- ข้อมูลระบุว่า มีเด็กจำนวนมากมายจากหลายประเทศที่ไปโรงเรียน แต่กลับมีการเรียนรู้น้อย อยู่ในฐานะ ‘ไม่รู้หนังสือ’ (illiterate)
- การสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ จะเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ไม่เพียงเฉพาะ ‘ผู้เรียน’ เท่านั้น แต่รวมถึงผู้ใกล้ชิดผู้เรียนอีกด้วยอีก เช่น ครู สื่อการเรียนการสอน เครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีต่างๆ การจัดการภายในโรงเรียน และระบบการศึกษา
- World Bank Group ย้ำว่า ทักษะการคิด ทักษะทางปัญญา (cognitive skills) ไม่เพียงพออีกต่อไป ต้องอาศัยทักษะทางสังคมและอารมณ์ (socio-emotional skills) เช่น อุปนิสัยความเพียร (grit) และการควบคุมตนเอง (self-control) และทักษะเชิงเทคนิค (technical skills) ที่ไม่ได้แค่ช่วยให้คนคนหนึ่งมีอาชีพแต่ช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างดีและมีความสุข
จากการศึกษาข้อมูลและคำสัมภาษณ์ของผู้รู้ The Potential ในฐานะสื่อกลางเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ได้นำเสนอมาอย่างต่อเนื่องว่า การศึกษาไม่ใช่แค่เรื่อง ‘ความรู้’ (knowledge) แต่รวมถึงการพัฒนา ‘ทักษะ’ (skills) และ ‘ลักษณะนิสัย’ (character) ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต เพื่อให้ผู้เรียนมีทางเลือกและสร้างสรรค์เส้นทาง ‘การเรียนรู้’ (learning) ของตัวเองได้
เป็นเรื่องน่าประหลาดใจอยู่ไม่น้อย ที่เมื่อเจาะลึกถึงการพัฒนาการเรียนรู้มากเท่าไร กิจกรรมการเรียนรู้ที่ถูกเอ่ยถึงมักถูกบรรยายด้วยฉากหลังที่ไม่ใช่แค่โรงเรียนและสถานศึกษาอย่างที่เข้าใจกัน แต่กลับเป็นการใช้เวลาใน ‘บ้าน’ การทำกิจกรรมสร้างสรรค์ใน ‘พื้นที่สาธารณะ’ หรือเรื่องราวอื่นๆ ที่ประกอบร่างให้เกิดการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ยิ่งลงลึกเท่าไร เรายิ่งได้รู้และได้รับคำยืนยันว่า กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ และตลอดชีวิต
‘การเรียนรู้’ ลักษณะนี้จึงไม่ใช่แค่ ‘การศึกษา’ (schooling) ในโรงเรียนหรือในห้องเรียน แต่เกิดขึ้นจากองค์ประกอบหลายส่วน ยกตัวอย่างเช่น การดูแลอย่างเอาใจใส่จากคนใกล้ตัว แรงกระตุ้นจากครูเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียน รวมไปถึงเรื่องภาวะโภชนาการ เพราะอาหารการกินส่งผลต่อสารอาหารที่ร่างกายได้รับ ซึ่งช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง หรือแม้แต่เรื่องละเอียดอ่อนและควรระวัง เช่น เรื่องความรุนแรงที่เด็กสัมผัสได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบที่เป็นความเสี่ยงให้กับเด็กและเยาวชน ทั้งด้านความคิดและพฤติกรรมในอนาคต
ยากดีมีจน ไม่ใช่เงื่อนไขปิดกั้นการเรียนรู้
ถึงตรงนี้คงต้องย้ำอีกครั้งว่าการศึกษาที่ล้มเหลวไม่ได้มีสาเหตุจากระบบการศึกษาเชิงนโยบายของรัฐเพียงอย่างเดียว รายงานเรื่อง Learning to Realize Education’s Promise โดย World Bank Group ที่เผยแพร่ล่าสุดในปี 2018 พยายามชี้ให้เห็นว่าการศึกษาที่ดีทั้งในและนอกห้องเรียนควรมีหน้าตาแบบไหน แล้วสามารถสร้างการเรียนรู้ได้อย่างไร ทีมงานได้เก็บรวบรวมข้อมูลด้านการศึกษาจากหลายแหล่งทั่วโลก เพื่อนำมาวิเคราะห์ ได้ข้อสรุปชัดเจนว่า การเข้าเรียนในห้องเรียน หลายครั้งไม่ช่วยสร้างการเรียนรู้
ในบทที่ 3 ของรายงาน แสดงข้อมูลของเด็กที่ไปโรงเรียนมากมายจากหลายประเทศ แต่กลับมีการเรียนรู้น้อยมาก โดยระบุว่า ในโลกนี้มีเด็ก 125 ล้านคนที่ไปโรงเรียน 4 ปีแล้ว แต่ยังอยู่ในฐานะ ‘ไม่รู้หนังสือ’ (illiterate) ตัวเลขร้อยละของนักเรียนที่เข้าโรงเรียนแล้วหลายปี แต่ยังอยู่ในสภาพไม่รู้หนังสือแตกต่างกันตามประเทศ ซึ่งสะท้อนคุณภาพของการศึกษาของประเทศนั้นๆ เช่น ประเทศไนเจอร์ นักเรียนชั้น ป.6 กว่าร้อยละ 90 มีทักษะด้านการอ่าน และด้านคณิตศาสตร์ ในระดับไม่มีความสามารถ
ใน 51 ประเทศทั่วโลก มีผู้หญิงเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (แต่ไม่ได้เรียนต่อ) แล้วสามารถอ่านประโยค 1 ประโยคได้
มีปัจจัยหลายด้านที่ส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษา และโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานของผู้คนแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ความยากจน ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ เพศสภาพ และความผิดปกติทางร่างกายของผู้เรียนเอง หลายปัจจัยเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หลายปัจจัยสามารถส่งเสริมให้ดีขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม การสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากมัวแต่โทษปัจจัยภายนอกเหล่านี้โดยไม่พัฒนา 4 สาเหตุหลักของวิกฤติทางการเรียนรู้ ซึ่งก็คือ ‘ผู้เรียน’ และปัจจัยใกล้ชิดผู้เรียนมากที่สุด ได้แก่ ครู ทรัพยากร (สื่อการเรียนการสอน เครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีต่างๆ) การจัดการภายในโรงเรียน และ ระบบการศึกษา ซึ่งแต่ละส่วนมีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก
เมื่อเอ่ยถึง ผู้เรียน ตัวผู้เรียนเชื่อมโยงไปสู่ครอบครัว พื้นฐานครอบครัว เช่น ความยากจน การขาดความรักความเอาใจใส่จากคนในครอบครัว หรือเด็กที่เติบโตจากครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีความรู้ แน่นอนว่าสภาพแวดล้อมเหล่านี้ส่งผลต่อ ความพร้อมของผู้เรียน กรณีนี้การเสริมความพร้อมด้านอื่น ซึ่งก็คือ ครู ทรัพยากร และการจัดการภายในโรงเรียนและระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ สามารถยกระดับชีวิตให้เด็กได้
หลายคนบอกว่า พื้นฐานและฐานะทางครอบครัวมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ แต่จากการศึกษาพบว่า การจัดการศึกษาต่างหากที่มีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
ผลการศึกษาชี้ว่า นักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจนหรือด้อยโอกาส หากได้รับการศึกษาจากโรงเรียนที่จัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูง กล่าวคือ มีครู ทรัพยากร และระบบจัดการศึกษาที่มีความพร้อม ผลการเรียนของนักเรียนจะอยู่ในระดับมาตรฐานไม่ต่างจากนักเรียนที่มีภูมิหลังมาจากครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย ดังนั้น ความยากดีมีจน ความด้อยโอกาสทางกายภาพอื่นๆ จึงไม่ใช่ปัจจัยฉุดรั้งการเรียนรู้เสียทีเดียว หากเด็กและเยาวชนได้รับโอกาสและความเท่าเทียมกันทางการศึกษาที่ดีพอและมีมาตรฐาน
ปี 1950 ประเทศเกาหลีใต้ เริ่มต้นพัฒนาคุณภาพการศึกษา มุ่งเน้นที่ระดับประถมศึกษา ก่อนขยายไปสู่ระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา โดยไม่ละทิ้งครอบครัวที่มีรายได้ต่ำและด้อยโอกาส ปัจจุบันระดับการเรียนรู้ของนักเรียนเกาหลีใต้จากการวัดผล Programme for International Student Assessment (PISA)* อยู่ในระดับยอดเยี่ยม ประเทศเวียดนามก็ใช้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาแบบเดียวกัน ความสำเร็จของกลยุทธ์นี้แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมกันเป็นสิ่งจำเป็นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการขยายจำนวนโรงเรียนออกไปยังพื้นที่ต่างๆ
กลับมาที่สาเหตุหลักของวิกฤติทางการเรียนรู้ทั้ง 4 ในเมื่อสามารถเสริมสร้างความพร้อมให้ผู้เรียนได้ แล้วสามารถสร้างความพร้อมให้อีก 3 ปัจจัยที่เหลือได้ไหม?
โรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพ มีสาเหตุได้จากหลายเงื่อนไขด้วยกัน
‘ครู’ ขาดความรู้ ขาดทักษะการสอน และขาดแรงจูงใจในการทำหน้าที่ หลายโรงเรียนครูไม่เห็นความสำคัญและไม่เห็นคุณค่าในตนเองว่า บทบาทหน้าที่ครูเป็นหัวใจของการเรียนรู้ของนักเรียน
ผลการวิจัยในสหรัฐอเมริกา พบว่า นักเรียนที่เรียนกับครูที่มีความสามารถสูง มีความก้าวหน้าในการเรียนรู้ไปไกลได้ถึง 1.5 ปีการศึกษาเมื่อเทียบกับครูทั่วๆ ไป เทียบกับนักเรียนที่เรียนกับครูซึ่งขาดทักษะ พบว่า นักเรียนมีความก้าวหน้าในการเรียนรู้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น วัดระดับการเรียนรู้ได้เพียง 0.5 ปีการศึกษา เห็นได้ว่าศักยภาพของครูส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนของนักเรียนถึง 3 เท่า
ในส่วนของ ทรัพยากร การจัดการภายในโรงเรียน และระบบการศึกษา เรายังคงได้ยินคำเรียก ‘โรงเรียนทุรกันดาร’ ในสังคมไทย สะท้อนภาพโรงเรียนในต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกลจำนวนไม่น้อย ยังขาดแคลนอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน และไม่มีการจัดการระบบการเรียนรู้ที่ดี รวมถึงครูที่มีความรู้ความสามารถ
วิกฤติจากทั้ง 4 ปัจจัย เมื่อไม่ได้รับการเตรียมหรือเสริมความพร้อม นักเรียนที่ไม่พร้อมจึงยิ่งขาดแคลน ส่งผลให้มีพัฒนาการการเรียนรู้ช้า เกิดช่องว่างในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ เมื่อเด็กโตขึ้นเรื่อยๆ โอกาสแก้ไขก็ยิ่งยากขึ้น
ผลการวิเคราะห์คะแนนสอบ PISA ปี 2009 พบว่า ประเทศที่ได้ผลคะแนนสูงในลำดับต้นๆ เช่น แคนาดา ฟินแลนด์ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ (จีน) ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่นักเรียนมีโอกาสเข้าถึงการจัดการศึกษาคุณภาพสูงอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เฉพาะนักเรียนจากครอบครัวฐานะดีเท่านั้นที่เข้าถึงโอกาส
ตัดภาพมาที่ความเป็นจริงในสังคมไทย และอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่สถานการณ์กำลังดำเนินอยู่ในทิศทางตรงกันข้าม เด็กด้อยโอกาส มาจากครอบครัวที่ขาดแคลนมักถูกซ้ำเติมด้วยความขาดแคลนหนักเข้าไปอีก พวกเขาไม่มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งความรู้อื่นๆ เช่น หนังสือที่ดี สื่อการเรียนการสอน หรือแหล่งข้อมูลมหาศาลในอินเทอร์เน็ตที่ช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจโลกกว้าง
การขาดแคลนทางกายภาพ กลายมาเป็นข้ออ้างของการไม่พยายามเข้าถึงการเรียนรู้ หรือพยายามแล้วแต่ก็ยังไปไม่ถึง ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ใช่ปัจจัยทางกายภาพที่เป็นปัญหา แต่สาเหตุหลักมาจาก ความไม่เท่าเทียมกันของระบบการศึกษามากกว่า
ปรับให้ดีที่สุด จากจุดที่ยืน
ในเมื่อไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายภาพรวมให้ปรับปรุงระบบการศึกษาได้ แล้วจะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกันมากที่สุด?
ประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ ปัญหาการเรียนที่พบได้ทั่วโลก เกิดขึ้นจากการที่เด็กไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ดีพอตั้งแต่ช่วงวัยแรกเกิด โภชนาการเป็นเรื่องที่ถูกมองข้าม ต่อมาเมื่อเข้าสู่วัยเรียน เด็กไม่ได้รับการกระตุ้นให้เกิดความสนใจเรียนรู้สิ่งรอบตัว จากการสำรวจพบว่า 1 ใน 4 ของเด็กและเยาวชนทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงศักยภาพที่แท้จริงของตนเองผ่านการเรียนรู้ในห้องเรียน ขณะที่มีเด็กและเยาวชนราว 263 ล้านคนไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา
ซ้ำร้ายเด็กและเยาวชนที่เข้าถึงการศึกษา กลับต้องเผชิญหน้ากับการเรียนการสอนที่ไม่ได้ช่วยให้เกิดความอยากเรียน ผลลัพธ์ที่ได้ คือ นักเรียนที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาควรมีความรู้และทักษะขั้นสูงในการประกอบอาชีพ หรือพูดง่ายๆ ว่าควรมีความพร้อมออกไปประกอบอาชีพจริงๆ กลับไม่สามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการทำงานได้ เนื่องจากได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ไม่มีคุณภาพ
รายงาน Learning to Realize Education’s Promise ได้แนะแนวทางหลุดกับดักการเรียนรู้ ด้วยการวางรากฐานการเรียนรู้ที่แข็งแรงให้เด็กตั้งแต่แรกเกิดและต่อเนื่องในแต่ละช่วงอายุ โดยระบุว่า หัวใจหลักของการเรียนรู้ คือ เด็กควรได้รับการเรียนรู้อย่างเหมาะสมตามช่วงอายุ และได้เรียนในสิ่งที่ชอบ เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมและสร้างแรงจูงใจในการเรียน
หลักการ 3 ข้อต่อไปนี้ เป็นแนวทางและเป็นจุดตั้งต้นให้ใครก็ตามที่ต้องการปฏิรูปการศึกษา นำไปพัฒนาต่อให้เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน คนทำงาน และสภาพแวดล้อมในพื้นที่ของตัวเองได้ แต่คงไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีเงื่อนไขและอุปสรรคเฉพาะตัว
หนึ่ง ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อม สร้างการเรียนรู้ตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการการเรียนรู้ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ควรส่งเสริมการพัฒนาด้านความรู้ ความเข้าใจและการเข้าสังคมตั้งแต่ปฐมวัย ด้วยการเอาใจใส่ด้านโภชนาการ การดูแลให้ความรัก กระตุ้น และสร้างโอกาสการเรียนรู้จากครอบครัวและคนใกล้ชิด
สอง ครู ทรัพยากร และระบบการจัดการศึกษาในโรงเรียนก็ต้องมีความพร้อม โรงเรียนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา รัฐควรพัฒนาโรงเรียนรัฐให้ได้มาตรฐาน ค่าเล่าเรียนสำหรับโรงเรียนที่มีคุณภาพไม่ควรแพงเกินไป และโรงเรียนควรให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนด้วยสื่อการเรียนการสอน และเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการสอนให้มีความน่าสนใจและหลากหลาย อบรมครูที่มีคุณภาพเข้าไปจัดการเรียนการสอน และจัดสรรจำนวนนักเรียนต่อชั้นเรียนอย่างเหมาะสม เพราะจำนวนนักเรียนมีผลต่อประสิทธิภาพของครูผู้สอนด้วยเช่นกัน ส่วนนี้ทั้งหมดต้องอาศัยการสนับสนุนในระดับนโยบาย
แต่สิ่งที่แต่ละโรงเรียนทำได้ทันที คือ การพัฒนาครูให้มีทักษะการสอนที่ก้าวทัน เปิดรับการใช้เครื่องมือหรือนวัตกรรมเข้ามาเพิ่มแรงจูงใจในการสอน อบรมครูให้มีความรู้และมีทักษะที่สามารถหนุนเสริมพัฒนาการเรียนรู้และทักษะต่างๆ ของนักเรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ควรมีการสร้างกำลังใจให้ครูเห็นคุณค่าและภูมิใจในบทบาทหน้าที่ของตัวเอง
ในบทรายงาน Learning to Realize Education’s Promise บอกว่า วิธีการที่ดีที่สุดที่ช่วยพัฒนาครู สร้างแรงจูงใจและดึงดูดคนที่มีความรู้ความสามารถ และมีแรงบันดาลใจเข้ามาสู่อาชีพครู คือ การสร้างคุณค่าให้กับอาชีพ ประเทศฟินแลนด์ เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้การยกย่องอาชีพครู ครูได้รับการยอมรับนับถือ มีความน่าเชื่อถือ และมีรายได้ที่ดี ไม่ได้เป็นอาชีพเกรดรอง แต่เป็นอาชีพที่ต้องแน่พอถึงจะได้รับใบรับรองการประกอบอาชีพ เพราะครูทุกคนต้องได้รับการฝึกฝนและอบรมมาเป็นอย่างดีก่อนทำงานจริง
สาม ลดช่องว่างการเรียนรู้ในห้องเรียน ด้วยการปรับปรุงหลักสูตรและระบบการเรียนการสอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน
น่าแปลกที่ตามธรรมชาติแล้ว ครูมักให้ความสนใจนักเรียนที่เก่ง มีผลการเรียนโดดเด่นมากกว่านักเรียนที่ตามเพื่อนไม่ทัน ทั้งที่นักเรียนกลุ่มหลังควรได้รับการเอาใจใส่เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้มากกว่า
ระบบการเรียนการสอนในสิงคโปร์ ลดช่องว่างเรื่องนี้ด้วยการให้มีการทดสอบคัดกรองเด็กก่อนเริ่มชั้นเรียน ไม่ใช่เพื่อบอกว่าใครเก่งกว่าใคร แต่เพื่อให้ครูรู้ว่าเด็กแต่ละคนมีจุดอ่อนจุดแข็งตรงไหน แล้วซ่อมเสริมเพิ่มเติมได้ตรงจุด
ที่เซี่ยงไฮ้ การสอนของครูติดอันดับมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพสูงระดับโลก ผลลัพธ์นี้เกิดจากการรวมกลุ่มทำงานของเครือข่ายครู Teaching-Research Groups ที่ช่วยสังเกตการณ์ ประเมินผลการสอนและให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาการสอนอย่างต่อเนื่องในกลุ่มครู
ทั้งหมดนี้เป็นการปรับสภาพแวดล้อมในห้องเรียน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนมีความสุขในการเรียน และผู้สอนมีความกระตือรือร้นในการสร้างการสอนที่มีคุณภาพ เพื่อผลิตเด็กที่มีทั้งความรู้และมีทักษะพร้อมออกไปประกอบอาชีพจริง
หลักการข้อ 2 และ 3 มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน ค่าเล่าเรียนที่แพงเกินควร ทำให้หลายครอบครัวไม่มีกำลังส่งลูกเรียนหนังสือ ระบบการเรียนการสอนที่ขาดแรงจูงใจ ไม่กระตุ้นให้อยากเรียน และละทิ้งนักเรียนบางกลุ่ม ส่งผลให้เด็กเบื่อหน่าย ไม่สนใจเรียน กระทั่งขาดเรียน โดดเรียน หรือรวมกลุ่มกันไปทำกิจกรรมอย่างอื่นนอกห้องเรียน กรณีนี้ในสังคมไทยอาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยง เช่น เรื่องการสูบบุหรี่และยาเสพติด
มีความรู้ไม่พอ ต้องประยุกต์ให้ได้
เมื่อเด็กไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามระบบเท่ากับเป็นการตัดอนาคตของตัวเอง เพราะอย่างน้อยที่สุด เด็กควรได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกันถึงในระดับที่สามารถอ่านออกเขียนได้
จากการศึกษาพบว่า เด็กและเยาวชนที่ไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มักถูกจ้างงานในตลาดแรงงานที่แทบไม่มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก ในทางกลับกันหากเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ได้รับการฝึกฝนและพัฒนาฝีมือจากสถานประกอบการ พวกเขาสามารถพัฒนาตัวเองให้หลุดพ้นจากวงจรการใช้แรงงาน ไปสู่ตำแหน่งงานที่สูงขึ้นและมีเงินเดือนมากขึ้นได้
เห็นได้ว่าการพัฒนาในส่วนนี้ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนอีกต่อไป เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากนายจ้างหรือผู้ประกอบการด้วย
แล้วผู้ประกอบการได้อะไรจากการลงทุนเทรนนิ่ง/อบรมให้พนักงาน?
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลในประเทศลาตินอเมริกาและแคริบเบียนระบุว่า แรงงานที่มีฝีมือช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้ผู้ประกอบการได้ เมื่อผู้ประกอบการลงทุนเทรนนิ่งให้พนักงานเพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ ในสัดส่วนของพนักงานทั้งหมด ส่งผลให้ศักยภาพการผลิตเพิ่มขึ้น 0.7 เปอร์เซ็นต์
ที่เม็กซิโก การลงทุนฝึกอบรมพนักงานสำหรับแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป ส่งผลให้ศักยภาพการผลิตเพิ่มขึ้น 4-7 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับที่มาเลเซีย ที่โรงงานได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 7.7 เปอร์เซ็นต์ และ 4.7 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศไทย
ในประเทศเคนยาและแซมเบีย การฝึกอบรมในสถานที่ทำงานมีความสัมพันธ์กับค่าแรงของคนงานที่เพิ่มขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะค่าแรงที่เพิ่มขึ้นแสดงถึงสัดส่วนผลประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้นของโรงงาน
ในโลกแห่งความเป็นจริง ในตลาดแรงงาน ความสำเร็จทางวิชาการและการประกอบอาชีพไม่ได้อาศัยแค่ความรู้เพียงอย่างเดียว การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ในชีวิตต่างหากที่เป็นเชื้อเพลิงให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้อย่างไร้ทางตัน
ทักษะต่างๆ ที่ว่ามาทั้งหมดสามารถพัฒนาได้ แต่จะได้มากน้อยช้าเร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับพัฒนาการด้านความยืดหยุ่นทางสมองและทางจิตใจของแต่ละคน
ข้อมูลจากการรายงานของ World Bank Group เน้นย้ำว่า ทักษะการคิด/ทักษะทางปัญญา (cognitive skills) นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป ทักษะทางสังคมและอารมณ์ (socio-emotional skills) หรือ หลายครั้งเรียกว่า ทักษะเชิงพฤติกรรม (non-cognitive skills) อย่างเช่น อุปนิสัยความเพียร (grit) และการควบคุมตนเอง (self-control) และ ทักษะเชิงเทคนิค (technical skills) เป็นหัวใจ 3 ห้องสำคัญที่ไม่ได้แค่ช่วยให้คนคนหนึ่งมีอาชีพแต่ช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างดีและมีความสุข
หลักฐานการรายงานจากประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง แสดงให้เห็นว่า ‘ทักษะ’ และ ‘ประสบการณ์ทำงาน’ มีผลอย่างมากต่อการจ้างงาน ทำให้ผู้ถูกจ้างมีตัวเลือกในการประกอบอาชีพ และสามารถเลือกงานที่มีรายได้เหมาะสมกับทักษะงานของตนเอง
เมื่อมีงาน และมีรายได้เพียงพอ ผลกระทบด้านบวกที่เกิดตามมา คือ การเลือกมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ในภาพรวมจึงช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสังคม เช่น อาชญากรรม ความรุนแรง และการใช้สารเสพติดลงได้ด้วย
มาทำความรู้จักทักษะที่ต้องมี!
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะต่างๆ ทั้ง 3 ส่วน และการกระตุ้นให้เกิดการสร้างทักษะแต่ละส่วน ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
สหราชอาณาจักรได้นำการวัดมาตรฐานทักษะทางปัญญา และทักษะทางอารมณ์และสังคม มาใช้เป็นเครื่องมือพยากรณ์ตัวบุคคลในแง่การดำเนินชีวิต เช่น บุคคลนี้จะเข้าเรียนไหม จะจบการศึกษาหรือเปล่า จะได้รับการจ้างงานหรือไม่ มีพฤติกรรมเสี่ยงเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ไหม และมีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับปัญหาอาชญากรรมหรือเปล่า เป็นต้น
ข้อมูลต่อไปนี้ จะทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่าแต่ละทักษะทำงานต่างกันอย่างไร และประกอบด้วยอะไรบ้าง
- ทักษะการคิดหรือทักษะทางปัญญา (cognitive skills)
หมายถึง ความสามารถในการเข้าใจไอเดียหรือความคิดที่ซับซ้อน แล้วปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงความสามารถในการเรียนรู้จากประสบการณ์และการเข้าใจเหตุผล ทักษะการคิดมีความจำเป็น เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาพื้นฐานส่วนอื่น แบ่งเป็นทักษะพื้นฐาน ได้แก่ การอ่านออกเขียนได้ การคิดคำนวณ การคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ และการแก้ปัญหาจากการคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง เป็นต้น
- ทักษะทางสังคมและอารมณ์ (socio-emotional skills)
เป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม ทัศนคติ และค่านิยม ที่คนคนหนึ่งต้องการเพื่อนำทางชีวิตในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และสังคมที่อยู่ด้วย รวมถึงการตอบสนองต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ท้าทายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
ประกอบไปด้วย การรู้จักตัวเอง (self-awareness) ภาวะความเป็นผู้นำ (leadership) การทำงานเป็นทีม (teamwork) การควบคุมตนเอง (self-control) การจัดการตนเอง (self-management) การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (effective communication) และแรงจูงใจ (motivation) ครอบคลุมไปถึง ทักษะเชิงพฤติกรรม หรือ non-cognitive skills เช่น ลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพส่วนบุคคล ต่อการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และมารยาทในการเข้าสังคมและทักษะเชิงเทคนิค (technical skills)
คือ ความรู้ ความชำนาญเฉพาะทาง เช่น เรื่องการใช้วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่จำเป็น และการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะทำงานอย่างมืออาชีพ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด
ทักษะเชิงเทคนิคนี้สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ทั้งจากการเรียนและการทำงาน เป็นประสบการณ์ ความชำนาญ และความคล่องแคล่ว ที่จะติดตัวผู้เรียนและผู้ปฏิบัติไปตลอด
ทักษะการคิด/ทักษะทางปัญญา และทักษะทางสังคมและอารมณ์ เป็นทักษะ 2 กลุ่มที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน คนที่มีทักษะทางสังคมและอารมณ์ที่ชัดเจน เช่น มีแรงขับ มีความขยันหมั่นเพียร และมีมนุษยสัมพันธ์ในการเข้าสังคม มีแนวโน้มที่จะพัฒนาทักษะการคิดได้ดี และมีความสุขกับการใช้ชีวิตได้มากกว่า
สมองสามารถเรียนรู้ทักษะทั้ง 2 ส่วน และพัฒนาได้ดีในช่วงตั้งแต่แรกเกิดถึงปฐมวัย แต่อย่างที่เอ่ยถึงไปก่อนหน้านี้ว่า เด็กแต่ละคนมีต้นทุนชีวิตแตกต่างกัน เด็กที่เติบโตมาด้วยความขาดแคลน ไม่ได้รับการดูแลที่ดีในช่วงต้น ก็สามารถพัฒนาตัวเองได้หากได้รับโอกาส เพราะสมองของคนเรามีความยืดหยุ่นมากพอต่อการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะทั้ง 2 ส่วนเมื่อโตขึ้น โดยเฉพาะทักษะทางสังคมและอารมณ์บางอย่างที่เรียนรู้ได้ดีเมื่ออยู่ในวัยประถมและมัธยม เช่น การเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) การพัฒนาตัวตนในเชิงบวก (positive identity) และ ภาวะความเป็นผู้นำ (leadership)
บอกให้สังคมรับรู้ ว่าการเรียนรู้ไม่ใช่ผลตัวเลข
สำหรับสถาบันการศึกษาต่างๆ ระบบการศึกษาคงไม่สามารถรับมือกับวิกฤติการเรียนรู้ได้ หากไม่สร้างความเข้าใจที่แท้จริงกับสังคมว่า การวัดผลการเรียนจากคะแนนไม่ได้การันตีการเรียนรู้
ตัวชี้วัด หรือ การประเมิน ที่มีประสิทธิภาพควรเป็นตัวชี้วัดเฉพาะ ที่ออกแบบจากผู้ดำเนินการสอนหรือครูซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการและใกล้ชิดกับผู้เรียน ประเมินตามพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนแต่ละบุคคลในแต่ละชั้นเรียน โดยแบบการประเมินอ้างอิงจากเกณฑ์มาตรฐานจากส่วนกลาง ส่วนวิธีการวัดการเรียนรู้เป็นสิ่งที่คณะครูต้องถกเถียงร่วมกันและแลกเปลี่ยนกันระหว่างเครือข่าย นี่เป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้การเรียนรู้เดินต่อไปได้อย่างมีความหวัง โดยเริ่มจากหน่วยเล็กๆ ในห้องเรียน
รายงานของ World Bank Group ชี้ชัดว่า ระบบการศึกษาในประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่มีการจัดการข้อมูลด้านการศึกษาที่ดีพอ ซ้ำยังไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐอย่างตรงจุด นักการเมืองมักพูดถึงการศึกษาในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับจำนวนตัวเลข เช่น จำนวนโรงเรียน จำนวนครู เงินเดือนครู และทุนการศึกษา แต่น้อยมากที่จะพูดถึงการสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง
การขาดการจัดการข้อมูลด้านการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในเชิงคุณภาพ ที่ไม่ใช่ผลคะแนนจากการทดสอบ ทำให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่รู้ต้นตอปัญหา หรือต่อให้รู้ก็สามารถเพิกเฉยได้ เพราะไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์เผยแพร่ต่อสาธารณชน ทั้งที่ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน และคุกคามการเรียนรู้มาอย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ…
โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน ปัจจุบันนี้มีประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมโครงการมากกว่า 70 ประเทศ |