- เพราะไม่ได้มองว่าโครงงานวิทย์เป็นแค่กิจกรรมแลกเกรด แต่คือความท้าทายที่จะพัฒนาเส้นใยจากต้นงิ้วแดงที่เห็นดาษดื่นในชุมชนให้เป็นสินค้าขายและใช้งานได้จริง
- นักเรียนชั้น ม.4 และ ม.6 จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย จึงค้นคว้า ระดมสมอง ทดลอง (ซ้ำแล้วซ้ำอีก) ที่จะผสมฝ้ายขาวและใยจากต้นงิ้วแดงซึ่งสองอย่างนี้ยังไม่เคยมีใครผสมสำเร็จมาก่อนให้กลายเป็นเส้นใยที่แข็งแรง เหนียว แต่ยังคงความนุ่ม และนำไปใช้งานได้จริง
- แม้จะบอกว่านี่คือโครงงานนักเรียนชั้นมัธยมปลาย แต่การทดลองขยายจากห้องแล็บในโรงเรียนสู่ชุมชนข้างนอก เพราะเรื่องนี้ต้องให้ปู่ย่าตายายที่ทอผ้าเป็นจริงๆ ช่วยกันคิดแก้ไขและร่วมทดลอง
ภาพ: โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่
การสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตในท้องถิ่นถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งน้องๆ ทีมโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย ก็ได้ยกระดับแนวคิดของพวกเขาไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่แทบไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างฝักของต้นงิ้วแดง โดยนำมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นเส้นด้ายใยผสมเพื่อเป็นวัตถุดิบให้กับผ้าทอ และนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อย่างน่าสนใจ
ใยใหม่ในหลอดเก่า
ด้ายงิ้วแดง มีจุดกำเนิดมาจากการที่ทีมต้องคิดทำวิชาโครงงาน โดยค้นหาหัวข้อจากปัญหาที่ชุมชนประสบอยู่ เดิมทีนั้นทีมเลือกหัวข้ออื่น แต่หลังจากทดลองทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ อาจารย์ที่ปรึกษาจึงชี้เป้าไปที่เรื่องเส้นใยจากวัตถุดิบทางธรรมชาติที่ชุมชนมี เมื่อนั้นเองทีมก็เกิดไอเดีย
“แถวบ้านมีเส้นใยเยอะ ครูบอกให้ลองไปหาว่าจะเอามาทำอะไรได้ไหม ตอนแรกเราจะใช้หญ้าแห้วหมู แต่กระบวนการนำเส้นใยออกมามันยาก จึงไปหาอะไรที่เป็นเส้นใยเลย จนไปเจอว่าแถวบ้านมีงิ้วแดงเยอะ ยังไม่มีใครเอามาทำ เราเลยลองเอามาทำ” เนย-จินตนารี สุบานงาม เล่าถึงที่มาของโครงงาน
ทีมศึกษาแนวทางจากโครงงานของรุ่นพี่ที่เคยทำเส้นด้ายใยผสมจากแกนข้าวโพด จนเกิดแนวทางที่จะสร้างเส้นใยใหม่จากโครงร่างเดิมของรุ่นพี่ ด้วยการทำด้ายใยผสมระหว่างฝ้ายขาวกับงิ้วแดง ด้วยมุ่งหมายให้เป็นวัตถุดิบสำหรับชุมชนนำไปต่อยอดสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าทอและอื่นๆ เป็นการสร้างอาชีพโดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ใดๆ อยู่แล้วด้วย
แต่ทีมหารู้ไม่ว่า ที่ไม่มีใครเอางิ้วแดงมาทำเป็นเส้นใยนั้น ก็เพราะว่ามันทำยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมคิดที่จะทำด้ายใยผสม ซึ่งต้องหาอัตราส่วนที่พอเหมาะระหว่างฝ้ายขาวและงิ้วแดง
เนยเล่าต่อว่า “พ่อบอกว่าต้นงิ้วมีกระเปาะที่มีตัวเส้นใยเหมือนฝ้าย แต่เอามาทำเส้นด้ายไม่ได้หรอก ส่วนใหญ่เขาเอาไว้ยัดหมอน แต่หนูคิดว่ามันน่าจะทำได้นะ เลยไปหายายคนหนึ่งในหมู่บ้านที่เขาปั่นฝ้าย ให้ยายช่วยลองปั่นให้หน่อย ตอนแรกไม่เวิร์ค ยายบอกว่ามันยาก ปั่นออกมาก็ขาด วุ่นวาย ยายเลยบอกไม่ต้องทำหรอก (หัวเราะ)”
ด้ายใยผสมงิ้วแดงคงกลายเป็นหมันไปแล้ว หากทีมเชื่อที่พ่อของเนยและยายบอก ทว่าทีมกลับนำคำพูดนั้นมาเป็นเชื้อไฟสร้างแรงบันดาลใจในแง่ หากไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนแต่ทีมทำได้ มันย่อมหมายถึงการค้นพบสิ่งใหม่ที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนไม่มากก็น้อย
“หนูคิดว่าวิทยาศาสตร์ทำได้ทุกอย่าง ทุกปัญหามันมีทางแก้เสมอ และมันสามารถโยงเข้าวิทยาศาสตร์และปรัชญาได้หมด วิธีแก้ว่าทำไมมันไม่ผสมกัน มันก็อยู่ที่อัตราส่วน ลองผสมในอัตราส่วนใหม่ก็แก้ปัญหานั้นได้แล้ว” สไปร์ท-ชุติมา ราชคมน์ กล่าวอย่างมั่นใจ
ทีมจึงถอยหลังกลับมาทดลองปรับวิธีการและส่วนผสม ด้วยการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“ต้องศึกษาเพิ่มเติมเพราะมันเป็นเส้นด้ายใยผสม ซึ่งคุณสมบัติการเกาะตัวกันมันอ่อนมาก พวกหนูต้องไปศึกษาว่าต้องผสมในอัตราส่วนแค่ไหนขึ้นไปจึงจะผสมกันได้ จนได้สูตรฝ้ายต่องิ้วแดงที่ 7:3” สไปร์ทแจกแจงการค้นพบของทีมด้วยรอยยิ้ม
พิสูจน์ความเจ๋งด้วยกระบวนวิทย์
แม้จะปรับอัตราส่วนผสมระหว่างฝ้ายขาวและงิ้วแดงได้แล้ว แต่ทีมก็ต้องการการรับรองคุณสมบัติที่เป็นวิทยาศาสตร์ของด้ายใยผสมผลงานของตัวเอง ส่วนหนึ่งก็เพื่อขยายผลสู่การสร้างอาชีพในชุมชนได้อย่างสนิทใจ และอีกส่วนคือการพิสูจน์ความเจ๋งของผลงานผ่านการประกวด
“ความโดดเด่นของเส้นใยงิ้วแดงคือความนุ่ม แต่ถ้านุ่มมากความแข็งแรงจะน้อย เราเลยต้องวัดความแข็งแรงว่าจะทนแรงกระทำเพื่อผลิตเป็นผ้าได้ไหม รวมไปถึงการติดสี และการเก็บอุณหภูมิของเส้นใย เพราะถ้าเส้นใยเก็บอุณหภูมิดีจะทำให้มันอุ่น นอกจากทำเสื้อก็สามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้ เช่น ฉนวนความร้อน หรือแก้วเก็บความร้อน เป็นต้น” สไปร์ทกล่าวถึงกระบวนคิดทางวิทยาศาสต์และการต่อยอดผลงานของทีม
หลังจากปั่นเป็นด้ายใยผสมออกมาได้แล้ว ทีมได้ทำการทดสอบคุณสมบัติของด้ายงิ้วแดงใน 4 ประเด็น ได้แก่ ความนุ่ม ความแข็งแรง การเก็บอุณหภูมิของเส้นด้าย และการย้อมติดสี ซึ่งน่าสนใจที่การทดสอบบางประเด็นนั้น ทีมก็ใช้วิธีการง่ายๆ ทุนน้อย แต่ได้ผลเช่นเดียวกัน
“ตอนนั้นคิดถึงเครื่องทดสอบใหญ่ๆ เช่น เครื่องวัดแรงตึง แต่มันหายากและมีราคาสูง ครูเลยบอกว่าอย่าไปคิดเยอะ ให้ทำการทดลองแบบง่ายๆ ที่วัดได้เหมือนกัน เลยนึกถึงแล็บอนุบาลที่เป็นเครื่องชั่งสปริง คือทำให้เส้นใยขาดโดยการชั่งน้ำหนัก แต่เครื่องชั่งสปริงมันจะดีดกลับถ้าแรงสองฝั่งไม่เท่ากัน เลยลองเครื่องชั่งลูกตุ้ม ทำให้ได้ค่าใกล้เคียง” สไปร์ทยกตัวอย่างการแก้ปัญหาของทีม
การทดสอบคุณสมบัติทำให้ผลงานของทีมมีความน่าเชื่อถือ จึงไม่แปลกที่ด้ายงิ้วแดงจะได้รับคัดเลือกไปแข่งโครงการแลกเปลี่ยนที่ประเทศสิงคโปร์จนได้เหรียญทองแดงกลับมา รวมไปถึงการเข้าแข่งขัน YSC (การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์) และต่อยอดมาสู่โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่ 6
“ตอนนั้นมันยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่ เราจึงอยากทำต่อไปเรื่อยๆ ให้มันพัฒนาได้มากกว่านี้” เนยบอกถึงเหตุผลที่ทีมสมัครเข้าโครงการต่อกล้าฯ
ซึ่งทุกคนต่างก็สมหวัง เพราะได้รับการกระตุ้นจากทีมโค้ชให้พัฒนาผลงานให้ดีที่สุด
“สิ่งที่เราต้องทำเพิ่มในโครงการต่อกล้าฯ คือ ทำให้เส้นใยผสมกันให้ดีมากกว่าเดิม ไม่ขาดง่าย เพิ่มความแข็งแรงให้มากที่สุด เราจึงเน้นเรื่องการหาวิธีผสมเส้นใยใหม่ เพราะวิธีผสมฝ้ายกับงิ้วแดงแบบพื้นบ้านนั้นผสมได้ไม่ดีพอ ก็ได้ช่วยกันประดิษฐ์เครื่องผสมขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ” สไปร์ทเล่าถึงงานที่เพิ่มขึ้นของทีม
และมากกว่านั้นก็คือ การนำเอาเส้นใยที่ผสมได้นั้นไปทดลองทอเป็นผ้าจริงๆ
การไม่ยอมแพ้จะช่วยแก้ทุกปัญหา!
แน่นอนว่าการนำเส้นใยไปทอเป็นผ้าจริงนั้น ในทีมไม่มีใครทำเป็น ทีมจึงต้องเดินออกจากห้องทดลองไปลงชุมชนจริง ที่กลุ่มทอผ้าบ้านฮวก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา บ้านเกิดของเนย เพื่อให้กลุ่มช่วยสอนวิธีการทอผ้าให้ รวมถึงให้กลุ่มได้ทดลองใช้ด้ายงิ้วแดงไปในตัว
“กลุ่มเป้าหมายเราคือกลุ่มผู้ทอผ้า และพี่โค้ชก็อยากเห็นว่ามันเอาไปใช้ได้จริงๆ เราเลยต้องไปฝึกทอกี่ใหญ่ ก็เจอปัญหาว่าต้องใช้ด้ายเยอะมาก ซึ่งเราทำวัตถุดิบไม่ทัน เลยปรับเป็นทอกี่เอวแทนเพราะใช้ด้ายน้อยกว่า ไปฝึกทอกับกลุ่มคุณยายในชุมชน ไปทดลองไม่กี่คน เขาก็บอกว่ามันนุ่มนะ พอซักแล้วยิ่งนุ่มกว่าเดิม” เนยเล่าด้วยรอยยิ้ม
“ตอนนี้ผลสำเร็จคือ ทำด้ายออกมาได้ รู้แนวทางการนำด้ายไปใช้ คือสามารถเอาไปทอได้ ใช้การทอแบบกี่เอวได้ ครูที่โรงเรียนก็มีหลายคนที่ใช้ผ้าพวกนี้เยอะมาก เขามาดูก็บอกว่าคุณสมบัติโอเค เขาชอบเนื้อสัมผัส แต่อยากให้ใช้สีที่เป็นธรรมชาติมากกว่านี้ เล่นสีไทยๆ และครูหลายๆ คนก็ชอบ มาขอซื้อ บอกว่าจะเอาไปใส่กับผ้าซิ่น” สไปร์ทเสริมถึงผลตอบรับอย่างมีความสุข
ซึ่งแน่นอนว่ากว่าที่ผลงานจะพัฒนามาถึงขั้นนี้ได้ พวกเขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ต้องทดลองไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ และบางครั้งก็ต้องเสียน้ำตาไปหลายหยด
“ช่วงที่ต้องไปนำเสนอผลงานที่งาน NECTEC-ACE (งานประชุมวิชาการและนิทรรศการ) หนูแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน ต้องไปแข่งงานอื่นที่บาหลี แล้วกลับมากรุงเทพฯ ตีกลับมาเชียงรายเปลี่ยนกระเป๋าเพื่อไปกรุงเทพฯ ต่อ ตอนนั้นยังทำงานไม่เสร็จ พอเสร็จงานก็ไม่ได้นอนเพราะวันรุ่งขึ้นมีสอบไฟนอล ไม่ได้อ่านหนังสือสักตัว ตอนนั้นเครียดจนน้ำตาไหล” สไปร์ทเล่าย้อนถึงสิ่งที่ผ่านมา
ก่อนที่เนยจะเล่าถึงในช่วงเวลาเดียวกันนั้นในส่วนของตัวเองว่า “ตอนนั้นต้องเอางานไปโชว์ หนูเริ่มเครียดต้องวางแผนว่าแต่ละอาทิตย์ต้องทำอะไรบ้าง ต้องไปติดต่อยายในชุมชน แต่หนูกลับบ้านแค่เสาร์อาทิตย์ คนที่รับภาระแทนทั้งหมดคือแม่ รู้สึกผิดที่ต้องโยนให้แม่ช่วยทำ (น้ำตาซึม) ตอนทอตัวเสื้อ พี่โค้ชบอกให้เอาตัวตั้ง (เส้นยืน) เป็นด้ายของเรา แต่ยายบอกว่าทำไม่ได้แต่ให้ใช้ด้ายจากโรงงานเพราะมันแข็งแรงกว่า แม่ต้องหาวิธีให้มันตั้งเป็นเส้นยืนให้ได้ อาทิตย์ก่อนนั้นต้องย้อมสี แต่ทำแล้วพัง สีเพี้ยน ฝ้ายก็หมด แม่ต้องขับรถไปลาวเพื่อซื้อฝ้ายมาให้ใหม่ แล้วขับรถมาที่โรงเรียนกับยาย นั่งเย็บเสื้อให้จนเสร็จ ตอนนั้นหนูนั่งร้องไห้คนเดียวอยู่ที่บาหลี โทรไปบอกแม่ว่าหนูขอโทษ รู้สึกว่าทำให้แม่ลำบากทั้งๆ ที่มันเป็นงานของหนู แต่ก็ผ่านมาได้… (ยิ้มทั้งน้ำตา)”
นั่นคือส่วนหนึ่งในการฟันฝ่าอุปสรรคของทีม ที่นอกจากจะมีแรงสนับสนุนจากภายนอก ทั้งครูอาจารย์ ผู้ปกครอง และกลุ่มผู้ใช้แล้ว ทีมเวิร์คภายในทีมก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ
“เป็นประสบการณ์ดีๆ ที่ได้เรียนรู้เมื่ออยู่กับเพื่อน ได้เรียนรู้นิสัยกัน ได้มาทำงานหนักด้วยกัน เผชิญอุปสรรคต่างๆ ด้วยกัน ดีใจที่เราไม่ได้ตัวคนเดียว มีเพื่อนที่ประคับประคองกันไปให้ผ่านพ้น สู้ต่อไปให้สำเร็จ ได้มีผลงานให้เราได้เห็นได้ภูมิใจ ซึ่งตอนนี้ก็ภูมิใจมากแล้ว” ฝน-ศุภวรรณ การงาน กล่าว
และเหนืออื่นใดทั้งหมด สิ่งที่พวกเขามีอยู่เต็มเปี่ยมก็คือ ความไม่ยอมแพ้! และเชื่อมั่นว่าวิทยาศาสตร์จะหาทางออกให้กับทุกปัญหาหากเราพยายามมากพอ ความมุ่งมั่นนี้คือสิ่งที่ช่วยฝ่าทางตันของคำว่า ทำไม่ได้ ผลักดันให้ทีมสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพให้ชุมชนได้จริงต่อไปในอนาคต
“มันต้องอดทนไม่ว่าจะหนักหนาแค่ไหน เชื่อว่าทุกอย่างมีทางออกของมัน ถ้าชีวิตมันง่ายมันก็ไม่ใช่ชีวิต” เนยกล่าว
“มันเป็นประสบการณ์ว่าเราผ่านมาได้ วันข้างหน้าก็ต้องผ่านไปได้ การทำโครงงานมันไม่มีใครแพ้ อยู่ที่ตัวเรา ถ้าเรายอมแปลว่าเราแพ้ แต่ถ้าเราทำ แม้ไม่ได้เสร็จวันนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราแพ้” สไปร์ทสำทับ
ถึงวันนี้ด้ายงิ้วแดงได้ถูกพัฒนาจากจุดเริ่มต้นมาไกลโข แต่แน่นอนว่ามันยังไม่ใช่สุดท้ายปลายทาง ทุกคนในทีมต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำเพื่อผลักดันผลงานชิ้นนี้ไปให้ไกลกว่าเดิม
“นี่คือนวัตกรรม ความจริงนวัตกรรมไม่ต้องเอาเทคโนโลยีมาเกี่ยว แต่ทำแล้วสามารถนำมาทดแทนหรือแก้ปัญหาบางอย่างในสังคมได้ สำหรับด้ายงิ้วแดงหนูรู้สึกว่ามันไม่จบแค่นี้ มันต้องทำต่อไปเรื่อยๆ” สไปร์ทกล่าวอย่างมุ่งมั่น