนเราไปเรียนเมืองนอก ก็รู้สึกว่า เออ… มันดูโก้ดีจังเลย เราเลยขอไปเรียนบ้าง สอบชิงทุนได้แต่ก็ไม่ได้ไป คุณพ่อเลยให้ไปสิงคโปร์แทน อาทิตย์สุดท้ายก่อนจะกลับก็เกิดอุบัติเหตุ
พอจะเล่าย้อนกลับไปได้ไหมว่า วันที่ตื่นมาแล้วรู้ว่า เด็กผู้หญิงอายุ 14 ปีคนนั้นต้องอยู่บนความพิการ ตอนที่ลืมตาตื่น ไม่มีญาติของเรา พูดกันก็คนละภาษา เราจัดการกับความรู้สึกนั้นยังไง วันนั้นที่บ้านมีการคุยกันว่าอย่างไร
ตอนนั้นมันเบลอมาก ไม่รู้จะจัดการยังไง เพราะโดนทั้งยาสลบ ยาตัวอื่นๆ ต้องใส่สายดูดเสมหะ คือต้องโฟกัสแค่ความเจ็บปวดที่เราต้องเจอในทุกๆ วัน ความเจ็บปวดไม่ใช่แค่วันสองวันก็หาย แต่เป็นอาทิตย์ เป็นเดือน และก็ไม่ได้ปวดตลอดเวลา แต่ปวดเป็นระยะ จนต้องให้ยามอร์ฟีน พอให้ยาแล้วก็หลับไปซักประมาณ 3-4 ชั่วโมง ตื่นมาก็ปวดอีกแล้ว เป็นรูทีนแบบนี้จนกว่าพ่อแม่จะมา เลยไม่ได้ทำให้เราจำได้เลยว่าใครมาเยี่ยมบ้าง เขาหน้าตาเป็นอย่างไร พูดอะไรบ้าง เบลอมาก
ครอบครัวว่าอย่างไร
ช่วงแรกๆ ไม่ได้คุยเลย เพราะระยะทางมันค่อนข้างไกล การสื่อสารตอนนั้นต้องโทรหากัน ไม่เหมือนตอนนี้ที่โทรผ่านแอพพลิเคชั่นได้ กว่าธันย์จะได้คุยกับพ่อแม่ ก็รักษาตัวไปประมาณ 8 วันแล้ว พอวันที่ได้เจอกันเลยเหมือนเป็นช่วงเวลาที่เราอัดอั้น พอเจอก็เล่าทีเดียวเลย เจออะไรมาบ้าง ระบายเรื่องราวให้ฟัง
ไม่มีการดุ ด่า ว่ากล่าว แต่ช่วยกันหาแนวทางแก้ปัญหามากกว่า ว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
แล้วพอกลับมามีสติ เราคุยกับตัวเองยังไง
คิดว่าเราจะวางแผนอนาคตตัวเองแบบไหน จะกลับไทยแล้ว จะต้องไปอยู่ที่โรงเรียนเดิมมั้ย เราจะใช้ชีวิตแบบไหน
ธันย์ว่ามันเป็นสถานการณ์ภายนอกที่บีบบังคับให้เราจำเป็นต้องคิด เพราะไม่อย่างนั้นคนรอบข้างคิดแทน จะส่งเราไปยังที่ที่เขาคิดว่าดีที่สุดกับเรา ซึ่งมันอาจจะไม่ได้ดีกับเราที่สุด เพราะฉะนั้นคิดเองก่อนเลยดีกว่า
หมายความว่า ชีวิตหลังจากนั้น คุณเป็นคนตัดสินใจเอง?
จากเด็กที่มองแค่เรื่องเรียน ก็ทำให้มองอนาคตมากขึ้น เราจะใช้ชีวิตต่อไปยังไง ใครจะมาดูแล มาซัพพอร์ตเรา ต้องหาโรงเรียนแบบไหน เพื่อนจะยอมรับได้มั้ย เราต้องย้ายไปอยู่กลุ่มไหน ทำให้คิดเยอะขึ้นพอคิดเยอะขึ้น ก็เหมือนว่าเราดูเป็นเด็กขวนขวาย ดู active แล้วก็คนรอบข้าง สื่อต่างๆ ที่เห็นเราอาจจะรู้สึกว่า ทำไมเป็นเด็กที่ยังสู้ ยังดูยิ้มแย้ม ยังใช้ชีวิตเหมือนเป็นปกติ เขาก็เลยให้ฉายามาว่าแบบ เป็นคนคิดบวก มันก็เลยเป็นต้นตอตั้งแต่นั้นมา จนถึงปัจจุบัน
คนรอบข้างบอกว่า กลับมาเราจะต้องไปอยู่โรงเรียนศรีสังวาลย์ โรงเรียนคนพิการฝึกการใช้ชีวิต ซึ่งตอนนั้นเราคิดอย่างเดียวเลยว่า เราต้องเรียนเหมือนเดิม โรงเรียนอะไรก็ได้ที่เป็นการเรียนร่วมปกติทั่วไป เพราะเราโตมาแบบนั้นตั้งเป็นสิบปี มันเรียนรู้ควบคู่กับโรงเรียนปกติได้ อยู่กับเพื่อนปกติได้
เราบอกพ่อว่า ในอนาคตเราต้องใช้ชีวิตในสังคม ต้องอยู่กับคนปกติมากกว่าเพื่อนที่นั่งวีลแชร์ เราไม่อาจเข้าเรียนมหาวิทยาลัย หรืออยู่คณะเดียวกับเพื่อนวีลแชร์ที่เรียนโรงเรียนเดียวกับเราได้ แค่เพื่อนเราในมหาวิทยาลัยยังเป็นคนละคณะกันเลย
ความพิการ ในความคิดของคุณคืออะไร
ธันย์ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป จบมาก็ทำงาน อาจจะพิเศษหน่อยตรงที่ได้โอกาสทำงานตรงนี้เร็วกว่าคนอื่น แต่คนข้างนอกอาจจะมองว่ามันไม่ปกติ ทำไมเราต้องมีวีลแชร์ไปด้วยทุกที่ เราไม่ได้มองว่ามันเป็นปมด้อยแบบที่คิดว่า ‘โห… ทำไมเราต้องขนวีลแชร์ไปทุกที่ด้วย’ แต่มันคือความสะดวก เราเอาวีลแชร์ไปแล้วเรารู้สึกเซฟ เราสบายใจ
อะไรบ้างที่คนข้างนอก ทำให้เรา ‘’ผิดปกติ’
อย่างแรกคือ สายตาของเพื่อนมนุษย์ คือต้องเปลี่ยนวิธีคิด สายตา ในการมองคนพิการ ธันย์คิดว่าจุดเริ่มต้นมาจากการปลูกฝัง ทำความเข้าใจว่า การนั่งวีลแชร์ ก็ไม่จำเป็นต้องช่วยทุกอย่างขนาดนั้น ต้องดูสปิริต ความสามารถของแต่ละคนด้วย เหมือนที่เราเลือกให้งานใครทำ ก็ต้องรู้ว่าเขาทำงานนั้นได้มากน้อยแค่ไหน ธันย์ว่ามันก็เหมือนกันเลย แค่คนเขาตีความว่าเราไม่ปกติ
อย่างที่สองคือสิ่งแวดล้อม สิ่งที่จะเอื้ออำนวยให้เขาใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น เช่น ลิฟต์ ทางลาดวีลแชร์ หรือว่าการขนส่งที่เอื้ออำนวย ให้กล้าออกมาใช้ชีวิต รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใคร คนรอบข้างไม่ต้องมาดูแล ธันย์คิดว่าไม่มีวีลแชร์คนไหนชอบอยู่บ้านอย่างเดียว
การเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระอีกครั้ง
จากการ ‘ดำน้ำ’
อีกหนึ่งกิจกรรมที่คุณทำอยู่ คือการดำน้ำอย่างจริงจัง ช่วยเล่าให้ฟังได้ไหมว่าเริ่มต้นยังไง ทำไมจึงหลงใหลกิจกรรมนี้
จริงๆ ธันย์ไม่กล้าลงน้ำลึก เพราะเคยจมน้ำมาก่อนตอน 7 ขวบ ทำให้กลัวการที่ขาไม่ได้สัมผัสพื้น ไม่กล้าลงน้ำลึกอีกเลยตั้งแต่ตอนนั้น ว่ายน้ำได้แต่ไม่เก่ง ลงสระตื้นๆ หรือสระที่เราพอเขย่งได้ แต่หลังจากแผลหายเราก็เริ่มว่ายน้ำเพื่อเป็นการกายภาพบำบัด ซึ่งเราแตะขาไม่ถึงพื้นแน่นอน แต่มันกลับทำให้เราลอยได้ มันเลยทำให้รู้สึกว่า เฮ้ย… หรือว่ามันจะ come back กลับมา ทำให้เรากลับมาว่ายน้ำได้อีกครั้ง ก็เลยเริ่มว่ายน้ำมาเรื่อยๆ
พอเข้ามหาวิทยาลัย เราเห็นโครงการ ‘Wheelchair Scuba’ เปิดรับสมัครนักเรียน และสอนฟรีด้วย ที่สำคัญเขารู้อยู่แล้วว่าเราต้องขอความช่วยเหลือ ก็เลยไปสมัคร ซึ่งตอนนั้นเราก็พอมีสกิลอยู่แล้ว เรียนแค่ประมาณวันสองวันเอง ก็ออกภาคสนามเลย ออกเสร็จไปสอบใบ open water เลย
วินาทีที่ดำลงไปในน้ำลึก รู้สึกอะไร
หูย… มันไม่มีอะไรน่ากลัวเลย แปดเมตรมันเป็นอะไรที่จิ๊บมาก ง่ายมาก ธันย์ชอบการดำน้ำตรงที่มันทำให้เรารู้สึกว่าเราปลอดภัย
ทั้งที่แต่ก่อน ตอนที่พอจะเขย่งๆ เท้า แตะพื้นได้ กลับรู้สึกไม่ปลอดภัย?
ใช่ ปลอดภัยตรงที่ หนึ่ง ชูชีพมันลงไปกับเราด้วย เรามีแทงค์ เราหายใจในน้ำได้ คือทุกอย่าง everything คือแบบ… เราใช้ชีวิตอยู่ในนั้นได้ (เสียงตื่นเต้น) มันไม่ได้มีอะไรที่น่ากลัว ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนที่เราจมน้ำไปทั้งที่เราไม่มีอะไรที่ดูแลปกป้องเราเลย มันก็น่ากลัวกว่า ในความรู้สึก ณ ตอนนั้น เราเลยชอบการดำน้ำมากกว่า
ทริปแรกของคุณคือการดำน้ำที่สิมิลัน บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง
ถ้าจำไม่ผิด เราไปดำ 5 drives ที่สิมิลัน จังหวัดพังงา นั่งเครื่องไปลงปกติ มีทีมวีลแชร์ไปด้วยประมาณ 4 คน จังหวะที่ลงไป ถามว่ากลัวมั้ย กลัวมาก เพราะตอนที่เรียน เรารู้ว่ามันมีแค่กระเบื้องโลมา รู้ว่าลิมิตของขอบสระอยู่ประมาณไหน แต่ในทะเล เราไม่รู้เลยว่ามันสิ้นสุดตรงไหน เราลงถูกจุดของเรารึเปล่า มันจะมีอะไรรออยู่ข้างล่าง คลื่นที่ซัดมาแรง แล้วก็ความกดดันของอากาศใต้น้ำซึ่งหนาแน่นกว่าในสระ มันทำให้เรากลัว มันน่ากลัวจริงๆ นะ (ย้ำ) เวลาลมพัดแรงแล้วคลื่นก็ซัดมาน่ะ
แต่ใครจะรู้ว่าลงไปใต้น้ำแล้วมันนิ่งมาก เหมือนแผ่นดินที่แยกออกเป็นสองชั้น อาจจะโคลงเคลงนิดๆ ปลาก็ว่ายไป แต่มันนิ่งมาก ตัวเราไม่กระเด็นไปไหนเลย ขึ้นอยู่กับที่สรีระเราว่าเราจะเบี่ยงไปทิศทางไหน จากสิ่งที่เคยกลัว เช่น พวกสัตว์ต่างๆ เรากลับรู้สึกว่ามันคือเพื่อนที่ไปกับเรา
มันไม่มีใครมายุ่งกับเราเลย ไม่มีใครมารุมเรา แค่แวะมาทักทายโฉบไปโฉบมา เราก็เลยรู้สึกว่า เออ… เราชอบความรู้สึกตรงนั้น คือมันเป็นความนิ่งสงบของมหาสมุทร
มันฟรีสไตล์ เราไม่เคยคิดว่าจะตีลังกาได้ เราก็ไปตีลังกาในน้ำ จะไปตรงไหนก็ได้ โดยที่เราไม่ต้องจำกัดว่าข้างหน้าจะมีพื้นที่เหลือกี่เมตร ข้างหลังมันจะเหลืออีกกี่เมตร
พูดได้มั้ยว่า การเรียนดำน้ำทำให้คุณมีอิสระอีกครั้งหนึ่ง
มันทำให้เป็นอิสระ มันเปลี่ยนความคิดธันย์ที่ว่า เราสามารถไปได้ ไม่ควรกำหนดจุดหมายแค่ตัวเลขหรือระยะทางเพื่อจำกัดขอบเขต จุดหมายสำหรับธันย์คือการดำน้ำ แต่ไม่ได้กำหนดว่าเราจะต้องไปแค่ตรงนี้นะ จำกัดว่าเราจะไม่ไปตรงนี้ คือไม่จำกัดดีเทลมาก เพราะมันทำให้เสียความเป็นตัวเอง การดำน้ำ มันทำให้เราอิสระ มีความสุขกับการไปถึงจุดหมายตรงนั้นมากกว่า
ต้นทุนของ ‘สาวน้อยคิดบวก’ มาจากที่ไหนกัน?
คุณมีความคิดเป็นผู้ใหญ่ตั้งแต่เด็กๆ เลยหรือเปล่า
ไม่นะ ตอนเด็กๆ งี่เง่ามากเลย อยากได้อะไรก็ต้องได้ แต่ก็ไม่ได้ถูกเปย์ คือหมายความว่าบ้านเราไม่ได้ยากจนมาก พอจะซื้อของที่อยากได้ได้ แต่พ่อก็จะไม่ซื้อให้ ธันย์เป็นน้องคนสุดท้อง ที่จะต้องใช้ของต่อจากทุกคน ไม่เคยมีของชิ้นไหนในชีวิตที่เป็นของมือหนึ่งเลย
ตอนเด็กๆ เพื่อนส่วนใหญ่มีคอมพิวเตอร์ เราก็ใช้ต่อจากพี่ พี่ซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ เราก็ใช้เครื่องต่อจากพี่ หรืออย่างตอน ม.2 เพื่อนจะเพิ่งมี Ipad mini แล้วเราแบบ เออ… มันดีมากเลยอะ มันโก้มาก เราขอพ่อซื้อแต่พ่อไม่ให้ ยังคงใช้ nokia ของพ่ออยู่ อะไรยังงี้… (เน้นเสียง) มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่า ไม่ต้องมีของใหม่ก็ได้ ยังใช้อันนี้ สอนให้เรารู้จักรอที่จะใช้ชีวิต รอสิ่งที่มันดีกว่า
เขามีวิธีการพูดอย่างไร ที่ทำให้เราเข้าใจ ไม่น้อยใจหรือโวยวาย
เหมือนพ่อแม่ปกติทั่วไป ที่แบบว่า ‘ไม่ได้นะลูก ซื้อมาเดี๋ยวก็ทิ้งขว้าง เครื่องนี้ก็ยังใช้ได้ เดี๋ยวก็ไม่มีใครใช้ นี่ไง มันยังใช้ได้’ เหมือนเขาสอนให้เราคิดว่าถ้าเอาไปขายมันก็ไม่คุ้มทุน ใช้แป๊บเดียว เดี๋ยวก็ต้องซื้อใหม่ อะไรแบบนี้
กติกาส่วนใหญ่ของที่บ้านคือ ถ้าพูดอะไรไปแล้ว ต้องรักษาคำที่เราพูดไว้ เรื่องเล็กๆ ก็ต้องรักษา
เคยย้อนกลับไปคิดมั้ยว่า วิธีการเลี้ยง วิธีการสอนของพ่อแม่แบบไหน ที่ทำให้เราแข็งแกร่ง มีต้นทุนเพื่อเป็นสาวน้อยคิดบวกแบบนี้
จุดเด่นคือคุณพ่อ เขาจะสอนให้เราคิดและก็ตัดสินใจเอง คือทุกการกระทำ พ่อจะมีตัวเลือกให้เสมอ และไม่ใช่ว่าเราต้องหยุดแค่ตัวเลือกนั้น เราเสนอความคิดของเราไปได้ด้วยซึ่งอาจค้านกับตัวเลือกที่พ่อเลือกได้ มันทำให้ได้สื่อสารกันทั้งสองฝ่าย มาเจอกันตรงกลางว่า เออ… เขาชอบตรงนี้ เราชอบแบบนี้ จึงจะไปด้วยกันได้
แน่นอนว่าเรามีคนที่รู้จักเยอะ ผู้ใหญ่หลายๆ คนอาจจะสอนเรา แนะนำเรา แต่ไม่ใช่ว่าเราจะปิดกั้นว่าฟังแค่พ่อหรือครอบครัวอย่างเดียว เราจะเป็นเด็กที่ฟังผู้ใหญ่ และเอามาคิดอีกทีว่ามันเป็นยังไง มาจากสิ่งที่เราคิดด้วยตัวของเราเองด้วย หล่อหลอมมันขึ้นมา
นอกจากเรื่องเรียน การเคารพความคิดของลูก มีอะไรอีกที่คุณประทับใจการสอนของพ่อแม่
ยกตัวอย่างคือ ตอนเด็กๆ ตรงข้ามบ้านจะเป็นร้านอาหาร ซึ่งเราสนิทกับเขา เราก็ไปช่วยเขาเสิร์ฟ ไปทำอะไรที่ ถ้าเราอยู่ที่บ้านเราจะไม่ทำ ซึ่งมันทำให้เรามีวิชาติดตัว ซึ่งอาจจะไม่ได้เกี่ยวโดยตรงกับสิ่งที่เราทำ แต่อาจจะเป็นวิธีคิดเกี่ยวกับการวางแผน มีความเป็นผู้นำ การวางระบบการจัดการ
การเสิร์ฟอาหารสอนอะไรคุณบ้าง
โห… จริงๆ มันทำให้เรารู้ว่าลำดับ การจัดลำดับเวลา หรือว่าการให้ความสำคัญกับคนที่สั่งก่อนหรือหลัง มันมีความสำคัญนะ คนนอกอาจจะมองว่าการเสิร์ฟก็แค่เสิร์ฟ ถ้าเราเสิร์ฟอย่างเดียวโดยที่ไม่ได้ดูว่าใครยังไม่ได้อาหารบ้าง ใครสั่งก่อนหลัง วางโดยที่ไม่ได้คิดว่าคนอื่นจะวางชามต่อจากเรายังไง มันส่งผลกระทบนะ ทำให้เราเป็นคนมองสถานการณ์โดยรวม อยู่เป็นมากขึ้น (ยิ้ม)
‘สาวน้อยคิดบวก’ แค่นามสกุลหรือความกดดัน?
นามสกุลคิดบวกทำให้เรากดดันมั้ย บางทีเราอาจจะไม่อยากคิดบวก อยากปล่อยไปตามอารมณ์ลบๆ ของเราบ้าง
มันก็ไม่เชิงกดดัน คือถ้ามีใครพูดถึงชื่อเราในทางงานสื่อสาร ก็จะเฉยๆ เหมือนเป็นนามสกุลปกติ แต่มันจะมีช่วงหนึ่ง คือเราก็ยังเด็กเนอะ เวลาเรียนก็อยากได้เกรดดีๆ พอคาดหวังในการเรียนแต่เกรดไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง เราก็รู้สึกเฟลใช่มั้ย? แล้วพอรู้สึกแบบนั้นหน้าเราก็ออก เราจะไม่คุยกับใคร เพื่อนก็จะบอกว่า ‘อ้าว… นี่คิดบวกแล้วเหรอ?’ เราก็อยากจะแย้งว่า คิดบวกไม่ได้หมายความว่าต้องยิ้มตลอดเวลา หรือเจอเหตุการณ์แย่ๆ แล้วจะไม่สะทกสะท้าน เราก็มีหัวใจนะ (หัวเราะ) ตั้งแต่นั้นก็เลยเข้าใจว่า คนเข้าใจคำว่าคิดบวกผิดเพี้ยนไป
คิดบวกสำหรับเรา มันไม่ใช่ว่าจะมองว่าทุกอย่างว่ามันดีจังเลย คนนู้นก็ดี คนนี้ก็ดี เรารู้ว่าใครดีหรือไม่ดีกับเรา
แต่การคิดบวกคือ มีความสุขกับสิ่งที่เราเป็น เวลามีเรื่องอะไรมากระทบใจ การคิดบวกช่วยให้เราหายเร็วขึ้น
ไม่ใช่กรอบ ที่ทำให้เราต้องพยายามคิดบวกตลอดเวลาใช่มั้ย?
ไม่ใช่กรอบค่ะ แต่เป็นสิ่งที่เยียวยาให้เรากลับมาได้เร็วขึ้นมากกว่า
โกรธที่สุดของคุณเป็นยังไง โกรธจนไม่อาจคิดบวกได้แล้ว
เป็นวัยรุ่นก็ต้องมีปัญหาเรื่องเพื่อน ซึ่งมันไม่ใช่ปัญหาของเราหรอก เช่น เพื่อนในกลุ่มทะเลาะกัน ไม่รู้จะเข้าข้างฝ่ายไหน ไม่รู้จะคิดบวกยังไง น่าจะเป็นเรื่องที่ปรี๊ดสุดตั้งแต่เจอเหตุการณ์ทุกอย่างมา แต่มันก็ไม่ถึงกับทำให้เราเสียความเป็นตัวเอง เสียสมดุล หรือนอยด์ไปเลย
วิธีการจัดการหรือคลายความกดดันให้ตัวเอง อย่างดีและรอมชอมที่สุด คืออะไร
ความสงบค่ะ นิ่งที่สุด ให้มีสติ ควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ได้ ณ ขณะที่เราเจอเหตุการณ์นั้นแล้วก็เดินออกมา แต่ไม่ใช่การเดินหนีนะคะ แต่เดินออกมายังที่ที่หนึ่ง อยู่คนเดียวสักพัก อาจจะไม่ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง เป็นวัน บางทีแค่สิบนาทีด้วยซ้ำแล้วก็เดินกลับเข้าไปใหม่ เริ่มใหม่ เป็นวิธีการที่ดีที่สุด ปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นอยู่เลย
และการที่เราไปไหนไม่ได้ ต้องนั่งนิ่งอยู่ตรงนั้น มันต้องใช้พลังงานมากพอสมควร แต่ว่ามันก็ดีมากตรงที่ว่ามันทำให้ทุกวันนี้ธันย์ไม่ค่อยทะเลาะกับใคร
ในทางวิทยาศาสตร์บอกว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่อยากทำอะไรด้วยความหุนหันพลันแล่น อยากจะปรี๊ด เหวี่ยง โกรธโลก หัวร้อน จากการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย และด้วยความเยาว์วัย การควบคุมอารมณ์อาจเป็นเรื่องยากของคนวัยนี้ แต่ดูเหมือนว่าคุณจะควบคุมมันได้ เพราะอะไร?
ธันย์ว่ามาจากคนรอบข้างด้วย เราลืมปัจจัยเรื่องฮอร์โมนที่พุ่งขึ้นมา ซึ่งมันก็มีแหละ แต่เหมือนมันถูกกดเอาไว้ ต้องขอบคุณคนรอบข้างที่ทำให้เรารู้สึกว่า มันไม่ได้เป็นสิ่งที่เราจะต้องไปสนใจกับภาวะความขึ้นๆ ลงๆ แต่ให้เราไปโฟกัสอย่างอื่น ให้มองภาพที่กว้างขึ้น หรืออาจเป็นเพราะเราได้เจอกับผู้ใหญ่ที่สอนให้เราคิดมากขึ้น ถ้าเรามีสติ มีวิธีคิดเป็นของตัวเอง ก็สามารถควบคุมภาวะหรือสิ่งที่มันเกิดขึ้นได้
อีกหนึ่งฉายาที่ได้รับคือ สาวน้อยมหัศจรรย์ คิดเห็นอย่างไรกับฉายานี้
ธันย์ว่ามันเป็นฉายาที่ได้มาจากกิจกรรมที่เราทำ คนในสังคมมักจะคิดว่าเราทำแบบนี้ไม่ได้ เขาก็เลยคิดว่ามันมหัศจรรย์จังเลยที่อยู่ดีๆ ไม่มีขาแล้วก็ทำแบบนี้ได้ ไปนู่นไปนี่ได้ ซึ่งจริงๆ มันคือชีวิตปกติ ที่คนปกติเขาทำกัน
เราไม่ได้มหัศจรรย์?
มันมหัศจรรย์สำหรับเรา แต่อาจไม่ได้มหัศจรรย์มากเท่าที่เขาคิด เพราะชีวิตของเราอาจไปอิมแพคกับชีวิตเขา แต่สำหรับเรา เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำ มันไม่ได้ยากสำหรับตัวเรามากนัก ไม่ได้ทำให้ตัวเราเหนื่อยมาก
หลังจากนี้ วางแผนหลังจากเรียนจบ อยากทำงานแบบไหน?
ที่สนใจจริงๆ ธันย์อยากเป็นผู้ให้คำปรึกษา (consult) ค่ะ เพราะเราชอบพูด ชอบออกความคิดเห็น ชอบการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสามสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ consult ทำได้ หนึ่งเราสามารถให้คำปรึกษาคนได้ สำคัญคือมันไม่ได้จำกัดว่าเราต้องทำงานที่นั่นที่เดียวไปตลอดชีวิต สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม แล้วก็ตามเนื้องานหรือว่าประเภทขององค์กรที่เราอยากไปอยู่
และจริงๆ ธันย์ชอบการเป็นฟรีแลนซ์ ชอบคำศัพท์คำหนึ่งมาก คือ freedom ไม่ได้ชอบที่มันสะกดว่า f-r-e-e-d-o-m แต่ความหมายของมัน อิสระ แต่จริงๆ เราก็อยู่ในกรอบนะ แต่อิสระตรงที่สามารถไปไหนมาไหนได้ เลือกงานได้ ทำงานในสิ่งที่เราเป็นได้ ซึ่งมันทำให้เราเป็นตัวเองมากกว่าการที่ต้องอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นประจำ มันเลยทำให้เรารู้สึกชอบคำนี้
พร้อมที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ?
ใช่ พร้อมที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ โดยที่เราไม่ได้สนใจว่าสิ่งที่เราไปเจอเนี่ยมันอาจจะเป็นประเภทเดียวกันหรือว่าเป็นอะไรที่ใกล้เคียงกัน ไม่ได้เอามาเปรียบเทียบกันว่าอันนี้หรืออันนั้นดีกว่า เราลองได้ ไม่ต้องเอาวุฒิการศึกษามาเกี่ยว ไม่ต้องเอาสิ่งที่คนในสังคมคิดมาจำกัด คำว่าฟรีด้อม จึงทำให้เราได้ทำสิ่งที่อยากทำ เป็นตัวเองโดยที่เราไม่ต้องสนใจกรอบของงานมากนักว่าเป็นกรอบที่สังคมมองว่ายังไง