- เริ่มต้นจากความฝันเล็กๆ อยากให้ผู้คนหันมาสนใจและรักพื้นที่สาธารณะเหมือนห้องของตัวเอง MAYDAY! ผู้สร้างสรรค์ป้ายรถเมล์กว่า 500 ป้าย ที่เต็มไปด้วยฟังก์ชั่นการใช้งาน รูปแบบของงานดีไซน์ที่เน้นสร้างความเข้าใจ ย่อยของยากให้ง่าย และไม่ทำให้ป้ายรถเมล์เป็นเรื่องน่าเบื่อ
- ความน่าสนใจของกลุ่ม MAYDAY! คือกระบวนการทำงานกับภาครัฐ ที่ขึ้นชื่อว่าหิน เต็มไปด้วยกฏระเบียบยิบย่อย แต่พวกเขาก็ทำจนได้
- Public space ของ MAYDAY! ต้องมีคนอยู่ในนั้น ระบบขนส่งสาธารณะจึงต้องเป็นมิตรมากที่สุด
เรื่อง: รุ่งรวิน แสงสิงห์, ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล, Mayday
เมื่อความฝันเล็กๆ นั้นพ่วงมาด้วยภารกิจอันยิ่งใหญ่ การรวมตัวในนาม MAYDAY! เพื่อสานต่อความฝันและผลักดันกิจกรรมต่อสังคมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบนท้องถนนจึงเกิดขึ้น
ถ้าใครที่ผ่านไปผ่านมาบริเวณสถานที่แลนด์มาร์คของกรุงเทพมหานคร แล้วบังเอิญเหลือบไปเห็น ป้ายรถเมล์ดูดีที่มีกราฟิกดีไซน์ที่รสนิยมผิดหูผิดตา แต่ใช้งานได้จริงและมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่มากกว่าป้ายสีน้ำเงินแบบดั้งเดิมที่คุ้นตา นั่นหมายความว่า เหล่านักเดินทาง ผู้ใช้ขนส่งสาธารณะได้พบกับป้ายรถเมล์ของกลุ่ม MAYDAY! เข้าแล้ว
แน่นอนว่ากว่าจะกลายมาเป็นป้ายรถเมล์ที่มีฟังก์ชั่นครบครันทั้งการบอกสายรถ เส้นทาง บอกป้ายต่อๆ ไป บนดีไซน์ที่เน้นการใช้งานและความสวยไม่เหมือนใคร กลุ่ม MAYDAY! จะต้องเจอกับงานหินและโหดหลายแง่มุม
ทีมงาน The Potential จึงบุกไปเยี่ยมกลุ่ม MAYDAY! และพูดคุยกับมันสมองของกลุ่มอย่าง อุ้ม-วิภาวี กิตติเธียร นักออกแบบผังเมืองที่ผันตัวและอาสาทำเรื่องใหญ่อย่างการเปลี่ยนเมืองโดยเริ่มต้นจากความฝันเล็กๆ อย่าง การทำให้ผู้คนหันมารักพื้นที่สาธารณะให้เหมือนกับรักห้องนอนตัวเอง
ไม่แน่ว่าหลังจากอ่านบทสัมภาษณ์นี้จบ หลายๆ คนอาจจะเริ่มอยากสานต่อความฝันเล็กๆ ของตัวเองก็เป็นได้…
คุณอุ้มเล่าที่มาที่ไปของคนในทีมให้ฟังได้ไหม
จริงๆ ในทีมค่อนข้างมีความหลากหลาย มาจากเครือข่ายเดียวกันเลยค่ะ เราเริ่มต้นจากโฮสเทล (Once Again Hostel – ที่ตั้งของออฟฟิศ) ที่เป็นออฟฟิศของทีม ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนกัน เรามานั่งคุยๆ กันจนกระทั่งวันหนึ่งรู้สึกว่าเราอยากทำเรื่องรถเมล์ให้มันจริงจัง เลยรวมตัวมาเป็น MAYDAY! อย่างที่เห็น
MAYDAY! ก่อตั้งขึ้นมาครั้งแรกในช่วงที่มีงานพระราชพิธีพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 โซนนี้ (กรุงเทพฯ ชั้นใน/ที่ตั้งโฮสเทล) มีคนเดินทางมาเยอะมากๆ เราก็เลยพากันคิดว่า เราพอจะช่วยอะไรบางอย่างได้ไหม ก็เลยเกิดเป็นป้ายรถเมล์ขึ้นมาก่อนอย่างแรก ถือว่าเป็นอาสาสมัคร (volunteer) ก็ได้
คนที่อยู่ใน MAYDAY! เริ่มต้น เรามีกราฟิกดีไซเนอร์ คนทำคอนเทนต์ วิศวะ และก็ตัวอุ้ม ที่เป็นนักออกแบบผังเมือง ส่วนใหญ่เริ่มจากเรื่องง่ายๆ เลย คือ ‘อิน’ กับประเด็นที่เรากำลังทำ ตอนที่อุ้มเข้ามาทำงานนี้อุ้มก็เพิ่งรู้ว่ามันมีแฟนคลับรถเมล์ไทย เพิ่งรู้ว่ามันมีแฟนคลับรถไฟฟ้า แล้วคนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่น้อยเลย อีกกลุ่มก็เป็นสายกราฟิก
อีกกลุ่มที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอีกคือ คนที่ทำกราฟิกและอยู่ในบริษัทเอเจนซี เขาบอกว่า โจทย์ของการทำงานบริษัทเอเจนซีคือต้องทำเอาใจลูกค้าในสิ่งที่พวกเขาไม่เชื่อว่ามันดี เขาเบื่อ เขาก็เลยรู้สึกว่าพอมาทำงานตรงนี้มันมีคุณค่า ทำแล้วได้ถ่ายทอดให้สาธารณะเห็นและเป็นสิ่งที่เขาเชื่อ เขาแฮปปี้มากเลย
เราก็รู้สึกว่าเราโชคดีที่คนทำกราฟิกกับสื่อสารมือดีหลายๆ คนมาอยู่ในทีม
เวลาที่เราเจอปัญหาที่คิดไม่ออก เราก็เอาคนอื่นมาช่วยคิด เราทำงานร่วมสมาคมกราฟิกดีไซเนอร์ (สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย – ThaiGa) บ่อยมาก ป้ายมันจัดข้อมูลยากมาก วิธีการทำงานของคนในทีมก็จะคล้ายๆ กับการพัฒนาหน้าตาแอพพลิเคชั่น เช่น ไอโฟนออก ios ใหม่ เราจะทำยังไงให้คนเรียนรู้ได้ภายในห้านาที ดังนั้นการออกแบบ user interface ที่เชื่อมกับ user experience จึงสำคัญมาก เราเลยดึงองค์ความรู้มาใช้กับงานป้ายรถเมล์ เราได้นักออกแบบเก่งๆ เข้ามาทำงานกับเราเยอะมาก เพราะโจทย์มันยากมาก แต่กลายเป็นว่ามีแต่คนอยากทำ
แสดงว่าทางทีมก็เพิ่งจะเริ่มต้นได้ไม่นานนี้เอง?
3-4 ปี จริงๆ ปัจจุบันเราก็ออกป้ายรถเมล์เวอร์ชั่นที่ 4 แล้ว ตอนนี้ก็กำลังผลิตและติดตั้งทั่วกรุงเทพฯ อีก 500 ป้าย ในสายตาก็ยังมองว่า เราอยู่ในช่วงเริ่มต้นอยู่เพราะยังมีอีกหลายๆ พื้นที่ หลายๆ รูปแบบ ขนส่งสาธารณะที่เราจะทำไม่จบได้ง่ายๆ แต่กระบวนที่ผ่านมาของเราก็เก็บข้อมูลไป มีรูปแบบ โครงสร้างที่เป็นระบบมากขึ้น ก็ถือว่า เราค่อนข้างมาไกลพอสมควรแล้ว ถ้านับจากการเริ่มต้นในฐานะอาสาสมัครจนกลายมาเป็นอาชีพ เป็นองค์กรที่สามารถจ้างคนได้ ก็ถือว่าเริ่มต้นมาหลายก้าวพอสมควร
MAYDAY! ผันตัวจากการเป็นอาสาสมัครไปเป็นพาร์ทเนอร์ที่ทำงานร่วมกับภาครัฐได้อย่างไร
จริงๆ เป็นเพราะเพื่อนกลุ่มปั่นจักรยานที่เคยทำงานร่วมกับ กทม. เขามาเห็นงานที่เราทำ เลยแนะนำว่า ให้ลองไปคุย ไปเสนอดูไหมล่ะ แล้วทาง กทม. เองก็เปิดมากๆ เหมือนกัน เขาก็อนุญาตให้เราเข้าไปคุยไปเสนอไอเดียได้ในช่วงแรก
รอยต่อระหว่างสเกลการทำป้ายรถเมล์ในช่วงที่เป็นอาสาสมัคร จนกระทั่งกลายมาเป็น MAYDAY ที่ทำงานร่วมกับภาครัฐ จัดการอย่างไรกับความท้าทายที่เข้ามา
การขยายสเกลของงานมันคือ การเพิ่มข้อมูลที่ซับซ้อนมากขึ้น ส่วนไหนที่แก้เองไม่ได้ก็ต้องหาคนที่แก้ไขได้มาช่วย เราก็ตามหาคนที่สนใจและทำได้มาช่วย ยิ่งเราออกมาทำแบบนี้ เราก็ค้นพบว่า ยังมีคนอีกมากที่เขามีความสนใจ มี passion ที่อยากช่วยพัฒนาเมือง
คุณอุ้มกับทีมเคยคุยกันไหมว่าอยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นแบบไหน
เราก็ไม่ได้ถึงกับคุยกันในทีม แต่เรามีอุดมการณ์ของทีมคือ Small Changes Big Move เพราะพวกเราไม่ใช่นักวิชาการ หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่จะคอยบอกว่าโครงสร้างพื้นฐานของเมืองจะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เราทำได้ในส่วนของ small change เปลี่ยนแปลงเล็กๆ ง่ายๆ เปลี่ยนแปลงได้เลย
อีกเรื่องหนึ่งที่เราทำกันก็คือ ทุกๆ แอคชั่นจะต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมของคนอยู่ด้วย เราจะไม่คิดอะไรเอง ทำอะไรเองคนเดียว แล้วก็ไม่ติ๊ต่างเอาเอง ไม่ใช่ไปดูงานจากข้างนอกมาและมองว่าเปลี่ยนแปลงแบบนี้มันจะดี แต่เราต้องถามคนมาช่วยกันคิดช่วยกันครีเอท
อีกแง่หนึ่ง เราเบื่องานอีเวนท์ประเภท ‘ประเทศชาติจะดีได้อย่างไร’ เราเบื่อ เพราะคุยๆ ไปก็เท่านั้น สุดท้ายก็ไม่เปลี่ยน เราเลยมองว่า ทุกๆ การมีส่วนร่วมที่เราทำ จะต้องมีผลลัพธ์ออกมา แม้ผลลัพธ์จะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม
ถ้าเป็นงานที่มันไม่น่าจะมีผลลัพธ์ออกมา เราก็ไม่ทำ สำหรับอุ้ม ประเทศชาติหรือเมืองควรเป็นยังไง ในสายตาอุ้มคือ เราอยากให้คุณค่าพื้นที่ส่วนรวมมากกว่าพื้นที่ส่วนตัว เราไม่ควรที่จะให้อภิสิทธิ์คนมากขึ้นเรื่อยๆ หรือมีที่จอดรถพิเศษๆ เพิ่มมากขึ้น
อุ้มมองว่า พื้นที่ส่วนรวมควรจะมีคุณค่า สวนสาธารณะไม่ควรจะมีรั้วไหม รถเมล์ควรจะได้ไปก่อนรถส่วนตัวไหม คนจำนวนมากควรจะได้สิทธิมากกว่าคนที่ใช้ของคนเดียวไหม มันก็จะทำให้เมืองสามารถขับเคลื่อนไปด้วยกันมากขึ้น
คำว่าหวงแหนสิทธิมันก็จะไม่ได้อยู่ที่เราแล้ว มันจะกลายเป็นเรื่องสาธารณะ คุณค่าสำหรับอุ้มมองว่า อยากให้เกิดขึ้นและอยากให้เมืองเป็น เรารักพื้นที่สาธารณะเหมือนพื้นที่ห้องนอน
ฝันที่ว่ามา มันจะเป็นความฝันที่ดูยากเกินไปหรือเปล่า เพราะ Public Space ของคนไทยที่ดีพอจะทำให้ผู้คนหันมารักมันเหมือนห้องนอนที่บ้านนั้นไม่ค่อยมี
พอเอาเข้าจริงๆ sense of belonging (ความรู้สึกเป็นเจ้าของ) ของคนไทยสูงมากๆ เลยนะคะ การที่ทุกคนมาเวิร์คช็อปร่วมกับ MAYDAY! นั่นแปลว่าทุกคนรู้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน เรื่องที่ดีมันคืออะไร เพียงแต่อาจจะไม่มีช่องให้คนร่วมกันแก้ปัญหา หรือเวลาที่สามารถจะทำให้มันเกิดขึ้นได้ เขาถึงได้มาร่วมเวิร์คช็อป มาแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะประเด็นต่างๆ มันอาจจะไม่ต้องถึงกับขนาดว่า ทุกเช้าฉันจะตื่นมากวาดถนนหน้าบ้าน เพียงแค่ทิ้งขยะลงถังง่ายๆ มันส่งผลทั้งนั้น ถ้าพาหมาไปเดิน หมาอึก็เก็บหน่อยไหม มันไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตมากมาย
ฟังจากที่เล่า MAYDAY! ทำงานบนพื้นฐานของการพูดคุย นอกจากภาครัฐอย่าง กทม. แล้ว เข้าไปคุยกับใครอีกบ้าง
เราเข้าไปคุยกับผู้ใช้งาน เหมือนเราจัดเวิร์คช็อป ก็จะมีตั้งแต่คุณลุงที่อายุ 65 นั่งรถเมล์มาตั้งแต่เป็นหนุ่ม ไปจนถึง เด็ก ม.3 ชาวต่างชาติ เห็นเราจัดเวิร์คช็อปก็อยากเข้ามาช่วย แต่เราก็เข้าใจว่า การจัดงานสเกลนี้มันยังไม่ครอบคลุมคนทั้งหมด แต่ผลที่ได้จากการเวิร์คช็อปเราก็พยายามจะนำเสนอต่อสาธารณะให้ได้มากที่สุด
ถ้าเราไปทำงานกับระบบขนส่งประเภทหนึ่ง เราต้องกวาดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเขาให้หมดจริงๆ
เพราะปัญหาหนึ่งของการทำงานประเด็นโครงสร้างพื้นฐานคือ แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เขาไม่ยอมคุยกัน ต่างคนต่างทำ เคยเห็นสะพานลอยกับถนนที่มันไม่เชื่อมกันไหมคะ เราเลยรู้สึกว่าเราควรจะคุยกันก่อนที่เราจะทำอะไร สองคือ แม้ว่าเขาจะไม่ฟัง ไม่ปฏิบัติ อย่างน้อยก็รับรู้หน่อยนะว่าเราจะทำสิ่งนี้ พยายามคุยกันให้ได้มากที่สุด
เราคุยกันตั้งแต่ คนขับรถสองแถว ป้าร้านรถเข็นที่อยู่วินรถสองแถว เพราะเรารู้สึกว่า มันเป็นพื้นที่สาธารณะ ถ้าเราเปลี่ยนอะไรนิดเดียวมันมีผลกระทบทันที การกวาดเอาส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาอยู่ในกระบวนการรับรู้ร่วมกัน อย่างน้อยมันช่วยลดแรงเสียดทานกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น แม้จะช้าไปบ้าง แต่อุ้มก็มองว่าช้าแต่ชัวร์น่าจะดีกว่า
ตอนที่พูดถึงหน่วยงานต่างๆ ว่าเขาไม่ค่อยได้รับรู้ร่วมกัน เราจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร
จริงๆ มันยากมาก ถือเป็นเรื่องท้าทายที่มีความเป็นการเมืองอยู่สูง ยกตัวอย่างเช่น ป้ายรถเมล์หนึ่งป้าย มันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ทั้งหมด 3 หน่วยงาน หนึ่งคือขนส่งทางบก จะเป็นผู้ระบุตำแหน่งป้าย สองคือ กทม. ถ้าอยู่ในพื้นที่ กทม. ตัวป้ายก็จะเป็นสมบัติของ กทม. สามคือ สายสัมปทานรถเมล์ที่วิ่งโดย ขสมก. ปัญหาก็คือ บางจุด กรมขนส่งบอกว่าควรปักป้าย กทม. ปัก แต่ปักผิดจุด ปัญหาหยุมหยิมแบบนี้เกิดเพราะเขาไม่ค่อยได้คุยกัน ประสานงานยากมาก เราจึงพยายามที่จะบอกทุกคนว่าเรากำลังทำอะไร
บางทีมันก็มีความรู้สึกเจ็บช้ำเหมือนกัน เพราะไม่ใช่ทุกหน่วยงานรัฐจะเปิดใจ สมมุติว่าทุกหน่วยงานเปิดใจ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนในหน่วยงานจะเปิดตาม ของแบบนี้ต้องใช้เวลา ค่อยๆ เริ่มไป แต่เราก็รู้สึกว่าดีกว่าไม่ทำ เราไม่อยากตัดใครออกจากระบบการทำงานของเรา เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้ามันไม่เกิดการทำงานร่วมกันจริงๆ การเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อที่หลายคนอยากให้เป็นมันคงไม่เกิดขึ้น
การพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นทักษะคนละแบบกับการแก้ปัญหาแบบพื้นฐานที่เคยเรียนในโรงเรียนด้วยใช่ไหม
ก็เป็นทักษะอีกแบบ เหมือนเราประท้วงแต่ไม่ได้ลงถนน เราค่อยแทรกซึมให้เขาฟังเรา เรามองว่าการแสดงท่าทีแบบต่อต้านไปเลยมันก็ให้ผลลัพธ์อีกอย่าง การที่เราไม่เห็นด้วยนะ คุณมาช่วยเราคิดหน่อยสิ มันก็จะเป็นการทำงานอีกแบบที่ทำให้คนมีส่วนร่วมเข้าไปเปลี่ยนเมืองทำงานร่วมกับรัฐไปเลย
กลยุทธ์ของ Small Change Big Move! ที่เข้าไปแทรกซึมในหน่วยงานของภาครัฐและมีอำนาจต่อรองขึ้นเรื่อยๆ MAYDAY! ทำอย่างไร
จริงๆ งานที่เราทำถ้าดูที่ฐานทักษะของเรา เรามีนักออกแบบกราฟิก มี project-co มีคนทำคอนเทนต์ มี planner ที่ทำงานวิจัย การทำงานเชิงเทคนิคของ MAYDAY! มีลักษณะคล้ายกับบริษัทเอเจนซีบริษัทหนึ่งเลย ซึ่งบริษัทเอเจนซีจะมีคนทำคอนเทนต์ที่ทำประเด็นสื่อสารเก่งมาก เราจึงสร้างข้อต่อรองง่ายๆ คือ ทุกคอนเทนต์ต้องดัง พอมันดังรัฐบาลก็ฟัง เพราะตอนนี้เขากลัวโดนด่า ป้ายรถเมล์ทุกป้ายที่เราทำต้องดัง ต้องมีอิมแพค เราคุยกับน้องในทีมว่า พี่ขอป้ายนี้ให้ดังนะ สังเกตดูจากเพจของเรา เราขายโฆษณาน้อยมาก เราเลือกแล้วเลือกอีก แต่อิมแพคของความดังที่ว่า มีหน้าที่เพื่อต่อรองหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก เราก็จะเอายอด engage ให้เขาดู โพสต์นี้คนดูห้าแสนคนนะคะ (หัวเราะ) เราก็อาศัยมวลชนนี่แหละ
ตอนนี้ MAYDAY! ทำอะไรอยู่บ้าง ได้ยินว่ากำลังจะมีการปฏิรูปรถเมล์ โครงการที่กำลังดำเนินการอย่างการติดตั้งป้ายรถเมล์ 500 ป้ายจะกระทบหรือเปล่า?
ตรงนี้ก็จะเป็นความเจ็บปวดอีกอย่างหนึ่ง เพราะโปรเจ็คท์ 500 ป้ายรถเมล์นั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว ปรากฏว่าทำไปได้ราวเดือนกว่า กรมขนส่งทางบกบอกจะปฏิรูปสายรถเมล์ กทม. ก็เลยบอกกับเราว่าถ้าอย่างนั้นก็หยุดไปก่อน ค่อยทำใหม่กลางปีหน้า รอมันนิ่งก่อน
แต่ตอนนี้ก็เปลี่ยนใหม่อีกแล้ว ทาง กทม. ก็เลยกลับมาคุยกับเรา ว่าให้เดินงานต่อเลย ซึ่งเวลามันก็เหลือน้อย เราก็เลยต้องรับคนมหาศาลมากๆ ให้มาช่วย
การปฏิรูปในครั้งนี้เป็นการกำหนดนโยบายเมืองที่ให้รถเมล์เป็น feeder ของระบบรางเป็นหลัก ต่อไปมันจะไม่มีรถเมล์วิ่งขนานไปกับรถไฟฟ้าแล้ว จะเป็นนั่งรถไฟฟ้าแล้วต่อรถเมล์ให้เข้าไปถึงบ้าน มันพอเข้าใจได้เรื่องการปฏิรูปนะ หลายฝ่ายเขาก็คุยกันมาตั้งนานแล้วว่ามันจะต้องเกิดประโยชน์ แต่ว่าเรื่องของการสื่อสาร เรื่องเลขสายที่พยายามเปลี่ยน มันสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ถ้าคิดมาดีกว่านี้คนก็จะเข้าใจง่ายกว่านี้
แต่ละอย่างไม่ง่ายเลย ทำไมทีม MAYDAY! ถึงยืนหยัดอยู่ได้
เวลาที่คุยกันในทีมมันจะมีหลายฉากนะ เช่น เอ๊ะ อันนี้ใช่งานของเราไหม หรือว่าเป็นงานของภาครัฐ จริงๆ เราไม่ได้เชื่อในกระบวนมากเท่าผลลัพธ์ อย่างเช่น เฮ้ย! สิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันเป็นเกมการเมืองของใครรึเปล่า
เราก็จะคุยกันเสมอว่า ภายใต้เกมการเมืองที่จะมีหรือไม่มีก็ตาม สุดท้ายเราจะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่จะอยู่ต่อในระยะยาวให้กับเมืองได้ไหม อุ้มเชื่อว่า พฤติกรรมของมนุษย์มันสามารถเปลี่ยนได้จากโครงสร้างต่างๆ เช่นสิ่งก่อสร้างของเมือง อันดับแรกเราต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้ได้ก่อน
ด้วยตัวงานที่ MAYDAY! ทำ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ไหม
ได้นะ เพราะเราผลักดันจนถึงขั้นที่ทาง กทม. เห็นคุณค่าของการออกแบบแล้ว อย่างกลุ่มดีไซเนอร์เขาจะปลื้มมากๆ เพราะว่าหน่วยงานรัฐในช่วงที่ผ่านๆ มามักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญหรือคุณค่ากับงานออกแบบเลย เขาก็จะ… แค่นี้ก็พอ สีสันสดใสก็พอ พอเราดันไปจนถึงมีการเขียน TOR (Team of Reference – เอกสารกำหนดจากผู้ว่าจ้าง) ระบุว่ามันมีค่าออกแบบนะ ทุกคนก็ดีใจมาก เพราะเราก็สามารถจัดการทรัพยากรได้ดีมากขึ้น แต่มันก็ไม่ถึงกับว่าทำให้เรารวยกับสิ่งนี้ได้ อุ้มรู้สึกว่า คนที่ยอมทำงานเพื่อสาธารณะ ก็น่าจะเลี้ยงชีพด้วยงานนั้นได้ เป้าหมายของเราก็คงไม่ได้เป็นบริษัทใหญ่โต แต่จะเป็นบริษัทที่รวมคนที่อยากจะทำงาน มี passion ให้อยู่ได้
จากที่สังเกตเร็วๆ คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยใช้ระบบขนส่งมวลชนเท่าไหร่ เทรนด์การเดินทางก็จะเป็นไปในลักษณะของการใช้บริการบริษัทขนส่งสตาร์ทอัพ อย่างการเรียก Grab Taxi / Grab Bike กันมากขึ้น แล้วความต้องการที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมคนผ่านโครงสร้างเมืองมันจะเป็นไปได้ยังไง
จริงๆ มันมีคำศัพท์เฉพาะเรียกด้วยนะ ก็คือ paratransit เป็นระบบกึ่งสาธารณะ ซึ่งระบบกึ่งสาธารณะมักจะเกิดในเมืองที่ระบบขนส่งสาธารณะทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าประเทศที่รถเมล์ขนส่งคนได้แบบ door to door แบบนี้คือมีประสิทธิภาพ แต่บ้านเรายังทำไม่ได้ มันก็จะมีระบบรับส่งระหว่างทางเพิ่มขึ้นมา เช่น shuttle bus ระหว่างคอนโดกับรถไฟฟ้า วินมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ ตรงนี้ก็เป็นความท้าทายที่พร้อมจะทำให้เรื่องของ public space การใช้ของสาธารณะหายไป
อีกเรื่องคือ คนที่มีรถยนต์ส่วนตัว เพราะทุกวันนี้คนออกรถกันง่ายมากๆ ระบบส่วนตัวมันกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ ระบบขนส่งสาธารณะมันก็เริ่มสู้ไม่ได้ ต้นทุนของการเดินทางด้วยระบบสาธารณะมันไม่ใช่แค่ถูกกว่าเร็วกว่า แต่ยังมีเรื่องของความสะดวกสบายรวมอยู่ด้วย เหมือนเรายอมเลือกรถติดมากกว่านั่งรถเมล์เปียกเหงื่อกลับบ้าน
แต่สุดท้าย สิ่งที่เราทำ เรามีอยู่สองอย่าง คือคนที่รู้สึกสะดวกสบายในพื้นที่ส่วนตัว ได้ขยับเข้ามาในพื้นที่สาธารณะมากยิ่งขึ้น สองคือ คนที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะเดิม จะทำอย่างไรให้เขาสะดวกสบายได้มากขึ้น
แม้สถิติคนใช้รถเมล์ลดลงเรื่อยๆ แต่ทุกวันนี้ยังมีคนกว่า 3 ล้านคนที่ใช้รถเมล์ต่อวัน เขาต้องผจญภัยกับความ surreal หลายรูปแบบมากๆ ไม่รู้ว่าวันนี้จะเจออะไร ไม่รู้ว่าคนขับจะตีกันหรือเปล่า บางครั้งบนรถเมล์หนึ่งคันก็เป็นเหมือนครอบครัวหนึ่งหลัง มีพ่อแม่ลูก เลี้ยงลูกอยู่บนนั้น เราก็เลยรู้สึกว่า การทำให้มันดีขึ้นได้ ไม่ใช่มองว่า สักวันฉันรวย ฉันจะขับรถของตัวเอง แต่ทำให้เขารู้สึกว่า ขนส่งสาธารณะมันตอบโจทย์ชีวิตของเขาได้ และทำให้คนที่อยู่ในระบบส่วนตัวรู้สึกขึ้นมาในวันหนึ่งว่า การเดินทางสาธารณะมันตอบโจทย์ได้นะ
Public Space ในความคิดของคุณอุ้มควรเป็นยังไง?
จริงๆ มันก็กลับไปเรื่องที่ว่า หน่วยงานเกี่ยวข้องคุยกับผู้ใช้งานน้อยเกินไป ทุกวันนี้สวนสาธารณะ ห้องสมุด หรือทุกอย่างที่ตั้งขึ้น ตั้งขึ้นเพราะดัชนีชี้วัดว่าเมืองจะต้องมี โอเคเรามีแล้วนะ มีแล้ว แต่ฟังก์ชั่นการใช้งานมันกลับไม่ใช่ public space ของเราไม่เคยมีคนอยู่ในนั้น อย่างเช่นป้อมมหากาฬที่โดนรื้อไปก็เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดที่บอกว่าเมืองต้องมีพื้นที่สาธารณะ ก็เลยถูกรื้อ แต่คำถามคือ ฟังก์ชั่นของตัวสวนที่สร้างขึ้น คนได้ใช้มากน้อยแค่ไหน แค่จะวิ่งออกกำลังกายก็ยังไม่สามารถทำได้เลย บางครั้งก็ปิดรั้วด้วยซ้ำ
เมืองสร้างมันขึ้นมา เพราะดัชนีต้องการให้มันมี แต่ข้างในมันไม่มีคน
แค่มีสีเขียวมันแปลว่าดีขึ้นแล้วเหรอ เพราะสวนสาธารณะตามที่ดัชนีชี้วัดต้องการจะให้มีก็เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน แต่สิ่งที่ได้… คำถามคือพัฒนาชีวิตของคนหรือเปล่า ถ้าคิดให้ลึกลงไปก็จะเห็นภาพการใช้งานของคน มันสำคัญ ทำไมหอสมุดเมืองกรุงเทพฯ (ห้องสมุดสาธารณะตั้งอยู่บนสี่แยกคอกวัว) มันใช้ยากจัง
แล้ว MAYDAY! กับ Public Space มีความเกี่ยวข้องกันแค่ไหน?
แทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน ยกตัวอย่าง ตอนที่เราเริ่มทำโฮสเทล ชาวบ้านรอบๆ เขาก็งงว่าตรงนี้มันเคยเป็นโรงพิมพ์เก่านี่นา แล้วทำไมอยู่ๆ มีคนมาเดินเข้าเดินออก เรามองว่าไหนๆ เราก็สามารถดึงคนมาตรงนี้ได้แล้ว เราก็อยากจะโตไปด้วยกันกับชุมชน ฝาบาตรที่เห็นตรงนี้ (ชี้ไปที่ผนัง) เราก็ไปสั่งชุมชนบ้านบาตรให้ทำให้ เราไม่ได้มองว่าไปอุดหนุนของชุมชนแล้วมาขายต่อนักท่องเที่ยวนะ เพราะทำแบบนี้มันไม่ใช่ฟังก์ชั่นจริงๆ ของการทำงาน
อย่างการซักผ้า ซักรีดของแขกในโฮสเทลเราจะเน้นส่งให้ป้ารอบๆ เป็นคนซักให้ ตอนนี้ทั้งซอยก็กลายเป็น ซอยแห่งการซักผ้าไปแล้ว (หัวเราะ)
เราจะไม่ขายอาหารที่ซ้ำกับบริเวณย่าน ไม่ขายในเรตราคาที่ซ้ำ ถ้าแขกอยากไปกินอาหารที่มัน local หน่อยๆ เราแนะนำไปกินข้างๆ ตลอด ไม่ขายเหล้า ไม่ขายเบียร์ ให้ร้านขายของชำข้างๆ เขาอยู่ได้ เรารู้สึกว่ามันคือการเกื้อหนุนกันและอยากให้คนในชุมชนโตไปพร้อมๆ กัน แม่บ้านทุกคนในโรงแรมก็มาจากชุมชนบริเวณนี้
เราเริ่มต้นจากวิธีคิดแบบนี้ เวลาเราเดินมาทำงาน แค่ถึงปากซอย เราก็รู้สึกว่าเออ…นี่บ้านเรา เราก็อยากจะขยายสเกลไปจนเห็นป้ายรถเมล์แล้วก็รู้สึกว่า ถึงบ้านเราละ (หัวเราะ)