- ครูสามเส้า ประกอบไปด้วย ครูในโรงเรียน-ครูชุมชน-ครูพ่อแม่ ส่วนสุดท้ายคือการนำพ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนแต่ละห้องเข้ามาเป็น ‘ครู’ ทำการสอนควบคู่ไปกับครูในโรงเรียน
- ครูสามเส้าคือหนึ่งในนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดสตูล ซึ่งโรงเรียนบ้านควนเกเป็น 1 ใน 10 โรงเรียนนำร่องที่นวัตกรรมนี้จัดการศึกษา
- หน้าที่ของครูพ่อแม่ คือการสอนในเรื่องที่ลูกๆ สนใจและอยากเรียนรู้ โดยวิชาส่วนใหญ่เป็นทักษะที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้ในอนาคต เช่น การทำขนมต้มเพื่อไหว้ในเทศกาลฮารีรายอ การทำแฟ้ม กล่องดินสอ จักสาน
ภาพ: โกวิท โพธิสาร
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสอนหนังสือเป็นเรื่องของครู แต่จะดีกว่าไหม ถ้าทุกจังหวะการเรียนรู้ของลูก พ่อแม่มีส่วนรับรู้ด้วย
โรงเรียนบ้านควนเก เป็นโรงเรียนประถมขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในอำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล ซึ่งถูกประกาศให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จึงทำให้โรงเรียนบ้านควนเกกลายเป็น 1 ใน 10 โรงเรียนนำร่องที่ใช้นวัตกรรมต่างๆ เพื่อปฏิรูปรูปแบบการเรียนการสอน โดยโรงเรียนบ้านควนเกใช้วิธีการเปลี่ยนห้องเรียนให้อยู่ในรูปแบบ Active Learning หรือ การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ โดยผ่านการทำโครงงานฐานวิจัย 14 ขั้นตอน หรือ Research Based Learning (RBL) รวมถึงการใช้วิธีการกระจายการเรียนรู้เพื่อไม่ให้กระจุกตัว เปิดโอกาสให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน เข้ามาเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ในการศึกษาของเด็ก
เพราะความรู้ปัจจุบันไม่เพียงเกิดขึ้นได้ทุกที่เท่านั้น แต่ยังสามารถส่งต่อและถ่ายทอดได้จากกลุ่มคนหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเป็นครูคนเดียวอีกต่อไป นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ พ่อแม่ผู้ปกครองของโรงเรียนบ้านควนเก รวมตัวกันและจัดตั้งกลุ่ม ‘ครูพ่อแม่’ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนของบุตรหลานของตัวเอง
ครูพ่อแม่ เป็นส่วนหนึ่งของ ครูสามเส้า ครูสามเส้าที่ว่านี้หมายถึง ครูในโรงเรียน-ครูชุมชน-ครูพ่อแม่ โดยหัวใจหลักคือต้องการรวมพลังกันทำงาน เพื่อทำให้เห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน เริ่มตั้งแต่ครอบครัว ขยับไปโรงเรียน และขยายวงกว้างไปถึงชุมชน
โดยทุกบ่ายของวันศุกร์ จะเป็นช่วงเวลาที่เด็กนักเรียนแห่งโรงเรียนบ้านควนเก ได้เรียนรู้ตามหัวข้อต่างๆ ที่พวกเขาสนใจอย่างอิสระกับตัวแทนพ่อแม่ผู้ปกครองของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น การทำตุ๊กตายัดไส้การบูร, กล่องดินสอจากกระดาษแข็ง, แฟ้มใส่หนังสือที่จักสานด้วยมือ และขนมต้มที่ใช้สำหรับวันฮารีรายอ
นี่จึงที่มาของการคุยกับตัวแทน ครูพ่อแม่ มะผึ้ง–หัสนีย์ โฉลกดี แม่ของนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1, มะหนับ-ทัศนีย์ มาลัยสนั่น แม่ของนักเรียนชั้นอนุบาล 3, มะเด๊าะ-ฝาตีม๊ะ ปาละวัล แม่ของนักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 แห่งโรงเรียนบ้านควนเก เพื่อทำความเข้าใจว่า ครูพ่อแม่คือใคร ต้องสอนอะไร สอนอย่างไรเพื่อช่วยเชื่อมโยงความรู้ให้ไปถึงบุตรหลานของพวกเขา
เข้ามาเป็นครูพ่อแม่ได้อย่างไร
มะผึ้ง-หัสนีย์ โฉลกดี: อันดับแรกพวกเราทั้งสามคนเป็นผู้ปกครองของลูกๆ นักเรียนทั่วไป ใช้ชีวิตแบบปกติธรรมดาเหมือนพ่อแม่คนอื่น ย้อนไปเทอมที่แล้ว ประมาณ 6 เดือน พอเริ่มมีโครงการ ‘ครูสามเส้า’ ขึ้นมา ผอ. ก็จัดประชุมและบอกว่าอยากให้พ่อแม่เข้ามาช่วยสอน มาเป็น ‘ครู’ ให้เด็กหน่อย ซึ่ง ผอ. เห็นว่าเราใกล้ชิดกับเด็กอยู่แล้ว เพราะเราเป็นคนในชุมชนที่บ้านอยู่ละแวกโรงเรียนด้วย เขาก็อยากให้มาช่วย
แต่ถ้าย้อนไปตอนนั้นที่ ผอ. บอกว่าให้มาเป็นครู เรารู้สึกกลัวนะ เพราะเราไม่ได้เรียนจบครูมา จะให้เป็นครูได้ยังไง แต่ผอ.ก็มีการเรียกมาประชุมเรื่อยๆ เพื่อทำความเข้าใจ และบอกว่าเราเป็นได้ เราใช้ความสามารถส่วนตัว ความสามารถที่เราใช้ในชีวิตประจำวันนี่แหละสอนเด็กๆ
ตอนแรกก็กลัวว่าจะทำได้ไหม เด็กจะให้ความร่วมมือไหม ทั้งกลัวทั้งตื่นเต้น ไม่รู้ว่าจะสอนอะไรดี กังวลไปหมดทุกอย่าง แต่พอได้เริ่ม เราก็ชอบ และมีความสุขกับเด็กไปด้วย
ครูพ่อแม่ต้องสอนอะไรบ้าง
มะผึ้ง-หัสนีย์ โฉลกดี: ในช่วงแรกที่เข้ามา เราไม่รู้จะสอนอะไร เราเล่าเรื่องประวัติ ความเป็นมาของหมู่บ้านควนเกให้เขาฟัง เด็กจะสนใจกันมาก เพราะเด็กรุ่นหลังๆ เขาจะไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับประวัติของบ้านตัวเองอยู่แล้ว พอได้ยินได้ฟังเขาจะมีความตื่นเต้น หลังจากนั้นเราก็พัฒนามาเรื่อยๆ แต่ต้องเริ่มสอนโดยการสอนตามใจเด็ก หมายถึง เด็กอยากเรียนอะไร ชอบอะไร ขอให้เขาบอก ครูพ่อแม่ก็จะเข้ามาสอน ในช่วงบ่ายของทุกวันศุกร์
นอกจากเล่าประวัติบ้านควนเกแล้ว พัฒนามาสอนอะไรอีกบ้าง
มะเด๊าะ-ฝาตีม๊ะ ปาละวัล: ตัวอย่างเช่น ในช่วงเทศกาลฮารีรายอ เรารวมตัวกันเพื่อสอนทำขนมต้ม ซึ่งเป็นขนมประจำเทศกาล สอนวิธีการทำ ส่วนประกอบ ส่วนผสมต่างๆ ซึ่งคาบนี้เด็กๆ ชอบมาก เขามีความสุข พอทำเสร็จก็ได้กิน ได้เอากลับบ้านไปด้วย
นอกจากสอนทำขนม ยังมีวิชาอื่นที่เราเคยนำมาสอนเด็กๆ เช่น งานจักสาน งานประดิษฐ์ พอเขาชอบ เขาอยากเรียนรู้ และอยากทำเป็น การเรียนจักสานมันก็สนุก มันสวยงามมีสีสัน สอนแล้วสามารถเอาไปใช้ได้จริง นำไปประกอบอาชีพได้ด้วย เหมือนมะตอนนี้ มะใช้จักสานเป็นอาชีพเสริม ทำพวกกระเป๋าใส่ดินสอ แฟ้มหนังสือ ตะกร้า ช่วยลดการใช้จ่ายไปได้มาก เราทำใช้เองไม่ต้องซื้อ เราจึงอยากสอนให้เด็กๆ หรือลูกๆ ของเราให้เรียนรู้ตรงนี้ ถ้าเขาทำเป็น เขาก็เอาไปใช้ได้จริง แถมยังเป็นอาชีพติดตัวในภายภาคหน้าได้
มะผึ้ง-หัสนีย์ โฉลกดี: ขอเสริมเรื่องการทำขนม สมัยก่อนเมื่อถึงเทศกาลวันฮารีรายอ เชื่อว่าเด็กบางคนเขาอยากจะเข้าไปช่วยพ่อแม่ทำ แต่พ่อแม่อาจจะไม่ให้ทำเพราะคิดว่าเป็นเด็ก เป็นห่วงไม่อยากให้ลูกหยิบจับอะไรเลย กลัวเรื่องความปลอดภัย เช่น แก๊ส น้ำมัน แต่พอเด็กๆ เขาเคยหัดทำขนมแบบนี้ที่โรงเรียนมาแล้ว พ่อแม่ก็เริ่มเข้าใจลูกของตัวเองมากขึ้น เปิดโอกาสให้เด็กได้ลอง ได้เข้าไปช่วยทำขนม ทำกับข้าว ทอดไข่เจียว
โครงการครูสามเส้าเหมือนกับการฝึกให้เด็กได้หัด ได้ลองทำสิ่งต่างๆ เป็น เมื่อกลับไปที่บ้านพ่อแม่ก็จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นลูกเข้าครัว ก็ให้เริ่มให้ลองทำนู่นทำนี่ด้วยตัวเอง เหมือนกับเราฝึกให้เขาได้ใช้ชีวิตค่ะ พ่อแม่คนอื่นๆ ก็รู้สึกดีไปกับโครงการนี้ไปด้วย เพราะเขาเห็นผลลัพธ์จริงๆ
มะเด๊าะ-ฝาตีม๊ะ ปาละวัล: อย่างที่รู้กันว่าโรงเรียนบ้านควนเก เป็นโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมของจังหวัด เด็กๆ ต้องลงมือทำทุกอย่างเอง
พอมีโครงการนี้ เราสังเกตลูกของเรา เขาเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนเลย เมื่อก่อนลูกจะใช้เราทำทุกอย่าง แต่ตอนนี้พอกลับบ้าน “มะ ช่วยสอนทำผัดมาม่าหน่อย” จากเมื่อก่อน “มะ อยากกินผัดมาม่า ทำให้หน่อย” เขาจะตะโกนสั่งอย่างเดียว ตอนนี้เขาอยากกินอะไรก็ลุกขึ้นมาทำเองเลย เพราะที่โรงเรียนเขาได้ลงมือทำเสมอ มันจึงทำให้เด็กรู้สึกอยากเรียนรู้
การทำนาก็เหมือนกัน พ่อแม่บางคนไม่ให้อยากลูกทำเพราะมันสกปรก แต่มาโรงเรียนแล้วพวกเขาได้ทดลองทำในวิชาฐานวิจัย หรือ RBL เช่น ศึกษาเรื่องพันธุ์ข้าว เรื่องสีสันจากธรรมชาติ แล้วเขารู้สึกสนุก เด็กก็ชอบ และรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องยาก
ทั้งสามคนมองว่าการเรียนรู้แบบเดิม “โรงเรียนก็สอนไปสิ พ่อแม่ก็ดูแลลูกที่บ้านไปสิ” วิธีแบบนี้มันดีหรือไม่
มะผึ้ง-หัสนีย์ โฉลกดี: คือการเรียนแบบเดิมมันก็ดีค่ะ แต่ความรู้มันก็จะอยู่แต่ในหนังสือ อยู่แบบเดิมๆ การพัฒนาไม่ค่อยได้มากขึ้น แต่พอมีการปรับเปลี่ยนใหม่ ให้มีทั้งการเรียนแบบเดิมและแบบใหม่เข้ามาช่วย ทำให้เด็กมีความรู้มากขึ้น สนุกขึ้น เด็กไม่ต้องอยู่แต่ในหนังสือ แต่ไปเจอไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ
การมีอยู่ของกลุ่มครูสามเส้า ทำให้พ่อแม่กลับมาเชื่อมโยงกับโรงเรียนยังไง
มะผึ้ง-หัสนีย์ โฉลกดี: ตั้งแต่มีการรวมกลุ่มครูสามเส้าเข้ามา ในแง่ของความสัมพันธ์มันทำให้ผู้ปกครองคนอื่นๆ เริ่มเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับลูกตัวเองมากขึ้นนะ โดยปกตินักเรียน 1 ห้อง ต้องมีครูพ่อแม่ที่เป็นตัวแทน 4 คน เราเป็นตัวแทนที่ทำงานกับเด็กโดยตรง ผู้ปกครองคนอื่นๆ เขาก็เลือกมาถามว่า… “วันนี้ลูกเขาเป็นยังไงบ้าง ลูกเขาตั้งใจเรียนไหมลูกเขาทำได้ไหม” ผู้ปกครองจะมีความสนใจ ใส่ใจกับโรงเรียนมากกว่าเดิม มีความสนใจกระตือรือร้นใส่ใจลูกตัวเองสูงขึ้น
มะหนับ-ทัศนีย์ มาลัยสนั่น: หรือในแง่การเรียน บางหัวข้อที่เด็กอยากรู้ แต่ไม่มีความรู้ กลุ่มครูพ่อแม่ก็เป็นตัวแทนออกไปหาความรู้ต่างๆ จากนอกสถานที่ให้ เช่น ในหมู่บ้าน หมู่ 1 เขาเด่นเรื่องการนวดแผนโบราณ เราในฐานะครูพ่อแม่ก็เข้าไปคุยเพื่อขออนุญาตพาเด็กไปเรียนรู้ ทุกอย่างมันทำได้ง่ายขึ้น ความเชื่อมโยงมันอยู่ตรงนี้
อะไรที่ทำให้ทั้งสามคนอยากจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของลูก
มะผึ้ง-หัสนีย์ โฉลกดี: เพราะลูกเราเรียนอยู่ที่นี่ อยู่ในบ้านเรา เราก็อยากให้ลูกเราเก่ง อยากให้ลูกเราพัฒนาการที่ดีขึ้น อยากให้ลูกเราเก่งทัดเทียมกับเด็กในโรงเรียนดีๆ ดังๆ ได้ และเราคิดว่าเราช่วยลูกได้ก็เลยอยากลองดูสักตั้ง ถึงแม้ใจจริงจะกลัว เพราะไม่รู้ว่าต้องทำอะไร จะสอนอะไร แต่ในเมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะลอง เราก็ต้องทำ ต้องลองแล้วก็ช่วยกันพัฒนา ช่วยกันทำให้ดีขึ้น
ในฐานะที่ทั้งสาม เป็นทั้งครูด้วย เป็นแม่ด้วย อยากให้ขยายความเพิ่มว่าแต่ละคนเห็นลูกของเราเปลี่ยนแปลงอย่างไร
มะผึ้ง-หัสนีย์ โฉลกดี: เรารู้จักลูกตัวเองเพิ่มขึ้นด้วยค่ะ เรารู้สึกดีมาก เพราะปกติลูกสาว ป.3 เขาจะเป็นคนเงียบๆ กลับมาจากโรงเรียนเขาก็จะเล่นโทรศัพท์ จะไม่ทำอะไรเลย เราคิดว่าเขาไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก แต่ตอนนี้กลับมาถึง “มะ…หนูอยากทอดไข่ หนูอยากเจียวไข่” เขาอยากทำอะไร ก็ทำเองหมดทุกอย่าง มีความกระตือรือร้นที่อยากจะมาโรงเรียน ปกติเด็กตื่นเช้าขึ้นมาก็ขี้เกียจ “ขอไม่ไปโรงเรียนได้ไหมคะ” แต่ตอนนี้ไม่นะ ตื่นมาอาบน้ำ แต่งตัว แล้วก็รีบมาโรงเรียน เขาชอบ อยากมาเรียน มาทำกิจกรรมกับเพื่อน
มะเด๊าะ-ฝาตีม๊ะ ปาละวัล: ที่ชัดเลยคือมันทำให้เราได้คุย ได้สนิท ใกล้ชิดกันมากขึ้น เพราะว่าโครงการนี้เขาจะให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง เริ่มจากในห้องเรียนที่ครูพาพวกเขาแบ่งงาน แบ่งหน้าที่ จากนั้นเด็กจะต้องไปค้นคำตอบด้วยตัวเอง ต้องกลับไปถามพ่อแม่ จุดนี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ได้ ทำให้ครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกันเพิ่มมากขึ้น
มะผึ้ง-หัสนีย์ โฉลกดี: และที่สำคัญทำให้ผู้ปกครองเข้าหาครูมากขึ้นด้วย สมัยก่อนเราไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าครูสอนเด็กเป็นอย่างไรบ้าง แต่ตั้งแต่มีโครงการนี้เข้ามาทำให้ผู้ปกครองกล้าเข้าหาครู ใกล้ชิดครู แล้วก็ทำให้รู้ว่าครูสอนอะไร พฤติกรรมของเด็กเวลาครูสอนเป็นยังไง ครูเหนื่อยขนาดไหน ครูต้องอดทนขนาดไหน เพราะปกติที่ผ่านมา ผู้ปกครองบางคนก็คิดว่า ครูไม่สนใจ ครูไม่ใส่ใจลูกเรามันทำให้เข้าใจความรู้สึกครู เข้าใจความรู้สึกนักเรียน เข้าใจความรู้สึกทุกคนมากขึ้น
ในวิชาโครงงานฐานวิจัย (RBL) ของโรงเรียนบ้านควนเก ที่มี 14 ขั้นตอน บทบาทของครูพ่อแม่อยู่ในขั้นตอนไหนบ้าง
มะเด๊าะ-ฝาตีม๊ะ ปาละวัล: พอเด็กได้หัวข้อวิจัยที่เลือกจากความชอบแล้ว เด็กก็จะไปเสนอครู จากนั้นก็แบ่งงานให้เด็กรับผิดชอบ เด็กก็จะกลับไปปรึกษาพ่อแม่ตามหน้าที่ที่เขาได้รับ เช่น ศึกษาเรื่องสีจากธรรมชาติ ก็กลับไปถามพ่อแม่ของเขา ในวิชานี้เราแค่ช่วยเสริม ผู้ปกครองกับครูดูอยู่ห่างๆ ไม่ได้ลงมือทำให้เด็ก ถ้าอันไหนที่เด็กไม่รู้เราก็จะแนะนำให้เขาไปศึกษาถูกจุด เหมือนเป็นพี่เลี้ยงให้ เช่น ตอนนี้ลูกมะอยู่ ป.6 เรียน RBL เรื่องสีจากธรรมชาติ เขาก็มาถามว่า “มะ แถวหมู่บ้านนี้มีใครปลูกต้นอะไรบ้าง” หรือ “ดอกอัญชัญคั้นมาแล้วจะออกมาเป็นสีอะไร ขมิ้นเป็นสีอะไร” เพราะครูให้โจทย์มา เขาต้องเตรียมข้อมูลล่วงหน้าเพื่อที่จะออกพื้นที่
สุดท้ายแล้วการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มครูสามเส้าเติมเต็มให้กับทั้งสามอย่างไรบ้าง
มะหนับ-ทัศนีย์ มาลัยสนั่น: อย่างเราเป็นพ่อแม่ บางเรื่องเราที่ไม่ถนัด เราก็มาหัดเรียนกับลูก
มะผึ้ง-หัสนีย์ โฉลกดี: มันก็ช่วยเสริมให้เรามีความรู้เพิ่มขึ้น กลายเป็นว่าเราทำทุกอย่างไปพร้อมเด็ก เรียนรู้กับเด็ก ตอนที่ทำขนมต้ม เราก็ทำไม่เป็น พอมาเรียนกับเด็กเราก็ทำได้ เรามาขอความรู้กับครูพ่อแม่ท่านอื่นๆ จนตอนนี้ทำเป็นหลายอย่างแล้ว (หัวเราะ) ประเด็นคือเราได้ทำเป็นพร้อมเด็ก ช่วยกันเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เครือข่ายผู้ปกครองก็ต้องมาเรียนด้วยกัน ช่วยกันเรียนรู้ ช่วยกันสอน และมันจะทำให้เด็กเข้มแข็ง และชุมชนเข้มแข็งไปด้วย
อ่านบทความ การเรียนรู้โดยใช้วิชาโครงการฐานวิจัย (Research-Based Learning) โรงเรียนบ้านควนเก เพิ่มเติมได้: ที่นี่
หมายเหตุ: โรงเรียนบ้านควนเก จังหวัดสตูล เป็นโรงเรียนหนึ่งในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.สตูล สนับสนุนการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศูนย์วิจัยด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สตูล